- ครูแห่งอนาคตควรทำหน้าที่เป็นโค้ช สร้างแรงบันดาลใจและพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนไต่ระดับการเรียนรู้จากระดับผิว (Superficial) ระดับลึก (Deep) ไปสู่ระดับเชื่อมโยง (Transfer)
- ขั้นตอนและกระบวนการเรียนรู้จากครูต้นเรื่อง ช่วยเปลี่ยนเรื่องยากๆ ให้เด็กเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง เช่น ‘เรียนเศษส่วนจากแผงไข่’ ‘กลไกวิทยาศาสตร์ของคัพเค้กหม้อ’ ‘การเข้าใจหลักภาษาผ่านวรรณกรรม’
- ตัวอย่างการเรียนรู้ภาคสนามที่สร้างประสบการณ์จริงให้เด็ก กับโครงการตามรอยบุคคลต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม กิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และเพิ่มทักษะในหลากหลายด้าน
เมื่อการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 เรียกร้องให้ ‘ครู’ ผันตัวเองจาก ‘ผู้สอน’ มาเป็น ‘ผู้ก่อการ’ (Change Agent) ‘ครูเพื่อศิษย์’ จึงเป็นแนวทางที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ได้อรรถาธิบายไว้ว่า เป็นการเรียนที่ไม่ใช่แค่รู้ แต่เอาความรู้ไปใช้ได้ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย
“เรียนรู้เชื่อมโยงและเป็นที่ประจักษ์ (Visible Learning) ต้องมองกว้าง ทั้งครูและศิษย์แจ่มชัดในคุณค่าการเรียนต่อชีวิตในอนาคต อย่าเรียนแบบถ่ายทอดความรู้ให้เด็กเป็นหลัก แต่เรียนจากการลงมือปฏิบัติ (Active Learning) ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด (Reflection หรือ AAR) ให้เด็กสร้างความรู้ใส่ตัว ไม่ว่าจะเป็นการสะท้อนคิดคนเดียว สะท้อนคิดเป็นกลุ่ม หรือครูสามารถเป็นผู้ช่วยตั้งคำถาม
หลักการเรียนรู้สมัยใหม่สมองมนุษย์เรียนรู้ดีที่สุดผ่านประสบการณ์ แล้วนำประสบการณ์มาคิดแบบใคร่ครวญ เช่น การสะท้อนคิดคนเดียวด้วยการเขียนความเรียง หรือการวาดรูปมายด์แม็พ (Mind Map) ที่ช่วยกระตุ้นความคิดเชื่อมโยงออกไปได้กว้างขวาง”
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช กล่าวในกิจกรรมเวิร์กชอป ครั้งที่ 1 : จัดการความรู้และเติมความรู้ โครงการครูเพื่อศิษย์สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยงออนไลน์ เมื่อวันที่ 21 -22 ธันวาคม 2563 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง โดยย้ำถึงเป้าหมายสำคัญของ Visible Learning ว่าสามารถสร้างการเรียนรู้ รวมกลุ่มกันเรียนรู้จากการปฏิบัติ เพื่อยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนไต่ระดับการเรียนรู้จากระดับผิว (Superficial) ระดับลึก (Deep) ไปสู่ระดับเชื่อมโยง (Transfer)
ทั้งนี้ เพื่อพานักเรียนไปสู่การเรียนรู้เชื่อมโยงและเป็นที่ประจักษ์ ทักษะที่ครูจำเป็นต้องมี คือ การกำหนดเป้าหมาย การออกแบบแผนการเรียนการสอน การสร้างแรงบันดาลใจ การสร้างพื้นที่ปลอดภัย การตั้งคำถามปลายเปิด การประเมินผลลัพธ์ และการปรับปรุงวงจรการเรียนรู้ด้วยวง PLC (Professional Learning Community) ของคณะครูในโรงเรียน โดยเด็กควรได้เรียนรู้ 4 ประเด็นสำคัญ หนึ่ง มีเป้าหมายการเรียนรู้เป็นของตนเอง สอง เห็นผลการเรียนรู้ของตนเอง สาม เห็นพฤติกรรมการเรียนรู้ของตนเอง และ สี่ สามารถพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของตนเองได้
ในกิจกรรมดังกล่าว นอกจากผู้อำนวยการโรงเรียนและคุณครูจากเครือข่ายโรงเรียนต้นแบบจะได้มาแลกเปลี่ยนเติมเต็มความรู้ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ครูต้นเรื่องได้ถ่ายทอดประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนในบริบทที่แตกต่างกัน โดย The Potential ได้เลือก 4 โครงการจาก 4 ครูต้นเรื่องที่ออกแบบการเรียนรู้ให้เด็กๆ สามารถยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ได้อย่างน่าสนใจ
ครูยิ้ม -ศิริมา โพธิจักร : เรียนภาษาไทยไม่น่าเบื่อ ผ่านวรรณกรรม ‘ช่อมะไฟ’
“เราต้องเลือกวรรณกรรมที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัย เพื่อนำมาเชื่อมโยงหลักภาษาไทย และสร้างการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมที่จะทำให้เด็กสนุกกับการเรียน ซึ่งวรรณกรรมแต่ละตอนจะไม่ยาวมาก หนึ่งตอนจะเรียนหนึ่งสัปดาห์และใช้เวลาสอน 4 ครั้ง” ครูยิ้ม – ศิริมา โพธิจักร ครูสอนภาษาไทยที่ใช้วรรณกรรมในการเชื่อมโยงหลักภาษาชั้นป.6 แห่งโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ เกริ่นถึงแนวทางในการออกแบบการเรียนรู้
ครูยิ้มเล่าว่าเธอเริ่มต้นจากสิ่งที่เป็นปัญหาในการเรียนภาษาไทยของเด็กๆ ซึ่งส่วนมากจะเน้นเรื่องความรู้หลักภาษา การฟัง พูด อ่าน เขียน ที่เด็กๆ ต้องถูกต้องตามหลักทุกอย่าง และมีหนังสือแบบเรียนที่ตายตัว ทำให้เกิดการตีกรอบการเรียนรู้ภาษาไทยมากเกินไป จนอาจหลงลืมส่วนที่น่าจะเติมเต็มให้เด็ก นั่นคือ สมรรถนะด้านการสื่อสารและการอ่านจับใจความ อ่านตีความในหลายๆ ระดับได้ ซึ่งจะเป็นการพัฒนากระบวนการสอนภาษาไทยที่ก้าวข้ามข้อจำกัดจากตำราเดิมๆ
โดยเรื่องสั้น ‘ช่อมะไฟ’ หนึ่งงานเขียนของ วิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่แห่งโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เป็นวรรณกรรมที่ครูยิ้มเลือกมาเป็นแบบเรียนภาษาไทยในหนึ่งสัปดาห์ของนักเรียนชั้นป.6 ซึ่งเนื้อหานำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ในครอบครัวของ ‘ช่อ’ เด็กสาวที่พ่อแม่ต้องขายที่นาเพื่อส่งให้เธอเรียนในมหาวิทยาลัย แต่ดันพลาดท้องในช่วงที่เรียนทำให้เรียนไม่จบ กับ ‘น้องก้อย’ ลูกสาวของช่อที่อยู่กับตายาย และรอคอยการกลับมาของแม่อย่างมีความหวัง
“วรรณกรรมในแต่ละระดับชั้นไม่เหมือนกัน เริ่มตั้งแต่อนุบาลจนถึงม.3 เกือบๆ ร้อยเรื่องที่เราใช้ในการสอน อย่างวรรณกรรมช่วงประถมปลาย เช่น เจค็อปคนทำขนมปัง, ฮาจิ รอตราบจนสิ้นใจ, ลูกอีสาน เป็นต้น โดยมีแผนการสอนและวิดีโอประกอบ ซึ่งหลังจากที่เราได้วรรณกรรมแล้วก็จะมาวิเคราะห์ใส่สมรรถนะว่าด้วยเรื่องการคิดขั้นสูงและการสื่อสาร การจัดการตัวเอง การทำงานเป็นทีม สู่ความเข้าใจต่อโลก ต่อปรากฏการณ์ต่างๆ”
กระบวนการเรียนรู้ 4 ระดับ
ก่อนที่ครูจะเอาวรรณกรรมมาสอน สิ่งที่สำคัญคือครูต้องอ่านหนังสือเล่มนั้นอย่างน้อย 2-3 รอบ เพื่อให้เข้าใจว่าแก่นแท้ของเรื่องนั้นผู้เขียนต้องการสื่อสารอะไร แล้วเราอยากที่จะบูรณาการหลักภาษาอะไร สำหรับเรื่อง ‘ช่อมะไฟ’ ครูยิ้มนำชนิดของคำมาเชื่อมโยง โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ทั้ง 4 ขั้น ดังนี้
ขั้นที่ 1 การคาดเดาเรื่อง : เริ่มต้นครูยิ้มจะชวนเด็กๆ คุยถึงคำต่างๆ ที่คัดมาจากเนื้อเรื่อง เพื่อให้เขาได้อ่านได้ลองสะกดและคิดตามว่าเมื่อเห็นคำนี้แล้วจะนึกถึงอะไร หลังจากนั้นนำมาลองแต่งเป็นเรื่องราวตามความคิดของแต่ละคน แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกัน หรือที่เรียกว่า Reflection : Share & Learn ร่วมกัน
ขั้นที่ 2 อ่านจับประเด็น : เป็นขั้นการทำความเข้าใจ อ่านไฮไลท์คำ และสร้างอภิธานศัพท์ โดยครูยิ้มจะอ่านออกเสียงเป็นตัวอย่างก่อนราว 1-2 ย่อหน้า เพื่อให้เห็นจังหวะการวรรค การหายใจ การออกเสียง แล้วอ่านตามหรืออ่านเองในใจจนจบเรื่อง และให้เขาใคร่ควรญความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อเรื่องหรือมีความคิดอะไรผุดขึ้นมาหลังจากอ่านจบแล้วบ้าง เขียนลงในสมุดของแต่ละคนและเล่าให้เพื่อนฟัง
จากนั้นลองให้เด็กเข้ากลุ่มกันเพื่อเขียนแผนภาพลำดับเหตุการณ์ ที่จะประกอบไปด้วยภาพ ข้อความ คำสำคัญ และสถานที่ ตามเวลาของเรื่อง และตอบคำถามที่ครูยิ้มจะใส่เข้าไปเพื่อกระตุ้นให้เด็กคิด เช่น มีตัวละครอะไรบ้าง ตัวละครแต่ละตัวมีบุคลิกอย่างไร? เหตุการณ์เกิดขึ้นในฤดูไหน และภูมิภาคใด ทำไมจึงคิดเช่นนั้น? ‘ช่อมะไฟ’ เกี่ยวข้องอย่างไรกับเรื่องนี้?
หลังจากนั้นให้แต่ละคนกลับมาอ่านเรื่องในใจอีกครั้ง พร้อมกับไฮไลท์คำยาก คำแปลก และประโยคที่ประทับใจ แลกเปลี่ยนความหมายของคำกันในห้องเรียน
ขั้นที่ 3 ตีความใต้บรรทัด : การตีความจะช่วยให้เด็กเข้าใจความคิด ความเชื่อ สังคมและวัฒนธรรมจากบริบทของเรื่องมากขึ้น โดยครูยิ้มจะชวนเด็กๆ คุย และตั้งคำถามเพื่อดึงความคิดและเหตุผลประกอบของเขาออกมา เช่น คิดว่าผู้เขียนเขาต้องการสื่อสารสิ่งสำคัญที่สุดคืออะไร? คิดว่าวรรณกรรม ‘ช่อมะไฟ’ สะท้อนสังคมอย่างไร ทั้งความเชื่อ ค่านิยม ประเพณี และวัฒนธรรม? สะท้อนวิธีคิด วิถีชีวิตในช่วงเวลานั้นอย่างไร?
ขั้นที่ 4 เชื่อมโยงหลักภาษา : มีอยู่ด้วยกัน 3 สเต็ป คือ จัดระบบข้อมูล ฝึกประสบการณ์ และสุดท้ายเด็กๆ ก็จะสามารถสร้างคอนเซ็ปต์ทางภาษาได้ด้วยตัวเอง รูปแบบที่ครูยิ้มใช้ก็คือ ‘บัตรคำ’ เพื่อจัดหมวดหมู่ชนิดของคำทั้ง 7 ชนิด จากนั้นให้เด็กเลือกมาชนิดละ 2-3 คำ เพื่อแต่งเรื่องของตัวเองและวาดภาพประกอบ เป็นการทดลองใช้หรือฝึกประสบการณ์ทางภาษาทั้งการอ่าน เขียน เชื่อมโยง โดยแต่งประโยคและแต่งเรื่องนั่นเอง
“แบบแผนพฤติกรรมที่เปลี่ยนก็คือ เด็กๆ เขาเรียนรู้อย่างสนุก เรียนแล้วมีความสุขไม่รู้สึกเบื่อ อันนี้คิอกระบวนการที่เราใช้วรรณกรรมเข้ามา ส่วนโครงสร้างเราก็บูรณาการไม่ได้ใช้หนังสือเรียนแต่ใช้นิทาน วรรณกรรม เป็นตัวเรียงร้อยเพื่อให้เด็กๆ เขาได้เรียนรู้ ภาษาไทย และสุดท้ายเราก็เชื่อว่าความเชื่อจะเปลี่ยนไปก็คือเขาจะสามารถเข้าใจต่อชีวิตและดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้”
ครูกลอย-เกศรัตน์ มาศรี : เรียนรู้ภาคสนาม ตามรอยต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม
‘Kid ช่วยโลก ตอนตามรอยบุคคลต้นแบบที่ดูแลสิ่งแวดล้อม’ คือชื่อโครงการในหน่วยการเรียนรู้ Problem based learning (PBL) ที่มี ครูกลอย-เกศรัตน์ มาศรี ครูประจำชั้นป.6 แห่งโรงเรียนรุ่งอรุณ กรุงเทพฯ เป็นผู้รับผิดชอบ
ก่อนจะไปเรียนรู้กระบวนการต่างๆ ครูกลอยแชร์ประสบการณ์ที่ได้พาเด็กๆ ไปเรียนรู้ในหน่วยบูรณาการ ซึ่งผสมผสานเชื่อมโยงทั้งวิชาสังคม ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีหรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งโรงเรียนรุ่งอรุณจะจัดการเรียนการสอนเพื่อเชื่อมโยงกับตัวเอง ธรรมชาติและความเป็นจริง โดยระดับชั้นป.6 จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับน้ำและสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อนหน้านี้จะเป็นโครงการตามเส้นทางของน้ำไปเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมจนตัวเองเกิดจิตสำนึก อยากเป็นพลเมืองที่จะเริ่มรักษาหรือดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยตัวเอง
สำหรับการตามรอยบุคคลต้นแบบที่ดูแลสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งไปตามรอยพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล พระวัดป่าที่ไปดูสิ่งแวดล้อม จ.ชัยภูมิ ส่วนอีกกลุ่มตามรอยเจมส์ จอมพล อุ้มมีเพชร ยูทูบเบอร์ที่ผันตัวเองมาทำเกษตรอินทรีย์ ในกรุงเทพฯ
“เนื้อหาเป็นเรื่องที่ใหญ่ แต่เรื่องที่ใหญ่กว่าคือการเข้าใจเด็ก”
ครูกลอยเล่าว่าการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ตัวครูจะต้องเป็น ‘นักออกแบบการเรียนรู้’ ก่อน อันดับแรกครูต้องเข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก อย่าง ป.6 เขาจะชอบความท้าทาย เพราะเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น อยากมีพื้นที่ในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง มีไอดอลเป็นแรงบันดาลใจ แล้วค่อยสร้างตัวตนที่อยากเป็น สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือครูจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องที่จะทำจริงๆ เพื่อออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กเข้าใจอย่างชัดเจน และสุดท้ายครูจะต้องมีวิธีการวัดและประเมินผล ซึ่งประเด็นนี้สำคัญมากต้องสามารถวัดประเมินผลเด็กได้ทั้งรายบุคคลและทั้งทีม เพื่อพัฒนาและเก็บคะแนนได้ด้วย
“การทำโปรเจกต์โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ต้องถามก่อนว่า ปัญหานั้นเป็นปัญหาของใคร? และชัดเจนว่า ปัญหานั้นเป็นของครูที่อยากให้เด็กตอบ หรือเป็นปัญหาที่เด็กอยากทำ และปัญหาควรเป็นเรื่องที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์ด้วยตัวเอง ไม่ใช่สิ่งที่ถูกเมคขึ้นมา ไม่อย่างนั้นเขาจะไม่อินกับสิ่งที่ครูให้โจทย์ไป”
อย่างการศึกษาภาคสนามครั้งนี้เด็กๆ จะมีปฏิสัมพันธ์กับครูใหญ่ เพราะต้องไปขออนุญาตออกนอกพื้นที่ ติดต่อเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกโรงเรียน โดยมีครูกลอยคอยซัพพอร์ททั้งให้กำลังใจและเป็นเบื้องหลัง ซึ่งความจริงแล้วครูต้องรู้ทุกอย่างในโปรเจกต์นี้ เห็นภาพใหญ่ก่อนว่าขั้นตอนเป็นอย่างไรและติดต่อประสานงานทุกอย่างไว้ให้ แต่ไม่บอกเด็กเพื่อให้เขารู้สึกว่าได้ทำเองทุกขึ้นตอน
“ตัวอย่างการออกแบบ การวางแผน ออกภาคสนามตามรอยบุคคลต้นแบบที่รักษาสิ่งแวดล้อมที่จ.ชัยภูมิ ครูจะต้องตั้งเป้าหมาย อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ในการออกแบบของรุ่งอรุณเองจะแบ่งเป็น 3 เป้าหมายหลัก คือ ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skills) คุณค่า (attitude) ที่เขาจะได้จากการประสบความสำเร็จในการทำงานครั้งนี้เกิดฉันทะมีความมุ่งมั่นในการทำงาน ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรก็พร้อมที่จะเผชิญ”
กระบวนการเรียนรู้ 3 ขั้น
ขั้นแรก นำเข้าสู่บทเรียน : ถ้าเป็นเรื่องใหม่จะเป็นการตั้งโจทย์และถาม แต่ถ้าเป็นเรื่องเดิมเราต้องให้เขาเชื่อมโยง อย่างเรื่องนี้เด็กๆ เห็นประโยชน์และผลกระทบของธรรมชาติจากการเรียนเทอมก่อนหน้าแล้ว จึงตั้งคำถามต่อว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาของใคร? แล้วใครจะช่วยแก้ปัญหาหรือดูแลสิ่งแวดล้อมนี้ เด็กตอบว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดจากคนนี่แหละ คนก็ต้องไปช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม “แล้วการจะเรียนรู้แนวคิดและรักษาสิ่งแวดล้อมแบบละเอียดหรือลึกซึ้งจะต้องใช้วิธีไหน?” ครูถามกลับ ซึ่งคำตอบก็คือ การออกไปภาคสนามนั่นเอง จากนั้นแต่ละคนจะเลือกบุคคลต้นแบบมาไม่ซ้ำกันเลย ครูก็จะคอยขมวดจนเข้าที่
ก่อนจะไปต่อครูต้องทบทวนเด็กสักนิดว่า เราต้องเตรียมอะไรบ้างหรือมีขั้นตอนอะไรในการออกภาคสนาม? เพราะเขาเคยออกไปเรียนรู้เรื่องกรุงเทพฯ มาแล้ว โดยให้เข้ากลุ่มย่อยเพื่อช่วยกันคิดแล้วนำเสนอ แล้วมาดูกันว่าขั้นตอนจะเป็นอย่างไร
ขั้นสอง วางแผนและปฏิบัติการ : เด็กๆ จะแบ่งหน้าที่ เลือกกันเองในกลุ่มว่าใครจะไปติดต่อรถโรงเรียน ใครจะติดต่อวิทยากร ใครจะเขียนโครงการเสนอครูใหญ่ ซึ่งตรงนี้ครูจะมีหน้าที่คอยสังเกตการณ์และเข้าไปตั้งคำถามรายกลุ่มว่าเขาพบปัญหาอะไรบ้าง ต้องการให้ครูช่วยดูแลเรื่องอะไร และจะมีคุณครูจากห้องอื่น(ถ้าว่าง)มาสังเกตการสอนและช่วยครูกลอยดูแลเด็กๆ ด้วย
ส่วนที่ขาดไม่ได้ในขั้นนี้คือ กำลังใจ ครูเองต้องมั่นใจว่าเด็กๆ ทำได้และไม่กดดันเขา การตั้งคำถามของครูต้องระวังดีๆ ว่าเป็นการตั้งคำถามเพื่อให้เขาไปต่อ หรือหยุดชะงัก ซึ่งต้องดูบุคลิกของเด็กตอนอยู่ในห้องเรียนด้วย
ขั้นสุดท้าย สรุปการเรียนรู้ : จะมีทั้งการพูดและการเขียน เด็กๆ จะสามารถสรุปด้วยการมาแลกเปลี่ยนว่า เขาทำหน้าที่อะไร ได้เรียนรู้อะไรจากหน้าที่นี้ คิดว่าอยากจะพัฒนาอะไรในสิ่งที่ตัวเองผิดพลาดไป และต้องไม่ลืมถามว่าอะไรที่ทำได้ดีบ้าง เพื่อการสะท้อนตัวเอง นอกจากนี้ยังสามารถสะท้อนเพื่อนได้ด้วย และครูเองก็ต้องกลับมาบันทึกแผนการสอนของตัวเองด้วย คำถามบางคำถามใช้ไม่ได้เพราะว่าเด็กอาจไม่เข้าใจ ครุต้องมีชุดคำถามในใจสำรองไว้เพื่อปรับไปตามบริบทและความเข้าใจของเด็ก
“ทักษะ เราสามารถเรียนรู้ได้จากการสื่อสารของเด็กทั้งการพูดและการเขียนว่าเขาคิดเชื่อมโยง คิดวิเคราะห์จากการวางแผนได้มากน้อยแค่ไหน เขามีเหตุผลมาสนับสนุนหรือไม่ และสุดท้ายคุณค่า ครูจะดูจากพฤติกรรมการทำงาน จากการเขียนสรุปการเรียนรู้ทั้งหมด ซึ่งกระบวนการทั้งหมดครูกลอยไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง สิ่งที่สำคัญคือทีมเวิร์กแล้วก็เบื้องหลัง มีครูของครูที่คอยสะกิดว่าสิ่งที่เราทำมาถูกทางหรือเปล่า มีทีมผู้บริหารที่ท่านทำงานไปกับเรา เข้าใจภาพรวมและพัฒนาตัวครูไปด้วย”
การใช้ปัญหาเป็นฐานการเรียนรู้ ครูจึงวางตัวเป็น ‘โค้ช’ ให้เด็กได้สวมบทบาทอื่นนอกจากการเป็นนักเรียน เช่น การติดต่อประสานงาน วางแผนและออกแบบกระบวนการ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงเป็นนักสิ่งแวดล้อมที่เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง
ครูแนนนี่-กนกวรรณ แหวนเพ็ชร : เรียนรู้วิทยาศาสตร์ กับคัพเค้กเจ้าปัญหา
อีกหนึ่งการเรียนรู้ในหน่วย Problem Based Learning เมื่อเด็กๆ อยากทำเค้ก แต่ที่บ้านไม่มีเตาอบ ครูแนนนี่-กนกวรรณ แหวนเพ็ชร แห่งโรงเรียนบ้านปลาดาว จ.เชียงใหม่ จึงเป็นโค้ชในโปรเจกต์ให้เด็กป.2 ได้เรียนรู้จากปัญหา สร้างสมมติฐาน คิดสร้างสรรค์ และลงมือปฏิบัติ กับ คัพเค้กหม้อ ปัญหา “อยากทำเค้กแต่ไม่มีเตาอบ”
โดยครูแนนนี่ตั้งเป้าหมายสำหรับโปรเจกต์นี้ไว้ว่า เพื่อฝึกทักษะการคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นระบบ ให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ และมีส่วนในการเลือกสิ่งที่สนใจมาเรียนรู้ เพื่อค้นพบสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม หรือวิธีการแก้ไขปัญหา โดยใช้กระบวนการ ‘EDICRA’ ซึ่งเป็นนวัตกรรมของโรงเรียนบ้านปลาดาว และฝึกการสื่อสารผ่านการนำเสนอผลงานด้วย
กระบวนการเรียนรู้ EDICRA
สำรวจปัญหา (Explore) เพื่อให้ได้ปัญหาที่พอจะจับกลุ่มกันได้ จากตัวอย่างกลุ่มเด็กอยากทําเค้ก แต่ปัญหาคือที่บ้านไม่มีเตาอบ ครูแนนนี่จึงชวนเด็กๆ คิดว่าเราจะทําด้วยวิธีแบบอื่นได้ไหมนะ? ขั้นนี้ครูจะสำรวจว่า เด็กรู้อะไรมาแล้ว ยังไม่รู้อะไร และต้องรู้อะไร จากนั้นให้ระบุว่าสิ่งที่เขาจะทำคืออะไร (Define) โดยเริ่มจากพาเด็กๆ ไปสำรวจห้องครัวของโรงเรียน จากนั้นตั้งคำถามว่า อุปกรณ์ในห้องนี้มีอะไรสามารถใช้อบเค้กได้บ้าง เพื่อจุดประกายความคิด และชวนหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน
จากนั้นก็ให้เด็กๆ ไปสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต หนังสือ และถามผู้รู้ (Investigate) แต่ปัญหาที่พบคือ เขาลอกจากอินเทอร์เน็ตโดยขาดการสรุปใจความสำคัญ ครูแนนนี่จึงต้องเข้าไปชวนคิดและหาคำตอบร่วมกันอีกครั้ง ถามในสิ่งที่เขายังไม่เข้าใจและเติมความรู้ให้ด้วย
ตามมาด้วยการสร้างนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาขึ้นมา (Create) นั่นคือการทดลองทําคัพเค้กหม้อ เด็กๆ วางแผนวิธีการอบเค้กโดยใช้กระบวนการ Steam Design Process นำไปสู่การทดลองผสมแป้งเค้กใส่พิมพ์ แล้ววางพิมพ์ที่เป็นกระดาษบนกระทะ โดยครูเป็นผู้สังเกตอยู่ใกล้ๆ แต่เมื่อผ่านไป 10 นาที เริ่มมีกลิ่นไหม้ครูแนนนี่จึงให้ปิดไฟ ปรากฏว่าเค้กไหม้ ตั้งคำถามต่อว่า ทำไมกระทะและถ้วยคัพเค้กถึงไหม้ แล้วการไหม้เกิดจากอะไร?
“สิ่งที่เขาต้องกลับไปหาข้อมูลเพิ่มเติม คือการเปลี่ยนแปลงของวัสดุเมื่อเกิดความร้อน ซึ่งกระบวนการนี้เราสามารถมีกระบวนการกลับขึ้นไปได้เมื่อเรายังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ ซึ่งเขาไปถามครูวิทยาศาสตร์ก็ได้คำตอบว่า กระดาษกับความร้อนเมื่ออยู่ด้วยกันก็จะเกิดการเผาไหม้ แล้วคำถามต่อมาก็คือ เราต้องแก้ไขตรงไหนก่อน”
วันต่อมาเด็กกลับมาพร้อมกับน้ำมันพืช ถ้วยฟรอยด์ และที่รองหม้อ ทำการทดลองใช้น้ำมันเทก้นหม้อเพื่อไม่ให้หม้อไหม้ ใช้ถ้วยฟรอยด์แทนถ้วยกระดาษ และใช้ที่รองหม้อเพื่อไม่ให้ถ้วยคัพเค้กโดนน้ำมัน ซึ่งก็ได้ผลแต่เค้กมีกลิ่นน้ำมันติดมาด้วย จากนั้นก็สะท้อนความคิดออกมาว่าดีหรือยัง (Reflect) และสร้างความแตกต่างจากนวัตกรรม (Act) แก้ปัญหาที่ตัวเองค้นพบให้กับผู้อื่น ซึ่งกระบวนการสุดท้ายเด็กจะเผยแพร่ไปยังชุมชนตัวเอง ทั้งชุมชนในโรงเรียนนอกโรงเรียน เพื่อให้ความรู้ของเขา และสิ่งที่เขาค้นพบไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน
“3 สัปดาห์สุดท้าย เขาจะต้องเตรียมนำเสนอข้อมูลตามสภาพจริงว่าได้ผลหรือไม่ ซึ่งเด็กๆ ไม่จำเป็นต้องได้ผลและสามารถแก้ปัญหาของตัวเองได้ทุกเรื่อง เพียงสรุปออกมาว่าสำเร็จตามเป้าหมายไหม หากไม่สําเร็จสามารถเก็บปัญหาที่เจอไปใช้ในเทอมต่อไปได้”
ครูสุ-สุภาพร กฤตยากรนุพงศ์ : แผงไข่ไขปริศนา ‘เศษส่วน’ วิชาคณิตศาสตร์
หลังจากทำการทดลองวิทยาศาสตร์ในครัวกันมาแล้ว อีกหนึ่งวิชาที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเด็ก คือ คณิตศาสตร์ ซึ่งยากต่อการใช้กิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องที่ซับซ้อนอย่าง ‘เศษส่วน’ แต่ไม่ใช่กับโรงเรียนเพลินพัฒนา โรงเรียนทางเลือกในกรุงเทพฯ โดยมี ครูสุ-สุภาพร กฤตยากรนุพงศ์ ครูสอนคณิตศาสตร์ชั้นป.3 เป็นโค้ชหลักในการสอนเศษส่วน ด้วยนวัตกรรมแผงไข่ ซึ่งจะเรียนรู้ผ่านกิจกรรม การสังเกต และลงมือทำ โดยอุปกรณ์ที่เรียบง่ายและราคาถูก
และนอกจากครูจะเป็นโค้ชแล้ว ยังต้องเป็น ‘นักวางลำดับ’ ทําความเข้าใจการเรียนรู้ของตัวเองและลําดับการเรียนรู้ของเด็กให้ชัดก่อน จากนั้นจะสามารถเชื่อมสถานการณ์ให้เข้ากับแผนความเข้าใจคณิตศาสตร์ที่ครูต้องการให้เด็กเรียนรู้ และต้องเห็นภาพรวมลําดับการเรียนรู้ของเด็กกับกิจกรรม เพื่อพาเด็กเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
“ซึ่งเด็กจะรู้จักเศษส่วนมาก่อนแล้ว ทั้งความหมาย การอ่านค่า และแรเงาเศษส่วน ซึ่งเป็นความรู้สะสม (Met before) ที่มาจากประสบการณ์การเรียนรู้ที่สะสมอยู่ในตัวผู้เรียน ทั้งการเรียนรู้ในภาคทฤษฎีและปฏิบัติที่มีมาก่อนหน้า แต่ความรู้ใหม่ที่เขาต้องได้คือการเปรียบเทียบเศษส่วน”
กระบวนการเรียนรู้
เริ่มแรกครูสุถือแผงไข่เข้าห้องเรียนแล้วให้เด็กๆ ลองสังเกตว่าเห็นอะไรบ้าง เด็กตอบว่า แผงไข่มีจำนวนช่องที่ต้องใส่ไข่แนวตั้งแนวนอนไม่เท่ากัน ซึ่งบางคนก็ยังไม่เชื่อและลองนับเพื่อพิสูจน์ ปรากฏว่าแผงไข่แนวตั้งมี 5 ช่อง ส่วนแนวนอนมี 6 ช่อง ซึ่งขั้นตอนนี้เด็กๆ จะตื่นเต้นมาก
จากนั้นก็เริ่มกิจกรรมนอกห้องเรียนได้เลย โดยให้โจทย์ก่อนจะเริ่มเรียนเพื่อเป็นการเช็คความรู้สะสม โดยโชว์แผงไข่แล้วถามต่อว่า ถ้าครุสุต้องการเศษ 1 ส่วน 5 ของแผงไข่จะทำอย่างไร? เด็กตอบว่า แบ่งแผงไข่ออกเป็น 5 ส่วน แล้วเรียงแค่แถวเดียว ซึ่งจะได้ 6 ฟอง เด็กอีกคนตอบเสริมว่า ทั้งแผงจะมีไข่ทั้งหมด 30 ฟอง จะเห็นว่าเขาใช้ความรู้เดิมเรื่องการคูณ แน่นอนว่ายังมีเด็กที่ไม่เข้าใจอยู่ แต่ครูสุยังไม่เฉลย ไม่เช่นนั้นเด็กจะไม่เกิดการเรียนรู้
“ครูสุแบ่งกลุ่มเด็กๆ และให้โจทย์ว่า ตักไข่ให้ได้เศษ 2 ส่วน 5 ของแผงไข่ ทุกคนตักกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ถูกและยังไม่ถูก โดยยังไม่เฉลยเพราะถ้าบอกว่ากลุ่มนี้ถูกกลุ่มนี้ผิดเด็กจะเกิดอาการบางอย่างขึ้น แต่ใช้วิธียกแผงไข่ของกลุ่มที่ถูกขึ้นมา เด็กกลุ่มที่ผิดเขาก็มองแผงไข่ พอเห็นว่าไม่เหมือนกันเขาก็เริ่มถกกันในกลุ่ม สุดท้ายก็ไปลองทำความเข้าใจเมื่อรู้ว่าแบ่งแผงไข่ไม่ถูกก็แบ่งใหม่ จะเห็นว่าเด็กๆ ได้เรียนรู้การแบ่งแผงไข่อย่างถูกต้องโดยที่ครูสุยังไม่ได้สอนทฤษฎีด้วยซ้ำ”
เท่านั้นยังไม่พอ ครูสุเช็คความมั่นใจว่าเด็กๆ เข้าใจจริงหรือไม่ โดยให้โจทย์ข้อที่ 3 คือ แบ่งให้ได้ครึ่งหนึ่งของแผงไข่ ปรากฏว่าเด็กๆ แบ่งกันได้อย่างมั่นใจ รวดเร็ว และถูกต้อง ลองให้เขาทำซ้ำๆ กับโจทย์ที่ต่างออกไปสัก 2-3 รอบ และเพิ่มโจทย์ที่ท้าทายก่อนเข้าสู่สถานการณ์ คือ ตักไข่ให้ได้มากกว่าของครูสุ คือ เศษ 1 ส่วน 6 ของแผงไข่ เด็กตอบทันทีว่า แค่ตักเพิ่มอีกหนึ่งแถวก็ได้มากกว่าแล้ว ซึ่งไม่มีกลุ่มไหนทำผิดเลย
“คาบเรียนนี้มีเด็กคนหนึ่งพูดขึ้นมาเลยว่า สนุกมากเลย เป็นการเรียนรู้ที่เข้าใจสุดๆ จากการทำกิจกรรมเรื่องแผงไข่”
จากโจทย์สถานการณ์ เมื่อเด็กๆ เรียนเศษส่วนที่ตัวส่วนเท่ากันแล้ว เขาจะต้องเปรียบเทียบเศษส่วนที่ตัวส่วนไม่เท่ากันได้ด้วย นี่เป็นโจทย์ในห้องเรียนที่ครูสุเตรียมไว้ให้เด็กๆ หลังจากที่ออกไปทำกิจกรรมนับแผงไข่นอกห้องเรียน ซึ่งเด็กแต่ละคนจะได้ลงมือแก้โจทย์เอง โดยใช้ความรู้จากตัวส่วนเท่ากันในการเปรียบเทียบมาใช้สร้างความรู้ใหม่ในการเปรียบเทียบตัวส่วนไม่เท่ากัน และเด็กก็สรุปการเรียนรู้กลับมา
“เราไม่ได้สิ้นสุดแค่นี้ หน้าที่ครูสุเป็นโค้ชก็ต้องพัฒนาทีมต่อไป แต่ยังคงใช้กิจกรรมแผงไข่เหมือนเดิม เราพบว่านอกจากเด็กเกิดการเรียนรู้ของตัวเองแล้ว เด็กยังเห็นการเรียนรู้ของเพื่อน และครูยังได้เห็นการเรียนรู้ของเด็กด้วย ซึ่งนี่เป็น Visible learning ในมุมของครูสุเอง” ครูสุ แห่งโรงเรียนเพลินพัฒนา ทิ้งท้าย
โครงการ ‘ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยงออนไลน์’ หรือ Online PLC Coaching ริเริ่มโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ เครือข่ายโรงเรียนต้นแบบทั่วประเทศ จัดตั้ง ชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Learning Community) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียน ผ่านการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ของ “ครู” ตามแนวทาง “ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง” นำไปสู่การปฏิบัติงานจริงของ “ครูแกนนำ” โดยมีเวิร์คชอป “จัดการความรู้และเติมความรู้ฯ” เป็นกิจกรรมเติมเต็มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูจากเครือข่ายโรงเรียนต้นแบบกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา |