- คนทำงานกับวัยรุ่นขอเปิดเวทีแชร์ประสบการณ์ว่า วัยรุ่นที่พวกเขาทำงานด้วยต้องพบเจอกับอะไรบ้าง
- วัยรุ่นเด็กแว้น: เพราะพวกเขาอยู่และพบเจอกับปัญหา จึงรู้ว่าจะแก้อย่างไรและบอกว่า ‘เขาอยากเป็นนักการเมือง’
- วัยรุ่นในกระบวนการค้ามนุษย์: จะเป็นไปได้มั้ย ถ้าจะตัดเรื่องความมั่นคงออกไป แล้วทำให้การศึกษาไร้พรมแดน
- วัยรุ่นในกล่องดำ: พยายามลดบทบาทการสั่งสอนของคนทำงาน เพราะไม่มีเด็กคนไหนอยากได้ครู พวกเขาต้องการเพื่อนมากกว่า
- วัยรุ่นที่ถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์: นี่ไม่ใช่ยุคของการกลั่นแกล้งซึ่งหน้า แต่คือการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์
ภาพ: นิธิ นิธิวรกุล
อาจเป็นเพราะ ‘ฮอร์โมน’ ที่กำลังแปรเปลี่ยน ทำให้เด็กที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นมักถูกมองว่ามีปัญหา ทั้งที่โดยความเป็นจริงแล้ว เด็กทุกเจนเนอเรชันล้วนมีปัญหา ไม่ว่าจะเกิดในยุคสมัยใด ปัญหาของเด็กจึงเป็นเหมือนปัญหาโลกแตก ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้อย่างสำเร็จรูปตายตัว วิธีแก้ปัญหาของคนยุคหนึ่งอาจใช้ไม่ได้กับอีกยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขไปตามเหตุปัจจัย ตามเงื่อนไขของสถานการณ์
ลองไปฟังเสียงของ ‘ผู้ใหญ่’ กลุ่มหนึ่งที่เฝ้ามองปัญหาของเด็กวัยรุ่นยุคนี้ ในเวทีเสวนา ‘ไลฟ์สไตล์ ความท้าทาย และการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่’ วันที่ 19 กันยายน 2560 ณ หอประชุมโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บางทีอาจได้คำตอบในอีกมุมมองหนึ่ง
วิทยากรที่มาร่วมเสวนาในเวทีนี้ เป็นผู้มีประสบการณ์ตรง จากการทำงานคลุกคลีกับวัยรุ่นกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะวัยรุ่น ‘ชายขอบ’ ที่มักถูกมองว่า เด็กๆ กลุ่มนี้คือหนึ่งในปัญหาสังคม ไม่ว่าวัยรุ่นในพื้นที่ภาคใต้ วัยรุ่นที่ถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyber Bullying) วัยรุ่นประเทศเพื่อนบ้าน วัยรุ่นที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ วัยรุ่นในอาชีพขายบริการทางเพศ (Sex Worker) วัยรุ่นเด็กแว้น ฯลฯ และแทนที่จะมองว่าเด็กกลุ่มนี้มีปัญหา เป็นไปได้ไหมว่า สังคมนี้มีปัญหาเสียเอง
วัยรุ่นเด็กแว้น
“ขณะที่วัยรุ่นกลุ่มเจนเนอเรชันใหม่ที่วิทยากรเมื่อช่วงเช้าพูดถึง จะประมาณว่า ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ยังหาทางไม่เจอ แต่วัยรุ่นวัยแว้นของดิฉัน บอกชัดเจนเลยว่าอยากเป็นนักการเมือง หรือให้ดิฉันสมัครเป็นนักการเมืองก็ได้ แล้วพวกเขาจะเป็นบอดีการ์ด หรือผู้ให้คำปรึกษาเอง (หัวเราะ)”
แม้จะจบประโยคด้วยเสียงหัวเราะของคนทั้งหอประชุม แต่เรารู้ดีว่าข้อความระหว่างบรรทัดของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข นักวิจัยประจำมูลนิธิป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและอาชญากรรม เจ้าของหนังสือ ‘เร่ง รัก รุนแรง: โลกชายขอบของนักบิด’ ข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาจากการทำวิจัยใช้ชีวิตกินอยู่กับพวกเขายาวนานกว่า 3 ปีนั้น มีนัยชัดเจนแฝงอยู่
เธอกล่าวว่า เพราะโลกของเด็กๆ กลุ่มนี้ซับซ้อนเกินกว่าที่จะอธิบายด้วยตรรกะเพียงชั้นเดียว หากเชื่อตามคำจำกัดความและข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ พวกเขาย่อมถูกตราหน้าว่าเป็นปัญหาสังคม แต่ลึกลงไปกว่านั้น พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับข้อเท็จจริงของปัญหาด้วยตัวเองมาตลอด
ในฐานะที่เป็นเจ้าของปัญหา มันทำให้พวกเขามีความชัดเจน และบอกได้ว่าความต้องการสูงสุดของตัวเองคืออะไร เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกเลยที่เด็กๆ กลุ่มนี้จะพูดอย่างติดตลกว่า “พวกเขาจะเป็นนักการเมือง”
“เพราะพวกเขามองเห็นปัญหาไง เด็กแว้นของดิฉันจึงรู้ว่าจะต้องแก้ไขยังไง” ใช่เลย… ปนัดดาจบท้ายคำว่าเด็กแว้น ด้วยคำว่า ‘ของดิฉัน’ แทบทุกคำ
นอกจากเริ่มต้นช่วงของเธอด้วยเสียงหัวเราะ ปนัดดายังเล่าบรรยากาศช่วงที่ลงทำวิจัยตอนหนึ่งว่า การทำงานกับเด็กกลุ่มนี้ เรื่องเวลาและความจริงใจเป็นสิ่งสำคัญ เธอใช้เวลาอยู่หลายเดือนกว่าเด็กจะยอมรับ ยอมเล่าสิ่งที่อยู่ในใจให้ฟัง เหตุผลที่เธออธิบายไว้เช่นนี้ เพื่อจะย้ำในตอนท้ายว่า ปัญหาทุกอย่างมีคนเข้าไปทำงาน พยายามจะคลี่คลายและนำเสนออีกมุมมองหนึ่งออกมาเสมอ เพียงเปิดพื้นที่ให้นักวิชาการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปทำงานก็พอ
“ทุกคนมักจะถามว่า แล้วรัฐจะช่วยอะไรได้บ้าง อาจจะไม่ต้องช่วยอะไรเลย แค่เปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้อธิบายปัญหา ให้นักวิชาการเปิดเผยความจริง ให้นักวิชาการทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจก็พอ”
วัยรุ่นในกระบวนการค้ามนุษย์
วัยรุ่นค้าบริการทางเพศ (Sex Worker) วัยรุ่นแรงงาน วัยรุ่นในกระบวนการค้ามนุษย์ คือกลุ่มวัยรุ่นที่นุชนารถ บุญคง ผู้ก่อตั้งมูลนิธิบ้านครูน้ำ จังหวัดเชียงราย เข้าไปทำงานด้วย
“เด็กกลุ่มนี้แทบไม่มีที่ยืน แต่คนคิดว่าเด็กกลุ่มนี้รอได้ ไม่ลงทุนกับเขา โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเชิงนโยบาย ส่วนใหญ่เข้าไปทำงานเพื่อหาตัวเลข ดูว่าเด็กชายขอบกลุ่มนี้มีจำนวนเท่าไหร่ แล้วก็จากไป ไม่ได้แก้ไขปัญหาจริงๆ” นุชนารถกล่าว
แต่ก่อนจะพูดถึงปัญหาปลายน้ำของวัยรุ่นกลุ่มนี้ เธอเล่าย้อนกลับไปที่ปัญหาต้นน้ำ คือ เด็กชายขอบที่เดินทางข้ามเส้นชายแดนมาเพื่อหาชีวิตใหม่ ส่วนหนึ่งต้องการพื้นที่ปลอดภัยและที่ทำมาหากิน แต่หลายๆ กรณีที่เธอทำงานด้วย คือมักไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ และระหว่างทางมักจะเจอกับ ‘นายหน้า’ ที่กวาดต้อนเด็กกลุ่มนี้เข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์
“หลายเคสที่เด็กกลุ่มนี้ถูกทารุณมาตั้งแต่เกิด อาจไม่ได้หมายถึงการทารุณด้วยความรุนแรงทางร่างกาย แต่ถูกทารุณด้วยการละเมิดสิทธิ หรือตั้งใจจะอพยพข้ามดินแดนแล้วถูกเจ้าหน้าที่ยิงผ่านน่านน้ำเข้ามาเลย โจทย์ของเราจึงน่าจะอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้การศึกษาไร้พรมแดน ไม่จำเป็นว่าคุณต้องมีสัญชาติอะไรจึงจะมีสิทธิเรียน มีสิทธิได้รับความปลอดภัย
“จะเป็นไปได้ไหมว่า เราจะตัดแนวคิดเรื่องความมั่นคงของประเทศชาติออกไปก่อน แล้วตั้งธงกันใหม่ว่า เราจะทำอย่างไรให้การศึกษาไร้พรมแดน”
วัยรุ่นในกล่องสีดำ
‘Black Box’ หรือ กล่องสีดำ คือชื่อที่เขา-ศุภวิชช์ สงวนคัมธรณ์ ผู้ก่อตั้งสถาบันส่งเสริมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ Black Box และเพื่อนๆ ใช้เปรียบเปรยสิ่งที่พวกเขาออกแบบกิจกรรมเพื่อทำกับเด็กๆ ไว้ว่า มันคือกล่องสีที่แทบจะมองไม่เห็น แต่สร้างความแตกต่างเปลี่ยนแปลงได้
Black Box คือกลุ่มอาสานักฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาตัวเอง จัดให้กับเด็กๆ ในกลุ่มเด็กทั่วไปที่ต้องการค้นหาศักยภาพของตัวเอง กลุ่มเด็กที่ศุภวิชช์และเพื่อนทำงานด้วย คือเด็กที่แยกตัวเองออกมา เรียนรู้กับเพื่อนไม่ได้ด้วยสาเหตุใดก็ตาม อีกกลุ่มคือ เด็กกลุ่มแกนนำที่อยากสื่อสาร เชื่อมโยงเพื่อนให้ทำกิจกรรมอะไรสักอย่างหนึ่ง กลุ่ม Black Box ก็จะช่วยหาวิธีและผลักดันสร้างภาวะความเป็นผู้นำให้กับเด็กๆ กลุ่มนี้
ถ้าต้องให้คำนิยาม กลุ่ม Black Box ก็อาจไม่ต่างกับการเป็นครู แต่ศุภวิชช์บอกว่า เขาไม่ใช่ ‘นักเทศนาสั่งสอน’ เพราะสิ่งที่คนรุ่นเขามองว่าคือปัญหา แต่สำหรับเด็กเจนเนอเรชันใหม่ อาจไม่ใช่ก็ได้
“สิ่งที่ผมต้องย้ำกับตัวเองเสมอคือ อย่าเอาปัญหาของคนรุ่นเราไปบอกว่าเป็นปัญหาของเด็กสมัยนี้ เพราะเราโตมากับโลกที่แตกต่างกัน”
เช่นว่า เทคโนโลยีของเด็กสมัยนี้แทบจะอยู่ใน DNA ของพวกเขาไปแล้ว มันไม่ใช่แค่เครื่องพักผ่อนหย่อนใจ แต่มันคือทักษะ และโลกแห่งความรู้ของเด็กรุ่นนี้
“เราควรต้องดูแลความเป็นห่วงของตัวเองบ่อยๆ อย่า action มากนัก (หัวเราะ) ไม่มีเด็กคนไหนอยากได้ครู พวกเขาต้องการเพื่อนมากกว่า”
วัยรุ่นที่ถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyberbullying)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฤทัยชนนี สิทธิชัย อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการสารสนเทศ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ศึกษาเรื่องการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ หรือ Cyberbullying ในพื้นที่ภาคใต้ ก่อนอื่น เธอสรุปความหมายของการกลั่นแกล้งออนไลน์ ซึ่งต่างจากการแกล้งกันในความเข้าใจเดิมของเราไว้ว่า…
- การนินทาหรือด่าทอผู้อื่น
- การหมิ่นประมาทผู้อื่น
- การแอบอ้างชื่อผู้อื่นในด้านลบ
- การนำความลับที่เป็นข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลของผู้อื่นไปเปิดเผย
- การลบหรือบล็อกผู้อื่นบนโลกไซเบอร์
หลักๆ คือ การกลั่นแกล้งด้วยวิธีการซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไตร่ตรองไว้แล้ว โดยที่ผู้ถูกแกล้งไม่อาจตอบโต้ได้ ทั้งด้วยความกลัว รู้สึกหมดหนทางสู้ หรืออาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่า สิ่งนั้นเรียกว่าเป็นการกลั่นแกล้ง เพราะหลายๆ ครั้งไม่ใช่การทำร้ายทางร่างกายหรือด้วยวาจาซึ่งหน้า
อย่างไรก็ตาม นี่อาจเป็นปัญหาของเจนเนอเรชันใหม่ ที่รูปแบบของการกลั่นแกล้งเคลื่อนไปจากความหมายเดิม คือกลั่นแกล้งแบบหวังผลทางจิตใจจากการกระทำซึ่งหน้า เปลี่ยนไปสู่การกลั่นแกล้งผ่านทางเทคโนโลยีแทน แต่สิ่งที่น่ากังวลและควรจับตามอง ดูคล้ายกับว่าความรุนแรงจะทะลุทะลวงไปสู่ตัวเขาได้ทุกเมื่อ ตราบใดที่มีสมาร์ทโฟนไว้กับตัว ไม่จำเป็นว่าคู่กรณีต้องอยู่ตรงหน้า เขาอาจอยู่ไกลออกไปหลายร้อยกิโลเมตร กระทั่งข้ามโลกข้ามพรมแดนประเทศก็สามารถฝากคำรังแกทางจิตใจมาได้
สิ่งสำคัญที่จะช่วยรับมือต่อสภาวการณ์เช่นนี้ได้คือ การสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้เข้มแข็ง รู้เท่าทันอารมณ์ทั้งตนเองและคนรอบข้าง รวมทั้งการสร้างความเข้าใจร่วมกันของคนในครอบครัวเพื่อจะช่วยเป็นเกราะกำบังความรุนแรง