Skip to content
การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Education trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skills
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้
Everyone can be an Educator
12 July 2021

เพจวิเคราะห์บอลจริงจัง: สนามความรู้ที่มากกว่าเกมกีฬา พื้นที่แสดงวิชาของ ‘วิศรุต สินพงศพร’

เรื่อง ปริสุทธิ์

  • ค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่รักนั่นคือ ความคลั่งไคล้กีฬามากๆ ซึ่งไม่ใช่การเป็นนักกีฬาที่เก่ง ทว่าเส้นทางสายกีฬาในฝันของเขาคือสื่อมวลชนสายกีฬา นำไปสู่ความสำเร็จของเพจ ‘วิเคราะห์บอลจริงจัง’ ที่จริงจังกับประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ไม่น้อยไปกว่าการแข่งขันในเกม
  • เพจกีฬานี้จึงกลายเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ไปโดยปริยาย…“ทำไมคนรักกีฬาจะรักการอ่านด้วยไม่ได้ นี่เป็น Motto ของเพจเลย พอพูดถึงกีฬาคนมักจะนึกถึงผลการแข่งขัน เรื่องของการยิงประตูสวยๆ การเซฟสวยๆ หรือการล้อกันระหว่างแฟนบอล แมนยู-ลิเวอร์พูล อะไรแบบนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องกีฬามีความซับซ้อนเชิงอื่นๆ มากมาย เช่น เชิงสังคม หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับเราแล้วเราได้ข้อคิดอะไรสักอย่าง ก็เลยอยากให้มันไปในทิศทางนั้น”

จากความฝันของเด็กผู้ชายที่หลงใหลกีฬาเป็นชีวิตจิตใจ สู่คนทำคอนเทนต์กีฬาที่โด่งดังในโลกโซเชียล วิศรุต สินพงศพร แอดมินผู้ก่อตั้งเพจ ‘วิเคราะห์บอลจริงจัง’ เล่าถึงเส้นทางที่แม้จะไม่ได้ถูกขีดไว้แต่แรก แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งที่เชื่อโดยไม่ทิ้งแพสชั่นของตัวเอง บวกกับบุคลิกที่เป็นคนชอบแสวงหาความรู้ ทำให้เพจกีฬาที่เขาปลุกปั้นมากว่า 5 ปี ยืนหนึ่งในด้านการให้ข้อมูลความรู้ รอบด้าน อ่านสนุก และเกิน 8 บรรทัด

“ทำไมคนรักกีฬาจะรักการอ่านด้วยไม่ได้” เขาว่านี่คือ Motto ของเพจ

The Potential อาสาพาไปเยือนถิ่นเจ้าบ้าน ค้นมุมมองความคิดที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเพจวิเคราะห์บอลที่จริงจังกับประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ไม่น้อยไปกว่าการแข่งขันในเกม

สนามชีวิตที่ลิขิตเอง

ก่อนจะมีเพจเป็นของตัวเอง เส้นทางการเรียนของวิศรุตไม่ได้ปูทางมาบนถนนสายสื่อมวลชนแม้แต่น้อย เขาไม่ได้เรียนจบด้านนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชน หรือแม้แต่คณะวิชาที่เกี่ยวข้องกับกีฬา แต่เขาคือบัณฑิตด้านมานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งตัดสินใจเลือกเรียนด้านนี้โดยได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง O-Negative หลังจากเรียนจบ ม.6 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ฝันเล็กๆ ของเขาจึงเป็นการได้เข้าไปใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร

ถึงจะไม่ได้มีปัญหากับสิ่งที่เรียน แต่เมื่อถามใจว่าใช่สิ่งที่รักหรือเปล่า เขาก็ตอบว่า “ไม่” ระหว่างเป็นนักศึกษาจึงเป็นช่วงเวลาค้นหาตัวเอง จนพบว่าเขาคลั่งไคล้กีฬามากๆ มากเสียจนอยากจะอยู่กับมันไปตลอด ทางที่เรียนจึงไม่ใช่ทางที่เลือกของชีวิตหลังจากพ้นรั้วมหาวิทยาลัย

ทว่าถึงจะรักแต่เขาก็ไม่ใช่นักกีฬาที่เก่ง เส้นทางสายกีฬาในฝันของเขาคือสื่อมวลชนสายกีฬา

“การเป็นสื่อมวลชนด้านกีฬาคือสิ่งที่ผมเลือกตั้งแต่ยังเรียนไม่จบเลย ส่วนที่ผมเรียนด้านมานุษยวิทยา ได้ไปอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์ อยู่กับชุมชน ซึ่งมันก็ไม่ได้เกี่ยวกับงานที่ทำโดยตรง แต่จะมีเรื่องทักษะด้านการเขียนที่เรียนและทำวิทยานิพนธ์ แต่ก็ไม่ได้เจาะจงว่าจะมาทางสายสื่อได้ การที่ผมเลือกมาทำงานสื่อมันเป็นแพสชั่นของเราเอง โดยไม่ได้อิงกับที่เรียน”

หลังเรียนจบเขาไล่ตามแพสชั่นของตัวเอง ด้วยการเริ่มชีวิตการทำงานกับหนังสือพิมพ์ฟุตบอลชื่อ Kick Off ในเครือของฐานเศรษฐกิจ จนได้รับโอกาสถูกส่งตัวไปเป็นผู้สื่อข่าวประจำที่ประเทศอังกฤษเกือบ 2 ปี ช่วงเวลา ณ ดินแดนที่บอลฟุตบอลคือจิตวิญญาณของผู้คนเขาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์อย่างมากมาย กระทั่งถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อ Kick Off ปิด จึงกลับมาไทยแล้วได้ทำงานกับสื่ออีกหลายแห่ง อาทิ Mars, สยามกีฬา และ WorkpointToday ในที่สุด

วิศรุต สินพงศพร แอดมินผู้ก่อตั้งเพจ ‘วิเคราะห์บอลจริงจัง’

กว่าจะเป็นเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง

“เมื่อก่อนตอนผมอยู่สยามกีฬา ได้ทำมาหลายแบบแล้ว ได้เป็นผู้ประกาศข่าว อ่านข่าว พากย์บอล สุดท้ายคือทำคอนเทนต์ออนไลน์ ผมคิดว่าความฝันของเด็กผู้ชายที่อยากทำสื่อกีฬา หลายคนอยากเขียนลงหนังสือสตาร์ซอคเกอร์ แต่สตาร์ซอคเกอร์ก็มีแค่ 40 หน้า พื้นที่มีจำกัด ก็ต้องเป็นพวกพี่บอ.บู๋ (บูรณิจฉ์ รัตนวิเชียร) พี่แจ๊คกี้ (อดิสรณ์ พึ่งยา) ที่เขาดังๆ ถึงจะมีพื้นที่ของเขา แต่เรามีไอเดียที่จะเขียนเรื่องฟุตบอลทุกวันเลย พอเห็นประเด็นอะไรมาปุ๊บก็อยากเขียนๆ แต่ไม่มีพื้นที่ เพราะหนังสือพิมพ์มีให้แค่แต่ซีเนียร์ไงตอนนั้น เราก็คิดว่าน่าจะเปิดช่องทางของตัวเองไปเลย” วิศรุต เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเริ่มทำเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง

ในช่วงแรกเพจนี้ยังเป็นเพียงพื้นที่ปลดปล่อยตัวเองของเขา แต่พอทำด้วยแพสชั่นส่วนตัวไปประมาณหนึ่งปี จากเพจที่คิดเห็นอะไรก็เขียนไปเรื่อยๆ ไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ทำให้ยอดไลค์เพจขึ้นช้าแล้วแน่นิ่งอยู่ที่ประมาณ 4,000 ไลค์ เขาจึงลองโยนหินถามทางไปยังลูกเพจว่าควรเอาอย่างไรต่อดี

“ผมถามลูกเพจว่าที่เราเขียนนี่ชอบหรือเปล่า หรือเราควรไปทำวิดีโอตามสมัยนิยมไหม หรือภาพอินโฟกราฟิกที่เข้าใจง่ายๆ เพราะสมัยนี้เทรนด์มันเป็นแบบนั้น คนยุคนี้ชอบอะไรที่มันรวดเร็ว ชอบกราฟิกหรือคลิปสั้น ถามลูกเพจที่มี 4,000 กว่าคนว่าต่อไปถ้าเกิดผมเปลี่ยนแนวจากเขียนให้อ่านกันเป็นทำกราฟิกจะโอเคไหม ลูกเพจก็บอกว่าเขียนแบบนี้ดีแล้ว คนทำกราฟิกมีเยอะ คนเขียนมีน้อย ยิ่งสายกีฬาที่เขียนลงเพจให้อ่านฟรีๆ ไม่มีหรอก ก็เลยฮึดทำต่อ

ทำให้เรารู้ว่ามีฐานคนกลุ่มหนึ่งที่เขาชอบการอ่าน ชอบการอ่านจริงๆ รอคอยที่จะตามอ่านทุกเช้า เราก็เลยตัดสินใจว่าจะมาทางนี้แล้วกัน คนอื่นจะกราฟิกหรือวิดีโออย่างไรเราก็คงไม่ไปตามเขา เรามาสายเขียนของเราดีกว่า”

การเกิดขึ้นของเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง ณ ขณะนั้นแทบไม่มีคู่แข่งเลย แม้จะมีเพจเกี่ยวกับฟุตบอลอยู่มากมาย แต่กลับแทบไม่มีเพจแนววิเคราะห์เชิงลึกหรือมีเนื้อหาในมุมกว้างสักเท่าไร ทว่าคาแรกเตอร์ของเพจที่ลุ่มลึกแบบนี้ เจ้าของเพจบอกว่าไม่ได้ตั้งใจตั้งแต่แรก แต่ความสนใจของเขาเองที่ไม่ได้หยุดแค่กีฬา ทั้งยังเป็นคนชอบอ่าน ชอบแสวงหาความรู้ ทำให้งานเขียนของเขามีมิติที่มากกว่า

“เรื่องกีฬามันเชื่อมโยงหลายมิติของสังคมได้หมดเลย ผมเคยเขียนเรื่องเด็ก 13 คนที่ติดถ้ำหลวงฯ คือมีคนด่าเด็กว่าเล่นอะไรทำให้คนอื่นเขาเดือดร้อนกันทั่วประเทศ แต่เราคิดว่าเด็กก็คือเด็ก แล้วมันก็ได้เรียนรู้นะ มีข้อดีเยอะแยะจากการเข้าไปช่วยเหลือเด็กติดถ้ำครั้งนี้ เราก็รู้สึกอย่างนั้นก็เลยเขียนลงเพจเลย อันนั้นคนแชร์ไป 60,000 กว่า เลยคิดว่าบางทีคนก็อาจแค่ชอบภาษาเรา ไม่ว่าจะเขียนเรื่องอะไรก็ได้ อาจจะมีพื้นฐานเรื่องกีฬาเป็นหลักไว้ก่อนแต่เอาเรื่องอื่นมาเชื่อมโยงบ้างบางที”

ความมีมิติของคอนเทนต์ที่วิศรุตสร้างสรรค์ขึ้นนั้น มักจะเล่าไปถึงเรื่องประวัติศาสตร์, สังคม, การตลาด ฯลฯ โดยมีฉากหลังเป็นฟุตบอลหรือกีฬาอื่น ตัวอย่างเช่นในศึกยูโรครั้งล่าสุดที่ปรากฎชื่อประเทศ ‘นอร์ธ มาซิโดเนีย’ พร้อมกับดรามา อาร์เนาโตวิช นักฟุตบอลของออสเตรีย ไปด่าเอลิออสกี้ นักฟุตบอลนอร์ธ มาซิโดเนีย จนกลายเป็นประเด็นเหยียดเชื้อชาติ เขาก็เล่าย้อนไปตั้งแต่หน้าประวัติศาสตร์ของยูโกสลาเวีย ก่อนจะวิเคราะห์ให้เห็นถึงปมที่ร้าวลึกระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในภูมิภาคนี้ (อ่านรายละเอียดใน https://www.blockdit.com/posts/60cac06257337d0c7dfe0e1f)

หรือกรณีการขยับขวดโค้กอันโด่งดังของคริสเตียโน่ โรนัลโด้ ก่อนการแถลงข่าวเกมเปิดสนามในศึกยูโร 2020 ของทีมชาติโปรตุเกส ที่ประจวบเหมาะกับเหตุการณ์ที่หุ้นของโคคา-โคล่า ตกฮวบ หากมองผ่านๆ ก็น่าจะจบลงด้วยความเข้าใจว่าเพราะนักเตะระดับโลกทำอย่างนั้น หุ้นของบริษัทน้ำอัดลมจึงตก แต่สิ่งที่วิศรุตมองและเขียนมีมุมมองมากกว่านั้น

บางส่วนจากเนื้อหาเขาเขียนว่า “…ในวันที่โรนัลโด้พูดคำว่า “อะ-กวา” ออกมา หุ้นของโคคา-โคล่า ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ก็หล่นลง จากเดิม 242,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือ 238,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หุ้นตกไป 4,000 ล้านเหรียญ 

นั่นทำให้สื่อต่างๆ แชร์กันแหลกว่า คำพูดของอินฟลูเอนเซอร์หนึ่งคน ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อแบรนด์ขนาดนี้ และเครื่องดื่มโค้ก ต้องโมโหโรนัลโด้มากๆ แน่ๆ ที่มาทำให้หุ้นของบริษัทต้องร่วงลงอย่างน่าใจหาย 

กระแสข่าว โรนัลโด้ทำหุ้นตก กระจายไปทั่วทั้งโลก และใครๆ ก็เชื่อแบบนั้น ว่าอินฟลูเอนเซอร์หนึ่งคน มีผลกระทบอย่างมหาศาลกับโปรดักต์ได้จริงๆ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่นานนัก สื่อมวลชนสายเศรษฐกิจ ก็ออกมาวิเคราะห์ว่า การหุ้นตกของโค้ก ไม่ได้เกี่ยวกับโรนัลโด้ขนาดนั้นเสียหน่อย…

…จากหลักฐานพอจะบอกได้ว่า หุ้นของโคคา-โคล่า มันก็ร่วงของมันอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวว่าโรนัลโด้จะพูดหรือไม่พูด เพียงแค่เป็นจังหวะที่ตรงกันพอดี 

ในเช้าวันที่ 14 มิถุนายนเป็นจังหวะที่ตลาดซบเซาพอดี แม้แต่หุ้นของฟอร์ด มอเตอร์ ก็ลดลง 2 พันล้านดอลลาร์เช่นกัน ดังนั้นการไปบอกว่า ที่โรนัลโด้เลื่อนขวดโค้ก จะทำให้หุ้นตกในระดับพันล้านดอลลาร์ ถือว่าเป็นการเหมารวมเกินไปหน่อย…”

เมื่อเพจฟุตบอล…ต้องสอนอะไร

วิศรุตอธิบายว่าแต่ละคอนเทนต์ที่ผลิตขึ้นมา เขามีเงื่อนไขอยู่ 4 ข้อ 

“เคยมีคนสอนว่าเวลาจะสร้างคอนเทนต์อะไรสักอย่าง ต้องดูว่า หนึ่ง มันเป็น Talk of The Town หรือเปล่า ถ้าเกิดไม่ใช่เราก็ต้องดูว่าเราให้อะไรสังคม ถ้าเราไม่ได้ให้อะไรต่อสังคม ก็ต้องดูว่าถ้าเขียนไปแล้วแบรนด์เราจะได้อะไร มันจะสร้างภาพบวกให้แบรนด์เราหรือเปล่า หรือว่าถ้าไม่ใช่ทั้งสามอย่างนั้น ก็ต้องดูข้อสุดท้ายว่ามันสร้างรายได้หรือเปล่า จะมีสี่กระบวนการในการคิด ถ้าเกิดเราเขียนอะไรสักเรื่องแล้วไม่ตอบโจทย์อะไรเลย ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะทำมัน ก็ต้องคิดก่อน เพราะเราตื่นมาปุ๊บ คอนเทนต์มันมีมากมายเต็มไปหมด เป็นล้านๆ อย่าง แล้วทำไมเราต้องเลือกสิ่งนี้ที่จะทำในแต่ละวัน”

ซึ่งการวางแนวทางของเพจเป็นเพจกีฬาที่มาพร้อมสาระ วิศรุตมองว่าถ้าเทียบงานเขียนเป็นผลงานของศิลปินอย่างหนึ่ง ศิลปินบางคนเลือกทำผลงานโดยดูเทรนด์สังคมว่าตอนนี้กำลังสนใจอะไร แล้วจึงทำสิ่งที่ตอบโจทย์ กับอีกแบบที่อยากทำก็ทำไปเลย ไม่ต้องสนใจกระแสสังคม ซึ่งเพจวิเคราะห์บอลจริงจังเป็นแบบนั้น

สิ่งที่ตามมาคือเพจกีฬาของเขาจึงกลายเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ไปโดยปริยาย…

“ทำไมคนรักกีฬาจะรักการอ่านด้วยไม่ได้ นี่เป็น Motto ของเพจเลย พอพูดถึงกีฬาคนมักจะนึกถึงผลการแข่งขัน เรื่องของการยิงประตูสวยๆ การเซฟสวยๆ หรือการล้อกันระหว่างแฟนบอล แมนยู-ลิเวอร์พูล อะไรแบบนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องกีฬามีความซับซ้อนเชิงอื่นๆ มากมาย เช่น เชิงสังคม หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับเราแล้วเราได้ข้อคิดอะไรสักอย่าง ก็เลยอยากให้มันไปในทิศทางนั้น”

ตัวตนของวิศรุตที่เด่นชัดเป็นตัวตนของเพจ อาจทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าแล้วคอนเทนต์ที่ ‘ดี’ ในแบบเขาจะ ‘ดัง’ แบบคนอื่นได้หรือเปล่า โดยเฉพาะเพจกีฬาที่มีโอกาสไปเกี่ยวพันกับการพนันออนไลน์ได้และอาจสร้างรายได้จากธุรกิจสีเทาเป็นกอบเป็นกำ

แอดมินเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง ยืนยันด้วยตัวเลขการแชร์หลักหลายหมื่นในหลายคอนเทนต์ ไม่รวมกับยอด reach ที่โตแบบก้าวกระโดดนับตั้งแต่เขาเลือกแนวทางเพจให้อัดแน่นด้วยสาระความรู้ ผลพลอยได้คือมีโฆษณาเข้าตลอด โดยไม่ต้องพึ่งพาสิ่งผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่แลกมากว่าจะได้คอนเทนต์คุณภาพ คือการทำงานอย่างหนัก

วิศรุตเล่าว่าเขาใช้เวลาปั้นแต่ละชิ้นอย่างน้อย 5 ชั่วโมง แบ่งเป็นการค้นคว้าเกินกว่าครึ่งแล้วจึงเขียนด้วยภาษาของเขา

“ผมทั้งอ่านหนังสือ และจริงๆ ในเว็บไซต์ก็มีแทบทุกอย่างแหละ อยู่ที่ว่าเราตั้งใจค้นหาหรือเปล่า แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องวางพล็อตเรื่องก่อน ต้องมี Outline บางทีผมก็ต้องเขียน Story Board ไม่ใช่ว่าเขียนส่งเดช ต้องคิดก่อนว่าจะเริ่ม เล่า จบ อย่างไร ทุกครั้งที่จะเขียนก็คิดก่อนว่าจะจบไปที่ตรงไหน แล้วค่อยๆ เริ่มเขียนไป 

มีคนถามว่าผมมองตัวเองเป็นใคร ในคำอธิบายของเพจเขียนว่า Writer ส่วนคนอื่นจะตีความว่าเป็นนักข่าว เป็นสื่อ หรือเป็นบล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ ก็แล้วแต่เขา แต่เรานิยามตัวเองว่าเป็นนักเขียนครับ”

ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป กีฬาในสายตาคนรุ่นใหม่ก็เปลี่ยนแปลง

หากส่องหลังบ้านของเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง จะเห็นว่าส่วนมากคือคนรุ่นใหม่จนถึงวัยทำงาน ซึ่งก็ไม่น่าประหลาดใจที่เพจฟุตบอลแนวนี้จะมี Audience ที่เป็นไปตามบุคลิกของแอดมิน คือ มีมุมมองทันสมัย ไม่ตกเทรนด์ เรื่องนี้วิศรุตบอกว่าเป็นไปตามที่เขาคาดการณ์ไว้แล้ว เพราะนอกจากวิเคราะห์บอลได้จริงจัง ยังวิเคราะห์คนรุ่นใหม่ได้ทะลุปรุโปร่งด้วย

“เด็กยุคนี้ไม่ชอบอะไรที่เป็นเปลือก ชอบอะไรที่เป็นของจริง ไม่ชอบอะไรที่กลวงๆ อย่างยุคนี้เราเปิดหน้าฟีดบนเฟซบุ๊ก เราจะไม่เห็นไลฟ์โค้ชเลยเห็นไหม เพราะมันเปลือกไง แค่พูดอะไรกลวงๆ แล้วให้คนประทับใจ เด็กยุคนี้ไม่เอาแล้ว เด็กฉลาดจะตาย เพราะฉะนั้นอะไรที่ใช้คำพูดกลวงๆ หลอกๆ ซื้อใจเขาไม่ได้หรอก ต้องเป็นของแท้ มีข้อมูลหลักฐานชัดเจน อย่างคอนเทนต์ในเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง ไม่มีอันไหนที่คิดขึ้นเอง ถ้าเกิดลูกเพจอยากจะถามว่าเอามาจากไหนเราก็ตอบได้ ชนได้หมดเลย

ถ้าอยากเข้าถึงเด็กรุ่นใหม่ ก็อย่าทำอะไรที่มันกลวงเกินไป ต้องเอาชนะใจเขาให้ได้ด้วยคอนเทนต์ที่แข็งแรงจริงๆ และเขาก็ต้องยอมรับด้วย”

วิศรุตบอกว่าเมื่อเข้าใจ เขาจึงเข้าถึง แม้จะคล้ายเป็นความบังเอิญว่าตัวตนของเขาจะไปถูกจริตกับสิ่งที่คนยุคนี้ชอบก็ตาม

“มันอาจจะเหมือนเป็นความบังเอิญที่แนวทางของเพจผมกับความชอบของคนยุคนี้มาตรงกัน เป็นความโชคดี จะมียุคหนึ่งที่มีคนพูดว่ายาวไปไม่อ่าน อ่านแค่ 8 บรรทัดเท่านั้นแหละ จะมียุคนั้นที่คนพูดแบบนี้บ่อยๆ แต่สังเกตเดี๋ยวนี้ในช่องคอมเมนต์ น้อยคนที่จะพูดว่ายาวไปไม่อ่าน หรือหมดโควต้าแล้ว 8 บรรทัด คือ ทุกคนเริ่มเข้าใจแล้วว่าการอวดว่าอ่านหนังสือน้อยไม่ใช่เรื่องเท่เลย เด็กก็อ่านหนังสือมากขึ้น หนังสือที่มีความซับซ้อน หนังสือการเมือง เขาอ่านกันมากขึ้น มันก็เลยตอบโจทย์เราพอดี เราเขียนในสิ่งที่เขาคิดว่าเขาได้อะไรจากเราไปบ้าง

ผมชอบสิ่งที่ทำ ได้เป็นตัวเรา ไม่ได้รู้สึกอึดอัดอะไร ทุกวันตื่นมาเขียนก็แฮปปี้ดี ทำไปอีกจนตายก็ได้ เขียนไปเรื่อยจนตายก็ได้ คือไม่ต้องเติบโตกว่านี้ในอาชีพ ได้เงินเท่านี้ไปเรื่อยๆ ก็โอเค เพราะมันเป็นแพสชั่นของเรา”

Tags:

everyone can be an educatorเพจวิเคราะห์บอลจริงจังวิศรุต สินพงศพรพื้นที่การเรียนรู้

Author:

illustrator

ปริสุทธิ์

Related Posts

  • Everyone can be an EducatorSpace
    วิชาตาลโตนด: ห้องเรียนเสียดฟ้าของ ‘อำนาจ ภู่เงิน’ ภูมิปัญญาหอมหวานที่รอคนสานต่อ

    เรื่อง ปริสุทธิ์ ภาพ ปริสุทธิ์

  • SpaceLife Long Learning
    TK Park พื้นที่ลดความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้ ที่ชวนทุกคนมาอ่าน คิด และลงมือทำ: กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผอ.สถาบันอุทยานการเรียนรู้

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • Everyone can be an EducatorSocial Issues
    ‘Saturday School’ วิชานอกห้องเรียนที่ทำให้เด็กกล้าฝันและเป็นเจ้าของการเรียนรู้: ยีราฟ-สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • Everyone can be an EducatorVoice of New Gen
    ‘วิชาภูมิคุ้มกันทางอารมณ์’ ทางออกปัญหาสุขภาพจิตในเด็ก โดยคนวัย 14 ปี

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา ภาพ ธีระพงษ์ สีทาโส

  • Everyone can be an Educator
    จากแอร์โฮสเตสสู่ผู้ปกครองอาสาโรงเรียนเพลินพัฒนา: การเรียนรู้ใหม่อีกครั้งของแม่บี๋ สิติมา

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา ภาพ ธีระพงษ์ สีทาโส

  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel