- “เราบอกคนอื่นว่าเราดูไพ่เชิงจิตวิทยา ก็เพราะเน้นสำรวจโลกภายในและกระบวนการทางจิตบำบัดเป็นหลัก ช่วงแรกที่เปิด คนส่วนใหญ่จะมาหาเพราะอยากดูดวงและอยากรู้อนาคตที่เกี่ยวกับโลกภายนอก ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องแก้ความชอบของคนอื่น แต่สามารถใช้สิ่งที่เขาชอบอยู่แล้วมาพลิกกลับ ไม่ก็เพิ่มเติมแง่มุมอื่นเข้าไป แต่เป็นเฉพาะกรณีที่เขาสนใจนะ วิธีคือใช้คำถามที่เขามาเปิดไพ่ไปสำรวจภายในตัวเขาต่อ”
- “แต่ในอีกช่วงชีวิตหนึ่ง เขาไม่อยากทำ x แล้วหรือมันไม่มี x แล้ว เช่น เขาไม่อยากอยู่ในกรอบของพ่อแม่แล้ว หรือแฟนทิ้งเขาไปแล้ว มันก็ลิดรอนพลังใจของเขา หน้าที่อย่างหนึ่งท่ามกลางอีกหลากหลายหน้าที่ของเราคือ ช่วยเป็นฝ่ายค้าน เช่น ถามเขาว่า ถ้าไม่อยู่ในกรอบของพ่อแม่ทุกเรื่องแล้วจะเป็นลูกที่ไม่ดีเลย จริงหรือ? นอกกรอบบางเรื่องคุณก็ยังเป็นลูกที่ดีได้อยู่ใช่ไหม?”
- “คิดถึงคำว่า Wounded Healer เพราะเราก็เคยมีบาดแผลจริงๆ การได้อ่านไพ่และทำบำบัดให้ผู้อื่น ทำให้เราเชื่อมโยงกับผู้คนในทางอารมณ์และความรู้สึกผ่านการสนทนากันอย่างมีความหมาย คำว่า ‘มีความหมาย’ ของเราแปลว่า คุยกันแล้วดื่มด่ำ เพิ่มพลังชีวิต โดยเฉพาะถ้าเราเห็นว่าเขาคลี่คลายจากทุกข์ เราจะรู้สึกมีพลังมาก”
พอต้องคิดว่าจะพูดคุยกับใครในคอลัมน์ใหม่ชื่อ Everyone can be educator ในคอนเซปต์ว่า ใครๆ ต่างก็เป็นนักจัดการเรียนรู้ สื่อสารการเรียนรู้ในมุมมองและความสนใจของตัวเองได้ ในหัวคิดขึ้นทันที หนึ่งในนั้นต้องเป็นหมอดู ซิ!
ในชีวิตเราต้องเคยฟังเพื่อนเล่าเรื่องทุกข์ใจเรื่องเดิมซ้ำวน เราให้คำปรึกษาอย่างสุดตัว ฟังอย่างสุดใจ แต่เหมือนจะไม่ค่อยได้ผลเท่าไร ผลคือเพื่อนยังอยู่ในพรมแดนความเศร้าที่ดูจะขยายขอบออกไปเรื่อยๆ แต่พอเพื่อนไปคุยกับหมอดู (หลากศาสตร์มาก เลือกเอาที่ชอบได้เลย) เท่านั้น เพื่อนเราก็เหมือนถูกเยียวยาและพบทางออกโดยฉับพลัน
ดีใจกับเพื่อนจริงๆ อยากรู้ว่าหมอดูมองเห็นอะไรในสิ่งที่เราไม่เห็นเพื่อนจึงดีขึ้นทันตาขนาดนี้ สอบถามไปและได้คำตอบมาทำให้เราต้องตบเข่าฉาด แสงสว่างที่หมอดูชี้ทางให้เพื่อนเราช่างดีงาม … “แม่ง ก็เหมือนที่ X พูดเดี๊ยะเลย ทำไมไม่มีผลกับ XX เลยอะ”
ข้อสันนิษฐานคือ หลายครั้งเรามักเรียนรู้(จักตัวเอง) เชื่อมั่น ศรัทธา และ ยอมรับบางอย่างเพื่อแก้ไขและตัดสินใจได้ใหม่ ก็เพราะฟังในสิ่งที่หมอดูบอก มักอนุญาตให้ตัวเองเข้าสู่โลกวิญญาณและเชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็นแต่เชื่อว่าสารนั้นเดินทางผ่านคนตรงหน้าจริงๆ คนที่เราเรียกรวมๆ ว่า ‘หมอดู’
นี่แหละ educator ที่เราควรหาตัวละครมาพูดคุย เขาทำอย่างไรที่ทำให้คนๆ นึงเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ ยอมรับ และเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงของชีวิตได้อีกครั้ง
ภัทร-ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา คือคนนั้นที่เรานึกถึง เธอเป็นผู้เยียวยาแนวผสมผสาน ที่ใช้ “ไพ่” เป็นเครื่องมือพบปะและเข้าไปคลี่คลายปมปัญหาในใจให้กับผู้คน นอกจากนี้ เธอยังเป็นนักแปลอิสระ โดยเนื้อหางานส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางศาสนา จิตวิทยา และกฎหมาย ทำงานให้หลากหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศ (ด้วยดีกรีปริญญาโทพร้อม Merit ด้านศาสนศึกษาที่ SOAS University of London การอบรมหลักสูตรสายจิตวิทยาวิเคราะห์ของสถาบัน C.G. Jung และหลักสูตรนักจิตบำบัดต่อเนื่องแนวซาเทียร์ เป็นต้น) นอกจากนี้ยังมีงานสอนภาษา งานจัดอบรมเวิร์กชอปเชิงจิตวิทยาด้วย
“เราบอกคนอื่นว่าเราดูไพ่เชิงจิตวิทยา ก็เพราะเน้นสำรวจโลกภายในและกระบวนการทางจิตบำบัดเป็นหลัก ซึ่งในปัจจุบันคนที่มาหาเราก็มาเพื่อสิ่งเหล่านี้เป็นหลักนะ แต่ในช่วงแรกๆ ที่รับเปิดไพ่ คนส่วนใหญ่จะมาหาเพราะอยากดูดวงและอยากรู้อนาคตที่เกี่ยวกับโลกภายนอก ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องแก้ความชอบของคนอื่น แต่เราสามารถใช้สิ่งที่เขาชอบอยู่แล้วมาพลิกกลับหรือไม่ก็เพิ่มเติมแง่มุมอื่นเข้าไป แต่เป็นเฉพาะกรณีที่เขาสนใจนะคะ
