- แม้เทคโนโลยีช่วยให้เด็กเข้าถึงข้อมูลและทำสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น แต่ความสะดวกสบายที่เข้ามาพร้อมเทคโนโลยี กลับทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะทำอะไรด้วยตัวเอง เช่น การแก้ปัญหาง่าย ๆ หรือแม้แต่การดูแลตนเองในชีวิตประจำวัน
- เด็กควรได้ฝึกช่วยเหลือตัวเอง ทำงานบ้าน เล่นกลางแจ้ง และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เพราะการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคม
- พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดและทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง แม้อาจผิดพลาดบ้าง แต่เป็นกระบวนการที่ช่วยให้พวกเขาพัฒนาความมั่นใจ ความรับผิดชอบ และความสามารถในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ปัจจุบันเด็กแทบทุกคนรู้จักเทคโนโลยีที่เพียงใช้ปลายนิ้วสัมผัสหน้าจอ ‘การ์ตูน’ และ ‘เกม’ ก็โลดแล่นดังใจ เด็กๆ บางคนรู้วิธีถ่ายรูปด้วยมือถือก่อนจะพูดได้เสียด้วยซ้ำ แถมยังรู้วิธีสั่งผู้ช่วยอัจฉริยะ (AI Assistant) ไม่ว่าจะเป็น ‘Siri’ ‘Alexa’ ‘Chat GPT’ และอื่นๆ ให้ทั้งช่วยทำการบ้าน ถามในสิ่งที่อยากรู้ ให้เล่านิทานให้เขาฟัง ไปจนถึงให้ช่วยปิดไฟห้องนอนผ่านการพูดสั่ง
แม้ดูจะเป็นเรื่องดีที่ทำให้เด็กๆ เข้าถึงข้อมูลและทำอะไรหลายๆ อย่างได้อย่างรวดเร็วในเวลาเดียวกัน แต่เหรียญย่อมมีสองด้าน ความสะดวกสบายที่เข้ามาพร้อมเทคโนโลยี กลับทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะทำอะไรด้วยตัวเอง ทุกอย่างสำเร็จรูปและอัตโนมัติไปเสียหมด เมื่อต้องทำเองตั้งแต่ขั้นตอนแรก กลับไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไรดี เรื่องง่ายๆ กลายเป็นเรื่องยาก และเรื่องที่ควรทำได้กลับทำไม่ได้ ได้แก่ การช่วยเหลือตัวเองขั้นพื้นฐาน เด็กบางคนรู้วิธีถ่ายรูปด้วยมือถือ แต่กลับไม่รู้ว่าต้องแต่งตัวเองอย่างไร หรือ เด็กบางคนรู้ว่าต้องคอลผ่านไลน์ไปหาเพื่อนของเขาอย่างไร แต่พอเจอสถานการณ์ที่ต้องขอความช่วยเหลือกลับไม่สามารถพูดเพื่อตัวเองได้
และสุดท้ายปัญหาที่สั่งสมมาเรื่อยๆ เพราะแก้ปัญหาไม่ได้ด้วยตัวเอง หรือ รับมือกับปัญหาไม่ได้ อาจจะทำให้เด็กขาดภูมิคุ้มกันทางใจ และเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตได้ง่ายขึ้น เช่น
- การจัดการอารมณ์ที่ขาดวุฒิภาวะ เพราะไม่ได้ฝึกความรับผิดชอบในการช่วยเหลือตัวเองและส่วนรวม
- ความวิตกกังวลที่สูงกว่าปกติ เนื่องจากไม่สามารถคัดกรองและจัดการกับข้อมูลที่ได้รับมาได้
- ภาวะซึมเศร้าเพราะขาดตัวตนที่มีคุณค่า จากการไม่อาจยอมรับในตัวเองหรือได้รับการยอมรับจากผู้อื่น
สิ่งสำคัญที่หายไป เพราะถูกแทนที่ด้วยสิ่งเหล่านี้ คือ ‘โอกาสในการลงมือทำอะไรด้วยตัวเอง’ เพราะปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงแค่เด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็พึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น อะไรที่เคยทำได้ด้วยตัวเอง ก็ให้เทคโนโลยีทำแทน จากที่เราเคยเล่นกับลูก อ่านนิทานให้ลูกฟัง เราให้เทคโนโลยีทำสิ่งเหล่านั้นแทน แม้ว่าจะสะดวกสบายกว่า และเด็กดูจะสนุกกับสิ่งเหล่านั้น
