Skip to content
พัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถาม
  • Creative Learning
    Creative learningLife Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique Teacher
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Character building21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learning
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
พัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถาม
Early childhoodFamily Psychology
24 July 2025

เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.9 ‘รักที่ปราศจากเงื่อนไข เริ่มต้นจากมองเห็นคุณค่าในตัวเองและรักตัวเองเป็น’

เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • เด็กเรียนรู้ ‘รักที่ปราศจากเงื่อนไข’ จากพ่อแม่ โดยความรักนั้นคือความรักที่หล่อเลี้ยงกายใจให้เติบโต ไม่ใช่ความรักที่ต้องการจะควบคุม หรือ ปกป้องจนเกินเหตุ และตามใจจนเกินพอดี
  • การมองเห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเรียนรู้ที่จะรักตัวเองจากใจจริง เพราะเมื่อมองเห็นคุณค่า  จึงอยากรักษาเอาไว้ให้ดีที่สุด ถ้ามีใครตั้งใจจะมาทำลายและทำร้าย เด็กจะพร้อมยืนหยัดปกป้องตัวเอง
  • อย่าลืมที่จะใจดีกับตัวเองด้วยการดูแลตัวเองทั้งกายใจ ไม่ทำร้ายตัวเองด้วยการยอมให้ผู้อื่นทำร้ายตัวเรา เพราะวันที่เรารักตัวเองมากพอ เราจะไม่ต้องรอให้ใครมาเติมเต็มความรักให้ตัวเอง

เด็กคนหนึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รักตัวเองและผู้อื่นเป็นนั้น เริ่มต้นจากตัวเขาต้องได้รับความรักนั้นก่อน และรักนั้นเริ่มต้นที่บ้าน…

‘รักที่ปราศจากเงื่อนไข’ เด็กเรียนรู้รักนี้จากพ่อแม่ของเขา เพราะสิ่งที่เด็กทุกคนปรารถนาจากพ่อแม่มากที่สุดคือ ‘ความรัก’

‘ความรักที่ดีที่พ่อแม่ควรมอบให้ลูก’ คือความรักที่หล่อเลี้ยงกายใจให้เติบโต ไม่ใช่ความรักที่ต้องการจะควบคุม หรือ ปกป้องจนเกินเหตุ และตามใจจนเกินพอดี ซึ่งองค์ประกอบในการมีความรักที่ดีในครอบครัวมี ดังนี้

(1) ‘พ่อแม่ใจดี แต่ไม่ใจอ่อน’

เราควรให้ความสนใจลูก แต่ไม่ตามใจในทุกเรื่อง

เราควรปล่อยให้ลูกได้รับอิสระ แต่ไม่ใช่การปล่อยปละละเลย

  • ได้เป็นตัวเอง: เด็กทุกคนแตกต่างกัน และแต่ละคนมีจุดดีและจุดที่เขาไม่ถนัด แต่เด็กทุกคนพัฒนาได้
  • ได้ลงมือทำ: ช่วยเหลือตัวเองตามวัย โอกาสในการลองทำทุกอย่าง โดยที่สิ่งนั้นไม่เดือดร้อนตัวเองและผู้อื่น
  • ได้เรียนรู้: แม้บางครั้งการเรียนรู้นั้นอาจจะเกิดความผิดพลาด เพราะเด็กลองผิดลองถูก ให้เราสอนเขา ไม่ใช่ลงโทษรุนแรง จนเด็กกลัวการเรียนรู้และลงมือทำ 
  • ได้เติบโต: บ้านที่อบอุ่น และพร้อมมอบความรักให้ เด็กจึงเติบโตได้

(2) ‘วินัยคือความรักที่ยั่งยืน’ เพราะรักเราจึงสอนวินัยให้ลูก

  • ให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ เพื่อจะได้เอาตัวรอดและพึ่งพาตัวเองได้ แม้เราจะไม่อยู่ตรงนั้นกับเขา
  • ให้เขาทำสิ่งที่จำเป็นก่อนสิ่งที่อยากทำ เพื่อให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี และไปถึงเป้าหมายที่ตัวเองตั้งใจ

