- เมื่ออดีตวัยรุ่นต้องการสร้างนิเวศของคนรุ่นใหม่ให้ดีขึ้น จึงมาร่วมวงจับเข่าคุยแลกเปลี่ยนทัศนะบนเวทีนี้
- เทคโนโลยียุคนี้คือทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ต้องรอ ข้อดีคือบริหารจัดการเวลาได้ แต่สิ่งที่หายไปจากสำนึกวัยรุ่นคือเรื่อง Time and Space
- เสียงหนึ่งบนเวทีเห็นว่า ปัญหาไม่ได้มาจากเด็กเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังมาจากทัศนคติของผู้ใหญ่ที่ตีกรอบพวกเขาไว้
ภาพ: นิธิ นิธิวรกุล
“เด็กสมัยนี้…”
คือ quote แรกก่อนที่ผู้ใหญ่บางคนจะบ่นถึงวัยรุ่นยุคนี้ จนบางครั้งอาจลืมไปว่าตัวเองต่างก็เคยเป็นเด็กและวัยรุ่นกันมาก่อนเหมือนกัน
ไม่ใช่ว่าทุกคนไม่เคยผ่านชีวิตวัยรุ่น หากแต่วัยรุ่นแต่ละยุคมีคาแร็กเตอร์ที่ต่างกัน
- Generation X: ต้องการโอกาสเพื่อไต่เต้าไปสู่ความสำเร็จ
- Generation Y: บอกฉันสิ อะไรเร็วที่สุด ฉันพร้อมจะทำ ถ้ามันทำให้ฉันประสบความสำเร็จ
- Generation Z: ทุกคนเป็นปัจเจก ต่างฝ่ายต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้ไปพร้อมกันเพื่อไปถึงความสำเร็จ
ข้อสังเกตข้างต้น คือภาพสะท้อนความต่างของวัยรุ่นแต่ละยุคสมัย โดย พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย) หนึ่งในสี่ผู้ร่วมวงเสวนา ‘ไลฟ์สไตล์ ความท้าทาย และการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่’ จัดโดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในยุคที่โลกหมุนเร็วด้วยข้อมูลข่าวสารที่ไหลท่วมท้น กับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่บรรดาผู้ใหญ่อาจไม่คุ้นเคย นำมาสู่ความกังวลว่าสถานการณ์ข้างหน้าของเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่จะเป็นอย่างไร
เหล่าอดีตวัยรุ่นทั้งสี่ แม้จะต่างที่มา ต่างกระบวนการคิด แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องการสร้างนิเวศของคนรุ่นใหม่ให้ดีขึ้น จึงมาร่วมวงจับเข่าคุยแลกเปลี่ยนทัศนะบนเวทีนี้
ความกังวลของอดีตวัยรุ่นถึงวัยรุ่นปัจจุบัน
ความซับซ้อนและการเข้าถึงข้อมูลสารพัดรูปแบบอย่างง่ายดายและรวดเร็ว โดยมีอินเทอร์เน็ตเป็นสะพานเชื่อมโลก กลายเป็นสิ่งแรกที่ผู้ใหญ่หลายคนเป็นห่วง
“ทุกอย่างมันถาโถมเข้ามามาก โดยเฉพาะเรื่องสื่อ อย่างหนังสือโป๊ เมื่อก่อนกระบวนการเข้าถึงสื่อเหล่านั้นยากกว่านี้ ต้องมีการแอบซ่อน แต่เด็กสมัยนี้เข้าอินเทอร์เน็ตปุ๊บก็เจอแล้ว แทบไม่ต้องมีกระบวนการคัดกรองของพวกเขา เลยทำให้ทุกอย่างถาโถมได้ง่ายมากกว่าสมัยเรา”
ปิยะชาติ ทองอ่วม ผู้กำกับและนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ เดอะซีรีส์ อธิบายถึงระบบคัดกรองที่ลดขั้นตอนลงและเกรงว่าอาจส่งผลให้พวกเขาเดินผิดลู่ผิดทางได้ แต่อีกมุมหนึ่ง ปิยะชาติก็กล่าวอย่างชื่นชมว่า วัยรุ่นสมัยนี้ต้องมีความแข็งแกร่งทางจิตใจในระดับหนึ่งถึงจะสามารถเติบโตบนโลกใบนี้และใช้ชีวิตให้ดีได้ท่ามกลางสิ่งเร้ายั่วตายั่วใจ
การที่เด็กรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงโลกอันกว้างใหญ่ได้ง่ายและรวดเร็วกว่า อาจไม่ใช่เรื่องไม่ถูกต้องหรือไม่ดีเสียทีเดียว ปิยะชาติอธิบายถึงข้อดีที่เด็กรุ่นนี้จะได้รับจากสิ่งเหล่านั้นว่า
“พวกเขามีพื้นที่ที่หลากหลายในการเรียนรู้และฝึกฝนมากขึ้น สมัยก่อนคนอยากเป็นนักดนตรีต้องส่งเทปไปให้แกรมมี่ท่ามกลางกองเทปเป็นหมื่นๆ ม้วน แต่สมัยนี้ใครๆ ก็สามารถอัพโหลดผ่านยูทูปได้ ถ้าเจ๋งจริงเดี๋ยวก็ดัง”
ด้วยเหตุที่สื่ออินเทอร์เน็ตเป็นเทคโนโลยีหลักของวัยรุ่นยุคนี้ จึงมีส่วนสำคัญในการกำหนดลักษณะพฤติกรรมของพวกเขา อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแตกต่างกับคนรุ่นก่อนอย่างยิ่ง
นิติ ชัยชิตาทร นักเขียน นักแสดง และพิธีกรรายการ ‘เทยเที่ยวไทย’ อธิบายว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของ Technology Determinism กล่าวคือ เทคโนโลยีหลักที่มีอยู่ในช่วงนั้นย่อมสามารถกำหนดลักษณะนิสัยของคนที่เติบโตมากับเทคโนโลยียุคนั้นๆ เช่นเดียวกับเด็กรุ่นนี้ที่เติบโตมากับโลกอินเทอร์เน็ต ทุกสิ่งทุกอย่างเข้าถึงได้โดยง่ายดาย พวกเขาจึงมีความสามารถในการกำหนดและจัดการเวลาในการทำกิจกรรมได้ด้วยตนเอง
ตรงกันข้ามกับวัยรุ่นยุคก่อนที่เติบโตมากับสื่อโทรทัศน์ หากในช่วงเวลาเดียวกันมีรายการทีวีที่น่าดูพร้อมกันทั้งสองช่อง พวกเขาต้องแบ่งและจัดสรรเวลาให้เหมาะสมที่สุด เพื่อจะได้ไม่พลาดละครฉากสำคัญ แต่ยุคปัจจุบันไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะสามารถตามเก็บย้อนหลังเมื่อไรก็ได้ ซึ่งเป็นข้อดีที่ทำให้พวกเขาสามารถทำอะไรได้ในแต่ละช่วงเวลา หรือสามารถบริหารเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ ส่งผลให้พวกเขามีความหลากหลายทางทักษะที่มากกว่า แต่นั่นก็ยังมีข้อที่น่ากังวลอยู่ดี
“เราว่าเรื่อง space and time ของพวกเขาที่หายไปเป็นสิ่งที่น่าเอามาคิด เด็กรุ่นนี้ไม่มีตารางเวลาในรหัสดีเอ็นเอ พวกเขาจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเจาะจงเวลานั้นเวลานี้ เมื่อก่อนเวลานัดเพื่อนฝูง เจอกันแมคโดนัลด์ มาบุญครอง ตอนบ่ายสอง ถ้าบ่ายสองสิบห้าไม่มานี่เคืองแล้วนะ แต่เด็กสมัยนี้ ถึงแล้วเดี๋ยวโทรไป หรือไม่ก็อยู่ใกล้ๆ ละ เดี๋ยวโทรไป” นิติบอก
ทักษะที่เด็กรุ่นใหม่จำเป็นต้องมี
เมื่อโลกยุคใหม่หมุนเร็วและแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ทักษะที่วัยรุ่นแห่งศตวรรษที่ 21 พึงต้องมีคือ ทักษะในการจัดการกับความเปลี่ยนแปลง พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ มองว่า เด็กในวันนี้ต้องตั้งโจทย์ให้เป็นและต้องรู้จักวิธีในการจัดการกับความเปลี่ยนแปลง ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาเติบโตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
“พวกเขารู้ว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นคืออะไร อีกทั้งยังสามารถบอกได้ว่าโลกนี้มีปัญหาอะไร รู้ว่าตอนนี้พวกเขา ‘อิน’ กับเรื่องอะไร เด็กรุ่นนี้เจอกับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทำให้เขามีทักษะตรงนี้ การมีทักษะในการจัดการกับความเปลี่ยนแปลง อย่างแรกคือ ต้องตั้งโจทย์ให้เป็น ว่าเขาอยากเปลี่ยนแปลงอะไร และการจะสอนให้เขาตั้งโจทย์กับตัวเองได้ ผู้ใหญ่ก็ต้องทำด้วยเช่นกัน”
ทุกวันนี้เธอมองว่า ปัญหาไม่ได้มาจากเด็กเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังมาจากทัศนคติของผู้ใหญ่ที่ตีกรอบพวกเขาเอาไว้
“ปัญหาทุกวันนี้คือ เรายอมแพ้กันง่ายๆ และมีทัศนคติว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่อดทน แต่ในเมื่อผู้ใหญ่รู้ว่าทักษะที่เด็กต้องมีคือความอดทน เพราะฉะนั้นก็ต้องบอกเขาให้รู้จักทน อะไรสำคัญต้องทน ผู้ใหญ่ต้องยืนยันให้มั่นคงและไม่ยอมแพ้”
เมื่อเด็กรุ่นนี้เติบโตมาพร้อมๆ กับโลกอินเทอร์เน็ต เรียกได้ว่าแทบจะใช้ชีวิตอยู่ในนั้นมากกว่าครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ พรจรรย์เสนอว่า นอกจากผู้ใหญ่จะต้องส่งเสริมให้เด็กเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีแล้ว พวกเขาจะต้องเป็น netizen (ประชากรบนโลกอินเทอร์เน็ต) ที่ดีด้วย
“ชีวิตครึ่งหนึ่งของเขาอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต เขาเป็นประชากรบนโลกอินเทอร์เน็ต และการอยู่ตรงนั้นเต็มไปด้วยบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ และกฎกติกา เหมือนกับที่เขาเป็นประชากรในประเทศนี้เหมือนกัน” คือสิ่งที่พรจรรย์เน้นย้ำ
สอดคล้องกับ จิตติมา ภานุเตชะ ผู้อำนวยการมูลนิธิสร้างความเข้าใจสุขภาพผู้หญิง ที่มองว่าทัศนคติของผู้ใหญ่และกรอบคิดเหล่านั้นเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับเด็ก โดยเฉพาะปัญหาและความกังวลใจเกี่ยวกับเรื่องเพศ ที่กลายเป็นเรื่องต้องห้าม สุดท้ายนำมาสู่ปัญหาที่ยากเกินแก้
“ถ้าเราหาคำว่า ‘ทำแท้ง’ ใน google ห้าเว็บไซต์แรกที่ขึ้นมาคือ เว็บไซต์ปลอมที่หลอกให้เด็กเสียเงินเป็นหมื่นเพื่อซื้อยาทำแท้ง คำถามคือ เราอยู่ในสังคมแบบไหนที่ปล่อยให้เด็กแก้ไขปัญหาเอง โดดเดี่ยว และแสวงหาทางออกด้วยตัวเอง ซึ่งสุดท้ายก็ต้องตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ”
ฉะนั้น คำตอบของจิตติมาสำหรับทักษะที่เด็กรุ่นใหม่ต้องมีคือ เริ่มจากตัวผู้ใหญ่เองต้องเปลี่ยนทัศนคติและพร้อมที่จะรับฟังพวกเขาก่อน
“ผู้ใหญ่ต้องบอกเด็กๆ ว่า เขามีใครสักคนที่พร้อมจะฟังเขา นี่คือทักษะเรื่องของความช่วยเหลือ ถ้าเขามีปัญหา ผู้ใหญ่ต้องรับฟัง ไม่งั้นเราก็จะเจอปัญหาเด็กฆ่าตัวตายอีกเยอะ ส่วนเรื่องเพศ สิ่งที่ถูกปิดกั้นที่สุดคือ ทัศนคติที่ผู้ใหญ่มักพูดว่า ‘อย่าทำนะ ไม่ดีนะ’ ‘อย่าให้รู้นะว่าท้อง’ นี่คือสิ่งที่เป็นอุปสรรคระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่”
ตั้งการ์ดรับมือเด็กรุ่นใหม่
ในฐานะผู้ผลิตสื่อและคลุกคลีกับเด็กในระดับวงกว้าง ปิยะชาติเสนอว่า แนวทางที่จะรับมือกับเด็กรุ่นใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ผู้ใหญ่ต้องกล้าที่จะพูดความจริงกับเขาด้วยความปรารถนาดี แม้กระทั่งในการผลิตเนื้อหารายการโทรทัศน์ ผู้ผลิตก็ต้องอาศัยความกล้าและความเข้าใจด้วยเช่นกัน
“ต้องพูดเรื่องจริงกับเขา ไม่ต้องพยายามสร้างโลกสวย เขาไม่ต้องการโลกในอุดมคติ โลกนี้ไม่เหมือนการวิ่งเล่นอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ เขาต้องการคนที่พูดกับเขาจริงๆ สื่อสารกับเขาตรงๆ เด็กสมัยนี้เขาฉลาดพอที่จะรู้ว่าเนื้อหาแบบไหนคืออะไร อะไรคือพยายามยัดเยียดขายของ เราแค่บอกตรงๆ ว่าเราจะขายของ แต่ทำให้สนุก เขาก็จะสนใจเอง”
การทำงานกับคนรุ่นใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก พรจรรย์ก็คิดเช่นเดียวกัน เธอบอกเล่าผ่านประสบการณ์ตัวเองอย่างรวบรัดว่า การจะทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ ผู้ใหญ่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ได้เสียก่อน ต้องให้โอกาสตัวเอง ประเมินความพร้อมของตัวเอง และเรียนรู้ไปด้วยกัน
“สุดท้ายไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีอย่างไร พวกเขาก็จะเห็นคุณเป็นแบบอย่าง ถ้าผู้ใหญ่ไม่ให้โอกาสตัวเอง เราก็จะไม่มีทางให้โอกาสเด็กด้วย”
คือข้อคิดที่เธอชวนฉุดคิด