- ปัญหาความวิตกกังวลในเด็ก เกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่อาจใช้ความกังวลหรือความต้องการของตัวเองเป็นตัวนำในการเลี้ยงดู ซึ่งส่งผลให้เด็กขาดประสบการณ์และความมั่นใจ
- แม้พ่อแม่อยากมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก แต่บางครั้งสิ่งนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นที่สุดและอาจเกินความจำเป็นของลูกไป ส่งผลให้เด็กไม่ได้พยายามด้วยตัวเอง และไม่มีโอกาสได้เป็นเด็กสมวัย
- พ่อแม่ควรเคียงข้างและเชื่อมั่นในตัวลูก เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ตราบใดที่เด็กรับรู้ว่า ‘พ่อแม่จะเป็นบ้านที่ปลอดภัย’ ให้กับเขาเสมอ เขาจะไม่กังวลและกลัวที่จะเผชิญสิ่งต่างๆ
การเกิดของเด็กในปัจจุบันนั้นน้อยลงจนน่าใจหาย จากข้อมูลอัตราการเกิดของเด็กไทยในปี 2567 มีจำนวน 461,421 คน ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดไม่ถึง 5 แสนคนต่อปี แนวโน้มจำนวนเด็กเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงกระนั้นครอบครัวที่ตั้งใจมีลูกก็ยังมีอยู่ และด้วยสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากส่งผลต่อความพร้อมในการมีลูก ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสุขภาพทำให้มีลูกยาก และอีกหลากหลายปัจจัยส่งผลให้การมีลูกและเลี้ยงเด็กหนึ่งให้เติบโตกลายเป็นเรื่องยาก
‘ลูกจึงกลายเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดของพ่อแม่’
พ่อแม่ที่ตั้งใจมีลูกทำให้ตัวเองอยากเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด แต่ความตั้งใจที่มากเกินพอดีอาจส่งผลในทางตรงกันข้ามกับลูก พ่อแม่บางท่านใช้ความกังวลและความกลัวนำทางและปกป้องลูกจากทุกสิ่งที่ตนคิดว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ดีต่อลูก หรือพ่อแม่บางท่านใช้ความต้องการของตัวเองนำทางและเติมเต็มลูกมากที่สุดเท่าที่ตนสามารถทำได้ เพราะที่ผ่านมาตัวเองอาจจะไม่เคยได้รับและอาจจะคิดแทนลูกว่าถ้าลูกได้สิ่งนี้ย่อมเป็นเรื่องดีแน่นอน
ผลจากการเลี้ยงดูลูกด้วยความกลัวและความกังวล
(1) จุดเริ่มต้น ‘พ่อแม่กังวล ลูกกังวล เพราะความกังวลสามารถส่งต่อถึงกัน’
เมื่อพ่อแม่กังวล ลูกย่อมรับรู้ถึงความกังวลนั้นได้จากท่าทาง สีหน้า และน้ำเสียง เด็กทารกไปจนถึงเด็กเล็กๆ สามารถรับรู้ถึงความรู้สึกของพ่อแม่ได้ แต่การรับรู้นั้นไม่ได้ทำให้เขาเข้าใจว่าพ่อแม่กังวลเพราะอะไร เมื่อไม่เข้าใจก็เลือกตอบสนองด้วยความกลัว เด็กจะหลีกเลี่ยงไม่เผชิญสิ่งนั้น พ่อแม่ที่วิตกกังวลเป็นทุนเดิม เมื่อเห็นลูกกลัว ก็ยิ่งปกป้องลูกจากสิ่งนั้น
ลูกไม่อยากทำอะไร ก็ให้ลูกเลิกทำ หรือ พร้อมทำให้ทันที เช่น
- ลูกลองแกะไข่ต้มครั้งแรก แต่ทำไม่ได้ ร้องไห้ พ่อแม่ก็ทำให้ทันที
- ลูกฝึกกระโดดเชือกครั้งแรก ลูกร้อนและเหนื่อย พ่อแม่ก็บอกให้หยุดทำและเลิกทำไปเลย
- ลูกไม่ชอบอะไร ก็เอาออกทันที หรือ เลี่ยงไม่ให้ลูกเผชิญสิ่งนั้นอีก เช่น
- ลูกไม่อยากเดินบนทรายหรือบนหญ้า พ่อแม่ก็อุ้มเขาขึ้นทันที
- ลูกลองกินผักชีครั้งแรก ลูกบ้วนทิ้ง ตั้งแต่นั้นพ่อแม่ก็เขี่ยผักชีออกให้เขาทันทีที่เจอ
ทั้งที่จริงแล้ว เด็กๆ ที่เพิ่งเคยเจอสิ่งต่างๆ ครั้งแรก เขาอาจจะไม่ได้ไม่ชอบสิ่งนั้นทันที เพราะเขาแค่ไม่คุ้นเคย และไม่มีประสบการณ์มาก่อนเท่านั้นเอง หรือ เด็กๆ ไม่ชอบ เพราะยังทำไม่ได้ เลยปฏิเสธไม่ทำไปก่อน หากเราสอนและให้เขาได้ฝึกฝน เด็กๆ อาจจะทำได้และค่อยๆ ชอบทำสิ่งนั้นก็เป็นได้
(2) ‘เมื่อหลีกเลี่ยงบ่อยๆ จนขาดประสบการณ์ ความกังวลก็กลายเป็นความกลัวการเผชิญสิ่งใหม่และปัญหาการปรับตัวเข้าสู่สังคม’
เด็กที่หลีกเลี่ยงไม่เผชิญสิ่งต่างๆ ตามวัย ส่งผลให้เขาขาดประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้และการปรับตัวเพื่อเติบโตไปสู่วัยต่อไป เด็กเล็กพัฒนาการเรียนรู้ผ่านร่างกายของเขา การปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมจึงขึ้นอยู่กับการปรับตัวของร่างกาย
ยกตัวอย่างเช่น เด็กบางคนขาดประสบการณ์การรับสัมผัสกับพื้นผิวที่หลากหลาย เด็กอาจจะไม่อยากเข้าไปนั่งใกล้เพื่อน ส่งผลต่อการเข้ากลุ่ม เพราะเพื่อนๆ ของเขาก็ถือเป็นพื้นผิวสัมผัสรูปแบบหนึ่งเช่นกัน เขาคาดเดาไม่ได้ว่าเพื่อนจะตอบสนองต่อเขาอย่างไร ทำให้เด็กเลือกที่จะถอยห่างมากกว่าเข้าไป
(3) ‘เมื่อไม่มีประสบการณ์จึงไม่สามารถประเมินตัวเองและสถานการณ์ได้’
เด็กที่มีขาดประสบการณ์มักจะไม่รู้ว่าตัวเองมีความสามารถมากน้อยเพียงใด ส่งผลให้เมื่อเผชิญปัญหา เด็กจะไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ ซึ่งส่งผลให้เขาไม่สามารถตัดสินใจได้ หรือ ถ้าตัดสินใจได้อาจจะตัดสินใจได้ไม่ดีพอ
(4) ‘เมื่อแก้ปัญหาไม่ได้บ่อยๆ ส่งผลให้เด็กเลี่ยงการเผชิญปัญหา’
เด็กจึงหนีมากกว่าเผชิญ ส่งผลให้การรับรู้ความสามารถตัวเองต่ำลง และปลายทางของเด็กที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ มักจะกลายเป็นเด็กที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเองและรับรู้คุณค่าในตัวเองน้อย
ผลจากการเลี้ยงดูลูกด้วยความต้องการของพ่อแม่ แต่ไม่ใช่ความจำเป็นของลูก
(1) จุดเริ่มต้น ‘พ่อแม่คิดแทนลูก และบางครั้งอยากเติมเต็มวัยเด็กของตัวเองผ่านลูก’
พ่อแม่อยากมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก แต่บางครั้งสิ่งนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นที่สุดของลูก และบางครั้งสิ่งนั้นเกินความจำเป็นของลูกไป ส่งผลให้เด็กไม่ได้พยายามด้วยตัวเอง และเด็กไม่ได้มีโอกาสได้เป็นเด็กสมวัย
ตัวอย่างการสนับสนุนที่เกินพอดี ลูกอยากได้อะไร เราให้ทันที หรือ หามาให้มากกว่าที่ลูกขอ เช่น ลูกอยากเรียนเปียโน พ่อแม่บางท่านอาจจะคิดการผลักดันให้ลูกไปการแข่งระดับโลก จึงพยายามพาลูกไปหาครูที่เก่งที่สุด และลงคอร์สราคาแพงให้ลูก ทั้งที่จริงแล้วลูกอาจจะอยากเล่นเปียโนเป็นแค่นั้นเอง
(2) ‘เมื่อพ่อแม่มอบให้ เด็กจึงพยายามทำตามความคาดหวังนั้น แต่เมื่อทำไม่ได้จึงกลายเป็นความกังวล’
เมื่อเด็กทำไม่ได้ ‘ความคาดหวัง’ กลายเป็น ‘ความกดดัน’ และ ‘ความกดดัน’ ที่มากเกินจะรับไหวก็แปรเปลี่ยนเป็น ‘ความวิตกกังวล’ และ ‘ความกลัว’ ในท้ายที่สุด กลัวว่าตัวเองจะทำไม่ได้ กลัวว่าตัวเองจะทำให้พ่อแม่ผิดหวัง
นอกจากการเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปส่งผลให้จิตใจเด็กเปราะบางลง
สื่อออนไลน์เข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันของเด็กๆ มากขึ้น เด็กๆ ในวัยเยาว์ได้รับสารมากมายโดยที่พวกเขายังกลั่นกรองไม่เป็น บางสารส่งผลให้เขาหวาดกลัวและวิตกกังวล เพราะภาพที่น่ากลัว และเนื้อหาที่กระทบใจเด็ก เราไม่มีทางรู้ว่าจิตใจของเด็กแต่ละคนแข็งแกร่งเพียงใด บางคนอาจจะเปราะบางกว่าที่คิด ด้วยเหตุนี้เด็กที่ต่ำกว่า 8 ปีดูสื่อเพียงลำพัง อาจจะเป็นเรื่องน่าหวั่นใจไม่น้อยกว่าการปล่อยให้เด็กออกไปไหนเพียงลำพัง
‘เด็กบางคนกลัวและกังวลจนไม่อาจใช้ชีวิตตามปกติ’
- ไม่กล้าไปโรงเรียน
- ไม่กล้าทำอะไรเลย
- ไม่กล้าคุยกับใคร
- ร้องไห้ทุกวัน
ตัวอย่างอาการเหล่านี้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวขาญ ได้แก่ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น นักจิตวิทยาเด็ก
เด็กบางคนข้ามผ่านด้วยตัวเองไม่ได้เพราะมีความวิตกกังวลมากกว่าปกติ อย่าปล่อยให้เขาจมกับความกลัวนานเกินไป เพราะเมื่อความกังวลที่มากเกินพอดีและนานเกินไปอาจจะกลายเป็นโรค
โรควิตกกังวลในเด็ก (Anxiety disorders in childhood) เป็นโรคที่พบบ่อยขึ้นในเด็ก โรคนี้ทำให้มีความวิตกกังวลรุนแรงจนทำให้เกิดไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ คิดไม่ตก คิดวนเวียน และหวาดกลัว ร้องไห้ หรือ บางคนมีอารมณ์รุนแรง โกรธ และทำร้ายตัวเองและผู้อื่นได้ ความวิตกกังวลนั้นส่งผลกระทบต่อการเรียน และความสัมพันธ์ในครอบครัวและเพื่อนๆ
เด็กบางคนอาจจะมีอาการโรควิตกกังวลที่ส่งผลต่ออาการทางกายด้วย เช่น เหงื่อออก ใจสั่น ปวดหัว ปวดท้อง อาเจียน ส่งผลให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน หรือ ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพราะรู้สึกกังวลตลอดเวลา ความกังวลที่มากถึงขั้นเป็นโรคอาจจะส่งผลให้เด็กมีอาการซึมเศร้า และหมดหวังกับการใช้ชีวิตได้ ดังนั้นพ่อแม่ที่พบว่าลูกมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาจิตแพทย์ทันที
แนวทางป้องกันความกังวลในเด็กที่ดีที่สุดคือ ‘ให้เด็กได้เป็นเด็กและทำสิ่งที่เขาทำได้’
(1) ‘ให้เด็กได้เป็นเด็กสมวัย’
กินอิ่ม นอนหลับ ได้เล่น ได้ออกกำลังกาย ได้ทำอะไรตามวัยของเขา ได้รับความรักจากพ่อแม่ในบ้านที่อบอุ่นปลอดภัย
(2) ‘ให้เด็กได้ทำอะไรด้วยตัวเองมากที่สุด’
