- คุยกับครูแอน – วนิดา ศิริวัฒน์ ครูประจำวิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอนุบาลสตูล กับการเปลี่ยนรูปแบบการสอนจากเดิมที่ครูเป็นนักบงการ มาเป็นนักออกแบบการเรียนรู้แทน ผ่านเครื่องมือที่ชื่อว่า โครงงานฐานวิจัย 10 ขั้นตอน ขยายขอบจากห้องเรียนสี่เหลี่ยมในรั้วโรงเรียนเป็นลงพื้นที่เก็บข้อมูลนอกห้อง และได้เจ้าของความรู้อย่าง ‘ชาวบ้าน’ มาร่วมกัน
- “แต่เดิมเรามองว่า ถ้าครูเป็นครู ครูต้องรู้มากกว่าเธอสิ มันคือความคิดในมุมเดิมที่เราถูกฝังมา แต่พอเรามาเรียนรู้ด้วยโครงงานฐานวิจัยหรือการบูรณาการ เราพบว่ามีหลายอย่างที่ครูยังไม่รู้เลย ยิ่งพอโครงงานเป็นวิชาที่เราคาดหมายไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผู้เรียนคือตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ครูต้องพยายามมองว่าครูจะพา…ไม่ใช่พาสิ ครูกับนักเรียนจะเดินไปทางไหน ต้องวางแผนร่วมกันตลอด เราจะเดินไปอย่างไร เราจะหาวิธีเดินอย่างไร หาความรู้อย่างไร เรื่องที่นำมาเรียนรู้นั้นจะเป็นเพียงสื่อการสอน แต่ครูต้องคิดในใจว่ามันต้องใช้อะไรบ้างเพื่อให้เด็กมีโอกาสค้นหาความรู้ต่อหรือได้เรียนรู้ได้มากที่สุด”
ราวปี 53 การเปลี่ยนแปลงในชีวิตการทำงาน การสอน การเป็นครูกว่าสิบปีของครูแอน – วนิดา ศิริวัฒน์ ครูประจำวิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอนุบาลสตูล ได้มาถึง และเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แทบพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เปลี่ยนวิธีการสอนในห้องเรียนชนิดกลับด้านกลับทาง
การเปลี่ยนแปลงที่ว่ามาจากคำประกาศของสุทธิ สายสุนีย์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ณ ขณะนั้น และพ่วงตำแหน่งนักวิจัยที่เพิ่งย้ายมาใหม่เพียง 2 ปี ว่าอยากเริ่มทดลองการเรียนการสอนแบบใหม่ที่ใช้งานวิจัยเป็นฐานการเรียนรู้ของนักเรียน ภายใต้ชื่อโครงการฐานวิจัย 10 ขั้นตอน (งานวิจัยดีเด่นในปี 2551) ที่สุทธิได้พัฒนาร่วมกับนักวิจัยท้องถิ่นและครูจากโรงเรียนบ้านตะโละใส – โรงเรียนเก่าที่สุทธิเคยบริหาร
“ตอนได้ฟังครั้งแรก เรางงมากว่าการเรียนด้วยโครงงานฐานวิจัยคืออะไร ยังนึกถึงการทำโครงงานของเด็กๆ สมัยก่อน ที่จะมี 5 บท นักเรียนเลือกเรื่องที่อยากทำเป็นตัวตั้งแล้วก็เดินเรื่องไป แต่พอเริ่มศึกษาการทำโครงงานฐานวิจัย เราพบว่า…ไม่ใช่ จริงๆ แล้วเด็กต้องใช้อะไรเยอะมาก ซึ่งวันที่เริ่มเดิน เราพบว่าวิธีการเรียนแบบนี้ครูต้องเรียนรู้ไปพร้อมเด็ก เพราะครูเองก็ยังไม่รู้เนื้อหา เพียงแต่ครูก็ไปโค้ชนักเรียน และนักเรียนเองก็เป็นครูของครูอีกทีหนึ่ง มันเป็นการเรียนรู้ไปพร้อมกัน” ครูวนิดาเล่าถึงความรู้สึกวันแรกๆ ที่รู้ว่าต้องเปลี่ยนวิธีการออกแบบห้องเรียน วิชาเรียน ไปเริ่มเรียนและสอนด้วย โครงงานฐานวิจัย
