- ความตั้งใจแรกของกลุ่มเยาวชนฮักไทลื้อหละปูน คือจัดทำโครงการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แต่หลังทบทวนโจทย์ตัวเองดีๆ แล้วพบว่าโจทย์นั้นคือปลายทาง แต่ต้นทาง หรือ ‘วัฒนธรรมไทลื้อ’ คือข้อมูลที่พวกเขาขาดไป
- นั่นจึงเป็นที่มาโครงการ คือ กลับไปสร้างข้อมูลต้นน้ำ ออกแบบกระบวนการเพื่อกลับไปเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน
- วิธีการเรียนรู้เริ่มง่ายๆ เพียงกลับไปเคาะประตูบ้านผู้ใหญ่ในหมู่บ้านและจัดทำแผนที่ชุมชน สิ่งที่ได้แน่ๆ คือข้อมูล และสิ่งที่ได้มาแบบไม่คาดคิด คือสายใยและความรู้สึกผูกพัน
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย การอนุรักษ์วัฒนธรรมถูกยกให้เป็นหนึ่งในภารกิจให้คนรุ่นใหม่ต้องมีหน้าที่สืบสานสืบทอด เพื่อไม่ให้รากเหง้าที่หล่อหลอมชุมชนสูญหายไป แต่นอกจากการแสดงถึงอัตลักษณ์ และความภาคภูมิใจในความเป็นคนพื้นถิ่น เป็นคนชาติพันธุ์แล้ว การดำรงอยู่ของวัฒนธรรมท้องถิ่นยังมีความสำคัญเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวแก่ชุมชนได้
นี่เป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีอาชีพโดยไม่จำเป็นต้องละทิ้งถิ่นฐาน และวัฒนธรรมถูกขับเคลื่อนต่อไปได้ในชุมชน – วินวินกันทุกฝ่าย
เพราะมีประสบการณ์จากการทำโครงการเกี่ยวกับท่องเที่ยว จึงทำให้ กลุ่มเยาวชนฮักไทลื้อหละปูน ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ประกอบด้วย ฟลุ๊ก-พงศกร ศรีวิชัย, มินนี่-ปณันธิตา พือวัน, แบม-กัญชพร เขื่อนคำ, ไนซ์-อโรชา ศรีสัตตยะบุตร และ นุช-วาสนา ปัญโญใหญ่ สนใจเข้าร่วมโครงการปลุกสำนึก สร้างพลัง เสริมศักยภาพเยาวชนเมืองลำพูน เพื่อสืบต่องานที่เคยทำไว้ ทว่าผลลัพธ์ที่ได้กลับไม่ใช่การที่ชุมชนไทลื้อกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต แต่เป็นพวกเขาเองที่ได้ทำความรู้จักกับชุมชนบ้านเกิดลึกซึ้งกว่าที่เคยและเกิดสายใยผูกพันกับเพื่อน พี่ น้อง และผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชนอย่างที่ไม่เคยคาด
ผิดแผนตั้งแต่เริ่ม!
ทีมงานทั้งหมดเป็นกลุ่มเยาวชนที่มีใจอาสาเข้ามาช่วยเหลือทำงานของชุมชนอยู่แล้ว และมีประสบการณ์การทำโครงการอื่นมาก่อน เมื่อ สุจิน ใสสอาด ที่ปรึกษาโครงการ มาชักชวนให้เข้าร่วมโครงการสร้างสำนึกฯ ทีมงานอายุน้อยจึงตอบตกลงโดยไม่ลังเล
ฟลุ๊กเล่าว่า “พวกเราเคยทำโครงการเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชน พอพี่สุจินพูดถึงโครงการนี้ก็สนใจ เพราะไม่อยากให้วัฒนธรรมไทลื้อของบ้านธิสูญหาย แต่ตอนนั้นเราอยากทำโครงการเที่ยวสบาย สไตล์ไทลื้อ”
ทว่าความตั้งใจของพวกเขากลับถูกเบรกกะทันหันจากทีมโค้ชว่า โครงการนี้อาจใหญ่เกินกำลัง ทีมงานจึงนำกลับมาปรึกษาผู้ใหญ่ในชุมชนและปราชญ์ชาวบ้านที่พวกเขารู้จักคุ้นเคย เพราะคิดว่าน่าจะได้รับคำแนะนำดีๆ ผู้ใหญ่แนะนำให้พวกเขาลองเริ่มจากการศึกษาวัฒนธรรมไทลื้อก่อน
“ตอนโดนเปลี่ยนก็เสียใจเหมือนกัน แต่พอมาคุยกับผู้ใหญ่ เขาบอกว่า ไหนๆ เราก็ชอบการท่องเที่ยวอยู่แล้ว มาลองศึกษาก่อนแล้วค่อยเปิดรับนักท่องเที่ยวเพื่อพาไปเรียนรู้ตามแหล่งชุมชนต่างๆ ก็น่าจะทำได้และเป็นการท่องเที่ยวเช่นกัน พวกเราเลยตกลง” ทีมงานเล่าสถานการณ์
ปฏิบัติการเรียนรู้ความเป็นไทลื้อ
เมื่อได้โจทย์การทำโครงการแล้ว ทีมงานที่เคยมีประสบการณ์การทำโครงการเก็บข้อมูลชุมชนมาก่อนได้ลงมือค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเบื้องต้นผ่านอินเทอร์เน็ต พวกเขาบอกด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ ว่า จริงๆ แล้วมีข้อมูลที่เคยเก็บเองจากโครงการก่อนส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งน่าจะใช้กับโครงการนี้ได้ แต่โดนไวรัสทำลายหมด หลังจากนั้นพวกเขากับครูชาเด ฮั้น ที่ปรึกษาโครงการ ได้ช่วยกันประสานงานกับผู้ใหญ่ในชุมชน พ่อหลวง-คำเรียกในภาษาท้องถิ่นภาคเหนือหมายถึงผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และปราชญ์ชาวบ้านหมู่ 1-10 ผ่านไลน์กลุ่มวัฒนธรรมไทลื้อและไปเชิญเองที่บ้านเพื่อมาร่วมกันให้ข้อมูลวัฒนธรรม และแหล่งของดีของแต่ละหมู่บ้าน สำหรับนำไปวางแผนการจัดการท่องเที่ยว
“ผู้ใหญ่ก็บอกกันว่า ได้ๆ ยินดีให้ความร่วมมือ แต่พอวันจริงหลายคนก็มาไม่ได้ เพราะติดธุระเรื่องงานบ้าง เรื่องส่วนตัวบ้าง แต่คนที่มาก็พอช่วยกันให้ข้อมูลได้อยู่” ฟลุ๊กเล่า
ทีมงานเริ่มต้นกิจกรรมด้วยการเล่าถึงภาพรวมโครงการเพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้น จากนั้นสอบถามว่าแต่ละหมู่บ้านมีของดีของเด่นเรื่องอะไร อยู่ตรงไหน จุดไหนที่พวกเขาควรหยิบมาเป็นเส้นทางท่องเที่ยว ผู้ใหญ่ทุกคนที่เห็นทีมงานมาตลอดในฐานะเด็กกิจกรรมของชุมชนต่างช่วยกันบอกเล่าข้อมูลชุมชนของตัวเองอย่างเต็มที่ด้วยความเอ็นดู
ผลการเก็บข้อมูลทำให้ทีมงานพบจุดเด่นของหมู่บ้านต่างๆ มีทั้งการดำเนินชีวิตด้วยวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกผักปลอดสารพิษ ภูมิปัญญาเรื่องน้ำทุ่ง การทำข้าวแต๋นน้ำอ้อย และมีสถานที่โบราณหลายแห่ง เช่น ตลาดร้อยปี วัดที่มีศิลปะล้านนา บ้านไทลื้อโบราณ พิพิธภัณฑ์ไทลื้อหมู่ เป็นต้น
นอกจากข้อมูลจากผู้หลักผู้ใหญ่ พวกเขายังค้นพบว่า วิถีชีวิตของชาวไทลื้อดั้งเดิมจะเน้นที่การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและความสามารถในการเก็บรักษาภูมิปัญญาและโบราณสถานของชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน ไม่หลงใหลไปกับวัฒนธรรมใหม่และไม่ลืมรากเหง้าตัวเอง
วางแผนแล้วก็ผิดแผน !?!
การดำเนินงานขั้นต่อมาคือ การลงพื้นที่เก็บข้อมูลของดีของแต่ละหมู่บ้าน เพื่อเรียนรู้ชุมชน ทั้งความเป็นมาของโบราณสถาน ประเพณีของชุมชน และวิถีชีวิตทั่วไปให้ลึกซึ้งมากขึ้น โดยพวกเขาได้ช่วยกันเตรียมคำถามก่อน แล้วแบ่งงานกันว่าใครอยู่หมู่บ้านไหนให้รับผิดชอบหมู่บ้านนั้นและหมู่บ้านข้างเคียง เพื่อให้สะดวกต่อการเดินทางและถือเป็นการเรียนรู้รากเหง้าของหมู่บ้านตัวเองไปด้วย
สำหรับวิธีเก็บข้อมูลนั้น มินนี่เล่าว่า “เรากลัวไฟล์หายแบบครั้งก่อน เลยคิดกันว่าคราวนี้จะจดบันทึกและอัดเสียงด้วยโทรศัพท์ จากนั้นนำมาโหลดลงคอมพิวเตอร์แยกเป็นโฟลเดอร์ไว้ อันไหนจดไม่ทัน หนูกับนุชจะนั่งแกะไฟล์เสียงแล้วก็พิมพ์เพิ่มเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์และส่งไฟล์เข้ากลุ่มเฟซบุ๊ก”
แม้จะวางแผนมาอย่างดีแต่แค่การลงพื้นที่ครั้งแรกก็ผิดแผนเสียแล้ว เพราะผู้ใหญ่บางคนออกไปธุระช่วงที่ทีมงานเข้าไปที่บ้าน และการเลือกลงไปเก็บข้อมูลช่วงเย็นหลังเลิกเรียนที่มีเวลาจำกัด ทำให้เก็บข้อมูลไม่ครบและไม่ทัน จึงตัดสินใจลงไปเก็บข้อมูลซ้ำในบ้านที่เก็บไปแล้ว ส่วนบ้านที่ยังไม่ได้ไปจะโทรศัพท์หรือไลน์ไปบอกผู้ใหญ่ก่อนว่าจะเข้าไปถามข้อมูล และเพิ่มเวลาเก็บข้อมูลเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย แต่ระหว่างที่ดำเนินการตามแผนใหม่อยู่นั้น ความผิดแผนอีกระลอกก็มาเยือน
“ตอนนั้นพี่ชาเดยุ่งมากจนไม่มีเวลามาช่วยพวกเราเหมือนเดิม เราเลยหยุดทำโครงการไปพักหนึ่ง ไม่รู้จะทำอะไรต่อ เพราะพี่ชาเดเป็นคนช่วยติดต่อผู้ใหญ่ แต่พอคิดว่าเราชอบสิ่งที่กำลังทำ รักในวัฒนธรรมของเรา และรักเพื่อนในทีมด้วย ช่วยกันทำมาตั้งเยอะแล้ว เลยคิดว่าต้องช่วยกันไปให้ถึงที่สุด ถึงจะเหนื่อย แต่สนุกมาก เราเลยลุยต่อกันเอง พี่เลี้ยงไม่ว่างก็ไม่เป็นไร” ฟลุ๊กเล่า
หลังผ่านไปราวเดือนครึ่ง ในที่สุดทีมงานก็เก็บข้อมูลได้ครบตามที่ตั้งเป้าไว้ พวกเขานำข้อมูลที่ได้มาแลกเปลี่ยนให้กันฟัง เพื่อให้รู้เท่าๆ กัน และช่วยกันดูข้อมูลอีกครั้งเพื่อตรวจความถูกต้องและความครบถ้วน
แก้ปัญหา…ครั้งแล้ว ครั้งเล่า
กิจกรรมต่อมาคือการนำข้อมูลที่มีทั้งหมดมาเรียบเรียงเป็นแผนที่เพื่อทำเส้นทางท่องเที่ยว ซึ่งทีมงานพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่เป็นงานที่ยากที่สุด!
มินนี่เล่าว่า “ตอนนั้นเวลาของเราไม่ตรงกันค่ะ นุชกับพี่ไนต์เรียนในเมือง ส่วนพวกเราเรียนแถวบ้าน เวลานัดมาทำแผนที่ บางคนจึงไม่ว่าง มาทำได้แค่ 1-2 คน งานก็ไม่เสร็จ เราเลยพยายามหาวันที่ทุกคนว่างจริงๆ ถามย้ำหลายรอบว่าต้องว่างจริงๆ นะ แล้วให้พี่ฟลุ๊กกับแบมขี่มอเตอร์ไซค์ไปรับเลยค่ะ”
ในที่สุดวิธีการตามตัวถึงบ้านก็ทำให้ทีมงานมาพร้อมหน้าพร้อมตา ระหว่างนั้นพวกเขาได้ชักชวนผู้ใหญ่ในชุมชนมาร่วมให้ความเห็นด้วย และแล้วแผนที่ชุมชนที่ประกอบด้วย เส้นทางการท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ จุดสำคัญในหมู่บ้าน และของดีในชุมชนก็เสร็จสมบูรณ์ ทีมงานเดินหน้าต่อด้วยการนำแผนที่ท่องเที่ยวไปทดลองจัดกิจกรรมปั่นจักรยานท่องเที่ยวชุมชนกับน้องๆ ในชุมชน
“หลังทดลองปั่น ก็พบว่ายังวาดเส้นทางได้ไม่เหมือนจริงนัก จึงทำให้คนใช้งานงงบ้าง แต่ก็พอใช้ไปได้ หลังจบกิจกรรม น้องๆ สะท้อนว่าอยากให้พวกเราจัดงานสนุกๆ แบบนี้อีก จากนั้นทีมงานได้กลับมาปรับเปลี่ยนข้อมูลในแผ่นพับใหม่”
ไนต์เล่าต่อว่า แผ่นพับเดิมมีข้อมูลของ 10 หมู่บ้าน แต่ปรับให้เหลือแค่ 4 หมู่บ้าน เพราะอยากเลือกที่เป็นของดีบ้านธิจริงๆ โดยสอบถามจากครูชาเดและพูดคุยกันเองในทีม เลือกจากจุดเด่นและของที่เป็นสินค้าโอทอป คือ บ้านแพะต้นยางงามเด่นเรื่องอุโบสถ ป่าเปามี ‘น้ำถุ้ง’ ที่เป็นชะลอมตักน้ำ(นำถุ้งเป็นหัตกรรมการสานไม้ไผ่ใช้เป็นที่ตักน้ำบ่อในสมัยก่อน) ป่าปี๊เป็นข้าวแคบ อาหารกินเล่น (ของว่างพื้นบ้านของชาวบ้านไทลื้อ ทำจากแป้งข้าวเหนียว ย่างไฟจนกรอบ ลักษณะคล้ายข้าวเกรียบว่าวของทางภาคกลาง) ป่าเหียงมีบ้านไทลื้อหลังสุดท้าย
หลังจากนี้พวกเขาวางแผนจะทำปฏิทินชุมชนต่อ โดยในปฏิทินจะใส่เทศกาล และของกินที่โดดเด่นในแต่ละฤดู เผื่อนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะได้นำไปดูเป็นไกด์ไลน์
ทว่ากว่าโครงการจะเดินมาถึงขั้นใกล้สมบูรณ์เช่นนี้ ทีมงานสารภาพพวกเขาแอบเบื่อโครงการนี้ไปหลายทีเหมือนกัน ฟลุ๊กเล่าว่า
“ตอนทำโครงการอยู่บางทีมันก็น่าเบื่อนะ เบื่อการประสานงานผู้ใหญ่ เบื่อการทะเลาะกับเพื่อน มาสายแล้วก็เถียงกัน วีนกัน แต่ทำไปทำมามันสนุกมากกว่า เพราะเถียงกันไปเถียงกันมามันจบด้วยการหัวเราะกันได้อย่างไรไม่รู้ (หัวเราะ)”
การเรียนรู้และความสุข
โดยไม่รู้ตัว-ระยะทางการทำโครงการช่วยขัดเกลาตัวตนของทีมงานแต่ละคน อะไรที่เคยคิดว่าทำไม่ได้ ไม่กล้าทำ กลับกลายเป็นว่าพวกเขาทำได้ และทำได้ดีเสียด้วย
ฟลุ๊ค มินนี่ และนุช ที่เคยกลัวการพูดออกไมค์ ตอนนี้กลับหยิบมาพูดได้อย่างสบายๆ จากการได้ทำซ้ำๆ ผ่านกระบวนการทำงาน นอกจากนั้นเพื่อนๆ ยังสะท้อนว่าฟลุ๊กเป็นผู้นำทีมคนหนึ่งที่ดีทีเดียว
ไนต์เล่าว่า “พี่ฟลุ๊กมีความเป็นผู้นำขึ้นมาก นำให้ทำงานที่ค้างอยู่ให้เสร็จ (หัวเราะ) คอยตามมาทำตลอด บางทีก็แกล้งขู่พวกเราว่าถ้าไม่เสร็จห้ามกลับ เขาจะบอกเสมอว่านี่เป็นความรับผิดชอบ เป็นหน้าที่ของพวกเราที่เป็นลูกหลานชุมชน ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำล่ะ”
ส่วนไนต์ เจ้าตัวบอกว่ารู้เรื่องเกี่ยวกับชุมชนขึ้นมาก และกลายเป็นคนที่ติดนิสัยการจดข้อมูลจากการลงพื้นที่ ทำให้เธอไม่พลาดเรื่องสำคัญๆ ที่ต้องทำ ขณะที่เพื่อนๆ ยืนยันว่า ไนต์เป็นคนจดละเอียด และจัดระเบียบข้อมูลดีมาก เป็นประโยชน์ต่อการทำโครงการที่ผ่านมา
ครูชาเด ผู้ที่มองเห็นพัฒนาการของทีมงานมาตลอดบอกว่า “เมื่อก่อนเด็กกลุ่มนี้จะกลัวไมค์ใครส่งให้ก็ตื่นเต้น แต่พอทำโครงการมาเรื่อยๆ เขากล้าแสดงออก พัฒนาความคิดเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาก แล้วยิ่งทำก็ยิ่งรักชุมชน เชื่อว่าเขาจะกลับมาพัฒนาบ้านของเขาแน่นอน”
ไม่ใช่เพียงเปลี่ยนนิสัยของพวกเขา หากแต่การลงพื้นที่เก็บข้อมูลในชุมชนยังเป็นเหมือนเครื่องมือถักทอความผูกพันระหว่างทีมงานกับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเกิดให้แน่นแฟ้นมากขึ้นจากการที่พวกเขาได้ค้นพบ ‘ความสุข’ บางอย่างด้วยตัวเอง
ฟลุ๊กเป็นตัวแทนเพื่อนๆ บอกเล่าประสบการณ์ดังกล่าวว่า
“คนเฒ่าคนแก่เขาชอบเล่าประวัติความเป็นมาของบ้านให้เราฟังครับ บางทีถามนิดเดียวก็เล่ายาวเลย คงเพราะบางคนอยู่คนเดียว เขาอาจจะเหงา เราไปคุยด้วย เขาก็มีความสุข ยิ้มได้ พอเจอรอยยิ้มของคนอื่นก็ทำให้เรายิ้มตามไปด้วย บางคนที่เมื่อก่อนไม่สนิทกันก็สนิทมากขึ้น เราไปถึงตอนเขากินข้าวอยู่ เขาก็ชวนกินข้าว ไปทุกครั้งชวนทุกครั้ง เขาเอ็นดูเราเหมือนเป็นลูกเป็นหลาน เจอหน้าก็พูดคุยทักทายกันครับ”
ความสุขอีกอย่างที่ทีมงานพบคือ การได้รู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ในบ้านเกิดของตัวเอง ได้พบว่าชุมชนมีของดีๆ มากมายที่คนรุ่นก่อนพยายามรักษาไว้มาจนถึงพวกเขา ซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกรักและภาคภูมิใจในความเป็นไทลื้อมากขึ้น และตั้งใจว่าอยากสืบทอดเพื่อส่งต่อแก่คนรุ่นต่อไปเช่นกัน