Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Everyone can be an Educator
23 June 2020

“ขยะก็เหมือนความสัมพันธ์ ถูกผลักจากตัวเหมือนตัดความสัมพันธ์ทั้งที่เราสร้างมันขึ้นมา” ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป

เรื่อง ลีน่าร์ กาซอ ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • “มุมมองส่วนตัวก็มีผลต่อการจัดการขยะด้วย แทนที่จะเรียกเหมารวมของเหลือใช้ทุกอย่างเป็นขยะแล้วปัดความรับผิดชอบโยนทิ้งรวมๆ กันลงในถัง ให้ลองเปรียบเทียบขยะเหมือนความสัมพันธ์ของคนดู เป็นสิ่งที่ถูกผลักออกจากตัวเหมือนตัดความสัมพันธ์ ไม่สนใจและไม่อยากรับผิดชอบ ทั้งที่เราเองก็เป็นคนสร้างมันขึ้นมา”
  • เพราะเติบโตมากับธุรกิจรับซื้อของเก่าที่บ้าน เปรม พฤกษ์ทยานนท์ จึงเข้าใจว่าการแยกขยะนั้นยุ่งยาก รายละเอียดเยอะ หลายขั้นตอน เกินว่าที่จะโน้มน้าวให้คนทำได้ทุกวัน เพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไปจึงเกิดขึ้นด้วยความคิดง่ายๆ เหมือนการสะกิดบอกเพื่อนว่า ‘ลองเอาขยะในมือไปขายดูสิ’
  • “เอาเข้าจริงๆ แล้ว แหล่งข้อมูลสำคัญกลับมาจากการถกเถียงในเพจของเราเอง ผมชอบมากเลยเวลามีคนเข้ามาถกเถียงกันเกี่ยวกับสิ่งที่นำเสนอ หรือแย้งกับผมโดยตรง หลังจากนั้นผมมักจะส่งข้อความส่วนตัวเข้าไปถามและรบกวนให้เขาอธิบายต่อ นั่นทำให้ข้อมูลความรู้ผมขยายกว้างขึ้นมาก”

ควรแยกขยะก่อนทิ้ง – ใครๆ ก็รู้

แต่การแยกขยะให้ถูกวิธีแบบที่ไม่เพิ่มภาระให้โลก – ใช่ว่าทุกคนจะรู้วิธี แต่ก็ไม่ยากจะค้นหา

บนแขนงซอกซอยนับไม่ถ้วนบนโลกออนไลน์มีเนื้อหาวิธีการแยกขยะสารพัดให้เลือกอ่านเลือกทำตาม ส่วนในโลกโซเชียลเมืองไทย เมื่อเกิดคำถามเรื่องการแยกขยะ หลายคนพร้อมใจกันผายมือไปทางเพจเฟซบุ๊คชื่อ ‘ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป’ เพจที่ว่าด้วยการแยกขยะ วิธีรักษ์โลกอย่างง่ายที่ใครก็ทำได้จริง จนกลายเป็นเหมือนชุมชนขนาดย่อมของคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม

หลังบ้านของเพจนี้ไม่ใช่คุณลุงที่ไหน แต่เป็นชายหนุ่มเจ้าของธุรกิจรับซื้อของเก่าที่นอกจากจะดูแลธุรกิจเป็นกิจวัตรประจำวันแล้ว เปรม พฤกษ์ทยานนท์ อดีตบัณฑิตวิศวกรคอมพิวเตอร์ ยังทำหน้าที่ดูแลเพจ ‘ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป’ มาสองปี ควบทุกหน้าที่เบ็ดเสร็จตั้งแต่ผู้ก่อตั้ง สรรหาประเด็น สืบค้นข้อมูล และฝ่ายครีเอทีฟคอยย่อยข้อมูลยากๆ ให้ออกมาเข้าใจง่าย สำหรับคนอยากรักษ์โลกแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี

หลังเดินผ่านกองกระดาษใหญ่โต กองขวดแก้วมหาศาล คนงานหลายคนกำลังทำงาน รถบรรทุกอีกหลายคัน ท่ามกลางเสียงรถเครนที่กำลังทำงานอยู่ไกลๆ The Potential ได้ชวน เปรม นั่งคุยถึงโลกความรู้ของขยะที่ไม่ได้จบแค่การแยกตามสีถัง – ทั้งในฐานะแอดมินเพจ คนในแวดวงรีไซเคิล และคนธรรมดาที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลง

เริ่มต้นเพจ ‘ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป’ ได้อย่างไร

บอกก่อนเลยว่า ถึงผมจะเติบโตมากับธุรกิจรับซื้อของเก่าของครอบครัว แต่นี่ก็ไม่ใช่งานที่อยากทำตั้งแต่แรก ในเมื่อต้องทำจริงๆ ผมจึงลองปรับมุมมองลองหาข้อดี ก่อนจะพบว่าเรามีของดีในมือ นี่คือธุรกิจที่ทุกคนได้ประโยชน์ถ้วนหน้า ตั้งแต่คนขายขยะ คนรับซื้อ โรงงาน ไปจนถึงสิ่งแวดล้อม วิน-วิน รอบด้านจนผมหาข้อเสียไม่เจอ แล้วจู่ๆ ก็ตกหลุมรักงานนี้จนหันมาศึกษาเรื่องขยะอย่างจริงจัง

ผมรู้สึกว่าคนทั่วไปคิดว่าเรื่องการรีไซเคิลเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้จริง หรืออาจเข้าใจผิดไปว่าเป็นแค่การทิ้งขยะให้ถูกถังก็พอ สำหรับผมแล้ว แต่ละวันที่เห็นรถขนของเก่าเข้ามาในโรงงาน บวกกับความรู้ต่างๆ ในการแยกประเภท และข้อมูลที่ค้นคว้ามาทำให้ยิ่งเห็นชัดว่า เพราะการจัดการขยะมีรายละเอียดมากกว่าแค่แยกสีถัง ทำให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่รู้พาลคิดไปว่า ยุ่งยาก วุ่นวายเกินกว่าจะทำได้ทุกวัน

จริงๆ แล้วการแยกขยะที่ถูกวิธีคือการทำให้ของเหลือใช้เหล่านั้นเข้าสู่ขั้นตอนการรีไซเคิลได้จริง ซึ่งแค่ทิ้งลงถังตามสีที่กำหนดยังไม่เพียงพอ ผมจึงอยากสื่อสารเรื่องนี้ออกมาให้คนเข้าใจได้ถูกต้อง

เพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป จึงเริ่มต้นจากความคิดง่ายๆ เหมือนกับการสะกิดบอกเพื่อนว่า ‘ลองเอาขยะในมือไปขายดูสิ’ คือถ้าเปลี่ยนทัศนคติให้เห็นขยะบางชิ้นมีมูลค่าและรู้วิธีจัดการขยะแต่ละชนิด ก็เริ่มช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย

นั่นคือสิ่งที่เพจต้องการสื่อสาร?

ใช่ครับ ผมอยากสร้างการเปลี่ยนแปลง และการแยกขยะเป็นส่วนเล็กๆ ที่เริ่มลงมือทำได้ง่าย ใกล้ตัว และเห็นผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด

เนื้อหาช่วงแรกก็เป็นการลองแยกขยะให้เห็นวันละชิ้นแบบง่ายๆ เช่น วันนี้หยิบเจออะไรก็แยกออกมาให้เห็นชัดๆ ถึงส่วนที่นำไปขายต่อได้ และส่วนที่ต้องทิ้งจริงๆ

แต่พอทำเพจไปสักพัก เนื้อหาก็เริ่มวนซ้ำอยู่ที่เรื่องเดียวจนผมคิดว่าน่าจะลองขยายขอบเขตเนื้อหาในเพจให้กว้างขึ้นตามสิ่งที่ตัวเองก็สนใจ ทั้งข่าวสิ่งแวดล้อม กิจกรรมการรณรงค์ นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นรูปแบบของเพจลุงซาเล้งฯ ในปัจจุบัน

ถึงอย่างนั้น ด้วยความที่มีแอดมินคนเดียว เนื้อหาที่นำเสนอส่วนใหญ่ก็มาจากความสนใจ อยู่ที่ว่าเราก็ติดตามข่าวสารอะไรเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิมของเราเอง ค่อนข้างฟรีสไตล์ไม่มีอะไรตายตัว หรือคนอ่านอยากรู้เรื่องอะไรในช่วงนั้นเราก็นำเสนอออกมา

นอกจากเพจและธุรกิจแล้ว เห็นว่ารับหน้าที่เป็นวิทยากรด้วย

ถือเป็นงานอดิเรกมากกว่าครับ ตั้งแต่ช่วงยอดผู้ติดตามเพจเริ่มขยับไปแตะ 3,000 – 5,000 คน หลายหน่วยงานก็เริ่มติดต่อให้ผมไปบรรยายเรื่องการแยกขยะในองค์กรแล้ว ทั้งภาครัฐและเอกชน ผมมองว่านี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ทำให้ผมส่งต่อความรู้ได้ แต่อีกโปรเจกต์ที่กำลังทำไปควบคู่กันกับการทำเพจและงานหลักคือ แอปพลิเคชัน Green 2 Get ที่ทำมาตั้งแต่ก่อนทำเพจเสียอีก

สำหรับผมแล้ว การทำเพจเหมือนเป็นการสื่อสารทางเดียว มีแต่เราที่คอยบอกว่าทำแบบนี้แล้วจบ แต่ไม่ได้คิดว่าคนที่อยากทำตามเราไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือมาช่วยเหมือนที่เรามี เมื่อมองไม่เห็นทางไปที่ชัดเจนว่าแยกแล้วยังไงต่อ แยกแล้วก็เอาไปทิ้งรวมกันอยู่ดี แม้จะอยากช่วยโลกแค่ไหน สุดท้ายก็เลิกทำ

แอปฯ Green2Get จึงเป็นอีกช่องทางที่ผมตั้งใจให้เป็นตัวอุดช่องโหว่ของการแยกขยะ ฟังก์ชันของมันคือการช่วยแยกส่วนประกอบของขยะเพียงแค่สแกนบาร์โค้ดสินค้า บอกครบตั้งแต่วิธีการแยกไปจนถึงจุดรับทิ้งหรือจุดรับซื้อในละแวกใกล้เคียง และยังเป็นช่องทางที่แทรกความรู้เรื่องการแยกขยะเข้าไปด้วย

เพราะเราคิดว่าแทนที่จะมานั่งบอกทุกคนทีละคน สู้มีเครื่องไม้เครื่องมือ มีระบบที่จัดการอำนวยความสะดวกให้เขาเลยดีกว่า

ตอนนี้เปิดให้ใช้งานได้หรือยัง

กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาระบบครับ ยังเปิดให้ใช้งานไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ล้มเลิกนะ

จริงๆ จากความตั้งใจตั้งต้นเรื่องการสอนแยกขยะที่ถูกวิธี ตอนนี้ผมกำลังวางแผนทำคอร์สวิดีโอสอนการจัดการขยะแบบละเอียดไปด้วย ให้เป็นเหมือนคลังข้อมูลสำหรับการแยกขยะ เวลาที่คุณนึกสงสัยเกี่ยวกับการรีไซเคิลของที่อยู่ในมือก็เปิดเข้าไปเลือกฟังได้เลยทันที  

ทั้งสองอย่างนี้ผมค่อยๆ ทำไปเรื่อย พักบ้างทำต่อบ้าง แต่ทุกโปรเจกต์ที่คิดและกำลังทำล้วนยืนอยู่บนความตั้งใจเดิม คือการสื่อสารความรู้ที่เป็นประโยชน์และคนอ่านเอาไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เพียงแต่ตอนนี้เวลาชีวิตยังไม่เอื้ออำนวยให้ทำทั้งหมดได้ราบรื่น (หัวเราะ)

คุณจัดการออกแบบเนื้อหาอย่างไรในวันที่เริ่มคิดจะเปิดเพจ เพราะอย่างที่บอกว่าขอบข่ายข้อมูลเรื่องขยะมันกว้างมาก

แรกเริ่มก็เอามาจากประสบการณ์ในธุรกิจรีไซเคิลของผมเองนี่แหละ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอยู่ในแวดวงนี้แล้วจะรู้หมดทุกเรื่อง อย่างเรื่องพลาสติกเป็นเรื่องที่ผมไม่รู้เลยเพราะที่บ้านไม่รับ แต่พลาสติกดันกลายเป็นประเด็นสำคัญ เราก็พยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายท่ามกลางการผลิตพลาสติกที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา

แม้จะไปเข้าคอร์สบ้าง ถามลูกค้าที่ทำเกี่ยวกับพลาสติกบ้าง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว แหล่งข้อมูลสำคัญกลับมาจากการถกเถียงในเพจของเราเอง ผมชอบมากเลยเวลามีคนเข้ามาถกเถียงกันเกี่ยวกับสิ่งที่นำเสนอ หรือแย้งกับผมโดยตรง หลังจากนั้นผมมักจะส่งข้อความส่วนตัวเข้าไปถามและรบกวนให้เขาอธิบายต่อ นั่นทำให้ข้อมูลความรู้ผมขยายกว้างขึ้นมาก

การออกแบบเนื้อหาลำพังเฉพาะในเพจลุงซาเล้งฯ มีผลต่อความรับรู้ของคนทั่วไปได้หรือไม่ อย่างไร

ทุกเนื้อหาที่ผมทำเผยแพร่ในเพจยังเป็นไปตามจุดยืนและความตั้งใจเดิม คือ การสื่อสารความรู้ที่เป็นประโยชน์และนำไปใช้ได้จริง ด้วยรูปแบบของเฟซบุ๊คแล้ว คนอ่านจะสนใจเนื้อหาที่ดึงดูดและกระตุ้นให้แชร์ต่อได้ง่าย จึงต้องสมดุลให้ดีระหว่างทำให้เกิดกระแสกับทำให้เกิดประโยชน์

ถ้าโถมแต่ความรู้มากไปคนอ่านก็อาจจะอ่านผ่านๆ และไม่ค่อยแชร์ต่อ แต่ถ้าทำเนื้อหาที่เป็นกระแสสร้างการวิพากษ์วิจารณ์มากไปก็จะได้แค่ยอดแชร์แต่ไม่สร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นผมจึงพยายามผลิตเนื้อหาที่ทั้งให้ความรู้ มีประโยชน์ และสนุกจนอยากแชร์ได้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

ถ้าหากคนอื่นๆ อยากสร้างความเข้าใจเรื่องการจัดการขยะบ้าง ควรเริ่มจากอะไร

เริ่มจากความรู้ที่เรามีอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินได้ฟังหรือศึกษาเรื่องการแยกขยะมาบ้างแล้ว ก็ค่อยๆ เริ่มจากจุดนั้นได้ และสร้างระบบความเข้าใจเรื่องการจัดการขยะในรูปแบบของเราเอง ด้วยการหาทางไปให้ของเหลือใช้ก่อนมาแยกมันออกเป็นชิ้นๆ เช่น ออกไปหาคนรับซื้อ หรือคุณลุงคุณป้าซาเล้งตัวจริง หรือแม่บ้านอาคารสำนักงาน คนเหล่านี้คือกลไกหนึ่งของการแยกขยะ ซึ่งเขาจะรู้ดีว่าสิ่งของแต่ละชิ้นขายได้หรือไม่ ขายที่ไหน รวมถึงต้องแยกอย่างไร – คุณก็แค่ต้องถามพวกเขา

มุมมองส่วนตัวก็มีผลต่อการจัดการขยะด้วย แทนที่จะเรียกเหมารวมของเหลือใช้ทุกอย่างเป็นขยะแล้วปัดความรับผิดชอบโยนทิ้งรวมๆ กันลงในถัง ให้ลองเปรียบเทียบขยะเหมือนความสัมพันธ์ของคนดู เป็นสิ่งที่ถูกผลักออกจากตัวเหมือนตัดความสัมพันธ์ ไม่สนใจและไม่อยากรับผิดชอบ ทั้งที่เราเองก็เป็นคนสร้างมันขึ้นมา

ขยะและความสัมพันธ์ที่ไม่ได้รับการจัดการที่ดีพอก็จะค้างคาต่อไปให้เป็นพิษกับร่างกายจิตใจ หรือพูดอีกแง่คือเป็นพิษต่อสังคมโดยรวม กระบวนการคัดแยกขยะจึงจำเป็นต้องมองวัตถุทุกอย่างตามที่มันเป็น เช่น กระดาษ ขวดแก้ว ถุงพลาสติก เศษอาหาร เมื่อจำเพาะชื่อของทุกอย่าง ปลายทางที่จะจัดการกับมันก็ชัดเจนขึ้น

มันเริ่มและต่อยอดได้ไม่ยาก และผมเชื่อว่า ค่อยๆ จัดการมันไปทีละนิดจะทำให้การจัดการขยะในรูปแบบของคุณได้ผลดีและทำต่อไปได้เรื่อยๆ ด้วย

สำหรับการทำเนื้อหาสร้างความเข้าใจเรื่องขยะควรพาคนอ่านไปสู่อะไรที่ปลายทาง

ต้องนำไปสู่การที่ทำได้จริงครับ อันที่จริงผมเองก็เคยกังวล เพราะคนมักแชร์ข้อมูลความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมในโลกออนไลน์ แต่จะเอาไปทำจริงหรือไม่เป็นอีกเรื่อง ซึ่งอาจไม่มากมายนัก

ผมรู้สึกว่า บางเนื้อหาแม้กระทั่งเนื้อหาของผมเอง ไม่ได้บอกทางออกที่คนอ่านจะทำตามได้ เป็นเพียงเรื่องราวบอกเล่าที่เล่าให้ฟังแล้วจบไป ส่วนตัวผมแล้ว เนื้อหาที่ดีไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม ต้องสามารถนำไปใช้กับชีวิตประจำวันได้จริง สำหรับเรื่องขยะ ถ้าคุณสอนให้เขาแยกเขาก็ต้องแยกได้จริง แทนที่จะสอนแยกขยะแบบกว้างๆ ก็น่าจะบอกขั้นตอนชัดเจนให้เขาสามารถโฟกัสได้เลย

ตรงนี้ผมเองก็ยังคงต้องพัฒนาเนื้อหาในเพจของผมต่อไป รวมถึงโปรเจกต์ต่างๆ ที่บอกไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชัน คลิปวิดีโอฮาวทู หรือคอร์สออนไลน์ ให้มันกลายเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ทุกคนจัดการกับขยะได้

คุณวางตำแหน่งของเพจลุงซาเล้งฯ ในการขับเคลื่อนความรู้เรื่องการแยกขยะไว้ตรงไหน

ผมเองยังไม่ได้คิดเรื่องนี้จริงจัง แต่หากจะให้นิยามตอนนี้ เพจลุงซาเล้งฯ ก็เป็นเหมือนลุงซาเล้งคนหนึ่งที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการแยกขยะพอจะให้คำตอบเวลาที่คุณคิดไม่ออกหรืออยากได้คำตอบเกี่ยวกับขยะ ต่อให้ไม่รู้ในขณะนั้น ผมก็จะค้นคว้ามาให้คุณจนได้นั่นแหละ

ส่วนตัวแล้วผม อยากให้เพจลุงซาเล้งฯ เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนกันระหว่างกลุ่มคนที่อยากลองเริ่มทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มง่ายๆ จากการแยกขยะใกล้มือให้ได้ประสิทธิภาพ ส่วนตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่จะเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ต่อกัน เป็นชุมชนออนไลน์เล็กๆ ที่เปิดกว้างเรื่องการจัดการขยะมากพอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมอยากให้เกิดเพิ่มขึ้นบนโลกออนไลน์ เพราะนั่นหมายถึงการแสดงออกของกลุ่มคนที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง ยิ่งถ้ามีเนื้อหาน่าสนใจ น่าติดตาม น่าแชร์ต่อ ก็จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนทางสังคมได้จริง

ระหว่างนักธุรกิจ นักสิ่งแวดล้อม และ Influencer ตอนนี้คุณมองตัวเองว่าเป็นอะไร

เหมือนกับเพจนั่นแหละ – ผมเองก็ไม่รู้

เวลาไปบรรยายเรื่องการจัดการขยะในที่ต่างๆ ผมมักได้รับคำต่อท้ายเป็น Influencer ด้านสิ่งแวดล้อม ลูกเพจหลายคนก็บอกว่าเพจของผมเป็นแรงบันดาลใจให้ลุกขึ้นมาเริ่มลงมือแยกขยะ แต่ผมก็ไม่ได้มองว่าตัวเองเก่งหรือเข้มงวดกับตัวเองมากพอที่จะไปมีอิทธิพลหรือโน้มน้าวจิตใจใครได้ ลูกเพจของผมบางคนยังเจ๋งและเอาจริงเอาจังมากกว่าผมอีก

ไม่ว่าจะเป็นน้องประธานนักเรียนโรงเรียนหนึ่งที่อยากให้นักเรียนทั้งโรงเรียนมาช่วยกันเก็บขยะก็มาปรึกษาผมอย่างจริงจัง หรืออีกครั้งที่ผมเคยแนะนำในงาน TED Bangkok ว่า คุณไม่ต้องรักโลกมากมาย แค่เก็บขยะไว้วันละชิ้น เป็นชิ้นที่อันไหนที่คุณจะไม่เรียกมันว่าขยะและโยนมันทิ้งลงถัง ก็มีคนเอาไปทำตามได้ 3 เดือนก่อนจะถ่ายรูปส่งมาให้ผมดูว่าเขาเก็บขวดน้ำไว้หลายขวดเลย ทำเอาผมทึ่งไปเลย

พวกเขาเก่งกันขนาดนี้ จนบางทีผมยังรู้สึกอายๆ ด้วยซ้ำเวลาไปซื้อชาไข่มุกแล้วไม่ได้เอาแก้วไป (หัวเราะ) เอาเป็นว่า ผมมองตัวเองเป็นหนึ่งในกลุ่มคนจำนวนที่เริ่มเปลี่ยนแปลงสังคมจากตัวเองก็แล้วกัน  

ในวันที่ใครๆ ก็ทำเพจ มีเนื้อหาของตัวเองผ่านหลากหลายช่องทาง คุณเปรมคิดว่าแนวทางการถ่ายทอดความรู้ควรปรับตัวไปในทิศทางใดที่จะทำให้เกิดการนำไปใช้ได้จริง

ตอนนี้มันต้องเร็วและลงลึกไปถึงความรู้ระดับไมโครแล้ว เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อมก็ไม่ใช่วิชาสิ่งแวดล้อมที่ว่าด้วยภาพกว้างๆ แต่จะแยกย่อยเป็นหัวข้อเรื่องขยะ ก๊าซพิษ ฝุ่นละออง PM 2.5 เพราะการเรียนแต่ภาพกว้างทำให้รู้สึกเหนื่อยกับความกว้างใหญ่ของความรู้ จนไม่รู้จะหยิบจับตรงไหนมาปฏิบัติในชีวิตจริง ขณะที่เนื้อหาที่ลึก เจาะจง ชัดเจน จะทำให้เห็นภาพของความเป็นไปได้ชัดขึ้น

ผมคิดว่าอนาคตของการสื่อสารองค์ความรู้ในทุกเรื่องจะถูกผลิตมาจากกลุ่มคนที่รู้ลึกรู้จริง จับต้องคลุกคลีกับเรื่องนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ

ความรู้เรื่องการแยกขยะที่ลงลึกถึงระดับไมโครคืออะไร และจะช่วยเคลื่อนองค์ความรู้ไปสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมอย่างไรได้บ้าง

อย่างหลวมๆ ของเนื้อหาการแยกขยะคือการแยกออกเป็น 4 ถัง 4 สี แต่เมื่อลงลึกไปอีกก็จะเห็นได้ว่าเราสามารถจำเพาะเจาะจงไปได้เรื่อยๆ ตั้งแต่ตัวถังควรเป็นสี่เหลี่ยมไหม ยังควรเรียกว่าถังขยะอยู่หรือเปล่าหรือมันเป็นอะไรก็ได้ บางครั้งความละเอียดละออตรงนี้มันสามารถช่วยให้เห็นปัญหาและทางแก้ชัดขึ้น

ความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องของคนที่เข้ามาจัดการนำเสนอองค์ความรู้จะช่วยให้มองปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยสายตาที่ละเอียดขึ้น นำไปสู่การแก้ปัญหาแบบตรงจุด ไม่ได้แก้แบบเหมาแข่งให้ผ่านไปที

การเรียนรู้ในมุมมองของคุณคืออะไร

ผมว่ามันก็ตรงกับหลักการทางศาสนาพุทธ เรื่องอิทธิบาท 4 คือฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา โดยฉันทะคือใจรัก หลงใหล สนใจในสิ่งที่ทำก่อน เป็นใจรักที่เกิดจากการเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ เหมือนที่ผมเชื่อว่าทุกคนสามารถมีส่วนช่วยโลกได้แค่เริ่มแยกขยะใกล้ๆ ตัว

ต่อด้วยวิริยะ คือความมุ่งมั่นศึกษาเรียนรู้ให้มากขึ้น เหมือนอย่างที่ผมบอกว่าเราสามารถพูดคุยกับคนที่เชี่ยวชาญกว่า ค้นคว้าข้อมูลให้ลึกขึ้น ส่วนจิตตะคือมีจิตใจจดจ่อในความตั้งใจที่จะเรียนรู้สิ่งนั้นๆ อย่างแน่วแน่ และวิมังสา คือการทบทวนที่เราต้องกลับมาทบทวน ทั้งทบทวนตัวเอง ทบทวนสิ่งที่ได้คิดได้ทำ รวมถึงผลดีผลเสียที่เกิดขึ้น เพื่อปรับปรุงแก้ไขการเรียนรู้ของเราดีขึ้นกว่าเดิม

คุณคิดว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ในตอนนี้เป็นการจัดการเรียนรู้ไหม

แน่นอนครับ เพราะการเรียนรู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและนั่นคือสิ่งที่ผมตั้งใจ และไม่ใช่เพียงแค่คนที่เข้ามาอ่านในเพจเท่านั้นนะ 

ถ้าจัดอันดับคนที่ได้รับความรู้จากเพจมากที่สุดก็คงเป็นผมเองนี่แหละ เหมือนการซักผ้าให้สะอาด สิ่งที่จะสะอาดเป็นลำดับแรกคือมือ ไม่ใช่ผ้า ด้วยความที่ต้องนำเสนอเนื้อหาที่ถูกต้องน่าสนใจ ก็ยิ่งทำให้เราค้นคว้า ต้องรู้ให้มากขึ้น เพราะคุณจะสอนหรือแนะนำใครไม่ได้เลยถ้าคุณไม่มีความรู้เรื่องนั้นจริงๆ โดยเฉพาะถ้าสามารถถ่ายทอดออกไปให้เข้าใจง่ายมากแค่ไหน คนที่ถ่ายทอดออกไปก็จะยิ่งเพิ่มทักษะและความรู้มากขึ้นเท่านั้น

จากที่บอกไปว่าการเรียนรู้ก็คืออิทธิบาท 4 ในทางพุทธ ซึ่งสำหรับผมแล้ว วิมังสา คือส่วนสำคัญ เพราะการเรียนรู้ควรเป็นการอนุญาตให้ตัวเองกลับมาทบทวนสิ่งที่เราเชื่อมั่นได้ตลอดว่าสิ่งนั้นยังถูกต้องอยู่หรือเปล่า เมื่อคำตอบยังคงเป็น ‘ใช่’ เราก็กำลังมาถูกทาง

ทุกวันนี้ผมเองก็คอยถามตัวเองเพื่อทบทวนตลอดว่า ทำเพจลุงซาเล้งฯ ไปทำไม ทำโปรเจกต์ต่างๆ ไปเพื่ออะไร และคำตอบที่ได้ยังคงเหมือนเดิมคือ ผมอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง

Tags:

สิ่งแวดล้อมeveryone can be an educatorเปรม พฤกษ์ทยานนท์

Author:

illustrator

ลีน่าร์ กาซอ

ประชากรชาวฟรีแลนซ์ที่เพลิดเพลินกับเรื่องสยองกับของเผ็ด และเป็นมนุษย์แม่ที่ศึกษาจิตวิทยาเด็กอย่างเอาเป็นเอาตาย

Photographer:

illustrator

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

ศิลปศาสตร์บัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่ทำงานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

Related Posts

  • Voice of New Gen
    Project-based learning กระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้อวกาศไม่ไกลเกินเอื้อม ของ ‘ทีมกรุงเทพคริสเตียนฯ’

    เรื่อง The Potential

  • Creative learning
    เวิร์คชอปภาพถ่ายพลังงานทางเลือกที่เล่าตั้งแต่เรื่องแดดไปจนถึงขยะความเชื่อ

    เรื่องและภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • Creative learning
    ‘ด.เด็กเดินป่า’ ปล่อยมือลูกให้เดินเข้าป่าบ้าง ให้ที่ว่างของการเติบโต

    เรื่อง วิรตี ทะพิงค์แก

  • Character buildingCreative learning
    ‘น้ำตกสายใจ’ ห้องเรียนหน้าร้อน สอนให้เด็กๆ บ้านเขาไครรู้ว่าตัวเองเป็นใคร

    เรื่องและภาพ The Potential

  • Voice of New Gen
    “ภูเขาหัวโล้น เพราะปลูกข้าวโพดเลี้ยงไก่ เรากินไก่ แล้วใครทำลายป่า? เฮ้ย เรานี่หว่า” วิชาธรรมชาติของแตง อาบอำไพ รัตนภาณุ

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ พรภวิษย์ โพธิ์สว่าง

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel