- เบื้องหลังชีวิตครูสอนฟิสิกส์กับบรรยากาศห้องเรียนที่แสนสนุก ปลอดภัย และสบายใจ แม้ในวันที่ยากลำบากที่สุดกับการต้องยอมรับตัวเองในฐานะผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ครูโปเต้ – ธนา เอี่ยมบำรุงทรัพย์ โรงเรียนสุวรรณพลับพลาพิทยาคม ก็สามารถกลับมาสร้างการมีส่วนร่วมในห้องเรียนตามความเชื่อและความฝันของตัวเอง
- “ทุกวันนี้เรามองเด็กมากขึ้น เราถึงรู้ว่าเด็กผ่านห้องเรียนที่อาจไม่ได้อย่างใจมาก่อน เขามีประสบการณ์แย่ๆ กับการเรียน ต่อให้เราสอนดีแค่ไหนเขาก็อาจจะไม่เปิดใจรับ เพราะฉะนั้นโจทย์คือ จะทำอย่างไรให้เปิดใจเขาได้ก่อน ยิ่งเด็กเรียนยิ่งเนียนเลยนะ เขาทำดูเหมือนตั้งใจ เหมือนเราควบคุมได้ แต่จริงๆ อาจจะผ่านหูซ้ายทะลุหูขวาไปเลย เขาอาจแค่ทำท่าให้ครูสบายใจว่าเขาเรียน เพราะฉะนั้น ครูต้องทำให้นักเรียนรู้สึกให้ได้ว่าเรามาเพื่อที่จะเข้าใจเขา อยากส่งเสริมและพัฒนาเขาจริงๆ”
ตามไปดูวิธีคิดและวิธีสอนของครูฟิสิกส์ที่ทำให้ห้องเรียนหมองๆ ฉายแสงสดใส ขณะที่บางครั้งครูเองก็ต่อสู้กับความดำดิ่งภายใน แต่ความจริงใจทำให้ทุกอย่างคลี่คลายและกำลังไปได้ดี
เบื้องหลังชีวิตครูสอนฟิสิกส์กับบรรยากาศห้องเรียนที่แสนสนุก ปลอดภัย และสบายใจ แม้ในวันที่ยากลำบากที่สุดกับการต้องยอมรับตัวเองในฐานะผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ครูโปเต้ – ธนา เอี่ยมบำรุงทรัพย์ โรงเรียนสุวรรณพลับพลาพิทยาคม ก็สามารถกลับมาสร้างการมีส่วนร่วมในห้องเรียนตามความเชื่อและความฝันของตัวเอง
ครูโปเต้ บอกว่า เพราะภายในตัวครูแต่ละคนมีพลังวิเศษ แล้วสิ่งนี้ก็ทำให้เขารับมือและอยู่กับความเครียด ความกดดัน ความกลัว และความวิตกกังวล ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
ถึงวันนี้ โปเต้ก้าวเข้ามาเป็นครูอย่างเต็มตัวได้เข้าปีที่ 4 แล้ว เขายอมรับว่า อาชีพครูไม่ใช่ความฝันที่มีมาตั้งแต่ต้น แต่ระหว่างเส้นทางการเรียนรู้ของตัวเอง เขาได้พบว่าการออกแบบห้องเรียนให้ดีและมีคุณภาพ มีความท้าทายพอๆ กับอาชีพนักออกแบบที่เคยฝันถึง
ครูกับนักเรียนเท่ากัน
ปัจจุบัน โปเต้รับผิดชอบสอนวิชาวิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และ 3 นับเป็นเทอมแรกตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานที่เขาได้พักมือจากวิชาฟิสิกส์ แม้ว่าแต่ละปีการศึกษา ครูจะได้รับมอบหมายให้ดูแลการสอนนักเรียนต่างระดับกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่โปเต้ยึดถือและเชื่อมั่นอยู่เสมอ คือ สมการในห้องเรียนที่ว่า “ครู = นักเรียน”
“จะเรียนยังไงดี ทำอะไรดี?” โปเต้ ถามนักเรียนอย่างตรงไปตรงมา
ตึกภายในโรงเรียนสุวรรณพลับพลาพิทยาคมเป็นสีลูกกวาด ทาด้วยสีสันจัดจ้าน ตึกทั้ง 4 ด้านล้อมรอบสนามหญ้าซึ่งเป็นใจกลางของโรงเรียน วันที่เราแวะเข้าไปหาครูโปเต้ เป็นวันแข่งขันกีฬาสี เด็กๆ แต่งกายด้วยสีสันสดใส บ้างใส่ชุดกีฬา บ้างแต่งองค์ทรงเครื่องเตรียมการแสดง ระหว่างทางเราเห็นนักเรียนทักทายโปเต้อย่างให้ความเคารพ แต่ก็พูดคุยกันด้วยความใกล้ชิด
โปเต้ บอกว่า แต่ละชั้นเรียนมีนักเรียนราว 20-25 คน เป็นตัวเลขที่กำลังดี แต่จะเป็นเรื่องน่าหนักใจมากทันที หากนักเรียนทั้งห้องพร้อมใจกันไม่อยากเรียนหนังสือ เหตุผลหลักๆ มีไม่มาก เพราะเด็กไม่อยากเรียนในสิ่งที่ไม่ชอบและตอบไม่ได้ว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมครูกับนักเรียนถึงต้องเท่ากัน นั่นเพราะครูต้องรู้จักนักเรียนให้ได้มากที่สุดว่า นักเรียนชอบ / ไม่ชอบเรียนแบบไหน? ชอบ / ไม่ชอบทำอะไร? แล้วอยากเรียนอะไร? ซึ่งครูจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อรับฟังความคิดเห็นและสร้างการมีส่วนร่วมในห้องเรียน หรือที่เรียกว่า ประชาธิปไตยในห้องเรียน
“วิธีการสอนของเราไม่ตายตัว แต่เน้นที่บรรยากาศ ครูกับนักเรียนเท่ากัน ทำอย่างไรให้เมื่อเข้ามาในห้องเรียนแล้ว นักเรียนรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย ทำให้สบายใจ และสนุกกับการเรียนรู้ เมื่อมาเรียนนักเรียนต้องได้กลับไปมากกว่าความรู้”
“ตัวเราเป็นคนที่ชอบทำอะไรสนุกๆ ไม่ชอบเรียนเครียดๆ และชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว เมื่อมีประสบการณ์การสอนเพิ่มขึ้น และจากการไปอบรมต่างๆ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของตัวเอง คือ ไม่เอาความคิดของตัวเองเป็นหลัก ไม่คิดแค่ว่าเราชอบแบบนี้เลยจะทำอย่างนี้ แต่สนใจคนที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้น สนใจความรู้สึกของเด็ก ถ้าเด็กไม่พร้อมเรียน เราจะทำอย่างไรให้เด็กพร้อม ถ้าเด็กเบื่อ เราต้องตั้งคำถามและสังเกตว่าจุดไหนที่ทำให้เด็กเบื่อ”
โปเต้ ยกตัวอย่างประสบการณ์การสอนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่กำลังอยู่ในช่วงวัย “บ้าพลัง” ว่า
“เด็กวัยนี้พลังงานเยอะมาก ก่อนเข้าบทเรียนต้องชวนให้เขาเคลื่อนไหวร่างกายเยอะๆ เพราะเขาไม่อยากอยู่เฉยๆ แล้วค่อยกระตุกคอนเซปต์เนื้อหาบทเรียนเข้าไป ถ้าทำแบบนี้เด็กจะรับเข้าหัวและเข้าใจ”
“ทุกวันนี้เรามองเด็กมากขึ้น เราถึงรู้ว่าเด็กผ่านห้องเรียนที่อาจไม่ได้อย่างใจมาก่อน เขามีประสบการณ์แย่ๆ กับการเรียน ต่อให้เราสอนดีแค่ไหนเขาก็อาจจะไม่เปิดใจรับ เพราะฉะนั้นโจทย์คือ จะทำอย่างไรให้เปิดใจเขาได้ก่อน ยิ่งเด็กเรียนยิ่งเนียนเลยนะ เขาทำดูเหมือนตั้งใจ เหมือนเราควบคุมได้ แต่จริงๆ อาจจะผ่านหูซ้ายทะลุหูขวาไปเลย เขาอาจแค่ทำท่าให้ครูสบายใจว่าเขาเรียน เพราะฉะนั้น ครูต้องทำให้นักเรียนรู้สึกให้ได้ว่าเรามาเพื่อที่จะเข้าใจเขา อยากส่งเสริมและพัฒนาเขาจริงๆ”
ครูโปเต้ เล่าว่า เขาก็เคยผ่านความรู้สึกแย่ๆ กับการเรียนมาเช่นเดียวกัน เพราะไม่ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียนและใฝ่ฝัน แต่ทุกอย่างคลี่คลายเมื่อได้พบกับความท้าทายใหม่ที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้สิ่งที่กำลังเรียนรู้ ซึ่งถูกจริตกับความชอบของเขา
“ตอนเรียนชั้นปีที่ 3 มีวิชาที่ต้องเขียนแผน แล้วก็สอบสอน เรารู้สึกตื่นเต้นมาก ไม่ใช่พราะความกลัว แต่เพราะอยากทำและรู้สึกท้าทาย ยิ่งพอได้เรียนวิชาการออกแบบการสอนรูปแบบต่างๆ ยิ่งค้นพบว่าวิธีคิดของการออกแบบการสอน เชื่อมโยงกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย เช่น การเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ทำอย่างไรให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ การสร้างการศึกษาที่ผู้เรียนต้องมีส่วนร่วม จุดนั้นทำให้เรารู้สึกสนุกกับการเรียนมากขึ้น ก่อนหน้านี้เราสนใจเรื่องการเมืองอยู่แล้วแต่ไม่เคยมองว่าการศึกษาเป็นเรื่องการเมืองด้วยเหมือนกัน
“อีกอย่างการศึกษาก็มาเชื่อมโยงกับความอยากเป็นดีไซเนอร์ซึ่งเป็นความฝันของตัวเอง เราค้นพบอีกเหมือนกันว่าการเป็นครูต้องมีความเป็นนักออกแบบสูงมาก ไม่ใช่แค่ออกแบบสื่อการสอน ใบงาน หรือพาวเวอร์พอยท์ แต่คือการออกแบบกระบวนการและการออกแบบคน สุดท้ายแล้วถ้าครูเข้าใจความสำคัญของกระบวนออกแบบการจัดการเรียนรู้ วิชาอะไรครูก็สอนได้”
ละลายพฤติกรรม เช็คความรู้สึก ดูพลังงานภาพรวมในห้องว่านักเรียนพร้อมเรียนหรือไม่ เป็นสิ่งที่ครูโปเต้นำมาใช้ในห้องเรียนก่อนเริ่มต้นเนื้อหาหลักแต่ละคาบเพื่อให้ห้องเรียนของเขาเป็นห้องเรียนที่สัมผัสได้ถึงความสบาย ปราศจากภาวะกดดัน ถึงแม้หลายครั้งในบางวัน เขาต้องรับมือกับความกดดันภายในตัวเอง
“เราถามและสื่อสารกับเด็กอย่างตรงไปตรงมา ถามว่าวันนี้พวกเธอมีการบ้านเยอะหรือยังถ้าครูจะให้การบ้านอีก เราเข้าใจมากขึ้นว่าเป้าหมายของกิจกรรมที่นำมาใช้กับนักเรียนทั้งหมด เราทำเพื่ออะไร แล้วนักเรียนเองก็รู้ว่าเขาทำสิ่งนี้เป้าหมายที่ทำคืออะไร เพราะอะไร เมื่อชัดและเข้าใจตรงกันทั้ง 2 ฝ่าย ระหว่างนักเรียนกับครู สิ่งนี้ช่วยหนุนให้เด็กโฟกัสกับการเรียนในห้องเรียนได้ สังเกตว่าเด็กจะไม่ค่อยเล่นมือถือระหว่างที่เรียนอยู่”
“ชีวิตของเด็กไม่ได้มีแค่สอบ เด็กต้องเติบโตไปเป็นพลเมืองในสังคม ไปเป็นมนุษย์ในแบบที่เขาอยากจะเป็น เด็กเรียนกับเราควรได้อะไรมากกว่าแค่ได้ความรู้ไปสอบ ถ้าอยากสอบผ่าน ทำข้อสอบได้ แค่อ่านหนังสือ ฝึกทำโจทย์ คุณก็ทำข้อสอบได้ แต่ทุกวันนี้เด็กแทบไม่มีใจหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านแล้ว เพราะเด็กไม่มีความรู้สึกอยากเรียน ไม่รู้จะเรียนไปทำไม มีข้อสอบมาก็ไม่อ่าน ต่อให้บอกว่าจะออกข้อสอบข้อนี้ อยู่หน้านี้ เขาก็ไม่กา ไม่อ่าน ไม่สนใจ”
ครูโปเต้ บอกว่า การเรียนวิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ คือ การศึกษาธรรมชาติ ความเท่ากันระหว่างครูกับนักเรียนเป็นการสร้างสมดุลธรรมชาติในห้องเรียน ทำให้เด็กเปิดใจกับครู ครูจึงรู้จักเด็กดีขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กจึงไม่ใช่แค่การเดินเข้ามาในห้องเรียนเพื่อเริ่มต้นการสอน แต่ห้องเรียนกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ทำให้เด็กมีความสนใจและตั้งใจเรียนมากขึ้น เมื่อเด็กกล้าแสดงความคิดเห็น กล้าถาม และปราศจากความกลัว จึงไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคต่อการเรียนอีกต่อไป
แผลที่ไม่อยากจำ
มีภาวะเสี่ยงฆ่าตัวตาย ควบคุมสติอารมณ์ไม่ได้ คล้ายทุกอย่างมันพังอยู่ข้างใน!!
ปีก่อนโปเต้ถูกนำตัวส่งเข้าโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยจิตเวช เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายของเขาไม่สามารถรับมือกับการปรับยาให้เข้ากับอาการของโรคที่เผชิญอยู่ – เวียนหัว ลุกไม่ไหว ล้มทั้งยืน อยากตัดขาดจากโลกภายนอก กระทั่งอยากจบชีวิตตัวเอง เป็นภาวะที่เขาต้องเผชิญ
โปเต้ เล่าย้อนความว่า หลังบรรจุเข้ามาเป็นครูได้ปีเดียว เขาต้องเผชิญหน้ากับความสูญเสียเมื่อคุณย่าผู้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเสียชีวิต ประกอบกับความกดดันที่ต้องอยู่ในระบบราชการการศึกษาไทยอย่างที่เป็นอยู่ ความเครียด ความวิตกกังวล และความกดดันทั้งหมด ทำให้เขาต้องต่อสู้ตัวต่อตัวกับ “โรคซึมเศร้า” อย่างไม่เคยคาดคิดมาก่อน
“อยู่คนเดียว นอนไม่หลับเป็นเดือน ตาค้างทั้งคืน คิดอยู่ในหัววนไปวนมาว่าทำไมเราไม่ทำแบบนี้ ทำไมเราต้องเจออย่างนี้….อยากตาย อยากตาย อยากตาย แต่ยังคิดกับตัวเองว่าคงเป็นแค่โรคเครียด พอไปหาหมอจิตเวช คุยกับหมอ 2 ชั่วโมง ร้องไห้ชนิดที่ไม่เคยร้องมาก่อนในชีวิต สรุปแล้วหมอบอกว่า…เป็นโรคซึมเศร้า”
“ตอนนั้นรับตัวเองไม่ได้เลยว่าป่วยเป็นโรคจิตเวช เราเคยมีทัศนคติลบต่อคนที่เป็นด้วยว่า ทำไมคิดเแบบนี้ ทำไมไม่ปรับความคิด แต่พอมาป่วยเอง รู้สึกเจ็บและอึ้งไปเลย”
ตอนเด็กๆ อยากอยู่โรงเรียนนานๆ ไม่อยากกลับบ้าน เพราะกลับบ้านไปต้องเจอพ่อแม่ทะเลาะกัน ครูโปเต้ เปิดเผยถึงชีวิตวัยเรียนซึ่งเป็นปมบาดแผลที่ถูกฉีกออก จนทำให้เขาหันมารับมือกับความดำดิ่งที่เกิดอย่างเข้าอกเข้าใจมากขึ้น
“บางครั้งเราเห็นแม่ร้องไห้อย่างไม่ได้สติ บางครั้งลากเราให้ไปอยู่ต่อหน้าพ่อ เพื่อรับฟังว่าพ่อเป็นแบบนี้ทุกครั้งที่ทะเลาะกัน ต่อให้เราเข้าห้องไปก็ถูกลากให้ออกมาฟัง มีความรุนแรงเกิดขึ้นในครอบครัว สถานการณ์แบบนี้สั่งสมมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็กๆ แต่เรารับรู้ได้ชัดเจนตอนเรียนชั้นมัธยมปลาย เวลาเกิดปัญหาบางทีเราหนีมาหาย่าที่ท่าน้ำนนท์ เลยทำให้สนิทกับย่ามาก ”
นอกจากนี้ ตัวตนเรื่องเพศที่ไม่สามารถเปิดเผยกับพ่อแม่ได้ เป็นอีกเรื่องที่อึดอัดอยู่ข้างในมาตลอด ความอึดอัดสร้างความกลัวขึ้นมาครอบงำ แต่ในที่สุดเมื่อรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โปเต้จึงตัดสินใจบอกพ่อกับแม่ ถึงความเป็นตัวตนของเขา
“เรากลัว…กลัวพ่อแม่เสียใจ แต่พอเค้ารู้จริงๆ เค้าไม่ช็อค ไม่ตกใจอะไรเลย (หัวเราะ) เหมือนเราได้ยกภูเขาออกจากอก รู้สึกดีมาก สบายใจขึ้นเยอะมาก เรารู้สึกได้ว่าเรามีบ้าน มีครอบครัว จากที่เมื่อก่อนรู้สึกว่าต้องฝ่าฟันกับชีวิตของตัวเอง ตอนนี้สนิทกับพ่อแม่มากขึ้น กลับบ้านบ่อยขึ้น จากที่ไม่เคยโทรหาพ่อแม่ ก็โทรหากันเป็นเรื่องปกติ”
“ถ้าเป็นเมื่อก่อนเจออะไรเข้ามากระทบนิดนึง เราจะเซ็งไม่อยากทำอะไรเลย คุดคู้นั่งก้มหน้า หน้างออยู่หลังห้อง หรือหลบไปอยู่ที่อื่น ไม่อยากเจอใคร”
ถึงตอนนี้นอกจากการเรียนการสอนที่สร้างความสนุกสนานให้กับนักเรียนแล้ว โปเต้ยังเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าในเวทีต่างๆ และร่วมจัดเวิร์คชอปเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ป่วย คนรอบข้าง และผู้คนในสังคม
“ต้องเข้าใจว่าคนป่วยเป็นโรคนี้ไม่ได้อยากป่วย บาดแผลมันมีที่มาจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมแย่ๆ กับเรื่องบางเรื่องนานๆ แล้วมันก็สะสม จนทำให้สมองหลั่งสารที่เป็นปัญหาออกมา ทั้งหมดนี้เป็นทั้งแผล ทั้งพลังที่ผลักดัน ทำให้เรามุ่งมั่นว่าจะไม่ให้คนอื่นต้องโดนอย่างที่เราเคยโดนอีก ทุกครั้งที่ได้ทำมันเป็นการทบทวนกับตัวเองว่า อะไรพาให้เรามาถึงจุดนี้ จริงๆ แล้วเราควรแก้ตรงไหน พอเราได้เห็นด้วยตัวเองก็เอาประสบการณ์ที่เรียนรู้มาแบ่งปันคนอื่น ชวนคนอื่นมาเรียนรู้ไปกับเรา เพราะยังมีอีกหลายคนมากเลยที่ยังไม่เข้าใจโรคนี้จริงๆ”
“ถ้าอยากช่วยคนเป็นโรคซึมเศร้า ต้องอย่าทำแค่ให้เขารู้สึกว่าเขาต้องพยายามช่วยตัวเองเท่านั้น แต่ต้องทำให้เขารู้สึกว่ามีคนซัพพอร์ต คำพูดทำนองว่า สู้ๆ นะ มันตอกย้ำ ทำให้รู้สึกแย่กว่าเดิม…เพราะเราสู้จะตายอยู่แล้ว (ลากเสียงยาว) แต่ทำไมไม่มาสู้กับเราล่ะ มาช่วยเราหน่อย”
“มีอะไรให้ช่วยมั้ย มีอะไรอยากเล่าให้ฟังมั้ย…บอกได้นะ” โปเต้ บอกว่า เป็นประโยคที่คนเป็นโรคซึมเศร้าอยากได้ยิน
แม้ยังคงรักษาอาการป่วยอย่างต่อเนื่อง แต่ครูโปเต้ก็ได้เรียนรู้การอยู่กับปัจจุบันขณะและรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง การรู้เท่าทันทำให้เขาสามารถตั้งรับและรับมือกับสภาวะอารมณ์ได้ดีขึ้น ไม่ต้องปลอบใจตัวเองเหมือนที่ผ่านมาว่า ไม่นะ…ฉันไม่ได้เศร้า! แต่ยอมรับกับตัวเองว่า…ฉันเศร้า แล้วฉันจะทำยังไงต่อ นอกจากนี้ เขายังใช้การสอนเป็นตัวตั้ง เป็นหลักวัดความสำเร็จในแต่ละวัน ความสุขและความเพลิดเพลินในห้องเรียนกลายเป็นตัวทดความเศร้าเมื่อเขาต้องกลับไปอยู่ห้องพักคนเดียวหลังเลิกงาน
“อย่างถ้าเริ่มรู้สึกอึดอัด มีเรื่องไม่สบายใจ กลับเข้าห้องมาเราก็พยายามหาเรื่องออกไปข้างนอก หาอะไรทำเพื่อให้ไม่คิดฟุ้งซ่าน แต่สำหรับการสอน เราวางบทบาทไม่ให้นักเรียนรู้ว่าเราเศร้า เพราะ การเรียนรู้ต้องอาศัยพลังงานเชิงบวก เรารู้ว่าอารมณ์ของเราส่งผลต่อการเรียนของเด็ก ถ้าเราไม่มีพลังงานที่ดี เด็กก็ไม่มีให้เราเหมือนกัน บางครั้งก็ต้องฝืนตัวเองหน่อยเพื่อส่งพลังงานและสร้างบรรยากาศที่ดีในห้องเรียน แต่กับเพื่อนร่วมงานเราเปิดเผยตัวเองได้ เพราะหลังจากเข้าโรงพยาบาลออกมาเมื่อเทอมที่แล้ว หลายคนเข้าใจในสิ่งที่เราเป็นมากขึ้น สัมผัสได้ว่าเขาห่วงเราด้วยความจริงใจ ถามตลอดว่าเป็นยังไงบ้าง มันช่วยให้การทำงานราบรื่นและไม่ต้องเป็นกังวล”
‘จริงใจ’ (Sincerity)
เราให้ครูโปเต้เลือกบัตรคำที่อธิบายถึงความเป็นตัวเองขึ้นมา 1 ใบ จากบัตรคำทั้งหมด 24 ใบ “จริงใจ” เป็นคำที่โปเต้เลือก
การมองเห็นคุณค่าความรู้สึกของนักเรียน ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับนักเรียน ซึ่งส่งผลทางตรงต่อการเรียนรู้ ครูโปเต้ บอกว่า ความจริงใจทำให้การเรียนรู้ ‘ฟู’ ขึ้นมาได้เยอะมาก
“เราอยากให้เด็กจริงใจกับเรา เราเลยจริงใจกับเด็ก พยายามเปิดพื้นที่ เปิดรับความรู้สึกของเด็กๆ ที่เข้ามาในห้องเรียนของเรา อยากให้เขาเห็นว่าความรู้สึกของเขามีความหมาย บางครั้งเห็นเด็กมาเรียนหน้าตาไม่โอเค เราก็ถามเขาว่าเป็นอะไรหรือเปล่า
ความสัมพันธ์ที่ดี ทำให้บรรยากาศการเรียนดี เอื้อให้การเรียนรู้เดินหน้าไปได้ ยิ่งเด็กได้ช่วย ได้มีส่วนร่วมมากเท่าไร เด็กจะยิ่งรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของการเรียนรู้ การเรียนรู้นี้จะติดตัวเขาไปตลอด ดีกว่าการที่ครูควบคุมอยู่คนเดียว คุมเกมอยู่คนเดียวในชั้นเรียน”
แต่ไม่ใช่แค่ ‘ความจริงใจ’ ที่มีต่อนักเรียนเท่านั้น ครูต้องมีความจริงใจต่อตัวเองด้วย
“ครูทุกคนมีความพิเศษในตัวเอง มีความเป็นตัวของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่มีข้อจำกัดอะไรหรือเปล่าที่ทำให้ครูไม่ได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ อยากให้ครูสอนอย่างที่ตัวเองเชื่อ ถ้าความเชื่อนั้นมีเป้าหมายเพื่ออนาคตที่ดีของนักเรียน เชื่ออย่างไรสอนอย่างนั้นแล้วให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ผลลัพธ์ในสิ่งที่ทำ
“ถ้าคิดไม่ออกว่าจะสอนแบบไหน ออกแบบการสอนยังไง ให้อ่าน The Potential (หัวเราะ) จริงๆ นะ อ่านหนังสือเยอะๆ มูลนิธิสยามกัมมาจลมีหนังสือหลายเล่มมากที่เป็นไอเดียให้ครูได้ หนังสือของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช หรือ นพ.ประเสิรฐ ผลิตผลการพิมพ์ ก็ได้ หลายๆ เล่มช่วยให้เราออกแบบหลักสูตรได้เร็วขึ้น”