- ครูทิว – ว่าที่เรือตรีธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูวิชาสังคมศึกษาหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีจุดยืนชัดเจน คือ การอยู่เคียงข้างนักเรียนในทุกสถานการณ์ เปิดพื้นที่ให้นักเรียน รวมถึงสังคมได้ตั้งคำถามว่า เราต้องการนักเรียนแบบไหน ต้องการครูแบบไหน รวมถึงต้องการระบบการศึกษาแบบไหนกันแน่
- “วิชาหนึ่งของม.4 ชื่อว่าการเมืองการปกครองไทย เราจัดทริปทัวร์สถานที่สำคัญๆ ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ เสียค่ารถกันเอง กินข้าวเอง นั่งรถเมล์ต่อเดียวจากหน้าโรงเรียนไปลงพิพิธภัณฑ์ผ่านฟ้า พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า เราก็ชวนคุยเรื่องป้อมมหากาฬ คุยเรื่องถนนราชดำเนิน เสร็จแล้วก็ไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คุยเรื่อง 2475 เห็นอะไรบ้าง รับรู้อะไรกันบ้าง จากนั้นไปอนุสรณ์สถาน สนามหลวง ธรรมศาสตร์”
- ‘ครูขอสอน’ หนึ่งในหน้างานครูทิวที่ตั้งใจอยากแก้ปัญหาครู และมองว่าครูเป็น key person ที่สำคัญที่สุดในการทำงาน เป็นฟันเฟืองที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนการศึกษา อยู่ใกล้ชิดเด็กที่สุด เด็กจะดีจะร้าย จะได้รับการดูแลยังไง การสอนยังไงก็อยู่ที่ตัวครูนี่แหละ ถ้าครูไม่ได้ทำหน้าที่เต็มที่ หรือทำหน้าที่บกพร่อง ก็ย่อมส่งผลต่อนักเรียน
นักเรียน คือ คนที่ทำให้ครูเห็นปัญหาในระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นภาระงานเอกสาร ความกดดันเชิงระบบที่ทำให้ครูไม่ได้ทำหน้าที่ครูเต็มที่ ซึ่งการสื่อสารทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ครูได้เปล่งเสียงบอกว่าระบบรัดรึงการทำงานอย่างไร พูดเพื่อแก้ไขปัญหาให้ครูได้ทำหน้าที่ครูจริงๆ เสียที
รายการพอดแคสต์ ‘ข้างๆ ครูคูล’ ตอนที่ 2 สนทนาในประเด็นนี้กับ ครูทิว – ว่าที่เรือตรีธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูวิชาสังคมศึกษาหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีจุดยืนชัดเจน คือ การอยู่เคียงข้างนักเรียนในทุกสถานการณ์ เปิดพื้นที่ให้นักเรียน รวมถึงสังคมได้ตั้งคำถามว่า เราต้องการนักเรียนแบบไหน ต้องการครูแบบไหน รวมถึงต้องการระบบการศึกษาแบบไหนกันแน่ จากนั้นก็ขับเคลื่อนสังคมครูในห้องเรียนและในเชิงระบบไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
รับฟังในรูปแบบพอดแคสต์ได้ที่
ทำความรู้จักตัวตนครูทิว ผ่านเด็กชายธนวรรธน์กันสักหน่อย
เด็กชายธนวรรธน์ในวันนั้น เป็นเด็กแก้มยุ้ยๆ คนหนึ่งที่ชอบอ่านหนังสือ จนกลายเป็นหนอนหนังสือในเวลาไม่นาน จุดเริ่มมาจากคุณพ่อที่เป็นบรรณารักษ์ ส่วนคุณแม่ก็ชอบอ่านหนังสือให้ฟังตลอด ตอนเด็กเวลาแม่ไปทำธุระก็จะรอที่ห้องสมุดประชาชนจันทบุรี เราอยู่กับหนังสือมาตลอดตั้งแต่อนุบาลด้วยซ้ำ แต่เพิ่งจะมาจริงจังช่วงประถม อ่านทั้งหนังสือความรู้รอบตัว สังคม แผนที่ วิทยาศาสตร์ ทำให้ในวัยเด็กมักอินเรื่องสังคมกับวิทยาศาสตร์มาก แล้วก็สนใจความรู้รอบโลกด้วย และนี่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความฝันแรกนั่นคือนักเขียน
จำได้ว่าตอนม.สามเทอมสองได้แฮร์รี่พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์เป็นรางวัลสอบได้ที่หนึ่ง เพราะเคยเปรยๆ กับครูไว้ หลังจากนั้นก็อ่านหนังสือเยอะมากๆ ซึ่งบางเล่มก็ทำให้เราวางไม่ลงเลย อย่างแฮร์รี่พอตเตอร์ กับอีกเล่มที่จุดประกายเรื่องบ้านเมือง ประวัติศาสตร์ การเมือง ก็คือ ‘ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน’
จากหนอนหนังสือที่ฝันอยากเป็นนักเขียน มาเป็นครูทิว ครูคูลๆ ในวันนี้ได้อย่างไร?
สักตอนป.5 คนอื่นก็อยากเป็นทหาร เป็นพยาบาล เป็นครู เป็นหมอ ตามสไตล์เด็กๆ ในโลกทัศน์เรามีอยู่แค่นั้น แต่เราวาดรูปมาเลย ใส่เสื้อกาว์น ถือหลอด อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ คือเราอ่านหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เยอะ ชอบค้นคว้า ชอบทดลอง และเราก็เป็นเด็กวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน พอสักมัธยม เริ่มสโคปมาแล้ว อยากเป็นนักธรณี เพราะชอบผจญภัย ชอบหินแร่ ชอบสำรวจ ปีนเขา อย่างอินเดียน่าโจนส์อะไรแบบนั้น
ปรากฏว่าพอ ม.3 เลือดรักชาติเข้าเส้น อยากเป็นทหารเรือ จนสุดท้ายแล้วตอนม.4 เราไปเลือกตั้งกรรมการนักเรียนแต่ก็ไม่ได้เป็น นับแต่นั้นเราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าที่เราเลือกสมัครไปเพราะอะไร เราบอกว่าเราอยากทำเพื่อโรงเรียนใช่ไหม? แล้วจำเป็นต้องเป็นแค่กรรมการนักเรียนเหรอ ก็ย้อนกลับมายังอนาคตของเรา อาชีพของเรา ตอนนั้นเรารักชาติ อยากทำเพื่อคนอื่น อยากเสียสละ แล้วมีแต่ทหารเหรอที่เสียสละหรือว่าทำเพื่อชาติ เราก็มองย้อนกลับไปครับว่า เราถนัดอะไร ทำอะไรได้ดีบ้าง
แต่การเป็นครูนี่จริงๆ แล้วพยายามหนีมาตลอดนะ เพราะที่บ้านพ่อแม่ก็เป็นครูมาก่อน คือโตมากับบ้านพักครู ห้องเรียน ญาติพี่น้องก็เป็นครูกันหมดเลย แล้วครูสมัยประถมฯ ก็บอกว่าเราน่ะดีเกินกว่าที่จะเป็นครู แล้วเป็นครูมันไม่ดียังไง?
เราก็เลยย้อนกลับมาทบทวนตัวเองว่า หนึ่ง – เพื่อนชอบมาปรึกษาเรา แล้วมักจะได้คำตอบที่ดีเสมอ สอง – ผมเป็นประธานชุมนุมวิทยาศาสตร์ เป็นคนคิดกิจกรรมของชุมนุมในทุกๆ สัปดาห์ และเรารู้สึกสนุกมากกับการออกแบบกิจกรรม ออกแบบการเรียนรู้ แล้วก็เห็นเพื่อนๆ น้องๆ ในชุมนุมสนุก เรามีความสุขมาก
สาม – เป็นจุดที่ทำให้เราคิดได้เลย คือ การเป็นสตาฟกีฬาสี ดูแลกีฬาวอลเลย์บอล และเนื่องจากไม่มีนักกีฬาเลย สีผมก็มีแต่เด็กห้องคิงส์ ผมก็ไปออดอ้อนน้องม.2 ซึ่งต้องเรียนวิชาพละ เราก็บอกน้องๆ ว่าจะสอนวอลเลย์บอลให้นะ น้องจะได้สอบได้ แต่มาลงกีฬาให้พี่หน่อย ก็เริ่มจากปูพื้นฐานก่อน เด็กเขาทำไม่ได้ก็พยายามเทรนด์ พยายามสู้กับเขา จนวันหนึ่งครูประจำชั้นเข้ามาถามว่าทำยังไง เด็กครูไม่ยอมเล่นกีฬาเลย แต่อยู่กับเราไม่ยอมกลับบ้าน ก็ตอบกลับไปว่าเขาคงมีความสุขมั้ง แล้วพอเล่นไปแล้ว เขารู้สึกว่าเขาทำได้ และพอตอนกีฬาสี เขาก็ทำได้จริงๆ ถึงแม้ไม่ได้เหรียญทอง แต่ทุกคนรู้สึกแฮปปี้ รู้สึกประสบความสำเร็จ
จากวันแรกที่เริ่มต้นจนวันนี้ เขาทำได้ เขาแก้ไขสิ่งที่เขาผิดพลาด เขาโอเค แล้วทุกคนก็มาขอบคุณเราว่าเป็นเพราะเรา เลยรู้สึกเหมือนกับการที่เราปลูกต้นไม้สักต้น แล้วเห็นมันโต แต่วันนี้ต้นไม้มาขอบคุณเราว่าขอบคุณนะที่ใส่ปุ๋ยเขาอย่างนี้ ที่รดน้ำเขาอย่างนี้ ที่ทำให้เขาโตแบบนี้ นี่มันความรู้สึกของคนเป็นครู สงสัยอาชีพทีเหมาะกับชีวิตที่สุดก็ต้องเป็นครูนี่แหละ
พอมาเป็นครูแล้วมีสไตล์การสอนแบบไหน?
เวลาเข้าไปคาบแรก ผมจะบอกกับเด็ก คุณต้องเป็นตัวของตัวเองนะ แล้วครูก็จะเป็นตัวของตัวเองเหมือนกัน หมายความว่าเราจะไม่แอ๊บ แต่เรารู้นะมารยาท หรือขอบเขตของการวางตัวเป็นยังไง แต่เราอย่าละทิ้งตัวตน เพราะความเป็นมนุษย์ เราต้องมีอัตลักษณ์ มีอะไรบางอย่างที่เป็นตัวของตัวเอง
บทบาทหน้าที่ก็ส่วนหนึ่ง การวางตัวและมารยาททางสังคมก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนก็มีสเปซว่างพอที่เราจะเป็นตัวของตัวเอง ถ้าหากครูไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองในห้องเรียนได้แล้ว เด็กก็ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ ไม่สามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ และไม่มีความมั่นใจ
ดังนั้น ถ้าถามว่าตัวตนในตอนที่สอนเป็นยังไง ผมว่าผมเป็นคนตลก คือ เป็นคนที่มีความสุขกับรอยยิ้มคนอื่น รู้แหละว่าปล่อยมุกนี้ไปแล้วจะแป๊ก แต่ก็ยังขยันปล่อย แต่เชื่อไหมพอทำแบบนี้ ผมกลับรู้สึกว่าเด็กมีไหวพริบกับผมมากขึ้น ไม่ใช่แค่ยิงมุกนะ แต่หมายถึงเรื่องการตอบคำถาม หรือการเรียนด้วยซ้ำที่เขารู้สึกกล้าตอบ กล้าพูด แล้วก็สบายใจที่จะอยู่กับเรา ตอนนี้สอนม.ต้นและม.ปลายด้วย คร่อมเลย ซึ่งเทอมนี้เป็นวิชาประวัติศาสตร์ ม.3 กับเหตุการณ์ปัจจุบัน ม.5
ครูทิวสนใจการเมือง ถึงขั้นตั้งชมรมรัฐศาสตร์การเมืองด้วย มีความเป็นมาอย่างไร?
ก่อนหน้านี้ผมอยู่โรงเรียนเก่าเรามีชมรมนักกฎหมาย เพราะผมสนใจเรื่องการเมือง เรื่องกฎหมายพวกนี้อยู่แล้ว ซึ่งจะมีรายการแข่งขันกฎหมายเยอะมาก โดยปกติครูจะไปจิ้มเด็กมาแล้วบอกให้เราส่งที พอเราเริ่มทำเราก็รู้สึกว่าจริงๆ มันน่าจะมีเด็กที่สนใจอีกเยอะ ผมก็เลยประกาศลอยๆ ใครสนใจก็มาสมัคร
ปรากฏว่าคนมาสมัครเยอะ เพราะเด็กเขาสนใจเรื่องกฎหมายรอบตัวเพื่อที่จะปกป้องสิทธิของตัวเอง คนในครอบครัว หรือเพื่อนๆ แม้แต่เรื่องการบ้านการเมืองเขาอยากรู้เท่าทัน กลายเป็นว่าเด็กที่ไปแข่งตอบปัญหากฎหมายกับผมเป็นเด็กที่สนใจจริงๆ ไม่ได้ไปจิ้มมา
พอมาอยู่โรงเรียนนี้ เลยตั้งใจว่าเราจะเปิดพื้นที่นี้ คือ กฎหมาย การเมือง ให้กับเด็กที่มีความสนใจและต้องการจะพูด เพราะบางครั้งโดยเฉพาะเรื่องกฎหมายในระดับมัธยมค่อนข้างจะหาครูที่อินไซด์ตอบคำถามเขาได้ หรืออธิบายหลักการโดยละเอียดได้น้อยมาก
ส่วนเรื่องการเมือง บางทีก็ด่าหรือวิพากษ์วิจารณ์ไปอย่างนั้น แต่บนหลักวิชาการก็น้อยคนอีกที่จะชวนเขาวิเคราะห์ได้ขนาดนี้ ดังนั้น จึงอยากจะชวนเพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กเขาได้แสดงตัวตน ได้แสดงความคิดเห็น
ครูทิวพาเรียนการเมืองการปกครองรอบรั้ว จากการตั้งคำถามและหาคำตอบ
วิชาหนึ่งของม.4 ชื่อว่าการเมืองการปกครองไทย เราก็จัดทริปทัวร์สถานที่สำคัญๆ ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ ซึ่งไม่ใช้งบประมาณเลย เสียค่ารถกันเอง กินข้าวเอง นั่งรถเมล์ต่อเดียวจากหน้าโรงเรียนไปลงพิพิธภัณฑ์ผ่านฟ้า พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า ซึ่งเกี่ยวกับการเมืองการปกครองอยู่แล้ว เราก็ชวนคุยเรื่องป้อมมหากาฬ คุยเรื่องถนนราชดำเนิน เสร็จแล้วก็ไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คุยเรื่อง 2475 เห็นอะไรบ้าง รับรู้อะไรกันบ้าง จากนั้นไปอนุสรณ์สถาน สนามหลวง ธรรมศาสตร์
เด็กเขาก็ถามว่าอาจารย์ตรงนี้เลยเหรอ ตรงที่หนูยืนอยู่ตรงนี้ใช่ไหมต้นโพธิ์ต้นนี้ใช่ไหม เอ๊ะ…ตึกนี้เหมือนในรูปเลย เขารู้สึกอิน และเริ่มตั้งคำถามกับหนังสือเรียน หรือกับเนื้อหาที่เราชวนคุยก่อนหน้านี้ เป็นทริปที่สนุกมาก เด็กเหนื่อยนะ แต่เด็กรู้สึกแฮปปี้ เพราะไม่เคยมีใครพาเขาเที่ยวอย่างนี้เลย
หลังจากจบทริป ผมให้เด็กเขียนคำถาม แต่ยังไม่มีคำตอบนะ หลายๆ คำถามมันสะท้อนว่าเขาเริ่มตั้งคำถามกับอะไรบางอย่างแล้ว ซึ่งเราอาจได้เปรียบที่อยู่กรุงเทพฯ และใกล้ด้วย แต่ที่อื่นรอบโรงเรียนก็มีแหล่งเรียนรู้อยู่เยอะแยะ อยู่ที่คุณครูจะศึกษาแล้วสกัดตรงนั้นออกมาให้นักเรียนได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งการที่เด็กตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาเห็นทุกวัน ทำให้ทั้งเด็กและครูได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
เมื่อสักครู่พูดถึงการเรียนรู้นอกห้องเรียนแล้ว อยากให้แบ่งปันโครงการดีๆ ที่กำลังทำกับเพื่อนครูอยู่ตอนนี้ด้วย
เป็นการทำงานของเครือข่ายครู ชื่อว่า ‘ครูขอสอน’ คือ เราจะนิยามตัวเองว่าเป็นกลุ่มคนที่อยากเห็นครูได้ทำหน้าที่สอนและพัฒนานักเรียนอย่างแท้จริง และเราตั้งชื่อนี้เพื่อให้สังคมได้ตั้งคำถามว่า…แล้วครูไม่ได้สอนหรือ
ก่อนหน้านี้เรารวมตัวกันอย่างหลวมๆ เพราะหลายคนเป็นครูนักกิจกรรม ไปเจอกันตามเวิร์กชอปต่างๆ เจอกันตาม TED CLUB บ้าง จนเริ่มสนิทกันและแชร์กันในเรื่องการศึกษา เพราะแต่ละคนเป็นครูรุ่นใหม่ไฟแรง แล้วก็มีการขับเคลื่อนหรือพยายามเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในหน้างานตัวเองอยู่แล้ว แต่ทุกคนก็จะต้องมี pain point มีสิ่งที่ทุกคน suffer มาจากที่ทำงาน มาจากโรงเรียน มาจากระบบการศึกษา การแชร์กันทำให้รู้สึกว่าเราไม่ได้สู้อยู่คนเดียว ไม่ได้เผชิญปัญหานี้คนเดียวนะ ยังมีเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมอุดมการณ์อีกเยอะ ก็รวมกลุ่มกันขับเคลื่อนเพื่อให้สังคมเริ่มตั้งคำถามกับระบบการศึกษาว่า การศึกษาที่ควรเป็นมันควรจะเป็นอย่างไร และอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรค
เราคิดว่าครูเป็น key person ที่สำคัญที่สุดในการทำงาน เป็นฟันเฟืองที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนการศึกษา อยู่ใกล้ชิดเด็กที่สุด เด็กจะดีจะร้าย จะได้รับการดูแลยังไง การสอนยังไงก็อยู่ที่ตัวครูนี่แหละ ถ้าครูไม่ได้ทำหน้าที่เต็มที่ หรือทำหน้าที่บกพร่อง มันก็ทำอะไรไม่ได้เลย ดังนั้น ใช้ครูเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนกลไกทุกอย่าง ทั้งเรื่องระบบราชการ ผู้บริหาร ปัญหาการประเมินการเรียนการสอนหลักสูตร การดูแลช่วยเหลือนักเรียน ให้ครูเป็นศูนย์กลางโดยใช้ชื่อกลุ่มว่าครูขอสอน
ครูขอสอนจึงทำงานในแง่วิชาการ ในเชิงทำความเข้าใจเรื่องกฎหมาย
เราเน้นไปเชิงนโยบาย อย่างในโรงเรียนเราก็จะมีพาร์ทห้องเรียนเชิงบวก แต่เรารู้สึกว่าบางครั้ง แม้ครูพยายามมากแค่ไหนในหน้างานตัวเอง แต่ครูบางคนก็มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นปัญหาเชิงระบบ
ดังนั้น ครูขอสอนจึงไปทำอะไรที่แตะเชิงโครงสร้าง หรือแตะเชิงระบบว่าถ้าเราแก้ที่ระบบ หรือแก้โครงสร้างตรงนี้ได้จะปลดล็อกปัจเจก หรือครูแต่ละคนสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น เต็มที่อย่างมีศักยภาพมากขึ้น เราจึงคุยกันเรื่องพระราชบัญญัติการศึกษา เพราะมันมีแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงอยู่ และตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่เราติดตามอยู่ อย่างปีที่แล้วเราก็ตั้งวงเสวนาแล้วก็รวบรวมข้อคิดเห็น ข้อเสนอแล้วก็ไปยื่นต่อกรรมาธิการศึกษาอย่างนี้เป็นต้น
เคยมีวงเสวนาเกี่ยวกับครู ‘ครูไทยยังไงดี?’ หรือ ‘ห้องเรียนไทย’ ‘อนาคตที่อยากเห็น การศึกษาที่อยากเป็น’ ทำไมครูถึงไม่ได้สอนภาระหน้าที่อะไรต่างๆ เอางานวิจัย เอางานต่างๆ มาซัพพอร์ท สนับสนุน รวมถึงช่วงที่มีเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางการเมือง หรือว่าการที่มีการลงโทษรุนแรง กลุ่มก็ออกแถลงการณ์ และชี้ให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้มันเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องให้สิทธิเสรีภาพกับนักเรียน นักศึกษา หรือแม้แต่ครู ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง รวมถึงการที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน เรามีความคิดเห็น มีจุดยืนตรงนี้อย่างไร เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
หลังจากเกิดปรากฏการณ์สังคม การเมือง ความรุนแรงที่สะท้อนระบบและอำนาจจากโครงสร้าง ครูทิวก็ขยับสู่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อทวงพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน
ใช่ครับ เรามีกิจกรรมชื่อ ‘ครูลุยกระทรวงทวงพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน’ โฟกัสเรื่องสิทธิมนุษยชนกับพื้นที่ปลอดภัยที่จะทำให้นักเรียนเติบโต มีพัฒนาการทางด้านอารมณ์ สติปัญญาอย่างเต็มที่จริงๆ โดยไม่ถูกลิดรอน หรือถูกตัดทอนเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งเราไม่ได้หมายความว่าครูทุกคนเป็นอย่างนั้น แต่ระบบภาพรวมยังเกิดแบบนั้นอยู่ ถ้าไม่เกิดปัญหาอย่างนี้ เราจะไม่เห็นนักเรียนนักศึกษาออกมาระเบิด ออกมาแสดงความคิดเห็นกันมากมายขนาดนี้
ฉะนั้น สิ่งที่เราจะไปทำคือชวนคนสะท้อนปัญหา มองให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างว่าความรุนแรงที่เกิดกับนักเรียน หรือแม้แต่เกิดกับครู ทำไมครูถึงเป็นแบบนั้น ทำไมถึงเกิดปัญหาในโรงเรียนอย่างนี้ นี่ครูจะต้องเจออะไรบ้าง โรงเรียนเป็นยังไง ระบบการศึกษาเป็นยังไง ก็จะมีการแสดง มีเพลง มีทิชเชอร์ทอล์กมาพูดเกี่ยวกับห้องเรียน โรงเรียนและระบบ รวมถึงระบบผลิตครูด้วย วันนั้นเรามีนิสิตครูมาพูดด้วย แล้วสุดท้ายก็จะเป็นแถลงการณ์ บอกข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรี กรรมาธิการศึกษา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คุรุสภา รวมถึงสโมสรนิสิตคณะคุรุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ทั่วประเทศด้วย
เสียงเหล่านี้ไปถึงผู้ใหญ่ แล้วได้รับการตอบรับอย่างไรบ้าง?
คิดว่าเขารับรู้ แต่ด้วยแว่นทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง หรือใดๆ ก็แล้วแต่ ในการมองประเด็นแต่ละประเด็น ทำให้มองแตกต่างกันไป สำหรับผู้ใหญ่ ณ ตอนนี้เหมือนกับผู้ใหญ่ในกระทรวงรู้ข่าวที่เราจะไปประชิดกระทรวง เขาก็คุยกันว่าเขาอยากจะเปิดพื้นที่ให้พวกเราเข้าไปพูดคุย แล้วเขาก็ดูเห็นด้วย
จริงๆ แล้วผมเข้าใจว่าหลายๆ ประเด็นเป็นเรื่องที่เขาอาจกำลังทำอยู่ คนก็อาจจะเห็นด้วยแต่ติดอุปสรรค ติดปัญหาบางอย่าง ซึ่งแม้ว่าเราเองอยู่จุดนั้น เราอาจจะมีข้อจำกัดเหมือนกัน แต่สิ่งที่เราต้องพูด เรารู้สึกว่ากลไกหรือระบบมันไม่ได้ตอบโจทย์ ถ้าตอบโจทย์ก็คงจะไม่มีคนไปส่งเสียงอยู่หน้ากระทรวงหรือแม้แต่เด็กที่ออกมาพูด นั่นแสดงว่าระบบมันเป็นปัญหาแล้วแหละ
และการเปลี่ยนแปลงบางอย่างก็อาจมีปัญหาในเชิงระบบ หรือบางอย่างที่คาราคาซัง แล้วพันกันเหมือนหูฟังในกระเป๋า ดังนั้น ผมก็เลยพยายามใช้วิธีการผ่านครูขอสอนให้สังคมตั้งคำถาม แล้วต้องการเสียงจากสังคม ฉันทามติ มีเป้าหมายเดียวกันว่าต่อไปนี้สังคมเราต้องการการศึกษาแบบนี้ ต้องการครูแบบนี้ ต้องการนักเรียนแบบนี้ เพื่อชวนไปในทิศทางเดียวกัน แล้วปมทั้งหลายจะคลี่คลายไปในทิศทางเดียวกันจากกระแสเหล่านี้
ปรากฏการณ์ที่เยาวชน โดยเฉพาะนักเรียนลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับระบบ ส่งเสียงกับพื้นที่ที่ลิดรอนสิทธิ มองเรื่องนี้อย่างไร?
การเอาตัวเราเข้าไปชัดเจนว่าอยู่ข้างนักเรียนในการสื่อสารเรื่องนี้ จริงๆ ตอนแรกก็ค่อนข้างลังเล และลำบากใจอยู่เหมือนกันด้วยอะไรหลายๆ อย่าง คิดว่าครูหลายๆ คนก็น่าจะรู้สึก แม้แต่ในโรงเรียนการจะคุยเรื่องนี้กับเด็กว่าครูจะซัพพอร์ทแค่ไหน ครูก็ยังไม่สบายใจเลย
แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นข้อเรียกร้องของเด็ก หนึ่ง – เรื่องการหยุดคุกคามเขา สอง – เรื่องของกฎระเบียบต่างๆ การยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าหลัง ที่ยังตีกรอบเกินความจำเป็น และส่วนที่สาม คือ การปฏิรูปครู ปฏิรูประบบการศึกษา ซึ่งเรารู้สึกว่าการที่เขาเรียกร้องปฏิรูปครู สิ่งที่เด็กพูดเขามองเห็นว่าครูต้องเจอปัญหาอะไรบ้างที่ทำให้ครูไม่สามารถสอนหรือทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ แสดงว่าเขาเข้าใจเราและมองเห็นปัญหา
แล้วสิ่งที่ผมเห็นก็คือสังคมมักจะมองว่าครูไปตัดสินเด็กเหล่านี้ที่ผมมองว่าเขาเป็นพลเมืองตื่นรู้ เป็นคนที่ตั้งคำถาม แล้วมองเห็นความไม่เป็นธรรมและออกมาเรียกร้อง แม้ว่าบางปัญหาไม่ใช่ปัญหาของเขาเอง แต่เขาก็มาต่อสู้เพื่อขจัดเรื่องพวกนี้ออกไป
เรารู้สึกว่าบางครั้งผู้ใหญ่หลายๆ คนมักจะไปตัดสินเขาว่าเป็นเด็กก้าวร้าว เป็นเด็กไม่ดี ไม่ตั้งใจเรียน โดยไม่ฟังเลยว่าจริงๆ ที่เขาพูดคืออะไร และต้องการอะไร ผมก็รู้สึกว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างแล้วล่ะ และรู้สึกว่ามีครูจำนวนมากเลยที่รู้สึกเหมือนเรา รู้สึกอยากอยู่เคียงข้างเขา เข้าใจเขา อยากจะชวนเขามาคุยดีๆ
จุดเริ่มต้นที่พาครูทิวมายืนเคียงข้างนักเรียนในวันนี้
จุดเริ่มต้น คือ นักเรียนทักมาหาผม เพราะอยากจะให้คนเป็นครูจริงๆ มาขยายเรื่องนี้ ซึ่งจะมีน้ำหนักมากกว่า ด้วยความที่เราอยู่ในสื่อหรือว่าขับเคลื่อนหลายๆ ประเด็นอย่างนี้ ซึ่งเด็กเขามองเห็นเรา และเขารู้สึกว่าเขาอยากได้ครูแบบนี้ ครูที่ฟังเขา ครูที่ไม่ตัดสินเขา แล้วพร้อมที่จะคุยกับเขา อันไหนที่เขาเข้าใจผิด ยังรับรู้ไม่ถ้วนทั่วเราก็พร้อมที่จะอธิบายให้เขาฟัง
เราก็ลังเล แต่การที่นักเรียนออกกันมาเยอะขนาดนี้ แสดงว่าเขาต้องเจอแรงเสียดทานเยอะมาก แล้วผู้ใหญ่อย่างเราจะปล่อยให้เขาสู้โดยลำพัง ทั้งๆ ที่ประเด็นที่เขาสู้มันเพื่อเราด้วย ก็เลยตัดสินใจไปยืนอยู่ตรงนั้น แล้วก็พยายามไปลดช่องว่างที่มองเห็นของครูในแก่นแท้ของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ บอกว่าเรามีวิธีการไหนบ้างที่จะอยู่ร่วมกัน แล้วมองอนาคตร่วมกันยังไง นั่นคือสิ่งที่ผมพยายามเท่าที่จะไปได้ในทุกเวที เพื่อให้นักเรียนเขารู้สึกอุ่นใจที่มีครูอย่างนี้ รวมถึงครูอีกหลายคนที่พร้อมเคียงข้างนักเรียน เขาก็รู้สึกได้รับ empower
การชัดเจนในจุดยืนแบบนี้ มีฟีดแบคทั้งทางบวกและลบอย่างไรบ้าง?
ในทางบวก จริงๆ แล้วคนที่เห็นด้วยแล้วก็สนับสนุนเราก็มี ไม่เห็นด้วยก็มี เราก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราขับเคลื่อนก็เป็นประเด็นเรื่องการศึกษา ทั้งนี้สิ่งที่ทำให้ผมมั่นใจและดีลกับความรู้สึกตัวเองได้ คือ ครูร่มเกล้า ช้างน้อย เคยกล่าวไว้ว่า เกราะที่จะป้องกันเราเวลาเราทำอะไรก็ตาม หนึ่ง – ต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะพูดหรือขับเคลื่อนแน่นๆ เวลาใครถาม เราสามารถโต้แย้งได้ สอง – ต้องเข้าใจกฎหมาย อย่างผมเองถือว่าผมเข้าใจ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู, พ.ร.บ.การศึกษา เข้าใจจรรยาบรรณวิชาชีพ แล้วก็กฎหมายบ้านเมืองต่างๆ ในระดับหนึ่งและก็พยายามศึกษา
ในการปราศรัยทุกครั้งจะพูดเสมอว่าจริงๆ แล้วครูทำอะไรได้ ครูทำอะไรไม่ได้ สโคป หรือกรอบของเราอยู่ตรงไหน ถ้าเรายังทำในกรอบก็ทำไปเลย ถ้าเรานอกกรอบเมื่อไรค่อยว่ากัน เราก็ยอมรับว่ามันผิด แต่ถ้าอะไรที่มันยังอยู่ในกรอบ และถ้ามันเกิดอะไรขึ้นกับเรา แสดงว่าสังคมนี้ประเทศนี้ไม่มีหลักนิติธรรมแล้ว ไม่มีมาตรฐานแล้ว
ส่วนสุดท้ายก็คือสื่อ เราอยู่กลางสปอร์ตไลต์แล้ว หลายคนก็เตือนผมด้วยความเป็นห่วงว่าเราจะเป็นเป้า คนเขาก็จะจ้องเล่นงานเราได้ชัด แต่ถึงจะอยู่กลางสปอร์ตไลต์ สังคม สื่อ หรืออื่นๆ เขาก็มองเห็นเหมือนกัน
ดังนั้น การเป็นผู้ใหญ่ ผมพูดถึงการเป็นคนทั่วไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นครูหรือเป็นใครตาม ถ้าเราคิดว่าเราถูกแล้วก็จะไม่กลัวแสงสว่าง เด็กๆ ทุกคนผมเชื่อว่าโตเข้าหาแสง เขาต้องการแสงสว่าง แล้วผู้ใหญ่อย่างเราจะกลัวแสงสว่างทำไม ถ้าเราอยู่บนความถูกต้องและความเที่ยงธรรม
มาถึงเรื่องอำนาจในชั้นเรียน ครูทิวมีความเห็นและการบริหารจัดการเรื่องนี้ในชั้นเรียนอย่างไร?
ผมว่าอำนาจเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ตามหลักแล้วเราจะเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเท่ากัน แต่สิ่งที่ไม่เท่ากัน คือ อำนาจของมนุษย์ต่างหาก อำนาจที่เกิดจากอัตลักษณ์ แหล่งที่มา ซึ่งเหล่านั้นเป็นเปลือก แก่นแท้คือเราเป็นมนุษย์ แต่เปลือกเหล่านั้นก็คือสิ่งที่สังคมกำหนด สมมติขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นความเป็นชายเป็นหญิง เป็นครูเป็นนักเรียน เป็นผู้ใหญ่เป็นเด็ก ผิวขาว ผิวดำ ยศถาบรรดาศักดิ์ ฐานะทางเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้เราเรียกว่าเป็นแหล่งที่มาของอำนาจ
ซึ่งแหล่งที่มาของอำนาจทางสังคม ทำให้ระนาบของอำนาจไม่เท่ากันด้วย เช่น ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างครูกับนักเรียนในสังคมไทย เมื่อเทียบกับสังคมตะวันตกก็ไม่เท่ากัน คือ เด็กตะวันตกเขาเคารพครู แต่เป็นความห่าง ความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง ซึ่งผมรู้สึกว่าสังคมเราสูงกว่า เพราะครูมีสถานะพิเศษ เหมือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งผมได้เข้าเวิร์กชอบของไทยซียูอยู่ครั้งหนึ่ง แล้วก็จุดประกายไม่ใช่แค่เรื่องของชั้นเรียน แต่เป็นทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกนี้เลย มันคือเรื่อง power dynamic หรือ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ คือการดีลระหว่างคนที่มีอำนาจมากกว่ากับคนที่มีอำนาจน้อยกว่า คนที่เป็นกระแสหลักกับคนชายขอบ ทีนี้ก็เริ่มรู้สึกถึงการใช้อำนาจเหนือ หรือจะใช้อำนาจร่วมเท่านั้นเอง ซึ่งนี่เป็นแก่นของทอล์ค TEDxYouth@BANGKOK จึงทำให้เราได้คำอธิบายและนำไปทำวิธีคิดในการจัดการชั้นเรียน
พูดง่ายๆ ว่าการใช้อำนาจของคนที่มีอำนาจเหนือกว่าคือการได้รับอะไรบางอย่าง เอาเปรียบ กดขี่ หรือบังคับ กำหนดคุณค่าผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า แต่การใช้อำนาจร่วม คือการใช้อำนาจที่เรามีไปเพื่อสนับสนุน รับฟัง ส่งเสริม ให้ร่วมตัดสินใจ แบ่งอำนาจให้กับเขา
คนเรามีแหล่งที่มาของอำนาจไม่เท่ากันอยู่แล้ว แต่พอเราแชร์อำนาจจะทำให้เราเข้าไปใกล้เคียงกัน ช่องว่างเราก็จะลดลง แล้วในการใช้อำนาจร่วม ทั้งคู่จะรู้สึกยินดี รู้สึกภาคภูมิใจ รู้สึกมีความมั่นใจในตัวเอง ต่างจากคนใช้อำนาจเหนือ ซึ่งคนที่ใช้อำนาจเหนือก็แฮปปี้อยู่แล้ว ฉันรู้สึกภูมิใจและถูกต้อง แต่คนที่ถูกกดขี่ เขารู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ รู้สึกหมดอาลัยตายอยากกับชีวิต
พอเราใช้อำนาจร่วมกับนักเรียนและเพื่อนครู เห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียน ตัวเรา หรือตัวครูอย่างไรบ้าง?
เอาที่เห็นได้ชัดคือในห้องเรียน เรามักจะบอกว่าเด็กไม่ค่อยกล้าพูด ไม่ค่อยกล้าตอบ เวลาถามว่า นักเรียนข้อนี้ตอบอะไร ก้มหน้าก้มตา หรือเกี่ยงกันตอบ เป็นเพราะเขากลัวผิด เพราะเราไปคอยตัดสินเขาอยู่เสมอ แต่พอเปิดพื้นที่แล้วพยายามรับฟัง โดยไม่ตัดสิน ไม่ใช้อำนาจไปลงโทษ เขาก็กล้า กล้าลองผิดลองถูก แล้วก็พร้อมที่จะเรียนรู้กับเรา
เวลาเด็กมีปัญหา แน่นอนครูต้องดูแล ถ้าเด็กไม่บอกว่าเขามีปัญหาอะไร ครูก็ไม่รู้ แต่พอทำแบบนี้เด็กเขากล้าที่จะเดินเข้ามาหา มาถาม ‘ครู ครูคิดยังไง เป็นครู ครูจะทำยังไง หนูเจออันนี้มา’ ก็ทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น เด็กก็รู้สึกดี เราเองก็รู้สึกดี
ผมรู้สึกยิ้มทุกครั้งเวลาใช้วิธีการสอนที่เราไม่ได้ยืนพูดอย่างเดียว คือ มีบรรยายอยู่ แต่พอเป็นแบบที่ให้เขาได้มีอำนาจกำหนดความรู้ หรือได้ถ่ายทอดอะไรบางอย่างที่เขารู้ออกมา เราเห็นแววตา เห็นสีหน้า รอยยิ้มของเขา เขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า นั่นแหละคือการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน
สุดท้ายแล้วครูทิวมีประเด็นไหนที่อยากจะแบ่งปันกันอีกบ้าง
ผมคิดว่าตัวเองก็ยังต้องขวนขวาย ไปเรียนรู้ ไปเปิดโลก เปิดประสบการณ์ อย่างตอนไปแลกเปลี่ยนที่ออสเตรเลีย รู้สึกว่าเรามองโลกเปลี่ยนไป มองการศึกษาเปลี่ยนไปด้วย ดังนั้น ผมคิดว่าผมยังต้องเรียนรู้โลกกว้างอีกเยอะเพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลง แล้วก็พร้อมที่จะเคียงข้าง และเชื่อว่ามีครูอีกจำนวนมากที่เชื่อเหมือนกัน มีอุดมการณ์ร่วมกัน นักเรียนเองก็เช่นเดียวกัน เราจะต่อสู้ตรงนี้ไปด้วยกัน
ในสถานการณ์ใดก็แล้วแต่ ผมว่ามันไม่มีตรงกลาง เพราะถ้าเกิดความไม่ยุติธรรม ความไม่ถูกต้องขึ้นในสังคม มันมีแต่ผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่เท่านั้น หากเราเพิกเฉยในสถานการณ์นี้เท่ากับเราเข้าข้างผู้กดขี่อยู่ ดังนั้นเราต้องยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อให้สังคมเป็นธรรมมากขึ้น เราจะต้องต่อสู้ให้เกิดความถูกต้อง แล้วทุกคนจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ โดยใช้การศึกษานี่แหละเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนโลก เพราะการศึกษาคือการปลดปล่อย ไม่ใช่การกดขี่