- งานสมัชชาการศึกษาจังหวัดสตูล ครั้งที่ 1 รวมคนสตูลร่วมพันคนเข้ามาในงานเพื่อร่วมมองอนาคต อยากเห็นสตูล คนสตูล เป็นแบบไหนในอีก 20 ปีข้างหน้า
- นอกจากนี้ยังเป็นการนำเสนอแสงสว่างปลายอุโมงค์ ทางออกในการจัดการศึกษาที่พัฒนาผู้เรียน จากรูปธรรมการจัดการเรียนรู้ของ 10 โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรม
- การศึกษาจังหวัดสตูลใช้โครงงานฐานวิจัยซึ่งมีนวัตกรรม 4 อย่างคือ การปรับห้องเรียนเป็น Active Learning ผ่าน 14 ขั้นตอนโครงงานฐานวิจัย, เปลี่ยนพื้นที่การเรียนรู้จากแค่ในห้องเรียน เป็นเรียนในพื้นที่ชุมชนจริง, ครูสามเส้า, กลไกการจัดการเรียนรู้ที่ไม่รวมศูนย์แค่ในโรงเรียน
- เสียงของครูผู้ปกครองที่เข้าไปสอนจริงในห้องเรียน โดยที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ‘วิชาใด’ และ เสียงของนักเรียนที่เริ่มเรียนด้วยโครงงานฐานวิจัย สมัชชาการศึกษาครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อย้ำว่าการศึกษาที่พัฒนาผู้เรียน ‘ทำได้’ และเป็นหน้าที่ที่คนสตูลต้องช่วยกัน
ด้วยวิกฤติคุณภาพการศึกษาในปัจจุบันที่ไม่อาจคาดหวังการสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยคนนอกหรือภาคนโยบายอีกต่อไป เราจึงเริ่มเห็นตัวอย่างความพยายามในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเกิดขึ้นกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
จังหวัดสตูล หนึ่งในพื้นที่นำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จากทั้งหมด 9 จังหวัด 6 พื้นที่* ความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัด หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัด ชุมชน ร่วมมือกับโรงเรียนนำร่อง 10 แห่ง ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนโดยใช้โครงงานฐานวิจัยในฐานะเครื่องมือการเรียนรู้ใหม่ของเด็กๆ ด้วยปรัชญาของกลุ่มคนทำงานที่ว่า “การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากคนใน โดยคนใน เพื่อคนใน”
ขีดเส้นใต้ไว้ว่า แม้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล จะเริ่มอย่างเป็นทางการไปแล้วราว 1 ปี แต่การทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนที่ว่า พวกเขาขยับกันมาแล้วเกือบ 10 ปี
วันที่ 30-31 สิงหาคม 2562 คนสตูลราวหนึ่งพันคน ตั้งแต่เด็กประถม ครู ผู้ปกครอง องค์กรเอกชน และภาครัฐในจังหวัด ตบเท้าเข้างาน ‘สมัชชาการศึกษาจังหวัดสตูล ครั้งที่ 1: คนสตูลในศตวรรษที่ 21’ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล พูดคุยเพื่อหามติร่วมของคนในพื้นที่ ว่าการศึกษาของลูกหลานชาวสตูลในอนาคต ควรเป็นอย่างไร โดยเนื้อหาสาระการพูดคุยในงานยืนอยู่บนแนวคิดการเปลี่ยนแปลงการศึกษาโครงการนำร่อง ‘พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดสตูล’ ที่ได้ดำเนินงานอย่างเป็นทางการในพื้นที่ไปแล้วราว 1 ปี
“ที่ผ่านมาข้อเสนอในสมัชชาจังหวัดทุกอย่างมุ่งไปที่กรุงเทพฯ แต่ปัญหาซึ่งอยู่ในพื้นที่ไม่ได้มุ่งไปกรุงเทพฯ ด้วย ปัญหายังอยู่ที่สตูล คนแก้ปัญหาก็อยู่ที่นี่ เราเลยเสนอกับทีมทำงานว่าเราจัดให้มีสมัชชาที่คนสตูลมาเสนอและจัดเป็นมติในพื้นที่ ส่วนคุณจะเอาข้อเสนอตรงนี้ไปสู่คนทำนโยบายระดับชาติต่อก็ทำไปตามกระบวนการ” สมพงษ์ หลีเคราะห์ ผู้ประสานงาน ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูล (พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล) เล่าวิธีคิดงานกับทีม The Potential
สมพงษ์กล่าวต่อว่าการจัดสมัชชาการศึกษาจังหวัดสตูล เป็นเวทีที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่จากทุกภาคส่วนในการเข้ามาจัดการศึกษาตามความฝัน ออกแบบความฝันร่วมกันเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง และเพราะปรัชญาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดสตูล คือการเปลี่ยนโครงสร้างที่ยึดจากความต้องการของ ‘คนใน’ ฉะนั้นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่าง ผู้ปกครอง นักเรียน ครู นักการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน -ในฐานะผู้ปกครองของเด็กนักเรียน และผู้ที่ต้องทำงานกับแรงงานต่อไปในอนาคต – จำเป็นต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อหามติ กำหนดทิศทางการพัฒนาคนในจังหวัดสตูล
บรรยากาศภายในงานประกอบไปด้วยนิทรรศการของเด็กๆ ที่เรียนผ่านโครงงานฐานวิจัยจากโรงเรียนนำร่อง 10 แห่ง ที่นักเรียนเป็นผู้เลือกเรื่องที่ตนเองสนใจเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ อาชีพ ทรัพยากรในชุมชน เป็นต้น การบรรยายความก้าวหน้าของโครงการและชักชวนให้โรงเรียนอื่นๆ ในสตูลเข้าร่วมพื้นที่นวัตกรรมการศึกษารุ่นปีที่ 2 ห้องเวิร์คช็อป พ่อแม่ ครู และนักการศึกษา เพื่อพูดคุยในหัวข้อ คนสตูลในศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้คือเวทีพูดคุยเกี่ยวกับทิศทางการศึกษาบนฐานการทำงานร่วมของคนในชุมชน
นวัตกรรมการศึกษา ที่ใช้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดสตูล
เป้าหมายร่วมของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอันปรากฏในพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มี 4 ข้อคือ
- อิสระ – ความเป็นอิสระในการบริหารจัดการโรงเรียน
- พัฒนา – พัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้และพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการศึกษา
- หลักสูตร – สร้างหลักสูตรการเรียนรู้ ตำรา การทดสอบของตัวเองได้ เพียงให้สอดคล้องกับโจทย์การเรียนรู้
- เชื่อมโยง – โรงเรียน ครู ภูมิปัญญา ผู้ปกครอง หน่วยงานเอกชน หน่วยงานเหล่านี้ทำงานเชื่อมโยงกันอย่างคล่องตัว
อย่างไรก็ตาม ปรัชญาการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาในจังหวัดสตูลเองมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื่องจากคนทำงานในพื้นที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์จากการทำงานด้วยการวิจัย โดยเฉพาะผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล นายสุทธิ สายสุนีย์ ร่วมกับศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น พัฒนาองค์ความรู้เรื่องการจัดการเรียนรู้ด้วยโครงงานฐานวิจัย 14 ขั้นตอน (Research Based Learning)** มีพื้นที่การเรียนรู้คือห้องเรียนร่วมกับภูมิปัญญาชุมชน เริ่มทดลองการเรียนการสอนแบบนี้มานานเกือบ 10 ปี เมื่อมีประกาศเรื่องพื้นที่นวัตกรรม องค์กรเอกชนและภาคประชาชนในจังหวัดจึงพร้อมโอบรับการเปลี่ยนแปลง
โดยทำงานผ่าน ‘นวัตกรรมการศึกษา’ 4 ปัจจัย ดังนี้
- Active Learning: ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน โดยใช้โครงงานวิจัย 14 ขั้นตอน
- พื้นที่การเรียนรู้: ครูสร้างการเรียนรู้จากทุนเดิม โรงเรียนลดอำนาจและสร้างการมีส่วนร่วมในห้องเรียน ผู้อำนวยการ เด็ก ผู้ปกครอง และชุมชน ร่วมกันทำให้ทุกพื้นที่สร้างการเรียนรู้ได้
- ครูสามเส้า: ครูเพียงคนเดียวไม่สามารถสร้างการเรียนรู้ พื้นที่นวัตกรรมจึงต้องพัฒนาหลักสูตร ‘ครูสามเส้า’ คือ ครูโรงเรียน (โรงเรียนนำร่อง 10 โรง) ครูผู้ปกครอง (100 คน) ครูชุมชน (200 คน) เพื่อให้เด็กมีสมรรถนะ คือ ทัศนคติ (attitude), ทักษะ (skill) และ องค์ความรู้ (Knowledge)
- กลไกการจัดการ: โรงเรียนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาแต่ไม่ใช่ทั้งหมด สิ่งที่พื้นที่นวัตกรรมคาดหวังคือ ทำให้โรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างระบบการศึกษาของพื้นที่
เสียงของครูสามเส้า: “เราไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องนั้นดี แค่เข้าไปตั้งคำถามให้เด็กคิดต่อ”
“พี่เข้าไปสอนเด็กๆ ในห้องเรียนได้ทุกวิชาเลย เพราะเราไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องนั้นดี เราแค่เข้าไปตั้งคำถามให้เด็กคิดต่อ ‘ถ้าทำแบบนี้ไม่ได้ เราทำแบบไหนกันต่อดี?’ แต่ไม่ใช่ตั้งคำถามอะไรก็ได้ ไม่ใช่การตั้งคำถามเชิงลบ แต่ต้องรู้ว่าจะตั้งคำถามยังไงให้เขาคิดต่อได้เอง”
คือเสียงของ ลัดดา ชูช่วง หรือที่เด็กๆ เรียกว่า มะ (แม่) ดา คุณแม่ลูก 2 (กำลังจะมีน้องคนที่ 3 เร็วๆ นี้) อายุ 39 ปี ในฐานะ ‘ครูพ่อแม่’ หนึ่งในครูสามเส้าตามโมเดลนวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล
ย้อนกลับไป 10 ปีก่อน มะดา เล่าว่าเธอคล้ายคุณแม่คนอื่นๆ ที่ลูกมีปัญหาด้านการเรียน ลูกชายคนโตติด 0 หลายวิชา คำถามที่เกิดขึ้นไม่ใช่ “มันเกิดอะไรขึ้นที่โรงเรียน” แต่เป็น “เราจะทำอะไรได้บ้าง เราจะช่วยลูกยังไง” ในช่วงเวลานั้นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก อำเภอละงู จังหวัดสตูล ชวนเข้าร่วมกระบวนการกับศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเพื่อเรียนรู้การทำงานด้วยโครงงานฐานวิจัยโดยตั้งใจนำไปทดลองใช้กับครูในโรงเรียนนำร่อง 10 โรงเรียน แต่กระบวนการในขณะนั้น มะดาเรียกว่า “มันยังเป็นกระบวนการเถื่อนนะ ซึ่งเขาทำกันมาก่อนหน้านั้นนานมาก ตั้งแต่ลูกคนเล็กอนุบาลจนตอนนี้อยู่ ม.1 แล้ว คิดว่าเริ่มทำก่อนหน้าจะมาเป็นโครงการพื้นที่นวัตกรรมเกือบ 10 ปีได้ กระทรวงศึกษาฯ ไม่ได้พูดถึงเลย แต่เป็นความตั้งใจของโรงเรียนต่างๆ ที่ต้องการทดลองทำ”
มะดาบอกว่าขณะนั้นเธอเป็นผู้ปกครองแค่คนเดียวที่เดินตามผู้อำนวยการโรงเรียนและครูไปเรียนรู้เครื่องมือวิจัย ตอนแรกเธอไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร แต่สิ่งค่อยๆ ซึมซับและติดตัวมาคือความเข้าใจเรื่อง ‘กระบวนการเรียนรู้’ และ ‘วิธีตั้งคำถาม’
“เราเริ่มจากอยากช่วยลูกของเรา แต่เราไม่ได้คิดว่ามันเป็นปัญหาของโรงเรียน มันคือปัญหาของเรา ตอนนั้นแค่อยากให้ลูกเราแก้ปัญหาในชีวิตเขาได้ พอได้เข้าไปทำงานแบบนี้ รู้เลยว่าแค่เราตั้งคำถาม เขาก็มีวิธีคิดต่อเองได้ แล้วพอเขาวิเคราะห์ปัญหาเองได้ มันตามทุกอย่างเลย การเรียน การใช้ชีวิต การอยู่ในสังคม การหาคู่ การอยู่กับครอบครัว ได้หมด”
จากตอนแรกที่ตั้งใจอยากมีเครื่องมือเพื่อช่วยเรื่องการเรียนของลูกตัวเอง ปัจจุบันมะดาเป็นครูพ่อแม่ที่เข้าไปช่วยครูที่โรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูกสอนในบางคาบ เป็นหนึ่งในผู้ช่วยการสนับสนุนการสอนครูในโรงเรียน โดยจะเข้าไปช่วย ‘สะท้อน’ หรืออยู่ร่วมในกระบวนการ reflection เกือบทุกวันศุกร์กับกลุ่มครู รวมทั้งเป็นผู้ประสานงานเรื่องการเรียนรู้ในโรงเรียนกับชุมชน เวลาที่เด็กๆ จะลงไปเก็บข้อมูลวิจัยจากชุมชนจริงๆ
“คล้ายว่าเราเป็นตัวสนับสนุน เป็นเจ้าบ้าน เวลาที่ครูหรือผู้อำนวยการเปลี่ยนตำแหน่งเข้ามาใหม่ เราเป็นหนึ่งในคนที่เขาต้องเข้ามาพูดคุย ไม่ใช่ว่าเราไปสอนเขานะ แต่ว่าเราอยู่ในฐานะเจ้าบ้านที่ทำงานกับโรงเรียนมานาน คือไม่ว่าใครจะมาจะไป แต่เรายังอยู่”
เสียงของเด็ก: นักเรียนที่อยากให้มีคาบเรียน 3 ชั่วโมงต่อวัน
“แต่ก่อนผมชอบโดดเรียน ไม่ชอบไปโรงเรียนเลย แต่พอเรียนแบบนวัตกรรม จากเคยเรียน 6 วิชา/วัน เหลือ 3 วิชา/วัน แล้วตอนบ่ายเป็นคาบนวัตกรรมเลย ผมชอบมากๆ เพื่อนผมที่เป็นเด็กพิเศษ (พัฒนาการช้า อ่านหนังสือยังไม่ออก) ปกติเขาจะเข้าห้องเรียนช้า แบบว่า… สิบนาทีค่อยเข้าห้องเรียน แต่เดี๋ยวนี้ สมมุติครูนัดบ่ายโมงครึ่ง บ่ายโมงยี่สิบมานั่งรอก่อนแล้ว เขาบอกว่าวิชานวัตกรรมเป็น ‘วิชาเล่น’
“แต่ก่อนเพื่อนผมที่เป็นเด็กพิเศษ เขาจะอ่านหนังสือช้าใช่ไหมครับ เขารู้สึกด้อยกว่าเพื่อน แบบยังไงอะ… เหมือนเขาไม่เก่งอะครับ แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่คิดแบบนั้น เขาอ่านหนังสือได้ดีขึ้นด้วย มันดีกับเพื่อนผมมากๆ”
ธีรวุฒิ เสนาทิพย์ หรือ ลัตฟี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านควนเก อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล เจ้าของความฝันอยากเปิดลานเลี้ยงแพะเล่าให้ฟังถึงบรรยากาศในห้องเรียน ลัตฟีเล่าว่าเขาเพิ่งมีคาบเรียนแบบใหม่เมื่อเทอมที่ผ่านมา วันแรกที่ครูบอกว่าตารางสอนจะไม่เหมือนเดิม และมีการพาเขาและเพื่อนลงพื้นที่เพื่อไปคุยกับชาวบ้านสอบถามเรื่องชีวิตทั่วไป
“พอลงพื้นที่เสร็จครูก็มาถามว่าเราเห็นอาชีพอะไรบ้าง และอยากทำอะไร คนยกมือตอบกันเต็มเลยแต่ผมตอบไม่เหมือนคนอื่น เพราะผมอยากเปิดโรงเลี้ยงแพะ แต่สุดท้ายผมไม่ได้ทำโครงงานนี้เพราะผู้หญิงทำไม่ได้ ผู้หญิงกลัวแพะ”
ด้วยครูบอกว่าเด็กๆ ต้องสามัคคีกัน หาข้อสรุปโครงงานที่ทุกคนอยากทำร่วมกันให้ได้ สุดท้ายลัตฟีกับเพื่อนทำโครงงานเรื่อง ‘สีสันธรรมชาติผ่านโรตีกรอบจิ๋ว’
“โรตีกรอบจิ๋วมันเป็นขนมพื้นบ้านอยู่แล้วแต่คนสมัยนี้เขาทำให้มันเป็นอันใหญ่ๆ โรตีมันสีน้ำตาลใช่ไหมพี่ แต่พวกผมคิดไม่เหมือนเขา เพราะคนกินอาจไม่ชอบสีน้ำตาลก็ได้ เขาอาจจะชอบสีชมพู สีม่วง ก็เลยทำโรตีกรอบจิ๋วจากสีธรรมชาติหลายๆ สี” ลัตฟีตอบฉะฉานไม่มีสะดุด
เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม เรียนแบบนี้ดียังไง?