แต่อย่าลืมว่า ‘เด็กต้องการการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัวเขาอย่างแท้จริง’ เพราะความรักและความอบอุ่น ไม่อาจแทนที่ด้วยความสนุกหรือหวือหวา เหมือนกับที่สติกเกอร์บอกรักก็ไม่อาจแทนที่ด้วยน้ำเสียงและกอดที่อ่อนโยนของเราได้
‘สิ่งสำคัญของเด็กทุกยุคคือเด็กควรได้เป็นเด็ก’
เทคโนโลยีไม่ใช่ผู้ร้าย และยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ทำให้สิ่งสำคัญที่เด็กควรได้รับและทำได้ควรเปลี่ยนไป เด็กทุกคนควรได้เป็นเด็ก เขาควรได้รับสิ่งเหล่านี้
(1) ได้ดูแลช่วยเหลือตัวเอง
ได้แก่ กินข้าว เข้าห้องน้ำ อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว ถอด-ใส่รองเท้า ถือ-จัดกระเป๋า เพื่อที่ตัวเขาจะรับผิดชอบต่อตัวเองได้และพัฒนาไปสู่การรับผิดชอบต่อส่วนรวมต่อไป
(2) ได้ลงมือทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
ได้แก่ งานบ้าน หรือ งานส่วนรวมที่เขาสามารถช่วยได้ตามวัย
(3) ได้เล่นอิสระ
ได้แก่ การเล่นที่ปราศจากการชี้นำ เล่นในสิ่งที่เขาอยากเล่น บางครั้งของเล่นของเด็กไม่ใช่ของเล่นสำเร็จรูป แต่คือสิ่งที่เขาสามารถนำมาสร้างสรรค์การเล่นใหม่ๆ ด้วยตัวเอง และสร้างสรรค์การเล่นด้วยตัวเอง ภายใต้กฎ 3 ข้อ ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำลายข้าวของ
(4) ได้ออกกำลังกาย
ได้แก่ วิ่งเล่น ปีนป่าย กระโดดสูง-ไกล ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และอื่นๆ เด็กทุกคนควรได้ออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและทนทาน เพื่อพัฒนาไปสู่การเรียนรู้ขั้นถัดไปได้
(5) ได้สื่อสารกับคนที่เขารัก
ได้แก่ พ่อแม่ คุณครู และเพื่อนๆ เด็กทุกคนต้องการความสนใจ เมื่อเขาพูดมีคนรับฟังและได้ยินเสียงของเขา ในขณะเดียวกันเด็กต้องเรียนรู้ที่จะรับฟังผู้อื่นผ่านการได้ยิน มองหน้า สบตา เพื่อจะเข้าใจทั้งเนื้อหา และความรู้สึกที่ส่งผ่านมายังเขาด้วย เด็กไม่ควรสบตาผ่านเทคโนโลยี เพราะเขาจะขาดโอกาสในการสื่อสารอย่างแท้จริงไป
(6) ได้ทดลอง ลองผิด ลองถูก ล้มแล้วลุก
ถ้าเด็กเจอแต่สิ่งที่ราบเรียบ ทุกอย่างสมหวังดังใจ และง่ายไปเสียหมด เมื่อเขาเจออุปสรรคในอนาคต เด็กจะไม่มีภูมิคุ้มกันทางใจ เมื่อล้มแล้วอาจจะลุกไม่ได้เอง ดังนั้นวัยเด็กให้เขาทำ ผิดพลาดให้เขาเรียนรู้ที่จะแก้ไข ล้มแล้วลุกได้ด้วยตัวเอง
(7) ได้รับความรัก
เพราะไม่มีอะไรแทนที่สิ่งนี้ได้ ความรักจากพ่อแม่จะช่วยให้เด็กเติบโตจากข้างใน
‘ทำไมเด็กต้องมีความคิดริเริ่มหรือทักษะการคิดได้ด้วยตัวเอง’
ในยุคสมัยที่ทุกอย่างถูกทำให้เป็นไปได้ด้วยเทคโนโลยี สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เด็กอยู่รอดในวันที่มี ‘ข้อมูล’ ‘ทางเลือก’ และ ‘ตัวช่วย’ มากมายคือ ‘ความคิดริเริ่มหรือการคิดได้ด้วยตัวเอง’ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเด็กจะไม่สามารถยืนหยัดหรือเลือกในสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองได้เลย
คำถาม: ทำอย่างไรให้เด็กรู้จักตัวเอง
คำตอบ: เริ่มต้นจากวัยเยาว์ เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองได้ดีจะรู้จักประเมินตัวเองตามความจริง
กล่าวคือ ‘รู้ว่าตัวเองทำอะไรได้/ไม่ได้’ และ ‘รู้ว่าตัวเองชอบ/ไม่ชอบอะไร’ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาด้วยตัวเอง หลังจากนั้นการได้ลงมือทำอะไรที่หลากหลายทั้งเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่นผ่านงานบ้าน งานส่วนรวม การเล่นสร้างสรรค์ และอื่นๆ ยิ่งลงมือทำ ยิ่งรู้ศักยภาพและความเป็นไปได้ที่ตัวเองจะทำอะไรต่อไป
ในทางตรงกันข้าม หากพ่อแม่บังคับในทุกเรื่อง ห้ามลูกทำผิดพลาดเลย เด็กจะไม่สามารถพัฒนาความคิดและการรับรู้ว่า ‘ความคิดของตนเองเป็นที่ยอมรับ’ เพราะพ่อแม่มักตำหนิและตัดสินตัวเขาว่า ‘ถูกหรือผิด’ ตลอดเวลา ซึ่งสุดท้ายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในพัฒนาการของเด็กแทนที่จะเป็นความกล้าที่จะคิดริเริ่ม พวกเขาอาจจะพัฒนาความกลัวผิดขึ้นมาแทนที่
เด็กที่กลัวว่า ‘ตัวเองจะทำอะไรผิด’ ตลอดเวลา มักจะไม่กล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ หรือ จะมีความวิตกกังวลที่สูง ส่งผลให้พวกเขามักจะรอคอยคำสั่งจากผู้อื่นอยู่เสมอ
และที่แย่ไปกว่านั้นคือ เด็กๆ อาจจะไม่สามารถรับรู้ถึงคุณค่าหรือความสามารถของตนเองที่แท้จริง เพราะสิ่งเหล่านี้ถูกลดทอนไปตั้งแต่วันที่ไม่ว่าเขาจะทำอะไร มักจะไม่เคยดีพอในสายตาของพ่อแม่ที่เขารัก
นอกจากนี้ พ่อแม่บางคนอาจจะช่วยเหลือลูกมากเกินไป จนลูกไม่ต้องทำอะไรเองเลย เด็กก็ไม่สามารถพัฒนาความคิดริเริ่มได้เช่นกัน เพราะจะรอให้คนอื่นคิดให้ และทำให้ตัวเองไม่อยากลำบากหรือเหนื่อยคิดเอง นั่นก็น่าลำบากใจไม่น้อย เพราะเด็กจะติดการช่วยเหลือ ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เมื่อเติบโตไปสู่วัยที่ควรรับผิดชอบสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง กลับไม่สามารถทำได้ และเลือกที่จะโยนความผิดนั้นให้กับผู้อื่นแทน
‘อยากให้เด็กๆ กล้าคิดและลงมือทำด้วยตัวเอง’
พ่อแม่และผู้ใหญ่ต้อง…
(1) อย่าทำให้ในสิ่งที่เด็กทำได้ด้วยตัวเอง
อย่าทำทุกอย่างให้ลูก อย่าช่วยเหลือลูกในทุกๆ อย่างที่เขาควรทำได้ด้วยตัวเอง เพราะลูกจะไม่ได้รับรู้ความสามารถที่แท้จริงของเขา
(2) อย่าทำให้เพียงเพราะง่ายและสะดวกกับเรามากกว่า
อย่าทำให้ชีวิตของลูกมีแต่ความสะดวกสบายและเรื่องง่ายๆ เพราะเมื่อเขาเจออุปสรรคหรือเรื่องยาก เขาจะไม่มีความอดทนเพียงพอที่จะเผชิญมัน และเลือกที่จะหนีปัญหาหรือให้ผู้อื่นรับผิดชอบแทนตัวเอง
(3) อย่าทำให้เพราะอยากให้เด็กพึงพอใจหรือสะดวกสบาย
อย่าหลีกเลี่ยงความลำบากและปกป้องลูกจากความทุกข์ เพราะสักวันหนึ่งเมื่อเขาเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ เขาจะไม่รู้วิธีรับมือกับมัน
(4) อย่าทำให้เพราะกลัวว่าเขาไม่รักเรา
ผู้ใหญ่หลายคนกลัวลูกหลานไม่รัก เลยเลือกที่จะไม่ขัดใจและทำให้ในสิ่งที่เด็กควรทำเอง ในกรณีนี้ให้เราระลึกไว้เสมอว่า ‘ความรักไม่มีเงื่อนไข’ เราไม่ควรต้องทำให้เขาพึงพอใจเพื่อให้เขารักเรา เรารักกันเพราะเรารักกัน ความรักควรทำให้เด็กเติบโต เรารักเขาจึงสอนให้เขาทำด้วยตัวเอง ไม่ใช่ทำให้เขาช่วยเหลือตัวเองไม่เป็น
(5) สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือสอนเขาให้แก้ปัญหาและทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง และไม่ว่าจะทุกข์หรือสุข เราเลือกที่จะเคียงข้างลูก จนเขาสามารถข้ามผ่านอุปสรรคปัญหาต่างๆ ไปได้ เพื่อวันข้างหน้าแม้ไม่มีเราอยู่ตรงนั้นกับเขาแล้ว ลูกจะใช้ชีวิตต่อไปได้ด้วยตัวเอง
คำถาม: เราเป็นพ่อแม่ที่เข้าใจลูกและเปิดโอกาสให้ลูกทำ หรือ เป็นพ่อแม่ที่รู้ใจและทำทุกอย่างให้ลูก
ถ้าเราเป็นพ่อแม่ที่ ‘ให้ลูกทำด้วยตัวเอง (เข้าใจลูก)’
พ่อแม่เข้าใจลูกและให้ลูกช่วยเหลือตัวเองตามวัยของเขา เราทำหน้าที่เปิดโอกาสให้ลูกทำเองมากที่สุด ถ้าลูกทำไม่ได้ เราเข้าไปสอนเขาด้วยการ
(1) ทำให้ดู
(2) พาทำ (จับมือทำ)
(3) ทำด้วยกัน
(4) ปล่อยลูกทำเอง โดยมีเราเฝ้าดู
(5) ฝึกฝนจนทำได้เอง แม้ไม่มีเราอยู่ตรงนั้น
ทั้งนี้เราไม่ได้คาดหวังว่า เด็กเล็กต้องทำทุกอย่างนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะเราไม่ได้คาดหวังผลลัพธ์ แต่เราคาดหวังให้เขาเรียนรู้การลงมือทำทุกขั้นตอนด้วยตัวเขาเอง
เมื่อเด็กรับรู้ว่า ‘ตนเองสามารถทำสิ่งใดได้ด้วยตนเอง’ เขาจะรับรู้ถึงความสามารถของตน ซึ่งนำไปสู่ความภาคภูมิใจ และความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง (Sense of Autonomy) และการควบคุมตนเอง (Self Control) จะเกิดขึ้นตามมา ยิ่งเด็กลงมือทำ เขายิ่งได้เรียนรู้การควบคุมและรับผิดชอบชีวิตของตัวเขาเอง ซึ่งทำให้เขาได้เป็นเจ้าของชีวิตของตัวเองอย่างแท้จริง
ถ้าเราเป็นพ่อแม่ที่ ‘ทำให้ลูก (รู้ใจลูก)’
พ่อแม่รู้ใจลูก และให้การช่วยเหลือลูกทันทีด้วยการเข้าไปทำให้ เด็กจะขาดโอกาสในการฝึกฝนการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง และทำให้เขาเลือกที่จะไม่ทำสิ่งนั้น เพราะเขารู้ว่า ‘พ่อแม่พร้อมจะทำให้เขา’ และเด็กจะรับรู้ว่า ‘พ่อแม่ไม่มีความอดทนเพียงพอที่จะรอเขา’ เด็กจะเกิดข้อสงสัยในตัวเองว่า ‘แท้จริงแล้วเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง’ ซึ่งนำไปสู่ความวิตกกังวลและไม่มั่นใจในตนเองในเวลาต่อมา
การเปิดโอกาสให้ลูกได้ช่วยเหลือตัวเองและทำสิ่งต่างๆ ที่เขาทำได้ด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เด็กๆ จะเกิดเป็นความชำนาญในทักษะดังกล่าว ในขณะเดียวกันพวกความมั่นใจในตัวของเขาก็ค่อยๆ เติบโตไปพร้อมกับทักษะที่เกิดขึ้นด้วย ทักษะพื้นฐานผนวกกับการรับรู้ถึงศักยภาพภายในตัวเองสามารถแผ่ขยายไปสู่การเรียนรู้และลองทำสิ่งใหม่ๆ ต่อไป
เด็กทุกคนมีความสามารถ พวกเขาทำอะไรได้มากกว่าที่ผู้ใหญ่คิด ขอเพียงอย่าดูถูกศักยภาพของพวกเขา และเปิดโอกาสให้เด็กๆ ลงมือทำให้มากที่สุด เพื่อที่เขาจะอยู่รอดกับในทุกที่ ทุกช่วงเวลา แม้ในวันที่มีเราหรือไม่มีเราอยู่ตรงนั้นกับเขา