โดยมีพ่อแม่เป็นคนสอน แนะนำ และเคียงข้าง ถ้าเด็กยังไม่กล้าและกลัวความผิดพลาด ขอให้พ่อแม่เคียงข้างพาเขาเผชิญ
- ทำในสิ่งที่จำเป็น เช่น การช่วยเหลือตัวเองตามวัย การทำการบ้านหรืองานบ้านก่อนไปเล่น
- ทำในสิ่งที่ทำได้ เช่น ลองทำอะไรใหม่ๆ พยายามจนสุดกำลังด้วยตัวเองก่อนจะขอความช่วยเหลือ
(3) ‘ขอแค่ให้เด็กเริ่มลงมือทำ’
พ่อแม่ควรปรับเปลี่ยนความคิดให้ความสำคัญกับ ‘การให้เด็กลงมือทำ’ ผลลัพธ์จะออกมาเช่นไร เพราะทุกครั้งที่เขาทำเขาได้เรียนรู้ทุกครั้ง ที่สำคัญชวนเขามาคุยหลังทำอะไรได้หรือทำไม่ได้ พ่อแม่ช่วยเขาตั้งคำถามและชวนคิด
- ‘ทำอะไรได้ดี’
- ‘ยังทำอะไรไม่ได้ หรือ ต้องพัฒนาเรื่องไหนต่อ’
- ‘ชมตัวเองหน่อย’
(4) ‘เมื่อเด็กทำผิดพลาด อย่าซ้ำเติม’
พ่อแม่มักจะเผลอใส่อารมณ์กับความผิดพลาดของลูก เพราะมองว่า ‘เรื่องแค่นี้ทำไมพลาดได้’ โดยลืมมองไปว่า ‘เขาเป็นเด็กคนหนึ่ง’ ถ้าเรารู้สึกโกรธจนไม่รู้จะพูดอะไรดี ขอให้เราสงบใจไว้ก่อน เพราะแค่ทำผิดพลาด เด็กก็รู้สึกแย่กับตัวเองมากพอแล้ว ไม่ต้องซ้ำเติมเขาอีก ถ้าเราเข้าใจเขาขอให้ปลอบสั้นๆ ว่า ‘ไม่เป็นไรนะ” อย่าลืมว่าถ้าเลือกได้ คงไม่มีใครอยากทำผิดพลาดหรอก
(5) ‘ความมั่นใจของเด็กเกิดขึ้นได้จากคำชม’
ควรชมเด็กที่ความตั้งใจและพยายาม ถึงแม้ว่าวันนี้จะยังไปไม่ถึงปลายทาง แต่ถ้าเขาทำได้มากขึ้นจากจุดเริ่มต้น แค่นี้ก็สำเร็จไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว
ในทางกลับกัน ถ้าเด็กไม่กล้าแม้แต่จะลงมือทำ เพราะกลัวผิดพลาด กลัวว่าจะไม่ดีพอ เขาจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ซ้ำร้ายความมั่นใจจะค่อยถูกบั่นทอน และความกังวลจะก่อตัวใหญ่ขึ้นข้างใน
(6) ‘กอดแน่นๆ’
เมื่อเด็กกังวลและกลัวการเผชิญสิ่งใดๆ แต่จำเป็นต้องลงมือทำ และเผชิญสิ่งนั้นแล้ว ขอให้พ่อแม่กอดเขาแน่นๆ
- กอดก่อนเผชิญ เพื่อให้เขารู้ว่าเราเป็นกำลังให้ให้เขาทำให้เต็มที่
- กอดหลังทุกอย่างจบลง เพื่อให้เขารู้ว่าเขาทำได้ดีแล้วและเราจะรออยู่ตรงนี้เสมอ
สุดท้ายถ้าวันนี้ลูกยังกลัวและกังวลที่ก้าวออกไป ขอให้พ่อแม่เคียงข้างและเชื่อมั่นในตัวเขา กอดเขาแน่นๆ และเดินไปด้วยกัน เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ตราบใดที่เด็กรับรู้ว่า ‘พ่อแม่จะเป็นบ้านที่ปลอดภัย’ ให้กับเขาเสมอ เขาจะไม่กังวลและกลัวที่จะเผชิญสิ่งต่างๆ เพราะเขาไม่ได้เผชิญสิ่งเหล่านั้นเพียงลำพัง
อ้างอิง
American Psychiatric Association, Anxiety Disorders. In: American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and statistical manual of mental disorders 5th ed. (DSM-5). Washington DC: American Psychiatric Publishing; pp. 189-233.
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, จำนวนเกิด, สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, Editor. 2564: กรุงเทพฯ.