(3) ‘ความรักคือการร่วมทุกข์ร่วมสุข’

พ่อแม่ไม่ควรปกป้องลูกจากความทุกข์ ความลำบาก สิ่งที่เราทำคือการเคียงข้าง และสอนให้เขาเผชิญปัญหา เพื่อให้เขาข้ามผ่านอุปสรรคเหล่านั้นไปได้ด้วยตัวเอง แม้ลูกจะล้มอีกสักกี่ครั้ง เขาจะลุกขึ้นเองได้

(4) ‘ความรักที่แท้จริงไม่ควรเกิดขึ้นบนความกลัว’

  • กลัวว่าอีกฝ่ายจะไม่รัก
  • กลัวว่าอีกฝ่ายจะไม่ต้องการเรา หรือความต้องการจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
  • ต้องการให้เขาตามใจเรา
  • ต้องการให้เขาอยู่ในการควบคุมของเรา

แต่คือความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้นจากการใช้เวลาร่วมทุกข์ร่วมสุข เรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน

(5) ‘รักและยอมรับในสิ่งที่อีกฝ่ายเป็น และเชื่อมั่นในตัวลูก’

เมื่อถึงเวลาอันสมควรพ่อแม่จำเป็นต้องปล่อยให้ลูกเติบโตต่อไป  แม้ว่านั่นหมายถึงเราจะไม่ได้อยู่กับเขาตลอดเวลาเหมือนตอนเด็กๆ อีกแล้ว  เพราะเรารักเขาอย่างแท้จริง เราจึงปล่อยให้เขาไปตามทางของเขา

เด็กทุกคนต้องการเป็นที่รักของพ่อแม่

เด็กทุกคนกลัวทำให้พ่อแม่ตัวเองผิดหวัง ดังนั้นพ่อแม่ได้โปรด…

  • อย่าคาดหวังให้เด็กต้องเป็นเหมือนเรา
  • อย่าคาดหวังให้เด็กต้องเป็นเหมือนใคร
  • อย่าคาดหวังให้เด็กต้องทำในสิ่งที่เราทำไม่ได้ 
  • อย่าคาดหวังให้เขาต้องทำในสิ่งที่เราต้องการ แต่ตัวเขาไม่ต้องการ

ในทางกลับกัน ‘รักเด็กอย่างที่พวกเขาเป็น’ เพราะเด็กทุกคนแตกต่างกัน รักแบบไม่มีเงื่อนไข และยอมรับในตัวเขา เพราะความรักนี้จะทำให้เขารักตัวเองเช่นกัน แต่ให้สอนในสิ่งที่เขาทำไม่ได้ ไม่เปรียบเทียบเพื่อสร้างตำหนิในตัวเขา และไม่ทอดทิ้งเด็กๆ ไว้เพียงลำพัง

‘พ่อแม่คือฐานทางใจที่สำคัญของเด็กทุกคน ตั้งแต่วันแรกและตลอดไป’

ชีวิตของเด็กเริ่มต้นที่บ้าน…

  • พ่อแม่ที่รักและยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น
  • พ่อแม่ที่มีเวลาและเคียงข้างเขา
  • พ่อแม่มีอยู่จริง ทำให้เขามีที่พึ่งพิงที่มั่นคงทางใจ

ที่สำคัญเมื่อเขารับรู้ว่าตัวเองเป็นที่รักของพ่อแม่ คุณค่าภายในตัวเขาจึงค่อยๆ เติบโต พ่อแม่คือคนที่ช่วยเติมเต็มฐานทางใจให้ลูก

‘รักลูกวันนี้ให้มากพอ เพื่อที่เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รักตัวเองและผู้อื่นเป็น’

วันหนึ่งข้างหน้าที่เขาต้องก้าวออกไปสู่โลกภายนอก เขาจะก้าวออกไปได้อย่างมั่นคง แม้วันใดที่เขาล้มลง ผิดหวัง หรือ พ่ายแพ้ เขาจะไม่เป็นไร เพราะรักที่พ่อแม่มีให้จะช่วยให้เขาลุกขึ้นได้อีกครั้ง

‘การมองเห็นคุณค่าในตัวเอง’ หัวใจสำคัญที่นำไปสู่การรักตัวเองเป็น

การมองเห็นคุณค่าในตัวเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเรียนรู้ที่จะรักตัวเองจากใจจริง เพราะเมื่อมองเห็นคุณค่า  จึงอยากรักษาเอาไว้ให้ดีที่สุด ถ้ามีใครตั้งใจจะมาทำลายและทำร้าย เด็กจะพร้อมยืนหยัดปกป้องตัวเอง

แนวทางการสร้างการมองเห็นคุณค่าในตัวเองต้องเริ่มตั้งแต่วัยเยาว์

เริ่มต้นที่พ่อแม่ต้องเป็นผู้ให้…

ขั้นที่ 1 ให้ความรัก ให้เวลาคุณภาพ ให้การตอบสนอง ในเด็กแรกเกิด

ขั้นที่ 2 ให้การสอนเด็กช่วยเหลือตัวเองตามวัย

ขั้นที่ 3 ให้การสอนเด็กดูแลข้าวของเครื่องของตนเองและพื้นที่ที่ตนใช้

ขั้นสุดท้าย ให้สอนการดูแลส่วนรวม โดยเริ่มจากงานบ้าน

‘งานบ้าน’ ถือเป็นงานส่วนรวมงานแรกในชีวิตของเด็กเลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อเด็กทำงานบ้าน เขาได้ทำประโยชน์ให้กับคนที่มาใช้งานพื้นที่นั้น หรือ ของตรงนั้น เด็กจะรับรู้ถึงคุณค่าภายในตัวเองว่า ‘เขาสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้’

เมื่อเด็กทำได้ดี คนชื่นชม เขาได้รับการยืนยันความสามารถโดยผู้อื่น เกิดเป็นความมั่นใจในตัวเอง (Self-confidence) นานวันไปเขาสามารถยืนยันความสามารถนั้นได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องให้ใครมายืนยันให้กับเขา เกิดเป็นความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-esteem)

สิ่งที่เด็กลงมือทำคือสิ่งที่มีคุณค่า เมื่อคุณค่าถูกส่งออกไปจากตัวเขาไปสู่ผู้อื่น สิ่งที่ได้รับกลับมาคือ การที่ผู้อื่นรับรู้ถึงคุณค่าในตัวเขา เป็นการยืนยันว่าเขามีคุณค่าในขั้นแรก นานวันเขาไม่จำเป็นต้องรอผู้อื่นมายืนยันคุณค่านั้นอีก เพราะเขาเรียนรู้แล้วว่าภายในเขามีคุณค่า

เมื่อเรารักตัวเองเป็น เราจึงชื่นชมตัวเองได้จากใจจริง และเมื่อเราชมตัวเองเป็น เราจึงรักตัวเองมากขึ้น

การชื่นชมเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรารู้จักมองหาและมองเห็นด้านดีของตัวเอง ซึ่งในเด็กๆ การชื่นชมตัวเองเริ่มต้นจากบ้านที่ชื่นชมเขาก่อน…

การชื่นชมที่ทำให้เด็กรับรู้คุณค่าในตัวเองและเติบโตต่อไป 

ขั้นที่ 1 ‘ชมอย่างจริงใจ’

การชื่นชมที่ดีควรเริ่มจากการจริงใจกับความรู้สึกของเราที่มีต่อเด็กคนหนึ่ง เพราะถ้าหากเราชมเขาด้วยความไม่จริงใจแล้ว เด็กบางคนจะรับรู้ได้ทันที ซึ่งการจริงใจต้องเริ่มจากการให้ ‘ความสนใจ’ กับเด็กๆ และมองเขาให้ละเอียดก่อนจะกล่าวชื่นชมในสิ่งที่เราเห็นอย่างตรงไปตรงมา เพราะเรามองเห็น เราจึงชื่นชมได้ง่ายขึ้น

