- “ผมอยากเป็นครูที่ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น ถ้าเขาอยากเป็นชาวนา ผมอยากทำให้เขาเป็นชาวนาที่ชาญฉลาด ถ้าเขาอยากเป็นคนปลูกมัน ผมอยากทำให้เขาเป็นคนปลูกมันที่ชาญฉลาด คือไม่ใช่แค่รู้ว่าจะทำอาชีพยังไง แต่รู้ว่าเขาจะจัดการที่ดินตัวเองยังไง ค้าขายยังไง ทำการตลาดยังไง ทำอาชีพนี้ยังไงให้ยั่งยืน”
- เรื่องราวของครู ยอดรัก ธรรมกิจ โรงเรียนบ้านอาวอย อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ฝันของเขาไม่ใช่การเป็นครูแต่คืออาชีพด้านการแพทย์ แต่เขาดันสอบได้ทุนเรียนครูโครงการเพชรในตม ภาคอีสาน กระทั่งได้มาสอนจริงที่โรงเรียนติดชายแดน วันนั้นเองที่นักเรียนเป็นคนให้คำตอบกับเขาว่า ทำไมเขาต้องเป็นครู และ เป็นครูแบบไหน
- แม้พล็อตเรื่องพลิกผันของครูยอดรักจะเป็นโครงเรื่องหลักได้สบาย แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือการออกแบบการเรียนรู้ในห้อง อย่างเรียนสนุก ลุกนั่งสบาย ไร้ซึ่งเสียงกดดันขึงโกรธ น่าแปลกที่เสียงโวกเหวกในห้องไม่ใช่แค่เสียงพูดคุยเล่นกัน แต่ปะปนด้วยเสียงการถกเถียงเรื่องการเรียนรู้ การตอบคำถามเสียงดังฟังชัดที่ดูสนุกและฉลาด ไม่เหมือนห้องเรียนเน้นวินัยที่นักเรียนไม่กล้าตอบคำถามครูเลย
1.
ห้องเรียนชั้นป. 1/2 โรงเรียนบ้านอาวอย* อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ หนึ่งในห้องใต้อาคารไม้ชั้นเดียวยาวหนึ่งตอนแต่แบ่งออกเป็น 4 ห้อง ห้องข้างเคียงจัดโต๊ะแถวเดี่ยวตามปกติและทาสีพื้นๆ ตามมาตรฐานอาคารเรียนทั่วไป แต่กับห้อง ป.1/2 ห้องประจำชั้นของครูยอดรัก ธรรมกิจ ต่างออกไป เพราะฝาไม้ระแนงถูกทับด้วยสีพาสเทลตั้งแต่ชมพู ฟ้า เขียว ที่เป็นไอเดียและจัดทำโดยครูเอง แถมมีศิลปะน้อยใหญ่ที่ดูก็รู้ว่าเป็นฝีมือเด็กน้อยติดเต็มห้องไปหมด ไม่รวม ‘เสียง’ โหวกเหวกจากเด็กตัวเล็กๆ เพียงสิบกว่าคนที่จัดโต๊ะเป็นรูปตัวยู ผลัดกันตอบคำถาม วิ่งออกไปเติมคำตอบบนกระดาน หรือบ้างส่งเสียงเรียกความสนใจจากครูไม่ก็จากเพื่อนด้วยกัน
แค่นั่งในห้องไม่ถึง 10 นาที – ในฐานะผู้เข้ามาสอดแนมการเรียนการสอนในห้อง – ก็รับรู้ได้ถึงพลังสดใส (ปนเซี้ยว) ของเด็กๆ อายุ 8-9 ขวบ ที่ส่งถึงผู้มาใหม่อย่างเราได้อย่างรวดเร็ว
ยังไม่ทันได้ทำความสนิทชิดเชื้อกับเด็กๆ พวกเขาก็ตีซี้เราด้วยการไปหยิบหมวกเปเปอร์มาเช่รูปสัตว์ต่างๆ มา (วิ่ง) เล่นรอครูยอดรักตรวจงานเพื่อนนักเรียนคนอื่น เราหันมองครูว่ามีปฏิกิริยาต่อการวิ่งเล่นของเด็กๆ อย่างไร ครูแค่ยิ้มแซว หัวเราะตาม หยอกเอินพอให้หายมันเขี้ยว ถึงเวลาค่อยเรียกพี่ๆ มานั่งทำกิจกรรมต่อทั้งที่ยังสวมหมวกสัตว์นั้นอยู่ …แถมยื่นชวนให้ครูใส่เล่นด้วยกัน
