- ผู้ปกครองอ่านได้ แต่คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะเด็กจบใหม่อ่านก็ยิ่งดี คุยเรื่องการสอนวิชาการเงิน Money literacy ที่เด็กเล็กและมัธยมต้องรู้แต่โรงเรียนอาจไม่ได้สอน กับ จักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือ โค้ชหนุ่ม (Money Coach)
- ตั้งแต่พ่อแม่ควรปลูกฝังเรื่องการเงินกับลูกอย่างไร และถ้าออกแบบวิชา Money literacy ให้เด็กแต่ละช่วงวัยได้ แต่ละช่วงวัยต้องรู้อะไรบ้าง และชีวิตของคนรุ่นใหม่กับการวางแผนการเงิน
- “เราบอกเขาว่า ‘ก็ถ้าลูกมีเงินแล้วไม่ใช้ แสดงว่าเงินไม่จำเป็นกับลูกละสิ’ ผมอยากสอนลูกว่ามนุษย์มีเงินเพื่อใช้จ่ายเติมเต็มชีวิตให้มีความสุข โดยกันบางส่วนเก็บไว้เพื่อวันข้างหน้า อยากสอนให้เขาอยู่กับเงินแล้วมีความสุข ไม่ได้สอนให้ประหยัดแบบใครเก็บเงินได้มากกว่าเป็นผู้ชนะ ผมว่าชีวิตไม่ใช่แบบนั้น”
ถ้าพูดถึง Money coach เมืองไทย ชื่อของจักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือ โค้ชหนุ่ม คงปรากฎขึ้นมาในความคิดของหลายคน จากชายหนุ่มที่เผชิญปัญหาหนี้ 18 ล้าน ปัจจุบันเขากลายโค้ชให้คำปรึกษาด้านการเงิน เดินทางไปบรรยายให้ความรู้ เปิดคอร์สสอนออนไลน์ และเจ้าของสำนักพิมพ์ลิฟรีช (Live rich)
เราเป็นคนหนึ่งที่มีความรู้ทางการเงินแค่เรื่องการออม เพราะเรามองว่าการเงินเป็นเรื่องเข้าใจยาก ซับซ้อน ไกลตัว ให้ลงทุนกับการซื้อกองทุนซื้อหุ้นเหรอ? ขอผ่านดีกว่าไม่อยากเสี่ยง
แต่พอมีโอกาสได้มาคุยกับโค้ชหนุ่ม ความคิดเราเปลี่ยนทันที จริงๆ การเงินเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากๆๆๆ (พอๆ กับเรื่องการเมือง) ชีวิตเราจะเป็นยังไงก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนการเงิน แต่ทำไมเรื่องที่จำเป็นขนาดนี้เรากลับไม่เคยถูกสอน?
ย้อนกลับไปช่วงที่เรียนอยู่ในโรงเรียน อยู่ในมหาวิทยาลัย เรื่องการเงินเราถูกสอนแบบไหน? เศรษฐศาสตร์จุลภาค – มหภาค เศรษฐกิจพอเพียงแบ่งที่นาทำไร่ ถือเป็นเรื่องที่มีประโยชน์นะ แต่เราแค่รู้สึกว่าเราไม่สามารถเอาเรื่องพวกนี้มาใช้ในชีวิตประจำวันได้
พ้นจากวัยเรียนเข้าสู่วัยทำงาน ปัญหาที่คนส่วนใหญ่เจอ เสียภาษีคืออะไร? จะกู้ซื้อบ้านต้องทำยังไง? เก็บเงินยังไงให้ออกดอกออกผลเยอะๆ เรื่องพวกนี้หรือเปล่าคือสิ่งที่เราควรจะได้เรียน
นั่นเป็นเป้าหมายที่เราชวนโค้ชหนุ่มมาคุยกันครั้งนี้ วงสนทนาของเราเริ่มตั้งแต่วิพากษ์การสอนเรื่องการเงินที่ผ่านๆ มาเป็นอย่างไร สิ่งที่โรงเรียนรวมไปถึงครอบครัวควรสอนเด็กเรื่องการเงินในแต่ละวัย และชีวิตของคนรุ่นใหม่กับการวางแผนการเงิน
ในฐานะ Money coach คุณหนุ่มมองภาพการสอนการเงินในระบบการศึกษาไทยเป็นอย่างไร?
ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้สอนเรื่องการเงินจริงๆ จังๆ ถ้าพูดถึงความรู้เรื่องการเงิน ผมจะพูด 4 เรื่องหลักๆ คือ หนึ่ง – หารายได้ เป็นเรื่องที่เราแทบไม่ต้องสอนกัน เพราะเรียนหนังสือจบเราก็มีความรู้ไปหารายได้กันเป็น แต่เราขาดการสอนอีก 3 เรื่อง คือ การใช้จ่าย การออม และการลงทุน อาจเป็นเพราะระบบการศึกษาเรายังติดอยู่ในโลกอดีต แต่ปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้ว
สมัยก่อนเราไม่จำเป็นต้องลงทุน แค่เก็บออมก็พอ ก่อนหน้าปี 40 ดอกเบี้ยเงินฝากประจำเฉลี่ย 10 – 12% แค่ทำงานแล้วเก็บออมก็ได้เงินเยอะแล้ว แต่ตอนนี้ดอกเบี้ยเงินฝากมันเหลือเปอร์เซ็นต์เดียว แถมกำลังลดลงไปอีก เพราะฉะนั้นหลักสูตรการศึกษาแบบเดิมที่ไม่ได้พูดการเงินด้านอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ปัจจุบันมันกลายเป็นเรื่องใหญ่แล้ว ลำพังแค่หารายได้ กินให้เหลือ เก็บออม ไม่สามารถทำให้เราดูแลตัวเองได้
ความเปลี่ยนของโลกอีกอย่าง เมื่อก่อนการใช้จ่ายคนเรามันไม่ง่ายเหมือนวันนี้ เดียวนี้เรามีแอปพลิเคชันบนมือถือที่ชวนให้เราเสียเงินได้ทุกวินาที ถ้าเป็นสมัยก่อนมีทางเดียว คือ เราต้องไปห้าง ไปร้านค้า เราถึงได้ควักสตางค์ซื้อของ
เลยจำเป็นที่ปัจจุบันเราต้องสอนเรื่องพวกนี้ (หารายได้ ใช้จ่าย เก็บออม และลงทุน) อย่างน้อยที่สุดให้เขามีความรู้ไว้เพื่อเวลาจำเป็นสามารถดึงออกมาใช้ได้ คงไม่ใช่ว่าโรงเรียนไม่ตั้งใจจะสอนเรื่องการเงิน เพียงแต่ว่าหลักสูตรมันเปลี่ยนไม่ทันโลก แม้กระทั่งการหาเงินที่คนยุคเก่าบอกเราว่า ‘แค่ตั้งใจเรียนก็พอ เรียนจบจะได้มีงานดีๆ ทำ มีเงินเยอะแยะ’ แต่สมัยนี้เด็กอายุ 15 – 16 สามารถหารายได้ๆ แล้ว บางทีหาด้วยวิธีที่พ่อแม่ไม่เข้าใจ เช่น รีวิวของ โฆษณาทางยูทูป รายได้อาจจะมากกว่าพ่อแม่ที่ออกไปทำงานซะอีก เขาอาจตั้งคำถามว่า อย่างนี้เขาต้องเรียนไหม?
ผมว่านอกจากหลักสูตรต้องเปลี่ยน ตัวพ่อแม่เองก็ต้องปรับวิธีสอนเช่นกัน อย่างเรื่องการเรียนอย่าสอนว่า ‘ถ้าไม่ตั้งใจเรียนแบบนี้ อีกหน่อยไม่มีงานทำแล้วจะรู้สึก’ พ่อแม่ต้องเปิดใจให้กว้าง เหตุผลการเรียนคงต้องเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่เรื่องหาเงิน แต่คือความรู้วิชาที่เราสะสมไว้ใช้ดำรงชีวิต
ถ้าถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนวิธีสอนเรื่องการเงิน เราควรจะเปลี่ยนยังไง และถ้าต้องเริ่มสอนตั้งแต่เด็กๆ แต่ละช่วงวัยควรรู้เรื่องการเงินด้านไหนบ้าง?
สำหรับเด็กประถม เบสิคสำคัญอยู่ที่การใช้จ่ายและการออม พยายามทำให้มันอยู่ในชีวิตประจำวันเขา อย่าไปแยกว่านี่คือเรื่องเงิน เพราะชีวิตประจำวันเราต้องใช้เงินอยู่แล้ว ในหมวดการใช้จ่าย ตั้งหลักสอนเขาเรื่องความจำเป็น ให้เด็กแยกได้ว่าอะไรคือจำเป็น อะไรคือความต้องการ ผมว่านี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ความยากที่สุดของการสอนเรื่องเงินคือใส่ศิลปะลงไป ว่ามนุษย์เราไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อความจำเป็นเท่านั้น เรามีชีวิตมีความสุขได้ด้วยความต้องการเหมือนกัน เราไม่ได้อยากกินข้าวแกงทุกมื้อ บางวันเราก็อยากกินชาบูบ้าง
ผมขอยกตัวอย่างคำว่าฟุ่มเฟือย กับ เกินตัว สองคำนี้แตกต่างกันนะ มนุษย์เราเวลาฟุ่มเฟือยแล้วมีความสุขดีใช่ไหม? เราได้ใช้จ่ายในสิ่งที่มันสูงขึ้นไป ซึ่งคนเราฟุ่มเฟือยได้นะแต่ต้องไม่เกินตัว เราสามารถกินชาบูบางมื้อได้ กินของราคาสูงได้ แต่ถ้าให้กินทุกวันก็ไม่ไหว เดี๋ยวกระทบกับการเงิน (หัวเราะ)
อีกเรื่องที่ควรสอนในหมวดการใช้จ่าย คือ ความคุ้มค่า สอนเขาเวลาที่ตัดสินใจซื้อหรือจ่ายเงินให้อะไรสักอย่าง ให้เขาตัดสินใจโดยดูว่าสิ่งไหนเหมาะสมกับเขา ของบางอย่างไม่จำเป็นต้องซื้อถูก บางอย่างอาจจะซื้อแพงได้ แต่ให้เขาเปรียบเทียบได้ว่าซื้อสิ่งไหนคุ้มค่ากว่า
หัวใจสำคัญในการสอนเรื่องเงิน สุดท้ายปลายทางเราต้องทำให้เด็กสามารถตัดสินใจเรื่องการเงินได้อย่างถูกต้อง (ในแบบของเขา) เพราะชีวิตเขาจะเจอ choice ทางเลือกเยอะแยะ แค่จะซื้อมือถือเครื่องเดียวเราจะเจอ choice แบบ “อื้อหือ! Iphone ก็ดูคลาสิคดี แต่ Samsung ก็ช่างฟีเจอร์เยอะเหลือเกิน”
พยายามให้เขาตัดสินใจเรื่องการเงินบนเหตุและผลบวกศิลปะด้านอารมณ์เข้าไป การเงินเราจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ ไม่มีผิดหรือถูกเพราะการเงินเป็นเรื่องปักเจกบุคคล เราต้องสอนให้เด็กรู้ว่า ไม่ว่าจะเลือกอะไรก็เป็นสิทธิ์ของเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราได้ ถ้าเราสามารถจัดการการเงินเราได้อย่างเหมาะสม
ส่วนการออมต้องปลูกฝังให้เป็นนิสัยติดตัวเขาตั้งแต่เด็ก ผมพบว่าคนที่ประสบความสำเร็จในการออมเงิน มักจะถูกปลูกฝังเรื่องการออมมาตั้งแต่เด็กๆ จนถึงกระทั่งถ้าไม่ได้ออมเงินเขาจะรู้สึกผิด ซึ่งถ้าพ่อแม่สามารถปลูกฝังให้ลูกได้ถึงขั้นนี้ผมว่ามันจะเป็นเรื่องที่ดีมาก ให้เหมือนกับการทำดี ถ้าไม่ทำแล้วจะรู้สึกผิด ซึ่งการปลูกฝังนิสัยรักการออมอาจจะไม่ใช่หน้าที่ครู แต่เป็นหน้าที่พ่อแม่ด้วยซ้ำ
‘ปลูกฝังการออมให้เหมือนกับการทำดี’ ฟังแล้วดูยากจัง โค้ชหนุ่มพอจะมีคำแนะนำไหมว่าควรเริ่มต้นอย่างไร?
แล้วแต่คนเลย อย่างที่บ้านผมเราใช้วิธีแอบสะกดจิต (หัวเราะ) ตั้งแต่เขายังเด็กๆ สัก 2 – 3 ขวบ ก่อนนอนเราจะยื่นเหรียญให้หนึ่งเหรียญ ให้เขายอดกระปุกทุกวัน ด้วยความที่เขายังเป็นเด็กก็จะเกิดความชิน ยังนอนไม่ได้ถ้ายังไม่ได้หยอดกระปุก (หัวเราะ)
พอถึงวัยเข้าโรงเรียน เราจะไปสำรวจที่โรงเรียนเขาว่าร้านขนมขายของราคาต่อชิ้นเท่าไร แล้วมานั่งคิดว่าจะให้เงินไปโรงเรียนเท่าไร อาจบวกเพิ่มไปนิดหนึ่งเผื่อมีวันที่เขาอยากกินอะไรกับเพื่อนๆ แล้วเราก็สร้างแรงจูงใจว่า ‘เนี่ย ถ้าลูกเก็บเงินเดี๋ยวพ่อให้เงินเพิ่ม’ สมมติเหลือกลับมา 5 บาท เราให้เพิ่มอีก 5 บาท สนุกดีนะ มีบางวันที่เขาไม่กินอะไรเลยเพราะกะจะเก็บเงินเต็มๆ (หัวเราะ) เราก็บอกเขาว่า ‘งั้นพ่อไม่ให้เงินนะพรุ่งนี้ เอาเงินที่เหลือวันนี้ไปใช้วันพรุ่งนี้’ เขาก็จะแบบ ‘อ้าว ทำไมละพ่อ เก็บมา 20 ก็ต้องได้เพิ่ม 20 สิ’ เราบอกเขาว่า ‘ก็ถ้าเกิดลูกมีเงินแล้วไม่ใช้ แสดงว่าเงินไม่จำเป็นกับลูกละสิ’
ผมอยากสอนลูกว่า มนุษย์มีเงินเพื่อใช้จ่ายเติมเต็มชีวิตให้มีความสุข โดยกันบางส่วนเก็บไว้เพื่อวันข้างหน้า อยากสอนให้เขาอยู่กับเงินแล้วมีความสุข ไม่ได้สอนให้ประหยัดแบบใครเก็บเงินได้มากกว่าเป็นผู้ชนะ ผมว่าชีวิตไม่ใช่แบบนั้น
อันนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวล้วนๆ ผมเคยเป็นหนี้ 18 ล้านตอนปี 40 พอแก้หนี้เสร็จปุ๊บผมหาเงินรัวๆ เพราะอยากจะรวย สุดท้ายเป็นภูมิแพ้เกือบตาย ตอนนอนอยู่โรงพยาบาลหมอก็แซวนะ ‘เฮอะ! หาเงินเยอะๆ แล้วเป็นไง ตายไปได้ใช้มั้ย? สุดท้ายหาเงินมาให้หมอใช้’ เราก็กลับมาคิดว่า เฮ้ย! เงินมันไม่ใช่แบบนั้นนิ ฉะนั้น เราจะไม่ไปปลูกฝังเขาแบบนั้น
แล้วผมจะไม่สอนให้เขาตั้งเงินเป็นเป้าหมายชีวิตด้วย เราอย่าไปตั้งเป้าเลยว่าอยากจะมี 10 ล้าน 20 ล้าน เพราะการวางแผนการเงินที่ถูกต้องต้องวางแผนชีวิตก่อนว่าชีวิตที่เราอยากได้เป็นแบบไหน บางคนอาจจะอยู่ในเมือง มีคอนโดสักห้องหนึ่ง มีรถคันหนึ่ง ได้ทำงานที่รัก มีเงินกิน – เงินเก็บ ดูแลตัวเองได้หากเจ็บป่วย แบบนี้อาจจะไม่ต้องถึง 10 ล้านก็ได้ โจทย์ชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราต้องวางแผนชีวิตให้ชัด เสร็จแล้วค่อยวางแผนการเงิน โดยดูว่าสิ่งที่เราต้องการต้องมีเงินไปสนับสนุนเท่าไร แล้วค่อยไปวางแผนจากตรงนั้น
พอสอนเรื่องการออมเสร็จค่อยต่อยอดไปสอนเรื่องอื่นๆ เช่น การเก็บตังค์ซื้อของ ที่บ้านผมจะให้สิทธิ์ลูกซื้อของเต็มที่ เงินเก็บเงินออมจะเอาไปซื้อของหมดก็ไม่มีใครว่า เพราะเงินของคุณคุณต้องบริหารเอง เราพยายามสอนให้เขาคิด บริหาร ตัดสินใจเอง
แต่ชีวิตคนเรามักจะหนีไม่พ้นต้องมีเรื่องทุนนิยมมาเกี่ยวข้อง แล้วพ่อแม่จะสอนลูกได้ยังไงว่า เงินไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของชีวิต
ผมว่าคำพูดพ่อแม่ในบ้านเป็นจุดเริ่มต้น อยู่ที่ว่าเราพูดอะไร ‘เงินนะ ไอ้นี้ก็ต้องเงินๆๆๆ’ แล้วการสอนเด็กไม่ใช่กดปุ่มปุ๊บแล้วจะได้สิ่งที่เราต้องการปั๊บ แต่มันคือการกล่อมเกลา เราสอนไปเรื่องหนึ่ง เขาอาจ react กลับมาผิดถูกบิดเบี้ยวไม่เป็นไร เวลาสอนเด็กเราต้องมีความรู้สึกที่พร้อมจะให้อภัย คิดถึงตอนเราเรียนหนังสือก็ได้ กว่าเราจะแยกตัวประกอบคณิตศาสตร์ได้จะเป็นจะตาย มันต้องใช้เวลา
บ้านผม ด้วยความที่เรามีสำนักพิมพ์ก็ให้ลูกไปทำงานขายหนังสือ 10 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม ให้เงิน 300 บาท เขาก็บอกว่า ‘พ่อ ทำไมเป็นลูกเจ้าของแล้วต้องมาขายหนังสือด้วย’ เราจะบอกเขาว่า ‘ไม่ ลูกอยู่ในฐานะของลูกจ้าง เมื่อเป็นพนักงานเราก็ต้องทำงานเขาให้เต็มที่ เงินมันสำคัญ แต่คุณค่าในตัวเองก็สำคัญเช่นกัน’ เราสอนเขาต่อว่า จนแค่ไหนอย่าไปขอเงินใคร ไม่ต้องไปรอรับเงินบริจาค แค่เอาแรงมาขายเราก็ได้สตางค์ละ
ที่โค้ชหนุ่มเล่ามาก็จะเป็นการเงินที่เด็กประถมควรรู้ แล้วถ้าเป็นเด็กมัธยมเขาควรจะรู้การเงินด้านไหนบ้าง?
ลูกคนโตผมเขาขึ้นมัธยม เราสอนเขาทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อดูว่าเงินที่มีเขาเอาไปใช้เอาไปไว้ตรงไหนบ้าง แล้วเราก็ไม่ไปยุ่งกับเขาว่า ทำไมซื้ออันนั้น ทำไมซื้ออันนี้ เราไม่มีสิทธิ์เพราะมันเป็นเงินเขา แต่ว่าเราอยากให้เขาแจกแจงตัวเอง ให้เห็นว่าทำอะไรไปบ้าง ก็วางแผนว่าพอขึ้นมัธยมปลายค่อยไปสอนเรื่องการลงทุน ว่าเงินที่เขามีอยู่มันมีทางเลือกมากมาย รวมไปถึง sense ผู้ประกอบการในอนาคต สามารถใส่ในวัยมัธยมปลายได้
แต่มายเซ็ตสังคมส่วนใหญ่ยังมองว่าวัยมัธยมยังเป็นเด็ก การลงทุนหรือแม้แต่การเงินเป็นเรื่องที่ไกลตัวพวกเขา ต่อให้ขึ้นมหาวิทยาลัยก็ยังคงเจอมายเซ็ตแบบนี้อยู่
