- ThaiGA คือ สมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย ชื่อเต็มๆ ว่า Thai Graphic Designers Association มีภารกิจหลักคือการส่งเสริมวิชาชีพกราฟิกและหนึ่งในนั้นคือการจัดทำนิทรรศการ ในรูปแบบ Poster Exhibition ภายใต้หัวข้อ ‘อนาคตการศึกษาไทย?’
- แต่ผลงานที่ส่งเข้ามาส่วนใหญ่ กลับสะท้อนสภาพปัญหาเดิมของระบบการศึกษาไทย เช่น พูดถึงความล้าหลังของวิชาเรียน การขังเด็กอยู่ในกรอบ เด็กไม่รู้จักตัวเอง
- จี๊ด-พิชิต วีรังคบุตร นายกสมาคม บอกว่า โจทย์ต่อไปคือการผลักดันให้นักกราฟิกเข้าไปช่วยพัฒนาสังคม ใช้มิติของศิลปะทำประโยชน์ต่อสังคมให้ได้
‘ไปให้ถูกทาง (Go the right way)’ คือชื่อผลงานของ ธัญฤดี สุผล
ผลงานชิ้นนี้มีแนวคิดสำคัญที่สะท้อนการศึกษาไทย นั่นคือ “การศึกษาไทยที่ทุกวันนี้ได้แต่สงสัยว่าจะไปทางไหน แม้ว่าปัจจุบันจะปรับหลายต่อหลายอย่างก็ดูจะยังไปไม่ถึงฝั่งฝันเสียที เด็กสมัยนี้ก็เลยต้องปรับตัวตามหลักสูตรที่เปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนมาโดยตลอด ผลงานชิ้นนี้อยากสื่อถึงการศึกษาจะไปทางไหนก็ขึ้นอยู่กับเราทุกคนว่าจะป้อนจุดหมายปลายทางอย่างไร ถ้าเราไม่คิดถึงการพัฒนาร่วมกันเราก็คงไปไม่ถึงปลายทางที่เป็นประโยชน์กับเด็กไทยในอนาคต การศึกษาไทยก็คงหลงทางอยู่อย่างนั้น”
Race for the prize คือผลงานของชินธิป เอกก้านตรง
“ชอบอะไร ชอบแบบไหน ยังไม่รู้ แย่งๆ กันเข้าไปก่อน ลองใช้เวลาในนั้นซัก 4 ปีดู โชคดีก็จะได้รู้ โชคร้ายก็เคว้งกันต่อไป”
ชินธิปเจ้าของเฟซบุ๊คเพจ Shhhh อธิบายเพิ่มเติมว่า รู้สึกว่าตัวเองต้องแข่งขันกับคนอื่นมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่สอบเข้า ม.1 สอบเลือกสายตอน ม.4 แล้วก็สอบเข้ามหาวิทยาลัย
“ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่รู้นะว่าที่เลือกไปมันดีมั้ย แต่เค้าบอกให้เลือกก็เอา แต่ที่คิดว่าแย่กว่าคือแข่งไปโดยไม่รู้ว่าเราชอบทางนี้จริงๆ มั้ย” ถ้าเป็นไปได้อยากให้เด็กๆ ได้รู้จักตัวเอง อย่างช้าที่สุดก็ก่อนจบชั้นมัธยมปลาย
“จะได้เลือกเรียนที่ชอบ อยากให้น้องๆ ได้เรียนที่ชอบจริงๆ แล้วก็… รักษาสุขภาพจิตกันด้วยครับ”
เป็น 2 ใน 36 ผลงานที่จะจัดแสดงภายในงาน ThaiGa Creative Showcase 2019 จัดขึ้นในรูปแบบ Poster Exhibition ภายใต้หัวข้อ ‘อนาคตการศึกษาไทย?’ แสดงวันที่ 26 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2562 นี้
The Potential สนทนากับ จี๊ด-พิชิต วีรังคบุตร ผู้ซื่อตรงกับศิลปะ สำหรับเขาศิลปะคือ comfort zone จึงทำให้มั่นใจและกล้าเดินไปข้างหน้ากับเส้นทางนี้ จนได้ขึ้นมาเป็นนายกสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย หรือกลุ่ม ThaiGa ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการจัดนิทรรศการครั้งนี้
ThaiGA คือใคร ThaiGA ทำอะไร
กลุ่ม ThaiGA คือ สมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย ชื่อเต็มๆ ว่า Thai Graphic Designers Association เริ่มก่อตั้งมาประมาณ 20 ปีที่แล้ว ในยุคที่กราฟิกดีไซน์เริ่มเติบโต งานออกแบบเริ่มเเยกออกจากโรงพิมพ์ และเริ่มมีคนสนใจงานกราฟิกเฉพาะทางมากขึ้น ในช่วงสิบปีเเรก สมาคมฯ พยายามจะทำความรู้จักนักออกแบบกราฟิกก่อน เพราะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ ณ ตอนนั้น กลุ่มที่ทำงานกราฟฟิกมีจำนวนน้อย ไม่มีการเรียนการสอนโดยตรง หลังจากนั้นก็ขยับขยายขึ้นมาเรื่อยๆ สมาคมฯ พยายามเข้าไปผูกวิชาชีพของนักออกแบบกราฟิกให้แข็งแรงขึ้น ให้เห็นถึงความสำคัญของงานกราฟิกดีไซน์ต่างๆ จุดประสงค์สำคัญคือ ขับเคลื่อนกราฟิกดีไซน์ไทยให้เป็นมากกว่านักออกแบบ
“โดยเริ่มจากการตั้งคำถามว่า กราฟิกดีไซน์ สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ไหม?”
เพราะปัจจุบันงาน Communication Design มีความเเข็งเเรงมากขึ้น มีโอกาสมากขึ้น และภารกิจสำคัญอีกอย่าง คือ บ่มเพาะนักออกแบบกราฟิก เพื่อให้พร้อมในการเเข่งขัน เพราะในปัจจุบันอาชีพกราฟิกดีไซน์ คล้ายจะยังไม่ติดอันดับในสายงานออกแบบ
ThaiGA คือหน่วยที่ขับเคลื่อนเรื่องงานออกแบบและดูเเลนักกราฟิก
“ถ้าพูดโดยรวม เราเหมือนทำหน้าที่ส่งเสริมวิชาชีพมากกว่า แต่พอบอกว่าส่งเสริมวิชาชีพมันทำได้หลายอย่าง เรามองว่าสมาคมจะเป็นเหมือนประตูสำหรับงานที่อยู่ภายใต้อุตสาหกรรม communication design เพื่อการเชื่อมต่อกับนักออกแบบ ให้มีโอกาสใช้วิชาชีพเขาสร้างการเปลี่ยนแปลง
โดยที่ผ่านมาสมาคมเราเองไปร่วมมือทำงานกับหน่วยงานอื่นๆ หรือว่าแม้กระทั่งทำโปรเจ็คต์ขึ้นมาเอง งาน Poster Exhibition หัวข้อ ‘อนาคตการศึกษาไทย?’ ในครั้งนี้ ก็เป็นโปรเจ็คต์ที่สมาคมเห็นตรงกันว่า เข้ากับยุทธศาสตร์ที่เราพยายามทำ
ต้องย้อนให้ฟังก่อนว่าทางสมาคมฯ เคยจัดกิจกรรมร่วมกับ Bangkok Design Week มาก่อนแล้ว ซึ่งในปี 2019 นี้ ก็ยังคงสานต่อ ภายในงานจะมี 2 ส่วนที่จัดทำโดย ThaiGa นั่นคือ ThaiGa Creative Market 2019 และ ThaiGa Creative Showcase 2019 ซึ่งนิทรรศการแสดงภาพโปสเตอร์จะอยู่ในส่วนของงาน Creative Showcase
ทำไมกราฟิกดีไซน์ทำโปรเจ็คต์เกี่ยวกับการศึกษา
เราก็คุยกันในวงว่า มันมีเรื่องอะไรบ้างที่น่าสนใจและเหมาะสมกับงานออกแบบ แล้วถ้าอยากทำให้งานออกแบบมันเวิร์คจริงๆ มันก็ต้องไปช่วยเขย่าหรือแก้ปัญหา เราจึงพยายามมองว่าปัญหาพื้นฐานของประเทศมันมีอะไรบ้าง และมีอะไรบ้างที่กราฟิกดีไซน์สามารถเข้าไปกระพือมันได้เเละหนึ่งในนั้นก็คือ เรื่องของการศึกษา และเป็นเรื่องที่ตัวเองสนใจโดยส่วนตัวอยู่แล้ว
เราคิดว่าการศึกษาของบ้านเรามันยังมีโอกาสอื่นๆ ที่จะพัฒนาต่อได้ มองในเเง่บวกนะ ก็คือมันมีโอกาสอื่นๆ ที่มันจะปรับตัว และทำให้มันสมบูรณ์ เพราะเราก็มั่นใจว่าตอนนี้สิ่งเเวดล้อมของเมือง ของคน ของสังคม มันเปลี่ยนไปหมดเเล้ว การศึกษาอาจจะยังปรับตัวไม่ทัน คือถ้ามันได้อะไรมากระทุ้งแบบเปิดบทสนทนา ก็อาจจะทำให้สิ่งนั้นกว่าแบบไปถึงได้เร็วขึ้น
หรือคิดว่าประเด็นการศึกษายังเป็น pain point?
ด้วยความที่เรามีลูก การศึกษาจึงเป็นเรื่องที่เราสนใจ แทบทุกปัญหาในสังคมตอนนี้ มันวกกลับมาที่จุดเริ่มต้นทั้งหมดนั้นคือในเรื่องของการศึกษาล้วนๆ เพราะมันเป็นสิ่งตั้งต้นที่มันจะปลูกฝังให้คนแต่ละวัย
ถ้าคุณอยากจะเปลี่ยนสังคม คุณอยากจะเปลี่ยนเมืองจริง มันต้องใช้เวลานานมาก แล้วจะทำอย่างไรก็ได้ให้มัน short cut ให้ได้มากที่สุด อยากสร้างค่านิยมใหม่ๆ แต่ถ้ามันไม่มีปัจจัยอะไรมากระทุ้ง ไม่มีอะไรที่มันมากระเเทก มันเลยเดินเส้นเดิม เราจึงคิดว่าเรื่องการศึกษา จึงเป็นเรื่องสำคัญในเมืองของเรา ในสังคมของเราควรจะพูดถึง
ช่วยเล่าถึงกระบวนการของ Exhibition
งานนี้ใช้เวลาทั้งหมดทำ 2 เดือน กระบวนการทั้งหมดคือ หลังจากเรากำหนดโจทย์ ให้ออกแบบ ‘อนาคตของการศึกษา’ โดยอยู่ในรูปแบบโปสเตอร์ จากนั้นก็ประชาสัมพันธ์ แล้วก็คัดเลือก จัดตั้งคณะกรรมการเข้ามาช่วย ว่าผลงานใครเข้าเป้าบ้าง
เราเปิดให้นักออกแบบนำเสนอผลงาน ผ่านการสร้างสรรค์หลายประเภทต่างๆ เช่น ภาพประกอบ งานออกแบบหนังสือ งานออกแบบกราฟิก งานออกแบบตัวอักษร งานออกแบบผลิตภัณฑ์ ภาพเคลื่อนไหว สื่อผสม ฯลฯ แต่ถ้าถามว่าทำไมต้องโปสเตอร์?
เราคิดว่าโปสเตอร์มันมีความ powerful บางอย่างซ่อนอยู่ เป็นหนึ่งในสื่อที่ทำงานได้ ถึงแม้จะเป็นภาพแบนๆ
ใช้เกณฑ์อะไร ในการตัดสินผลงาน
จริงๆ ในการคัดเลือกผลงานที่ส่งมานั้น ผ่านการตัดสินจากคณะกรรมการหลายๆ คน แต่หลักเกณฑ์ที่ต้องพิจารณาร่วมกันนั้นก็คือ ผลงานชิ้นนั้นสามารถพูดในประเด็นการศึกษาจนเกิดแรงกระเพื่อมขึ้นมาได้ไหม ไม่ว่าจะแรงน้อย แรงมาก แต่อย่างน้อยขอให้งานชิ้นนั้นส่งเสียงออกมาได้ นี่คือสิ่งหลักที่เราต้องคำนึงส่วนอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ ลีลาในการนำเสนอ เมื่อไอเดียดีแล้ว จะเล่าเรื่องได้ไหม สื่อสารได้หรือไม่ นี่คือสองหัวข้อใหญ่ๆ ที่เราใช้เป็นเกณฑ์คัดเลือกนั้นก็จัดเตรียมงานเเสดง
ผลงานส่วนใหญ่เป็นอย่างไร
คือโจทย์จริงๆ เราพยายามมองไปข้างหน้า ‘อนาคตกับการศึกษาไทย’ ดูว่ามันเป็นอย่างไร แต่ว่ามันอาจจะมองไม่เห็นจริงๆ (มั้ง) เพราะผลงานที่ส่งเข้ามาส่วนใหญ่มักสะท้อนสภาพปัญหาที่มันมีอยู่เดิม เช่น พูดถึงความล้าหลังของวิชาเรียน การขังเด็กอยู่ในกรอบ เด็กไม่รู้จักตัวเอง ซึ่งเป็นจุดที่น่าสนใจนะ ว่าสุดท้ายเเล้วสังคมเรามันสิ้นหวังกับเรื่องการศึกษาขนาดนี้เลยหรอ ทำไมเราจึงไม่เคยเห็น process ที่ออกแบบว่ามันจะไปทางไหนต่อ แต่มักจะพยายามพูดในสิ่งที่มันเป็นอยู่เดิมมากกว่า ซึ่งก็เป็นข้อค้นพบใหม่ที่เราไม่ได้คาดว่ามันจะเกิดขึ้น
สำหรับ Exhibition นี้ มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนเเปลงแค่ไหน
เราว่าอย่างน้อยมันก็คงสร้าง conversation หรือบทสนทนาอะไรบางอย่างได้เหมือนกัน เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงก็ต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ ทั้งนั้น เช่น การเริ่มพูดคุยในประเด็นการศึกษา เริ่มตั้งคำถาม เริ่มคิดตาม ก็โอเคแล้ว
ในฐานะนักออกแบบ อะไรที่เราจะช่วยสื่อสารในเรื่องการศึกษาได้มากที่สุด
หน้าที่ของนักออกแบบ มันจะสะท้อนใน 2 มิติ อันแรกคือความสนใจของเขาในเรื่องประเด็นนั้นๆ อย่างที่สองคือ การนำวิชาชีพเขามาสร้างความสนใจให้ประเด็นมันขับเคลื่อน เช่น คุณมีสคริปต์หนังดีๆ สักเรื่อง แต่มันยังไม่ถูกทำเป็นหนัง เป็นแค่ตัวหนังสือล้วนๆ ซึ่งอาจจะเรียกความสนใจได้ประมาณหนึ่ง แต่ถ้ามันถูกทำให้ผ่าน special effect ที่ดีบางอย่าง โดยงานดีไซน์ มันก็จะสร้างความสนใจให้มันมากขึ้นไปอีก สิ่งนั้นมันจะถูกนำพาไปสู่มวลชนที่กว้างขึ้น
คือบางครั้ง เนื้อดี-แต่ออกแบบเเย่ เรื่องก็หาย บางครั้งเนื้อแย่-แต่ออกแบบดี มันก็ไปได้ ดังนั้นนักออกแบบจึงมีส่วนช่วยสร้างภาพจำ สร้างความน่าสนใจ มันก็จะเป็นหนึ่งในวิธีการที่นักออกแบบควรจะ contribute ให้กับอุตสาหกรรมตัวเองมีความเชี่ยวชาญอยู่
กำลังจะบอกว่าศิลปะ ช่วยสนับสนุนสังคมได้
ใช่ ซึ่งเป็นโจทย์ต่อไปที่สมาคมต้องใช้กราฟิกเข้าไปช่วยพัฒนาสังคม อาจจะพูดแล้วดูเล่นใหญ่ (หัวเราะ) แต่มันมีพื้นที่ที่เอื้อให้ทำได้จริงๆ
ศิลปะมักไม่เคยถูกมองในแง่นี้มาก่อน แต่มันใช้งานในเชิงยุทธศาสตร์ได้ และน่าจะช่วยเปลี่ยนคุณภาพชีวิต การเป็นอยู่ของคนในสังคมได้
ยกตัวอย่าง เช่น ?
เช่น เราพาแม่ไปโรงพยาบาล เราต้องเจอกับข้อมูลสุขภาพที่ล้นมหาศาล และเราว่านักออกแบบหรือนักกราฟิกเอง ก็พอจะมีความสามารถที่จะทำให้ข้อมูลเข้าใจได้ง่ายขึ้น และเกิดประโยชน์บางอย่างขึ้นได้
กราฟิกดีไซน์ มันมีอิทธิพลนะ เพียงแต่ในช่วงที่ผ่านมาเราอาจจะไปให้ความสำคัญกับมิติของความสวยงามเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริง มันมีจุดสำคัญอื่นๆ ที่ทำให้มันไปไกลมากกว่านั้น และมันก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ
ส่วนเรื่องความสวยงามก็จำเป็นอยู่ เพราะมันเป็นส่วนช่วยสร้างแรงดึงดูดจากคนมาได้ดีที่สุด ถ้าใครยังนึกไม่ออก ขอยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การออกแบบซองยา ซึ่งมันเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อชีวิตคนมาก ถ้าการออกแบบมันดี จนสามารถเข้าไปแตะถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงได้ มิติของการสื่อสารก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“เราชื่อว่าเรื่องการออกแบบให้สวย คนไทยเก่งอยู่แล้ว แต่มันควรจะไปให้ลึกกว่านั้น ถ้าเกิดกราฟฟิกไปให้ถึงระดับ strategy เราว่า มันน่าจะสร้างโอกาสในการเปลี่ยนแปลงให้เกิดมากขึ้นได้”
โอกาสต่อไป ThaiGa อยากสร้างโปรเจ็คต์อะไรเพิ่มอีก
เราก็จะพยายามเอาความเป็นกราฟิก ความเป็นศิลปะ เข้าไปผสมผสานกับประเด็นสังคม social issue ต่างๆ ให้มากขึ้น
ถ้ามองไปที่ปลายทางในอนาคต เราอยากเห็นภาพของนักออกแบบมีบทบาทและหน้าที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลง ผลดีก็คือมันจะทำให้เกิดการว่าจ้างงานดีไซน์มากขึ้น
ถ้าสาธารณะมองเห็นว่าพวกเราสามารถก็คิดและสร้างสิ่งต่างๆ ที่เกิดประโยชน์ได้ มองว่าศิลปะกลายเป็นกระบอกเสียง มองว่าศิลปะทำให้ชิ้นงานนั้นเป็นที่รู้จัก ทำให้ขายได้ ก็จะเริ่มเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น สุดท้ายระหว่างภาคธุรกิจและศิลปะมันก็จะโตไปพร้อมๆ กัน
อย่างที่ผ่านมา ประเด็นบัตรเลือกตั้ง เราก็คิดๆ เหมือนกันว่าอยากจะทำอะไรสักอย่างกับมัน เวลาไม่นานก็มีคนออกมาทำ ซึ่งก็ทำให้เห็นว่า ‘เออ มันมีคนคิดเหมือนเรา’
วงการออกแบบมันเริ่มตื่นตัวกับประเด็นสังคมแล้ว