เท่าที่เห็นและได้ยิน เด็กๆ ไม่กลัวครู เป็นธรรมชาติ ไม่เถียงหัวชนฝาแค่ชอบตั้งคำถามกับครูมากกว่าว่าที่ครูให้ทำแบบนี้เป็นเพราะเหตุผลอะไร ครูเองก็ดูไม่ขัดใจกับความ ‘เฮี้ยว’ ของเด็ก ตอบคำถามกลับทุกครั้งอย่างไม่หงุดหงิด กลมกลืนไปกับเด็กแต่ก็นำทิศทางการสอนได้อย่างไหลลื่นและได้ผลตามแผนการที่เตรียมมา
เราติดตามขอดูครูยอดรักสอนหนังสือเต็มวัน พบว่าครูแทบจะใช้เวลาทั้งวันไปกับการ ‘โฮลด์’ ห้องเรียน สอนเต็มแมกซ์เกือบตลอด 8 คาบ (แถมตอนพักกลางวันยังกินข้าวโต๊ะเดียวกับนักเรียนประจำชั้นอีก) แต่ครูไม่ได้สอนวิชาการตลอดเวลา แต่แบ่งเวลาให้เด็กๆ ได้ออกไปวิ่งเล่นทำกิจกรรม และยังมีช่วงพักทำศิลปะด้วย (ซึ่งเด็กๆ หยิบอุปกรณ์แล้ววิ่งกรูไประบายสีใต้ต้นไม้ใหญ่หน้าห้องเรียน)
ไม่ใช่แค่เราที่รู้สึกว่าห้องเรียนครูยอดรักดูสนุก แต่เด็กห้องข้างๆ ก็แอบเมียงมองและชอบแวะมาชวนครูยอดรักคุยอยู่ไม่ขาดเช่นกัน
“ก่อนเลิกเรียนต้องให้เด็กๆ เล่นอะไรสักอย่างด้วยกันก่อนเขากลับบ้าน อยากให้เด็กๆ ได้พักเบรกก่อนกลับบ้าน อย่างวันนี้เราเล่น ‘ซ่อนแอบ’ กัน เวลาที่เด็กๆ เล่น เขาได้ความสามัคคี เข้าใจความยุติธรรม ได้เรื่องการเป็นผู้นำผู้ตาม ถ้าคนไหนเล่นไม่ถูกกติกานี่มีโวยกันเลยนะครับ คือมันได้เรื่องพวกนี้โดยที่เราไม่ต้องเลคเชอร์เลย” ครูยอดรักในชุดเครื่องแบบสีกากีแวบมาอธิบายเบื้องหลังกิจกรรมก่อนกลับบ้านให้ฟัง
2.
เขาเป็นครูหนุ่มอายุ 33 ปี อดีต 1 ใน 9 นักศึกษาทุนโครงการเพชรในตม ที่แปลว่านี่คือครูหัวกะทิที่พร้อมจะกลับไปทำงานที่บ้านเกิด ปัจจุบันเป็นครูประจำห้องเรียนชั้น ป.1/2 ณ โรงเรียนบ้านอาวอย สอนหลักในวิชาภาษาไทยและคณิตศาสตร์ แม้ใครหลายคนจะบอกว่าตลอดการเป็นครูมา 9 ปีของเขาเข้าข่ายคำว่า ‘สำเร็จ’ คือมีความมั่นคงในอาชีพ ได้รับการยอมรับจากผู้ปกครองและเพื่อนร่วมงาน เป็นครูที่ไม่ได้แค่สอนตามคำบอกแต่มีเทคนิควิธีสอนมากมายที่อธิบายกลับด้วยทฤษฎีการเรียนรู้ได้ และโรงเรียนบ้านอาวอยเองก็เป็นโรงเรียนที่มีศักยภาพเพราะเป็นโรงเรียนนำร่อง Brain-based Learning (BBL) หรือ การเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองแห่งหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ
กระนั้น ครูยอดรักบอกว่าเขากำลังจะย้ายกลับไปยังบ้านหลังแรกในการบ่มเพาะและเติมเชื้อไฟการเป็นครูของเขา นั่นคือ ‘โรงเรียนบ้านโนนสมบูรณ์’ โรงเรียนติดชายแดน จ.ศรีสะเกษ ที่เรียกว่าเป็นหมู่บ้านสุดท้ายของจังหวัดเลยทีเดียว
“ตั้งแต่เด็กมาแล้ว ผมไม่เคยอยากเป็นครูเลย กระทั่งตอนได้ทุนโครงการเพชรในตมก็ไม่ใช่ความต้องการของตัวเอง คือสอบเพราะแม่บอกให้สอบแต่ผมกลับติดทุนนี้ ตอนฝึกสอนก็ทุกข์มากเพราะเจอกับห้องเรียนที่ควบคุมไม่ได้ ถอดใจหลายครั้ง จนเรียนจบแล้วต้องกลับมาใช้ทุนที่โรงเรียนบ้านโนนสมบูรณ์ ตอนรู้ครั้งแรกว่าจะต้องมาใช้ทุนที่โรงเรียนนี้ ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันอยู่ตรงไหน หาใน google map ก็ไม่เจอ จนมารู้จากลุงที่เคยเป็นทหารตระเวนชายแดนและเคยทำอยู่แถวโรงเรียนนี้”
จากที่ตั้งใจว่าจะไปแค่ใช้ทุนแล้วลาออก กลายเป็นได้คำตอบว่านี่แหละคืออาชีพที่เขาอยากทำ และก็ทำมาตลอด 9 ปี เพียงเพราะประสบการณ์ที่นี่สอนให้รู้ว่า…
“มันไม่ใช่ผมเลยที่สอนเขา นักเรียนก็เป็นคนสอนผมเรื่อง ‘ทักษะชีวิต’ ด้วย”
3.
“ตอนไปเป็นครูผู้ช่วยสอนที่โรงเรียนบ้านโนนสมบูรณ์ใหม่ๆ ไฟแรงมาก เคยเรียนเคยฝึกสอนที่กรุงเทพฯ มายังไงก็เอามาใช้กับที่นี่หมด ตั้งใจอยากให้เด็กๆ อ่านออกเขียนได้และได้วิชาการเต็มที่ จำได้เลยว่าตอนนั้นผมสอนวิชาคณิตศาสตร์ เราก็เขียนโจทย์ขึ้นกระดานให้เด็กๆ 10 ข้อ เพราะตอนสอนที่กรุงเทพฯ เด็กๆ ใช้เวลาแค่ 10 นาทีก็เสร็จแล้ว เราก็ให้งานเด็กไว้แล้วเดินไปทำธุระกับครูที่โรงเรียน เพราะตอนมาใหม่ๆ ยังมีหลายเรื่องที่เราต้องไปศึกษาจัดการ ผ่านไป 1 ชั่วโมง เรากลับมาตั้งใจจะเฉลยคำตอบ ปรากฎว่านักเรียนเขียนแต่โจทย์แต่ไม่ทำ เราถามว่าทำไมถึงไม่ทำ เด็กๆ ตอบว่า ‘เอ้า ก็ทำไม่เป็นน่ะครู’ เลยต้องใช้เวลาอีกคาบชวนนักเรียนทำทีละข้อ กว่าจะจบใช้เวลานานมากและก็ไม่รู้ว่าเด็กๆ เข้าใจรึเปล่า จากนั้นผมไม่เคยให้งานนักเรียนเกิน 5 ข้อเลย (หัวเราะ)
“ผมเป็นครูผู้ช่วยที่นั่นประมาณ 2 ปี ก็ได้เป็นครูเต็มตัว ทีนี้เราออกแบบห้องเรียนเราได้เองแล้ว และรู้แล้วว่าเด็กๆ ไม่ได้สนใจวิชาการขนาดนั้น แต่ถ้าเป็นเรื่องทักษะชีวิต เรื่องนี้เด็กๆ เก่งมาก ธรรมชาติของเด็กที่นี่คือเขาทำนา ทำไร่ รู้จักเครื่องยนต์ดีมากเพราะต้องใช้ทำงาน ก่อนมาโรงเรียนเขาต้องไปทำนา ปลูกมัน ทำงานที่บ้านให้เสร็จก่อน ผมเลยเริ่มจากค่อยๆ ถามเขาว่า ‘วันนี้ไปทำอะไรมา’ เด็กตอบว่า ‘ไปปลูกมัน ตัดมันมาสิครู’ เราก็ค่อยถามต่อ ‘เหรอๆ แล้วเวลาเธอตัด ตัดกี่เซนฯ รู้มั้ย ช่วยไปวัดมาให้ครูหน่อย’
“วันรุ่งขึ้นเด็กมาบอกเลย ‘ตัด 10 เซนฯ ฮะครู’ เราก็ถามต่อ ‘เหรอ แล้วต้องปักยังไง ปักลึกเท่าไร แต่ละต้นห่างกันเท่าไร’ เด็กก็กลับไปวัดระยะห่างแต่ละหลุมมาอีกว่าแต่ละหลุมห่างเท่ากันมั้ย วันรุ่งขึ้นกลับมาตอบว่าเขาปักแต่ปักไม่เท่ากัน เราก็ถามต่อเลย ‘อ้าว เหรอ แล้วทำยังไงให้มันเท่ากันละ’ เด็กบอก ‘งั้นจะไปดึงตลับเมตรมาวัดให้มันเท่าๆ กันครับครู’ แล้วเด็กก็กลับไปดึงตลับเมตร มาร์กหลุมแต่ละต้น เนี่ย… เราทำแบบนี้ทุกวัน ตั้งคำถามและให้เขากลับไปหาคำตอบทุกวันโดยที่เด็กไม่รู้เลยว่ากำลังเรียนเรื่องการวัด เรียนเรื่องหน่วยอยู่ พอสุดท้ายเราเฉลยว่า นี่แหละคือการวัด เด็กว่า ‘มันคือแค่นี้เหรอครู!’ เขารู้สึกว่าทำไมมันง่ายจังเลย หลังจากนั้นเด็กๆ ห้องผมแทบไม่ค่อยได้อยู่ในห้องเรียนเลย แต่แปปๆ นักเรียนชวนกันออกไปเก็บมันละ ไปคลองละ ชุดทำงานผมไม่ต้องพูดถึง ใส่สูทก็ต้องถอดแล้วโดดน้ำกับนักเรียนเลย
“การสอนแบบนี้ เราไม่ต้องเปิดหนังสือเลยแต่เด็กๆ เข้าใจและนำไปใช้งานได้จริง ถามว่ามันวัดผลได้มั้ย? ได้นะ เพราะตอนไปสอบ เด็กกลุ่มนี้สอบได้หมด เขาเล่าให้ฟังว่าที่เขาทำได้เพราะเขาเห็นเป็นภาพ จำได้ว่าตอนที่ลงไปวัด ไปแปลงหน่วย ไปใช้เครื่องมือนั้นมันกลับมาพลิกแพลงในการทำข้อสอบยังไง และนี่ไม่ใช่แค่กับวิชาเลขนะฮะ แต่กับวิชาภาษาอังกฤษก็เหมือนกัน ผมไม่เคยให้เด็กๆ ท่องจำแบบ ‘C-A-T แคทแมว’ แต่เรียนจากเรื่องจริงว่า สัตว์ที่เขาเจอในชีวิตจริงคืออะไร คำศัพท์ที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ที่เขาใช้งานทุกวันคืออะไร”
ครูยอดรักใช้เวลาที่โรงเรียนบ้านโนนสมบูรณ์เป็นเวลา 5 ปีเต็มก็ครบกำหนดใช้ทุน เขาเล่าว่าการอยู่ที่นี่ไม่ใช่แค่ตอบคำถามว่าเขาอยากเป็นครูหรือไม่ แต่ตอบว่าเขาอยากเป็นครูแบบไหน เห็นจริงเลยว่าการเป็นครูคือทุกอณูของชีวิต
“อยู่ที่นั่น ด้วยความที่บริบทโรงเรียนมันแตกต่างมาก เด็กๆ มีหลายเชื้อชาติ โดยเฉพาะเขมร ส่วย ลาว เยอ ความฝันของเขาไม่ใช่การเป็นหมอ ครู ดารา แต่คือ เขาอยากเป็นชาวนา อยากปลูกมัน อยากทำอาชีพแบบพ่อแม่เขา การได้เห็นและอยู่กับเขาทำให้ผมตั้งใจกับตัวเองเลยว่า
“ผมอยากเป็นครูที่ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น และถ้าเขาอยากเป็นชาวนา ผมอยากทำให้เขาเป็นชาวนาที่ชาญฉลาด ถ้าเขาอยากเป็นคนปลูกมัน ผมอยากทำให้เขาเป็นคนปลูกมันที่ชาญฉลาด คือไม่ใช่แค่รู้ว่าจะทำอาชีพยังไง แต่รู้ว่าเขาจะจัดการที่ดินตัวเองยังไง ค้าขายยังไง ทำการตลาดยังไง ทำอาชีพนี้ยังไงให้ยั่งยืน”
4.
สิ่งที่ทำให้ครูยอดรักถูกติดเครื่องมือการสอนมากมาย ไม่ได้มาจากแลคเชอร์ในมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว แต่ตลอดการทำงาน 9 ปี และโดยเฉพาะขวบปีแรกของการเป็นครู เขาแสวงหาเคล็ดวิชา ทั้งอาสาและถูกชี้ตัวให้เข้าอบรมแทบทุกงาน
“ด้วยความที่เป็นคนโสด อายุน้อย เป็นผู้ชาย ทำให้การอบรมที่ส่วนใหญ่มักต้องไปต่างจังหวัด ไปค้างคืน ผมกลายเป็นคนที่คล่องตัวไปอบรมที่สุด ทุกครั้งที่ไปทำให้ได้เจอกับครูที่เก่งๆ ศึกษานิเทศน์เก่งๆ เวลาเขาคุยหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสอน แม้ผมจะรู้สึกตัวเล็กไม่มีอะไรไปแลกเปลี่ยนกับเขา แต่ก็ทำให้ผมตื่นเต้นและอยากพัฒนาตัวเองไปด้วย
“แต่พีคที่สุดคือการเข้าอบรมกับโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ถือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตเลย”
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ ตัวโรงเรียนเองมีนวัตกรรมการสอนแบบ PBL (Problem Based Learning การออกแบบการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน) และ จิตศึกษา (การจำลองสถานการณ์ที่เกี่ยวกับ ‘จริยธรรม) ไม่ใช่แค่เข้าอบรม แต่ครูยอดเป็นตัวแทนครูได้เข้าไปอบรมและฝังตัวที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาเป็นเดือนๆ การเข้าอบรมหลายๆ ครั้งทำให้ครูยอดได้เคล็ดวิชาการสอนหลากหลายไปปรับใช้ในห้องเรียน และทำให้เห็นว่าการโลกแห่งการสอน มันมีวิธีหลากหลายที่จะส่งต่อให้กับนักเรียน
ในปีที่ 5 ของการเป็นครู ครูยอดรักย้ายมาสอนที่โรงเรียนบ้านอาวอย ซึ่งเป็นโรงเรียนในตัวเมืองอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เด็กๆ มีความพร้อมจากทางบ้านและความพร้อมของโรงเรียน นักเรียนจึงมีความพร้อมเรียนรู้ทางวิชาการมากกว่าโรงเรียนเก่าที่ต้องปรับให้อิงชีวิตจริงของพวกเขา ครูยอดรักต้องปรับวิธีการสอนด้วยการเร่งเครื่องทางวิชาการเต็มที่ แต่ด้วยอาวุธที่สั่งสมมา การเร่งเครื่องทางวิชาการก็ไม่ใช่ในรูปแบบการท่องจำอยู่ดี
“โจทย์ของที่นี่ไม่ใช่การสร้างทักษะให้นักเรียน แต่เน้นวิชาการได้เลย เพราะเด็กๆ มีพื้นฐานที่ค่อนข้างดีพร้อมเรียน แต่อย่างไรเราก็ไม่ชอบการสอนแบบเปิดหนังสือสอน แต่เรียนผ่านอุปกรณ์ ให้เข้าใจเป็นภาพ มีกิจกรรมเยอะๆ และพยายามจะรู้จักเด็กเป็นรายคน บางคนมีปัญหาเรื่องการพูด เราก็จะชวนเขาคุยมากหน่อย ทำให้เขาไว้ใจให้ได้ บางคนช้าหน่อย เราก็ต้องคัดกรองและกระตุ้นการเรียนการสอนให้เขา
“ที่สำคัญคือการสร้างทัศนคติที่ดีให้กับการเรียน”
หลักฐานคือ การไปสอนแทนวิชาภาษาอังกฤษให้นักเรียนชั้นมัธยมต้น ครูเล่าว่าตอนแรกเด็กๆ ปิดหนังสือและก้มลงนอนเลย บอกแต่ว่าเดี๋ยวลุกขึ้นมาจดตามคำบอกครูเอง
“เราบอกเด็กว่า แต่ครูไม่ได้จะให้จดนะ มา มาดูข่าวกัน” ครูยอดให้เด็กดูข่าว BBC เกี่ยวกับไฟป่าที่ประเทศออสเตรเลีย จุดประสงค์ของคาบนั้นมีเพียงอยากให้เด็กรู้จักสัญลักษณ์ป้ายบอกทางต่างๆ เมื่อคลิปฉายให้เห็นป้ายข้างทางเมื่อไรก็กดปุ่ม pause แล้วถามเด็กๆ คิดว่าป้ายนี้คืออะไร มากเข้าก็ค่อยถามว่าเข้าใจเนื้อเรื่องโดยรวมมั้ย พิธีกรกำลังบอกอะไร ไม่ต้องถูกทั้งหมดก็ได้แค่เดาๆ
“เด็กๆ ก็ตอบว่า ต้องเป็นป้ายนั้นแน่เลย สื่อสารแบบนี้แน่เลย เราถามเด็กว่า ‘รู้ได้ยังไงว่าเขาสื่อสารแบบนี้’ เด็กก็บอกว่า เดาเอาๆ ซึ่งเราไม่บอกว่าผิดหรือถูก แต่ชวนกันหาคำตอบมากกว่าว่าจริงมั้ย จริงไม่จริงยังไงให้เขาหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาหาคำตอบดู เพราะความตั้งใจคืออยากให้เขาชินกับภาษา ไม่กลัว ไม่เบื่อมัน เราเองก็ไม่ใช่ครูภาษาอังกฤษเต็มตัวอยู่แล้ว เพียงแต่พอรู้ เข้าใจ และมีเพื่อนเป็นครูชาวต่างชาติ เขาบอกเราว่า เวลาสอนเด็กไม่ต้องเน้นแกรมม่าเลย แค่ให้เขาชินและอยากพูด พูดออกมาเถอะ เอาแค่นั้นก่อน เราเชื่อเขานะ คือถ้าเขาไม่กลัวเสียอย่าง นี่คือการเริ่มต้นที่ดี แม้จะไม่ได้สอนต่อแล้ว แต่ถ้าเด็กๆ เจอเราเราก็ยังขอให้เขาพูดภาษาอังกฤษกับเราอยู่เสมอ ผิดๆ ถูกๆ พูดมาเถอะ อย่างน้อยแค่ให้คุ้นคำศัพท์ก็พอ”
5.
“ผมไม่ได้คิดว่าการเป็นครูมันมีความสุขขนาดนั้นนะ เคยมีจุดที่ถามตัวเองด้วยว่าลาออกดีมั้ย ทำงานมาเกือบสิบปี พอแล้วล่ะ รับผิดชอบอะไรหลายอย่าง และการสอนหนังสือในบ้านตัวเอง เด็กๆ ที่อยู่ในห้องก็เป็นลูกเป็นหลานเราทั้งนั้น อึดอัดนะ เพราะมันใกล้กันเกินไป แต่ถึงจุดนึงก็ต้องปล่อย อยากสอนในแบบของเราเอง
“ครูหลายคนก็ไม่ได้เชื่อในวิธีการสอนของเราทั้งหมด แต่เขาไม่ได้ขัดขวางนะครับ เพียงแต่การจะเปลี่ยนทั้งระบบมันมากกว่าแค่ใครคนใดคนนึงทำ มันต้องทำร่วมกัน คิดว่าถ้าลาออกก็จะไปเรียนต่อและไปเป็นอาจารย์มหา’ ลัย คืออยากพักด้วย แต่… ที่ทำให้ผมยังเป็นครูต่อก็เพราะนักเรียนนี่แหละ เด็กๆ ที่จบไปถามว่า ‘ถ้าครูไม่อยู่แล้วน้องๆ หนูล่ะ เขาจะเรียนกับใคร’ (นิ่งคิด) สุดท้ายก็เลย เป็นครูนี่แหละ และเพราะอยากเป็นครู ผมเลยอยากกลับไปสอนที่เดิม เพราะรู้สึกว่าเราจะมีประโยชน์กับที่ตรงนั้นมากกว่า
“ผมอยากเปลี่ยนการสอนของที่นู่น อยากเปลี่ยนตัวเด็ก อยากเปลี่ยนชุมชน อย่างแรก – เปลี่ยนการเรียนการสอนหมายถึงว่า อยากเอาเด็กเป็นที่ตั้ง สอนแบบ active learning เปลี่ยนจากการสอนตามหนังสือมาเรียนผ่านกิจกรรม อาจจะเปลี่ยนยากหน่อยแต่ครูที่นั่นยังเป็นครูกลุ่มเดิมที่ผมเคยทำงานด้วย ก็เลยคิดว่าอย่างน้อยเขาน่าจะเข้าใจและเปลี่ยนไม่ยากนัก
“สอง – เปลี่ยนนักเรียน หมายถึงว่า ผมอยากเห็นชีวิตเขาดีขึ้น คือเด็กที่นู่นเขายากลำบากมากนะ ขนาดที่ว่าเด็กบางคนไม่มาโรงเรียนเพราะไม่มีเสื้อผ้าใส่ ไม่มีตังมาโรงเรียน แต่โรงเรียนที่นั่นก็ดีมาก คืออาหารกลางวันเต็มที่แถมตักใส่ถุงให้เด็กเอากลับไปกินที่บ้านด้วย หรือใต้โต๊ะของผมตอนอยู่ที่นั่นต้องมีถุงเท้าสำรองไว้ เห็นเด็กคนไหนถุงเท้าขาดไม่ไหวแล้วก็จะหยิบให้ ส่วนที่สาม – ชุมชน ผมอยากให้ชุมชนเขาพัฒนาขึ้น ทำนา ทำการเกษตรอย่างเข้าใจขึ้น แต่จะทำได้ก็ผ่านนักเรียนที่แหละ ให้เขาไปซึมๆ กับผู้ปกครอง”
Unique ในตัวครูยอดรักในสายตาเรา เขาคือครูที่สดใส มีแรงดึงดูดกับเด็กๆ ให้สนใจและพุ่งเข้าหา ตลอดสองวันที่อยู่กับครู ไม่มีช่วงไหนที่ครูจะยืนอยู่คนเดียว เป็นต้องมีนักเรียนแวะเวียนมาพูดคุยทั้งเด็กเล็กเด็กโต นอกจากความจริงใจและรู้จริงในสิ่งที่สอน รอยยิ้มและความอบอุ่นอาจเป็นหนึ่งในคาแรกเตอร์ที่ทำให้เขาเป็นครูที่นักเรียนรัก
แต่เมื่อถามครูว่า คิดว่าคาแรกเตอร์ไหนในตัวเองที่เป็น Unique และเชื่อมกลับไปยังห้องเรียน เป็นจุดแข็งที่ทำให้เนรนิตห้องเรียนที่แตกต่างได้ ครูยอดรักเลือกคำว่า ‘ผจญภัย’
“แต่ไหนมาแล้วผมอยู่นิ่งไม่เป็น เป็นคน alert ตลอดเวลา กระหายใคร่รู้ ชอบทำชอบทดลองอะไรใหม่ๆ และต้องทำให้เห็นกับตา ซึ่งผมคิดว่าคาแรกเตอร์นี้ในตัวผมมันส่งต่อถึงเด็กในห้องเรียนมาก เด็กๆ ห้องผมต้องได้เรียนรู้อะไรแปลกใหม่ ตื่นเต้น เพราะผมเชื่อว่าถ้าเด็กอยากเรียนอยากรู้จริงๆ เขาจะพยายามค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ซึ่งผมมองว่านี่คือการผจญภัย การผจญภัยจะได้ประสบการณ์กลับมา”
ครูตอบพร้อมรอยยิ้มที่… นี่ก็คือเอกลักษณ์ในตัวครูยอดรักอีกอย่างนึง
*โรงเรียนบ้านอาวอย หนึ่งในโรงเรียนนำร่อง Brain-based Learning (BBL) หรือ การเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองแห่งหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ การสอนของครูยอดจึงไม่เหมือนการเรียนการสอนแบบที่เราเคยคุ้น แต่เรียนเหมือนเล่น ให้อารมณ์และความอยากรู้ของเด็กๆ นำทาง และเน้นให้เด็กๆ ได้ทดลองทำมากกว่าการท่องจำ นี่อาจเป็นเหตุผลว่าห้องเรียนครูยอดให้เด็กจดตามคำบอกน้อยมาก แต่เด็กเรียนผ่านอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการผสมคำจากบัตรคำ เรียนเป็นภาพ และมีสิ่งประดิษฐ์ในห้องให้เยี่ยมชมหลากหลายเลย |