- “ศิลปะคือการดึงคนให้มารู้สึกแล้วปล่อยให้คนใช้จินตนาการคิดต่อไปเองได้” คำนิยามศิลปะของ ต่อลาภ ลาภเจริญสุข เจ้าของผลงาน ‘สปิริชวล สเปซชิพ’ (Spiritual Spaceship) ที่จัดแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ‘บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018’
- สำหรับต่อลาภ การที่ได้สร้างแนวคิดหรือทำอะไรสักอย่างขึ้นมาตอบคำถามที่ตัวเองสงสัย หรือคิดท้าทายตัวเองเพื่อหาคำตอบแล้วลงมือทำ ก็ถือว่าความคิดสร้างสรรค์ได้ทำงานแล้ว
- ทุกอย่างไม่มีทางได้อย่างใจเสมอ การทำงานศิลปะก็เช่นกัน ฉะนั้นกระบวนการสร้างชิ้นงานต้องอาศัยความยืดหยุ่น การยึดติดกับความคิดเดิมเกินไป จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ไปต่อไม่ได้
ภาพ: ฉัตรชัย วงค์เกตุใจ และ Gallery Seescape
“จากอดีต บ้านไม้ริมคลองเจ้าเจ็ด จังหวัดอยุธยา ย้อนภาพอาม่าในวันไหว้พระจันทร์
ฉุกให้สงสัยถึงการสื่อสารระหว่างโลกมนุษย์กับทวยเทพบนท้องฟ้า
สารพันคำอธิบายต่อสิ่งเร้นลับอันเวิ้งว้างของจักรวาล
ความเชื่อถูกพกพาข้ามน้ำข้ามทะเล
เทียบท่าตั้งรกรากไปทั่วดินแดนอันเชื่อว่าความหวังยังมีอยู่
อีกฟากฝั่งพื้นดิน วิวัฒนาการสมัยใหม่ได้พัฒนากลไกขับเคลื่อนพาหนะ
พิชิตเทหะวัตถุจนถึงประทับเท้าลงบนดวงจันทร์
ก็ไม่ได้ลดทอนประเพณีให้เสื่อมค่าลงแต่อย่างใด
แรงบันดาลใจ ความหวังจากพร ด้วยอ้อนวอนถึงความสุขต่อฟากฟ้า
คู่ขนานไปกับหลักฐานเชิงประจักษ์จากความก้าวหน้าของเครื่องจักรวิทยาการ…”
ข้อความที่ศิลปินเขียนขึ้นเพื่อบรรยายชิ้นงานที่อยู่เบื้องหน้านี้ ชวนให้ตั้งคำถามถึงพลังและอำนาจของความเชื่อทั้งทางจิตวิญญาณและความเชื่อ (มั่น) ในความสามารถตัวเองของมนุษย์ เรากำลังพูดถึงชิ้นงาน ‘สปิริชวล สเปซชิพ’ (Spiritual Spaceship) ของ เหิร – ต่อลาภ ลาภเจริญสุข หนึ่งในศิลปินไทย ที่ได้จัดแสดงอยู่ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 5 ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ‘บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018’ (Bangkok Art Biennale 2018 ) ร่วมกับศิลปินไทยและต่างชาติอีกกว่า 75 คนจากทั่วโลก
ต่อลาภ เป็นทั้งศิลปินและเป็นเจ้าของ ‘แกลเลอรี ซีสเคป’ (Gallery Seescape) ย่านนิมมานเหมินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ ย้อนกลับไปราว 10 ปีก่อน แกลเลอรี ซีสเคปก่อตั้งขึ้นด้วยความคิดอยากเปิดพื้นที่ทางเลือกให้ศิลปินได้แสดงออก (Alternative Art Space) ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม ศิลปะจัดวาง ภาพถ่าย วิดีโอ หรือแม้กระทั่งการแสดง เพราะเขาเชื่อว่าศิลปะเป็นสิ่งที่ดี
“สังคมจะพัฒนาได้ เกิดขึ้นจากองค์ประกอบหลายส่วน และศิลปะเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ผมสร้างแกลเลอรี ซีสเคป ขึ้นมาเพื่อยืนยันความคิดนี้ ปีนี้มีอายุครบ 10 ปีพอดี ศิลปะในประเทศไทยยังคล้ายเป็นส่วนเกินในการดำรงชีวิต ศิลปินไม่ได้รับการสนับสนุน หลายแกลเลอรีเปิดขึ้นมาก็อยู่ไม่ได้
ผมเปิดพื้นที่โดยไม่ได้นึกถึงรายได้เป็นหลัก แต่เราโชคดีอยู่ได้เพราะได้รับความร่วมมือและความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ศิลปินด้วยกัน มาช่วยลงมือลงแรงโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ที่ผ่านมาต้องฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคกันมาพอสมควร แต่ในช่วง 5 ปีหลังมานี้ผมเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นในวงการศิลปะไทย มีคนรุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจและพยายามทำความเข้าใจศิลปะมากขึ้น ยกตัวอย่างเวลาดูรูปภาพในงานจัดแสดง แทนที่จะดูว่าภาพ ถ่ายด้วยกล้องอะไร จัดแสงแบบไหน เขาหันมาตั้งคำถามว่าศิลปินคิดอะไรขณะถ่ายภาพนี้ แล้วคิดยังไงกับภาพนี้ ภาพถ่ายเป็นแค่ผลลัพธ์ของกระบวนการคิดในขั้นตอนสุดท้าย แต่กว่าจะได้มาเป็นภาพ มันมีความคิดและเรื่องราวเบื้องหลังของศิลปินอยู่ด้วย”
การเดินทางของความทรงจำและความเชื่อ
สำหรับงานสปิริชวล สเปซชิพ ต่อลาภต้องการสื่อสารถึงการออกไปตามหาความหมายบางอย่างที่มนุษย์ไม่เคยรู้จักมาก่อน การเดินทางไปยังพระจันทร์ด้วยความเชื่อทางจิตใจและจิตวิญญาณของคนซีกโลกตะวันออก มีการกราบไหว้บูชา มีแจกัน และของไหว้เป็นเชื้อเพลิง เปรียบเทียบกับโลกฝั่งตะวันตกที่ใช้การประดิษฐ์เทคโนโลยีนวัตกรรมออกไปนอกโลก มนุษย์สองฟากฝั่งโลกออกเดินทางไปหาสิ่งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนเหมือนกันแต่ไปคนละวิธี
“สมัยวัยเด็กผมอาศัยอยู่กับอาม่าที่บ้านไม้ริมน้ำจังหวัดอยุธยา ผมเติบโตมาในครอบครัวที่อยู่กับความเชื่อเป็นหลัก อาม่าเป็นเหมือนคนจีนแผ่นดินใหญ่อีกหลายคนที่อพยพข้ามน้ำข้ามทะเลมาตั้งรกรากในประเทศไทย พวกเขาไม่ได้มาแต่ตัว แต่พกพาความเชื่อต่างๆ มาด้วย ผมจำได้ว่าทุกปีผมเฝ้ารอช่วงเวลาเทศกาลตรุษจีน สารทจีน โดยเฉพาะวันไหว้พระจันทร์ เพราะเป็นช่วงเวลาที่รู้สึกสนุก ผู้ใหญ่อนุญาตให้เราเล่นถึงตอนกลางคืนได้ พอหวนคิดถึงความทรงจำในตอนนั้นก็เป็นเวลาเดียวกับที่มนุษย์ส่งวัตถุไปสู่อวกาศจากอีกฝากหนึ่งของโลก ผมเลยตั้งคำถามกับความเชื่อที่แตกต่างกันนี้”
ในทางกายภาพ สปิริชวล สเปซชิพ เป็น ‘ประติมากรรมคอลลาจ’ (Collage Sculpture) ประกอบขึ้นจาก ตู้ไม้สักเก่า แจกัน เชิงเทียน ไฟกะพริบที่ปกติมักเห็นอยู่บนหิ้งพระ เหล็ก ทองแดง แผงวงจรไฟฟ้า จอมอนิเตอร์ และหลอดไฟอิเล็กทรอนิกส์
แต่ในทางความคิดและจิตวิญญาณพาหนะซึ่งขับเคลื่อนด้วยความเชื่อ เป็นร่องรอยที่พาเราย้อนไปเชื่อมโยงกับความทรงจำในอดีต เป็นวัตถุที่ย้ำเตือนให้หวนคำนึงถึงที่ๆ เราจากมา บางอย่างที่เราอาจหลงลืม บางสิ่งที่เราเคยจดจำ หรือแม้กระทั่งความทรงจำที่หลายครั้งยากจะลบเลือน
“วัตถุที่ผมเลือกใช้เป็นวัตถุที่เชื่อมผมสู่ความทรงจำตอนเด็กและความเชื่อของอาม่า แทนที่จะตามหาสิ่งที่อยู่ไกลออกไปนอกโลก งานชิ้นนี้นำเราเดินทางกลับไปหาสิ่งที่อยู่ใกล้ที่สุดในระดับความทรงจำ ผมเชื่อว่าแต่ละคนมีความผูกพันกับวัตถุที่เราเคยเห็นเคยใช้ วัตถุแต่ละชิ้นมีความหมายในตัวมันเองอยู่แล้ว
ผมชอบนำวัตถุที่พบเจอมาประกอบกันเพื่อสร้างความหมายใหม่ เหมือนงานคอลลาจที่ใช้กระดาษ ก็เป็นการปะติดเรื่องราวแต่ละหน้าบนกระดาษจากที่มาต่างกันให้เป็นเรื่องราวเดียวกัน อาจดูขาดๆ เกินๆ แต่ก็เป็นเสน่ห์ของงานคอลลาจ ความหมายที่ติดมากับวัตถุแต่ละชิ้นยังอยู่ในตัวเอง
ตู้ไม้สักที่ผมใช้ ความหมายของมันคือเป็นที่เก็บรวบรวมสิ่งของซึ่งเป็นความทรงจำของแต่ละคน แต่ละบ้าน หรือแต่ละครอบครัว เราได้ของ ได้รางวัล มีรูปภาพ เราเอาไปเก็บไว้ในตู้ นึกดูดีๆ ถ้าเราไม่เอาของมาโชว์ไว้ให้เห็น ก็มักพบเจออดีตของเราใต้ลิ้นชักเก่าๆ เสมอ”
ความคิดสร้างสรรค์ = ตั้งคำถาม + อย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ
งานศิลปะของต่อลาภส่วนใหญ่เกิดจากการนำสิ่งใกล้ตัว ของเหลือใช้อย่างวัตถุหรือเศษวัสดุ (found object) มาดัดแปลงฟังก์ชันการใช้งาน เพราะเขาอยากให้ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและเชื่อมโยงกับชีวิต ตลอดระยะเวลาร่วม 20 ปีตั้งแต่เรียนจบ เขาทำงานศิลปะมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วง 10 ปีหลังที่มีงานจัดแสดงทั้งเดี่ยวและกลุ่มไม่ว่างเว้นเลยสักปี ต่อลาภ บอกว่าสมการความคิดสร้างสรรค์ของเขา เป็นผลลัพธ์จากการตั้งคำถามและไม่เชื่ออะไรง่ายๆ
“การที่เราได้สร้างแนวคิดหรือทำอะไรสักอย่างขึ้นมาตอบคำถามที่ตัวเองสงสัย การที่เราคิดท้าทายตัวเองเพื่อหาคำตอบแล้วลงมือทำ ผมว่าขั้นตอนตรงนั้น ความคิดสร้างสรรค์ได้ทำงานแล้วนะ เราทำเพื่อสื่อสารสิ่งที่ตัวเองคิด มีเหมือนกันตอนที่คิดไม่ออก พยายามคิดยิ่งคิดไม่ออก แต่พอหยุดคิดกลับได้ไอเดียออกมาเป็นเรื่องเป็นราวเลย แต่มันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราหมกหมุ่นหรือให้เวลาอยู่กับความคิดนั้นนานพอในระดับหนึ่งแล้ว
ส่วนตัวผมอยู่กับงานศิลปะมาทั้งชีวิต แล้วคิดจะอยู่กับมันไปจนตาย ต่อให้เกือบจะตายผมก็มีความคิดเกี่ยวกับความตายได้ เพราะงานศิลปะเป็นตัวสะท้อนความคิดที่เรามีต่อโลก ผมตั้งคำถามต่อชีวิตตัวเองแล้วสะท้อนมาเป็นงานศิลปะ ความคิดไม่มีทางตันเพราะเราต้องใช้ชีวิต แล้วเราต้องเดินต่อไปข้างหน้าถูกต้องมั้ย”
แน่นอนว่าการทำประติมากรรมคอลลาจขึ้นมาสักชิ้น นอกจากความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังต้องใช้ความบ้าพลังพอสมควร ต่อลาภ บอกว่า ในเชิงเทคนิคการติดตั้ง สปิริชวล สเปซชิพ ขนาด 485 x 815 x 349 เซนติเมตร ที่สูง ยาวและใหญ่กว่าตัวคนนั้นยากไม่ใช่เล่น
“ประติมากรรมคอลลาจชิ้นนี้ หนักเป็นตันๆ แต่ถูกตั้งบนขาแค่ 3 ขา ผมอยากให้คนดูรู้สึกว่างานชิ้นนี้ลอยขึ้นมา งานเลยต้องมีจุดยึดน้อยที่สุด แล้วจุดยึดที่น้อยที่สุดที่จะตั้งวัตถุบนโลกนี้ให้สมดุลไปกับแรงโน้มถ่วงได้อยู่ที่ 3 ขา ถ้า 1 ขา หรือ 2 ขาต้องยึดด้วยการฝังลงไปในดิน ส่วนถ้าเป็น 4 ขา ลักษณะการตั้งอยู่ของวัตถุจะดูแข็งแรงมั่นคงเกินไป ผมต้องคำนวณและออกแบบให้สมดุลที่สุด”
เปิดพื้นที่ให้ความไม่สมบูรณ์แบบบ้าง
ทุกอย่างไม่มีทางได้อย่างใจเสมอไป การทำงานศิลปะของต่อลาภก็เช่นกัน เขาบอกว่า กระบวนการสร้างชิ้นงานต้องอาศัยความยืดหยุ่น การยึดติดกับความคิดเดิมเกินไป จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ไปต่อไม่ได้
“กระบวนการคิดของผมส่วนใหญ่มาจากการเห็นสิ่งของก่อน แล้วของจะนำพาไปสู่ไอเดียเพื่อสร้างผลงานอีกทีหนึ่ง พอทำงานไปเรื่อยๆ ของที่ผมคิดว่าหาได้ส่วนใหญ่ผมจะไม่เจอ เวลาทำงานเลยสนุกกับความเปลี่ยนแปลงในความคิดเมื่อเจอของใหม่ๆ เสมอ แต่แก่นหรือคอนเซ็ปต์ที่มุ่งไปยังคงอยู่
ปกติการสร้างประติมากรรมขึ้นมาหนึ่งชิ้น ต้องออกแบบขนาด ความกว้าง ความยาว ความแหลม หรือแม้แต่การกินพื้นที่ในอากาศไว้แล้ว แต่การสร้างประติมากรรมคอลลาจเป็นการออกแบบอย่างหลวมๆ ฟอร์มที่ปรากฏขึ้นมาตอนงานเสร็จสมบูรณ์จะพลิกแพลงไปตามของที่เจอและไม่คิดว่าจะเจอ
ผมว่ามันเป็นการท้าทายและตั้งคำถามกับแนวคิดที่พูดถึงความสมบูรณ์ของประติมากรรมด้วยว่า จริงๆ แล้วความสมบูรณ์ที่สุดของประติมากรรมคืออะไร
คือการมีเส้นสายที่ลงตัวและมองได้ทุกมุมแค่นั้นหรือ ถ้าเส้นสายของประติมากรรมเกิดขึ้นจากการประกอบกันของวัตถุที่เจออยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวันและมีความผูกพันกับเราล่ะ ผมมีความผูกพันกับแจกันไหว้พระ กับอาม่าที่เป็นคนอยุธยาเชื้อสายจีน ผมเอาวัตถุเหล่านี้ประกอบกันขึ้นมา เป็นความงามในแบบของผม ผมต้องการสื่อสารให้เห็นด้วยว่าคุณค่าของความงามลื่นไหลได้ แต่เรารับมายาความงามมาจากเทรนด์หรือแฟชั่นภายนอก ทั้งที่มนุษย์มีเอกลักษณ์ต่างกัน คนแต่ละที่เชื่อในความงามต่างกัน ความงามจึงไม่ควรมีแค่กระแสเดียว และความสมบูรณ์ก็ไม่ควรมีแค่แบบเดียว”
ก่อนสปิริชวล สเปซชิพ ถูกนำมาจัดแสดงที่หอศิลปฯ ต่อลาภใช้เวลามองหาวัสดุและปะติดปะต่อสร้างประติมากรรมชิ้นนี้อยู่ถึง 3 เดือน ดังนั้น การสร้างสรรค์สิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้จริงนั้น นอกจาก ‘ความคิด’ แล้วยังต้องอาศัย ‘ความอดทน’
“เมื่อคิดได้แล้ว ตอนลงมือทำงานเป็นเรื่องของการคิดแก้ปัญหาว่าถ้าเอาวัตถุมาวางตรงนี้จะอยู่ได้มั๊ย จะเชื่อมต่อแต่ละส่วนเข้ากันตรงไหน ตัดต่อชนยังไงได้บ้าง บางชิ้นประกอบขึ้นมาแล้วไม่ชอบก็มี แต่กระบวนการคิดตรงนี้ทำให้ผมยืดหยุ่นกับตัวเองมากขึ้น บางอย่างคิดว่าไม่สวยแต่ทำออกมาแล้วก็ลงตัวดี บางอย่างผมเชื่อว่าสวย ก็ได้ถามตัวเองว่าจะทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่คิดจะเปลี่ยนบ้างหรือไง ระหว่างทำงานผมได้ตั้งคำถามและเรียนรู้ตัวเองจากงานของตัวเองไปด้วย
งานแต่ละชิ้นที่ผมทำใช้เวลาค่อนข้างนาน ผมรู้สึกสนุกและมีส่วนร่วมไปกับทุกโมเมนต์ ตั้งแต่ตอนเจอของที่ดึงผมสู่ความทรงจำเก่าๆ แล้วเกิดไอเดีย พอลงมือทำก็สนุกเพราะได้ทดลองประดิษฐ์สิ่งที่คิดอยู่ในหัว จนทำสำเร็จออกมาให้คนได้ชมและรู้สึกไปกับชิ้นงานได้”
สปิริชวล สเปซชิพ ดึงให้ฉันหลงอยู่ในภวังค์ จนลืมไปว่ากำลังอยู่ในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครที่เต็มไปด้วยผู้คน อดีตไม่มีอยู่แล้ว แต่อดีตหล่อหลอมความเป็นตัวเราในปัจจุบัน ความคิดเชื่อมโยงความทรงจำในอดีตกับปัจจุบันที่ต่อลาภสื่อสารผ่านงานชิ้นนี้ ทำให้ฉันหันกลับมามองสิ่งใกล้ตัว ด้วยความรู้สึกพอใจและเห็นคุณค่าในสิ่งที่มี เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะเดินทางไปยังอนาคต โดยไม่หลงลืมรากเหง้าของตัวเอง
“ศิลปะคือความรู้และความรู้สึกประกอบกัน อยู่ที่ว่าเราจะให้สัดส่วนสิ่งไหนมากกว่ากัน แล้วประกอบทั้งสองส่วนขึ้นมาให้มีความแฟนตาซี ผมทำงานศิลปะผมต้องเปิดพื้นที่ให้คนได้จินตนาการด้วย ผมอยากให้คนคิดต่อยอดจากงานที่ผมทำ เพราะผมมองว่าศิลปะคือการดึงคนให้มารู้สึกแล้วปล่อยให้คนใช้จินตนาการคิดต่อไปเองได้” ต่อลาภ กล่าวถึงนิยามศิลปะของเขา
หมายเหตุ – ต่อลาภ ลาภเจริญสุข ศิลปินไทยที่มีนิทรรศการแสดงเดี่ยวและกลุ่มทั้งในและต่างประเทศ – ผลงานของต่อลาภมักนำเสนอในรูปแบบประติมากรรม ศิลปะจัดวางและศิลปะในรูปแบบสถาปัตยกรรมเคลื่อนที่ ปี 2011 ชิ้นงาน Bookself ของเขาถูกสะสมไว้ในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ระดับนานาชาติ Singapore Art Museum ด้วย – งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ‘บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018’ (Bangkok Art Biennale 2018) จัดขึ้นตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ 20 จุด ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2561 ถึง 3 กุมภาพันธ์ 2562 |