ขั้นที่ 2 ‘ชื่นชมเด็กที่ความตั้งใจและความพยายามก่อนผลลัพธ์เสมอ’

การชื่นชมที่ผลลัพธ์หรือผลงานของเด็ก บางครั้งอาจจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะไม่ใช่เด็กทุกคนจะทำผลงานออกมาได้สวยงาม และความสามารถเด็กไม่ได้เท่ากันทุกคน แต่ทุกความพยายามและความตั้งใจนั้นมีความหมายเสมอ แม้ผลลัพธ์ในครั้งนี้อาจจะไม่ได้ดีอย่างที่หวัง อย่างไรก็ตามเด็กทุกคนเรียนรู้และพัฒนาได้ ถ้าเขามีกำลังใจและวินัยที่ดีพอ เด็กจะค่อยๆ พัฒนาไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ และคำชมคือพลังที่ทำให้เขามีแรงทำต่อไป

ขั้นที่ 3 ‘ให้การชื่นชมในระดับที่แตกต่างกันกับความพยายามและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน’

ในสถานการณ์ที่เด็กต้องใช้ความตั้งใจและพยายามมากเป็นพิเศษ และเขาทำมันได้สำเร็จ ให้เราชื่นชมเขาอย่างเต็มที่ แต่ถ้าเด็กทำสิ่งนั้นได้อย่างง่ายดาย เพราะเขาเคยทำมันบ่อยครั้งแล้ว เราสามารถชื่นชมเขาได้ แต่ไม่ควรเป็นการชื่นชมที่เทียบเท่ากับสถานการณ์แรก เด็กๆ เรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองต่อไปด้วยตัวเอง เมื่อเรารับรู้ความสามารถตัวเอง

ในวันที่ไม่มีใครชื่นชม เด็กควรชื่นชมตัวเองเป็น

‘ฝึกการชื่นชมตัวเอง’ เป็นสิ่งที่ควรสอนเด็กๆ ตั้งแต่วัยเยาว์ ทั้งการชื่นชมตัวเองและผู้อื่น เพราะการจะชมใครสักคนได้ นอกจากสายตาที่มองไปเห็น ใจของเราต้องมองเห็นสิ่งนั้นด้วย เด็กๆ ที่ชื่นชมตัวเองและผู้อื่นเป็น จึงมองเห็นคุณค่าในตัวเองและโลกใบนี้

การชื่นชมไม่มีแบบแผนในการสอนที่ตายตัว แต่วิธีที่ง่ายที่สุดคือ…

(1) ผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างที่ดี

ผู้ใหญ่ที่ชื่นชมเด็กๆ อย่างจริงใจ และชมสิ่งดีๆ ที่มองเห็นในตัวเขา ทำให้เด็กๆ เรียนรู้ และซึมซับสิ่งเหล่านั้นมา ดังนั้นการที่สายตาของเราจะจับจ้องไปเห็นสิ่งที่น่าชื่นชมได้ เราต้องมีเวลาอยู่กับเด็กๆ เพื่อจะได้มองเห็นพวกเขาอย่างชัดเจน ที่สำคัญการชื่นชมอย่างจริงใจนั้นไม่ได้ยาก เมื่อเรารักใครสักคนมากพอ

(2) การชื่นชมผ่านคำขอบคุณจากใจ

การชื่นชมแทรกอยู่ในคำขอบคุณ เมื่อเราได้รับสิ่งดีๆ จากใคร และเราขอบคุณเขาจากใจ คำขอบคุณนั้นคือการชื่นชมที่ดีที่สุด เด็กๆ ที่ทำอะไรให้ผู้ใหญ่ และได้รับขอบคุณกลับมา คำขอบคุณนั้นทำให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมีค่าเพียงใด

(3) มองเห็นสิ่งที่ทำได้ แล้วชมสิ่งนั้นตอนนี้ เดี๋ยวนี้

ถ้าเรามัวแต่รอชมผลลัพธ์ที่สำเร็จ เด็กๆ คงต้องรอการชื่นชมนั้นที่ปลายทาง ระหว่างทางที่เขาต้องอดทน ล้มลุกคลุกคลาน เราเลือกที่จะมองข้าม หรือ มองไม่เห็นมัน ดังนั้นถ้าเราชมในสิ่งที่เด็กทำได้ตอนนี้ แล้วชมให้เขารู้ตัวว่าเขาทำได้ถึงตรงนี้แล้วนะ เด็กๆ จะรู้ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่ไม่ได้ไร้ความหมาย แม้จะยังไม่ถึงปลายทาง คำชมและการได้รับการมองเห็นทำให้เด็กๆ สู้ต่อ ผู้ใหญ่เองก็ต้องการการมองเห็นเช่นนี้เหมือนกัน

(4) ถึงแม้ปลายทางจะไม่สำเร็จและไม่เป็นดังหวัง

แต่ทุกความพยายามและความตั้งใจควรได้รับการชื่นชม บางคนอาจจะมองว่าถ้าทำไม่สำเร็จ ความพยายามที่ผ่านมาก็สูญเปล่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเราให้ความสำคัญกับผลลัพธ์มากกว่าระหว่างทางที่เราได้เรียนรู้อะไร แม้จะไม่สำเร็จ เราก็ชื่นชมตัวเองได้

  • ชื่นชมในความพยายาม
  • ชื่นชมในความอดทน
  • ชื่นชมในความกล้า

เพราะทุกครั้งที่ลงมือทำ คุณค่าในตัวเองนั้นย่อมบังเกิดแล้ว แต่จะงอกงามไปในทิศทางใด ก็คงแล้วแต่เจ้าตัวจะกำหนดทิศทางนั้น แม้จะไม่สำเร็จและไม่ใช่ทางที่ใช่ ก็ไม่ได้แปลว่าล้มเหลวและสิ่งที่ทำไม่มีคุณค่าเพราะทุกประสบการณ์สามารถนำไปต่อยอดกับสิ่งใหม่เสมอ

‘ชื่นชมเด็กๆ ในวันนี้ที่เขาได้ลงมือ และทำอย่างตั้งใจ ไม่ใช่ชมเพราะเขาทำมันได้สำเร็จเพียงอย่างเดียว’

(5) ชมเพื่อเป็นกำลังใจในการพัฒนาต่อ

ทุกคนมีด้านที่ไม่เก่ง ด้านที่ไม่ดี หรือ ด้านที่จำเป็นพัฒนาต่อ บางคนอาจจะมองว่าเราจำเป็นต้องตำหนิตัวเอง เพื่อจะได้แก้ไขและพัฒนาต่อ ในความเป็นจริงแล้วเราชมเพื่อพัฒนาต่อก็ทำได้เช่นกันการชมในที่นี้คือ ‘การให้กำลังใจตัวเอง’ มากกว่าจะบั่นทอนซ้ำเติมตัวเอง การชมอย่างตรงไปตรงมา มองตามความจริง และความเป็นไปได้จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

เช่น

“อย่างน้อยวันนี้เราทำถูกตั้งหลายข้อ เราไปฝึกมาอีก ครั้งหน้าต้องทำได้มากกว่านี้แน่”

“วันนี้ที่แพ้ เพราะ 1 ลูก คราวก่อนเราแพ้ต้อง 7 ลูก”

“เราพลาดไป เพราะเราไม่ได้ฝึกทักษะนี้มา ทักษะอื่นเราไม่แย่ไปหมด แต่ต้องไปฝึกทักษะนี้เพิ่ม”

“เราไม่ได้แย่ขนาดนั้น เพราะอย่างน้อยวันนี้เราทำได้เกินครึ่งเลยนะ”

‘การชมตัวเอง’ แม้จะดูตลกและน่าอาย รู้สึกเป็นเรื่องยากที่จะทำ นั่นเป็นเพราะว่าเรายังไม่ชินและคุ้นเคย หากทำทุกวันเราจะพบว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายขึ้น และเราจะทำอย่างเป็นธรรมชาติ ผู้ใหญ่อย่างเราควรเรียนรู้ และทำสิ่งนี้ไปกับเด็กๆ เช่นกัน

เด็กๆ ที่ชื่นชมตัวเองเป็น เขาจะเรียนรู้ที่มองตัวเองในด้านดี ส่วนในด้านที่ไม่ดีไม่ใช่เขามองไม่เห็นมัน แต่เขาเลือกที่จะพัฒนาและไม่มองเป็นปมด้อยในตัว เพราะคุณค่าในตัวเขามีมากกว่านั้น ในวันที่เด็กๆ ยังชื่นชมตัวเองไม่เป็น ขอให้ผู้ใหญ่มองเห็นและชื่นชมในสิ่งที่เขาทำได้

ก่อนจะรักใคร อย่าลืมที่จะรักตัวเองก่อน

เมื่อเราแสวงหาความรักจากภายนอก แม้จะเจอความรักดีๆ แต่ภายในเราอาจจะยังรู้สึกขาดบางอย่างไป การรักตัวเองก่อน จึงเป็นพื้นฐานของการรักผู้อื่น

เริ่มต้นด้วยการยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น ยอมรับในความขาดๆ เกินๆ ของตัวเราเอง และยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบ ที่สำคัญให้อภัยในความผิดพลาดของตัวเรา พร้อมเรียนรู้และพัฒนาต่อไป

สุดท้ายไม่ลืมที่จะใจดีกับตัวเองด้วยการดูแลตัวเองทั้งกายใจ ไม่ทำร้ายตัวเองด้วยการยอมให้ผู้อื่นทำร้ายตัวเรา เพราะวันที่เรารักตัวเองมากพอ เราจะไม่ต้องรอให้ใครมาเติมเต็มความรักให้ตัวเอง

Tags:

พ่อแม่ความรักเด็กครอบครัวการชื่นชมAlpha Genaeration

Author:

illustrator

เมริษา ยอดมณฑป

นักจิตวิทยาเจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ เพจที่อยากให้ทุกคนเข้าถึง ‘นักจิตวิทยา’ ได้มากขึ้นในฐานะเพื่อนแปลกหน้าผู้เคียงข้าง ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาที่ห้องเรียนครอบครัว เป็น "ครูเม" ของเด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ ความฝันต่อไปคือการเป็นนักเล่นบำบัด วิทยากร นักเขียน และการเปิดร้านหนังสือเล็กๆ เป็นของตัวเอง

Illustrator:

illustrator

ninaiscat

ทิพยา ทิพย์พันธ์ (ninaiscat) เป็นนักวาดภาพประกอบและนักออกแบบกราฟิกอิสระ ชอบแมว (เป็นชีวิตจิตใจ) ชอบทำกับข้าว กินกาแฟทุกวันและมีความฝันว่าอยากมีบ้านสักหลังที่เชียงใหม่

Related Posts

  • Early childhoodFamily Psychology
    เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.7 ‘การสื่อสารที่ส่งไปถึงใจลูก’

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Movie
    Modern love : ไม่จำเป็นต้องลืมคนเก่า-ถูกแทน หัวใจเรารักได้มากกว่านั้น

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Book
    รถไฟขนเด็ก – เพราะรักจึงยอมปล่อยมือ

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Dear ParentsMovie
    The love of Siam: รักแห่งสยาม ‘เดอะแบก’ ของบ้านที่ไม่พูดความต้องการและรู้สึก

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Dear ParentsMovie
    Boyhood: ครอบครัว แตกสลาย เติบโต

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel