- การเป็นโค้ชให้นวัตกรวัยทีนในโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ดร.ธิปภร ธนกุลวรภาส ยืนยันว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่การดูที่ผลงานอย่างเดียว แต่ดู passion และ ศักยภาพที่มีแววพัฒนาได้ของเด็กๆ ในทีมด้วย
- การเป็นนวัตกร สิ่งที่ทุกคนมีอยู่แล้วคือความรู้ในทางของตัวเอง สิ่งที่โค้ชมองหาคือคาแรคเตอร์ข้างในอย่าง ความรับผิดชอบ น้ำใจ ทำงานเป็นทีม และความคิดสร้างสรรค์
- นวัตกรไม่ใช่แค่อาชีพ แต่ถูกบอกว่าคนในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าทำอาชีพใด จำเป็นต้องมีวิธีคิดแบบนวัตกร วิธีคิดจากโค้ชของนวัตกร จึงคู่ควรแก่การทำความเข้าใจในยุคสมัยนี้
เรื่อง: มณฑลี เนื้อทอง
ภาพ: โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่
เวลาพูดถึง ‘โค้ช’ แต่ก่อนคนอาจนึกถึง ‘ไลฟ์โค้ชชิง’ ผู้สร้างแรงบันดาลใจ หรือ ‘โค้ช’ ที่ให้คำปรึกษาด้านบริหารจัดการเงิน แต่เดี๋ยวนี้การเป็น ‘โค้ช’ อยู่ในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นการเติมความเป็น ‘โค้ช’ ลงในพ่อแม่ ครู เพื่อน หรือใครก็ตามที่ทำหน้าที่ ‘ให้คำปรึกษา’ จากการฟังและเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และเป็นปรัชญาเพื่อพัฒนาศักยภาพมนุษย์ตามไซส์คนจริงซึ่งแตกต่างกัน ไม่ใช่ ‘one size fits all’ – นี่คือหนึ่งเรื่อง
ไม่มีใครคัดค้านอีกแล้วว่าเราอยู่ในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนเร็ว ซับซ้อน และส่งผลรุนแรง อันเนื่องจากเทคโนโลยี เราเรียกสั้นๆ ว่านี่คือยุคแห่งการ disruption หลายอาชีพจะสูญหายแทนที่ด้วยการทำงานของ AI และเทคโนโลยีที่ไม่มีใครบอกได้ว่าต่อไปจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร นี่คือยุคของนวัตกรรม หรือ innovation era อย่างปฏิเสธไม่ได้ – นี่คือเรื่องที่สอง
โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปัจจุบันดำเนินมาถึงปีที่ 7 ถูกออกแบบมาเพื่อพัฒนาต่อยอดนวัตกรวัยเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมต้นถึงมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 4 ที่บอกว่าต่อยอด เพราะนี่ไม่ใช่เวทีแข่งขันทางเทคโนโลยีที่ให้นักเรียนมาประกวดแล้วจบไป แต่ต่อยอด – ขั้นแรก ดึงเอาทีมที่น่าสนใจจากการประกวดโครงการวิทยาศาสตร์ 3 เวที* NSC, YSC และ YECC แล้วนำมาเข้าค่ายเป็นเวลา 8 เดือนเพื่อพัฒนาต่อยอดโครงการ ฟันเฟืองสำคัญในโครงการต่อกล้าฯ คือ ‘โค้ช’
“เวลาคัดเลือกหรือตัดสิน เราไม่ได้เลือกที่ผลงานอย่างเดียว สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ passion ของเด็ก เพราะเขาต้องอยู่กับเราจนจบโครงการให้ได้ วิธีการประเมินแบบนี้ไม่ได้สนใจ product มากเท่ากับการสร้างคน นี่เลยเป็นจุดที่ทำให้การเป็นโค้ชและการตัดสินในโครงการต่อกล้าฯ แตกต่างจากการเป็นกรรมการตัดสินโดยทั่วไป”
ดร.ธิปภร ธนกุลวรภาส อดีตนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และหนึ่งใน ‘โค้ช’ โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ รุ่นปีที่ 6 และ 7 – อธิบายการต่อยอดในขั้นที่สอง นั่นคือการต่อยอดพัฒนาคน
การเป็น ‘โค้ช’ ที่ช่วยผู้คนค้นพบศักยภาพของตัวเองให้เจอว่ายากแล้ว แต่การเป็นโค้ชให้กับ ‘นวัตกร’ วัยทีนที่ต้องการความรู้เฉพาะศาสตร์เพื่อให้คำแนะนำ และการโค้ชนวัตกรที่ไม่ใช่แค่การสร้างอาชีพแต่เป็นการทำงานกับคุณลักษณะภายใน ทักษะภายใน ที่ถูกบอกว่าคนในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าอาชีพใดจำเป็นต้องมีวิธีคิดแบบนวัตกร – เรื่องนี้ยากยิ่งกว่า
The Potential ชวน ดร.ธิปกร คุยว่าด้วยบทบาทการโค้ชนวัตกรซึ่งต้องการความรู้เฉพาะทาง เธอเป็นโค้ชแบบไหน อยากผลักดันเรื่องอะไร และพูดแทนโค้ชในโครงการต่อกล้าฯ ที่มีจุดประสงค์ร่วมคือ การโค้ชเพื่อค้นให้เจอศักยภาพของเด็กและพัฒนาต่อ ไม่ตัดโอกาสเพียงดูแค่ชิ้นงานหรือ product
เวลาบอกว่าเราทำหน้าที่ ‘โค้ช’ มันคืออะไร แตกต่างจากการเป็นครู หรือ การเป็นกรรมการตัดสินโครงการอย่างที่เคยทำก่อนหน้านี้อย่างไร
ต่างมาก หลักๆ เลยคือวิธีคัดเลือกโครงการ อย่างแรกที่เราจะดูคือ โครงการมีศักยภาพไปต่อได้ไหม จากนั้นมาดูที่ตัวเด็กว่ามีศักยภาพไหม ดูความตั้งใจ ดู passion ของเด็ก ความยากของโค้ชคือ เราจะมองแค่ตัวงานว่างานนี้เด่น งานนี้ดี งานนี้ขายได้ …ไม่ได้ ต้องมองยาวไปถึงขั้นว่าเด็กพร้อมไหม โรงเรียนพร้อมไหม อุปกรณ์พร้อมไหม และต้องคิดว่าเราเองจะซัพพอร์ตเขาได้ไหมด้วย เพราะเราต้องเป็นคนที่อยู่หรือต้องพัฒนาผลงานไปกับเขา
โค้ชต้องตัดสินด้วยไหมว่าโครงการไหนจะได้ผ่านเข้ารอบต่อไป?
มีทั้งตัดสินและไม่ตัดสิน อธิบายรูปแบบโครงการก่อนว่า ระยะเวลาของโครงการต่อกล้าฯ เราทำโครงการกันยาวนานประมาณ 8 เดือน ระหว่าง 8 เดือนนี้ก็จะมีค่าย 3 ค่าย แต่ละค่าย เราจะได้เจอเด็ก 3 วัน เวลานี้แหละที่จะได้คุยกับเด็กถึงปัญหาและสารทุกข์สุกดิบกัน การให้คำปรึกษาแต่ละโครงการจะไม่ต่ำกว่าทีมละครึ่งชั่วโมง หลังจบค่ายก็จะมีการลงพื้นที่ไปติดตามผลงานเด็กๆ ที่โรงเรียนแต่ละทีมอีก 2 ครั้ง
ค่ายแรกจะรับเด็กเข้ามา 30 โครงการ พอเข้าสู่ค่ายสองจะเป็นช่วงที่เด็กต้องนำเสนอโครงการ ตอนนี้เราจะตัดบางโครงการออกให้เหลือแค่ 15 โครงการ พอได้ 15 โครงการแล้ว โค้ชจะไม่ตัดสินแล้วแต่ต้องช่วยผลักดันให้ทุกทีมอยู่จนจบโครงการให้ได้
เวลาคัดเลือกหรือตัดสิน เราไม่ได้เลือกที่ผลงานอย่างเดียว สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ passion ของเด็ก เพราะเขาต้องอยู่กับเราจนจบโครงการให้ได้ วิธีการประเมินแบบนี้ไม่ได้สนใจ product มากเท่ากับการสร้างคน นี่เลยเป็นจุดที่ทำให้การเป็นโค้ชและการตัดสินในโครงการต่อกล้าฯ แตกต่างจากการเป็นกรรมการตัดสินโดยทั่วไป
หน่อยเองเคยเป็นกรรมการตัดสินโครงการ NSC เด็กพรีเซนต์ไม่รู้เรื่องแต่งานดีเราก็ให้ เพราะเราดูที่ product แต่ถ้าเป็นโค้ช ชัดเจนเลยว่าเราต้องดูตัวเด็กด้วย
จะมองเห็น ‘ศักยภาพ’ ภายในของเด็กได้ โค้ชมีวิธีการ ต้องคิด หรือมีมุมมองอย่างไร
เริ่มจากการ ‘ฟัง’ เข้าไปฟังว่าโครงการของเขาเนื้อหางานเป็นยังไง ทำงานอะไรบ้าง เขามีปัญหาอะไร พยายามคุยกับเขาในรูปแบบที่ทำให้เขาวางใจและไว้ใจ ไม่พยายามทำตัวเป็นลูกศิษย์กับอาจารย์ เป็นกรรมการกับเด็ก หรือในเซนส์ของการเป็นคนที่อายุห่างกันมากๆ หลังจากคุยและทราบแล้วว่าเนื้อหางานของเขาเป็นยังไง มีปัญหาตรงไหน รู้ว่าจะเข้าไปช่วยเขาตรงไหนได้บ้าง จากนั้นจึงมาปรับจูนกันว่ามุมมองของเขากับเราเป็นยังไง
การจะทำแบบนี้ได้ ต้องใช้เวลาพอสมควร
เพราะด้วยระยะเวลาของโครงการมันยาวนาน และหลังจบค่ายยังมีการลงพื้นที่ไปติดตามผลงานเด็กๆ ที่โรงเรียนแต่ละทีมอีก 2 ครั้ง ปีที่แล้วหน่อยลงพื้นที่เยอะมาก มี 15 โครงการก็แทบจะไปทั้ง 15 โรงเรียน ข้อสังเกตที่ชัดมากๆ ของการลงพื้นที่คือเราจะได้เห็นเขาในอีกมุมมองหนึ่ง มันไม่เหมือนกับเวลาเข้าค่ายซึ่งเขาอาจรู้สึกว่านี่คือพื้นที่ของเรา (ทีมโค้ชในโครงการ) เราเป็นเจ้าบ้าน เขาเป็นแขก เขาจะไม่เต็มที่ ไม่ค่อยกล้า แต่พอเราลงไปในพื้นที่ เราคือแขก เขาคือเจ้าบ้าน เขาจะพูดหรือทำหลายๆ เรื่องที่คล้ายกับว่าเปิดใจให้เรามากกว่า
ลงโรงเรียนเพื่อทำอะไรบ้าง
ไปติดตามผลงาน เพราะพอจบค่ายที่ 3 เราจะให้การบ้าน เด็กๆ จะมี commitment ว่านับจากนี้อีกหนึ่งเดือน โค้ชลงไปติดตามผลงานจะต้องเจอหรือเห็นผลงานอะไร ที่ต้องสร้าง commitment เพราะบางครั้งต้องให้เขาไปทดลองทำก่อนจึงจะรู้ว่าผลเป็นยังไง ถ้าผลออกมาไม่ดี ค่อยดูว่าเราจะแก้ปัญหาร่วมกันยังไง
โค้ชในโครงการต่อกล้าฯ ต้องการสร้างคน สร้างนวัตกรที่มีคาแรคเตอร์แบบไหน
เอาที่เราคุยกันในกลุ่มส่วนใหญ่นะ เราคิดว่าปัญหาใหญ่ของเด็กที่ไปต่อไม่ได้เกิดจากความไม่รับผิดชอบ เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่โค้ชให้ความสำคัญมากคือความรับผิดชอบ รวมถึงความมีน้ำใจ การทำงานร่วมกันเป็นทีม ที่บอกแบบนี้เพราะเราเห็นว่าแต่ละรุ่นเขามีความเก่งในตัวอยู่แล้ว แต่บางคนทำงานคนเดียวซึ่งมันก็ทำให้ได้งานในระดับหนึ่ง แต่การทำงานเป็นทีม การได้เอาความเก่งของหลายๆ คนมารวมกัน เราจะได้งานสเกลใหญ่ขึ้น มีศักยภาพมากขึ้น มีอิมแพคต่อประเทศมากขึ้น
นอกจากนี้คือต้องมีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ ทำให้ตัวเองมีคาแรคเตอร์ที่โดดเด่นกว่าคนทั่วไป
‘รับผิดชอบ มีน้ำใจ ทักษะทำงานเป็นทีม มีความคิดสร้างสรรค์’ พูดได้ไหมว่านี่คือทักษะพื้นฐานนวัตกร
หน่อยมองว่า ไม่ว่าจะทำงานส่วนไหนก็ตาม จะเป็นนวัตกร นักวิจัย อาจารย์ หรืออาชีพอะไรก็ตาม คุณสมบัติพวกนี้เป็นคุณสมบัติพื้นฐานในการทำงาน เราเลยอยากปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ให้เด็กๆ
คาแรคเตอร์ของเด็กๆ ที่คุณกล่าวมาตรงกับทักษะในศตวรรษที่ 21 หลายข้อเลย แม้หลายคนพูดกันว่าเราต้องสร้างเด็กที่มีคุณสมบัติแบบนี้ แต่พอบอกว่าเป็น ‘คาแรคเตอร์’ มันสร้างยากกว่าการถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบที่คุ้นชินในห้องเรียนทั่วไป
มันสร้างยาก แต่เราทำด้วยการพูดคุยนี่แหละ ไม่ได้คุยแค่เรื่องงาน คุยทุกเรื่อง เรื่องทั่วไปที่เขาสนใจ อาหารการกิน
ค่อยๆ ศึกษาต่อไปว่าเด็กแต่ละคนเป็นยังไง มีความสนใจด้านไหน มีทักษะโดดเด่นด้านไหน แล้วเราก็จะส่งเสริมเขาไปในด้านนั้นโดยการให้กำลังใจบ้าง ให้ความรู้บ้าง ถ้าติดปัญหาในทางเทคนิคก็ให้ความรู้กันไป
พูดได้ไหมว่าไม่ได้ตั้งใจให้ความรู้ขนาดนั้น แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นการดูแลเรื่องความสัมพันธ์?
ใช่ค่ะ เราต้องอ่านเด็กให้ออกก่อนว่าเด็กคนนั้นมีคาแรคเตอร์ยังไง บุคลิกแบบไหน เขาต้องการให้เราเสริมด้านไหน ไม่ใช่ว่าฉันมีความรู้แบบนี้ พอเจอเธอปุ๊บก็ยัดให้เธอเลย เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เอาเข้าจริงแล้วเด็กในโครงการต่อกล้าฯ มีความแตกต่างเรื่องอายุมาก มีตั้งแต่วัยมัธยมต้นจนถึงอยู่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 4 การที่เราจะเข้าไปหาเด็กแต่ละกลุ่ม ต้องมีวิธีการในการพูดกับเขา หน่อยเองอายุก็ต่างกับเด็ก เขาก็เป็นลูกเราได้เลยนะ ซึ่งความแตกต่างขนาดนี้ทำให้เราต้องพยายาม แต่ในความเป็นโค้ช เขาดูออกว่าเด็กคนนี้มีศักยภาพด้านไหน คนนี้ด้านดีไซน์ คนนี้ด้านโปรแกรม คนนี้ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เด็กคนไหนถนัดด้านอะไร ก็จะรู้ว่าควรส่งเสริมด้านไหน รู้แล้วก็โค้ชกันไปตามแต่ละคน
เข้าใจว่าคุณไม่ได้จบครู จิตวิทยา หรือสายมานุษยวิทยาโดยตรง อยากรู้ว่าวิธีคิดในการโค้ช วิธีการเข้าถึงเข้าใจเด็กแต่ละคน ได้มาตอนไหน
เป็นความชอบส่วนตัว หน่อยไม่ได้เริ่มทำงานกับเด็กแค่สองสามปีที่ผ่านมา แต่ทำงานกับเด็กตั้งแต่เราเริ่มทำงานเลย มีโอกาสได้ไปทำงานกับโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ เรามองเด็กเป็นไปตามคน ดูว่าแต่ละคนมีนิสัยยังไง ไม่พยายามตัดสินเพื่อให้เขาเป็นแบบที่เราต้องการ แต่พยายามมองว่าเขาเป็นแบบนี้ แล้วเรามีความสามารถอะไรที่จะไปสนับสนุนเขาได้