“มันได้สัมผัสจริง สมมุติเรียนเรื่องสละ แต่ก่อนเราไม่รู้ว่ามันต้นละเท่าไหร่ ปลูกยังไง ใส่ปุ๋ยยังไง ใช้ดินอะไร แต่วันนั้นครูพาพวกผมลงไปพื้นที่ แล้วเขาเอาเกสรต้นผู้อะ มาถูกับเกสรต้นเมีย เขาให้พวกผมทำด้วย สนุก”
เรียนในห้องก็ได้สัมผัสนะ มีอะไรให้จับตั้งเยอะแยะในห้อง?
“เรียนในห้องเรียนได้ตากพัดลมอย่างเดียว นี่เราได้ลมจากธรรมชาติ”
ตากพัดลมก็ดีไม่ร้อน?
“ร้อนพี่ อับอยู่ในห้อง อับๆ แล้วมันเหนื่อย เรียนไม่สนุก”
วิ่งข้างนอกก็เหนื่อยเหมือนกัน
“แต่มันสนุกกว่าอะพี่”
แน่นอนว่านี่เป็น ‘บางเสียง’ ของผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ทดลองและเป็นเสียงที่ ‘เลือก’ มาว่าค่อนข้างเป็นไปได้ดีในระดับหนึ่ง ในระดับใหญ่กว่านั้นยังมีความขลุกขลักและต้องการพลังการผลักดันเพื่อเปลี่ยนให้ได้ทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง
พ.ร.บ. ชุดนี้มีอายุ 7-14 ปี นั่นแปลว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น และยังเป็นการเดินทางอีกยาวไกลที่พวกเราปรารถนาให้มันสำเร็จ หรืออย่างน้อยที่สุด ขอให้มีเด็กๆ ที่ลุกขึ้นมาบอกว่า ‘เพราะการเรียนมันสนุก’ เพิ่มขึ้นอีกมากๆ
*พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือพื้นที่ ‘นำร่อง’ ให้โรงเรียนได้ออกแบบปรับเปลี่ยนการศึกษาด้วยตัวเองร่วมกับภาคีทั้งในและนอกพื้นที่ พื้นที่นำร่องมี 6 จังหวัดครอบคลุมจากเหนือสู่ใต้ ได้แก่ สตูล ศรีสะเกษ ระยอง เชียงใหม่ กาญจนบุรี และ จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส)
**การจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยโครงงานฐานวิจัย 14 ขั้นตอน ประกอบด้วย
1. เรียนรู้เรื่องใกล้ตัว
2. วิเคราะห์เลือกเรื่อง
3. พัฒนาเป็นโจทย์วิจัย ตั้งคำถามที่อยากรู้
4. ออกแบบงานวิจัยเพื่อหาข้อมูลความรู้
5. นำเสนอโครงงาน
6. สร้างเครื่องมือ
7. ลงพื้นที่เก็บข้อมูล
8. ตรวจสอบวิเคราะห์
9. คืนข้อมูลชุมชน
10. กำหนดทางเลือกใหม่
11. แผนปฏิบัติการ
12. ทดลองปฏิบัติการ
13. รายงาน
14. นำเสนอผลงานวิจัย