- ‘ความเบื่อ’ คือเชื้อเพลิงชั้นเยี่ยมของการพัฒนาเด็กในการสร้างสรรค์การเล่น ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาอย่างแท้จริง ต่างจากการให้เทคโนโลยีแก้เบื่อที่อาจขัดขวางพัฒนาการด้านร่างกายและสมอง
- หน้าที่ของเด็กๆ คือการเล่น และการเล่นที่ดีคือการเล่นที่ปราศจากการการชี้นำ ให้เขาได้ใช้จินตนาการนำทาง และเล่นอย่างเต็มที่ หน้าที่ของผู้ใหญ่คือการเป็นพื้นที่ปลอดภัยและจัดเตรียมพื้นที่ให้เด็กๆ เล่น
- การเล่นอิสระที่แท้จริง เกิดขึ้นเมื่อผู้ใหญ่หยุดบอกเด็กว่า ‘เขาต้องทำอะไร’ การเล่นอิสระจึงเป็นช่วงเวลาเพียงไม่กี่ช่วงเวลาที่เด็กควรได้รับอิสระในการเป็นตัวเอง และสนุกกับการทำสิ่งที่เขาสนใจ
‘ความเบื่อ’ เชื้อเพลิงสำคัญของ ‘การเล่นอิสระ’
ความเบื่อทำให้เด็กสร้างสรรค์การเล่นเพื่อให้ตัวเองหายเบื่อ ความเบื่อคือเชื้อเพลิงชั้นเยี่ยมของการพัฒนาเด็ก
หากเด็กไม่เบื่อ เพราะได้รับการตอบสนองตลอดเวลาจากผู้ใหญ่ที่กลัวเขาเบื่อ เด็กจะขาดโอกาสคิดและพัฒนาตัวเอง และที่น่าเป็นกังวลกว่านั้นคือการที่ผู้ใหญ่ที่ไม่มีเวลา แต่กลัวเด็กเบื่อ หรืออยากให้เด็กนั่งนิ่ง ไม่ทำอะไรที่เป็นอันตรายและอยู่ในลานสายตาตลอดเวลา จึงหยิบยื่นเทคโนโลยีคือ ‘หน้าจอ’ ให้เด็ก ผลเสียที่ตามมานั้นมหาศาล เพราะนอกจากจะขาดโอกาสในการพัฒนาและฝึกฝนสิ่งต่างๆ ตามวัยแล้ว ร่างกายและความคิดยังถูกรบกวนด้วยเทคโนโลยี สมองที่เติบโตไม่เต็มที่ย่อมได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ใหญ่ สมาธิที่หายไป การยับยั้งชั่งใจที่ยังไม่มีมากพอ สายสัมพันธ์ระหว่างคนรอบตัวที่ค่อยๆ จางลง บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่รู้ตัวอีกที เด็กคนนั้นโตมาพร้อมกับปัญหาเสียแล้ว
อย่ากลัวที่จะให้เด็กๆ ได้เจอกับความเบื่อ
เพื่อให้หัวใจและสมองของเด็กๆ ได้นำทาง
ให้ร่างกาย แขนขา นิ้วมื้อน้อยๆ ได้ทำงาน
นำพาพวกเขาออกเดินทางและเติบโต
เด็กจำเป็นต้องเล่นและเล่นตอนนี้
ทำไมเด็กต้องเล่นอิสระ?