ซึ่งวิธีก็คือใช้คำถามที่เขามาเปิดไพ่ไปสำรวจภายในตัวเขาต่อ เช่น เขารู้สึกนึกคิดกับมันอย่างไร เขามีความคาดหวังต่อคนอื่นหรือความคาดหวังต่อตนเองอย่างไร แล้วสิ่งเหล่านั้นกระทบตัวตนและพลังชีวิตเขาอย่างไร
“มองว่าไพ่เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง ท่ามกลางเครื่องมือและวิธีการอีกมากมายที่แต่ละคนสามารถใช้ทำความเข้าใจตัวเอง ไพ่เป็นเหมือนประตูบานหนึ่งที่ใช้เปิดไปสู่การคุยกันเรื่องโลกภายใน”
ไม่ว่าจะเรียกภัทรว่าอะไร แต่สิ่งที่เราอยากค้นเอาจากภัทรคือ แม่หมอผู้เยียวยาใจที่ใช้ไพ่เป็นเครื่องมืออย่างเธอมักเจอคำถามอะไรจากผู้คน พอจะตั้งข้อสังเกตในทางจิตวิทยากับมันได้หรือไม่ และการดูไพ่สร้างการเรียนรู้ให้ผู้คนรู้จักตัวเองอย่างไร
ทราบมาว่าคุณมีความรู้หลายศาสตร์ กฎหมายด้วย ตอนเรียนปริญญาตรีคุณก็จบด้านศิลปศาสตร์ เอกภาษาจีน งานแปลของคุณเล่มหนึ่งคือหนังสือนั่งคุยกับจิ๋ม (The Vagina Monologues) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความเคลื่อนไหวยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและ LGBT ตอนนี้คุณยังอ่านไพ่ผสมกับการทำจิตบำบัดด้วย ท่ามกลางงานหลายประเภท มาลงเอยที่งานชิ้นหลังสุดได้อย่างไร?
งานนี้มันสอดคล้องกับข้างในเราที่สุด และถ้าถามว่าเราได้อะไรจากการอ่านไพ่? ทุกกรณีที่มาคุยกับเรา เขาเป็นครูเราหมดเลยนะ อีกอย่าง การเยียวยาคนอื่นก็คือเยียวยาตัวเอง เอาจริงๆ มันเป็นความตั้งใจอยู่ก่อนแล้วด้วยว่าเราอยากเป็นผู้ให้ในสิ่งที่เราไม่ได้ในวัยรุ่น แม้ว่าตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบันมีผู้ใหญ่หลายคนเมตตาเรามากเลย แต่ตอนเราเริ่มเป็นวัยรุ่น เราไม่เคยเจอผู้ใหญ่ที่สามารถไดอะล็อกกับเราในแนวตั้งคำถามเชิงเยียวยา ยิ่งช่วงมัธยมปลายนี่เจอบางกรณีแบบที่เรารู้สึกในตอนนั้นว่าอาจารย์ใช้จารีตโดยเฉพาะเรื่องเพศมาเป็นอาวุธเลย แม้ตอนนี้เราพลิกมองเรื่องนั้นในมุมที่เป็นบวกแล้วนะ ในช่วงมหาวิทยาลัย เราได้รู้จักการตั้งคำถามกับชุดความเชื่อที่มันลิดรอนคุณค่าของคนที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่า เช่น ผู้น้อยและผู้หญิงในบางบริบท
พอตอนนี้เราอายุมากขึ้น ได้มีโอกาสช่วยตั้งคำถามกับความเชื่อต่างๆ ที่กดทับคนที่มาคุยกับเรา ทำให้เขากลับมารับรู้คุณค่าในตัวเองได้ เราคิดว่าอันนี้ก็คือการที่เราได้เยียวยาตัวเอง
ตอนที่ได้รับคำถาม เราแวบคิดถึงคำว่า wounded healer ผู้เยียวยาที่มีบาดแผลนะ เพราะว่าเราก็เคยมีบาดแผลจริงๆ การได้อ่านไพ่และทำบำบัดให้ผู้อื่น ทำให้เราเชื่อมโยงกับผู้คนในทางอารมณ์และความรู้สึกผ่านการสนทนากันอย่างมีความหมาย คำว่า ‘มีความหมาย’ ของเราแปลว่า คุยกันแล้วดื่มด่ำ เพิ่มพลังชีวิต โดยเฉพาะถ้าเราเห็นว่าเขาคลี่คลายจากทุกข์ เราจะรู้สึกมีพลังมาก
คุณมีความหลังฝังใจที่ทำให้อยากเป็น “คนนั้น ให้คนอื่น” หรือเปล่า ความหลังอะไรที่ทำให้สนใจงานด้านจิตใจในทุกวันนี้?
เราเกิดมาพร้อมกับโรคประจำตัวหนักขนาดที่หมอแผนปัจจุบันซึ่งเก่งมาก บอกกับพ่อแม่เราว่าให้ทำใจนะ ในการหาทางรักษาแนวทางเลือก… พ่อแม่พาเราไปหาพระรูปหนึ่งซึ่งท่านมีความรู้ทางการแพทย์และมีทีมลูกศิษย์ ท่านเมตตาเรามาก สุดท้ายเราก็รอดนะ แต่รอดแบบสามวันดีสี่วันไข้ ทั้งที่วัยเด็กควรเป็นช่วงวัยที่ได้พัฒนาฐานกาย ต้องได้เล่นกับเพื่อนแบบใช้แรง แต่บ่อยครั้งเราเล่นลักษณะเดียวกับเพื่อนไม่ได้ เรามีวัยเด็กที่มักต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ก็ป่วยอยู่บ้าน และมีความทรงจำวัยเด็กเกี่ยวกับวัดเยอะมาก ถึงแม้เราจะชอบวัดและสถานที่โบราณๆ แต่บางทีที่ป่วยแล้วไม่ได้ไปเจอเพื่อนที่โรงเรียนเราก็เหงานะ ตอนเด็กก็มีบ้างที่รู้สึกแปลกแยกจากเพื่อนวัยเดียวกัน
ตอนนั้นเราตั้งคำถามว่าทำไมเราเป็นแบบนี้ แต่สิ่งที่ช่วยเราตั้งแต่เด็กเลยก็คือหนังสือธรรมะ หนังสือปรัชญา ซึ่งมันอธิบายที่มาที่ไปของเราได้ มันช่วยให้รู้สึกว่าความป่วยไข้ของเรามีความหมาย หนังสือธรรมมะจะมีคีย์เวิร์ดแนว ‘ความเจ็บไข้มาเตือนให้ฉลาด’ ‘ทำโรคให้เป็นลาภ’ ‘โอกาสเห็นความจริงแห่งทุกข์’ เลยรู้สึกว่าเราต้องหาสิ่งดีๆ ให้เจอในความทุกข์ใช่ไหม ณ เวลานั้นในอดีต หนังสือพวกนี้เป็นเพื่อนของเรา ซึ่งสำหรับเด็กคนหนึ่งในวันนั้น มันดีมากเลย
เรียกว่าหนังสือธรรมะ ทำให้เราผ่านช่วงเวลานั้นมาได้?
(พยักหน้า) แต่ตอนเป็นวัยรุ่นหนังสือและวงการ ‘ธรรมะ’ (ทำท่าใส่เครื่องหมาย นัยว่าภัทรตั้งคำถามกับมัน) ก็เริ่มทำให้เราไม่ชอบตัวเองด้วย เพราะพออายุ 15-16 เป็นต้นไปเราก็เริ่มมีแฟน มีการหว่านเสน่ห์อะไรตามเรื่อง (หัวเราะ) การอ่านหนังสือเหล่านี้มามาก ทำให้ลึกๆ รู้สึกว่าเราไม่ใช่ ‘คนดี’ ของศาสนาอีกต่อไปแล้ว
แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราก็ได้เข้าใจแง่มุมศาสนาในเชิงอำนาจที่รัฐนำมาใช้ควบคุมประชากร อีกทั้งกระบวนการใช้ศาสนาในทางการเมืองผ่านพระราชบัญญัติต่างๆ และเห็นจารีตแบบชายเป็นใหญ่ที่ปะปนกับความเชื่อทางศาสนา ซึ่งเรามาศึกษาละเอียดขึ้นตอนเรียนป.โท แต่ก็ไม่ได้ทำให้เราชอบศาสนาน้อยลงนะ กลับรู้สึกดีที่ได้เห็นแง่มุมศาสนามากขึ้น เพราะเราสามารถแยกศาสนาที่เป็นสถาบันกับเรื่องจิตวิญญาณได้ ซึ่งอย่างหลังเนี่ย เราว่าแต่ละคนศึกษาตามรู้กายใจเองได้โดยไม่ต้องเกี่ยวกับรัฐหรือจารีตประเพณี
ความเชื่อเดิมเกี่ยวกับศาสตร์ดูไพ่ในการทำนายอนาคตของคุณคืออะไร
อย่างที่บอก จุดประสงค์หลัก เราอยากใช่ไพ่เพื่อสร้างบทสนทนาให้คนเข้าใจโลกภายในตัวเองมากกว่า และในส่วนของการพยากรณ์เหตุการณ์ภายนอก คนอยากดูเราก็ดูให้ได้ หลายครั้งเราก็ดูให้ตัวเองด้วยนะ แต่เราไม่ได้เชื่อว่ามันพยากรณ์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แค่เชื่อว่ามันเปิดให้เห็น ‘แนวโน้มหรือความน่าจะเป็น’ บางอย่างในช่วงเวลานั้นๆ หรือช่วยสะท้อนข้อมูลจากจิตไร้สำนึกลงไปที่หน้าไพ่ซึ่งเป็นสสาร แต่ เราใส่ปัจจัยใหม่ๆ ลงไปเปลี่ยนแปลงแนวโน้มต่างๆ ได้เสมอ (เน้นเสียง) สิ่งที่เราให้ความสำคัญที่สุดจึงเป็นกรรมในปัจจุบัน กับ การรับมือทางจิตใจมากกว่า
ดังนั้น แม้คนมาดูไพ่เพราะอยากรู้ว่าอนาคตจะสมหวังไหมในเรื่องนั้นๆ ไหม แต่ถ้าเขาสนใจอยากคุยต่อ เราจะเน้นคำถามว่าถ้าเขาได้ในสิ่งที่มาถามไพ่ แล้วเขาจะได้อะไร? ซึ่งอาจเผยให้เห็นอีกสิ่งที่เขาต้องการอย่างแท้จริงแต่เขาอาจจะยังไม่รู้ตัว แล้วก็จะเห็นทางเลือกอื่นด้วย ส่วนการวางแผนรับมือกับอะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้น การสนทนากันและกระบวนการจิตบำบัดช่วยได้
‘กรรม’ ในมุมมองของคุณคืออะไร?
ตามที่เราเชื่อนะ กรรมคือการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ถ้าเอาแบบขยายความอีกหน่อย เราจะอิงรายละเอียดจากหลักกรรม 12 ซึ่งจำแนกกรรมเป็น 3 หมวด ตามเวลาที่ให้ผล ตามหน้าที่ และตามความยักเยื้องหรือลำดับความแรงในการให้ผล นอกจากนี้ เราเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีเหตุปัจจัยมาจากอดีต แต่เหตุไม่เที่ยง ผลก็ไม่เที่ยงด้วย และที่สำคัญ เราเชื่อว่าในห่วงโซ่แห่งเหตุและผลที่ร้อยเรียงกันไปนั้น เราใส่ปัจจัยใหม่ๆ ลงไปได้เสมอ
อยากให้ช่วยยกตัวอย่างการอ่านไพ่เชิงทำนาย และการใส่ปัจจัยใหม่ๆ ลงไป คืออย่างไร?
อย่างที่บอก เราเห็นหน้าไพ่เป็นแค่แนวโน้ม แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือกรรมในปัจจุบัน เช่น สมัยก่อน เคยมีช่วงที่จะสอบกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งคนพูดกันว่าวิชานี้โหดมาก แต่เราไม่ค่อยมีเวลาอ่านหนังสือ เราก็เปิดไพ่ให้ตัวเองออกมาเป็นเดอะซัน ซึ่งเราตีความว่าสำเร็จ แต่ลองนึกดูนะว่า ถ้าเราไม่อ่านอะไรไปเลย ก็สอบอัตนัยตกอยู่ดีใช่ไหม? ดังนั้น หน้าไพ่เป็นแค่ความน่าจะเป็น แต่หากจะให้ได้ผลตามต้องการ ตามประสบการณ์ของเรากรณีส่วนใหญ่นั้นก็ต้องประกอบกับกรรมในปัจจุบันของเราด้วย
ถามแทนคนที่มาดูส่วนใหญ่ซึ่งเขาอาจไม่ได้อยากคุยเชิงบำบัด แต่พุ่งเป้าอยากมาดูดวง อยากให้ไพ่ชี้ทางอนาคตเลย อยากรู้ว่าคนส่วนใหญ่เขามาด้วยเรื่องอะไรกัน?
ผู้หญิงส่วนใหญ่จะมาดูเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ หนึ่งในนั้นคือ เรื่องรักๆ ใคร่ๆ (ลากเสียงยาว/หัวเราะ) ชอบคนนี้ เดตกับคนนั้นดีไหม คนนั้นเขาจะกลับมาเลือกเราไหม และอื่นๆ
ส่วนอีกเรื่องที่จะดูกันมากคือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนๆ นั้นกับพ่อแม่ เช่น ลูกที่โตแล้วซึ่งกำลังไม่มีความสุขในการอยู่ร่วมกับพ่อแม่ แต่ก็ไม่มั่นใจจะออกไปอยู่ที่อื่น เขารู้สึกว่าพ่อแม่ติดลูกมากและปฏิบัติต่อลูกไม่สอดคล้องกับวัยผู้ใหญ่ของลูก ถูกพ่อแม่แทรกแซงเกินพอดีจนไม่ค่อยได้มีโอกาสใช้ศักยภาพของตนเองแก้ปัญหา ซึ่งมันกระทบกับความนับถือตนเองของคนคนนั้น
ส่วนประเด็นที่เห็นว่าหลายคนมีร่วมกัน คือวิธีการให้คุณค่าตัวเองโดยเอาไปอิงกับความสัมพันธ์ เช่น ความสัมพันธ์กับคนที่รักที่ชอบ หรือความสัมพันธ์กับพ่อแม่
ส่วนผู้ชายนั้น มีบ้างที่มาคุยเรื่องความรู้สึกซับซ้อนละเอียดอ่อน แต่ส่วนใหญ่จะมาดูเรื่องงาน ถ้าเป็นธุรกิจก็มักจะเกี่ยวพันกับคดีความ ผู้ชายมักจะถามหาวิธีต่อสู้สั้นๆ จากไพ่ ซึ่งเราก็จะเอาความต้องการของเขาเป็นเกณฑ์ คือถ้าไม่ต้องการคุยกับเราเรื่องจิตใจ แบบลึกๆ เราก็ไม่จำเป็นต้องคุย
นอกเหนือจากการดูไพ่ เราก็จะให้ข้อมูลที่อาจช่วยให้ผู้มาหาสมหวัง ถ้าเรื่องไหนเราพอจะรู้ เช่น ถ้าเขามาดูไพ่เรื่องลูก ซึ่งอาจไปเรียนประเทศที่เราเคยไปเรียน เราก็แนะนำเรื่องการหา supervisor หรือการสอบ IELTS ได้ หรือถ้าเขามาดูไพ่เกี่ยวกับคดี เราก็ให้คำแนะนำเชิงกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เราเคยมีประสบการณ์ให้เขาทราบเพิ่มเติมด้วยü
อยากทราบว่า ‘ไพ่’ ช่วยคลี่คลายความสัมพันธ์อย่างไร?
อันที่จริง ความสัมพันธ์ที่ควรคลี่คลายอย่างแรก คือความสัมพันธ์กับตัวเอง ดังนั้น ต่อให้เขามาขอเปิดไพ่ดูเรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่น แต่ในจังหวะที่เขาสนใจ เราก็สามารถใช้ไพ่สำรวจเรื่องราวที่เขาเล่าให้ลึกลงไป และก็มักจะเห็นเงื่อนไขในใจผู้คนอย่างนี้ว่า ฉันต้องสัมพันธ์กับคนๆ หนึ่งในลักษณะหนึ่งเท่านั้น ฉันถึงจะมีอาหารใจและมีพลัง แต่ถ้าสถานการณ์พลิกไม่เป็นตามเงื่อนไข พลังใจก็หมด
เช่น บางคนมีเสียงลึกๆ ในใจว่า “ฉันต้องอยู่ในกรอบที่พ่อแม่กำหนดให้ เพราะมัน เท่ากับ ฉันเป็นลูกที่ดีและมีคุณค่า” “เขาเป็นแฟนกับฉัน เท่ากับ ฉันมีคุณค่ามากพอ ฉันรู้สึกได้รับการยอมรับ” เห็นไหม มันมีสมการ “x เท่ากับ y” อยู่ ซึ่งในช่วงเวลาที่เขาได้ x เขาก็ยังได้ y ก็ยังรู้สึกมีพลัง ซึ่งในจุดนั้นเขาจะยังไม่มาหาเราหรอก และเขาจะเชื่ออะไรมันก็เป็นสิทธิ์ของเขา
แต่ในอีกช่วงชีวิตหนึ่ง เขาไม่อยากทำ x แล้วหรือมันไม่มี x แล้ว เช่น เขาไม่อยากอยู่ในกรอบของพ่อแม่แล้ว หรือแฟนทิ้งเขาไปแล้ว มันก็ลิดรอนพลังใจของเขา หน้าที่อย่างหนึ่งท่ามกลางอีกหลากหลายหน้าที่ของเราคือ ช่วยเป็นฝ่ายค้าน เช่น ถามเขาว่า ถ้าไม่อยู่ในกรอบของพ่อแม่ทุกเรื่องแล้วจะเป็นลูกที่ไม่ดีเลย จริงหรือ? นอกกรอบบางเรื่องคุณก็ยังเป็นลูกที่ดีได้อยู่ใช่ไหม?
สมมุติมีใครคนหนึ่งอยากบวช แล้วพ่อแม่ไม่อยากให้บวช คนนั้นฝืนพ่อแม่ด้วยการไปบวชและตั้งใจภาวนา นี่เขาขัดคำสั่งพ่อแม่นะ เลวมากเลย? อกตัญญูเลยหรือ? “ถ้าเขาไม่เป็นแฟนกับคุณแล้ว เพราะเขาอยากจะซั่มสาวอื่นไปเรื่อยๆ นี่มันเกี่ยวกับคุณค่าของคุณจริงหรือ? นี่คุณตั้งใจรักษาศีลมาขนาดนี้แล้ว คุณก็มีคุณค่าอยู่แล้วหรือเปล่า?”
นี่เป็นตัวอย่างการตั้งคำถามในลักษณะฝ่ายค้าน ฝ่ายตรวจสอบ ซึ่งต้องสอดคล้องกับความเชื่อของคนที่มาด้วยนะ ถ้าเป็นคริสต์หรือคนที่ไม่ได้ยึดถือศาสนา เราก็อาจจะถามอีกแบบ และคำถามค้านพวกนี้บางทีก็ต้องใช้ตัวอย่างสุดโต่งเว่อร์ๆ ไปอีกด้าน เพื่อให้ความเชื่อเดิมที่ทำให้เขาทุกข์มันถูกกระตุก จะได้มีจุดเปลี่ยน
ส่วนใหญ่คนที่เห็นสมการในใจตัวเองชัดขึ้น จะเห็นทางเลือกอย่างอื่น ถ้าเขารู้ว่าเขาต้องการ y เขาหาวิธีการอื่นให้ได้ y โดยไม่ต้องใช้ x ก็ได้ เช่น สมมุติว่าแฟนทิ้งเขาไป แล้วเขารู้สึกว่าแฟนไม่เอา เขาไร้ค่า พอเขาเห็นว่าตัวเองต้องการคุณค่า แล้วสนทนาเชิงบำบัดไปเรื่อยๆ ก็ไปเห็นการถือศีลของตัวเอง เขาก็เห็นว่าตัวเองมีคุณค่าด้วยวิธีถือศีลนี้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องได้คุณค่าจากคนอื่นก็ได้ เห็นแบบนี้เขาก็จะสัมพันธ์กับตัวเองดีขึ้นและอยากเปลี่ยนสถานการณ์ข้างนอกน้อยลง เช่น ไม่ต้องเอาความสุขไปขึ้นอยู่กับการให้แฟนกลับมา ทำให้ไม่ต้องไปพูดจาแบบโมโหดึงดันทะเลาะกันกับแฟนที่อาจจะไม่อยากอยู่กับเขาแล้ว ความสัมพันธ์ที่กลมกลืนกับตัวเอง จึงนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับคนอื่นได้
การดูไพ่ที่ใช้คำถามเพื่อไปค้นหาสมการในใจคนมีที่มาอย่างไร?
จริงๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องเห็นสมการอย่างเดียวนะคะ บางคนอาจจะมีประเด็นแบบอื่น และเราก็มีวิธีการอีกหลายอย่างที่จะช่วยปลดล็อคใจให้ได้ ส่วนเรื่องสมการนี่ส่วนหนึ่งก็จับเทคนิคมาจากการอบรบเป็นนักจิตบำบัดแบบซาเทียร์ ซึ่งเราอบรมอย่างต่อเนื่องมาตลอด แต่อาจารย์ท่านก็ไม่ได้บอกว่า โอ้… มาถึงให้มานั่งแก้สมการอะไรแบบนี้ แล้วเราก็ไม่ได้ใช้แนวซาเทียร์อย่างเดียว แต่เราต้องขอบพระคุณอาจารย์ที่ท่านถ่ายประสบการณ์ทั้งชีวิตในงานด้านจิตเวชและงานบำบัดของท่านให้เรา เพราะเป็นฐานสำคัญของกระบวนการที่เรานำมาใช้ อธิบายซาเทียร์คร่าวๆ ก่อนคือ ซาเทียร์มีการใช้ภูเขาน้ำแข็งอุปมาให้เห็นภาพภายในจิตใจคน โดยบอกว่า น้ำแข็งที่ปรากฏเหนือน้ำนั้นเป็นเพียงสถานการณ์ภายนอกที่เกิดขึ้น
เช่น พ่อแม่ตีกรอบชีวิต แฟนทิ้ง อันนี้เป็นแค่สถานการณ์เหนือภูเขาน้ำแข็งที่เราเห็นง่ายกว่า แต่ลึกลงไปภายใต้ภูเขาน้ำแข็งจะมีอะไรอื่นอีกมาก เช่น ความรู้สึก ความรู้สึกต่อความรู้สึกซ้อนลงไปอีกที ลึกลงไปยังมุมมองต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อเหตุการณ์ มีความคาดหวังต่างๆ ไล่ลงไปถึงชั้นล่างๆ จะเป็นอาหารใจหรือความปรารถนาที่แท้จริง (yearning) ที่ขาดหายไปในเหตุการณ์รบกวนใจ เช่น ต้องการความสงบ ต้องการการยอมรับ มนุษย์ส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าพลังชีวิตลดลง เมื่อไม่ได้อาหารใจ
การสะท้อนให้เขาเห็นและช่วยเปลี่ยนแปลงสมการเหล่านี้ มันช่วยเยียวยาไหม อย่างไร?
เอาตามที่คนอื่นบอกเรานะ เขาบอกมันช่วยเขามาก ส่วนใหญ่ที่คุยกันจะมีจุดที่เขาร้องไห้ หลังจากร้องไห้ก็รู้สึกถูกชำระล้าง รู้สึกโล่ง เขาได้กลับไปสัมผัสคุณค่าที่เขามีอยู่แล้ว เพราะเขาได้ปลดเงื่อนไขในใจที่ทำให้เขารู้สึกไม่มีค่าออกไปแล้ว เหมือนได้ยกก้อนหินหนักๆ ออกไป
บางครั้งก็คุยปลอบใจเพื่อน ทำไมไม่เหมือนเวลาเพื่อนได้ยินจากกระบวนสนทนาหน้าไพ่?
คงเป็นเรื่องของกระบวนการบำบัดที่ผสมผสานลงไปในการดูไพ่ อันนี้คงทำให้คนทุกข์รู้สึกได้รับการเยียวยา และพลังงานที่มองไม่เห็นอาจจะทำให้คนเปิดใจฟังด้วยหรือเปล่า? นี่แค่ถาม แต่ไม่มีคำตอบตายตัวให้นะคะ
จริงๆ ผู้ที่มาขอให้เปิดไพ่ ไม่ได้ต้องการอะไรมาก ไปกว่าอยากมาเล่าเรื่องราวตนเองให้คนอื่นฟังหรือเปล่า?
เห็นด้วยส่วนหนึ่งว่าเขาอยากมาเล่าเรื่องของเขาให้เราฟัง แต่ก็ต้องเป็นการเล่าในพื้นที่ปลอดภัยด้วย ซึ่งถ้าคนเห็นว่าเราไม่ปลอดภัยก็ไม่มาหาเราอยู่แล้วเนอะ(หัวเราะ) ความปลอดภัยในที่นี้หมายถึงการไม่ตัดสิน ความเข้าใจ ความเห็นใจ เพื่อนหลายคนที่มักตกร่องอารมณ์เศร้าเคยบอกว่าคุยกับเราแบบนี้ดีกว่าไปหาจิตแพทย์บางลักษณะอีก เราก็จะได้ยินเรื่องเล่าว่าเวลาไปหาจิตแพทย์ หากเจอท่านที่ไม่ได้เน้นเรื่องกระบวนการทำจิตบำบัด บางคนก็เจอการพูดคุยที่มีการตัดสินคุณค่าหรือเจอการรักษาโดยเน้นให้ยาจิตเวช ซึ่งบางกรณี เพื่อนเราก็ไม่ได้อยากกินยามากขนาดนั้นไง เขาต้องการคุยกับคนที่โอบอุ้มทางอารมณ์ได้ ไม่ตัดสิน เป็นหมู่เป็นพวก และพอจะรู้ภูมิหลังของเขา
เราว่าพื้นที่ปลอดภัยมันทำให้คนสามารถปล่อยให้สิ่งที่อยู่ในใจเบื้องลึกได้ไหลออกมา ถ้าเราไปตัดสินความรู้สึกนึกคิดของเขา ข้อมูลที่ถูกตัดสินมันจะถูกกดซ่อนไว้ ซึ่งบางทีสิ่งนั้นแหละเป็นปมเงื่อนที่ทำให้เขาทุกข์ ถ้ามันออกมาไม่ได้ ก็ไม่รู้จะแก้อย่างไร
ในการดูไพ่ให้คนที่อยากทำงานกับจิตใจด้วย เราแค่ทำหน้าที่ให้เขาได้เห็นตัวเอง ยอมรับ เห็นทางเลือกใหม่?
ใช่ เราเป็นแค่คนกระตุ้น สมมติเขาเชื่อแบบหนึ่งมากเลยแล้วความเชื่อนั้นทำให้เขาทุกข์ เราก็อาจจะตั้งคำถามแบบเป็นฝ่ายค้านความเชื่อนั้น แต่สุดท้ายแล้วเขาจะเปลี่ยนความคิดหรือเปล่าเราก็ต้องเคารพเขา เขาอาจจะยังไม่เปลี่ยนตอนนี้ หรือเขาจะเลือกไม่เปลี่ยนเลย ก็เป็นสิทธิ์ของเขา
ด้วยบุคลิกส่วนตัวเป็นคนอ่อนไหว (sensitive) และมีความเป็น wounded healer อย่างที่กล่าวไปตอนต้น การต้องรับฟังเรื่องทุกข์เศร้าคนอื่นมันไม่ทำให้คุณยิ่งแย่หรอกหรือ? หรือว่าจริงๆ แล้วมันมีข้อดีอะไรจากการพบเจอผู้คน สนทนาหน้าไพ่และช่วยเขาหาสมการในชีวิต
หลายคนที่มาหาเราก็รู้ว่าเราเป็นคน sensitive ซึ่งคำนี้กินความรวมถึงร่างกายที่มีระบบประสาทที่ไวต่อสิ่งเร้าด้วย และหลายคนก็รู้ว่าเราเคยมีบาดแผล แต่ในความเคยมีบาดแผลนี่แหละที่ทำให้เราไม่ตัดสินคนที่มาหาเรา ไม่ทำตัวเหนือ คนที่ไม่เคยเจ็บในเรื่องนั้นๆ อาจมองว่าคนอื่น ‘อ่อนแอ’ ‘เปราะบาง’ (ใส่เครื่องหมายแปลว่าเราตั้งคำถามกับคำพวกนี้) แล้วนอกจากนี้มันก็จะมีคนที่คิดแบบว่าปัญหาแค่นี้อดทนสิทำไมฟูมฟาย ต้องร้องไห้ขนาดนี้เลยเหรอ? และอื่นๆ แต่เราไม่เคยเห็นว่าน้ำตาเป็นปัญหาเลยนะ เราเห็นน้ำตาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยาและเป็นเครื่องนำทางในหลายการบำบัดด้วยซ้ำไป
การที่เราเคยมีบาดแผลจึงรู้ว่าหลายเรื่องก็ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะหลุด กว่าจะลอกคราบไปทีละชั้นๆ อย่างเราเองก็ยังต้องขัดเกลาตัวเองไปเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้เราก็ยังมีอารมณ์ต่างๆ อยู่ โดยเฉพาะความโกรธ แต่วงจรอารมณ์มันสั้นลงเยอะเท่านั้นเอง อย่างในกรณีคนมาหาที่เป็นเพื่อนๆ ซึ่งรู้จักเราจริง เขาก็จะเห็นว่า “เฮ้ย …แววตาเปลี่ยนภัทรมันเปลี่ยน” มีหลายคนมาให้เราบำบัดหรือดูไพ่ให้ทั้งที่รู้ว่าเราเคยมีแผลแบบนี้แหละ เพราะเราเป็นแค่คนธรรมดาที่พร้อมจะรับฟัง
ส่วนเรื่องความ sensitive ก็มีน้องๆ เพื่อนๆ ที่จงใจมาปรึกษาเรื่องจิตใจกับเราและมาดูไพ่กับเรา บอกว่าเชื่อเราเป็นพิเศษ เพราะเรา sensitive และมีหลายๆ อย่างเหมือนเขา เขาคงต้องการคนธรรมาดาที่เห็นใจเขามากกว่ายอดมนุษย์ผู้แข็งแกร่งที่อาจจะตัดสินเขาเนอะ
นอกจากเรื่องพวกนี้ เราว่าความเป็นคนธรรมดาที่มีกิเลสเหมือนคนทั่วไป มันก็มีประโยชน์ เวลาคนมาเล่าว่าเขาระเบิดโทสะ หรือซึมเศร้า หรือมีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ แบบนั้นแบบนี้ ถ้าเราเห็นว่าประสบการณ์คล้ายกันของเราจะเป็นประโยชน์กับเขา เราก็จะเล่าให้ฟัง หลายคนฟังเรื่องเราแล้วรู้สึกสบายใจขึ้นเพราะเขาไม่ได้มีตำหนิอยู่คนเดียว เราก็เคยทำผิด เราก็มีข้อบกพร่อง แค่ว่าบางกรณีเราก็ผ่านมาได้ด้วยวิธีอย่างนี้ๆ นะ ถ้าเขาจะลองทำตามก็ได้ หรือถ้าไม่ตาม มันทำก็เป็นสิทธิ์ของเขา
เข้าใจว่าคุณสนใจทฤษฎีจิตบำบัดของคาร์ล ยุง(Carl Gustav Jung) เป็นพิเศษ และนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตตัวเองด้วย อยากให้ช่วยเล่าเรื่องคาร์ล ยุงคร่าวๆ และอยากให้เล่าว่าคุณปรับแนวคิดคาร์ล ยุงมาใช้กับการพูดคุยกับคนที่มาดูไพ่อย่างไร?
คาร์ล ยุง เป็นจิตแพทย์ผู้ก่อตั้งจิตวิทยาวิเคราะห์ เกิดที่สวิตเซอร์แลนด์ มีชีวิตอยู่ในปี 1875 ถึงปี 1961 ร่วมสมัยกับศิลปินและนักเขียนหลายคนในช่วงคาบเกี่ยวของศตวรรษที่ 19 ถึง 20 ที่เราสนใจเพราะคุณพ่อยุงเป็นพระคริสตจักรปฏิรูปสวิส คุณตาของยุงที่เป็นนักเทววิทยาและศาสนจารย์ก็สื่อสารกับวิญญาณคนตาย ญาติๆ ของยุงก็จะเป็นแนวๆ นี้ ซึ่งก็ธรรมดาสำหรับสังคมชนบทสวิสในตอนนั้น และจริงๆ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เรื่องผี เรื่องวิญาณ ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิทยา ที่เล่าเพราะอยากให้เห็นบริบทแบบนี้ของยุงซึ่งเราก็จะได้กลิ่นสิ่งเหล่านี้ในงานเขียนเขา ตอนเด็กยุงชอบเล่นคนเดียว ยุงชอบอ่านปรัชญา ชอบอ่านประวัติศาสตร์ศาสนา ต่อมาเขาลงเรียนวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและแพทย์ศาสตร์หลักๆ เพราะความฝัน ซึ่งถ้าศึกษางานยุงก็จะเห็นว่าเขาให้ความสำคัญมากกับความฝันแล้วก็เหตุบังเอิญที่มีความหมาย ยุงเลือกเรียนเฉพาะทางด้านจิตเวชและได้มีประสบการณ์เข้มข้นจากการฝึกงานในโรงพยาบาลจิตเวชบูร์กเฮิลซลีกับจิตแพทย์ที่เด่นมากในยุคนั้น
ต่อมายุงรู้จักและมีความสัมพันธ์กับฟรอยด์ (ซิกมันต์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยาชาวยิว เจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์) ซึ่งนอกจากเรื่องงานแล้วก็มีเยื่อใยบางอย่างคล้ายพ่อกับลูกด้วย แต่ว่าฟรอยด์มีแนวคิดเกี่ยวกับแรงจูงใจของคนที่เน้นเรื่องเพศ ในขณะที่ยุงไม่ได้มองพลังงานทางจิต(Libido) ผูกขาดอยู่กับเรื่องเพศ แล้วยุงก็เห็นว่าข้างใต้จิตไร้สำนึกส่วนตัวของแต่ละคนยังมีเลเยอร์ที่ลึกกว่านั้นอีก ซึ่งยุงเรียกว่าจิตไร้สำนึกร่วม (collective unconscious) สรุปว่าในที่สุดยุงก็เป็นมกุฎราชกุมารให้ฟรอยด์ไม่ได้ หมายถึงว่า ฟรอยด์เคยอยากให้ยุงเป็นคนสืบทอจิตวิเคราะห์ แต่ยุงไปตั้งจิตวิทยาวิเคราะห์แยกจากฟรอยด์ และขาดกันในปี 1913 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ยุงป่วย เป็นปีเดียวกับที่งานต่างๆ ของนักเขียนที่เราสนใจหลายคนตีพิมพ์ และเป็นปีเดียวกับที่ยุงเห็นนิมิตก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มในปีถัดมา
การศึกษาเรื่องจิตของยุงมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องลี้ลับและโหราศาสตร์ แล้วก็มีองค์ความรู้หลายศาสนาและมีเรื่องการเล่นแร่แปรธาตุด้วย ยุงสร้างคุณูปการทางจิตวิทยาไว้หลายเรื่องกว่านี้มาก อย่างเรื่องบุคลิกภาพ introvert / extrovert ก็มาจากยุง เรื่องความสอดคล้องต้องกัน และอื่นๆ
แต่ในช่วงที่ผ่านมาเราสนใจในกระบวนการเยียวยาจิตใจที่สามารถใช้ตำนานและความฝันเป็นเครื่องมือได้ นอกจากนี้ก็สนใจเรื่อง Shadow เป็นพิเศษ ส่วนในการเอามาประยุกต์ในงานจิตบำบัด เราไม่ได้กวาดแนวคิดยุงมาทุกอย่าง หน้างานจริงมันต้องผสมผสานหลายศาสตร์และเอาคนที่มาหาเราเป็นศูนย์กลาง เราทำงานเชิงประยุกต์และไม่ยึดกับทฤษฎีขนาดนั้น คือถ้าคนที่มาหาเราเขาอยากสวดมนต์แล้วจะสบายใจขึ้น เราก็พร้อมจะจุดเทียนสวดมนต์พร้อมจิตบำบัดด้วย หรือถ้าเขามาหาเราโดยใช้นพลักษณ์และแบบวัดบุคลิกภาพ mbti อธิบายตัวเอง ซึ่งเราเองก็ศึกษามา เราก็พร้อมจะใช้ชุดภาษาของเขาในการคุยถ้าใช้แล้วมันจะเกิดประโยคที่ทำให้เขาหลุดจากเงื่อนทุกข์ นึกออกไหม
กลับมาที่เรื่อง Shadow เราเริ่มสนใจเรื่องนี้มากตอนช่วงวิกฤตชีวิตเมื่อสักประมาณ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกับที่แปลหนังสือที่มีเนื้อหาสั้นๆ เกี่ยวกับโยคาจารย์แล้วคนเขียนเชื่อมโยงกับเรื่องจิตไร้สำนึกร่วมของยุง ก็เลยไปศึกษาให้ละเอียดขึ้นด้วย จากเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตเราพบว่าถ้าเราไม่ตระหนักรู้บางลักษณะในตัวเองมากๆ วันหนึ่งมันจะหาทางออกมาหลายๆ แบบ แต่การแสดงออกของเงามืดในตัวเราเองที่อันตรายพอสมควรคือเงาที่เราแสดงออก (project) ไปที่ความสัมพันธ์ และเราก็ต้องยอมตายทางจิตใจเพราะต้องขยายขอบเขตตัวเองออกไป การรู้จักเงามืดตัวเองมันจึงดีมากเลยนะ ทำให้เราบริบูรณ์ขึ้น
ส่วนในการนำมาปรับใช้กับการดูไพ่ ตัวอย่างเช่น บางคนที่มาหามีลักษณะยอมคน กระทั่งรู้สึกว่าฉันไม่มีพื้นที่ของตัวเองเหลืออยู่แล้ว มีแต่ต้องทำตามที่คนอื่นชอบ ทำตามที่คนอื่นสั่ง ในเรื่องเล่าแบบนี้ เราก็จะมีชุดคำถามบางอย่าง แล้วถ้าเขาเปิดไพ่ขึ้นมาได้ไพ่อะไรในเชิงนักรบ นักสั่งการที่มีพลังห้าวหาญ เราจะสันนิษฐานร่วมกับบรรยากาศที่เราสัมผัสจากเขาว่าไพ่ใบนี้น่าจะสะท้อนลักษณะที่เป็นเงาของเขา เราก็จะบอกว่าให้ลองทำท่าแบบนี้แป๊ปนึงซิ (ยืนอกผายไหล่ผึ่ง กระทืบเท้า ชี้นิ้วสั่งไปที่คนอื่น) ลองทำท่าขึงขังมีอำนาจแบบที่คนอื่นบงการเขาดู ทำให้เขาสัมผัสกับพลังงานที่เขาไม่ค่อยได้ใช้หรือไม่รู้ตัวว่าใช้โดยขยายออกมาในการเคลื่อนไหวร่างกาย เขาก็รู้สึกมีพลังขึ้นมา
มีอย่างอื่นด้วยไหมที่ปรับใช้กับคนมาดูไพ่?
ก็มีถามบางคนว่าชอบตำนานอะไร ชอบวรรณกรรมอะไร ช่วงนี้ฝันอะไรไหม ในสิ่งเหล่านี้มีอะไรกระทบใจ แล้วมันมีความหมายกับคุณอย่างไร แต่ไม่ใช่ไปฟันธงให้เขาว่าฝันแบบนี้แปลว่าอะไรนะคะ เราไม่ได้มาหาความหมายสากล การทำงานกับความฝันเป็นเรื่องอัตวิสัยและต้องดูบริบทคนนั้น
คุณสามารถใช้ไพ่เป็นเครื่องมือเผยให้เห็นสมการในใจของคนได้ แล้วการอ่านความฝันให้อะไร?
จริงๆ ขอย้ำว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องเห็นสมการอย่างเดียวนะคะ บางคนมีประเด็นลักษณะอื่น และมันมีอีกหลายวิธีการที่เราใช้ปลดล็อคใจให้ได้ แต่ไม่เล่าหมดนะเดี๋ยวไม่สนุก(หัวเราะ) ส่วนที่ถามเรื่องความฝันว่าให้อะไร ความฝันก็เหมือนสัญลักษณ์บนไพ่ ในแง่ที่เป็นประตูสู่ข้อมูลบางอย่างและคนที่ให้ความหมายคือตัวคนฝันเอง เพราะความหมายของเขาจะมีบทบาทกับจิตใจเป็นการเฉพาะ แต่ละคนอาจให้ความหมายต่อสิ่งเดียวกันไม่เหมือนกัน อย่างนาย A กับนาย B ฝันเห็นดาบ นาย A อาจจะแปลว่านี่คืออาวุธในการฆ่าคน นาย B อาจจะบอกว่าเป็นพลังงานทางเพศ นอกจากนี้ การฝันเห็นดาบ อาจจะไม่เป็นประเด็นอะไรกับบางคนเลย ฝันแล้วก็ลืมไป แต่อีกคนอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นประเด็น แล้วเวลาเอามาคุย อย่างที่บอก เราต้องให้ความสำคัญกับความหมายที่คนๆ นั้น ให้เองและในบริบทของเขาเองด้วย
สมมุติช่วงนั้นนาย C เพิ่งถูกให้ออกจากงาน เขารู้สึกเสียความมั่นใจ เสียคุณค่า กำลังหางานใหม่หรืออะไรก็ว่าไป ในช่วงนั้นเอง เขาฝันว่าจับดาบอยู่ในครัว แล้วรู้สึกมีพลังมากไม่เหมือนตอนตื่นเลย เวลาเอามาคุย เขาให้ความหมายว่าจะเอาดาบมาทำอาหารให้คนในครอบครัวกิน การใช้ดาบนั้นทำอาหารให้คนในครอบครัวเป็นเหมือนการชดเชยคุณค่าที่หายไป ยกเอาเรื่องดาบขึ้นมาพูดคุยแล้วใจมันเต็มขึ้น นี่สมสมุติตัวอย่างให้เห็นเฉยๆ ว่าความหมายมันไม่ผูกขาด
คำถามท้ายๆ ค่ะ อยากรู้ว่านิยามการเรียนรู้ของคุณคืออะไร?
การเรียนรู้คือกระบวนการทำความรู้จัก ทำความเข้าใจสิ่งใหม่ หรืออาจเป็นสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วแต่สำรวจให้รู้จักมากขึ้น เข้าใจลึกขึ้น และทุกอย่างมันสอนเราได้หมดเลย
ไพ่ เป็นการเรียนรู้ไหม?
ไพ่เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง จากเครื่องมือและวิธีการมากมายที่เราใช้ทำความเข้าใจตัวเองและผู้อื่น มองว่าเหมือนเป็นประตูบานหนึ่งที่ใช้สำรวจโลกภายในได้ เราคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ นอกจากช่วยให้คนอื่นเข้าใจตัวเองมากขึ้น เราก็เข้าใจตัวเองในมุมที่ลึกขึ้นด้วย เช่น เคยมีคนเล่าว่าเขารู้สึกว่าตัวเองเป็น Lone Wolf ฟังๆ ไปก็เอ้อ …เราก็รู้สึกนะ ฟังเขาแล้วเราก็เห็นบางอย่างในตัวเองทะลุปรุโปร่งเลย เราเข้าใจสิ่งต่างๆ เพิ่มไปเรื่อยๆ ผ่านการคุยกับคนที่มาดูไพ่กับเรา เรามีความสุขมากที่ได้เชื่อมโยงกับผู้คน