- ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการเรียนรู้ของเด็ก ครูแชมป์ – พุฒิพงศ์ ห้องสวัสดิ์ ครูวิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านคลองแค (อ้อมน้อย) จึงคิดค้นนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาให้เด็กๆ มีพื้นฐานที่มั่นคงในด้านการอ่านและเขียน
- ครูแชมป์ออกแบบการเรียนรู้โดยเน้นเสริมสร้างประสบการณ์ทางภาษาที่หลากหลาย ฝึกให้เด็กทั้งเขียน พูด อ่าน ดู ที่สำคัญคือมีท่าทางการเคลื่อนไหว และรูปภาพประกอบ เพื่อให้เด็กจดจำได้ และเข้าใจความหมายของคำๆ นั้นมากขึ้น
- ครูมีหน้าที่เสริมแรง เสริมกำลังให้เด็กได้ถ่ายทอดออกมา มากกว่าคอยจับผิดว่าเขาเขียนถูกหรือไม่ พยัญชนะสระถูกตำแหน่งไหม หรือเขียนลายมือสวยหรือเปล่า
เด็กจดจำพยัญชนะในภาษาไทยไม่ได้
เขียนออกมา ไม่สามารถอ่านเป็นคำที่มีความหมายได้
และถูกผลักให้ pass ชั้นไปทั้งๆ ที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
นี่คือสภาพปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในเด็กประถมฯ จากประสบการณ์ตรงของ ครูแชมป์ – พุฒิพงศ์ ห้องสวัสดิ์ ครูวิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านคลองแค (อ้อมน้อย) จ.สมุทรสาคร สะท้อนผ่าน ‘Live นี้มีที่ปรึกษา’ หัวข้อ ‘อ่านออกเขียนได้เรื่องใหญ่ เราสอนยังไงดี ?’ จัดโดย เพจ insKru – พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในคอมมูนิตี้ insKru ผู้แบ่งปันไอเดียการสอนให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ในห้องเรียนด้วย
ปัญหาดังกล่าวมาจาก ความรู้พื้นฐาน เนื่องจากโรงเรียนคลองแค เป็นโรงเรียนที่มีทั้งเด็กไทยและเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านที่ย้ายถิ่นฐานตามพ่อแม่มา ดังนั้นพื้นฐานภาษาจึงค่อนข้างต่างกัน บางคนมีพื้นฐานดี ในขณะที่บางคนไม่เคยผ่านเรียนในช่วงปฐมวัย หรืออนุบาลด้วยซ้ำ เป็นงานหนักของครูผู้สอนที่ต้องปูพื้นฐานให้เด็กๆ ก่อนที่จะส่งเขาไปต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น
รวมไปถึง พัฒนาการช้า เมื่อพื้นฐานที่มีมาไม่เท่ากัน ส่งผลให้เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการเรียนรู้ที่ต่างกันไปด้วย จุดนี้ครูแชมป์ใช้วิธีเพิ่มประสบการณ์ทางภาษาให้หลากหลาย โดยจะฝึกทั้งเขียน พูด อ่าน ดู ที่สำคัญคือมีท่าทางการเคลื่อนไหว และรูปประกอบ ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากภาพ

ก.ไก่ กลายร่าง เรียนรู้พยัญชนะไทยแบบเชื่อมโยงภาพ
“เราไม่มองว่าตัวผู้เรียนเป็นปัญหา เรามองว่าบทเรียนเป็นปัญหาของผู้เรียน”
ครูแชมป์หยิบนวัตกรรม ‘ก.ไก่กลายร่าง’ วาด เชื่อม วาง สร้างพื้นฐานพยัญชนะ ที่คิดค้นขึ้นเอง ซึ่งเป็นนวัตกรรมสำหรับแก้ปัญหาที่พอกพูนมานาน ในเรื่องที่เด็กจำพยัญชนะไม่ได้ ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของภาษา โดยใช้แบบฝึกที่มีภาพประกอบให้เด็กเชื่อมโยงรูปภาพ โดยการเขียนทับบนรูปเป็นพยัญชนะ และค่อยๆ พาเด็กคิดจินตนาการว่า พยัญชนะที่เขียนทับไปนั้น มีความคล้ายกับรูปนั้นอย่างไร เสมือนการกลายร่างพยัญชนะนั่นเอง เพื่อช่วยให้เด็กจำพยัญชนะเป็นภาพ
ในทุกๆ เช้า ครูแชมป์จะพาเด็กๆ ‘อ่าน คิด เขียน ท่อง 4 in 1’ เริ่มจากท่อง ก.ไก่กลายร่างด้วยกัน 3 แบบ หนึ่งคือท่องแบบธรรมดาอย่างที่เราคุ้นเคย เช่น ก.ไก่ ข.ไข่ ไปจนถึงฮ.ฮูก แต่เพิ่มการเคาะจังหวะไปด้วยกัน ครูแชมป์บอกว่า เป็นการทำให้เด็กโฟกัสไปกับครู นอกจากนี้ยังได้ใช้กล้ามเนื้อด้วย ทั้งการขยับปากพูด การกลอกลูกตาไปมาเพื่อดูตัวพยัญชนะ และการใช้นิ้วและมือในการชี้และเคาะจังหวะไปพร้อมๆ กันทั้งห้อง
แบบที่สอง อ่านและเขียนไปด้วย “เขียนยังไง? ก็ลากเสียงยาวๆ ก…….ไก่ ข…….ไข่ เอาคำสร้อยไว้ท้ายสุด เน้นตรงเสียงท้าย”
“และแบบที่สามเป็นการท่องแบบกลับหลัง เป็นการรีเวิร์สสมอง ฝึกให้เด็กได้คิดและมีสติมากขึ้น แรกๆ เด็กก็ตะกุกตะกัก แต่สุดท้ายเขาก็ทำได้และสนุก และอีกแบบท่องแบบเสียงเดียว คือ ก ข ค ซึ่งยากที่สุด สกัดให้เหลือแต่เสียงที่พร้อมเอาไปใช้แต่งประโยคต่อได้เลย”
เมื่อเด็กๆ แข็งแรงเรื่องพยัญชนะแล้ว ต่อไปก็เป็นเรื่องสระ ครูแชมป์ใช้ ‘สระท่าทางมนุษย์’ ซึ่งเด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในการช่วยคิดด้วย โดยใช้ร่างกายของเราทำท่าทางเป็นรูปสระต่างๆ พร้อมๆ กับออกเสียงสระนั้นๆ ดังนั้นปากกับร่างกายจะสัมพันธ์กัน
“ภาพประกอบทำให้เด็กจดจำได้ และเข้าใจความหมายของคำๆ นั้นมากขึ้น ส่วนการเขียนเป็นการพัฒนาสมอง อย่าเพิ่งสนใจว่า เด็กจะลายมือสวยไหม ตำแหน่งของสระอาจจะคลาดเคลื่อนเพียงเล็กๆ น้อยๆ ขอแค่พออ่านเป็นคำที่มีความหมายได้
ขอให้เขาได้ลองเขียน โดยไม่กลัวว่าจะถูกดุ ถูกตำหนิ ครูมีหน้าที่เสริมแรง เสริมกำลังให้เด็กได้ถ่ายทอดออกมา ไม่ใช่คอยจับผิด นั่นก็ผิด นี่ก็ไม่ได้ เขียนผิดเป็นตีมือ เด็กก็กลัว มือสั่นไม่กล้าเขียน ให้เขาได้เขียนก่อนผิดถูกค่อยๆ มาแก้กันไป”
“พอเด็กเริ่มอ่านออกเขียนได้ไปสักระยะหนึ่ง ผมก็จะให้เขียนเรื่องที่เขาเจอมาในชีวิต เน้นเอาประสบการณ์ที่เขาเจอมาก่อน อย่างเพิ่งไปเอาเรื่องที่มันไกลตัว เพราะบางทีเรื่องไกลตัวเขานึกภาพไม่ออก พอเขานึกภาพไม่ออกเขาก็ถ่ายทอดมาไม่ได้ แล้วเราจะไปโทษว่า เด็กอ่านไม่ออกเด็กเขียนไม่ได้ เด็กคิดเองไม่ได้ มันไม่ใช่ เราไปไกลตัวเขา เราเป็นคนโตเรามีประสบการณ์ เรามีมุมมองชีวิตมากมาย แต่เด็กน้อยๆ เพิ่งโตขึ้นมา เขายังไม่ได้เจอโลกอะไรมากมาย เอาสิ่งที่ใกล้ตัว เวลาเขียนอาจจะเขียนเรื่องบ้านของฉัน บางทีเป็นการสืบเลย ทำให้ครูรู้จักเด็กไปด้วยว่าเขามาจากพื้นฐานครอบครัวเป็นยังไง เราก็ได้เก็บข้อมูลของเด็กด้วย”

เรียนปนเล่นด้วย ‘เส้นนำสมอง’ แบบฝึกหัดเขียนคำตามบอก
อีกหนึ่งนวัตกรรมของครูแชมป์ก็คือ ‘เส้นนำสมอง’ เก่งแบบก้าวกระโดด ด้วยคอมโบสุดโหด ฝึกเด็กเขียนตามคำบอก เสริมคลังศัพท์ในสมองเด็ก และเรียนรู้ความหมายของคำนั้นๆ เพื่อนำไปใช้ในการแต่งประโยคต่อไป
“อันนี้ไม่ได้คิดเอง 100% แต่เป็นการตกตะกอนมาจากสื่ออยู่สองชนิด หนึ่งคืออักษร 4 สี พยัญชนะต้นเป็นสีดำ สระเป็นสีแดง ตัวสะกดเป็นสีฟ้า วรรณยุกต์เป็นสีเขียว เด็กก็จะไม่สับสนว่าตัวไหนเป็นพยัญชนะ ตัวไหนสระ แล้วก็หยิบสื่อที่เป็นแบบฝึกหัดที่มีเส้นๆ เส้นเติมคำ ให้เด็กเอาคำมาเติม ก็เลยเอาสีกับเส้นมาผสมกัน สื่อนี้เกิดขึ้นได้เพราะเราเจอเด็กที่อ่อน พอได้ลองทดสอบเขียนคำตามบอก เชื่อว่าครูหลายๆ ท่านก็น่าจะเคยทำ มันมีคนที่ได้มากกว่า 5 และมีคนที่ได้ต่ำกว่านั้น ไปจนถึงได้ 0 เราจะทำยังไงกับเขา เลยลองขีดเส้นระบุตำแหน่งให้เด็ก”
โดยหลักการของเส้นนำสมองนั้น เนื่องจากว่าเด็กผ่านการฝึกเขียน ท่อง จดจำพยัญชนะและสระกันมาแล้ว ทำให้มีพยัญชนะและสระในสมองเป็นพื้นฐานแล้ว แต่ปัญหาคือเขายังไม่สามารถเขียนออกมาได้ จึงจำเป็นต้องมีตัวนำทาง
“มันเหมือนกับเด็กที่เริ่มว่ายนำเป็นแล้วเขาอยู่ในทะเล อยู่ในแหล่งน้ำ เราเอาเส้นนำสมองไปปักหลักให้เขา ให้เขาได้ว่ายไปหาเส้นที่มันถูกทางของการเขียนคำ เพราะเขาพูดได้ เขาอ่านได้ แต่เขายังไม่เคยลองเขียน จึงต้องใช้เส้นนำสมอง ซึ่งมันเป็นนวัตกรรมที่ง่ายมาก แค่เอามาขีดให้เด็กเอาไปเติมๆ ผมซื้อปากกามาง่ายๆ ปากกาไวท์บอร์ดสี่สี ตรงที่ให้นำพยัญชนะมาใส่ก็ขีดเส้นนำสีดำไปอย่างนี้เป็นต้น แล้วเด็กก็เติมได้ จากตอนแรก 0 คะแนน ก็ค่อยๆ ขยับมา 2 มา 6 มา 8 คะแนน แล้วเส้นนำสมองมันไม่ได้จบแค่เขียนคำ มันไปยาวได้ทั้งประโยค”
“นวัตกรรมเส้นนำสมองเหมือนเป็นการหลอกนะ หลอกตัวผมเองเหมือนกันว่าเด็กได้ ทั้งๆ ที่เราช่วยใบ้เขา แต่เราอย่าลืมว่าป.1 เขามาฝึก ไม่ได้มาเก่ง ดังนั้นพอเขาได้ตัวช่วย มีครูคอยพยุงไป เขาเชื่อว่าเขาทำได้ เขาเชื่อว่าเขาเก่ง กลายเป็นว่าจากเขียนคำกระโดดไปแต่งประโยคได้อย่างรวดเร็ว ผมสลัดทิ้งก่อนเลยนะครับ ประธาน กริยา กรรม ยังไม่เอามาใช้ ให้รู้ก่อนว่า… ฉันทำอะไร ฉันเห็นโน่น ฉันเห็นนี่ แล้วค่อยเริ่มท้าทายเด็ก นักเรียนใครเริ่มเก่งแล้วครูแชมป์ลองท้าว่าหนูลองเปลี่ยนคำว่า หนู เป็นคำว่า พ่อ เป็นคำว่าครู ดูสิ ให้ลองเปลี่ยนประธานดูก่อน บางคนแต่งประโยคมาใช้ชื่อเพื่อนทั้งห้องเลย”
ครูแชมป์เสริมว่า ถ้อยคำให้กำลังใจก็สำคัญ เช่น หนูทำได้, หนูเก่งมาก, หนูเก่งขึ้นแล้ว, อย่าไปกลัวเดี๋ยวครูช่วยเอง, พัฒนาขึ้นแล้ววันนั้นหนูยังทำไม่ได้เลย, เพื่อนๆ ดูนี่ๆ… เขาเขียนคำยาก, คำนี้มันยากจริงเขียนผิดไม่เป็นไรๆ เดี๋ยวครูสอน และพยายามตรวจงานต่อหน้าเด็ก เพราะเป็นพื้นที่สำคัญในการฟีดแบคกลับไปที่เด็ก

“ผมขอฝากไว้อีกอย่างก็คือ ถ้าเรายังปล่อยให้เขาอ่านไม่ออก ก็เหมือนปล่อยให้เขาพิการ มีตาแต่ว่าเป็นตาที่บอด บอดไปจากการรับรู้ บอดไปจากข้อมูลข่าวสารที่จะมาพัฒนาสมอง พัฒนาประสบการณ์ของเขา
ดังนั้นถ้าเราเป็นครู โดยเฉพาะป.1 แล้วเรายังปล่อยให้เขาบอดไป เราต้องพัฒนาให้เขาอ่านออกได้ไวที่สุด พออ่านออกได้ก็ไปต่อได้ เหมือนกับหนังสือ เวลาเจอหนังสือ เด็กที่อ่านไม่ออก เขาก็จะได้แต่เสพภาพ แต่พออ่านออกมันรับสารคูณสอง แล้วประสบการณ์แต่ละปีมันสำคัญ
ท้ายสุดแล้วเราไม่ต้องคิดมากว่าเราอยากเป็นครูในสไตล์ไหน แค่ครูเป็นครูที่ทำให้เด็กๆ โชคดีให้ได้ที่มาเจอเรา”
ทั้งนี้ สื่อของครูแชมป์ทั้งหมดสามารถนำไปใช้ได้ฟรี โดยได้เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ inskru และเฟซบุ๊กของครูแชมป์ พุฒิพงศ์ ห้องสวัสดิ์