ไม่รู้ว่าพูดแบบนี้ถูกต้องหรือเปล่า คนรุ่นเราเคยชินกับการเรียนแบบสั่งสอน สั่งการจากในห้องเรียน แต่สมัยนี้เราไม่ได้เชื่อแบบนั้นแล้ว ครูไม่ได้เป็นผู้ผูกขาดความรู้เพราะความรู้มีอยู่ทั่วไป นำมาซึ่งการพูดถึงการสอนที่ต้องปรับ สิ่งที่สงสัยคือ เวลาที่ทำงานกับเด็ก เราต้องปรับตัวมากไหม ยังเคยชินกับวิธีการสอนแบบสั่งการหรือเปล่า
ไม่เลย อาจเป็นเพราะเราเป็น Gen X ที่ใกล้ Gen Y เหมือนเป็นสองเจนเนอเรชั่นในคนเดียว แต่ก็ต้องบอกว่าเราตามเด็กรุ่นนี้ไม่ค่อยทันเหมือนกันนะ แต่… เราค่อนข้างเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยเลยไม่ได้ใช้วิธีการสอนแบบวิธีเดิมๆ ใช้การดูแลแบบเป็นเพื่อนกันมากกว่า
ส่วนใหญ่เด็กจะเจอเราในบทบาทกรรมการก่อนค่อยมาเป็นโค้ช ช่วงแรกเขาจะมีระยะห่างและเกร็งกับเรา แต่พอเราเป็นโค้ช เราก็จะบอกว่า “วันนี้พี่เป็นทีมงาน เรามาช่วยกัน มาคุยถึงปัญหา พี่ไม่ได้มาตัดสินนะ แต่มาเพื่อช่วยเหลือและเราคือทีม” คือทุกครั้งที่เริ่มต้น เราจะนิยามตัวเองชัดเลยว่า เราใส่หัวโขนของการเป็นโค้ชอยู่
“เวลาเด็กคุยกับเราในฐานะกรรมการ เหมือนเขากลัวว่าถ้าบอกเราว่ามี bug เขาจะถูกหักคะแนน แต่ถ้าคุยกับเราในฐานะทีมงาน เราจะได้ข้อมูลอีกแบบ เขาบอกหมดว่ามีปัญหาแบบนั้นแบบนี้ พรั่งพรูออกมาเลย”
เด็กส่วนใหญ่บอกคล้ายกันว่าระหว่างทางทำโครงการฯ จะเจอทางตัน มันท้อ มันดาวน์ไปหมด ในขณะที่เด็กบอกเองว่าเขาหมด passion แต่โค้ชทำอย่างไรในการกระตุ้นหรือหล่อเลี้ยง passion ของเด็ก
เอาจริงๆ ทุกวันนี้ก็ไม่รู้ว่าที่ทำอยู่มันถูกทางมากน้อยแค่ไหนนะ แต่พยายามทำให้ดีที่สุด พยายามเป็นพี่ที่คุยกับน้อง ทำให้เขาวางใจ ทำยังไงก็ได้ให้เขาอยากเดินต่อกับเรา มีปัญหาแล้วคุยกับเราได้
จริงๆ แล้วต้องบอกก่อนว่าเด็กส่วนใหญ่ไม่ได้ท้อกับงานนะแต่ท้อกับคน เช่น เพื่อน พ่อแม่ หรือแม้แต่ครูอาจารย์เองก็ตาม อย่างปีที่แล้ว ในกลุ่มของเด็กๆ เองไม่มีปัญหากันเองข้างในเลย แต่เขารู้สึกเหนื่อยกับปัญหาและกระบวนการที่โรงเรียนมาก ทีนี้เวลาเราลงพื้นที่ เราไม่ได้ไปแบบ “อะ ไหนขอดูงาน 1 2 3 4 ซิว่าเสร็จไหม?” แต่จะถามก่อนว่า “เป็นยังไงบ้าง มีปัญหาอะไรไหม อยากคุยอะไรกับพี่ไหม? อยากเล่าอะไรให้พี่ฟังรึเปล่า” เด็กร้องไห้ออกมาเลย ตอนนั้นงงมากเพราะไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าพวกเขามีปัญหานี้ หมายความว่า อาจเป็นเพราะการได้ลงพื้นที่คล้ายการให้เวลาเขา ได้พูดคุยกันแบบเปิดอกคุย ได้ระบาย ได้พูด และเราก็ไม่ได้รับฟังอย่างเดียว แต่คนเป็นโค้ชต้องช่วยหาวิธีแก้ ยืนอยู่ข้างเขา ทำให้เขาไม่โดดเดี่ยว