สำหรับเด็กแล้ว การเล่นไม่ได้ต้องหมายถึงแค่การเล่นของเล่น การเล่นสนุก การเล่นเกม การวิ่งเล่น แต่ความหมายที่แท้จริงสำหรับของการเล่นของเด็ก คือ ‘สิ่งใดก็ตามที่ฉันทำ เพราะฉันสนใจและอยากทำ’
บางครั้งแค่เด็กได้เล่นกล่องลัง ขวดน้ำ กองใบไม้ในสวน ตะกร้าผ้าของแม่ น้ำในกะละมังซักผ้า หม้อ กระทะ ตะหลิวของจริง แม้จะสิ่งเหล่านี้จะไม่ใช่ของเล่น แต่สำหรับเด็กแล้วถ้าเขาสนใจและสนุกกับมันนั่นคือการเล่นแล้ว
การเล่นอิสระที่แท้จริงจึงเกิดขึ้นเมื่อผู้ใหญ่หยุดบอกเด็กว่า ‘เขาต้องทำอะไร’ การเล่นอิสระจึงเป็นช่วงเวลาเพียงไม่กี่ช่วงเวลาที่เด็กควรได้รับอิสระในการเป็นตัวเอง และสนุกกับการทำสิ่งที่เขาสนใจ
ความสำคัญของการเล่นอิสระ
(1) การเล่นคือการสำรวจโลกของเด็ก นำไปสู่การรับรู้ตัวเอง
เมื่อเด็กรู้ว่า สิ่งต่างๆ เป็นเช่นไร มีความแตกต่างกันอย่างไรทำให้เขาได้รู้จักตัวเองมากขึ้นเท่านั้น
‘เด็กได้เรียนรู้ว่าเขาชอบอะไร’ เช่น
- ถ้ามีของเล่นมากมาย เด็กเลือกเล่นในสิ่งที่เขาสนใจ
“ฉันชอบเล่นรถ เพราะมันเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ ตุ๊กตากับสีไม้น่าเบื่อเกินไปสำหรับฉัน”
- ถ้ามีดอกไม้มีหลายสี เด็กเลือกดอกไม้ที่เขาชอบ
“ฉันชอบดอกกุหลาบจังเลย เพราะมันมีสีแดง สีแดงน่าจะเป็นสีที่ฉันชอบนะ”
‘เด็กได้เรียนรู้ว่าเขาไม่ชอบอะไร’ เช่น
- พื้นทรายเปียก กับ พื้นทรายแห้งต่างกัน
“ตัวฉันชอบพื้นทรายแบบแห้งมากกว่า เพราะฉันไม่ชอบอะไรที่เฉอะแฉะ”
(2) การเล่นทำให้เขาเรียนรู้ว่า ‘วัตถุมีอยู่จริง (Object permanence)’
แม้ไม่อยู่ในสายตา สิ่งนั้นไม่ได้หายไปจากโลก นำไปสู่การที่คนก็มีอยู่จริง ‘พ่อแม่มีอยู่จริง’ พ่อแม่ส่งเขาที่โรงเรียนแล้วกลับบ้านไป พ่อแม่ไม่ได้หายไปจากโลกใบนี้ การเล่นที่ช่วยให้เด็กๆ รับรู้ว่า ‘วัตถุมีอยู่จริง’ ได้แก่ การเล่นจ๊ะเอ๋ (Peek-a-boo) ในเด็กเล็ก และการเล่นซ่อนแอบ (Hide and seek) ในเด็กที่โตพอจะเล่นตามกติกา
(3) เด็กได้เรียนรู้การแก้ปัญหาแรกในชีวิตจากการเล่น
สำหรับเด็กปัญหาแรกๆ ที่เขาเจอและเขาอยากแก้มัน เช่น
- เปิดฝาแป้งโดว์ไม่ออก
- เทน้ำยังไงไม่ให้กระฉอกออกจากแก้ว
- สร้างภูเขาทรายสูงยังไงดีให้ทำถ้ำทะลุไปอีกข้างของภูเขาได้
ไปจนถึงปีนต้นไม้อย่างไรดีถึงจะไปถึงยอดไม้ได้
หากเด็กไม่เคยเผชิญปัญหาเล็กๆ เขาจะขาดโอกาสในการคิดแก้ปัญหา และเมื่อเขาเผชิญปัญหาที่ใหญ่ขึ้น การแก้ปัญหานั้นจะเป็นไปได้ยากมากสำหรับเขา
(4) เด็กได้พัฒนาการเชื่อมโยง และแผ่ขยายข้อมูล
ในหนังสือนิทานเด็กเห็นใบไม้มีสีเขียว แต่ใบไม้ที่เขาเห็นบนต้นไม้วันนี้ อาจจะมีสีเขียวหลายเฉดสี หลายรูปทรง การที่เด็กได้เรียนรู้เชื่อมโยงว่า แม้สีและรูปทรงจะต่างกัน แต่ทั้งหมดนี้เรียกว่า ‘ใบไม้’ เหมือนกัน
เด็กได้เรียนรู้การจัดหมวดหมู่ แยกแยะความแตกต่างของสิ่งต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจความรู้ใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในชีวิตของเขาอีกมากมาย
(5) การเล่นทำให้เด็กได้เปลี่ยนถ่าย ‘นามธรรม’ สู่ ‘รูปธรรม’
สิ่งที่เขาคิดไว้ในหัว ได้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านการเล่น เช่น
– บ้านหลังเเรกในชีวิตของเขาอาจจะสร้างโดยบล็อกไม้
– รถคันแรกที่เขาอยากขับ เป็นรถที่ทำจากกล่องลัง
– สร้อยเส้นแรกที่มีในครอบครองอาจจะทำมาจากหลอดร้อยใส่ไหมพรม
และมีอีกหลายๆ เหตุผลที่เราควรปล่อยให้เด็กได้เล่นอิสระ
“Logic will get you from A to B.
Imagination will take you everywhere.”
“ตรรกกะจะพาเราเดินทางจากจุด A ไปจุด B ได้
แต่จินตนาการจะพาเราเดินทางไปได้ทุกที่”
– อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ –
หน้าที่ของเด็กๆ คือการเล่น และการเล่นที่ดีคือการเล่นที่ปราศจากการชี้นำ ให้เขาได้ใช้จินตนาการนำทาง และเล่นอย่างเต็มที่ ภายใต้กติกา 3 ข้อ คือ ไม่ทำให้ตัวเองหรือผู้อื่นบาดเจ็บ และข้าวของเสียหาย
หน้าที่ของผู้ใหญ่คือการเป็นพื้นที่ปลอดภัยและจัดเตรียมพื้นที่ให้เด็กๆ เล่น
1. สถานที่ที่ปลอดภัย พร้อมเล่น พร้อมเลอะให้กับเด็กๆ โดยเราไม่ต้องคอยห้ามหรือจำกัดเด็กๆ เกินไป
2. วัสดุ อุปกรณ์ที่เหมาะกับวัยให้เขาเลือกใช้
การเล่นไม่ควรจำกัดอยู่ที่ของเล่น แต่การเล่นควรหมายรวมถึงการสร้างสิ่งต่างๆ ตามจินตนาการของเด็ก ได้แก่
– ของเล่นที่ไม่สำเร็จรูป (Free form) เช่น บล็อกไม้ ตัวต่อต่างๆ ดินนำมัน
– ของเล่นจากธรรมชาติ ทราย ดิน หิน ใบไม้ กิ่งไม้
– Loose parts หรือ วัสดุต่างๆ เช่น ห่วง ไม้ไอศกรีม ผ้า ฝาขวด ขวดพลาสติก และอื่นๆ
บางครั้งเราพบว่าเด็กบางคนชอบเล่นในกล่องลังมากกว่า บ้านพลาสติกราคาแพงเสียอีก
ที่สำคัญ เด็กวัย 0-6 ปี ผู้ใหญ่ควรดูแลใกล้ชิด และค่อยๆ เขยิบถอยห่างลง ให้เด็กเล่นในสายตาของเราเพื่อความปลอดภัย
เด็กเรียนรู้อิสระที่แท้จริง เมื่อเขารู้ว่าขอบเขตหรือข้อจำกัดคืออะไร
สำหรับผู้ใหญ่ที่กังวลว่า “ปล่อยเด็กเล่นอิสระ โดยปราศจากการควบคุมชี้นำ แล้วถ้าเขาทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม ผู้ใหญ่จะควบคุมเขาได้อย่างไร?”
คำตอบคือ ‘การเล่นอิสระ’ ไม่ได้เท่ากับ ‘การปล่อยปละละเลย’ เพราะก่อนปล่อยเด็กๆ เล่น ผู้ใหญ่มีหน้าที่บอกกติกาหรือขอบเขตให้ชัดเจน…
ข้อ 1 เราจะไม่ทำให้ตัวเองบาดเจ็บ
ข้อ 2 เราจะไม่ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ
ข้อ 3 เราจะไม่ให้ข้าวของเสียหาย
หากเล่นแล้วทำผิดกติกา ผู้ใหญ่มีหน้าที่ย้ำเตือนเรื่องกติกาที่เราตกลงกัน โดยอาจจะตกลงกับเขาไว้ว่า “แม่จะเตือนลูก 2 ครั้ง ถ้าเกิดครั้งที่ 3 แม่จะเข้าใจว่า ลูกไม่พร้อมเล่นสิ่งนี้ในวันนี้ เราจะหยุดการเล่นนี้ทันที”
ผู้ใหญ่มีหน้าที่ควบคุมกติกา
นอกจากให้กติกาควบคุมเด็กแล้ว ก่อนจะเล่นกำหนดเวลาให้ชัดเจนว่าเล่นได้ถึงเมื่อไหร่ แล้วเมื่อหมดเวลาให้ตารางเวลาคุมเขา
ผู้ใหญ่ไม่ได้มีหน้าที่ควบคุมสั่งการเด็ก แต่เรามีหน้าที่ควบคุมกติกาให้ชัดเจน และสอนเด็กให้ปฏิบัติตาม
ในกรณีที่เข้าไปย้ำเตือนเรื่องกติกาถึง 2 ครั้งแล้ว เด็กยังไม่ยอมทำตาม ผู้ใหญ่บอกชัดเจนได้เลยว่า “วันนี้หนูไม่พร้อมเล่น เพราะหนูเลือกไม่ทำตามที่เราตกลงกัน เรากลับบ้านกัน (หรือ แม่ขอเก็บของชิ้นนี้ไป)”
การที่เราพูดเช่นนี้ทำให้เด็กเรียนรู้ว่า ‘ตัวเขาเองต่างหากที่ทำให้เขาไม่ได้เล่นต่อ’ เพราะ ‘เขาเลือกไม่ทำตามกติกา’ ไม่ใช่เพราะพ่อแม่สั่งไม่ให้เขาเล่นต่อ เราได้มอบโอกาสให้เด็กรับผิดชอบต่อการกระกระทำของตนเอง แม้เขาจะโกรธและไม่พอใจ แต่เขาได้เรียนรู้ว่า ‘ถ้าครั้งหน้าเขาอยากเล่นต่อ เขาควรจะทำตามกติกา’
สุดท้าย ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดสำหรับการเล่นของเด็กๆ ก็คือ ‘ความกล้าหาญ’ ของพ่อแม่ที่จะปล่อยให้ลูกเล่นอิสระ ภายใต้ขอบเขตของกติกาที่ชัดเจน
นอกจาก ‘การเล่นอิสระ’ การเล่นที่สำคัญที่สุดในช่วงวัยเยาว์ของเด็กทุกคนคือ ‘การเล่นกับพ่อแม่’
‘พ่อแม่’ คือของเล่นที่ดีที่สุดของลูก
สำหรับลูก ‘หน้าจอ’ แสงสีสุดเร้าใจ หรือ ‘ของเล่น’ มากชิ้นก็ไม่อาจทดแทน ‘พ่อแม่’ ของเขาได้ เพราะพ่อแม่คือ ‘ความรัก’ ของลูก ทุกครั้งที่เล่นกับพ่อแม่ ลูกรับรู้ถึงความรักและความผูกพัน เขาอบอุ่นใจที่ได้รับความสนใจและการมองเห็นจากพ่อแม่
วันนี้…
แม่จะเป็นคนไข้รอให้คุณหมอลูกมาตรวจ
แม่จะเป็นเพื่อนซี้มางานเลี้ยงน้ำชาของลูก
พ่อจะเป็นเครื่องบินพาลูกออกเดินทาง
พ่อจะเป็นภูเขาให้ลูกปีนข้าม
พ่อจะเป็นคู่ต่อสู้บนเวที(เตียง)มวยปล้ำ
พ่อแม่จึงเป็นของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูก เพราะ ในทุกๆ วัน พ่อแม่สามารถเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ลูกอยากให้เป็น
‘พ่อแม่เป็นทุกอย่างให้ลูกแล้วจริงๆ’
บางครั้งเราแค่ลงไปเล่นในเกมของเขา
- เล่นไปกับเขา
- เล่นน้ำ
- เล่นเลอะเทอะ
- เล่นและหัวเราะไปด้วยกัน
เราสร้างสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งด้วยความทรงจำที่ดีที่สุด
อ้างอิง
AAP.org. (n.d.). Retrieved April 6, 2021, from https://www.aap.org/en-us/Pages/Default.aspx