จริงๆ ผู้ใหญ่ที่ลงทุนแล้วขาดทุน เป็นเพราะไม่ได้ศึกษาเรื่องพวกนี้ การลงทุนไม่ใช่ว่าเรามีเงินก้อนหนึ่งแล้วถามคนอื่นว่า ‘ซื้ออะไรดี?’ การลงทุนมีเรื่องที่ต้องศึกษาเยอะมากๆ กว่าที่เราจะเอาเงินสักก้อนไปวาง เราสอนเด็กให้เรียนแต่ตัวเองกลับไม่เรียนซะเอง แล้วแปลกนะ พอเราเรียนจบปุ๊บเรากลับไม่อยากเรียนอะไรต่อละ ผมถึงชอบแซวว่า ‘ลงทุนเรียน 16 ปี เพื่อเอาเงินเดือนหมื่นกว่าบาทมาสู้กันแทบตาย แต่พอจะต่อยอดเงินที่ตัวเองมีให้เป็นหลักแสนหลักล้านเรากลับไม่เรียน บอกไม่มีเวลา’
เรื่องพวกนี้เราควรปูให้เขาไว้ตั้งแต่มัธยม ช่วงมัธยมต้นอาจให้เขาเริ่มลงทุนแบบง่ายๆ เช่น ซื้อสลากออมสิน สลากธ.ก.ส. สลากออมทรัพย์อื่นๆ รวมไปถึงทำความรู้จักหุ้นสหกรณ์ เงินฝากสหกรณ์ กองทุนรวม แต่เด็กบางคนเขาอาจซื้อหุ้นเป็นแล้วนะ อย่างลูกชายผมซื้อหุ้นเป็นตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เป็นเพราะเวลาเราทำงาน เขาก็ไปกับเราตลอด นั่งฟังอยู่หลังห้องประจำ ทำให้เขาสนใจเรื่องการเงินไปในตัว
พอถึงช่วงมัธยมปลาย เราสามารถใส่เรื่องการวางแผนทางการเงินได้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น สอนให้เขารู้จักสินเชื่อต่างๆ การวางแผนซื้อบ้านซื้อรถ ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวนะ แต่มันเป็นสิ่งที่เขาต้องเจอในอนาคตแน่ๆ อย่างการกู้เงินซื้อบ้าน ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดนะ คิดดูเด็กคนหนึ่งทำงานมา 10 ปีจะมีสักกี่คนที่ซื้อบ้านด้วยเงินสดได้ ในประเทศไทยมันมีไม่เยอะถ้าไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทองนะ เราควรสอนเขาให้ดูว่าถ้าซื้อบ้านขนาดเท่านี้ ควรขอสินเชื่อแบบไหน ดอกเบี้ยขั้นบันไดเป็นอย่างไร หรือสอนเขาเรื่องที่มันใกล้ตัวมากขึ้นอย่างเก็บเงินเรียนต่อ ถ้าไม่มีเงินสามารถกู้ก.ย.ศ.ได้นะ เขาคิดดอกเบี้ยเท่าไหร่ 1% แต่ถ้าไม่จ่ายเขาคิดดอกเบี้ยปรับ 18% แถมคิดย้อนหลังตั้งแต่วันแรกที่ได้เงิน เด็กส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องพวกนี้ เพราะไม่มีคนสอนเขา
รวมไปถึงสอนเรื่องอื่นๆ เช่น ถ้าเกิดปัญหาทางการเงินต้องจัดการอย่างไร ทุกวันนี้คนที่มีปัญหาทางการเงิน ไม่มีเงินจ่ายหนี้ รู้ไหมเขาแก้ปัญหายังไง? คนส่วนใหญ่จะพยายามไปหาสินเชื่อตัวใหม่กู้เงินมาจ่ายหนี้เก่า ซึ่งเป็นวิธีที่ผิดแต่ทำกันทั้งประเทศ (หัวเราะ) เราควรสอนเขาว่า ถ้าเกิดปัญหาเราส่งเงินไม่ไหวต้องแก้ยังไง ธนาคารส่วนใหญ่เขามีช่องให้คุยนะ แต่เรากลับเลือกไม่คุยกัน แล้วปล่อยให้ผิดนัดชำระหนี้ค่อยไปคุยทีหลังซึ่งมันคุยยาก
หรือกลโกงทางการเงินอย่างแชร์ลูกโซ่ ทำไมคนไทยถึงเชื่อแชร์ลูกโซ่ เพราะเราไม่รู้ว่าการลงทุนหน้าตาเป็นยังไง การลงทุนจริงๆ ให้ผลตอบแทนประมาณ 10% ต่อปี ซึ่งก็ถือว่าเยอะแล้วนะ แต่เจอแม่มณี (แชร์ลูกโซ่แม่มณี (2019) แชร์ลูกโซ่ครั้งใหญ่ที่มีการใช้ดอกเบี้ยที่สูงกว่า 93 เปอร์เซ็นต์ มาจูงใจให้ผู้เสียหายร่วมลงทุนมีผู้เสียหายหลายพันคน) เข้าไปผลตอบแทน 93% ต่อเดือน ทำไมเราถึงเชื่อ? นี่คือสิ่งที่มันควรใส่เข้าในหลักสูตรไป
พูดถึงฝั่งเด็กไปแล้ว มาที่ฝั่งคนสอนอย่างครูบ้างดีกว่า วิชาการเงิน 101 สำหรับครูที่เริ่มสอนการเงิน โค้ชหนุ่มพอจะมีคำแนะนำไหมว่าพวกเขาต้องเริ่มต้นยังไง?
ในมุมผมอาจเป็นแบบปฎิวัติ คือ ครูต้องดูแลการเงินของตัวเองให้ดีก่อน ไม่งั้นทุกครั้งที่เราพูดว่าการเงินที่ถูกต้องเป็นยังไง คงสะเทือนใจไม่น้อยละผมว่า คงต้องปรับการเงินของครูไปพร้อมๆ กับปรับหลักสูตร ตีคู่กันไป
ส่วนตัวหลักสูตรผมเคยคิดนะว่า ทำไมเราไม่เอาเรื่องการเงินไปอยู่ในทุกวิชา ไม่ต้องแยกหรอกว่าเป็นวิชาการเงิน อย่างวิชาคณิตศาสตร์ทำไมไม่ใส่การเงินเข้าไป ผมสามารถสอนหนี้นอกระบบได้ผ่านการทำโจทย์คณิต เช่น คุณพ่อไปยืมหนี้นอกระบบมาต้องจ่ายดอกเบี้ยวันละ 5% ถามว่าสิ้นเดือนคุณพ่อต้องจ่ายดอกเบี้ยรวมเท่าไร คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นของเงินต้นทั้งหมด กลับมีแต่โจทย์ฝากตังค์ที่ธนาคารได้ดอกเบี้ย 2% ทำไมเราคิดโจทย์คณิตศาสตร์ที่มันลอยๆ ทำไมเราไม่เอาข้อเท็จจริงไปสอนเด็ก
หรือสอนสถิติด้วยการให้นักเรียนเอาบิลค่าน้ำค่าไฟมาโชว์สัก 12 เดือน ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ ก็สอนให้เขาเปรียบเทียบว่า เดือนมีนาคมใช้ไฟเท่าไร เพราะอะไรถึงใช้มากกว่าเดือนธันวาคม ถ้าเป็นเด็กโตก็สอนเรื่องฟังก์ชั่นสมการว่า เอาค่าน้ำค่าไฟมาพล็อตเป็นกราฟได้รูปยังไง หรือวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ เราสอนให้เขาทำอาหารแล้วขาย เราสามารถต่อยอดสอนให้เด็กทำบัญชีต้นทุน – รายรับ รายจ่าย หรือเอาเงินขายของไปต่อยอดทำอย่างอื่นต่อ
ผมว่าครูเป็นคนหนึ่งที่สำคัญมากที่สามารถปลูกฝังเรื่องการเงินให้เด็กได้ แต่เด็กส่วนใหญ่เขาเรียนรู้เรื่องเงินจากที่บ้าน สังเกตได้ว่าบ้านไหนที่คุณพ่อคุณแม่มีนิสัยประหยัดมัธยัสถ์ มีโอกาสถ่ายทอดมาที่ลูก มีการเงินสไตล์เดียวกัน
วิชาการเงินเป็นวิชาที่ประหลาดนะ เพราะต้นแบบที่สอนต้องการเงินดี เงินไม่ใช่ความรู้ ไม่ใช่ knowledge ถึงคุณมีความรู้ด้านการเงิน แต่คุณก็อาจไม่ประสบความสำเร็จทางการเงิน หนึ่ง – ต้องมีความรับผิดชอบ วันนี้ถ้ามองไปที่สังคมไทย เราจะเห็นบางคนที่มีปัญหาทางการเงินแต่เลือกนิ่งเฉย เลือกที่จะ ignore คิดว่าการเงินก็เหมือนความรักเวลาจะช่วยเยียวยาทุกอย่าง ไม่! บอกเลยเวลาจะทำให้ดอกเบี้ยบานขึ้น (หัวเราะ)
สอง – พอมีความรับผิดชอบต้องมีความรู้ด้วย สาม – เป็นเรื่องที่ยากที่สุด คือ วินัย คนเรามีโอกาสเก็บเงินได้ 7 ล้าน 10 ล้าน ไม่ว่าจะเป็นใคร เป็นคนทำงานทั่วไปกินเงินเดือนก็สามารถทำได้ ถ้าเรามีความรู้และวินัยพอ
คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่ได้ผ่านการเรียนเรื่องพวกนี้ แต่เมื่อเข้าสู่วัยทำงานกลับถูกคาดหวังว่าต้องจัดการการเงินได้ มีเงินเก็บ เลี้ยงดูพ่อแม่ได้ แล้วพอไม่สามารถทำได้ก็จะเจอประโยคที่ว่า ‘คนรุ่นใหม่เก็บเงินไม่เป็น แถมจนกว่าคนรุ่นเก่า’
ถ้ามองเป็นเรื่องกับดักรายได้ก็เป็นไปได้นะ เพราะปัจจุบันรายได้มันไม่เพิ่มขึ้นเท่าไรเลย ตอนผมเรียนจบปี 40 วิศวกรรุ่นนั้นจบมาเงินเดือนเริ่มต้น 16,000 แต่เห็นรุ่นนี้ก็ไม่ได้ต่างกันมากนะ (หัวเราะ) แต่ว่าก๋วยเตี๋ยวสมัยนั้นกับสมัยนี้ต่างกันไปแล้วเท่าตัว ปัญหานี้มันอาจประกอบด้วยหลายปัจจัย คือ รายได้ที่ไม่ปรับ แต่สภาพสังคมเปลี่ยน การใช้การบริโภคของเราหนักขึ้น
แต่ในอีกมุมหนึ่งผมคิดว่ามันมีโอกาสเพิ่มขึ้นนะ เทียบกับผมตอนปี 40 ที่ช่วงนั้นมีวิกฤตต้มยำกุ้งด้วย สมัยนั้นกว่าเราจะสร้างอะไรสักอย่างด้วยตัวเองมันไม่ง่าย สมมติผมเป็นวิศวกรทำงานเป็นที่ปรึกษาให้โรงงานต่างๆ ถ้าผมอยากให้ตัวเองมีชื่อเสียงคนรู้จักมากขึ้น โอ้โห ผมต้องเข้าออกโรงงานไม่รู้กี่แห่ง จนคนเริ่มรู้จักและพูดว่า ‘ใช้บริการอาจารย์คนนี้สิเก่ง’ เทียบกับยุคปัจจุบันที่เรามีโซเซียลมีเดีย เราสามารถพลิกหรือทำให้คนรู้จักเรา เห็นความสามารถเราได้ง่ายขึ้น
มีทั้งข้อได้เปรียบ – เสียเปรียบ หรือบางคนยังอยู่ในโลกการเงินใบเดิมว่า ตั้งใจเรียนหางานดีๆ ทำ แล้วยึดรายได้นี้เป็นหลัก ผมไม่ได้บอกว่าให้ออกจากงานประจำนะ เพียงแต่ว่าอาจถึงยุคที่เราต้องมีรายได้มากกว่าหนึ่งทาง อาจจะมาจากอาชีพอิสระ จากการทำธุรกิจ หรือจากการลงทุนของเรา เพราะเราคงไม่สามารถไปเปลี่ยนโครงสร้างรายได้ของสังคมได้หรอก อยู่ดีๆ จะให้ไปบอกว่า เพิ่มเงินเดือนให้ทุกคนสบายหมดคงทำไม่ได้ ก็ปรับที่ตัวเรา
ส่วนเด็กจบใหม่เขามีลักษณะที่ต่างกัน บางคนไม่ต้องดูแลใคร ดูแลแค่ตัวเองก็โชคดีหน่อย แต่บางคนต้องส่งเงินให้คุณพ่อคุณแม่ ในมุมหนึ่งประเทศไทยเราเป็นสังคมอุปถัมภ์แบบนี้ ผมพยายามปลูกฝังทัศนคติใหม่ให้คนรุ่นใหม่ ลูกศิษย์ของผมส่วนใหญ่อายุ 25 – 45 ผมพยายามบอกเขาว่า ‘จงอย่าเป็นพ่อแม่ที่ต้องพึ่งพาลูก’ เวลาไปบรรยายที่ไหนจะชอบเจอคำถาม ‘ไม่มีลูก ต้องวางแผนเกษียณยังไง?’ ผมก็จะบอกว่า วางแผนเหมือนคนมีลูกแหละ เพราะเราจะไม่พึ่งพาลูก
เราต้องพาให้คนทั้งสังคมคิดแบบนี้ให้ได้ พ่อแม่ต้องวางแผนวัยเกษียณ เพราะเด็กจบใหม่เงินเดือนเขาก็น้อยอยู่แล้ว ถ้าเอาพ่อแม่ไปทับถมชีวิตเขาอีก ชีวิตเขาจะเคลื่อนไปยังไง? สุดท้ายวงจรของประเทศไทยก็เป็นแบบนี้ พ่อแม่แย่ ลูกเรียนจบมาต้องเลี้ยงดู แล้วกว่าจะตั้งตัวเก็บเงินออมได้ เผลอๆ ตอนปลายเกษียณก็ไม่มีเงินเหมือนพ่อแม่เลย วนมาที่รุ่นหลานอีก กลายเป็นวงจรส่งต่อความยากจนไปเรื่อยๆ
แต่ละคนมีโจทย์ชีวิตไม่เหมือนกัน ใครมีพ่อแม่ต้องเลี้ยงดูก็ทำไป แต่อย่าให้เกินกำลังตัวเอง ถ้าเมื่อไหร่เกินกำลังตัวเองมันจะแย่ ผมเจอมาเยอะคนที่ทำงานเงินเดือนหมื่นสองแต่ที่บ้านขอหมื่นหนึ่ง ไม่รู้จะทำยังไงก็กดบัตรเงินสดออกมา แล้วตัวเองมานั่งผ่อน นี่เป็นปัญหาใหญ่เลยถ้าคนไทยไม่รู้เรื่องการเงิน ไม่วางแผน
How to เก็บเงินเกษียณฉบับมนุษย์เงินเดือน
อย่างแรกตอบให้ได้ว่าวันที่เราเกษียณเราจะใช้เงินเท่าไหร่? ถึงจะมีคนบอกว่าต้องเก็บให้ได้สัก 4 ล้าน แต่บางคนเกษียณแล้วอยากไปใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัด ก็อาจใช้ไม่ถึง 4 ล้าน หรือบางคนอยากใช้ชีวิตเกษียณในเมือง อันนี้อาจจะมากกว่า 4 ล้าน ต่อมาการเก็บเงิน ถ้าพูดว่าต้องได้เงินก้อน 4 ล้าน คนจะกลัวละ แต่ถ้าบอกว่าใช้เดือนละ 20,000 ก็เป็นไปได้
วิธีคิดที่ว่าให้เก็บเป็นเงินก้อนเป็นความรู้แค่ครึ่งเดียว คนเราไม่จำเป็นต้องเก็บ 4 ล้าน 10 ล้าน เราสามารถเก็บเป็นทรัพย์สินที่สร้างเงินรายเดือนให้เราก็ได้ คนบางคนอาจจะเก็บเงินทำบ้านเช่า ในวัย 20 – 30 อาจกู้เงินทำบ้านเช่า แล้วเก็บค่าเช่าให้ได้มากกว่าที่เราผ่อนธนาคาร เช่น เก็บค่าเช่า 10,000 ผ่อนธนาคาร 8,000 เราจะมี cash flow หรือกระแสเงินสด 2,000 ฟังดูน้อย แต่เราอย่าลืมว่ามีคนช่วยผ่อนบ้านเรานะ หนี้ลดลงไปเรื่อยๆ แถมถ้ารีไฟแนนซ์เป็นจะทำให้ผ่อนเงินลดลง ถ้าเวลาผ่านไปเราสามารถเพิ่มค่าเช่าได้นะ หรือถึงวันเกษียณบ้านผ่อนหมด เราก็มีรายได้จากค่าเช่าเต็มๆ
คนเรามี option เก็บเงินเยอะมาก บางคนวางแผนวัยเกษียณมีเงินเดือนละ 20,000 น่าจะอยู่ได้ ถ้าเราส่งประกันสังคมตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน วันที่เกษียณอายุ 55 จะได้เงินเดือนละ 7,500 บาทไปจนตาย นี่ไงเรามีเงินเดือนละ 7,500 ละ เหลือที่ต้องหาอีก 12,500 ก็ถ้าทำบ้านเช่าแบบที่บอกข้างต้นก็จะมีเงินส่วนนี้เก็บไว้ แต่ไม่ทำบ้านเช่าทุกคนหรอกนะ จะเก็บออมเป็นหุ้นที่ให้ปันผล หรืออะไรก็ได้
หรือบางคนอาจอยากเก็บเป็นก้อนๆ เดียว 4 ล้านแล้วดูแลตัวเอง เก็บเงิน 4 ล้านไม่ยาก เก็บเดือนละ 2,000 ยังได้ แต่เก็บไว้ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงอย่างหุ้นนะ ทำงานไปอีก 30 – 40 ปี ก็มีโอกาส มีเงิน 7 – 8 ล้าน พอได้ยินคำว่าหุ้นคนจะบอกว่า ‘เดี๋ยวนะ หุ้นมันจะดียังไง?’
พอเราไม่มีความรู้เรื่องการเงิน ได้ยินคำว่าเสี่ยงก็กลัว ถ้าอธิบายในฐานะคนที่ทำงานสายการเงิน เสี่ยงไม่ได้แปลว่าโอกาสในการขาดทุน แต่เสี่ยงแปลว่าโอกาสได้รับผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาด เหมือนเลี่ยงบาลีเนอะ (หัวเราะ) แต่ผมชอบถามคนเล่นๆ ว่า สมมติวันนี้ไปซื้อหุ้นราคา 10 บาท เราอยากได้ผลตอบแทน 10% ปีหน้าควรเป็น 11 บาทปรากฎปีหน้า 8 บาท อย่างนี้เรียกเสี่ยงไหม? เสี่ยง งั้นถามใหม่ ซื้อ 10 บาท ผลตอบแทนควรเป็น 11 ถ้าปีหน้าหุ้นขึ้นเป็น 14 บาท อันนี้เสี่ยงไหม? ไม่เสี่ยง อันนี้โอเค๊ (เสียงสูง) ไม่ๆ ภาษาการเงินอันนี้เรียกเสี่ยง เพราะผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาด แล้วทำไมเงินฝากถึงไม่เสี่ยง ก็เขาบอกแล้วฝาก 100 ได้ 50 ตังค์ ไม่มีเสี่ยงหรือพลิกล็อค
Money Coach ในฐานะคุณพ่อ
ทราบมาว่าครอบครัวคุณหนุ่มก็เป็นครอบครัวหนึ่งที่ให้ลูกออกจากระบบโรงเรียน มาเรียนแบบ Home school แทน อยากรู้เหตุผลว่าทำไมคุณหนุ่มถึงเลือกทางนี้
ต้องบอกก่อนว่าเป็นมุมมองส่วนตัว แต่ละคนอาจคิดไม่เหมือนกัน ของผม หนึ่ง – มองจากตัวเองเป็นฐาน ตัวผมจบวิศวะจุฬาฯ แต่สุดท้ายมาเป็นอะไร (หัวเราะ) เป็นโค้ชการเงิน เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับที่เรียนมาเลย แล้วผมรู้สึกว่าโลกใบนี้คำว่าการเรียนรู้ หรือ learning มันใหญ่กว่า education ไปแล้ว ในยุคหนึ่ง education อาจเป็นสิ่งที่ดีจำเป็น อย่างคนยุคผมการสอบเข้ามหาลัยได้มันคือชีวิตและการตัดสิน เป็นการปูทางชีวิตในอนาคตเลยนะ เพื่อนฝูง สังคม การงาน แต่ในยุคปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้ว เราต้องการ skills หรือทักษะบางอย่างที่อยู่ในเนื้อตัวคนๆ นั้น คือโลกเปลี่ยนแล้ว แต่การศึกษาเปลี่ยนช้ามาก (ลากเสียง)
สอง – พอเรามีลูกนะ เราก็กลับมามองตัวเองว่า ที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตวัยเด็กมีความสุขหรือเปล่า สมัยเด็กผมเป็นนักสอบ สอบทุกอย่างในสากลโลก สอบแข่งไปเรื่อยๆ สุดท้ายเรามานั่งถามตัวเองในช่วงบั้นปลายว่า เราสอบไปแล้วเราเป็นใคร? เราได้อะไรจากการสอบชนะผู้คนมากมาย? ฉะนั้น พอมีลูกเราตั้งโจทย์ว่า อยากให้ลูกมีความสุข
สุดท้าย ผมเป็นคนสายการเงิน ลงทุนสร้างทำอะไรไปเยอะแยะมากมาย จนวันหนึ่งผมมานั่งคิดว่าเราต้องสร้างไปถึงเท่าไรลูกเราถึงจะปลอดภัย จำได้ว่ามีอยู่คืนหนึ่งนั่งเอากระดาษเอสี่มาจดว่า อะไรหนอ? ที่ฝากไว้ให้ลูกแล้วจะทำให้เราตายตาหลับ มันไม่ใช่ทรัพย์สินทั้งหมดที่เรามี แต่คือตัวตนที่เราต้องปลูกถ่ายแล้วก็สอนเขาไว้ตั้งแต่วันนี้
ผมมานั่งลิสต์ว่าเราอยากให้ลูกมีคุณลักษณะอะไรบ้าง หนึ่งลูกเราต้องเป็นคนอ่อนน้อมน่ารัก เรื่องนี้สำคัญถ้าเขาอ่อนน้อมน่ารักอยู่ที่ไหนก็จะมีแต่คนเอ็นดูเขา ชีวิตเขาก็จะง่าย สอง ลูกเราควรจะแยกแยะได้อันไหนควรทำไม่ควรทำ สิ่งที่เราสอนลูก คือ อะไรในโลกนี้ไม่มีถูกผิดร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ยกเว้นสองเรื่อง คือ ศีลธรรมกับกฎหมาย ถ้าสองเรื่องนี้ลูกทำผิดต่อให้มีเหตุผลอะไรก็ฟังไม่ขึ้น อย่าทำอะไรที่ผิดกรอบศีลธรรมกฎหมาย สาม เราคิดว่าเขาควรจะเอาตัวรอดเป็น อย่างที่ผมให้ลูกขายหนังสือ ไม่มีอะไรมากเราแค่อยากสอนเขาว่า วันใดที่จนหมดเนื้อหมดตัว ของที่พ่อทิ้งไว้ให้มันช่วยได้
สี่ เรื่องการคิดอ่านต่างๆ ผมพยายามสอนให้ลูกตัดสินใจเอง แล้วเห็น consequences (ผลลัพธ์) ที่ตามมา ผมว่าวิธีการสอนเด็กต้องสอนแบบนี้ อย่าไปบอกเขาว่าอย่างนู้นอย่างงนี้ บางเรื่องเราบอกเขาแล้วก็บอก consequences หรือบางเรื่องเราไม่ต้องบอกให้เขาลองได้เลย แล้วให้เขาผิดดู อย่างการช่วยตรวจการบ้าน ผมไม่ช่วยดูเลย เพราะทำไมเราต้องเป็นคนเดียวที่บอกลูกว่านี่ผิด เราอยากให้ลูกฟังจากคนอื่นบ้าง ไม่งั้นกลายเป็นฟังจากเราคนเดียว พอฟังคนอื่นพูดแล้วรับไม่ได้ โกรธแค้น
ห้า ให้เขารักการเรียนรู้ ที่บ้านเราจะเลี้ยงเขาแบบอยากเรียนอะไรให้เลือกเองเลย อยากได้คอร์สนี้มาปรึกษาเรามาคุยกัน อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ เรื่องวินัย ผมมีโปรแกรมการเรียนให้เขาเอากางไว้เลย แล้วให้เขาทำตารางมาส่งทุกสัปดาห์ว่า สัปดาห์นี้จะเรียนอะไรบ้าง เพื่อเป็นสัญญาหรือ commitment มนุษย์เราถ้าไม่มี commitment ก็ทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง
นอกจากนี้เราก็ให้เขาไปเรียนรู้ด้วยวิธีอื่น มีคนรู้จักก็จะฝากลูกให้ไปทำงานกับเขา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะทิ้งไม่ให้เขาเรียนวิชาหลักในห้องเรียนนะ เรายังให้เขาเรียนอยู่ผ่านคอร์สเรียนออนไลน์ของสถาบันกวดวิชาต่างๆ เพราะเราจะไม่กำหนดชีวิตลูก เผื่อวันหนึ่งเขาอยากกลับไปเรียนในระบบ อยากไปเป็นหมอ อยากไปสอบวิศวะ เป็นนักบัญชี จะได้สามารถทำได้
วิธีเรียนรู้เรื่องการเงินมีอย่างหนึ่งที่โค้ชหนุ่มให้ลูกทำ คือ การทำงาน เชื่อว่ามีเด็กอีกหลายคนที่อยากทำงาน แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง ประกอบกับทัศนคติของสังคมที่มองว่าเด็กไปทำงาน เท่ากับ ครอบครัวมีปัญหาทางการเงิน
ผมว่าแต่ละครอบครัวมี background ไม่เหมือนกัน ถ้าเกิดเป็นครอบครัวที่ฐานะไม่ดีแล้วเด็กอยากทำงาน อันนี้ผมว่าไม่ผิด แล้วส่วนใหญ่เด็กที่มีทัศนคติแบบนี้ผมพบว่า หลายคนกลายเป็นคนบริหารเวลาได้ดีและเป็นเด็กที่เก่งมาก แต่ถ้าบางครอบครัวที่บอกว่า ‘ครอบครัวฉันก็ดีไม่ได้เป็นอะไร’ ก็ไม่ต้องก็ได้ สอนเขาเรื่องเบสิคก็พอ คนเราหาเงินได้ ใช้จ่ายเป็น รู้จักเก็บออมก็โอเคละ แค่นี้ก็เป็นการสอนการเงินได้
แต่ถ้าเด็กอยู่ในครอบครัวที่โอเคแล้วแต่ยังอยากทำงาน ผมอยากให้พ่อแม่เปิดใจแล้วให้เวลาถกเถียง discuss กับเขาว่าอยากทำอะไร ทำไมอยู่ดีๆ ถึงอยากทำ ผมรู้นะว่าถึงอย่างไรลูกก็ยังเป็นเด็กในสายตาพ่อแม่ แต่อย่ากดเขาด้วยคำว่าเด็กเลยนะ เพราะเด็กเขาโตแล้ว โดยเฉพาะเด็กมัธยมที่ผมมองว่าเป็นวัยโคตรสับสน บางวันก็เป็นเด็ก บางวันก็เป็นผู้ใหญ่ (หัวเราะ)
คำหนึ่งที่ผมใช้เป็นหลักในการเลี้ยงลูก คือ trust เราต้องเชื่อในความคิดเขา อย่างลูกชายผมทุกวันต้องบอกว่า ‘พ่อ ออกัสอยากทำอันนี้’ ด้วยความที่เขา 12 ขวบแล้วตามผมไปทำงานด้วยตลอด เขาก็จะเห็นที่สิ่งที่เราทำ เกิดไอเดียทำนู่นทำนี้ ผมก็จะบอกเขาว่า ‘ไหนๆ มาเล่าให้ฟังหน่อย ที่ลูกอยากทำมันยังขาด 1 2 3 4 ถ้าแก้โจทย์นี้ได้พ่อจะให้ทำ’
ผมว่าเราต้องให้เวลาเขา อย่าแบบ ‘โอ๊ย แกเรียนให้ดีๆ ก่อนเถอะ’ โอ้ คำๆ นี้มันโคตรเสียดแทงเลยนะ เราไม่รู้ว่าวันหนึ่งจากที่เขาอาจเป็นแค่คนที่เรียนธรรมดาๆ แต่พอมีโอกาสได้เริ่มทำอะไรขึ้นมา ความรับผิดชอบสูงขึ้น มันอาจจะเปลี่ยนเขาก็ได้ เป็นการเรียนอีกรูปแบบหนึ่ง
รวมไปถึงว่าเวลาลูกคิดอะไรได้ขึ้นมาแล้วบอกว่า ‘โธ่ ความคิดแกมันเด็กๆ อย่าคิดเรื่องพวกนี้ อย่าฟุ้งซ่านเลย’ คือคำพูดมันแอบไปทำร้ายลูกนะ
วันแรกที่มีลูก ผมคุยกับแฟนเลยว่า เราจะเลี้ยงลูกแบบให้เราเป็นสองคนแรกที่ลูกจะเล่าปัญหาให้ฟัง ไม่ใช่เพื่อน ดังนั้น พอลูกมีเรื่องจะปรึกษาผมจะรับฟังทันทีไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ ยกเว้นว่าเรากำลังโฟนอินคุยงาน (หัวเราะ) ก็จะบอกลูกแปปหนึ่งนะ พอเสร็จก็เดินไปคุยกับเขา เมื่อกี้ลูกมีเรื่องอะไรไหนเล่าให้ฟังสิ ถ้าเรื่องไหนที่เราไม่รู้ก็จะนั่ง search หาข้อมูลใน Google ไปกับลูก อยากบอกให้เขารู้ว่า พ่อก็ไม่ใช่เทพมาจากไหนที่จะรู้ทุกเรื่อง แต่เมื่อไรก็ตามที่พ่อมีปัญหาพ่อจะมีกระบวนการแก้แบบนี้
แล้วในมุมการสอนเรื่องการเงิน ในฐานะ money coach โค้ชหนุ่มสอนลูกเรื่องการเงินอย่างไรบ้าง?
เรื่องการเงินผมสอนเขาว่า หนึ่ง – เงินจะมาหาเราได้ก็ต่อเมื่อเราสร้างคุณค่าให้คนอื่น แปลง่ายๆ คือประโยชน์ที่มีต่อคนอื่น ถ้าบอกว่าวันนี้เราเป็นครูสอนพิเศษให้เด็กกลุ่มหนึ่ง ถือเป็นสร้างคุณค่าให้เด็กกลุ่มหนึ่ง มีเด็กยอมจ่ายสตางค์มาเรียน แต่ถ้าสอนได้มากขึ้นทำหนังสือเรียนสอนคนจำนวนมากๆ ก็ได้เงินเยอะขึ้น โจทย์ที่เราต้องคิดก่อนว่าจะทำยังไง อย่าไปคิดว่าทำอันนี้ได้มากได้น้อย จะทำอะไรสักอย่างให้ลูกคิดว่ามันมีประโยชน์ต่อคนอื่นหรือเปล่า ไม่ต้องกังวลเรื่องสตางค์เดียวก็มาเอง
สอง – เงินที่ได้มาไม่สำคัญเท่าเงินที่เก็บได้ เคยเล่าให้เขาฟังว่ามีคุณหมอคนหนึ่งอายุ 29 รายได้เดือนละแสน แต่ใช้จ่ายติดลบเดือนละสองหมื่น กับอีกคนเป็นลูกจ้างคนหนึ่งชั่วคราวของมหาวิทยาลัย เงินเดือนหมื่นสอง แต่มีเงินเก็บเดือนละ 4,000 แถมออมทองได้เดือนละพัน ตอนต้นเดือนหมออาจจะรวยกว่า แต่ปลายเดือนไม่รู้ใครรวยกว่า
สาม – เรียนรู้ให้เงินทำงานให้เราบ้าง เราจะได้เหนื่อยน้อยลง ผมไม่ได้สอนลูกให้ลงทุนจะได้รวย แต่สอนให้ลงทุนเพื่อที่จะได้มีสินทรัพย์ในแบบที่เราพักผ่อนได้บ้าง หรือเป็นตัวช่วยเก็บเงินให้เรา
สี่ – เงินไม่ได้สำคัญกว่าความสุข มีเงินก็ใช้จ่ายตามสมควร ถ้าอยากได้อะไรก็ซื้อบ้าง เขาก็ชอบแซวว่า พ่อชอบซื้อ gadget (หัวเราะ) เราก็บอกว่า ไม่รู้จะมีเงินไปทำไม ถ้าตายไปพ่อก็เอาไปไม่ได้เลย ถ้าสิ่งนี้เป็นความสุขเรา แล้วมีเงินแล้วไม่ได้เดือดร้อนก็อย่าไปกังวลที่จะใช้
สุดท้ายที่สอนลูก คือ พ่อไม่รู้ว่าลูกจะเป็นคนรวยในอนาคตหรือเปล่า แล้วพ่อก็ไม่อยากใช้คำว่ารวยเพราะไม่รู้จะวัดยังไง แถมฟังดูเป็นคำที่ทุนนิยม (เสียงสูง) ในชีวิตพ่อเชื่อเรื่องความมั่งคั่งมากกว่า มันจะเป็น feeling ความรู้สึกอุดมสมบูรณ์ เรารู้สึกหมดความกังวลเรื่องเงินในชีวิตประจำวัน และมีแบ่งปันช่วยคนอื่นได้ตามกำลัง
ที่โค้ชหนุ่มบอกว่าลูกซื้อหุ้นตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ทำให้อยากรู้ว่าเป้าหมายที่โค้ชหนุ่มสอนลูกเรื่องการเงินคืออะไร อยากให้ลูกเป็น geek การเงินเหมือนเราหรือเปล่า?
ไม่เลย ไม่ต้องเป็นโค้ชการเงิน ผมเชื่อว่าทุกคนควรบริหารการเงินตัวเองให้ดี เราจะหาได้มากน้อยไม่สำคัญ เท่ากับเงินที่เราเก็บออมได้ หัวใจสำคัญของการเรียนเรื่องการเงิน คือ บริหารการเงินได้ดี คนเรามีความต้องการในชีวิตไม่เท่ากัน ฉะนั้น เงินเราไม่ต้องมีเท่ากันก็ได้ ขึ้นอยู่ที่จุดพอใจของแต่ละคน
เราพยายามสอนให้ลูกดูแลตัวเองได้ และสิ่งที่ไม่ควรสูญเสียไป คือ ความโลภจากตัวเราเอง แย่ที่สุดเลย ถ้าเราโลภแล้วถูกเขาหลอก ปัจจัยที่ทำให้ถูกหลอกมีอยู่ 3 อย่าง คือ ความไม่รู้ เราไม่รู้ว่าการลงทุนนั้นไม่มีจริงๆ ความโลภ แล้วก็ความมักง่าย เราเชื่อว่ามีอะไรที่ทำได้ง่ายๆ โดนไม่ต้องลงทุนหรือออกแรง
ถ้าสุดท้ายวิธีสอนการเงินมันเปลี่ยนไปแบบที่โค้ชหนุ่มบอก โค้ชหนุ่มว่าปลายทางการเงินของเด็กรุ่นใหม่จะเป็นอย่างไร
ถ้าให้ผมตอบเลยอาจจะยากเพราะเรื่องมันยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็น่าจะดีกว่าปัจจุบัน พูดง่ายๆ เรื่องศีลธรรมที่เราสอนมาตลอด ทุกคนก็รู้ว่าทำเรื่องนี้แล้วมันผิดแต่ก็ยังมีคนทำ แต่อย่างน้อยก่อนจะทำอะไรก็ยังตระหนักคิดได้ มีอะไรที่คอยยับยั่งชั่งใจว่า ‘อย่าทำอะไรไม่ดี’ ผมว่าความรู้เรื่องการเงินก็เป็นแบบนั้น ถ้าเราฝังไว้ในตัวในความคิดของเขา อย่างน้อยเวลาจะทำอะไรเขาก็จะมีมุมฉุกคิด ‘เฮ้ย จะแต่งงานวางแผนซะหน่อยนะ’ ‘เฮ้ย จะซื้อรถวางแผนหน่อยนะ’
อาจจะตรงกับคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การวางแผนทางการเงินก็คือเรื่องภูมิคุ้มกัน เราวางแผนเพื่อกันตัวเองจากปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ผมว่าถ้าเขาเข้าใจตรงนี้มันก็เป็นจุดเริ่มต้นของความฉลาดทางการเงินที่ดี