นอกจากความรู้เรื่องจิตวิทยา ความเข้าใจกันในฐานะมนุษย์ การเป็นโค้ชเพื่อสร้างนวัตกรต้องมีความรู้เฉพาะตัวอะไรบ้าง
หลากหลายมากเลย จะบอกว่าส่วนตัวถนัดด้านซอฟต์แวร์ก็จริง แต่งานอดิเรกที่ทำอยู่เราทำงานสวน ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ทำนู่นทำนี่ โครงการของเด็กบางโครงการเขาทำเกี่ยวกับเกษตร เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปู เลี้ยงปลาบ้าง นี่เราก็ใช้ความรู้ความสามารถจากงานอดิเรกเราส่วนหนึ่งนะ หมายถึงว่า หลายเรื่องก็ต้องใช้ความสนใจส่วนตัวของโค้ชเอง ปีที่แล้วเราโค้ชเรื่องอาหารน้ำหมักชะลอความเปรี้ยวซึ่งเราไม่มีความรู้ด้านนี้เลย ก็ต้องไปหาข้อมูล อ่านหนังสือไม่พอ ต้องไปหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อจะมาไกด์เด็กได้ ไม่ใช่ว่าเรามาโค้ชแบบไม่มีความรู้อะไรเลย
เด็กโตเราก็โต?
ใช่ หลายเรื่องที่เด็กทำโครงการเป็นเรื่องที่เราไม่รู้มาก่อนก็ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมเพราะเราเองก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง โครงการต่อกล้าฯ ท้าทายเรามาก ตอนเป็นกรรมการโครงการ NSC เราชำนาญเฉพาะด้าน เห็นปุ๊บก็รู้แล้วว่า bug อยู่ตรงไหน จะใช้คำถามอะไรเพื่อให้รู้ว่าคุณหมกเม็ด bug ตัวไหนอยู่ ขณะที่โครงการต่อกล้าฯ ไม่ใช่ ใช้ความรู้หลากหลายและแต่ละปีก็มีโครงการไม่ซ้ำกัน เพราะเราพยายามทำงานที่ยังไม่เคยมีโครงการนั้นหรือมีแล้วแต่ยังไม่มากพอ นั่นแปลว่าถ้าเด็กพัฒนา เราก็พัฒนาด้วย บางเรื่องเราก็ศึกษาไปพร้อมกับเด็ก แต่เราอาจมีพื้นฐานที่สูงกว่า ทำให้รู้ว่าจะค้นหาที่ไหน อย่างไร หรือมี connection มากพอเพื่อไปถามข้อสงสัยของเราได้มากกว่า
ถ้าโค้ชคือการต่อยอด passion ของเด็ก แล้ว passion ของโค้ชคืออะไร?
คือการสร้างเด็กนี่แหละค่ะ (หัวเราะ) อย่างปีที่แล้วมีโครงการราวตากผ้า ครั้งแรกที่เห็น ก็… “อื้ม” คือไม่รู้ว่าเขาจะไปต่อกันยังไง ไม่รู้ว่าเราจะไกด์ไปในแนวทางไหน จะไปยังไงดี อาจเพราะเด็กๆ เขาไม่ได้เรียนทางนี้มาโดยตรง ตัวราวตากผ้าเองก็รู้สึกว่าเห็นแล้วขายไม่ได้หรือขายยากเพราะหน้าตามันดูไม่น่าใช้งานเลย แต่เราก็เลือกเขาเข้ามาเพราะเด็กมี passion เอาเขาเข้ามาก่อนส่วน product ค่อยมาดูกันอีกที
โค้ชก็ยังกลุ้มใจอยู่ว่าจะช่วยไปแนวทางไหนดี ทุกคนช่วยกันเสิร์ช ช่วยกันดูว่าลักษณะงานแบบนี้ เราจะใช้มันมันยังไง ใช้ผ้าใบชนิดไหน จะให้มันม้วนเก็บยังไง มอเตอร์ควรเป็นแบบไหน ยาก… เราต้องหาข้อมูลเกือบทั้งหมด โค้ชทำการบ้าน เด็กก็ต้องทำการบ้าน แต่พอจบค่ายที่สาม การเปลี่ยนแปลง before & after ชัดมาก จุดนั้นมันสร้าง passion ให้เราเลยว่า… นี่แหละ เรารู้ว่าเราสร้างเด็กได้ เราช่วยให้เขาไปจนถึงจุดนั้นได้
สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่ายากคือ การเป็นโค้ชโครงการต่อกล้าฯ คือการปั้นต่อยอดเด็กให้ทำโครงการเหมือนนักวิจัยคนหนึ่ง แต่ในอีกทาง หลายคนเป็นเด็กมัธยม
ซึ่งมันทำให้เราใจเย็นขึ้นนะ (หัวเราะ) คือต้องบอกว่าเราทำงานวิจัย ก็จะคาดหวังว่างานมันต้องไปได้ระดับหนึ่ง แต่บางครั้งเราต้องถอยกลับมานิดนึงแล้วบอกตัวเองว่า เขาคือเด็กนะ เขายังเรียนอยู่เลย แต่เพราะด้วยสไตล์การทำงาน สิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขาทดลอง มันคือการเป็นนักวิจัยเลย ต้องบอกตัวเองว่าอย่าใช้สแตนดาร์ดของเราไปประเมินเขา เรานี่แหละจะดาวน์เอง
กึ่งกลางระหว่างการท้าทายเพื่อขยายขอบความรู้ความสามารถของเด็ก กับการถอยหนึ่งก้าวเพื่อเหลือพื้นที่ให้เขาพัฒนาเติบโต คืออะไร
เวลาหน่อยมอง จะมองว่า 10 อยู่ตรงไหน แล้วค่อยๆ ป้อนให้เขาเห็นกระบวน 1 2 3 4 แล้วถามว่าเขาพอใจแค่ไหน ถ้าเขาบอก “พอใจ 3 ค่ะ” โอเคได้ เรามาคุยกัน แต่ก็ต้องเข้าใจว่าบางทีเด็กก็ประเมินเอาใจเรานะ เขาบอกว่าพอใจที่ระดับ 3 แต่เต็มที่สุดๆ แล้วอาจทำได้แค่ระดับ 2
แต่ถ้าดูแล้วว่าสิ่งที่เขาทำ ศักยภาพของเขามันได้มากกว่านี้ เราก็ต้องรุก “เฮ้ย อีกนิดเดียวน่ะ พี่ว่าถ้าทำออกมา มันจะน่าสนใจ น่าเล่น คนจะให้ความสนใจ ขายได้” แต่ถ้าเขาทำถึง 2 แล้วมันเต็มกลืนเหลือเกิน น้องเหนื่อยมาก ล้ามาก เราก็จะ “โอเค แค่นี้โอเคแล้ว” คือมันต้องมีวิธีการประเมินเขา วางว่าเราจะเข้าหากันยังไง
การเป็นโค้ช นัยหนึ่งก็คือการเป็นครู พอจะมีเคล็ดลับหรือวิธีคิดเพื่อนำบทบาทโค้ชไปอยู่ในตัวอย่างไรไหม
โค้ชคือการ consult หรือให้คำปรึกษา ไม่ใช่การสั่งสอน เหมือนเด็กเลือกเข้าไปปรึกษาเพื่อนเพราะเพื่อนไม่สั่งสอนแต่ถามว่า “แกเป็นไรวะ?” ซึ่งการสั่งสอนมันไม่ทำหน้าที่นี้ อย่างแรก อย่าคิดว่าเราต้อง push หรือยัดเยียดความรู้ให้เด็ก เราเป็นแค่คนสังเกตการณ์ว่าเด็กแต่ละคนมีศักยภาพด้านไหน ความสนใจของเขาคืออะไร แล้วค่อยเข้าไปให้ความช่วยเหลือหรือส่งเสริมศักยภาพที่เรามองเห็น หน่อยเองก็ไม่ได้มองเห็นทุกคนหรอกนะคะ แต่ถ้าเห็นแล้วรู้ว่าเราส่งเสริมเขาได้ คิดว่ามันจะทำให้เขาไปได้ไกลกว่าการพยายามยัดเยียดในสิ่งที่เราคิดว่าอยากให้เขาได้
การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC) การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC) และ การประกวดวงจรอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ (YECC)โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ สร้างการเรียนรู้โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สนับสนุนโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิสยามกัมมาจล |