- ด้วยเนื้อหาของบทเรียนวิชาภาษาไทยที่ยาก และค่อนข้างจะน่าเบื่อสำหรับเด็กๆ อย่างกาพย์กลอนต่างๆ ทำให้นักเรียนจะขาดความกระตือรือร้นและเบื่อหน่ายในการเรียน
- ครูเตย-สุนิสา วิทยาศิริศักดิ์ ครูภาษาไทย โรงเรียนบ้านบางกระบือ จึงพยายามสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนที่สนุกขึ้น นำการแต่งเพลงแรป ซึ่งเด็กๆ ส่วนใหญ่ชอบ มาเชื่อมโยงกับเนื้อหาการแต่งกลอนในภาษาไทย โดยใช้กระบวนการทำงานกลุ่ม กระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้มากขึ้น
- “ผลลัพธ์การเรียนรู้ของเขาก็ดีขึ้นด้วย เด็กกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าทำ พอเราเปิดโอกาสให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขาชอบสิ่งที่เขาถนัด เขาก็ทำได้ และทำได้ดีด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ความรับผิดชอบ การทำงานเป็นทีม การสื่อสาร การค้นหาความรู้”
จากปรากฏการณ์ของแรปเปอร์สาววัย 19 ปี มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล ขึ้นโชว์เพลงแรปไทยบนเวทีระดับโลกที่สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2022 และมีฉากเด็ดคือ การกินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวทีทำให้ข้าวเหนียวมะม่วงไทยดังไปทั่วโลก จุดประกายให้ ครูเตย-สุนิสา วิทยาศิริศักดิ์ ครูภาษาไทย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 โรงเรียนบ้านบางกระบือ จังหวัดนครศรีธรรมราช นำมาเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ 6 ขั้นตอน เกิดเป็น ‘หน่วยเรียนรู้เพลงแรป’ ในวิชาภาษาไทย
โจทย์ของหน่วยการเรียนรู้นี้ เริ่มต้นจากปัญหาที่ครูเตยเจอในชั้นเรียนของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเนื้อหาของบทเรียนที่ยาก และค่อนข้างจะน่าเบื่อสำหรับเด็กๆ อย่างกาพย์กลอนต่างๆ ทำให้นักเรียนจะขาดความกระตือรือร้นและเบื่อหน่ายในการเรียน จึงพยายามหาวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านี้
เรียนรู้ภาษาไทยผ่านเพลงแรป
ก่อนจะไปถึงการจัดการเรียนรู้ ‘หน่วยเรียนรู้เพลงแรป’ ครูเตยเล่าว่า ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการนักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การขยายผลพื้นที่ต้นแบบ กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในหลักสูตรโครงงานนวัตกรรมเพื่อชุมชน และมีการอบรมเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ โดยใช้ Phenomenon based, Fila map, IP2 หรือโครงการนวัตกรรมจากประสบการณ์โลก เป็นต้น รวมถึงมีคุณครูต้นแบบที่ประสบความสำเร็จมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้ได้นำไปปรับใช้ ซึ่งครูเตยได้นำความรู้นั้นมาปรับใช้ จนเกิดเป็นหน่วยการเรียนรู้นี้
สำหรับการใช้นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียนนั้น ครูเตยอธิบายว่า ต้องตั้งโจทย์ปัญหาที่อยากจะแก้ไข และวิธีการแก้ปัญหานั้น จากนั้นก็ออกแบบกิจกรรมเกี่ยวกับสถานการณ์โลก โดยครูคิดนวัตกรรมการสอนที่สอดคล้องกับสถานการณ์นั้นๆ นำปรากฏการณ์โลกไปเชื่อมโยงกับปัญหาของโรงเรียน ซึ่งวิชาภาษาไทยค่อนยาก โดยเฉพาะเนื้อหาของบทเรียนที่เกี่ยวกับ ‘การแต่งกลอน’
“เราให้เด็กแบ่งกลุ่ม 4 กลุ่มแต่งกลอนมาส่ง ปรากฏว่าส่งมาแค่ 1 กลุ่ม ที่เหลือหายไปเลย ถามก็นิ่งเฉยไม่ยอมส่ง เราก็มาคิดต่อว่าเด็กน่าจะไม่ชอบแต่งกลอน จึงลองให้เด็กแต่งเพลงแรปแทนการแต่งกลอน เพราะเนื้อหาจะแคบลงกว่ากลอน มีแค่คำบางคำที่สัมผัสกันก็ลองมาพูดกับเด็กดูว่าลองหาแนวเพลงแรปที่ตัวเองชอบ โดยที่ยังไม่บอกเขาว่าจะสอนอะไร บอกแค่ว่าการบ้านวันนี้ไปฟังเพลงแรปก่อนคนละ 1 เพลงแล้วก็มาบอกว่าชอบเพลงไหน เด็กก็พูดว่าวันนี้ครูให้การบ้านแปลกๆ เด็กเขาก็เริ่มสงสัยกัน เพราะปกติจะให้แบบฝึกหัดที่เกี่ยวกับกลอนไป วันต่อมาเด็กก็มาเล่าให้ฟังว่าฟังเพลงนี้ หนูชอบฟังเพลงนี้ ผมชอบเพลงนั้น ชอบศิลปินคนนี้ มีความกระตือรือร้นมาก แย่งกันนำเสนอเพลงที่ชอบ”
โดยในหน่วยเรียนรู้เพลงแรป ครูเตยเชื่อมโยงปรากฏการณ์ที่ ‘มิลลิ’ แรปเปอร์สาวขึ้นโชว์เพลงแรปไทยบนเวทีระดับโลกที่สหรัฐอเมริกา กับการเรียนรู้ 6 ขั้นตอน คือ การประเมินระดับการคิดนักเรียนในการเรียนรู้, การคิดประเด็นการเรียนรู้จากแรงบันดาลใจ, วางแผนพัฒนาตนเองร่วมกัน, การจัดการเรียนรู้ลงมือทำ, ผู้เรียนประเมินตนเอง และคิดต่อยอดองค์ความรู้
สำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาไทยผ่านเพลงแรป ครูเตยเริ่มจากการเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ ผ่านวิดีโอหรือบทความ
“ให้เด็กดูปรากฏการณ์โลกก่อนว่ามีสถานการณ์นี้ขึ้นมาในประเทศไทย จากนั้นชวนเขาคิดต่อว่า ของดีในชุมชนเราคืออะไร หรือปัญหาในชุมชน ชั่วโมงต่อมาก็จะเป็นการแต่งเพลง การใช้ภาษา คำสแลง เพื่อให้เด็กรู้ว่าการแต่งเพลงแรปมีรูปแบบอย่างไร การเลือกใช้คำภาษาไทยให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายหรือว่าคนที่ฟัง เป็นการปูพื้นฐานเรื่องการใช้ภาษาไทย”
จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการทำ FILA map หาสาเหตุของปัญหา และวิธีการแก้ไข
“พอทำกระบวนการเหล่านี้เสร็จ เราก็เริ่มปูพื้นเรื่องของฉันทลักษณ์เพลงแรป จากนั้นก็ให้เขาทำสื่อเหมือนฉันทลักษณ์ของภาษาไทย เช่น กลอนแปด กาพย์ยานี เป็นต้น ให้เขาเห็นว่าการแต่งเพลงแรปมีฉันทลักษณ์อย่างไร ต้องมีกี่คำ คำหลังต้องสัมผัสกันอย่างไร ให้ทุกคนเริ่มแต่งเพลงแรปสั้นๆ ตามฉันทลักษณ์ เสร็จแล้วก็ให้การบ้านแต่ละกลุ่มไปแต่งเพลงแรปมา สัปดาห์หน้านำมาเสนอเพื่อช่วยกันขัดเกลา ปรับปรุงเนื้อหา ซึ่งระหว่างแบ่งกลุ่ม
เด็กแต่ละคนก็จะแบ่งบทบาทหน้าที่กันเอง ใครแต่งเพลงได้ก็แต่ง ใครถนัดร้องก็ร้อง บางคนช่วยเขียน ให้เขาเลือกทำงานตามถนัดของตัวเอง และเราต้องมีพื้นที่ให้เขาได้แสดงความสามารถ”
“ตอนที่เด็กๆ แต่งเพลงแรปเสร็จทุกคนคิดว่าจบแล้ว ครูเตยคงไม่สอนเกี่ยวกับเพลงแรปอีกแล้ว แต่พอเราบอกว่าเดี๋ยวครูจะให้มีการประกวดเพลงแรปในวันสุนทรภู่ เด็กๆ เขากรี๊ดกร๊าดกันมาก แต่ละกลุ่มออกมาร้องเพลงแรปให้ครูและน้องๆ ในโรงเรียนฟังด้วย เมื่อน้องๆ ที่เห็นพี่ๆ ร้องเพลงก็ชอบมีความสุขกันมาก เราใช้เสียงกรี๊ดเป็นคะแนนโหวตว่ากลุ่มไหนชนะ ผอ.เห็นก็ชอบมากที่เราเปิดโลกการเรียนรู้ใหม่ให้เด็กได้”
ลดบทบาทครู เพิ่มบทบาทนักเรียน
กว่าจะได้ผลลัพธ์แบบนี้ ครูเตยบอกว่าต้องเตรียมตัวเยอะมาก เนื่องจากการสอนเพลงแรปเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่ครูเตยไม่คุ้นชิน ฉะนั้นสิ่งแรกที่ครูเตยทำคือ การลดบทบาทตัวเองจากครูผู้สอนเป็นครูผู้สร้างการเรียนรู้
“ก่อนสอน 1 สัปดาห์เราต้องหาความรู้เรื่องเพลงแรปมาก่อนว่าเพลงแรปคืออะไร มีกี่รูปแบบ ฉันทลักษณ์เป็นอย่างไร ความรู้เราต้องแม่นก่อน และต้องมีตัวอย่างทำเป็นสื่อให้เขาดูว่าฉันทลักษณ์เพลงแรปต้องมีกี่คำแต่ละคำต้องมีสัมผัสตรงไหนบ้าง โยงให้เขาเห็นภาพ มีตัวอย่างเป็นคำเป็นกลอนให้เขาดู ทำเหมือนกลอนแปดหรือกาพย์ยานี ทำให้ดูเลยในตอนนั้น เด็กๆ ก็รู้สึกว่ามันง่ายขึ้น เขาก็เริ่มอยากทำมากยิ่งขึ้น พอใช้กระบวนการแบบนี้เด็กก็รู้สึกผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดในการเรียนลง”
ที่สำคัญคือ การนำทักษะกระบวนการกลุ่มเข้ามาใช้ ให้เด็กๆ ในกลุ่มแบ่งบทบาทหน้าที่กันเอง เช่น คนที่ 1 แต่งเพลง คนที่ 2 ช่วยเขียน คนที่ 3 ช่วยทำทำนอง คนที่ 4 ช่วยตกแต่งในกระดาษปรู๊ฟที่จะนำเสนอหรือช่วยอำนวยความสะดวกให้กลุ่ม เป็นต้น
โดยจากการสังเกตพฤติกรรมในห้องเรียน ครูเตยเห็นว่า แต่ละกลุ่มไม่มีสมาชิกคนใดนั่งว่างหรือว่านั่งนิ่งเฉย ทุกคนช่วยกันเป็นอย่างดี เห็นพัฒนาการในเรื่องของความกระตือรือร้นในการเรียนมากยิ่งขึ้น
“ถ้าสอนแบบเดิมก็จะมีเด็กบางคนนั่งหลับบ้าง นั่งเหม่อลอยบ้าง แต่พอสอนแบบกลุ่มแล้วรู้สึกว่าเขาจะหันหน้าเข้าหากลุ่ม หันหน้ามาถามกัน เข้าหาเพื่อนของตัวเอง พูดคุยกันว่ากลุ่มเรายังขาดอะไรบ้าง กลุ่มเรายังไม่มีเนื้อหาตรงไหน”
จะเห็นว่า กระบวนการกลุ่มสามารถกระตุ้นและสร้างความสนใจให้ผู้เรียนได้มากกว่าการเรียนรู้แบบเดิมอย่างเห็นได้ชัด แต่ทั้งนี้ต้องเป็นเนื้อหาที่เด็กสนใจด้วย
“ผลลัพธ์การเรียนรู้ของเขาก็ดีขึ้นด้วย สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ เด็กจะซึมซับในเรื่องเพลงแรปมากยิ่งขึ้น กล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าทำ เมื่อก่อนเหมือนเขาดรอปตัวเองว่า ฉันไม่ทำหรอก ฉันไม่กล้า ฉันทำไม่ได้ แต่พอเราเปิดโอกาสให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขาชอบสิ่งที่เขาถนัด เขาก็ทำได้ และทำได้ดีด้วย พอบางคนเห็นเพื่อนทำได้หลายคนก็เริ่มกระตือรือร้น ฉันร้องไม่ได้ แต่ฉันแต่งเพลงแรปได้ ฉันช่วยกลุ่มได้ เป็นต้น
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ความรับผิดชอบ การทำงานเป็นทีม การสื่อสาร การค้นหาความรู้ ที่ล้วนแต่เป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 ทั้งสิ้น”
นอกจากนี้ สิ่งที่ได้มากกว่าทักษะและความรู้คือ ความสำนึกรักบ้านเกิด “เห็นได้จากเนื้อหาเพลงที่เด็กๆ แต่งจะอิงกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน หรือเล่าถึงของดีของนครศรีธรรมราชว่ามีอะไรบ้าง หรือจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาของยาเสพติด เห็นเด็กเรียนไม่จบเพราะติดยาบ้างหรือมั่วสุมกับน้ำกระท่อม เลยสะท้อนมาในเรื่องของปัญหาและวิธีแก้ปัญหาว่าอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดจะมีโทษมหันต์”
และแม้จะไม่ได้เรียนรู้แบบกิจกรรมดังกล่าวทุกคาบ บางคาบครูเตยยังคงใช้วิธีการสอนแบบเดิม แต่เด็กๆ ก็ยังพร้อมเรียนรู้เหมือนเดิม
“ทั้งหมดอยู่ที่ตัวเอง คือไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเหมือนที่ผ่านมา แต่เปิดโอกาสให้เด็กร่วมคิดว่าเขาอยากเรียนรู้อะไร ให้อิสระเขาได้เลือกเต็มที่ ไม่มีผิด ไม่มีถูก ไม่ดุด่าให้เสียน้ำใจ”
ทั้งนี้ ในส่วนของแผนการสอน ครูเตยยังคงใช้แผนการสอนเดิม และเนื้อหาแบบเดิม เพียงแค่เปลี่ยนกระบวนการสอนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะเข้าใจแล้วว่าแผนการสอนสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทโรงเรียนได้
ส่วนการวัดประเมินผล ครูเตยเล่าว่า มีความละเอียดมากขึ้น มีแบบประเมิน KPA แบบรูบิกชัดเจน ประเมินเสร็จก็นำมาเปรียบเทียบว่าเด็กมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่เพิ่มปัญหาอยู่ตรงไหน และนำปัญหานั้นไปทำวิจัยเพื่อแก้ไข
“ยิ่งเรามีความชัดเจนในเรื่องการวัดประเมินผลนักเรียนมากเท่าไร เราจะยิ่งเขียนแผนการสอนได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ส่วนตัวชี้วัดที่นำมาใช้ในหน่วยแต่งเพลงแรป จะมีการบูรณาการในเรื่องการอ่าน การเขียนเพลงแรป และการนำเสนอ แผนแบบเดิมก็ยังอยู่แต่แทรกหน่วยแต่งเพลงแรปเข้าไป ตัวชี้วัดก็ใช้เหมือนเดิม”
แรปของดีประจำจังหวัด ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่เด็กและครูภูมิใจ
“นครศรีธรรมราชมีพระธาตุเจดีย์ และนอกจากนั้นยังมีน้ำตกพรหมคีรี ขนมลาเมืองคอนอร่อยและเป็นของดี พี่ๆ มาเที่ยวนครศรีกันได้นะครับคนดี ชุมชนบ้านบางกระบือของผมน่าอยู่ มีกุ้งหอยปู ปลาน่าดู มีกะปิขึ้นชื่อรับรองไม่หดหู่ มีเศรษฐกิจพอเพียงที่น่าเรียนรู้ สามารถกลับบ้านกินชีวิตต้องสู้ พวกเรารักท้องถิ่นที่อยู่ ขอเชิญมาเที่ยวกันดู ถึงดูไม่หรูแต่อยู่กันอย่างพอเพียง”
ตัวอย่างผลงานจากหน่วยการเรียนรู้เพลงแรปของครูเตย โดยน้องต้นน้ำและน้องออโต้ นักเรียนของครูเตยทั้ง 2 คน เป็นตัวแทนเล่าถึงเนื้อหาเพลงที่แต่งขึ้น ซึ่งกว่าจะแต่งเสร็จก็ใช้เวลาหลายวัน เพื่อนๆ ในกลุ่มก็แบ่งบทบาทหน้าที่กัน มีทั้งคนเขียน คนร้อง คนทำฟลิปชาร์ตนำเสนอ
เมื่อถามว่าได้อะไรจากหน่วยเรียนรู้นี้ น้องออโต้ บอกว่า การคิดเรื่องปัญหาชุมชน การใช้ชีวิตในชุมชน และเอามาปรับแก้ไขได้ และยังได้ความรู้เกี่ยวกับเพลงแรป ได้ทำในสิ่งที่เราชอบและเราไม่เคยทำ และทำให้เข้าใจการใช้ภาษาไทยมากขึ้นด้วย
“ความรู้ที่พวกผมได้รับจากการเรียนในหน่วยเพลงแรปคือ การจับประเด็น ที่ต้องฟังเพื่อหาใจความสำคัญเพื่อจะได้รู้ว่าเนื้อหาเพลงต้องการสื่อสารเรื่องอะไร ซึ่งเทคนิคการจับประเด็นนี้พวกเรานำมาใช้ในรายวิชาประวัติศาสตร์ด้วย เพราะเป็นวิชาที่มีรายละเอียดเนื้อหาเยอะมาก เลยลองจับใจความก่อนว่าเรื่องนี้ครูกำลังจะสอนอะไรทำให้เข้าใจง่ายขึ้น”
ส่วนน้องต้นน้ำ บอกว่า เมื่อก่อนเวลาถึงคาบเรียนภาษาไทย เขาเบื่อมาก ครูจะให้นั่งอ่านร้อยแก้วร้อยกรอง อ่านเสร็จแล้วก็ไปท่องให้ครูฟัง จนถึงวันนี้ยังนึกไม่ออกเลยว่าที่ท่องไปเอามาใช้อะไรได้บ้าง
และสำหรับผลงานเพลงแรปของน้องๆ โรงเรียนบ้านบางกระบือถูกนำเป็นแพร่ในยูทูบ เวทีนำเสนอผลงานโครงการนักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และโครงงานคุณธรรมของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรื่องนวัตกรรม ซึ่งมีการนำผลงานดัวกล่าวไปเผยแพร่ต่อในระดับเขตพื้นที่การศึกษา และส่งเข้าประกวดในเวทีระดับชาติคือ รางวัลทรงคุณค่า สพฐ. (OBEC AWARDS)
“เหล่านี้คือ นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากเด็ก แม้จะดูเป็นสิ่งเล็กๆ แต่มันเกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ของเขา เขาไม่ได้ไปคัดลอกมาจากที่อื่น เป็นเนื้อหาที่เขาแต่งขึ้นมาเอง ซึ่งครูท่านอื่นก็ชื่นชมว่าเพลงของเด็กๆ ดีมากให้ไปหาทำนองมาใส่ หรือว่าไปปรึกษาคนทำเพลงน่าจะทำเป็นอัลบั้มเล็กๆ ให้เด็กได้ เราได้ยินแบบนี้ก็ใจฟูเลย” ครูเตย-สุนิสา วิทยาศิริศักดิ์ โรงเรียนบ้านบางกระบือ ทิ้งท้าย