แม้เชื่อมั่นในตัวกระบวนการ เพราะโครงงานฐานวิจัย 10 ขั้นตอนนั้นเป็นที่พูดถึงกันมากในจังหวัดสตูล ในแง่การจัดการเรียนรู้แนวใหม่ที่ให้เด็กเป็นผู้เลือกหัวข้อด้วยตัวเอง มาจากความสนใจของเด็กเอง แถมผู้รู้ที่จะมาช่วยให้ข้อมูลในฐานะนักวิจัยร่วมก็คือเจ้าของความรู้อย่าง ‘ชาวบ้าน’ และการเรียนการสอนยังขยายขอบจากห้องเรียนสี่เหลี่ยมในรั้วโรงเรียนเป็นลงพื้นที่เก็บข้อมูลนอกห้อง และเชื่อมั่นในการนำของสุทธิ …ก็จริงอยู่
แต่การเปลี่ยนแปลงตัวเองที่สอนด้วยวิธีที่คุ้นชินอย่างการถ่ายทอดความรู้ (ซึ่งเราเองก็ถูกฝึกให้เรียนด้วยวิธีเช่นนั้น) นั้นไม่ง่ายเลย มันเป็นการเรียนรู้ครั้งใหม่ การเดินทางครั้งใหม่ที่ต้องใช้จินตนาการร่วม และความเชื่อมั่นที่อยากเปลี่ยนวิธีการสอน ซึ่งเป้าหมายคือ ‘นักเรียน’ เป็นหลัก
ใครๆ ก็พูดกันเรื่องการเปลี่ยนห้องเรียนด้วยการยึดผู้เรียนเป็นหลัก สมรรถนะ…คือคำที่คนในวงการศึกษาเฝ้ามองและตั้งใจไปให้ถึงในวันนี้เพราะรู้แล้วว่าการถ่ายทอดความรู้แบบเดิมนั้นล้าหลังและไม่ทำให้ผู้เรียนมี ‘สมรรถนะ’ ได้จริง แต่จากปากคำของครูเล่า? เส้นทางการเปลี่ยนแปลงของครู การเติบโตของครู การเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้ทันสมัย เราอาจจำเป็นต้องพูดคุยและถอดบทเรียนจากครู ว่าเส้นทางการเดินทางของเขาเป็นอย่างไร จากเดิมที่คิดว่าดี…แต่เปลี่ยนแล้วดีขึ้นอย่างไร ดีขึ้นในมุมไหน
เรามีโอกาสพูดคุยกับครูวนิดาสั้นๆ แต่บทสนทนามีความหมายและสะท้อนให้เห็นความตั้งใจ ความหวัง และแรงบันดาลใจดีๆ ที่คิดว่า ครู จะส่งถึง ครู ด้วยกัน
อยากชวนทุกคนอ่านการจัดการศึกษาของ ‘ครู’ จากโรงเรียนอนุบาลสตูล โรงเรียนไม่เล็กไม่ใหญ่ของจังหวัดแต่กลายเป็นโรงเรียนตัวอย่างให้คนทำงานจากทุกภาคลงไปถอดบทเรียนกัน
ช่วงก่อนเปลี่ยนการเรียนการสอน เป็นยังไงบ้าง ครูจัดการเรียนการสอนอย่างไร
ก่อนหน้านี้ โรงเรียนก็สอน 8 สาระวิชาเหมือนโรงเรียนอื่น ครูสอนวิชาอะไรก็สอนวิชานั้น เราเองที่สอนวิชาภาษาไทยก็ไม่รู้หรอกว่าสาระอื่นๆ เขาสอนอะไรบ้าง เรามุ่งสอนตรงไปที่วิชาของเรา ด้วยวิธีการสอนของครูที่เป็นการป้อนความรู้ให้กับนักเรียน การวัดและประเมินผลก็จะเน้นไปที่ความรู้ตามผลชี้วัด
ซึ่งเอาเข้าจริง การเรียนแบบนั้น ในขณะนั้น มันก็เป็นไปได้ด้วยดีตามครรลองของมันใช่ไหม
ณ วันนั้นเราก็มองว่ามันเป็นไปด้วยดีตามสภาพวันนั้นนะ วันที่เทคโนโลยีมีไม่มาก ในภาพของโรงเรียนอนุบาลสตูล เราเป็นสถานศึกษาที่ทั้งครูและนักเรียนต่างมีความมุ่งมั่น เป็นภาพของโรงเรียนชั้นแนวหน้า เป็นความคาดหวังของจังหวัด ทุกคนมองว่าโรงเรียนนอนุบาลสตูลคือสถานที่ของคนเก่ง
ตอนนั้นครูแอนจัดการเรียนการสอนแบบไหน
เราสอนภาษาไทย ก็พยายามศึกษาจากหนังสือโน่นนี่นั่น มีบ้างที่นักเรียนได้พูดบ้าง โต้ตอบในห้องแต่ไม่ได้มาก มีเด็กเล่านิทานบ้าง เด็กพูดบ้าง บางครั้งก็รวมกลุ่มกันแสดงบทบาทสมมติ แต่โดยวิธีการทั้งหมดครูจะเป็นคนกำหนดว่าเราจะทำอะไร จะเรียนกันแบบไหน ซึ่งนักเรียนไม่ได้มีส่วนมาร่วมคิดว่าเราจะเรียนแบบไหน คนต้นคิดมาจากครูเอง
ตอนนั้นเราชอบการสอนของตัวเองไหม?
ณ วันนั้นเราก็มองว่าเราก็ทำได้ดีที่สุดนะ คือเราไม่ได้มองที่เส้นทางการเดินของเราแต่มองที่เป้าหมายอย่างเดียว เช่น เด็กเราสอบได้ ก็แปลว่าเด็กเราเก่งแล้วล่ะ อันนั้นคือสิ่งที่เราคิด ณ วันนั้นนะ
วันแรกที่ผอ. สุทธิบอกว่าจะเปลี่ยนการเรียนการสอนเป็นการเรียนด้วยโครงงานฐานวิจัย จะเริ่มเปลี่ยนโดยนำร่องที่ครู 12 คนก่อนและเริ่มทำกับเด็กๆ เพียง 36 ห้องเรียน ครูแอนเป็นครู 1 ใน 12 คนนั้นไหม
ไม่ได้เป็น 1 ใน 12 คนหลักนั้น แต่เป็นคนที่ประกบช่วยครูเหล่านั้นสอนอยู่ตลอด ขอเขาสอนคู่กับครูเหล่านั้นเพื่อเป็นคู่บัดดี้กัน ครูท่านนั้นชื่อว่าครูสวย เพราะเราเองก็อยากรู้สิ่งที่เขากำลังทำว่าคืออะไร แล้วเราใช้วิธีการจำเอา ดูเอา เราไม่ได้เป็นคนรับความรู้นั้นโดยตรงแต่พยายามทำตัวเป็นนักเรียนของครูสวยด้วย แล้วเราก็ช่วยคอมเมนต์สิ่งที่ครูสวยสอนด้วยว่ามันควรเป็นอย่างนี้หรืออย่างนั้นไหม? แล้วชั่วโมงต่อไปเราก็เริ่มสอนเอง ด้วยคุณลักษณะของเราที่เป็นคนสนุกสนานนิดนึงด้วย ก็เลยทำหน้าที่นำเข้าสู่บทเรียนให้มันสนุกๆ
ตอนที่ผอ. สุทธิบอกว่าจะเปลี่ยนมาเป็นการสอนแบบบูรณาการ ตอนฟังครั้งแรกเราเข้าใจว่าอะไร
ตอนได้ฟังครั้งแรกก็งงมากว่าการเรียนด้วยฐานวิจัยคืออะไร ยังนึกถึงการทำโครงงานของเด็กๆ สมัยก่อน ที่จะมีบทที่ 1-5 ขั้น นักเรียนเลือกเรื่องที่อยากทำเป็นตัวตั้งแล้วก็เดินเรื่องไป แต่พอเริ่มศึกษาการทำโครงงานฐานวิจัย เราพบว่า…ไม่ใช่ จริงๆ แล้วเด็กต้องใช้อะไรเยอะมาก ซึ่งวันที่เริ่มเดิน เราพบว่าวิธีการเรียนแบบนี้ครูต้องเรียนรู้ไปพร้อมเด็ก เพราะครูเองก็ยังไม่รู้เนื้อหา เพียงแต่ครูก็ไปโค้ชนักเรียน และนักเรียนเองก็เป็นครูของครูอีกทีหนึ่ง มันเป็นการเรียนรู้ไปพร้อมกัน
ตอนนั้นเรารู้สึกยังไงกับความคิดว่า ‘เด็กก็เป็นครูเรานะ’
ความคิดมันก็เปลี่ยนนะ แต่เดิมเรามองว่า ถ้าครูเป็นครู ครูต้องรู้มากกว่าเธอสิ มันคือความคิดในมุมเดิมที่เราถูกฝังมา แต่พอเรามาเรียนรู้ด้วยโครงงานฐานวิจัยหรือการบูรณาการ เราพบว่ามีหลายอย่างที่ครูยังไม่รู้เลย ยิ่งพอโครงงานเป็นวิชาที่เราคาดหมายไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผู้เรียนคือตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ครูต้องพยายามมองว่าครูจะพา…ไม่ใช่พาสิ ครูกับนักเรียนจะเดินไปทางไหน ต้องวางแผนร่วมกันตลอด เราจะเดินไปอย่างไร เราจะหาวิธีเดินอย่างไร หาความรู้อย่างไร เรื่องที่นำมาเรียนรู้นั้นจะเป็นเพียงสื่อการสอน แต่ครูต้องคิดในใจว่ามันต้องใช้อะไรบ้างเพื่อให้เด็กมีโอกาสค้นหาความรู้ต่อหรือได้เรียนรู้ได้มากที่สุด
แต่เดิมครูเป็นคนป้อนความรู้ แต่บรรยากาศตอนนี้ ครูเป็นแค่โค้ช เราวางแผนร่วมกัน วางเป้าหมายร่วมกัน ไม่ได้หมายความว่านักเรียนต้องทำตามที่ครูบอก แต่นักเรียนต้องคิดวิธีการเอง คิดเรื่อง คิดประเด็นเอง ครูไม่ใช่ผู้ให้ความรู้ เขาอาจไปหาความรู้จากที่ไหนก็ได้ที่ให้ความรู้กับเขาได้ ขณะเดียวกัน วิชาบูรณาการเหมือนเป็นพื้นที่ร่วมที่เปิดให้คนหลายๆ คนเข้ามาสร้างการเรียนรู้กับนักเรียนด้วยสิ่งที่นักเรียนเลือก เช่น นักเรียนเลือกสิ่งที่เกี่ยวกับชุมชน ก็ลงไปหาความรู้จากชุมชน หรืออย่างโครงงานศึกษาการตามรอยฟอสซิล (โครงงานศึกษาการตามรอยฟอสซิล ในอำเภอเมืองสตูล เพื่อร่วมกับชุมชนพัฒนาเป็นแหล่งการเรียนรู้ในจังหวัดสตูล) ของนักเรียนชั้นป.4 ครูเองก็ไม่มีความรู้เลย เบื้องต้นครูก็ต้องไปหาความรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองก่อนที่จะมาโค้ชนักเรียน นักเรียนเองก็ต้องไปค้นหาความรู้เบื้องต้น หลังจากนั้นนักเรียนต้องไปหาวิทยากรหรือคนที่มีความรู้จริงๆ และลงพื้นที่ไปถามชาวบ้าน อันนี้เป็นเพียงตัวอย่าง มองว่ามันเป็นพื้นที่ที่ทำให้มีคนหลายคนเข้ามามีส่วนกับการจัดการศึกษา
เช่นใครบ้าง ใครที่เข้ามามีส่วนร่วมกับการจัดการศึกษาในวิชาบูรณาการได้บ้าง
คนในชุมชนและผู้ปกครอง เวลาขึ้นโจทย์ เด็กๆ เขาจะบอกเลยว่า ปู่หนูทำได้ ย่าหนูรู้ ยายหนูรู้ คือเขามองว่าคนใกล้ตัวเขาเป็นคนที่เขาไปหาความรู้ได้ แล้วพอวิชาบูรณาการกลายเป็นวิชาจริงในหลักสูตร ก็ทำให้มีอีกหนึ่งชั่วโมงเพิ่มเข้ามาคือ ‘ชั่วโมงครูสามเส้า’ กิจกรรมพัฒนาของโรงเรียนโดยให้ผู้ปกครองมาจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ซึ่งเป็นเหมือนการวางเป้าหมายร่วมในสายชั้นว่าเขาอยากเห็นภาพลูกหลานตัวเองพัฒนาไปด้านไหน นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเปิดพื้นที่ให้บุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมจัดการเรียนให้กับนักเรียน
จุดที่นักเรียนกลายมาเป็นครูเรา ครูรู้สึกยังไง
ตอนแรกเราไม่เข้าใจนะ แต่พอเราเห็นว่าหลายเรื่องที่มีคนอื่นเข้ามาร่วมกันสอนแล้วนักเรียนพัฒนาขึ้น เช่น เด็กบอกว่าอยากนำเสนอความรู้ วันหนึ่งเด็กบอกว่า เนี่ย…น้าของหนูอยู่สถานีวิทยุ น้าเขามาเป็นคนสอนได้นะ แปลว่าความสัมพันธ์เบื้องต้นของเด็กๆ เป็นเส้นทางพาให้เด็กไปหาผู้รู้เหล่านั้น ซึ่งครูเองยังไม่มีความสัมพันธ์ตรงนี้เลย แล้วเด็กก็พาครูไปด้วยแล้วก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน เช่น ได้เรียนรู้การเขียนสคริปวิทยุ วิธีการพูด ซึ่งมันเป็นอีกแบบจากที่ครูสอน เราเห็นว่าเด็กได้ความรู้เฉพาะทาง มองว่ามันเป็นสิ่งที่ดีกับเด็กมากกว่าที่เราสอนด้วยปากอย่างเดียวและเราไม่ได้มีประสบการณ์ทางนั้นโดยตรง
มีความรู้สึกแย่กับตัวเองไหม เหมือนว่าครูมีบทบาทน้อยลง
ไม่ค่ะ เพราะมันก็เป็นโอกาสของเราด้วย เป็นเส้นทางที่ทำให้ครูได้ประสบการณ์เพิ่ม มีหลายอย่างที่ครูไม่รู้และต้องเรียนรู้ไปพร้อมนักเรียน หรือบางครั้งวิถีชีวิตจากบ้านที่เด็กเป็นก็มาสอนครูได้ มันเป็นเรื่องปกตินะ
แล้วบรรยากาศการเรียนการสอน ตอนนี้เป็นยังไงคะ
ผ่อนคลายนะ เด็กบอกว่าครูไม่ต้องสอนเลยเพราะชั่วโมงนี้เป็นวิชาบูรณาการ เด็กๆ มองว่าเขาเองจะได้แสดงศักยภาพตัวเองเต็มที่ คือตอนที่เด็กๆ เรียนวิชาหลักเขาต้องใช้ความรู้เฉพาะตัว แต่พอเป็นวิชาบูรณาการ เด็กได้แสดงความสามารถตัวเอง บางคนอาจจะพูดเก่งแต่เขียนไม่เก่ง บางคนระบายสีเก่งแต่เขียนไม่ได้ บางคนถ้าลงพื้นที่นี่ลงไปพายเรือได้เลย บอกเส้นทางได้ ทอดแหได้ มีทักษะการสังเกต มีทักษะของนักจัดการ ขณะที่บางคนไม่มี เด็กได้แสดงความสามารถตัวเองออกมาตามศักยภาพที่หลากหลาย มันเป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้ทุกคน
สอนแบบนี้เหนื่อยกว่าเดิมไหม
จริงๆ งานทุกงานมันก็เหนื่อยแหละ แต่ถ้าเรามองว่ามันคือความท้าทาย อยากให้ครูมองว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนการศึกษา บางทีเหนื่อยๆ แต่เห็นสิ่งที่สะท้อนกลับมา เช่น เด็กพัฒนาตัวเองขึ้น เด็กพูดเก่ง เด็กได้ทำสิ่งที่เขารัก ได้เลือกเรียนสิ่งที่เขาชอบ หรือบางทีไม่ใช่แค่มุมที่เด็กๆ ได้พัฒนาตัวเอง แต่การที่เด็กลงไปหาคนในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนแก่ เขาก็รู้สึกมีคุณค่าและอยากจะสอนเด็กนะ โต๊ะ(คุณตา)บางคนอยากเล่าเรื่องให้ลูกหลานฟังว่าพื้นที่ตรงนี้มันเกิดกอะไรขึ้น เขาเองก็มีความสุขที่ได้เป็นผู้ถ่ายทอด เด็กๆ ไปหาเขาก็ดีใจ มันมีอะไรที่ซ่อนอยู่อีกมากในการจัดการเรียนรู้ซึ่งเราอาจมองข้ามไป
สอนแบบไหนครูก็ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า มันอาจต้องทุ่มเทนิดนึง เนื่องจากเวลาที่เราสอน เราคาดการณ์ไม่ได้ ครูต้องพยายามออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด บางครั้งต้องมีการลงพื้นที่ ไม่ใช่ลงแค่ครั้งเดียวแต่ต้องลงแล้วลงอีก ติดต่อวิทยากรนู่นนี่นั่น แต่มองว่าครูเป็นแค่นักจัดการมากกว่าไม่ใช่ครูผู้สอน
การเรียนรู้มีหลายทางมาก การเรียนแบบไหนที่เหมาะกับเด็กๆ
ไม่ตายตัวนะ แต่มุมมองของเราที่เปลี่ยนไป คือเรามองว่าการที่เด็กได้เลือกเรียนหรือเอาสิ่งที่อยู่ในชีวิตของเขามาสอดคล้องกับศาสตร์การเรียนรู้ ทำให้เด็กมองว่าการเรียนรู้มันมีความหมายกับชีวิตเขา นำไปใช้ได้จริง มันเป็นเครื่องมือให้เขาไปเรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้นหรือนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ อาจมีเด็กที่มุ่งเรียนต่อ แต่บางคนที่ไม่มีโอกาสเรียนเพราะต้องไปประกอบอาชีพ ครูก็ต้องสอนศาสตร์วิชาให้เข้ากับชีวิตเขาให้ได้ เขาจะได้เห็นคุณค่าจากการเรียนว่าไม่ได้แยกจากชีวิตเขา คิดว่านี่คือความท้าทายของครู
ข้อดีการจัดการเรียนรู้แบบนี้
ที่ชัดคือ เด็กรู้จักชุมชนอย่างแท้จริง ก่อนหน้านี้เรามองว่าเราอยากให้เด็กรักถิ่นแผ่นดินเกิดนู่นนี่นั่น แต่เด็กไม่ได้เรียนรู้จริงๆ ไม่ได้ค้นหาจริงๆ ไม่ได้ลงไปสัมผัสจริง มีบางอย่างที่เขาคิดไว้แต่พอลงไปพื้นที่แล้วมันไม่ใช่ มองว่า เขาได้ซึมซับสิ่งเหล่านี้ เด็กได้กลับไปเรียนรู้ชุมชนตัวเอง ประวัติศาสตร์ชุมชน ได้ไปหาบุคคลสำคัญชุมชน รวมทั้งการได้ลงชุมชนร่วมกัน ได้เห็นการช่วยเหลือพึ่งพาว่าจริงๆ เด็กเขาจะอยู่แต่กับคนที่เรียนเก่งไม่ได้ แต่ทุกคนมีความหมายในการทำงานร่วมกัน
ครูแอนใช้เวลานานเท่าไรถึงเข้าใจการเรียนการสอนแบบนี้
ก็นานอยู่เหมือนกันนะ ตอนแรกมันมีการเรียนการสอนแบบนี้แค่อาทิตย์ละ 3 ชั่วโมง ก็หัดเดินกัน ตอนแรกเราก็สับสนว่าวิธีการนี้มันจะไปยังไง จะไปที่เนื้อหาหรือวิธีการกันแน่ หลายคนคิดว่าถ้าสอน เราก็ต้องได้งานเป็นชิ้นเป็นอันออกมา แต่พอตอนหลังๆ สอนไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าการบูรณาการไม่ได้มีหลักยึดตายตัว แต่มีกระบวนการขั้นตอนการสอนอยู่คือการสอน 5 หน่วย 14 ขั้นตอน ขณะเดียวกัน ครูเองต้องออกแบบให้เด็กได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ สร้างการเรียนรู้ไปเชื่อมโยงกับสาระหรือสมรรถนะของตัวเองให้มากที่สุด ต่อยอดไปเรื่อยๆ
โรงเรียนช่วยพัฒนาเราอย่างไร
ในการเรียนรู้ของครู วง PLC (Professional Learning Community ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ) สำคัญมาก เพราะเราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง เราต้องคอยถามเพื่อนๆ ว่าเป็นยังไง ต้องมาแลกกัน คนนี้เขาสามารถทำกระบวนนี้ได้ดีนะ ลองออกแบบให้เด็กทำชิ้นงานแบบนี้ไหม เราไปหาคนนี้ให้มาช่วยดีไหม อะไรแบบนี้ ต้องแลกกันตลอด
แล้วก็ต้องขอบคุณทีมงานจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สตูล ด้วย เขาเป็นคนที่เข้ามาช่วยดูแลตลอดตั้งแต่เริ่มเดินเลย ซึ่งตอนแรกเราเองกังขาว่า จะเดินกันไปยังไง แต่ตอนหลังเราไว้วางใจกัน มองว่าเขาจะมาช่วยเรา
มันคือการแลกกันน่ะ ต้องพัฒนาและเติมตัวเองเรื่อยๆ เป็นการเรียนที่ไม่หยุดอยู่กับที่ ไม่มีตำราตายตัวว่า 1 2 3 ครูต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้นะ แต่ต้องใช้การเพิ่มพูนประสบการณ์ไปเรื่อยๆ
อยากให้ช่วยขยายความ ความยากของวิชาบูรณาการที่จะทำงานกับความคิดนักเรียน เชื่อมหลายๆ วิชา ทำได้อย่างไร
คือครูต้องเชื่อมโยงวิชาบูรณาการไปวิชาหลักให้ได้ เช่น ครูบอกว่าจะพาเด็กลงพื้นที่ ครูต้องใช้คณิตศาสตร์เขียนแผนที่ การคำนวณระยะทาง คิดรายรับรายจ่าย ค่าร้อยละ สมมติทำแบบสอบถามการลงพื้นที่ของเพื่อนในห้อง เด็กต้องใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ครูต้องพาเด็กไปให้ถึง การเขียนสื่อสาร การใช้สื่อเทคโนโลยี ในส่วนของวิชาวิทยาศาสตร์
ในการทำวิชาบูรณาการ ครูต้องเอาตัวชี้วัดมากางเลยนะ ต้องเชื่อมลงไปให้ถึง การเกิดธรณีพิบัติ อุปสงค์ อุปทาน การปกครองในท้องถิ่น เราต้องพาเด็กไปให้ถึงตรงนั้นให้ได้ ให้เด็กรู้สึกว่าสิ่งที่ครูสอนมันมีความหมาย ที่เขาต้องนำไปใช้ได้อย่างแน่นอน
แล้วผลผลิตที่ได้มันชัดเจนว่าเขาวางแผนตัวเองได้ วิชาบูรณาการไม่ได้เน้นเนื้อหาแต่เป็นเพียงสื่อที่เด็กจะได้เป็นนักจัดการ นักวางแผน ดูแลเพื่อน ดูแลสังคม และดูแลตัวเองได้
ชอบตัวเองในบทบาทครู ช่วงเวลาไหนมากกว่ากัน ก่อนหรือหลังสอนแบบบูรณาการ
คงจะไม่บอกว่าชอบหรือไม่ชอบตัวเองนะ (หัวเราะ) แต่เราเองก็เปลี่ยนไปมาก รู้สึกว่าเรามีความเป็นครูมากขึ้น ก่อนหน้านี้เราจะรู้เฉพาะภาษาไทยอย่างเดียว แต่พอต้องบูรณาการทุกสาระ เราต้องรู้ตัวชี้วัดของคนอื่นทั้งหมด เราจะทำยังไงให้ในหนึ่งชั่วโมงนั้นเด็กได้ความรู้ ได้วางเป้าหมายร่วมกัน พัฒนาตัวเองให้ได้มากที่สุด มองว่าเราเหมือนเป็นนักจัดการมากขึ้น วางแผนมากขึ้น ไม่ได้เป็นแค่คนบอกเด็ก การเรียนของเราต้องมีปฏิกิริยาโต้ตอบมากขึ้น ความเป็นครูไม่ได้เป็นนักบงการแต่เป็นนักจัดกระบวนการมากขึ้น เราเองก็ภูมิใจ แล้วเรากับสังคมก็ได้ปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น
รู้สึกอย่างไรที่โรงเรียนอนุบาลสตูลเป็นโรงเรียนนำร่องโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
จริงๆ ไม่ได้อยากบอกว่าเก่งอะไรนะ แต่ ณ วันนี้ ครูพยายามเรียนรู้และเติมเต็มตลอดเวลา อาจจะมีโอกาสได้แลกกับคนอื่นบ้าง แต่ไม่บอกว่าเราเก่งหรืออะไร แต่อาจมีวิธีการสอนที่อาศัยความพยายามจะใฝ่รู้ เราเองพยายามแลกเปลี่ยนกันตลอด
มีอะไรอยากฝากถึงคุณครูท่านอื่นที่กำลังอ่านอยู่ไหมคะ
ความเป็นครู อย่าปิดตัวเอง อย่าหยุดอยู่กับที่ ถึงแม้โลกจะเปลี่ยน เด็กเติบโตขึ้นทุกวัน เพื่อให้ทันกับโลก กับการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน การรับฟังสำคัญมาก ฟังแล้วต้องได้ยินเสียงนักเรียน อย่าพูดอยู่ฝ่ายเดียวต้องฟังนักเรียนด้วย เราจะได้ร่วมกันเรียนอย่างมีความสุข
โรงเรียนอนุบาลสตูล จัดการเรียนการสอนชั้นอนุบาล ถึง ประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ดูแลนักเรียนราว 1,600 คน และเรียกว่าเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดที่หลายครอบครัวฝันส่งลูกมาเรียน ทดลองเปลี่ยนการเรียนการสอนมาใช้โครงงานฐานวิจัย 10 ขั้นตอน ในราวปี 53 หลังจากนั้นทีมบริหารและคณะครูค่อยๆ ผลักให้หลักสูตรเริ่มใช้วิชาบูรณาการอย่างจริงจังและเริ่มขยายวิธีการเรียนการสอนแบบนี้ไปที่โรงเรียนอื่นอีกราว 10 – 15 แห่ง บอร์ดคณะกรรมการสถานศึกษาที่นี่ก็น่าสนใจ เพราะดึงเอาคณะผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ซึ่งผู้ปกครองมาจากหลากวิชาชีพจึงได้รับคำแนะนำจากคนหลายๆ แว่นสายตา โดยเฉพาะจากภาคธุรกิจ ปัจจุบันโรงเรียนอนุบาลสตูล เป็นหนึ่งในโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งออกแบบมาให้เป็นพื้นที่ทดลองปฏิรูปการศึกษาที่เน้นตอบโจทย์คนในท้องที่และใช้นวัตกรรมทางการศึกษาหลากหลายมาพัฒนาผู้เรียน |