- ‘ชาติคืออะไร?’ ชวนไปหาคำตอบที่ห้องเรียนของ สิทธิชัย จูอี้ แห่งโรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดโคราช ครูที่อยากให้เด็กๆ (และสังคม) สามารถอยู่ร่วมกันได้แม้จะมีความคิดที่ต่างกัน ห้องเรียนของเขาเน้นให้เด็กๆ เรียนรู้จาก ‘คำถาม’ และ ‘การเล่นเกม’ เป็นการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่มาจากความต้องการของเด็กๆ
- “ผมไม่ได้ชี้นำแต่ถามให้คิด สุดท้ายผมตั้งคำถามว่า…ก่อนที่เราจะรักชาติ เรารู้หรือยังว่าชาติคืออะไร แล้วคิดว่าคนที่ร้องเพลงชาติไม่ดังรักชาติหรือเปล่า? นักเรียนได้คำตอบจากการคิดด้วยตัวเอง”
“ทำไมต้องร้องเพลงชาติเสียงดัง ร้องเพลงชาติเสียงไม่ดังแปลว่าไม่รักชาติหรือเปล่า?” นักเรียนถามขึ้นในห้องเรียน
“ชาติคืออะไร?” ครูถามกลับ
“ชาติคือประเทศมั้งครับ” นักเรียนตอบอย่างไม่ค่อยมั่นใจนัก
“ถ้าชาติคือประเทศจริงๆ นักเรียนเคยดู ‘ธอร์ แร็กนาร็อค*’ มั้ย ในหนังเมืองแอสการ์ดระเบิด…ตู้ม!! แบบนั้นชาวแอสการ์ดสิ้นชาติไหม?”
“ไม่ เพราะโอดินบอกกับธอร์ว่าแอสการ์ดไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นผู้คน” นักเรียนตอบทันควัน ขณะที่ครูยิงคำถามต่ออย่างไม่รีรอว่า “ถ้าชาติไม่ใช่สถานที่แต่เป็นผู้คน แล้วชนเผ่าที่เร่ร่อนไปเรื่อย ไม่มีแผ่นดินอาศัยเป็นหลักแหล่ง เป็นชาติหรือเปล่า เมื่อพวกเขาก็เป็นผู้คน?”
“ไม่ใช่” นักเรียนตอบ
“แปลว่าชาติต้องมีทั้งแผ่นดินและผู้คนใช่ไหม?” “งั้นหมู่บ้านที่มีทั้งแผ่นดินและผู้คน เป็นชาติได้แล้วหรือยัง?” ครูตั้งคำถามต่อ
บทสนทนาในคาบเรียนระหว่าง สิทธิชัย จูอี้ ครูประจำวิชาภูมิศาสตร์ , รัฐธรรมนูญและเศรษฐศาสตร์ โรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา กับนักเรียนของเขา ทำให้เราในฐานะผู้ฟังได้คิดตามเช่นกัน
ครูสิทธิชัยเล่าให้ The Potential ฟังถึงวิธีการยิงคำถามเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองสงสัย โดยครูไม่จำเป็นต้องเฉลยคำตอบ
ผมไม่ได้ชี้นำแต่ถามให้คิด สุดท้ายผมตั้งคำถามว่า…ก่อนที่เราจะรักชาติ เรารู้หรือยังว่าชาติคืออะไร แล้วคิดว่าคนที่ร้องเพลงชาติไม่ดังถือว่าไม่รักชาติหรือเปล่า? นักเรียนได้คำตอบจากการคิดด้วยตัวเอง”
มนุษย์กับสังคมที่มีความเข้าใจกัน
โรงเรียนสุรวิวัฒน์ เป็นโรงเรียนในกำกับของมหาวิทยาลัยสุรนารี เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนราว 4 ร้อยกว่าคน แต่มีพื้นที่ขนาดใหญ่กว้างขวาง ตั้งอยู่ในรั้วเดียวกับมหาวิทยาลัย
ก่อนมารับบทบาทครูเต็มตัว สิทธิชัยมีความฝันอยากทำงานหรืออาชีพที่ให้โอกาสตัวเองได้ช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม เป็นความฝันที่เป็นเหมือนอุดมการณ์การใช้ชีวิตมาโดยตลอด
“ในยุคที่ผมเติบโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น ผมเห็นสังคมมีความขัดแย้งมากขึ้น แบ่งแยกคนเป็นกลุ่มๆ แต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายไม่สามารถคุยกันดีๆ ได้ ผมเลยคิดว่าบางทีสิ่งที่สังคมนี้ต้องการอาจไม่ใช่แค่ความช่วยเหลือทางกายภาพ ความอยู่ดีกินดี โรคภัยไข้เจ็บ ความปลอดภัยเพียงหรือเศรษฐกิจที่มั่งคั่งเท่านั้น แต่รวมถึงการปรับเปลี่ยนแนวคิด ให้ยอมรับฟังความเห็นของคนที่คิดแตกต่างจากตนเองอย่างมีสติ สามารถคุยกันด้วยเหตุผล ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยหรือคิดเหมือนกันทุกเรื่อง แต่สามารถคิดวิเคราะห์ข้อมูลที่ตนได้รับ แล้วหารือร่วมกันเพื่อนำไปสู่ไอเดียใหม่ ในการพัฒนาโลก มากกว่ามุ่งเอาชนะหรือกำจัดคนเห็นต่าง
“เราไม่ควรตั้งธงแล้วมองว่าอีกฝ่ายต่างจากเราแล้วไม่ใช่พวกเรา ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมเราแตกต่างจากเรา ทำไมเขาแตกต่างจากเรา เหตุผลอาจมาจากข้อแตกต่างทางภูมิศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ เรื่องเพศ เรื่องครอบครัว เมื่อเราเข้าใจปัจจัยที่หล่อหลอมคนๆ หนึ่งแล้วทำให้เกิดสังคม เราจะเข้าใจความต่างได้จริงๆ เพราะรู้ที่มา
“ถ้าคนที่คิดไม่เหมือนกันสามารถคุยกันได้โดยไม่จ้องทำลายอีกฝ่าย เมื่อนั้นจะเกิดความก้าวหน้าและทำให้เกิดการพัฒนาในสังคม”
ทำอย่างไรถึงจะเข้าใจมนุษย์ เข้าใจพฤติกรรมมนุษย์? เข้าใจเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมา – เป็นโจทย์ที่สิทธิชัยถามตัวเอง
จึงเป็นที่มาให้เขาเลือกเรียน คณะโบราณคดี สาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะเป็นศาสตร์การเรียนรู้ที่จะทำให้เขาเข้าใจความเป็นมนุษย์
“พอเราเริ่มเข้าใจในกระบวนการคิดของมนุษย์ผ่านการหล่อหลอมของสังคม ผมก็อยากจะมีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการขัดเกลาสังคมดูบ้าง ผมชอบถ่ายทอดความรู้เลยเลือกเขียนนิยาย เขียนเรื่องสั้น เขียนบทความต่าง ๆ ที่มีสาระแทรกด้วยแนวคิดของตัวเอง จนกระทั่งแฟนแนะนำว่า…ทำไมไม่ลองไปเป็นครู
“มันตรงกับความต้องการของตัวเอง เพราะผมมีเรื่องราวที่อยากถ่ายทอดเยอะ และอาชีพนี้เป็นอาชีพที่สามารถเอาความรู้ความสามารถที่มีไปใช้พัฒนาผู้อื่นได้ และทำให้นักเรียนเติบโตได้ไปพัฒนาสังคมในทางที่ดีขึ้น ผมว่าครูเป็นอาชีพแห่งความหวังของสังคมเลยล่ะ
“ตอนเป็นนักเขียนฟีดแบ็คจากผู้ติดตามทำให้ผมรู้ว่าเรื่องไหนที่คนอ่านแล้วเข้าใจมากขึ้น และเรื่องไหนที่คนยังไม่พร้อมเข้าใจ แต่ก็ยังไม่สามารถตอบข้อสงสัยของทุกคนได้ การที่ผมมาเป็นครูดีตรงที่ว่าผมสามารถตอบคำถามเด็กๆ ในเรื่องที่เขายังไม่เข้าใจได้โดยตรง”
มื่อถามถึงครู/ อาจารย์ในดวงใจ ครูสิทธิชัย ตอบทันทีว่า อาจารย์ธเนศวร์ วงศ์ยานนาวา อาจารย์พิเศษจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่รับเชิญมาสอนสาขามานุษยวิทยา-สังคมวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร
“อาจารย์สามารถเชื่อมโยงทุกอย่างในชีวิตเข้ากับมานุษยวิทยา – สังคมวิทยาได้ดี เปิดรูปประติมากรรม เปิดหนังเพื่อสอนทฤษฎีมานุษยวิทยา แม้ว่ามันดูไม่เกี่ยวกันเลยขนาดไหนก็ตาม แต่อาจารย์ก็ทำให้มันเกี่ยวกันได้อย่างมีเหตุผล สามารถเชื่อมโยงทุกอย่างในชีวิตเข้ากับทฤษฎีทางมานุษยวิทยา – สังคมวิทยาได้
“มุมมองอย่างหนึ่งที่ติดตัวผมมาจากการเรียนมานุษยวิทยา คือ อยากให้สังคมคุยกันได้ด้วยเหตุผล ไม่เกิดเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมืองที่สร้างความรุนแรงอีก เหมือนที่อาจารย์ธเนศวร์บอกว่าศัตรูที่แท้จริงของมนุษย์ คือ ความเกลียดชังในสิ่งที่ตนเองไม่รู้จัก”
ห้องเรียนที่เห็นความต้องการของนักเรียนสำคัญ
ความเข้าใจผิดอันใหญ่หลวงอย่างหนึ่งในชั้นเรียน คือ การตัดสินจากครูว่านักเรียนหลังห้องเป็นเด็กที่ไม่ตั้งใจและไม่สนใจการเรียน
“ผมเป็นเด็กหลังห้อง จำได้ว่าครูปฏิบัติกับเราไม่เหมือนที่ทำกับเพื่อนหน้าห้อง ห้องเรียนที่ผมสอนเลยไม่มีหน้าห้องหลังห้อง ผมจัดห้องเรียนเป็น 2 แบบ แบบแรกรูปตัวยูแล้วครูสอนอยู่ตรงกลาง แล้วก็มีแบบที่จัดโต๊ะเป็นห้าเหลี่ยมวางกระจายตัวกัน เด็กทำกิจกรรมกลุ่มได้ ส่วนผมก็เดินไปทั่ว บางทียืนหน้าห้อง บางทีก็บรรยายจากหลังห้อง ทั้งหมดที่ทำมาไม่ได้หมายความว่าเด็กทุกคนจะชอบในทุกอย่างที่เราทำนะ ส่วนสำคัญอยู่ที่ครูต้องคุยกับเด็กว่า อะไรที่เขาชอบไม่ชอบแล้วเราจะปรับยังไง”
ด้วยเหตุนี้ห้องเรียนของครูสิทธิชัย จึงยึดธีม ‘ความต้องการของนักเรียนและความสนุก’ เป็นสำคัญ สื่อการสอน กิจกรรมที่ทำจึงต้องมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มีการเก็บข้อมูลจากการสำรวจความเห็นของนักเรียนบ่อย ๆ ว่าต้องการทำอะไร ต้องการการเรียนรู้แบบไหน อยากให้เอาการ์ตูน ภาพยนตร์ หรือเกมอะไรมาสอนบ้าง หลังจากนั้นครูถึงไปศึกษาในสิ่งที่นักเรียนต้องการ บางครั้งต้องลองเล่นเกม ดูภาพยนตร์หรืออ่านการ์ตูนที่ยังไม่เคยแตะมาก่อน แต่นักเรียนชอบ เพื่อเอามาเป็นสื่อการสอนแล้วโยงเข้าหาบทเรียนให้ได้
ถึงขนาดว่าครั้งหนึ่ง ครูสิทธิชัยได้ทำบทความวิจัย ชื่อ “การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เพื่อลดค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและเพิ่มค่าเฉลี่ยของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ในรายวิชาสังคมศึกษา” เพื่อพัฒนาการสอนของตนเอง
“ถ้าพัฒนาตนเองให้ชำนาญในสิ่งที่สอนมากพอและพยายามอินไปกับสิ่งที่นักเรียนอิน เราจะเห็นความเชื่อมโยงในวิชาที่สอนและเรื่องที่นักเรียนชอบ จนสามารถถ่ายทอดสิ่งที่อยากสอนผ่านเรื่องที่เขาชอบได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน เกม ละคร ภาพยนตร์ กีฬา หรือกิจกรรมอะไรก็ตาม ไม่ใช่ปฏิปักษ์กับการศึกษา ถ้าครูรู้จักเชื่อมโยงเข้าหาบทเรียน
“ผมพัฒนาเกมที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับรายวิชาที่สอนขึ้นมาด้วยตัวเอง แล้วนำมาใช้ในการสอน เพราะผมพอมีความรู้เรื่องนี้อยู่บ้าง สมัย ม.ต้นผมเริ่มสนใจการเขียนเกมคอมพิวเตอร์เลยลองศึกษาและพัฒนาขึ้นมาโดยมีเพื่อน ๆ ช่วยเทส ยุคนั้นคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตยังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ ความสนใจเรื่องพวกนี้เลยโดนผู้ใหญ่มองแปลก ๆ เราก็ไม่ได้โทษผู้ใหญ่ยุคนั้นหรอก ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจะกลัวในสิ่งที่ไม่รู้จัก ต้องขอบคุณทางผู้บริหารของโรงเรียนที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ให้การสนับสนุนการใช้สื่อบันเทิงสารพัดมาประกอบการเรียนการสอน และให้การสนับสนุนด้านนวัตกรรมประกอบการสอน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเกมคอมพิวเตอร์ บอร์ดเกม หรือสื่ออื่นๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ความสามารถในการเรียนการสอนในห้องเรียนพัฒนาขึ้นไปอีกเรื่อยๆ”
ยกตัวอย่าง เรื่องภัยธรรมชาติ ครูสิทธิชัยนำเกมเกี่ยวกับการหลบภัยธรรมชาติมาเล่นแข่งกับนักเรียน พอเล่นไปสักพักนักเรียนเห็นว่าครูเล่นเกมเก่งกว่า มีโอกาสรอดจากภัยธรรมชาติมากกว่า จึงเป็นจังหวะเหมาะให้ครูอธิบายได้ว่า เพราะครูมีความรู้เกี่ยวกับปัจจัยการเกิดภัยธรรมชาติและแนวทางการรับมือที่ดีกว่า หลังจากนั้นจึงพานักเรียนเข้าสู่บทเรียน
“ยิ่งเด็กสนุก เด็กยิ่งมีแรงบันดายใจในการเรียน เล่นเกมแล้วค่อยมาสอนเขาว่าภัยธรรมชาติที่มีโอกาสเกิดบนโลกนี้มีอะไรบ้าง เกิดอย่างไร จะป้องกันแก้ไขอย่างไร แล้วพอนักเรียนลองเล่นอีกครั้งด้วยความรู้ที่มาจากการสอน ก็พบว่า…เออมันได้ผล!! จากนั้นให้นักเรียนลองจับกลุ่มอภิปรายกันว่าภัยธรรมชาติแต่ละอย่างเกิดจากอะไร มีลักษณะร่วมหรือคล้ายอย่างไร การรับมือทำอย่างไร อะไรรับมือง่ายหรือยากที่สุด
หรือถ้าสอนเรื่องการโฆษณาสินค้า ก็ให้นักเรียนนั่งดูโฆษณาสินค้าแต่ละชนิด แล้วมาอภิปรายกันว่าอะไรน่าซื้อที่สุดสำหรับแต่ละคน แล้วโยงเข้าทฤษฎีการตลาด นักเรียนก็จะรู้สึกว่าสิ่งที่สอนมันเกี่ยวข้องกับชีวิต ใช้ได้จริง จากนั้นก็ให้นักเรียนลองจับกลุ่มทำโฆษณาสินค้าสักอย่างขึ้นมา”
“ผมจะมีกรอบว่าเรื่องนี้จะชวนนักเรียนวิจารณ์ประเด็นไหน เข้าใจเรื่องไหน ในมุมมองอะไร เด็กสมัยนี้ฉลาด เขามีความรู้บางอย่างที่เราไม่รู้ เข้าถึงสื่อและเทคโนโลยี เด็กมีคำถามที่ดีขึ้น และชอบมีคำถามประหลาดๆ โผล่มาซึ่งเป็นคำถามที่สมัยก่อนไม่เคยถูกถาม”
“อะไรเป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศ?” ครูสิทธิชัย ยกตัวอย่างคำถามในชั้นเรียน
“ความเจริญ คืออะไร?” “แล้วปัจจัยอะไรที่ทำให้ไม่เกิดสิ่งนั้น?” ครูถามกลับให้นักเรียนคิด
หลังจากได้ฟังคำถาม นักเรียนตอบกลับอย่างตรงไปตรงมาว่า “หนูว่าหนูนี่แหละถ่วงความเจริญประเทศ เพราะ…”
จากสถานการณ์ที่ยกมา คำถามไม่ได้จบแค่การได้คำตอบว่าใครหรืออะไรเป็นตัวถ่วงความเจริญ ครูสิทธิชัยบอกว่า คำถามควรดำเนินต่อไปเพื่อนำทางให้เด็กได้คิดลึกลงไปมากกว่าการหาจำเลยสังคม
“ทำไมเธอถึงมีมุมมองอย่างนั้น การที่มีมุมมองแบบนี้แสดงว่าเราต้องผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสัมคมบางอย่างมา ไหนลองทบทวนสิว่าเธอผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคมมาอย่างไร มีอะไรแวดล้อมที่ไม่ดีบ้าง แล้วจะเปลี่ยนแปลงมันอย่างไร”
คำถามเหล่านี้ ไม่ได้ตัดสินให้ใคร ‘ถูก’ หรือ ‘ผิด’ แต่กระตุ้นกระบวนการคิดที่อาจเป็นทางเลือก ทางรอดในการพัฒนาตนเองและสังคมในอนาคต
ความแข็งแกร่ง (Strength)
เราให้ครูสิทธิชัยเลือกบัตรคำที่อธิบายถึงความเป็นตัวเองขึ้นมา 1 ใบ จากบัตรคำทั้งหมด 24 ใบ “ความแข็งแกร่ง” เป็นคำที่ครูสิทธิชัยเลือก
บรรยากาศของห้องเรียนที่เต็มไปด้วยความสุขสนุกสนาน นักเรียนรวมหัวกันคิด ยกมือแสดงความคิดเห็น ทั้งหมดเกิดขึ้นได้เพราะครูสิทธิชัยไม่เคยละเลยที่จะเอาใจมาใส่ใจเรา
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ห้องเรียนที่ถูกออกแบบกระบวนการเรียนรู้มาอย่างดี “ความแข็งแกร่ง” เป็นความมั่นคงภายในที่ทำให้สามารถสร้างพลังงานเชิงบวกแห่งการเรียนรู้ขึ้นมาได้
“ความแข็งแกร่ง หากโยงกับคติพุทธ คือ หลักพละ 5 หรือ กำลัง 5 ประการ ที่จะทำให้เรามีเรี่ยวแรง มีพลัง เป็นกำลังเกื้อหนุนให้รู้ทางแห่งการดับทุกข์ได้ ถ้าความไม่รู้ของคน ความเลวร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นความทุกข์ พลังแห่งการดับทุกข์ของเราก็คือ ความแข็งแกร่ง”
ถึงตรงนี้ ครูสิทธิชัย เปิดห้องเรียนเฉพาะกิจ อธิบายเรื่องพละ 5 ว่า ประกอบด้วย
- ศรัทธาพละ (สัทธาพละ)
- วิริยะพละ ความเพียรพยายาม
- สติพละ ความระลึกได้ เป็นกำลังต้านทานความประมาทพลั้งเผลอ
- สมาธิพละ ความตั้งมั่นจดจ่อ
- ปัญญาพละ ความเข้มแข็งทางปัญญาที่ทำให้เอาชนะโมหะ หรือ ความโง่ ความหลง
“ผมศรัทธาในศักยภาพของนักเรียน ศรัทธาในอาชีพครูว่า ครูสามารถพัฒนานักเรียนได้และนักเรียนทุกคนมีศักยภาพพอที่จะพัฒนา ผมมีความเพียรพยายามที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจนักเรียน ทดลองเล่นเกมที่เด็กชวน ทดลองอ่านหนังสือที่นักเรียนแนะนำมา เพื่อนำมาสอนนักเรียนอีกทีหนึ่ง มีสมาธิหรือมีจิตตั้งมั่น แน่วแน่ในการพัฒนานักเรียนและอาชีพครูอย่างจริงจัง มีสติ ไม่ประมาทว่าตัวเองรู้แล้ว ไม่ประมาทกับการเรียนการสอน และมีปัญญารู้จักเชื่อมโยงเนื้อหาของบทเรียน คิดสร้างสรรค์ไปสู่สิ่งที่เด็กชอบให้ได้ ต่อให้บางเรื่องไม่เกี่ยวก็ทำให้เกี่ยวกันให้ได้
“ผมรู้ตัวว่าผมเข้าข้างความเป็นเด็กกับสิทธิมนุษยชนเยอะไปหน่อย ผมมีอีโก้นะ เป็นอุดมการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเพื่อสังคมของเรา ผมสอนเด็กในวิชาชุมนุมเรื่องการจำแนกลักษณะตัวละคร (Character Alignments) มนุษย์เรามีหลายประเภท คนแต่ละประเภทก็จะมองคนอื่นในมุมมองที่ต่างกันไป เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่เรามองคนอื่นว่าเป็นแบบไหน ในทางกลับกันมันจะสะท้อนว่าคนที่มองเราแบบนี้ จริงๆ แล้วเป็นคนแบบไหนด้วย”
เมื่อถามว่าหากไม่เป็นครู คิดว่าตอนนี้ตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ครูสิทธิชัย บอกอย่างไม่รีรอว่า “คงกำลังเป็นนักเขียนอยู่”
“ผมคงหันมาดูแลกิจการสำนักพิมพ์เต็มตัว เพราะยังไงก็รักการถ่ายทอดความรู้และนำเสนอมุมมองความคิด ทัศนคติต่างๆ ให้กับผู้คน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในสังคม วัฒนธรรมและสิ่งที่ต่างจากตนเอง ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ สังคมทุกวันนี้ยังมีคนที่มีอคติต่อผู้อื่นและไม่มีความพยายามเปิดใจคุยกัน ด้วยเหตุผล ทั้งที่ความเข้าใจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราลดอคติลงให้ได้มากที่สุด
“บางคนก็ด่าว่าล้อเลียนกันสนุกปาก บางคนใช้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการกดขี่ข่มเหงคนที่แตกต่างจากตน อาจเพราะความกลัวที่จะสูญเสียความคิดเดิมที่ตนเองยึดถือ หรืออาจเพราะกลัวสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ของตนก็ตาม แต่นั่นทำให้สังคมโลกเต็มไปด้วยความไม่เข้าใจ พยายามกำจัด ตีตรา หรือกีดกันคนที่แตกต่าง แทนที่จะเคารพความเป็นตัวเขา เอาใจเขามาใส่ใจเรา ร่วมมือกันหารือ หาแนวทางการพัฒนาสังคมและโลก เพราะทุกวันนี้โลกกำลังเจอวิกฤตหลายด้าน
“ถ้าเปรียบเทียบคงเหมือนผมอยากปลูกต้นไม้ให้โลกนี้มีต้นไม้เพิ่มขึ้น การเป็นครูก็เหมือนการปลูกต้นไม้ในสวนป่า และเฝ้าคอยดูแลจนเจริญงอกงามด้วยมือตัวเอง ก่อนย้ายต้นไม้ไปปลูกที่อื่นต่อ ส่วนการเป็นนักเขียนก็เหมือนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปหว่านเมล็ดพืชตามที่ต่าง ๆ ถึงไม่ได้ดูแลใกล้ชิดแต่ก็กระจายเมล็ดพันธุ์ได้ทั่ว ไม่ว่าอย่างไหนก็ทำให้โลกนี้มีต้นไม้เพิ่มขึ้นทั้งนั้น ทุกวันนี้ผมเลยยังทำทั้งสองอย่าง เพราะเลิกไม่ได้”
ภาพยนตร์เรื่อง ธอร์ แร็คนาร็อก (Thor: Ragnarok) ศึกอวสานเทพเจ้า เป็นภาพยนตร์ภาคที่ 3 ของ Thor เทพเจ้าสายฟ้า ในภาคนี้ธอร์ถูกเนรเทศไปยังสุดขอบจักรวาล กลายเป็นนักโทษโดยปราศจากค้อนคู่ใจ เขาหาทางกลับไปยังแอสการ์ดเพื่อหยุดยั้งมหาสงครามที่จะทำลายล้างดินแดนแห่งเทพ ซึ่งจะเป็นจุดจบของอารยธรรมแห่งแอสการ์ |