- ครูสัญญา มัครินทร์ หรือ ‘ครูสอญอ’ แห่งโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จังหวัดขอนแก่น ที่ปัจจุบันกำลังจะย้ายไปสอนที่บ้านเกิด และตั้งใจทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชน พร้อมทั้งขยายขอบห้องเรียนให้ไกลกว่าเดิม
- ประเด็นที่ชวนครูสอญอคุยตั้งแต่วิธีการสอนของเขาที่ออกแบบให้เป็นห้องเรียนปลอดภัย โดยต้องเริ่มจากนักเรียนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ การผันตัวไปเป็นยูทูปเบอร์เพื่อโปรโมทบ้านเกิด และอำนาจกับครู
- “แน่นอนว่าเราก็เคยบ้าอำนาจ เราเคยรู้สึกว่าพาวเวอร์ฟูลกับอำนาจที่เรามี แล้วเราก็เห็นว่าซัฟเฟอร์ทั้งเราและเด็ก เพราะการใช้ชีวิตร่วมกับเขา ไม่มีใครอยากถูกใครบงการหรือถูกใครควบคุมตลอดเวลา”
ห้องเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กๆ ได้แลกเปลี่ยน โต้เถียง และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างทางความคิด แต่ในความเป็นจริงการสร้างบรรยากาศแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย
ในรายการพอดแคสต์ ‘ข้างๆ ครูคูล’ เจ้าของรายการ ครูสัญญา มัครินทร์ หรือ ‘ครูสอญอ’ แห่งโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จังหวัดขอนแก่น ซึ่งปัจจุบันกำลังจะย้ายไปสอนที่บ้านเกิด และตั้งใจทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชน ขยายขอบห้องเรียนให้ไกลกว่าเดิม มาแชร์ความคิดการจัดพื้นที่ห้องเรียนประชาธิปไตย พร้อมเล่าถึงเบื้องหลังความตั้งใจคืนอำนาจให้นักเรียนได้ร่วมออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเอง กับไอเดียการชักเย่อความคิดที่ชวนนักเรียนถกเถียงอย่างสร้างสรรค์
สามารถรับฟังในรูปแบบพอดแคสต์ได้ที่นี่
อยากทราบถึงแรงบันดาลใจในการทำอาชีพครู?
จุดเริ่มต้นของการเป็นครู ย้อนกลับไปเมื่อตอน ป.5 จำได้วิชาหนึ่ง อาจารย์ถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เราตอบอยากเป็นครูครับ เพราะรู้สึกว่าครูคนนี้ไม่ได้สอนวิชา แต่เป็นนักเล่าเรื่อง รู้สึกว่าคนเป็นครูนี่มีพลัง เหมือนมีมนต์อะไรสักอย่างสะกดเด็กอยู่ เรื่องที่ครูเล่ายังคงอยู่ในหัวเลยว่าเล่ายังไง เราอยากเป็นคนข้างหน้าห้องแบบเขาบ้าง นั่นคือจุดเริ่มต้น แต่พอโตมาเริ่มมีความสนใจหลากหลาย อยากเป็นน้าต๋อยบ้าง อยากเป็นพี่บอล อยากเป็นเป็นเอก แต่สุดท้ายก็ยังนึกถึงสิ่งแรกที่อยากเป็นอยู่ ก็เลยเรียนครู แม้กระทั่งตอนนั้นก็ไม่ได้ตั้งใจมากเท่าไร
ที่ตัดสินใจเรียนครูเพราะยังคงมีภาพจำที่ประทับใจตั้งแต่ ป.5
ยังมีภาพวันนั้นอยู่ และด้วยตอนที่เรียน ม.ปลาย เจอครูมันๆ เยอะ เรารู้สึกอาชีพนี้ยังน่าสนใจอยู่ แต่ตอนนั้นก็มีอยากเรียนทำหนัง ทำฟิล์ม แต่ด้วยจังหวะและเวลา คิดว่าเลือกเรียนครู เพราะอยากสอบให้ติด เลยเลือกสอบโควต้า แล้วก็ได้ พอไปเรียนก็ตั้งท่าว่าจะไปเรียนสาขาอื่น เพราะว่าไม่ชอบสไตล์การเรียนรู้ แต่มาพลิกตอนไปฝึกสอน ตอนปี 4 จากคนขี้เกียจ คนที่ไม่ค่อยสนใจ พอไปโรงเรียนแล้วรู้สึกว่าเรามาถูกทางแล้ว
ตอนนั้นได้ไปเป็นอาจารย์ฝึกสอนที่ไหน?
ฝึกที่โนนชัย ที่ปัจจุบันนี้รู้สึกว่านี่คืองานของเราเลย เพราะไปแล้วรู้สึกเป็นตัวเองมาก ได้พลังจากเด็ก สนุก อยากไปโรงเรียนทุกเช้า คิดว่าอยากทำงาน แล้วก็ทำมา 13 ปีแล้วครับ
ตอนเรียนไม่ชอบ แต่พอได้ลองสอนแล้วชอบ มีไฟ เพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น?
หนึ่งชอบ reaction ของเด็ก และสองเรารู้สึกว่าเวลาเล่นมุก หยอดอะไรไป มันมี engage มีการตอบโต้กลับมา รู้สึกดี สิ่งที่เรานำพาเขามามันไปต่อได้ ไหลลื่น รู้สึกว่าไม่ได้สอน เหมือนมาใช้ชีวิตกับเขา มีความ relax มีพลังงานดีๆ ไปด้วยกัน ชอบบรรยากาศแบบนี้ครับ
สไตล์การสอนของครูเป็นอย่างไร ?
จริงๆ สไตล์การสอนของเราไหลลื่นมากเลย ไม่ค่อยตายตัว เรียกว่าเป็นสไตล์แถๆ มีความอิมโพรไวส์ (improvise) จะดูพลังงานผู้เรียนเป็นหลัก แล้วที่สำคัญดูพลังงานครูด้วยว่าจะนำพาแบบไหน หรือถ้าพลังงานเด็กดาวน์ เราจะปลุกเขายังไง ใช้การดูหน้างานพอสมควร
แต่ว่าหลักๆ หัวใจของเรา จะมีอยู่ประมาณสองสามคำ คือ ทำให้ห้องเรียนมีส่วนร่วม ต้องมีพื้นที่ให้เด็กได้พูดคุย แล้วก็เป็นพื้นที่ที่เราเองจะได้เรียนรู้จากเขาด้วย เราก็เลยชอบให้มีพื้นที่ประมาณสักสิบนาทีได้พูดคุยกัน แล้วที่สำคัญคือต้องมีพื้นที่ให้เขาได้สะท้อนตัวเอง แล้วก็สะท้อนตัวครูด้วย
ฟังดูแล้วไม่เน้นวิชาการ แต่ให้น้ำหนักกับบรรยากาศการโต้เถียง และการสะท้อนตัวตนมากกว่า
หมวดวิชาการก็วิชาการนะ วันนี้เราจะ lecture based นะนักเรียน เราจะสอนกัน ก็หนักไปทางนั้น ถ้าวันนั้นพร้อม แต่บรรยากาศส่วนใหญ่จะเน้นการพูดคุย เราเชื่อว่าความรู้อยู่ในตัวเขาแล้ว ก็จะใช้วิธีการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้เขาอยากหาต่อ เพราะเด็กทุกวันนี้เก่ง เข้าถึงข้อมูลได้ ก็จะชวนคุย ให้แลกเปลี่ยนกัน แล้วก็เปิดพื้นที่ หนักไปทางให้พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนกันมากกว่าข้อมูลและเนื้อหา
นำแนวคิดแบบนี้มาจากไหน?
จริงๆ ก่อนเป็นครูมีไปเวิร์กชอป ไปเรียนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม การศึกษาแบบมนุษย์ที่แท้ ไปเรียนรู้กับอาจารย์ประชา, อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู, อาจารย์ประภาภัทร นิยม หรืออาจารย์วิเชียร หลากหลายมากเลย แล้วก็กลับมาดูว่าเราถนัดแนวไหน เชื่อแบบไหน และเราเคยมีประสบการณ์ที่อาจารย์พานักเรียนไปเจอของจริง ลงไม้ลงมือทำ แล้วก็มีวงสนทนากันอยู่เรื่อยๆ ก็เลยเหมือนซึมซับ ชอบการเรียนรู้แบบนี้
อยากให้คุณครูยกตัวอย่างถึงกิจกรรมในห้องเรียนที่มีการเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้ถกเถียงประเด็นที่เป็นกระแสสังคม ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจประเด็นต่างๆ ในเชิงลึกได้
เอาประเด็นเร็วๆ นี้ คือความเห็นทางการเมือง เพราะว่าเด็กตื่นตัวมากและกำลังสนใจกัน มีนักเรียนหลายคนแสดงสัญลักษณ์ในโรงเรียน เด็กม.ต้น มายกสามนิ้ว ผูกโบว์ แล้วก็มีกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เราเห็นบรรยากาศของครูในโรงเรียน มีการควบคุมและตั้งคำถาม เราเห็นว่าบรรยากาศแบบนี้ดีเพราะว่าพลังงานมา เราสอนสังคมอยู่แล้ว ดังนั้น ชวนเด็กเรียนรู้เรื่องนี้กัน อยากฟังเขาด้วย คิดยังไง จัดกระบวนการเลย ให้เด็กตั้งคำถามว่าเราคิดหรือเข้าใจยังไงกับการยกสามนิ้ว ก็มีเด็กที่เข้าใจลึก เด็กที่ไม่เข้าใจ เด็กที่ไม่เห็นด้วย เราก็ทำเหมือนชักเย่อความคิด ใครเห็นด้วยมาอยู่ฝั่งนี้ ใครไม่เห็นด้วยมาอยู่ฝั่งนี้ แล้วลองฟังกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยว่าเขาคิดยังไง เขาก็พูดเต็มที่เลย ยกไปทำไม เสร่อ ไม่เข้าใจ ทำทำไม อีกกลุ่มหนึ่งก็บอกว่าเป็นแฟชั่นต้องทำ เป็นความหมายของการต่อสู้ที่เราไม่เห็นด้วยกับระบบ
คราวนี้แล้วจะชวนเขาไปต่อยังไง ก็ชวนให้เขาเข้าใจเรื่องความเชื่อทางการเมืองที่มีหลายเฉดมาก ฝั่งขวามียังไงบ้าง ขวาจัด ซ้ายจัด ตรงกลาง ก็สอนเลย เอาคอนเทนต์มาเลยว่ามีอนุรักษ์นิยม ชาตินิยม เสรีนิยม สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ เด็กก็เริ่มเข้าใจแล้วว่ามีความคิดนี้เกิดขึ้นยังไง ในประวัติศาสตร์การเมืองของเราเป็นยังไงบ้าง แล้วเจเนอเรชั่นนี้ ทำไมถึงมีความเชื่อแบบนี้ เขาโตมากับอะไร เราก็ชวนคุย แล้วคราวนี้ก็กลับมาแลกเปลี่ยนกันต่อว่าแล้วเขาจะยังทำเรื่องนี้ต่อไหม หรือจะเปลี่ยนฝั่ง ก็มีการคุยกัน แล้วเขาก็เริ่มตั้งคำถามมากขึ้นกับสิ่งที่เขาทำ อ๋อ ฉันทำเพราะทำตามเพื่อน ฉันทำเพราะว่าฉันยังยืนยันในสิ่งที่ฉันเชื่ออยู่ คนที่ไม่เข้าใจก็เริ่มฟังมากขึ้น ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อครูหลายๆ คนเริ่มตั้งคำถาม แล้วเขามาคุยหลังไมค์ว่าครูหนูไม่ขอทำต่อแล้วนะ เพราะหนูรู้สึกว่าสัญลักษณ์นี้มันไปกระทบความรู้สึกของเพื่อน หรือความรู้สึกของหนู เพราะหนูเอง พอถูกครูบางคนทำ แล้วเขาให้เหตุผลอีกแบบหนึ่ง หนูขอสื่อสารแบบอื่นดีกว่า เขาก็เปลี่ยน เพราะเขาก็รู้สึกว่าเขาถูกเพ่งเล็ง แต่เขาก็เปลี่ยนวิธีการเป็นงานเขียน เป็นการทำอย่างอื่น ซึ่งเรารู้สึกว่าอิมแพค แล้วก็เป็นพื้นที่ที่เราได้เรียนรู้จากมุมเขาด้วย รู้ว่าเขาอินขนาดไหน เชื่อแบบไหน
รู้สึกอย่างไรบ้าง ที่ได้เห็นว่าเด็กมีวิธีการที่เปลี่ยนไป หรือมีความเข้าใจในมุมมองที่หลากหลายขึ้น
รู้สึกว่าเขามีวุฒิภาวะ แล้วเด็กคนนั้นคือเด็กม.1 ด้วย ปกติเราเห็นเขายกมือ แต่วันต่อมาจากเขายกสูงมาก แล้วลดมายกเหลือแค่นี้ วันต่อมาไม่ยกแต่ผูกโบว์ เวลาอยู่ในห้องเรียนเขาเป็นเด็กเรียบร้อย แต่รู้สึกว่าเขาก็ยังเชื่อในสิ่งที่เขาทำ แต่อาจจะเปลี่ยนวิธีการแสดงออก คือเขาก็น่ารักที่แคร์ครูเหล่านั้น ไม่ได้หมายถึงความกลัว แต่เขาใส่ใจครูที่เป็นห่วงว่าเขาจะถูกเพ่งเล็ง หรือมองว่าหัวรุนแรง
แต่แบบนี้ไม่ใช่การทำให้เด็กรอมชอมหรือยอมจำนนใช่ไหม?
หมิ่นเหม่เหมือนกันนะว่ายังไง คือส่วนหนึ่งเวลาทำต้องอาศัยเพื่อนเหมือนกัน พอสิ่งที่เขาทำไม่มีเพื่อน เราก็รู้สึกว่าเขาก็ขอทำในส่วนที่พอทำได้ดีกว่า มีการคุยกันอยู่นะ แม้กระทั่งเรื่องทรงผม เรื่องการแต่งกาย ก็ฟังว่าเขาคิดยังไง ถ้าอยากสู้เรื่องนี้ต่อ มีวิธีการต่อสู้หรือสื่อสารแบบไหน เราก็เอาเรื่องการสื่อสารแบบสันติไปช่วยเขา ถามว่าจะสื่อสารยังไงกับเรื่องนี้ ผมแคปหน้าจอพรบ.การศึกษาเอาไว้ติดตัว ถ้าคุณครูถาม ผมจะตอบด้วยความสุภาพว่าผมยืนยันไว้ทรงนี้ครับ ปรากฎว่าเขาจะใช้มุกนี้ครับ อธิบายให้คุณครู ซึ่งก็ไม่ตัดนะ จนวันนี้ก็ไม่ยอมตัดผม แต่คุณครูเหล่านั้นก็เข้าใจ เราก็พยายามพูดในวงประชุมว่าต้องยืดหยุ่น ต้องให้พื้นที่เขา เพราะว่ากฎหมายและพรบ. หลายเรื่องเปิดทางแล้วก็ผ่อนคลายเยอะแล้ว ครูเองก็ต้องเท่าทัน เข้าใจธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป เราไปใส่ใจและโฟกัสเรื่องที่น่าจะถูกดึงขึ้นมากกว่าไหม
ทำไมคุณครูถึงเลือกที่จะเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนร่วมกันแบบนี้
เรามองว่าเขาคือผู้ใหญ่ในอนาคต คนเหล่านี้แหละที่เราจะพึ่งได้ เราอยากพึ่งคนที่มีความคิดความอ่าน หรืออยากเห็นคนเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้และสร้างสรรค์ ซึ่งถ้าอย่างนั้นเราก็ต้องสร้างบรรยากาศเหล่านี้เลย ตอนที่เราเชื่อ มีกำลัง ทำห้องเรียนผู้ใหญ่ในห้องเรียนเด็ก ให้เขาเรียนรู้ความเป็นผู้ใหญ่ คือเห็นต่างได้ ถกเถียงกันได้ อดทนอดกลั้นกันได้ แต่พอพูดแบบนี้เหมือนยาก เราก็เริ่มต้นจากการทำให้พื้นที่ห้องเรียนของเราปลอดภัยพอที่จะเป็นตัวตนของเขา ต้องถูกกระทำอยู่ซ้ำๆ เรามาพูดกัน ฟังกัน
มากกว่านั้นคือเมื่อพื้นที่ถูกเปิดให้ปลอดภัย ก็จะถูกพูดคุยเรื่อยๆ เขาก็เป็นเขามากขึ้น คราวนี้เราก็เริ่มเปลือยตัวตนของเรา ครูเป็นคนขี้ง่วง วันนี้ครูง่วง นอนกันเถอะ เด็กก็อาจจะครู วันนี้ผมเหนื่อย ของีบห้านาทีได้ไหม โอเคได้ งั้นงีบด้วยกัน ก็คือแบ่งกัน เด็กรับความเป็นครูให้ได้ แล้วครูก็จะรับความเป็นเด็กเหมือนกัน
แล้วพอมีความเป็นกันเอง คราวนี้หลายๆ เรื่องก็ถูกพูด ทำความเข้าใจ แต่ครูก็ยังต้องทำหน้าที่มอนิเตอร์ ถ้าพื้นที่ตรงไหนเริ่มจะเอียงไปฝั่งหนึ่ง หรือถูกกินพื้นที่ฝั่งหนึ่ง ครูก็จะใช้อำนาจความเป็นครูในการตบโต๊ะแบบประธาน อ้าวฟังครับ ให้สิทธิคนที่ถูกพาดพิง ให้ฟังกันก่อน แล้วก็ค่อยๆ ไป
พอพื้นที่ปลอดภัย ทุกคนมีเสียง ความมั่นใจของทุกคนจะมา เราเชื่อว่ามันคือจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่เรื่องอื่นๆ ที่จะถกเถียงกันได้ อาจจะไม่เห็นด้วยกับครู หรือเห็นต่างกับครู หรือไม่เอาวิธีคิดของครูก็ได้
ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงโควิด เห็นคุณครูกลับบ้านและเริ่มสนใจถ่ายรูปท่องเที่ยว วิ่ง หรือพาเด็กๆ ลงพื้นที่ มีแนวคิดจะผันตัวเป็นยูทูบเบอร์หรือเปล่า
ยังครับ ยังเป็นครูอยู่ คือช่วงโควิด โดยส่วนตัวเราอยู่อำเภอสีชมพู เป็นอำเภอที่ไกลปืนเที่ยงมาก ความที่เห็นว่าบ้านตัวเองน่าสนใจ คือพอพูดถึงขอนแก่นมักจะนึกถึงความเป็นเมือง หรือสถานที่ท่องเที่ยว เราก็จะแอบน้อยใจว่าทำไมแผนที่ท่องเที่ยวไม่เคยแนะนำบ้านเราเลย ทั้งที่บ้านเรามีอะไรเจ๋งๆ เยอะ ฉะนั้นเราจะเป็นคนที่ทำให้โลกนี้รู้ว่าบ้านเรามีดี ก็เลยตระเวนเก็บภาพ ไปเดิน ปั่นจักรยาน วิ่ง นึกถึงตอนเราไปวังเวียง ก็รู้สึกว่าบ้านเรามีความวังเวียงเหมือนกัน มีธรรมชาติ ลำธาร มีความบ้านๆ ซึ่งจากการโพสต์เฟซบุ๊กเรื่อยๆ ก็ชวนเพื่อนมา แล้วก็เริ่มมีน้องๆ ในชุมชนที่เขาอยากทำ เขาเป็นคนในพื้นที่ แต่ว่าเราเกิดและโตมาที่จังหวัดขอนแก่น 20 กว่าปี เรารู้สึกว่าน้องๆ เขาเป็นจิ๊กซอว์ที่มาทำงานด้วยกันได้ ซึ่งน้องๆ มีพรรคพวกเยอะ แก๊งค์เตะฟุตบอล แก๊งค์ผู้บ่าวไทบ้าน ก็เลยลองมาเริ่มต้นทำเรื่องท่องเที่ยวด้วยกัน
จริงๆ เรื่องท่องเที่ยวเหมือนกับเป็นประตูแรกที่จะนำไปสู่มิติอื่นๆ เพราะเรามองว่าบ้านเราเองตอนนี้ก็มีปัญหาเยอะมาก มันมีความงามแหละ แต่ว่าทรัพยากรก็ค่อยๆ หายไปพอสมควร จากการทำไร่อ้อยที่ใช้เคมีเยอะ หรือมีโรงโม่ที่เอาภูเขา ลำน้ำ หรือว่าพื้นที่ทำกินไปหลายจุดเหมือนกัน ก็เลยรู้สึกอยากชวนให้คนมาเห็นคุณค่าผ่านทรัพยากร แล้วหลังจากนั้นก็ค่อยๆ ดึงศักยภาพของคน คิดว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทำงานที่เรายังพอมีกำลัง แล้วยังพอมีพรรคพวก เพื่อนพ้อง ที่น่าจะมาหนุนเสริม แล้วก็นำพาตัวเราและชุมชนไปด้วยกันได้ ก็เลยตัดสินใจทำเรื่องย้ายไปเป็นครูแถวบ้านเลย เพราะรู้สึกว่าครูยังมีอำนาจ แล้วก็ยังมีพลังงานบางอย่างที่จะสามารถนำเรื่องการศึกษาไปชวนให้คนได้กลับมาเห็นตัวเอง เห็นสิ่งรอบตัว แล้วก็เห็นทรัพยากรในชุมชนของเรา ก็น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง แล้วเราก็เชื่อว่าถ้าเกิดเขารัก เขาหวงแหนพื้นที่เขา เขาจะกลับมา แล้วก็ทำบางอย่างเพื่อชุมชนให้ดีกว่าเดิม
จากการท่องเที่ยวที่เหมือนเป็นเรื่องบังเอิญแต่ก็สามารถเชื่อมไปสู่การเรียนรู้ ซึ่งตอนนี้ไม่ได้จำกัดวงแค่นักเรียนของตัวเองแล้ว
เรามองว่าทุกที่คือห้องเรียน และที่สำคัญโอกาสนี้คือเรื่องใหม่มาก เราเองก็จะได้เรียนรู้ เพราะเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเวลาทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชนต้องเริ่มยังไง เป็นโอกาสดีที่เราจะเริ่มต้นไปด้วยกัน แต่ตั้งค่าว่าเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ ซึ่งอาจจะไปได้ ผิดบ้าง ถูกบ้าง มันจะสนุก สาเหตุที่เรารู้สึกว่าทำไมต้องไปทำงานกับชุมชน ทำงานกับวัยรุ่น เพราะเราคือส่วนหนึ่งของชุมชน เรามองว่าครูไม่ใช่ทำงานแค่ในห้องเรียน แต่ครูคือผู้นำ เราเคยเห็นภาพครูที่ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงเยอะแยะมากมายเลยในอดีต ครูอย่างพวกเราก็ไม่น้อยนะ ถ้าเช่นนั้นฉันขออหังการ์ ขอไปเป็นครูเหล่านั้นบ้าง
คือรู้สึกว่าการเป็นครูน่าจะเป็นนัก educate ได้ทุกที่ มองทุกที่คือพื้นที่การเรียนรู้ แล้วก็ชวนคนอื่นมาเรียนรู้ด้วยกัน เราคิดว่าอันนี้อาจจะเป็นทักษะหนึ่งที่ครูควรต้องฝึก แล้วก็ต้องนำพาตัวเองไปถึงมิตินั้น ถึงจะดึงจิตวิญญาณ แล้วก็ความศรัทธาของครูในอดีตกลับคืนมา
เพราะว่าครูของเราถูกทำร้าย ถูกมายาคติทั้งบวกทั้งลบ แต่ฝั่งลบนี่หนักแน่นเหลือเกิน แล้วโดยเฉพาะสื่อที่ขายข่าว ก็มุ่งไปแต่เรื่องของครูด้านลบ ก็ดึงศรัทธา หรือว่าดึงครูดีๆ ที่ตั้งใจดีให้ถูกเหมารวมว่าครูทุกวันนี้ไม่ได้เรื่องไปเยอะเหมือนกัน เราก็เลยจะขอเป็นแสงสว่างน้อยๆ ที่จะทำอะไรได้บ้างในพื้นที่ของเรา แล้วก็ตามกำลังเรี่ยวแรงของเราที่จะดึงความเป็นครูธรรมดาที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
เราพบครูจำนวนไม่น้อยที่ซัฟเฟอร์ (suffer) จากระบบ ครูเองก็ถูกกดดันจากอำนาจของโครงสร้างบางอย่าง เอาเรี่ยวแรงจากที่ไหนในการพาตัวเองออกไปเรียนรู้ สร้างสร้างแรงบันดาลใจกับคนอื่นๆ ทั้งในและนอกโรงเรียน?
คำถามนี้ถูกถามบ่อยมากเลย ซึ่งเป็นคำถามที่ดีมาก เพราะว่าก็มีช่วงที่ซัฟเฟอร์แล้วอยากลาออก เพราะทุกข์ แต่หลายครั้งอาจเพราะทักษะที่ฝึกมาด้วย คือจะกลับมานิ่งกับตัวเองแล้วตั้งคำถามว่า จุดเริ่มต้นของการอยากเป็นครูคืออะไร แล้วคุณค่าที่เราให้คืออะไร มีหลายครั้งที่ทำแล้วเหนื่อย เราต่อสู้ พอกลับมา เราไม่ได้รับคำชม เราไม่ได้มีเพื่อนมาช่วย นักเรียนไม่สนุกกับเรา สิ่งนี้คือคุณค่าแท้หรือคุณค่าเทียม คุณค่าแท้ที่เราตั้งใจอยากจะมาเป็นครูเพราะอยากจะสร้างการเรียนรู้ให้ตัวเอง อยากจะขัดเกลาตัวเอง ดังนั้นพอกลับมาคุณค่าแท้ที่เราตั้งไว้ ก็จะรู้สึกว่าเราก็ทำไป แต่อย่าลืมเป้าหมายหลักที่ตั้ง ขัดเกลาตัวเอง แล้วก็ทำให้ตัวเองกลับมาทำงานได้
อีกอันหนึ่งคือ เครื่องมือของการใคร่ครวญตัวเอง เราเรียกว่า วิชาภาวนา คือวิชาที่กลับมาเห็นอำนาจภายในตัวเอง ก็คือ ‘สติ’ นั่นเอง สิ่งหนึ่งที่เราไม่หลงลืม แล้วยังต้องฝึกอยู่เรื่อยๆ คือการเจริญสติ เพราะถ้าเกิดเราเจริญสติ เห็นและเข้าใจความรู้สึก ความสุข ความทุกข์ หรือธรรมชาติที่เกิดข้างใน นามธรรมในร่างกายของเรา เราจะรู้ว่าช่วงนี้เราจะฟื้นฟูอย่างไร ช่วงนี้จะพักยังไง ช่วงนี้เราจะให้เขาเติบโต แล้วไปให้แรงบันดาลใจเพื่อนยังไง เราก็เลยรู้สึกว่า ต้องกลับมาเห็นพลังข้างในตัวเองให้เป็น แล้วจะรู้เลยว่า ช่วงนี้เราจะเติมให้ตัวเองหรือพักยังไง
ประเด็นเรื่องการคืนอำนาจของครูในห้องเรียน มีอะไรที่อยากสื่อสารบ้าง?
คำถามนี้น่าสนใจมาก อำนาจ ถ้าเราเรียนมา อำนาจมีสามก้อน คือ อำนาจเหนือ เป็นอำนาจจากข้างบน จากผู้ใหญ่ รุ่นพี่ แล้วก็มีคนที่อยู่อำนาจข้างล่าง กับอำนาจที่สองเขาเรียกว่า อำนาจร่วม ก็คือเรามองคนเท่ากัน เรารู้สึกว่าแชร์กันได้ สร้างการมีส่วนร่วมด้วยกันได้ แล้วก็อีกอำนาจหนึ่งก็คือ อำนาจภายใน คือ การกลับมาเห็นคุณค่าของตัวเอง มาเห็นศรัทธา ไว้ใจ หรือสิ่งที่เป็นพลังงานข้างใจ เรียกว่าเป็นจิตวิญญาณ
ถ้าจะคืนอำนาจ เราเองก็ต้องตระหนักรู้อยู่เสมอว่าตอนนี้เราใช้อำนาจอะไรอยู่ ตอนนี้เรากำลังบริหารอำนาจแบบไหนอยู่ สิ่งที่เราทำอยู่เรื่อยๆ ในห้องเรียนคือ เราพยายามทำอำนาจร่วม ให้เด็กตัดสินใจ นี่คือการคืนอำนาจ สร้างพื้นที่ปลอดภัย สร้างให้เขามั่นใจ ก็คือการคืนอำนาจภายในให้เขา ให้เขากล้าตัดสินใจ ให้เขากล้าวิจารณ์ครูได้ กล้าประเมินครูได้ แล้วเราก็ทำเรื่องการเจริญสติในห้องเรียนด้วย คือให้เขาเท่าทันอารมณ์ตัวเอง มีความสงบนิ่งกับตัวเอง อดทนกับความอึดอัดที่ควบคุมไม่ได้ข้างในตัวเองควบคู่ไปด้วยกัน ถูกทำซ้ำๆ ให้เป็นทักษะ แล้วเป็นวิถี คราวนี้พอเขามั่นใจ กล้าตัดสินใจ เขาเห็นว่าเขารู้สึกอึดอัด รู้สึกยังไง ก็คือซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง นั่นก็คือจริงใจกับตัวเอง เราก็เลยมองว่าอำนาจภายในก็คือการเท่าทันตัวเอง พอเขาเท่าทันตัวเอง เขาก็จะเคารพคนอื่นไปด้วย ก็เลยถูกทำไปด้วยกัน
คราวนี้รูปธรรมการคืนอำนาจ นอกจากจะมีวงถกเถียงในพื้นที่ห้องเรียน ก็ไปไกลกว่านั้นคือ เหมือนกับเราเอากุญแจให้เขาขี่มอเตอร์ไซค์ ต้องมั่นใจว่าเขาสตาร์ทรถเป็น ประคับประคองตัวเองได้ เมื่อเขาล้ม เขาจะลุกขึ้นมาขี่ต่อไปได้
นั่นแสดงว่าครูเองก็ต้องประเมินพอสมควร ว่าฉันพร้อมจะให้กุญแจคุณขี่มอเตอร์ไซค์ได้แล้ว ก็เลยต้องฝึก ทำไปเรื่อยๆ ตั้งแต่การขี่รถ การสตาร์ท ถ้าเขาเจ็บ เราก็พร้อมที่จะช่วยเขา จริงๆ ก็ทำมาเรื่อยๆ แต่ตรงนี้มันพีคที่ผมคืนหลักสูตรให้คุณเลย มาออกแบบหลักสูตรด้วยกันเถอะ คุณอยากเรียนอะไร มาออกแบบวิชาด้วยกัน แต่การออกแบบวิชานี้ รับผิดชอบร่วมกันด้วยนะ ว่าคุณจะต้องเจอความเสี่ยง ปัญหา ความยากอะไรบ้าง
แน่นอนว่าพอปล่อยไป ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พอได้ทำไปแล้วมันพาวเวอร์ฟูลมาก เพราะว่าเขาได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน ได้หาครูที่อยากเรียน แล้วเขามีวิธีการประเมิน ได้ลุกขึ้นมาเป็นครูให้กับเพื่อนด้วยกัน มันคือหลักสูตรค้นพบตัวเอง ค้นพบอาชีพ แล้วเขาบอกครู ทำไมพวกผมไม่ได้เรียนแบบนี้ตั้งแต่ตอน ม.1 ก็บอกใจเย็นๆ ครูยังไม่มั่นใจว่าเราจะขับกระบะได้ ก็ขี่จักรยานไปก่อน พอ ม.2 ก็ขี่มอเตอร์ไซค์ พอ ม.3 ครูเอากุญแจให้ขี่กระบะได้เลย เพราะครูมั่นใจว่าเราจะนำพาตัวเองและเพื่อนได้ ก็รู้สึกว่าครั้งนั้นเป็นการคืนอำนาจที่เป็นรูปธรรม แล้วก็เป็นบทเรียนที่ยังประทับใจ เป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนว่าทำได้นะ ซึ่งบทบาทของเราเอง ยิ่งคืนอำนาจก็ยิ่งได้กำลังใจ แล้วก็ได้อำนาจกลับคืนมา คือเราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำ เติมเต็มจิตวิญญาณความเป็นครูเรามากเลย
เราเป็นคนถือกุญแจ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ถึงเวลาที่จะมอบกุญแจให้เด็กแล้ว ?
เพราะลึกๆ แล้วเวลาจัดการศึกษา บทบาทของครูมีอำนาจบางอย่าง คือต้องนำพา คือเราถือธง และถือกุญแจว่าจะพาเขาไปมิติไหน เขาอาจจะไม่ต้องการกุญแจที่เราถืออยู่ และกุญแจไม่ได้มีแค่ดอกเดียว เพราะความสนใจของเด็กมีหลายอย่าง แต่เราจะมั่นใจได้หรือยัง ก็ต้องใช้เวลานานเหมือนกัน เพราะเราเห็นว่าเขาขี่มอเตอร์ไซค์ได้ แล้วเขาซ้อนเพื่อนได้ แล้วเขานำพาตัวเองได้ ก็ถึงเป้าอยู่นะ บรรลุอยู่นะ นั่นหมายความว่าเวลาเราจะคืนอำนาจ ควงกุญแจไปแจกจ่าย เราก็ประเมินแล้วว่าเขาน่าจะนำพาได้ มันคือการไว้ใจที่เราค่อยๆ ให้กุญแจหลายๆ ดอกให้เขา หรือค่อยๆ ให้ทักษะ ให้ภูมิคุ้มกันอะไรบางอย่างเขาพอสมควร แต่แน่นอนว่าก็ต้องยอมรับความเสี่ยงบางอย่าง เพราะไม่เคยมีการทำมาก่อน เราก็มีเพื่อนที่เชื่อด้วยกัน พร้อมที่จะล้มเหลวด้วยกัน เพราะมองว่านี่คือพื้นที่ที่เราก็ต้องเรียนรู้กับเขาเหมือนกัน แต่ถ้าเริ่มทำแล้วสำเร็จ ก็มั่นใจได้ว่า วิธีการของเราเป็นไปได้กับที่อื่น กับนักเรียนคนอื่นด้วย
ถามแบบตรงไปตรงมาเลย ทำยังไงให้ครูไม่บ้าอำนาจ?
อันที่หนึ่งคือครูได้ตรวจสอบตัวเองอยู่เรื่อยๆ ว่าทุกข์หรือเปล่า กำลังแบกอำนาจ ได้ดูปฏิกิริยานักเรียนไหมว่านักเรียนเข้าหาเราหรือผลักออกจากเรา ความเบากาย เบาใจ ความเป็นมิตร รอยยิ้ม สายตาเด็กเป็นยังไง เพราะแน่นอนว่าเราก็เคยบ้าอำนาจ เราเคยรู้สึกว่า powerful กับอำนาจที่เรามี แล้วเราก็เห็นว่า suffer ทั้งเราและเด็ก เพราะการใช้ชีวิตร่วมกับเขา ไม่มีใครอยากถูกใครบงการหรือถูกใครควบคุมตลอดเวลา ง่ายๆ เลยคือถามนักเรียน มีพื้นที่ให้นักเรียนได้สะท้อนครูเรื่อยๆ เป็นยังไงบ้างเรียนวันนี้ น่าเบื่อไหม น่าเบื่อมากครู ผิดหวัง เราก็อืม จริงใจมากเลย พอเขาพูดแบบนี้แสดงว่า ช่องว่างน้อยลงแล้ว ที่เขากล้าพูดแบบเพื่อน วันนี้ครูทำงานกับคนนี้ไม่ได้เลย ครูควรทำงานยังไง ครูก็ไม่ต้องทำงานแบบความเป็นครูสิ ทำแบบเพื่อนสิ ฉันไม่เคยคิดแบบนี้มาก่อน ฟัง feedback ของเด็กแล้วรู้สึกว่า เราได้อำนาจ วิธีการคิด เครื่องไม้เครื่องมือจากเขาเลย เมื่อเราลดอำนาจ ก็ยิ่งได้ทักษะอะไรจากเขา
**Democracy or Democrazy เป็นนวนิยายเสียดสีการเมืองเขียน โดย Seyyed Mahdi Shojaee เป็นภาษาเปอร์เซีย และแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Caroline Croskery |