- ด้วยภูมิหลังที่เติบโตในเมืองและเป็นเด็กเรียนทำให้ ผอ.นันทิยา เชื่อว่าการพัฒนานักเรียนคือการส่งเสริมด้านวิชาการ แต่หลังจากได้เข้ามาเป็นผู้อำนวยการที่โรงเรียนวัดสลักเพชร เธอพบว่าวิธีนี้ใช้ไม่ผล
- หัวใจสำคัญในการแก้โจทย์ยากของโรงเรียนที่ติดลบเกือบทุกด้านคือ ผอ.และครูต้องปรับมายเซ็ต สร้างพื้นที่ปลอดภัย แล้วจึงนำนวัตกรรมจิตศึกษาและ PBL มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น
- การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ นักเรียนกลายเป็น ‘นักเรียนรู้’ เห็นคุณค่าในตัวเองและเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ครูเป็นกัลยาณมิตรกัน ชุมชนกลับมาสนับสนุนโรงเรียน
– เด็กไม่ตั้งใจเรียน ลักขโมย ติดยาเสพติด ท้องในวัยเรียน
– ครูไม่มีขวัญกำลังใจ สอนไปวันๆ รอการโยกย้าย
– ชุมชนขาดศรัทธาต่อโรงเรียน
– โรงเรียนมีปัญหางบประมาณ อาคารทรุดโทรม อาหารกลางวันไม่มีให้เด็ก ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง โรงกรองน้ำพัง-น้ำเปล่าไม่มีบริการ
ทั้งหมดนี้คือโจทย์สุดหินที่ผู้อำนวยการสาวร่างเล็ก นันทิยา บัวตรี ดีกรีปริญญา 4 ใบ ต้องแบกรับนับตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสลักเพชร จังหวัดตราด
“ต้องบอกก่อนว่าตัวเราเองเป็นเด็กเรียน เรียนปริญญามาถึง 4 ใบ แล้วก็ไม่ได้จบครูมาตั้งแต่แรก ปริญญาใบแรกเรียนจบ วทบ. เคมี ใบที่สองเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์พลังงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ปริญญาใบที่ 3-4 เรียนด้านบริหารการศึกษา เรารู้สึกว่าเราเรียนมาอย่างหนักหน่วงมาก ตอนที่มาถึงที่นี่คิดเลยว่าต้องแก้ที่การศึกษา มุ่งเน้นเรื่องการเรียนเด็กไปเลย”
แต่หลังจากทำงานไปได้สักพัก แนวทางที่ตั้งไว้แต่แรกแทบไม่ได้ผล แก้ปมนึงก็ไปเจออีกปมนึง ถามครูที่อยู่มาก่อน ครูก็ว่า “ผอ.อยู่ในเมืองมา ไม่รู้หรอกว่าเด็กที่นี่กร้านมาก”
“แต่เราไม่คิดแบบนั้นนะ เด็กไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เชื้อชาติใด เขาต้องมีหัวใจที่เท่ากัน แต่ว่าการหล่อหลอมเขาทำยังไงไม่รู้ พฤติกรรมเขาถึงออกมาเป็นแบบนี้ และเขามองว่าพฤติกรรมเขาไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น หรือไม่ดี เพราะวิถีโดยรวมก็เป็นแบบนั้น
แล้วพอถามเด็กว่าเรียนจบออกไปจะทำอะไร เด็กบอกว่าไม่ทำอะไร เพราะพ่อแม่ทุกวันนี้ก็ไม่ได้ทำอะไร เดี๋ยวก็มีคนมาตามไปเป็นลูกจ้าง ฟังแล้วรู้สึกว่ามันขาดแม้กระทั่งความหวัง ความฝันก็ไม่มี”
แล้วตอนนั้นเริ่มต้นแก้ปัญหาต่างๆ อย่างไร
เราก็มานั่งแก้ปัญหาทีละอันร่วมกับชุมชน ร่วมกับผู้นำ ไปคุยกับนายอำเภอบ้าง ขอการสนับสนุน แต่ไม่เป็นผลเลย เราไปแก้ข้อที่หนึ่ง ข้อที่สองหนัก พอไปข้อที่สอง ข้อที่หนึ่งก็กลับมา ในขณะที่เราคุยกับตำรวจ เรื่องปรับพฤติกรรมเรื่องเด็กขโมยของ ปัญหายาเสพติดก็กลับมา พอไปดูยาเสพติด ตัดต้นไม้กำจัดพื้นที่ป่ารอบโรงเรียน ลดพื้นที่ซ่องสุมเด็ก ปรากฏตัดตรงนี้ เขาก็ย้ายไปที่อื่น เขาก็รู้การหาพื้นที่ปลอดภัยเขา
ขณะเดียวกันเราก็พยายามแก้ปัญหาคือเรื่องไฟฟ้า เพราะคุณภาพชีวิตเด็กขึ้นอยู่กับสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ด้วย ไปขอขยายเขตไฟฟ้ากับถนนในโรงเรียน ไปแบบกัดไม่ปล่อย ปรากฏว่าในที่สุดเราก็ได้ขยายเขตไฟฟ้าและถนนเข้ามาโรงเรียน
ในขณะที่เรากำลังหมกมุ่นอยู่กับการแก้ปัญหา หลายคนก็จะบอกว่าเดี๋ยวครบปีก็ย้าย พยายามหาทางออกให้กับเรา แต่เรามองว่าเราย้ายไปแล้วที่นี่จะทำยังไง มีคุณครูบอกว่าให้เราทำใจ เราบอกไม่ เราเรียนมาอย่างหนักเพื่อให้เรามาทำงาน เราต้องได้งาน และมันต้องสำเร็จเราถึงจะไป คือเราไม่ได้บอกว่าเราจะแก้ปัญหาได้ แต่เราอยู่ตรงนี้ เราก็ต้องทำงาน
อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้มองเห็นทางออก
การจะไปปรับคนอื่นได้ ต้องปรับตัวเองก่อน การให้การศึกษาแบบนั้นมันไม่ได้ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตของเด็กๆ หรือว่าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กได้ เรายืนมองเด็กหน้าเสาธงทุกเช้า อบรมแล้วก็ยังแยกกลุ่มอีก ซึ่งร้อนและเหนื่อยมาก คุณครูประกาศอบรมเด็กหน้าเสาธงซึ่งดังมาก พอตกเย็น ผู้ปกครองจะมาถามว่า เมื่อเช้าที่ครูว่า…ใช่ลูกบ้านนั้น บ้านนี้มั้ย เราก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องภายใน กลายเป็นประจานเด็ก
เวลาถามเด็กว่า ถ้าเป็นไปได้อยากได้ครูแบบไหน เด็กก็บอกอยากได้ครูใจดี ไม่ได้อยากถูกตี ซึ่งเราก็อยากเปลี่ยน แต่เราไม่วิธีการหรือนวัตกรรมอะไร
กระทั่งมีผอ.ท่านหนึ่งมาถามว่ารู้จักโรงเรียนนอกกะลามั้ย ให้ลองไปอบรม ครั้งแรกเราก็บอกว่าไม่รู้จักหรอก แล้วก็คงไปไม่ได้ เพราะติดอยู่แต่กับปัญหาของโรงเรียน ต่อมาท่านรองฯ ก็มาบอกอีกว่า ลองดูนะ โรงเรียนนอกกะลาอาจจะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้ ตอนนั้นมีมีโควต้าของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มาสนับสนุนโรงเรียน เราก็เชื่อว่าท่านต้องแนะนำสิ่งที่ดี ก็ตอบว่าสนใจ
ครั้งแรกไปอบรมที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา แต่ด้วยใจที่คิดวนแต่ปัญหา เราก็หอบความรู้สึกนั้นไป เราก็มองว่า สิ่งที่ครูใหญ่วิเชียรพูดมันแก้ปัญหาโรงเรียนเราไม่ได้หรอก เราก็คิดว่าโรงเรียนของคุณทำได้สิ ก็คุณเป็นเอกชน คุณเลือกครูได้ ผู้ปกครองก็ง้อคุณ แต่ที่นี่ผู้ปกครองไม่ง้อเรา แล้วครูเราก็เลือกไม่ได้ คือเราแทบไม่ได้ฟังอะไรเลย ได้มาแค่คำเดียววันนั้น คือ ‘ฉันคือใคร’ ตอนนั้นเราก็ยังคิดไม่ได้หรอก พอกลับครูก็ถามว่าได้อะไรมาบ้าง เราก็บอกว่าไม่ได้อะไรเลย
หลังจากนั้นคำว่า ‘ฉันคือใคร’ ยังผุดวนในหัวตลอดเวลา สุดท้ายเราคิดได้ว่า ต้องเริ่มที่ตัวฉันจริงๆ ทุกเรื่อง คุณจะไปปรับเปลี่ยนคนนั้นคนนี้ แต่คุณยังไม่เปลี่ยนเลย คุณยังรู้สึกว่าอันนั้นไม่ดี อันนี้ไม่ใช่ คนนี้ไม่ถูก ตลอดเวลา มายด์เซ็ตเราไม่ได้สนใจเลยว่าเขาต้องการอะไร เราสนใจแต่ว่าสิ่งที่เราเห็นวันนี้ ไม่เหมือนกับที่เห็นในเมือง สิ่งที่เห็นนี้คือไม่ใช่ สิ่งที่เห็นในเมืองคือใช่ มุมมองเราเป็นแบบนั้น
และด้วยตัวเราเป็นเด็กเรียน ลูกเราเป็นนักเรียนทุน เราก็จะรู้สึกว่าการกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ต้องเอาเป้าหมายมา เป้าหมายคือต้องจบมหาวิทยาลัย ต้องมีอาชีพ เราบอกกับตัวเองแบบนั้นตลอด
เราลืมไปว่าจริงๆ แต่ละคนเขามีเป้าหมายเล็กๆ ในชีวิตเขา เด็กต้องการแค่มีข้าวกิน มีที่นอน มีงานทำ เขาต้องการแค่นี้ เขาไม่ได้ต้องการเป็นหมอ เป็นวิศวกร ที่นี่เขาไม่ได้ต้องการแบบนั้น เขาต้องการแค่คุณภาพชีวิตเล็กๆ ของเขา แต่พอเราไปดูอาชีพเขาคืออาชีพที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ ออกเรือ กับตัดยาง ถ้ามีภัยธรรมชาติ ออกเรือไม่ได้ ไม่มีรายได้ ถ้าฝนตก ตัดยางไม่ได้ หมด ไม่มีรายได้ นี่คือสภาพครอบครัวของเขา ซึ่งมันส่งผลต่อเด็ก เวลามีปัญหาเขาจะไปหากลุ่มเพื่อน ไปในที่ที่เขาสามารถพูดได้ ซึ่งไม่ได้มีใครแนะนำ
พอตัดสินใจแล้วว่าต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตตัวเองก่อน กระบวนการจากนั้นต้องทำอย่างไรบ้าง
เราต้องเริ่มจากเปลี่ยนความคิดเราก่อน แล้วก็เปลี่ยนความคิดครู เพราะเราไม่สามารถลงไปคุยกับเด็ก 200 กว่าคนได้ทุกคนทุกวัน ฉะนั้นเรามีหน้าที่สร้างครู ครูมีคุณภาพเมื่อไหร่ ครูจะไปสร้างเด็กที่มีคุณภาพ เราก็เลยโยนโจทย์ไปเลยว่า อยากพัฒนาครู ครูใหญ่วิเชียรก็บอกว่าให้ส่งครูไปอบรม
แต่ก่อนบรรยากาศระหว่างเรากับครูก็แย่มาก เพราะครูเขาเคยทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม พอเรามาแก้ บรรยากาศก็ตึงมาก เวลาประชุมมีแต่ความโมโห นั่งโต๊ะประชุมก็ตบโต๊ะ ครูคนไหนเถียงก็ชี้เลยว่า เธอมานั่งแทนฉัน 1 เดือน ถ้าเธอแก้ปัญหาได้ เราจะยอม แต่พอกลับบ้านน้ำตาไหลทุกครั้ง บรรยากาศแย่มาก ไม่มีหรอก ความรักความอบอุ่นในโรงเรียน มีอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า ถ้า ผอ.ทำแบบนี้จะไม่มีคนรัก เราพูดเลยว่าเราไม่ได้มาหาความรัก เรามาทำงาน ไม่ได้งาน เราไม่ยอม
พอส่งครูไปอบรมที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา กลับมาเห็นครูคุยกัน เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวครู มายด์เซ็ตครูเริ่มเปลี่ยน เขาไปอบรมไม่กี่ครั้งก็เริ่มเปลี่ยน เราไป 5 วันไม่เปลี่ยนเลย ก็เลยกลับไปใหม่ พอเราเริ่มตั้งใจศึกษา เราก็เข้าใจสิ่งที่ครูใหญ่นำเสนอว่าเป็นเรื่องของสมอง เมื่อสมองเปลี่ยน พฤติกรรมก็เปลี่ยน เราเรียนมาสายวิทย์มา ก็เออใช่ พฤติกรรมมาจากกระบวนการคิด ถ้าเปลี่ยนความคิดได้เมื่อไหร่ พฤติกรรมก็ต้องเปลี่ยน พอตัวเราเปลี่ยน ครูเปลี่ยน บรรยากาศในโรงเรียนก็เปลี่ยน จากนั้นก็ตัดสินใจนำนวัตกรรมจิตศึกษา มาปรับใช้ในโรงเรียน
นำจิตศึกษามาปรับใช้ในกระบวนการเรียนการสอนของโรงเรียนอย่างไรบ้าง
เราประกาศเลยว่าจากวันนี้ไปเราจะทำเรื่องจิตศึกษาแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้เหมือนลำปลายมาศทุกอย่างตั้งแต่เช้ายันเย็น เราจะยกเลิกออด ตอนนั้นครูจะบอกว่ายกเลิกออดได้ยังไง ขนาดมีออดเด็กยังมาไม่ทัน เราก็บอกว่าลำปลายมาศทำได้ เราก็ต้องทำได้ คือเราลองปรับเปลี่ยนสิ่งเป็นกายภาพ สองวันเท่านั้น เด็กพร้อมกันแล้วเงียบกริบเลย แล้วก็นำกระบวนการต่างๆ ของจิตศึกษามาใช้ในสร้างการตระหนักรู้ของเด็ก ทำให้เด็กเห็นคุณค่าของตนเอง ผ่านกิจกรรมสนามพลังบวก จิตวิทยาเชิงบวก และกิจกรรมจิตศึกษา
สิ่งที่พบหลังจากนำนวัตกรรมจิตศึกษามาปรับใช้คือ เราเห็นแววตาเด็กที่มีความสุข เห็นเด็กนักเรียนอยากมาเรียนมากขึ้น
ผู้ปกครองบอกว่า ผอ.ทำยังไงดี เดี๋ยวนี้วุ่นวายมากเลยตอนเช้า ลูกก็เร่งอยากจะมาแต่โรงเรียน เดี๋ยวไปไม่ทันกอดครูก่อนเข้าห้องเรียน ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่ผู้ปกครองเห็นการเปลี่ยนแปลง ส่วนเด็กๆ ก็มีเดินมาบอกเราว่า คุณครูดีจังเลยค่ะ ยิ่งแก่ยิ่งใจดี เพราะว่าเทอมที่แล้วยังดุอยู่เลย (หัวเราะ) มันก็เป็นเสียงสะท้อนที่ชัดเจนว่าตัวเรา หรือบรรยากาศในโรงเรียนเราเปลี่ยนแปลงจริงๆ
นอกจากเรื่องของจิตศึกษาแล้ว ยังมีนวัตกรรมการเรียนรู้อะไรที่นำมาใช้อีกบ้าง
มีเรื่องการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน หรือ PBL (Problem–based Learning) ตอนแรกก็ลอกแผนการสอนของลำปลายมาศมาเลย เสร็จแล้วครูก็มาบอกว่า ผอ. โรงเรียนเราไม่มีที่ทำผ้า เปลี่ยนเป็นงานจักสานได้มั้ย บางคนก็ ผอ. เราไม่มีที่เลี้ยงหนอน เปลี่ยนเป็นหน่วยประมงได้มั้ย ผอ.เราไม่มีนาข้าว เราเปลี่ยนเป็นผักได้มั้ย เห็นเลยว่าครูเขาก็เริ่มปรับ ช่วงแรกๆ ครูบางคนอาจจะไม่อยากทำ แต่ต้องทำเพราะรับนโยบายไปจากเรา แต่พอเขาเริ่มทำแล้วเห็นว่าเด็กเปลี่ยน บรรยากาศห้องเรียนเปลี่ยน ครูก็เริ่มสนุกกับการเรียนรู้ ครูจึงคิดที่จะเปลี่ยนแล้วก็ปรับนำมาใช้ สุดท้ายเราแทบไม่ได้เอาแผนของลำปลายมาศเลย ทุกวันนี้เราทำแผนเอง กระบวนการเอง
หน่วยเรียนรู้ PBL จะบูรณาการกันใน 5 กลุ่มสาระวิชา คือ วิทยาศาสตร์ สังคม การงานศิลปะ พละ และสุขศึกษา สิ่งสำคัญของการออกแบบการเรียนรู้จะเน้นเป้าหมายก่อนว่าอยากให้เด็กเรียนรู้เรื่องอะไร แต่การจะตั้งเป้าหมายได้ต้องรู้ปัญหาก่อน เช่น เด็กเรายังมีปัญหารักถิ่นฐานไม่มากพอ สิ่งสำคัญในการออกแบบแผนการสอนคือ ไม่ใช่แค่ให้เด็กรู้ แต่เด็กต้องตระหนักรู้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วเราจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กไปถึงตรงนั้นได้จริงๆ หรือเปล่า
ดังนั้นเราต้องทำให้เด็กกระหายอยากเรียนรู้ เครื่องมือสำคัญคือการตั้งคำถาม เราต้องถามต้องยั่วยุให้เขาอยากรู้ ถ้าเขาอยากรู้แล้ว และเรารู้ว่าเขาขาดอะไร เราก็เติมให้ได้ทันที
อยากให้ ผอ. ลองยกตัวอย่างหน่วยเรียนรู้ PBL ที่เราพัฒนาขึ้นเอง
ยกตัวอย่าง หน่วยพรานทะเล ครูจะพาเด็กไปเรียนรู้ในสถานที่จริง เช่น สะพานปลา จากนั้นครูจะกระตุ้นความอยากรู้เด็กด้วยคำถาม เช่น รู้มั้ยว่าปลานี้เอาไปทำอาหารได้ หรือปลาเหล่านี้ขายกันราคาเท่าไหร่ พยายามใช้คำถามสร้างแรงบันดาลใจจนกว่าเด็กจะพูดว่า ‘เขาจับปลากันยังไง’ เมื่อเด็กกระหายที่จะเรียนรู้ ครูจะใช้วิธีตั้งคำถามเชื่อมโยงไปที่สาระการเรียนรู้ต่างๆ เช่น ออกไปจับปลาแล้วอาจจะเจอลม พายุ เชื่อมไปที่ความรู้เรื่องลมฟ้าอากาศ แล้วถ้าเราออกไปจับแล้วเกิดพายุล่ะ เด็กก็จะถามว่าแล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเกิดลมพายุ นั่นสิ เราก็ต้องดูท้องฟ้า ดูเมฆเป็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความรู้วิทยาศาสตร์ทั้งนั้น แล้วเราจะจับสัตว์น้ำยังไง เราไม่มีเงินซื้ออวน แต่ชุมชนเรามีไม้ไผ่เยอะมาก ก็ไปเรียนรู้การทำเครื่องมือประมง แล้วรู้มั้ยว่าบางพื้นที่ห้ามจับสัตว์ทะเล ก็เชิญวิทยากรจากรมอุทยานฯ มาสอน ได้ความรู้ด้านกฎหมาย แถมตามมาด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและหน้าที่พลเมือง ยังไม่พอนะ เด็กต้องทำอาหารด้วยและต้องครบ 5 หมู่ วิชาสุขศึกษาและการคำนวณโภชนาการก็เพิ่มเข้ามาอีก
นอกจากนี้ยังเชิญปราชญ์ชาวบ้านมาสอนว่าจับปลาอย่างไร รู้ได้ยังไงว่าจะเกิดพายุ เช่น เมฆแบบนี้ฝนมาแน่ แล้วต้องไปหลบตรงไหนถึงจะปลอดภัย สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้ภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมา ไม่มีในบทเรียน และการที่ปราชญ์ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน ทำให้เขาภูมิใจตัวเอง ได้เห็นเด็ก เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน และเขาก็จะเป็นกระบอกเสียงไปสู่ชุมชนภายนอก ทำให้เกิดแรงสนับสนุนกลับเข้ามาในโรงเรียน ทำให้โรงเรียนพัฒนาไปได้เร็ว เมื่อชุมชนยอมรับ เขาก็จะมาเป็นเจ้าของโรงเรียนร่วมกับเรา มันก็จะเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
หลังจากปรับมายเซ็ตเปลี่ยนการเรียนการสอนแล้ว ผอ.เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรภายในโรงเรียนบ้าง
หลังๆ เด็กไม่ทะเลาะกัน กระบวนการที่เราใส่เข้าไป ทำให้เขาเห็นคุณค่าและเคารพตัวเอง มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น เกิดการเคารพซึ่งกันและกัน เข้าใจกันมากขึ้น และเด็กเขามีอะไรทำ พอมีอะไรที่น่าสนใจที่โรงเรียน เขาก็ไม่ไปซ่องสุมกัน
กระทั่งวันหนึ่งตำรวจมาหาเรา จากที่เขาเคยมาขอพบ มาจับเด็ก ครั้งนี้เขาบอกว่า อยากเข้ามาขอถอดบทเรียนว่าทำไมเด็กจึงเลิกบุหรี่ได้ ทำไมที่นี่จึงไม่มียาเสพติดอีกเลย
ตอนโรงเรียนมีการประเมินโรงเรียนพระราชทาน ระดับประถมศึกษา เราเชิญผู้ปกครองเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย ผู้ปกครองได้เห็นเด็กๆ นำเสนอผลงานในห้องเรียนตนเอง กรรมการก็ถามผู้ปกครองถึงการเปลี่ยนแปลงของเด็ก เขาก็บอกว่า ช่วงแรกรู้สึกว่าลูกเถียง แต่พอหลังๆ มา เขารู้สึกว่าลูกเขาพูดแบบมีเหตุมีผล ลูกจะบอกมาเป็นข้อๆ เลยว่า แม่ต้องคิดแบบนี้ก่อน ทำอย่างนี้ก่อน เหมือนเอากระบวนการในโรงเรียนไปบอกให้แม่ใช้แก้ปัญหา ซึ่งหลังๆ เขาเข้าใจ ไม่มีการทะเลาะกัน มีการปรับจูน และเข้าใจซึ่งกันและกัน ครอบครัวก็อบอุ่นขึ้น
แม้แต่ตัวครูในโรงเรียนเองก็เปลี่ยนไปเยอะ อย่างครูวิชาการ บอกว่า สามีบอกว่าเหมือนได้เมียใหม่เลย ลูกก็บอกว่าได้เหมือนแม่ใหม่ เพราะแม่ก็เลิกบ่นมากขึ้น แม่มีคำแนะนำลูกในการแก้ไขปัญหาที่ดีขึ้น
การเปลี่ยนแปลงของเด็กด้านใด ที่ ผอ. รู้สึกว่าเป็นจุดสำคัญที่ทำให้โรงเรียนพัฒนาอย่างก้าวกระโดด
เด็กของเรากลายเป็นนักเรียนรู้กันหมดแล้ว เมื่อเกิดปัญหาอะไรมา เขาก็จะไม่กลัว เวลามีปัญหา เขาจะคิดวิเคราะห์ว่า อ๋อ เพราะเขาเป็นแบบนี้ เพราะเขาคิดอย่างนี้ ทุกวันนี้กีฬาสีของโรงเรียนเรา ปีไหนถ้าเด็กไม่เดินมาบอกว่าอยากจัดกีฬาสีเราก็ไม่จัด ถ้าเด็กอยากให้มีกีฬาสี เขาจะเดินมาบอก มันเกิดจากกระบวนการที่เราใส่ให้เขาไป หล่อหลอมให้เขาเป็นแบบนี้
เขาจะเดินมาเลย ผอ.ครับ ผมเป็นตัวแทนของน้องๆ และเพื่อนๆ ทุกคน พวกเราอยากมีกีฬาสี เราก็จะถามว่าอยากมีกีฬาสีต้องทำยังไงบ้าง เขาก็บอกว่าเดี๋ยวเรากลับไปคิดกันมาก่อน เราก็บอกว่าไปคุยกันแล้วมาดีเฟนด์ให้ ผอ.ฟัง ต้องรู้ว่าจะจัดกี่วัน ทำอะไรบ้าง แข่งอะไรบ้าง จะค้นหานักกีฬายังไง แบ่งกี่สี นักกีฬามีเสื้อสี เราจะทำยังไงกับเสื้อสี จะเอาเงินจากไหนมาทำ แล้วต้องมีเครื่องเสียง มีเต็นท์จะหาจากไหน จะเอาเงินที่ไหนมาเช่า แล้วอาหารของเพื่อนๆ น้องๆ ตลอดกิจกรรม บริหารจัดการยังไง ไปคิดกันมา
ที่เราให้เด็กมีส่วนร่วมในการคิดและการจัดกิจกรรม เพราะเป้าหมายของงานกีฬาสี เราไม่ได้ต้องการแค่ให้เด็กออกกำลังกาย แต่เราอยากให้เด็กเรียนรู้การวางแผน การช่วยเหลือกัน การทำงานเป็นทีม ความสามัคคี การเรียนรู้ที่จะยอมรับซึ่งกันและกัน สิ่งนี้ต่างหากที่เราอยากเห็น ฉะนั้นเราต้องให้เด็กเขาคิด
ทุกวันนี้อะไรคือการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กที่ภูมิใจมากที่สุด
เด็กเป็นนักเรียนรู้และรู้จักกระบวนการคิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างกันง่ายๆ ปกติเด็กก็นั่งรอ รู้เลยว่าเดือนนี้เขามีกีฬาสี เดี๋ยวครูก็บอก รอลุ้นจับสีแค่นั้น แต่อันนี้ไม่ใช่ เขาต้องคิดกว้างกว่านั้น เขาเดินมาบอก ผอ. ครับ ที่เช่าเครื่องเสียง เขาคิดวันละ 3,000 บาท ใช้ 3 วันก็ราคา 9,000 บาท เราจะบอกว่าแล้วหนูจะมีวิธีการพูดให้เขาลดราคาได้มั้ย สรุปเด็กก็ไปอีก ปรากฏว่าเขาลดราคาให้ 3 วันเหลือ 3,000 บาท เพราะเขาอยากมาช่วยเด็กๆ ด้วย แล้วเราก็ถามว่าจะเอาเงินจากไหน เขาก็บอกว่าจะเก็บค่าเสื้อสี ผมขอบวกเพิ่มคนละ 5 บาท เพื่อมาบริหารจัดการตรงนี้ แล้วอาหารกลางวันจะทำยังไง เด็กก็บอกว่าเรามีเงินค่าอาหารกลางวันโรงเรียนอยู่แล้ว เอามาบริหารจัดการแทนได้มั้ยครับ ปรากฏว่าชุมชนไลน์มาทุกวัน เด็กแต่ละสี ออกไปขอเงินสนับสนุน แต่เขามีหนังสือจากโรงเรียนไปนะ
สรุปงานกีฬาสีจัดไป 3 วัน ยิ่งใหญ่มาก เพราะชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะเด็กๆ ทักษะเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ และไม่ได้เกิดขึ้นในปีเดียว
ถ้าเราติดอาวุธทางปัญญาให้เด็กด้วยความรู้ เด็กไปไหนไม่รอดหรอก ความรู้ที่ให้ในวันนี้ ไม่กี่ปีข้างหน้าก็ล้าสมัยแล้ว เราวิ่งตามไม่ทันหรอก
แต่ถ้าเราติดอาวุธให้เขาด้วยกระบวนการ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มาด้วยจิตศึกษา และPBL ถ้าเราไม่ปรับมายด์เซ็ตของเด็กและครู มันไปต่อไม่ได้ ถ้าเราจะบอกต่อกับโรงเรียนอื่น ต้องเริ่มจากจิตศึกษา ปรับมายด์เซ็ตของผู้คนให้เห็นตรงกันก่อน เป้าหมายต้องชัดเจน จากนั้นใส่กระบวนการลงไปไม่ยากแล้ว
อยากให้ ผอ. แนะนำถึงโรงเรียนอื่นๆ ที่อาจจะเริ่มต้นจากติดลบเหมือนกัน ว่าบทบาทของ ผอ. สำคัญยังไงต่อการพัฒนาโรงเรียน
โรงเรียนอื่นที่ต้องเผชิญปัญหา ไม่ว่าปัญหาอะไรก็แล้วแต่ เราไม่อยากให้โฟกัสที่ปัญหา เราอยากให้โฟกัสว่าทำไมถึงเกิดปัญหามากกว่า ซึ่งคือตัวผู้คน พฤติกรรมของผู้คน เป็นพฤติกรรมที่ออกมาจากความคิด ดังนั้นเปลี่ยนใครก่อน เปลี่ยนความคิดผู้บริหารก่อนเลย แต่เดิมที่เคยทำมา การสั่งการ การควบคุม การบังคับ การทำแบบนั้นไม่สำเร็จ ถ้าสำเร็จจะไม่เกิดปัญหาเลยสักโรงเรียนเดียว เพราะนโยบายจากข้างบนมีมาอยู่แล้ว
ดังนั้นเปลี่ยนความคิดก่อน เริ่มที่ตัวเราก่อน ผอ.ที่จะสั่งการให้ครูทำตามนโยบาย ล้มเลิกความคิดตรงนั้นก่อน แล้วหันมามองที่พฤติกรรมของตัวบุคคล เราต้องเปลี่ยนความคิดเขาอย่างไร เขาถึงจะเปลี่ยนพฤติกรรมนี้
จากนั้นมาดูพฤติกรรมที่แท้จริงของเด็กว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร เขาหวาดกลัว เขาไม่ได้รู้สึกว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย บ้านไม่ใช่ที่ปลอดภัย เขาจึงไปซ่องสุมกันที่อื่น และเขารู้สึกว่าครูคุยไม่ได้ พ่อแม่คุยไม่ได้ เขาก็ไปคุยกับเพื่อนๆ เขารู้สึกว่าโรงเรียนไม่น่าสนใจ ครูก็น่ากลัว พ่อแม่ก็ดุ กลายเป็นเขาก็ไปอยู่กับคนที่เขารู้สึกปลอดภัย ไปทำอะไรที่เขารู้สึกว่าไม่มีใครมาห้ามเขา ก็เลยเป็นแบบนั้น ฉะนั้นคุณก็ต้องค่อยๆ เปลี่ยนสิ่งเหล่านี้
ต้องเริ่มจากว่า ผอ.เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ครูหรือยัง ไม่ใช่เห็นหน้า ผอ. ก็นั่งรอวันย้ายอย่างเดียว ผอ. เดินมาก็หนีไปกันหมด ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่มีวันสำเร็จหรอก คุณต้องเปลี่ยนก่อน ทำให้คุณครูเข้าหา ผอ. เพราะเราไม่มีทางเห็นทุกเรื่อง ทำอย่างไรให้เขาอยากเล่าให้เราฟัง เช่นเดียวกับเด็กมี 200 กว่าคน ผอ. ไม่มีทางจะไปเห็นเด็ก 200 กว่าคนในทุกๆ วินาที
ดังนั้นทำอย่างไรให้เด็กมีปัญหาแล้วกล้าเดินมาหาเรา การสั่งการ คาดโทษใช้ไม่ได้ผลแล้ว และความคิดของเราแค่คนเดียวไม่ตอบโจทย์แล้วว่าจะแก้ปัญหาได้ ต้องเกิดจากความคิดของทุกคน รวมถึงเด็กด้วย เพราะสุดท้ายเรากำลังทำโจทย์ที่เด็ก
เราแนะนำว่าคุณต้องมีโจทย์ใหม่ ไม่ใช่โจทย์พื้นที่ ไม่ใช่โจทย์นโยบาย โจทย์ไม่ใช่ตัวคุณ ว่าทำแบบนี้แล้วจะได้รางวัล โจทย์คุณคือเด็ก แล้วถ้าครูมองเห็นโจทย์เดียวกัน โรงเรียนนี้ก็จะทำได้ เพราะถ้าโจทย์คุณครูคือเด็ก คุณจะมองผลลัพธ์ที่ตัวเด็ก คุณจะไม่ถามว่าคุณทำแล้วได้อะไร แต่คุณจะถามว่าคุณทำแล้วเด็กเป็นอย่างไร แล้วคุณจะเปลี่ยนวิธีการคิด เราเปลี่ยนโดยการตั้งเป้าหมายใหม่ เป้าหมายต้องชัดเจน และต้องเป็นเป้าหมายเดียวกันทั้งองค์กร
ตลอดระยะเวลาที่ทำมา ครูเคยถามว่า ผอ. ไม่เหนื่อยเหรอคะ ไม่มีหรอกไม่เหนื่อย เพียงแต่เราวางเป้าหมายปักธงไว้แล้ว เวลาที่เราเหนื่อย เราก็แค่เดินช้าลง แต่เป้าหมายเราไม่เคยเปลี่ยน ถ้าเราบอกว่าจะพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก ต่อให้ใช้เวลานานแค่ไหนก็ต้องทำ เพียงแต่เราต้องไม่ออกนอกเส้นทาง
สำหรับเป้าหมายการพัฒนาโรงเรียนต่อจากนี้ ผอ. ตั้งเป้าไว้อย่างไร
ที่ผ่านมาเราบอกครูใหญ่วิเชียรเสมอว่า ครูใหญ่อาจจะมองว่าเราทำเพื่อเด็กโรงเรียนวัดสลักเพชร แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ว่าเราทำเพื่อเด็กโรงเรียนวัดสลักเพชรอย่างเดียว แต่เราทำเพื่อวงการศึกษาทั้งหมด ตราบใดที่เราทำโรงเรียนนี้สำเร็จ คนก็จะมาถาม มาดูงาน ซึ่งเราไม่ได้อะไรจากงานดูงาน ไม่ได้สักนิดเดียว เพราะเราไม่เก็บเงิน เจตนาของเราคือต้องการพัฒนาระบบการศึกษา ดังนั้นถ้าเรามีวิธีการแล้ว เราอยากจะเป็นต้นแบบและกระบอกเสียงเพื่อขยายผลความสำเร็จไปสู่โรงเรียนอื่นๆ เพื่อให้เด็กเกิดทักษะและผลสัมฤทธิ์แบบเดียวกัน
ที่สำคัญตอนนี้ไม่ได้มองแค่เรื่องการศึกษาอย่างเดียวแล้ว อยากเน้นไปที่การพัฒนา ‘คุณภาพชีวิตเด็กและชุมชน’ ด้วย เราเห็นเด็ก ม.3 ของเราเรียนจบไป เรียนดีแค่ไหนก็ไม่มีงานทำ เลยไปของบประมาณจนได้มาสร้างห้องเรียนอาชีพเรียบร้อยแล้ว และได้ดำเนินการทำ MOU ร่วมกับวิทยาลัยอาชีพ 3 แห่ง เพื่อให้เขาลงมาสอนทักษะอาชีพกับเด็กๆ ทั้งนี้จะมีการดึงผู้ประกอบการในพื้นที่ลงมาคุยด้วย เพื่อพัฒนาเด็กให้มีทักษะแรงงานตรงกับความต้องการปลายทาง รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ที่จะนำไปใช้ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมากขึ้น หวังว่าจะเป็นช่วยสร้างโอกาสให้เขามีอาชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม