- ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ นักร้อง แฟนเพลงลูกทุ่ง เด็กสาวที่เคยฝันอยากเป็นผู้ประกาศข่าว นักศึกษาปริญญาเอกผู้จบจากมหาวิทยาลัยมีชื่อในอังกฤษ วิทยากรผู้สอนเรื่องการสื่อสารกับมนุษย์ รวมถึงเป็นผู้หลงรักลิเกจนเคยได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะ และเป็นหนึ่งในผู้ศึกษาศาสตร์ของลิเกอย่างลึกซึ้งที่สุดคนหนึ่งของประเทศ
- ความสนใจที่กระจัดกระจาย ความชอบที่อาจจะไม่ได้เชื่อมโยงร้อยกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล แต่สิ่งที่ทำให้เธอต่างคือครูโอ๋มีความเป็นนักเรียนอยู่ในตัว เธอศึกษาหลายด้าน สนใจหลายอย่าง และเอาจริงเอาจังกับมันอย่างถึงที่สุด จนทำให้ความชอบเปลี่ยนมาเป็นความรู้ที่กระจ่างชัดจนผู้อื่นสัมผัสได้
วิชาการใช้เสียงและการใช้คำเบื้องต้น, วิชา Human communication and rhetoric, วิชาการสื่อสารเชิงสุนทรียะ, วิชาละครชุมชน-ละครเพื่อสังคม, วิชาการพูดในที่สาธารณะ, วิชาวัฒนธรรมการแสดงทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก
รายชื่อวิชาข้างต้นเหล่านี้ คือความทรงจำของเหล่านักศึกษาที่มีต่อครูโอ๋ หรือ ผศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ และหากคุณเป็นนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย ก็อาจจะทราบว่าปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งเป็นรองคณบดีและอาจารย์ในภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดงของคณะนิเทศศาสตร์ด้วย
อันที่จริงแล้ว ชีวิตของครูโอ๋นั้นมีมิติที่หลากหลายกว่าภาคของการเป็นอาจารย์มากนัก เพราะเธอเป็นทั้งนักร้อง แฟนเพลงลูกทุ่ง เด็กสาวที่เคยฝันอยากเป็นผู้ประกาศข่าว นักศึกษาปริญญาเอกผู้จบจากมหาวิทยาลัยมีชื่อในอังกฤษ วิทยากรผู้สอนเรื่องการสื่อสารกับมนุษย์ รวมถึงเป็นผู้หลงรักลิเกจนเคยได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะ และเป็นหนึ่งในผู้ศึกษาศาสตร์ของลิเกอย่างลึกซึ้งที่สุดคนหนึ่งของประเทศด้วย
หลายอย่างในตัวของครูโอ๋ ดูเหมือนจะผสมผสานรวมกันได้อย่างน่าประหลาด ทว่าเมื่อได้พูดคุยกับเธอแล้ว เราพบว่าความน่าประหลาดนั้นแท้จริงแล้วมีอยู่ในตัวเราทุกคน มันคือความสนใจที่กระจัดกระจาย ความชอบที่อาจจะไม่ได้เชื่อมโยงร้อยกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล แต่สิ่งที่ทำให้เธอต่างคือครูโอ๋มีความเป็นนักเรียนอยู่ในตัว เธอศึกษาหลายด้าน สนใจหลายอย่าง และเอาจริงเอาจังกับมันอย่างถึงที่สุด จนทำให้ความชอบเปลี่ยนมาเป็นความรู้ที่กระจ่างชัดจนผู้อื่นสัมผัสได้
ระหว่างที่นั่งคุยกัน เราสัมผัสได้อย่างหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นเคล็ดลับของความเอาจริงเอาจังของเธอ นั่นคือครูโอ๋เป็นคนที่มีพลังงานเหลือล้น บทสนทนากว่า 2 ชั่วโมง ไม่ได้ลดทอนพลังของเธอแม้แต่น้อย กลับกัน ดูเหมือนว่าชีวิตของเธอจะมีเรื่องเล่าอีกมากมายที่ยังไม่ได้เอ่ยถึง การนำเอาบางส่วนของเสียงพูดคุยในวันนั้นมาเล่าให้กับผู้อ่านฟัง จึงเป็นความท้าทายที่เราสนุกไปกับมัน และเชื่อว่าคำตอบของครูโอ๋ที่เราได้เรียบเรียงมาแบ่งปันกับผู้อ่าน จะช่วยสะท้อนให้เห็นว่า เส้นทางของการเป็นผู้ส่งต่อความรู้นั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นนักเรียนผู้ตั้งใจ ใส่ใจ และเอาจริงเอาจังกับความชอบของตัวเอง
นักเรียนผู้ศึกษาลิเกอย่างถ่องแท้
ความชอบในลิเกของคุณ เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนไหน
อิทธิพลจากครอบครัว (ตอบทันที) คือลิเกกับลูกทุ่งมันเป็นของคู่กัน เวลาที่เราดูลิเก นอกจากเพลง ราชนิเกลิง ที่เป็นสัญลักษณ์ของลิเก (บทพูดช่วงต้นที่มักจะขึ้นว่า “สวัสดีครับพี่น้อง…”) ก็จะมีเพลงไทยเดิม และที่ขาดไม่ได้เลยคือเพลงพื้นบ้านกับเพลงลูกทุ่ง
แม่เราเป็นคนดูลิเก แล้วแม่ก็รู้จักพระเอก นางเอกของแต่ละคณะ เคยมีอยู่งานหนึ่ง ลิเกได้จัดเชิญคุณยอดรัก สลักใจมา ตอนนั้นเราเรียนอยู่มหาวิทยาลัยแล้ว แต่แม่ก็เดินไปบอกเจ้าของคณะลิเกว่า “ลูกพี่ร้องเพลงได้นะ” ตัวเจ้าของคณะก็คงอยากจะสร้างความเซอร์ไพรส์เลยเชิญเราขึ้นไปร้องเพลงเดือนคว่ำเดือนหงาย คู่กับคุณยอดรัก สลักใจ เสียดายเมื่อก่อนไม่มี Social Media
นอกจากแม่แล้ว สิ่งที่ดึงดูดเราเข้าไปสู่โลกของลิเกคือการแต่งหน้าและแต่งตัวของเขา มันสวยมาก แล้วพอเราได้นั่งอยู่ตรงโรงมหรสพนั้นแล้ว เรารู้สึกว่าการร้องเพลงของเขามันมีเสน่ห์ บางทีก็ไม่ตรงจังหวะ บางทีก็เพี้ยนนิดๆ แต่เราชอบ เราบอกกับตัวเองว่า วันหนึ่งจะต้องไปเล่นลิเกให้ได้ ไม่เคยคิดเลยว่าสังคมจะมองยังไง คิดแต่ว่าฉันน่าจะทำได้ จนพอมาทำวิทยานิพนธ์ก็ได้มีโอกาสลองเล่นลิเกดูจริงๆ
ดูเหมือนว่าลิเกจะเป็นความชอบของคุณมานาน อะไรที่ทำให้มันฝังรากลึกขนาดนี้
เราโตมากับเพลงลูกทุ่งก่อน เพราะถึงเราจะเกิดและโตที่กรุงเทพฯ แต่มีแม่เป็นคนลพบุรีและพ่อเป็นคนสมุทรสาคร สมัยก่อนพ่อเคยเป็นคนขับรถบรรทุกเพื่อรับจ้างขนของให้วงลูกทุ่ง ซึ่ง 2 วงที่พ่อเคยทำด้วยก็คือวงของแสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ เจ้าของเพลง รักสาวเสื้อลาย กับสดใส รุ่งโพธิ์ทอง ที่ร้องเพลง รักจางที่บางปะกง ตอนนั้นเราอายุประมาณ 3-4 ขวบก็นั่งรถไปกับพ่อ ช่วงคอนเสิร์ตเราก็ได้ไปอยู่ข้างหน้าเวทีตลอด
พออายุได้ประมาณ 7 ขวบ มีครั้งหนึ่งเราได้ไปงานวันเกิดของผู้ใหญ่คนหนึ่งที่อยู่ในชุมชน อยู่ๆ แม่ไปบอกเขาอีกว่า “ลูกสาวร้องเพลงได้” เราก็เลยต้องขึ้นไปร้อง เกลียดห้องเบอร์ 5 ของสายัณห์ สัญญา ซึ่งเป็นเพลงที่ดังมากตอนนั้น พอเห็นเด็กร้องเพลงผู้ใหญ่ก็เอ็นดู ตอนนั้นเราร้องไม่เพราะหรอก แต่เขาให้เงินคนละ 20 บาท ซึ่งแบงค์ใหญ่ที่สุดตอนนั้นจำไม่ได้ว่าแบงค์ร้อยหรือแบงค์ห้าร้อย ร้องจบ 1 เพลง ได้เงิน 2,000 บาท ตอนนั้นรู้สึกว่าการร้องเพลงทำให้เรามีเงิน ก็เลยฝึกร้องต่อมาเรื่อยๆ
มีอีกเรื่องที่จำได้แม่น คือช่วงนั้นอายุประมาณ 9 ขวบ มีเพลงหนึ่งที่ดังมาก เป็นเพลงของประเทศอินโดนิเชียแล้วไทยเอามาแปล คุณเอกพจน์ วงศ์นาค เป็นคนร้อง ชื่อเพลง แอบฝัน แต่เราอยากร้องเป็นภาษาอินโดนีเซีย พ่อไปจดมาให้เป็นคาราโอเกะ แม้แต่ภาษาอังกฤษพ่อก็เขียนให้ อย่างคำว่า You don’t remember me คำว่า me พ่อเขียนเป็น ‘มี่’ เพราะมันออกเสียงแบบนั้น เราโตมากับอะไรแบบนี้ก็เลยชอบเพลงลูกทุ่งมากๆ
ตั้งแต่เด็กจนโต เทสต์ของคุณเปลี่ยนไปแบบวัยรุ่นคนอื่นๆ บ้างไหม
เพลงสตริงเราก็รู้จักนะ ฉันร้องเพลงโบ สุนิตาได้ ทาทา ยัง, โป้ โยคีเพลย์บอย เพราะว่าตอนอยู่ธรรมศาสตร์ เราอยู่ทียูแบนด์ (TU Band ชุมนุมดนตรีสากลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ไปเป็นแดนเซอร์ เพลงที่เต้นคือเพลงของทาทา ยัง ลิฟท์-ออย เต้นได้หมด
คุณสนใจลิเกจนนำไปทำเป็นวิทยานิพนธ์ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาโทจนถึงปริญญาเอก ตอนนั้นคุณศึกษาเรื่องอะไรบ้าง
ตอนที่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท อยากจะรู้ว่าลิเกเขามีอะไรบ้างที่เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสาร ตอนนั้นเราใช้คำว่า ‘สัญนิยม’ เช่น แต่งหน้าแบบนี้หมายความว่าอะไร การร้องรำต่างๆ มีที่มาจากไหน เป็นตัวแทนของอะไร ซึ่งในตอนนั้นเราก็เลือกวิธีการศึกษาโดยการเข้าไปฝังตัวที่คณะลิเก
ตอนแรกเราเคยถามเขาว่า ปลอมตัวเข้าไปเรียนแบบเนียนๆ ได้ไหม แต่เขาถามเรากลับว่าเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ไหม เพราะว่าการที่เรามาอยู่ในคณะลิเก หัวหน้าคณะหรือคนในคณะจะถ่ายทอดวิชาให้เราอย่างเต็มที่ แล้วถ้าเกิดเราไม่บอกว่าเราเป็นใคร เขาถ่ายทอดจนหมดแล้วเราหนีกลับ เขาอาจจะแช่งเอา เพราะถือว่าเรียนไปแล้วไม่ยอมเอาไปทำมาหากินต่อ
พอฟังแล้วเราก็เลยแนะนำตัวกับเขาไปตรงๆ ว่าเรามาจากนิเทศ จุฬาฯ จะมาขอฝึกเล่นลิเกกับพวกพี่ๆ เพื่อเอาไปทำวิทยานิพนธ์ แต่การทำแบบนี้มันก็มีข้อเสีย เพราะทุกคนในคณะจะปฏิบัติกับเราในฐานะนักศึกษาปริญญาโท ดังนั้นเราจึงต้องพยายามสร้างความคุ้นเคยกับเขา เช่น ถ้าลิเกเริ่มเล่นสองทุ่ม เราจะไปถึงคณะตั้งแต่บ่ายสอง ไปกวาดโรงลิเก ทำกับข้าวกับพี่ๆ จนเขาเรียกเราว่า ‘ไอ้โอ๋’ หรือ ‘อีโอ๋’ นั่นคือเราทำสำเร็จแล้ว เพราะมันคือการที่เขาได้ยอมรับเราให้เป็นส่วนหนึ่งของคณะ
เราใช้เวลาทำวิทยานิพนธ์ทั้งหมด 4 เดือน ฝังตัวอยู่กับคณะลิเกทั้งหมด 3 คณะ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่สนุกมาก เรามี Passion กับเรื่องนี้มาก ซึ่งคนที่ได้อ่านวิทยานิพนธ์เล่มนี้มักจะมาบอกกับเราว่า ภาคผนวกสนุกมาก สนุกกว่าในเนื้อหาอีก เพราะมันคือบันทึกเรื่องราวประสบการณ์ระหว่าง 4 เดือนนั้นไว้ทั้งหมด เช่น เราเคยถูกแม่ยกด่าว่ายังไง เขาหมั่นไส้เรายังไง อะไรแบบนั้น
แล้วปริญญาเอกล่ะ
พอเป็นปริญญาเอกเราก็ยังเลือกลิเกมาเป็นศาสตร์ที่ใช้ศึกษาเหมือนเดิม แต่ครั้งนี้ใช้วิธีการอธิบายในเชิงปฏิบัติการ คือ เราพยายาม ‘Reinvention’ โดยการตั้งโจทย์ว่า ถ้าหากเราต้องการเปลี่ยนกลุ่มคนดูหรือขยายกลุ่มคนดูลิเก เราจะต้องออกแบบลิเกอย่างไรโดยที่ไม่ทิ้งแก่นสำคัญของมัน
มีบางคนบอกไปเรียนเรื่องลิเกทำไม เรียนปริญญาเอกทำไมถึงไปเรียนสื่อชาวบ้าน การที่ยังมีคนคิดแบบนี้แสดงว่าลิเกถูกมองว่าเป็นสิ่งที่คนมีการศึกษาไม่เรียนกัน ซึ่งมันไม่ใช่ ถึงแม้ว่าศิลปะจะมีการจัดแบ่งประเภท เช่น ศิลปะพื้นบ้าน ศิลปะร่วมสมัย หรือ ศิลปะคลาสสิก แต่เราไม่จำเป็นต้องเอาตัวเราเข้าไปผูกกับมัน
