- The Exercise of Elders เครื่องบริหารกล้ามเนื้อสำหรับผู้สูงอายุ ผลงานของน้องๆ โรงเรียนพิมานพิทยาสรรค์ จ.สตูล นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกเล็กๆ ของเด็กหนุ่มตัวเล็กที่ปรารถนามอบความสะดวกสบายและความสุขให้แก่ผู้สูงอายุในจังหวัดสตูล
- จากการเล่นฟุตบอลจนบาดเจ็บ ทำให้พบโจทย์พัฒนา The Exercise of Elders แก้ปัญหาขาดแคลนเครื่องบริหารกล้ามเนื้อ และการเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลของผู้สูงอายุ
- แม้ต้องปรับแก้ทุกรอบการแข่งขัน ทีมก็ไม่คิดล้มเลิก เพราะความสำเร็จของ The Exercise of Elders จะสร้างความสุขให้ผู้สูงอายุได้
เรื่อง: กิติคุณ คัมภิรานนท์, มณฑลี เนื้อทอง
การคาดหวังให้โลกดีขึ้นอาจต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ แต่หลายครั้ง โลกก็สวยงามขึ้นได้จากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่มีคุณค่าและแก้ปัญหาได้จริง
The Exercise of Elders เครื่องบริหารกล้ามเนื้อสำหรับผู้สูงอายุ ผลงานของน้องๆ โรงเรียนพิมานพิทยาสรรค์ จ.สตูล คือหนึ่งตัวอย่างของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกเล็กๆ ของเด็กหนุ่มตัวเล็กๆ ที่ปรารถนามอบความสะดวกสบายและความสุขให้แก่ผู้สูงอายุในจังหวัดสตูล
โลกอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากผลงานของพวกเขา แต่ผลงานของพวกเขาจะทำให้โลกของผู้สูงอายุสวยงามขึ้นอย่างแน่นอน
“อุปกรณ์ชิ้นนี้ ผมทำขึ้นให้ใช้งานได้สะดวก เพราะเครื่องบริหารกล้ามเนื้อสำหรับผู้สูงอายุของโรงพยาบาลจะยึดอยู่กับที่ ผู้สูงอายุต้องไปทำที่โรงพยาบาลอย่างเดียว แต่กับเครื่องนี้ ผู้สูงอายุนำไปทำได้ที่บ้านเลย”
เจอโจทย์เพราะบาดเจ็บ
“ผมเล่นฟุตบอลแล้วล้ม เอ็นไขว้หน้าขาด* ทำให้ต้องไปบริหารกล้ามเนื้อที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง จึงได้เห็นว่ามีผู้สูงอายุจำนวนมากต้องไปบริหารกล้ามเนื้อ แต่โรงพยาบาลมีเครื่องไม่เพียงพอ และตัวเครื่องก็ใหญ่เทอะทะ เราจึงอยากแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยผู้สูงอายุ” แบงค์-นันทวัฒน์ ชำนิธุระการ เล่าถึงที่มาของผลงาน อันเกิดจากความเห็นอกเห็นใจต่ออาการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุ แม้จะเป็นเพียงความรู้สึกกับปัญหาเล็กๆ แต่ถ้าสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ แบงค์มองว่ามันคุ้มค่า
ด้วยความชอบในสิ่งประดิษฐ์ อยากทำโครงงานเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์เป็นทุนเดิม ทำให้แบงค์หอบโจทย์จากโรงพยาบาลกลับมาปรึกษากับอาจารย์ที่โรงเรียน และหลังจากนั้นประมาณ 7 เดือน The Exercise of Elders เวอร์ชันแรกก็ถือกำเนิดขึ้น แบงค์ส่งผลงานเข้าแข่งขันในงานวันนักประดิษฐ์ ปี 2561 ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 20 (YSC 2018) ผลงานนั้นผ่านเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศ
“อุปกรณ์ชิ้นนี้ ผมทำขึ้นมาให้ใช้งานได้สะดวก เพราะเครื่องบริหารกล้ามเนื้อสำหรับผู้สูงอายุของโรงพยาบาลจะยึดอยู่กับที่ ผู้สูงอายุต้องไปทำที่โรงพยาบาลอย่างสถานเดียว แต่กับเครื่องนี้ ผู้สูงอายุสามารถนำไปทำได้ที่บ้านเลย” แบงค์เล่าแนวคิดผลงาน
และเพราะฝันว่าโตขึ้นอยากทำธุรกิจของตัวเอง เมื่อเห็นบอร์ดนิทรรศการของรุ่นพี่โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ที่หลายคนได้จดสิทธิบัตรผลงาน แบงค์มองว่าหากจะพัฒนา The Exercise of Elders ไปให้ถึงขั้นที่สามารถจดสิทธิบัตรได้ การเข้าโครงการนี้น่าจะเป็นก้าวแรกของความฝัน เขาจึงไม่รอช้า สมัครเข้าโครงการต่อกล้าฯ ปี 6 ทันที
จากที่เคยทำผลงานคนเดียว แบงค์ตัดสินใจชวนเพื่อนๆ ที่เคยผ่านประสบการณ์ประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนรุ่นเดียวกันมาร่วมทีม โดยชวน อั๋น-กฤติน ชะโยภัฏฐ์ กับ ตั้ว-อภิศิลป์ อังโชติพันธุ์ มาร่วมพัฒนาโครงงานรอบแรก ก่อนจะชวนปั่น-อัษฎาวุธ หอพิสุทธิสาร ,ภู-ศุภกร แสงขำ และ หนึ่ง-กัมปนาท ทองคำ มาสมทบเพิ่มหลังจากผ่านเข้าไปถึงรอบ 2 โดยบทบาทหน้าที่ในทีมนั้น แบงค์กับหนึ่งดูเรื่องการออกแบบดีไซน์ ปั่น ตั้ว ภู ช่วยเรื่องเอกสารและออกแบบคู่มือ และอั๋นดูเรื่องแอปพลิเคชัน
“มันยากมากที่จะได้เจอโครงการแบบนี้ เพราะมีความรู้หลายอย่างที่เด็กต่างจังหวัดไม่สามารถจะเรียนรู้ได้ โอกาสมาแล้วก็เลยชวนเพื่อนไปหาประสบการณ์ ผมแข่งงานของ วช. แข่ง YSC ระดับประเทศมา เวลาไปคนเดียวมันรู้สึกว่า ถ้าเพื่อนได้มาด้วยน่าจะดี จะได้เรียนรู้ไปด้วยกัน” แบงค์เล่าความรู้สึก
“ส่วนตัวผมชอบการประดิษฐ์ พอเข้ามาเรียน ม.4 ก็รู้จักแบงค์ แบงค์ก็ชวนทำโครงงานต่างๆ หลายโครงการ และได้มาเข้าโครงการต่อกล้าฯ เป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำมา” ภูกล่าว
ก่อนที่อั๋นจะเสริมว่า “เดิมผมชอบเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ครับ แต่ยังไม่ค่อยรู้ว่าทำอะไรอย่างไร จนแบงค์ดึงมาทำโครงการต่างๆ ช่วยสอนเรื่องต่างๆ ต่อกล้าเขาก็ดึงเข้ามาเหมือนกันเพื่อที่จะได้ช่วยกัน”
ไม่ต่างกับตั้วที่ชอบเครื่องยนต์กลไก อยากทำโครงงานแต่ไม่มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ปั่นที่สนใจเรื่องสิ่งประดิษฐ์มาตั้งแต่เด็ก และหนึ่งที่มีความหลงใหลในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่อสนับสนุนภูมิปัญญาชาวบ้าน การที่แบงค์ชวนทุกคนมาร่วมทีมจึงเป็นเหมือนการรวมพลังของคนที่มีความชื่นชอบเหมือนๆ กัน มาร่วมกันพัฒนาผลงานเพื่อแก้ปัญหาให้ผู้สูงอายุ
“มันก็มีเหนื่อย มีเบื่อบ้าง…แต่มันก็ทำให้เราได้เรียนรู้”
‘การปรับแก้’ คืองานอดิเรก
นับตั้งแต่เวอร์ชันแรกมาจนถึงเวอร์ชันล่าสุด The Exercise of Elders ผ่านกระบวนการปรับปรุงแก้ไขมาอย่างโชกโชน ชนิดที่น่าเห็นใจแทนคนทำ
“ผลงานรอบแรกตอน YSC มีแค่ 3 อย่างครับ คือ วงล้อ ส่วนรอก และส่วนที่ยกน้ำหนัก ผมเริ่มทำและได้ปรึกษานักกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลสตูล ซึ่งเป็นนักกายภาพฯ คนเดียวกับตอนที่ผมไปบริหารกล้ามเนื้อนั่นแหละครับ (ยิ้ม) สนิทกันก็เลยขอคำปรึกษาว่าส่วนนี้ดีไหม วงล้อต้องหมุนอย่างไร เขาจะบอกหลักการทำงานมาว่าทำแล้วแก้โรคอะไร” แบงค์เล่าอย่างอารมณ์ดี
เพราะใส่ใจต่อผู้ใช้งาน แบงค์จึงเริ่มพัฒนาผลงานด้วยการทำงานร่วมกับนักกายภาพบำบัดตั้งแต่ต้น เพื่อการันตีว่าผลงานจะถูกพัฒนาบนฐานของการถูกนำไปใช้ได้จริงภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ โดยแบงค์เริ่มจากการมองว่า การหยิบจับสิ่งของในชีวิตประจำวันถือเป็นกิจวัตรพื้นฐานที่จำเป็นมากสำหรับผู้สูงอายุ เขาจึงตั้งต้นพัฒนา The Exercise of Elders บนโจทย์ของการบริหารกล้ามเนื้อช่วงแขนของผู้สูงอายุเป็นสำคัญ จนสำเร็จออกมาเป็นผลงานต้นแบบที่ประกอบด้วย วงล้อใช้บริหารหัวไหล่และช่วงแขน แก้หัวไหล่ติด รอก ใช้บริหารและพยุงทั้งหัวไหล่และต้นแขน และ ที่ยกน้ำหนัก ที่ถ่วงกับถุงทราย ใช้เพิ่มกล้ามเนื้อแขน
กระทั่งผลงานผ่านรอบแรกของ YSC แบงค์ก็ได้รับคอมเมนต์ให้เพิ่มส่วนของการปั่นจักรยานเข้าไป จนผลงานได้รางวัลระดับภาค ก็มีการเพิ่มส่วนของการบิดมือและการบริหารหัวเข่าเพิ่มเข้าไปอีกกระทั่งไปถึงรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ
“รอบแรกที่ ม.วลัยลักษณ์ กรรมการแนะนำให้เพิ่มการบริหารส่วนเท้าด้วย ผมเลยมาคิดต่อถึงการปั่นจักรยานที่ช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อตั้งแต่ต้นขาไปถึงปลายเท้าได้ จนไปถึงการแข่งขันระดับประเทศ กรรมการหลายท่านแนะนำว่าควรเพิ่มส่วนของการเก็บพลังงานใส่แบตเตอรี่เพื่อนำไฟไปใช้ต่อ และให้เพิ่มกระเป๋าแพคเกจจิ้งเพื่อให้สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายด้วย” แบงค์เล่าถึงเส้นทางของผลงาน
หลังจบจาก YSC ผลงาน The Exercise of Elders ถือว่ามีฟังก์ชันที่ดีพร้อม อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้าสู่โครงการต่อกล้าฯ แล้ว คำแนะนำจากกรรมการที่ทีมได้รับก็คือ การปรับแก้ให้ผลงานมีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับผู้ใช้มากขึ้น
“กรรมการแนะนำว่าเครื่องยังไม่ปลอดภัยครับ พอไม่ปลอดภัยก็ทำให้ใช้งานลำบาก เราต้องกลับมาเก็บรายละเอียด ลบมุมแหลมให้ปลอดภัยกับผู้สูงอายุ เปลี่ยนการจับวงล้อ เปลี่ยนแกนกลางเครื่องจากสี่เหลี่ยมเป็นวงกลมเพื่อให้หมุนได้ 360 องศา เพิ่มแป้นบีบกับโต๊ะขึ้นมาให้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้น” แบงค์อธิบาย
และไม่ใช่เพียงคำแนะนำจากผู้รู้และกรรมการเท่านั้น แต่เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด ทีมจึงนำผลงานไปทดสอบจริงกับผู้สูงอายุ กระบวนการนี้เริ่มมาตั้งแต่ตอน YSC และสืบเนื่องมาถึงโครงการต่อกล้าฯ เพราะพวกเขาปรารถนาให้ The Exercise of Elders สามารถใช้งานได้จริงกับผู้สูงอายุตามที่ตั้งใจไว้
“ฟีดแบคจากนักกายภาพบำบัดและผู้สูงอายุ คือ เครื่องยังทำงานไม่สมบูรณ์ ฟังก์ชันการทำงานยังน้อย และใช้งานยาก ซึ่งพวกเราก็ช่วยกันปรับปรุง ทำให้ผู้ใช้รู้สึกพึงพอใจมากกว่าเดิม นักกายภาพบำบัดรู้สึกว่าใช้งานดีกว่าเดิม แข็งแรงมากกว่าเดิม ส่วนผู้สูงอายุเขาอยากให้ตัวเครื่องยึดติดกับฝาผนัง เพราะเขารู้สึกว่าใช้กับโต๊ะแล้วไม่แข็งแรงพอ แต่สิ่งที่เขาพอใจคือท่าบริหารกล้ามเนื้อดีกว่าเดิม และใช้งานง่ายกว่าเดิม ซึ่งพอใช้งานดีกว่าเดิมเขาก็โอเคแล้วครับ” แบงค์กล่าวอย่างมีความสุข
จากฟังก์ชันสำหรับการบริหารช่วงแขน ถูกพัฒนาให้ครอบคลุมถึงการบริหารช่วงขา และปรับแก้ให้ปลอดภัยและมีความเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่ายมากขึ้น กล่าวได้ว่านี่คือขอบเขตงานที่หนักไม่น้อยสำหรับทีมนักเรียนมัธยมปลาย
“จากเวอร์ชันแรกสู่เวอร์ชัน 2 เหมือนเปลี่ยนใหม่หมดเลยครับ (หัวเราะ) มีแค่วงล้อกับหัวเข่าที่เหมือนเดิม นอกนั้นเหมือนทำรุ่นใหม่ออกมาเลย” ตั้วเอ่ยพร้อมรอยยิ้ม
และไม่ใช่เพียงเนื้องานการปรับแก้เท่านั้น หากแต่ยังมีบริบทแวดล้อมอีกไม่น้อยที่ทีมต้องเรียนรู้และบริหารจัดการตลอดการเข้าร่วมโครงการ เช่น การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ได้ยาก เพราะสมาชิกในทีมล้วนอยู่นอกตัวเมือง ต้องใช้เวลาสรรหาและจ้างทำโดยเฉพาะ หรือเรื่องการบริหารจัดการเวลาและจัดลำดับความสำคัญของงาน รวมไปถึงการเปิดใจเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ๆ อย่างหลักจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ที่ทีมบอกว่าเป็นเรื่องยากที่สุดสำหรับพวกเขา
“การทำงานของเราต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลและทดสอบเครื่องกับผู้สูงอายุ โดนคอมเมนต์มาหลายเวทีว่าให้ไปทำเรื่องขอจริยธรรมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อขออนุญาตทดสอบกับผู้สูงอายุอย่างถูกต้อง ถ้าเราไม่มีจะไปทดสอบกับผู้สูงอายุไม่ได้ และมันจะอันตรายต่อตัวเราด้วย เช่น ถ้าเราไปให้ผู้สูงอายุใช้แล้วเกิดเครื่องล้มตีหัวขึ้นมา นั่นคือปัญหาที่เราต้องรับผิดชอบ” แบงค์เล่า
แน่นอนว่านี่เป็นงานที่หนักและเหนื่อย แต่ทีมก็ยินดีและใส่ ‘ใจ’ ลงไปในทุกกระบวนการที่ทำ นับตั้งแต่การออกแบบ การปรับแก้และทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่าบนฐานของการใส่ใจผู้ใช้ เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด
“มันมีเหนื่อยมีเบื่อบ้าง แต่มันก็ทำให้เราได้เรียนรู้ บางอย่างผมยังศึกษาไม่ทั่วถึง แต่พอได้แก้เครื่อง ได้อยู่กับมัน ทำให้เรารู้ว่าหลักการนี้เพิ่มเติมอะไรได้บ้าง มีหลักการไหนนำมาปรับใช้กับผลงานของเราได้ พอแก้ตรงนี้เสร็จก็ไปปรึกษาช่าง ช่างก็บอกหลักการ เราก็ได้เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของเครื่อง ทำให้เราได้เรียนรู้เพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น” แบงค์เล่าถึงแนวคิดของทีมอย่างร่าเริง
เป็นมุมคิดที่น่าสนใจ เข้าข่ายยิ่งทำมากก็ได้เรียนรู้มาก และมากกว่าความคิดก็คือแรงบันดาลใจที่เกิดจากการเอาชนะอุปสรรคในการพัฒนาผลงาน
“ความรู้สึกตอนทำงานสำเร็จเหมือนก้าวข้ามไปอีกขั้นหนึ่งครับ พอทำสำเร็จแล้วได้สิ่งที่ดีกว่า ทำแล้วได้จดอนุสิทธิบัตร เป็นเหมือนแรงบันดาลใจหรือแรงจูงใจให้ทำต่อ” แบงค์เอ่ยอย่างมีความสุข
“การได้ทำผลงานนี้ทำให้เรามองไกลไปถึงการผลิตผลงานและสร้างรายได้ให้กับตัวเอง…ได้ใช้ความสามารถตัวเองพัฒนาเครื่อง และทำให้มันขายได้”
อนาคตไม่ใช่ความฝัน แต่เกิดได้จากความฝัน
บทเรียนที่ทีมได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการพัฒนาผลงาน คือทักษะล้ำค่าที่จะช่วยส่งให้แต่ละคนมุ่งสู่ความฝันของตนต่อไป ทั้งแบงค์และปั่นที่อยากทำธุรกิจสายวิศวกรรมของตัวเอง อั๋นที่พุ่งเป้าไปยังการเรียนต่อในสายคอมพิวเตอร์ ตั้วที่ตั้งใจไปในสายวิศวกรรมยานยนต์ ภูที่สนใจด้านวิศวกรรมทรัพยากร และหนึ่งที่สนใจงานราชการและทำธุรกิจส่วนตัว
“การได้ทำผลงานนี้ทำให้เรามองไกลไปถึงการผลิตผลงานและสร้างรายได้ให้กับตัวเองครับ ได้ใช้ความสามารถตัวเองพัฒนาเครื่อง และทำให้มันขายได้” ภูกล่าว
“ผมอยากเป็นนักธุรกิจอยู่แล้ว การมาทำงานนี้ทำให้ได้เรียนรู้กระบวนการผลิตสินค้า การทำงาน รวมถึงกระบวนการในการใช้ชีวิตต่อไปด้วยครับ” ปั่นเสริมอย่างร่าเริง
สำหรับความฝันระยะสั้นที่กำลังจะกลายเป็นความจริงอย่างการพัฒนาผลงาน The Exercise of Elders ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าทุกคนในทีมภูมิใจมากที่ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาผลงานจนมาถึงจุดที่สามารถใช้งานได้จริง และกำลังจะขยายผลสู่โรงพยาบาลและโลกธุรกิจต่อไป
“เป้าหมายของผลงานคือ การพัฒนาผลงานให้ใช้งานง่ายที่สุดสำหรับผู้สูงอายุ และได้ผลที่สุดครับ และตอนนี้ก็กำลังวางแผนที่จะทำบริจาค 3 เครื่องให้โรงพยาบาลและสาธารณสุขในจังหวัดสตูล อยากให้ผู้สูงอายุได้เห็นและได้ใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ” แบงค์กล่าวอย่างภาคภูมิใจ
จากความเห็นอกเห็นใจเล็กๆ ของแบงค์ ผลงาน The Exercise of Elders ถูกต่อยอดและพัฒนาขึ้นด้วยกลุ่มเด็กหนุ่มผู้หลงใหลในโครงงานวิทยาศาสตร์ ผ่านคำชมและคำวิจารณ์ ผ่านการเรียนรู้และปรับแก้มากมาย แม้จะมีท้อบ้าง แต่ความท้อก็ไม่อาจสั่นคลอน ‘หัวใจ’ ที่พวกเขาใส่ลงไปในงานได้ จนในที่สุดความฝันเล็กๆ ก็กลายเป็นความจริง และพร้อมจะออกเดินทางไปมอบความสุข มอบโลกที่สวยงามขึ้นให้แก่ผู้สูงอายุในจังหวัดสตูลต่อไป
*เอ็นไขว้หน้า (Anterior Cruciate Ligament – ACL) หนึ่งในเอ็นหลักของเข่า อยู่ลึกเข้าไปบริเวณส่วนกลางข้อเข่า เอ็นไขว้หน้าช่วยรักษาความมั่นคงของข้อเข่าในการเคลื่อนไหว ป้องกันการบิดหมุนของข้อเข่า
ผลงาน : The Exercise of Elders เครื่องบริหารกล้ามเนื้อหัวไหล่ แขน หัวเข่า และขาสำหรับผู้สูงอายุ ที่สามารถบริหารกล้ามเนื้อหรือทำกายภาพบำบัดส่วนต่างๆ ได้ในอุปกรณ์เครื่องเดียว ผู้พัฒนาผลงาน : นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนพิมานพิทยาสรรค์ จังหวัดสตูล นายนันทวัฒน์ ชำนิธุระการ (แบงค์) นายกฤติน ชะโยภัฏฐ์ (อั๋น) นายอภิศิลป์ อังโชติพันธุ์ (ตั้ว) นายอัษฎาวุธ หอพิสุทธิสาร (ปั่น) นายศุภกร แสงขำ (ภู) นายกัมปนาท ทองคำ (หนึ่ง) |