คือเรากำลังจะบอกว่าเราเป็นใคร แล้วเราจะชอบอะไรก็ได้ ไม่ใช่ว่าเราสนใจเรียนในศิลปะประเภทหนึ่งแล้ววิถีชีวิตเราต้องเป็นแบบนั้น บางคนบอกว่าจบปริญญาเอกจากอังกฤษต้องชอบอ่านหนังสือของ William Shakespeare หรือต้องฟังเพลงของ Elton John แต่ไม่เลย เราก็ยังนั่งร้องเพลงของทูล ทองใจอยู่ เรายังเปิดเพลงของพุ่มพวง ดวงจันทร์ฟังทุกวัน บางคนถามว่าทำไมไม่ฟังเพลงฝรั่ง เราก็ฟังนะ แต่ทำไมเราจะต้องปฏิเสธในสิ่งที่เราชอบล่ะ
อะไรที่ทำให้คุณประทับใจในการศึกษาลิเกมากที่สุด
เราเพิ่งมาค้นพบทีหลังตอนที่ได้ใกล้ชิดกับคณะลิเกว่า เราทึ่งในความสามารถของคนแสดง เพราะสิ่งที่เขาพูดเขาร้องบนเวที มันใช้วิธีนัดกันเฉยๆ ไม่มีการซ้อม ไม่มีบทใดๆ สมมุติเราถึงโรงลิเกตอนสองทุ่ม สักสามทุ่มก็เริ่มผัดหน้า ระหว่างนั้นโต้โผหรือผู้กำกับจะเดินมาบอกว่าวันนี้เราจะได้รับบทเป็นตัวอะไร ชื่ออะไร แล้วเดี๋ยวก็เล่าเรื่องต่อ ทุกคนก็นั่งฟังไปแต่งหน้าไป คนนี้เป็นตัวโกงนะ ต้องออกมาก่อน ตัวโกงจะไปตีอีกเมืองหนึ่งแล้วฆ่ากษัตริย์เมืองนั้นตาย แต่กษัตริย์คนนั้นกลับไม่ตายจนต้องซมซานไปที่อื่น อันนี้คือฉากแรก จากนั้นนางเอกที่เป็นเมียก็เสียใจ ต้องบอกว่า “อย่าฆ่าผัวฉัน ฉันจะยอมไปกับเธอ” แล้วเอาลูกไปด้วย สิ่งที่ยากกว่านั้นอีกคือตัวโกงหรือคนที่ร้องลิเกก่อนหน้า เขาร้องลงด้วยสระอะไร คนที่ร้องต่อก็จะต้องลงด้วยสระเดียวกัน พูดง่ายๆ คือ ทุกคนต้องขึ้นไป Improvise บนเวทีทั้งหมด
นอกจากนี้ จริงๆ แล้ว ลิเกก็ไม่ต่างจากละครหลังข่าวหรอก คือมันเป็นละครเชิง Melodrama* เหมือนกัน มีพลอตเรื่องเดิมๆ ที่เร้าอารมณ์คนดู ซึ่งนี่แหละคือสเน่ห์ของลิเก เพราะคนดูเขาไม่ได้ดูเอาเรื่อง เขาดูเอารส เขาดูว่าตัวละครนี้เล่นเก่งไหม มีลีลาแบบไหน ชุดสวยหรือเปล่า เหมือนเวลาเราดูระหว่างณเดช ศรราม วรุฒ พี่เบิร์ด และคนอื่นๆ ที่เขาเคยเล่นเรื่องคู่กรรม ใครคือโกโบริที่ดีที่สุด เรื่องคู่กรรมถูกนำมาทำซ้ำถึง 7-8 ครั้ง แต่ก็ไม่มีครั้งไหนที่ไม่ได้รับความนิยมเลย เพราะเราอยากรู้ว่าใครคือโกโบริ หรืออังศุมาลินที่ดีที่สุด
เมโลดรามา (Melodrama) การแสดงประเภทที่ทั้งพล็อตและตัวละครมีอารมณ์หลากหลาย โศกเศร้า จริงจัง เรื่อยไปถึงความผ่อนคลายเบาสมอง แม้จะมีความเครียดปะปนแต่สุดท้ายจะจบลงที่ความสุขสมหวัง ความโดดเด่นของเมโลดรามาคือทั้งพล็อตและตัวละครมักมีความเกินจริงในหลายด้านหลายมิติ |
นักเรียนผู้ศึกษาเสียงข้างในของตัวเอง
ตอนนี้คุณทำอะไรอยู่บ้าง
ตอนนี้เป็นรองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิรัชกิจ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นวิทยากรพิเศษเรื่องการสื่อสารของมนุษย์ให้กับองค์กรต่างๆ ทั้งราชการและเอกชน เป็นนักร้อง นักแสดง และผู้กำกับการแสดง รวมถึงช่วงก่อนหน้านี้ก็เคยเป็นนักเขียนนวนิยาย วรรณกรรมเยาวชน และนักวาดภาพประกอบ
นอกจากนี้ยังควบบทบาทผู้ประสานงานเวลาที่หอดนตรีฯ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวลามีการจัดการแสดงศิลปะวัฒนธรรมให้กับประชาชน เราก็จะติดต่อขอคิวการแสดง เพื่อนำเอาการแสดงพื้นบ้านหรือวงลูกทุ่งไปโชว์
ในปัจจุบันคุณทำหลายอย่างและมีหลายบทบาทในชีวิต อยากรู้ว่าสมัยเรียน คุณมองภาพอนาคตตัวเองอย่างไร
เราเรียนปริญญาตรีที่คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในสาขาวิทยุและโทรทัศน์ ตอนนั้นความฝันของเราคืออยากเป็นผู้ประกาศข่าวหน้ากล้อง แต่ฝันนั้นก็จบลงไปอย่างรวดเร็ว หลังจากที่เราก็ตระเวนสมัครงานตามช่องต่างๆ แต่กลับเทสหน้ากล้องไม่ผ่านเลยสักช่องเดียว โชคดีที่สมัยเรียนเราเคยร้องเพลงเป็นอาชีพเสริมมาก่อน เราเลยสร้างรายได้จากความสามารถนี้ได้
หลังจากที่เรียนจบแล้วออกไปร้องเพลงช่วงหนึ่ง เราก็เห็นช่องทางการสอบเข้าไปเรียนปริญญาโทในสาขาวิชาวาทวิทยา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเรามีความชอบในด้านนี้อยู่แล้ว เพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนชอบพูด ชอบแสดงออก แต่พอได้เข้ามาเรียนในคณะจริงๆ ก็พบว่ามันไม่ได้เน้นเรียนเรื่องการพูดเลย แต่ครูกลับสอนอะไรที่มันลึกลงไปกว่านั้น นั่นคือกระบวนการคิดของเราก่อนที่จะพูดออกมา
การเรียนในสาขาวาทวิทยาจึงทำให้เราได้พูดคุยสื่อสารกับตัวเองในแบบที่ลึกซึ้งขึ้น ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น และเข้าใจว่าทุกอย่างต้องเริ่มจากความคิดข้างใน ความสุขเริ่มจากตัวเราเอง แล้วก็เอาเรื่องนี้ไปปรับใช้กับส่วนอื่นๆ ของชีวิต แม้กระทั่งเรื่องการสอนในชีวิตปัจจุบัน
แสดงว่าการเรียนปริญญาโทของคุณคือจุดเปลี่ยนสำคัญครั้งหนึ่งของชีวิต
ใช่ จริงๆ มีอีกช่วงหนึ่งที่เรารู้สึกว่าได้คุยกับตัวเองเยอะมาก คือตอนที่ร้องเพลงเป็นอาชีพหาเงินให้ตัวเองสมัยเรียนปริญญาตรี มันมีเหตุการณ์หนึ่งที่สอนเราอย่างมาก คือครั้งหนึ่งเราได้ไปร้องเพลงบนเวทีงานเลี้ยงที่ไม่มีใครรู้จักเรา ในงานนั้นไม่มีใครในงานฟังเพลงที่เราร้องเลย ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องปกติเพราะเขามากินเลี้ยงกัน แต่เราในตอนนั้นเกิดอาการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เพราะคิดว่าทุกคนจะต้องปรบมือจะต้องตั้งใจฟังฉันสิ พราะฉันเป็นเด็กธรรมศาสตร์ ฉันร้องเพลงเพราะ
หลังจากเหตุการณ์นั้น เวลาที่เราต้องไปร้องเพลงที่ไหนเราก็จะรู้สึกอึดอัด เพราะความทุกข์มันเกิดจากการที่เราคุยกับตัวเองว่า ทำไมไม่มีใครฟังเรา ยิ่งได้เจอทัศนคติจากคนในงานจำพวกที่ว่า เราเป็นนักศึกษาต้องมาร้องเพลงเพราะที่บ้านเราจน ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความทุกข์ให้กับเราอย่างมาก และทำให้เกิดคำถามในใจเวลามีคนมองตอนที่เราร้องเพลงว่า ‘เขาจะดูชุดเราหรือเปล่า’ ‘เขาจะหาว่าเราจนไหม’ กลายเป็นว่าตอนนั้นไม่มีความสุขกับการร้องเพลงเลย
แต่พอถึงจุดหนึ่งของชีวิต เราก็ได้กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเราไม่เคยคิดว่าตัวเองเก่งเลย ทำไมถึงคิดว่าเราจนเลยต้องมาทำงานพิเศษ แต่ทำไมไม่คิดกลับกันว่าขนาดเราเรียนหนังสือ มีเวลาเท่าเพื่อน แต่เรายังแบ่งเวลาไปทำงานได้ แสดงว่าเราเป็นคนเก่ง
เมื่อเราชื่นชมตัวเองได้ปุ๊บ เราก็ร้องเพลงเพราะขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ศักยภาพที่เรามีมันถูกคำว่า ‘ฉันจน’ กดเอาไว้ ดังนั้นเรามักจะพูดกับทุกที่ที่เราไปบรรยายเสมอว่า “Self Confidence มาทีหลัง Self Esteem” ถ้าเราเคารพตัวเองได้ ชื่นชมตัวเองเป็น ความมั่นใจก็จะตามมา แล้วจะอยู่ตรงไหนเราก็มีความสุขได้ เพราะเรามั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำ
จากนักเรียนสู่ครูผู้ยึดหลักการเรียนรู้อย่างเพลิดเพลิน
หลังจากจบปริญญาโท คุณเริ่มชีวิตการสอนตั้งแต่เมื่อไร
พอเรียนจบปริญญาโทเราก็สมัครเป็นอาจารย์พิเศษในคณะเลย แต่ระหว่างการรอพิจารณา เราได้รับเชิญให้ไปร้องเพลงในพรรคการเมืองหลายๆ พรรค จนวันหนึ่ง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ได้ชักชวนให้เราไปสอนที่โรงเรียนการเมืองแห่งหนึ่งของท่าน แต่ไม่ได้สอนเรื่องการเมืองนะ เราไปสอนเรื่องการใช้เสียงสำหรับคนที่จะก้าวสู่อาชีพนักการเมือง ซึ่งนี่ถือเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้สอนอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก
หลังจากนั้นไม่นาน ภาควิชาวาทวิทยาฯ ก็อนุมัติให้เราได้เป็นอาจารย์พิเศษที่คณะ เราในตอนนั้นซึ่งอายุ 23 ปี ก็สะสมประสบการณ์จากช่วงที่เป็นอาจารย์พิเศษ จนพอถึงเวลาที่คณะเปิดรับสมัครอาจารย์ประจำ เราก็สมัครสอบเข้าไป และได้บรรจุในสาขาวาทวิทยาฯ คณะนิเทศศาสตร์ อย่างเป็นทางการตอนอายุ 25 ปีพอดี
แล้วครูสุกัญญาเมื่ออายุ 23 ปี เป็นครูแบบไหน
กลัวนักเรียน แล้วเราก็จะเตรียมทุกอย่างล่วงหน้าแบบเป๊ะๆ จดทุกอย่างที่จะต้องสอนก่อนเข้าห้องเรียน
เราจำคลาสแรกได้เลยว่าเราต้องไปสอนวิชาการบริหารกิจกรรมการฝึกอบรม ซึ่งเป็นคลาสวันศุกร์ เราใช้เวลาว่างวันพุธกับพฤหัสบดี นั่งอ่านหนังสือแล้วพิมพ์สิ่งที่เราจะพูดกับนิสิตทั้งหมดลงในกระดาษ จากนั้นก็จะไปพูดๆ หน้าห้องแบบที่มองแต่ไวท์บอร์ดตลอดเวลา จนมีนิสิตคนหนึ่งชื่อชิดชล อายุเท่ากันกับเราด้วย เขาจะชอบพูดกับเราว่า ครูไม่ต้องเขิน ตั้งแต่สอนมาครูยังไม่มองหน้าพวกเราเลย เราก็สารภาพกับเขาไปว่านี่เป็นการสอนในคลาสครั้งแรกของเรา
หลังจากคลาสแรก พัฒนาตัวเองต่ออย่างไร
เราเริ่มตั้งคำถามว่านิสิตจะมาเรียนทำไม ถ้าเราจะสอนแต่สิ่งที่มีอยู่ในหนังสือที่เขาอ่านเองได้ที่บ้าน จากคำถามนี้ทำให้เราได้ค้นพบว่าวิธีการสร้างการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพคือการสร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้เกิดการถกเถียง ตัวครูหน้าห้องทำหน้าที่ชวนให้เขาพูดคุยกันและช่วยกันขยี้ความรู้ที่ได้รับมาจากในหนังสือ หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันบนโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาการเรียน
เราเลยมักจะบอกนิสิตเสมอว่าคุณไม่ได้มีครูเป็นครูแค่คนเดียว แต่คุณมีเพื่อนทั้งคลาสเป็นครูของคุณ เพราะเวลาที่เพื่อนพูดไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ มันก็เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ดังนั้นการมาเรียนในห้องเรียนของครูจึงไม่ใช่การจดสไลด์ PowerPoint แต่เป็นการมาคุยกัน คิดตามกัน ซึ่งเชื่อเถอะว่าสิ่งนี้มันช่วยสามารถสร้างความเข้าใจได้จริงๆ
แสดงว่าบรรยากาศในห้องเรียนของคุณคงสนุกสนานน่าดู
เราเคยอ่านหนังสือของคุณชัยอนันต์ สมุทวณิช เล่ม เพลินเพื่อรู้ ซึ่งท่านอธิบายไว้ว่าเวลาที่ทำให้มนุษย์เกิดความเพลิดเพลิน การเรียนรู้จะสามารถซึมซับลงไปได้ง่าย และฝังอยู่ในความทรงจำของเขาได้นาน หัวใจของคลาสเราเลยเป็น ‘ความรู้ที่มีความเพลิดเพลินและนำไปใช้ได้จริง’
แต่หลายๆ คลาสเราก็ทิ้งการสอนแบบบรรยายไปไม่ได้หรอก ซึ่งเราจะพยายามแบ่งสัดส่วนให้กับมัน เช่นในคลาสการใช้เสียง เราจะพูดบรรยายแค่ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นก็จะเปิดเวทีให้พูดคุย หรือบางครั้งเราก็นึกสนุกเปิดเพลงลูกทุ่งให้เด็กๆ เต้นกันเพื่อเป็นการวอร์มร่างกาย พอเหนื่อยได้ที่เราก็จะกลับมาสอนเรื่องวิธีการหายใจ คือแทนที่จะให้นิสิตออกกำลังกายแบบธรรมดา เราก็พยายามหาความสนุกเติมลงไปในคลาส
คุณได้ใช้ความสนใจและความถนัดของตัวเอง อย่างเรื่องลิเก หรือการร้องเพลง มาเป็นเครื่องมือการสอนบ้างไหม
ใช้เยอะมาก และสนุกกับการหาตัวอย่างมาสอนมากด้วย เช่น ในวิชาการสื่อสารเชิงสุนทรียะที่ต้องสอนเรื่องไวยากรณ์รูปแบบต่างๆ ในสื่อบันเทิงคดี เรามีชั่วโมงที่พูดถึงความแตกต่างของศิลปะกับความอนาจาร ซึ่งก็จะยกตัวอย่างเพลงอีโรติก โดยยกเอาเพลงเพลงสมัยก่อนมาเป็นบทเรียน แล้วก็ชี้ให้นิสิตเห็นวิธีการใช้ภาษาทำให้เพลงอาจจะฟังดูโป๊ แต่ไม่เปลือย เช่นบางเพลงมีท่อน ‘พี่ไปไถนา’ เราก็จะตั้งคำถามแล้วว่า ‘นา’ คืออะไร ‘การไถ’ คือกริยาอะไร นี่คือวิธีคิดแบบสองชั้นที่เป็นความงามของศิลปะประเภทนี้
แล้วเวลาที่เรายกเพลงอะไรแบบนี้ขึ้นมาเราก็จะร้องให้กับนิสิตฟังไปด้วย หรือถ้ายกกลอนก็จะอ่านเป็นทำนองเสนาะไปเลย เพื่อให้เขาได้รับทั้งรสและเนื้อหาของมัน เช่น ถ้าเราจะพูดถึงรุทรรส (รสแห่งความโกรธในวรรณคดี) ก็จะยกเอากลอนจาก ‘สามัคคีเภทคำฉันท์’ มาเป็นตัวอย่าง
เอออุเหม่นะมึงชิช่างกระไร ทุทาษสถุลฉนี้ไฉน ก็มาเปน ฯ
ศึกบถึงและมึงก็ยังมิเห็น
จะน้อยจะมากจะยากจะเย็น ประการใด ฯ
อวดฉลาดและคาดแถลงเพราะใจ
ขยาดขยั้นมิทันอะไร ก็หมิ่นกู ฯ
ซึ่งเราจะท่องให้นิสิตฟังแบบนี้เลย โดยใส่อารมณ์และน้ำเสียงให้เขาได้รับรู้ถึงความโกรธด้วย หรือหากเป็นเรื่องความรัก เราก็จะยก ‘มัทนะพาธา’ มาเป็นตัวอย่าง
“อ้าอรุณแอร่มระเรื่อรุจี ประดุจมโนภิรมย์รตี ณ แรกรัก…”
หลายครั้งที่พอเราท่องให้เขาฟัง เด็กก็จะสนุกสนานหัวเราะกัน ซึ่งทำให้เห็นว่าการมีทักษะแบบนี้ เราไม่ต้องใช้วิดีโอใดๆ มาเปิดให้เขาดูเลย เพราะเราทำได้ด้วยตัวเอง และเป็นสิ่งที่เราภูมิใจด้วย
อะไรที่ทำให้คุณเลือกเอาสิ่งเหล่านี้มาประกอบการสอนของตัวเอง
มันสนุก เราอยากให้คนมีความสุข อย่างเวลาทำกับข้าวก็อยากให้คนมากินแล้วมีความสุข สอนหนังสือก็เหมือนกัน เราอยากให้การเจอกันของเรากับนิสิตคือความสุข
สิ่งสำคัญเวลานำเอาความชอบของเรามาใช้ในการสอน คือต้องเลือกสิ่งที่คนรุ่นนี้จะเชื่อมโยงได้ด้วย อย่างเพลงลูกทุ่ง มันก็ไม่ได้มีแต่เพลงเก่าๆ มีนักร้องลูกทุ่งรุ่นใหม่ๆ ผลิตผลงานออกมาตลอดเวลา ซึ่งบ่อยครั้ง เด็กๆ ก็จะรู้จักอยู่แล้ว อย่างเพลง เลิกคุยทั้งอำเภอเพื่อเธอคนเดียว หรือ เต่างอย ซึ่งเวลายกเพลงแบบนี้มา เขาก็จะรีเลทได้ง่าย
แต่บางเรื่องเราก็จำเป็นจะต้องยกสิ่งที่เขาไม่คุ้นเคยมาให้เขาได้ทำความรู้จักเหมือนกัน เช่น วรรณกรรมอมตะที่อาจจะดูเชยไปแล้วในสายตาของเขา แต่มันคือความคลาสสิกที่เราจำเป็นจะต้องแนะนำและโน้มน้าวให้เขาได้ทดลองไปอ่าน
อย่างที่เล่าว่า ‘เราเชื่อในความเพลิดเพลิน’ ฉะนั้นในห้องเรียนเราเลยแทรกสิ่งเหล่านี้ลงไป นอกจากนี้การถามสารทุกข์สุขดิบก่อนเรียน ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เหมือนกัน เรามักจะชวนนิสิตพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ฟังความคิดเห็น และเปลี่ยนวิธีคิดกับพอหอมปากหอมคอ ก่อนจะเข้าสู่บทเรียน
แต่เวลาที่เรียนกันจริงจัง เราก็เข้มข้นและเนี้ยบเหมือนกันนะ อย่างเช่น เราจะเน้นการเรียนรู้ด้านภาษาไทยของนิสิตมาก เราจะบอกนิสิตเสมอว่าคุณเป็นนักนิเทศศาสตร์ ภาษาไทยคือหนึ่งในอาวุธของเรา” ฉะนั้นคุณต้องสะกดคำให้แม่น อ่านออกเสียงให้ถูก และรู้จักศัพท์ให้เยอะ เพื่อที่คุณจะได้แพง มีมูลค่า มีมาตรฐานที่ดีที่คนอื่นอาจจะไม่ได้ใส่ใจในตรงนี้
Unique Teacher
ถ้าให้คุณนิยามความ Unique ของตัวเอง ความ Unique นั้นคืออะไร
เราคิดว่าสิ่งที่เรามีคือความเป็นคนใจดี ใจกว้าง และเห็นทุกคนเท่ากัน ทั้งสามอย่างนี้มันอาจจะไม่ได้พิเศษอะไรหรอก ออกจะธรรมดาด้วยซ้ำไป แต่เราคิดว่าความธรรมดานี้แหละที่ทำให้เรา Unique และแตกต่างจากคนอื่น
ความใจดีในที่นี้ไม่ใช่การสปอยล์ลูกศิษย์นะ แต่มันคือการเข้าใจความแตกต่างของคน เราจะไม่ไปหงุดหงิดหรือรู้สึกร้อนใจกับคนที่คิดไม่เหมือนกับเรา ซึ่งพอเป็นแบบนี้เราจะสามารถเข้าใจตัวลูกศิษย์ได้มากขึ้น เช่นถ้าเราถ่ายทอดออกไปแล้วมีคนที่ไม่รับ ไม่ตั้งใจฟัง เราก็จะไม่หงุดหงิดเพราะเราเข้าใจว่าเขาก็อาจจะมีความชอบอื่นเป็นของตัวเองที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เราสอน พอคิดได้แบบนี้เราก็ไม่ทุกข์ คนเรียนก็ไม่ทุกข์
อยากให้คุณลองเลือกคีย์เวิร์ดมาหนึ่งคำ ที่คิดว่าสะท้อนตัวตนของคุณได้ดีที่สุด
คิดว่าเป็นคำว่า ‘ตั้งใจ’ เพราะง่ายๆ เลย คือเราเป็นคนที่มีความตั้งใจในการทำสิ่งต่างๆ มาก เราเป็นเราอย่างทุกวันนี้ได้เพราะความตั้งใจ แม้ในช่วงเวลาที่ลำบากอย่างในในวัยเด็ก เราก็จะตั้งเป้าไว้เสมอว่าเราจะดีขึ้น เราจะแก้ไขมันให้ดีกว่านี้ แล้วเราก็จะลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงมัน
จริงๆ มีอีกคำที่อยากเลือกคือคำว่า ‘กระบวนการ’ เราเชื่อว่าการเดินไปสู่ความสำเร็จจะต้องอาศัยกระบวนการที่ดี แต่ถึงเรามีกระบวนการที่ดี แต่ขาดความตั้งใจมันก็อาจจะเกิดขึ้้นได้ยาก เพราะฉะนั้นทุกสิ่งที่เราเลือกว่าจะทำ แม้มีพลาดบ้าง สำเร็จบ้าง ก็ไม่เป็นไร เราตั้งมั่นว่าจะตั้งใจทำไปเรื่อยๆ ก็พอ
เพราะพอเราตั้งใจ มันก็จะทำให้เรามีสติ มีความรับผิดชอบ และมีวินัย