- การเรียนรู้ไม่อาจจำกัดอยู่ในตำรา หรือภายในห้องเรียนสี่เหลี่ยม แต่ต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำความเข้าใจโลกจริงรอบตัว ซึ่งรวมถึงชุมชนที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในแต่ละวัน
- เปิดห้องเรียนฐานชุมชนของ ครูภัทร – ภัทฑริก เอียดเกลี้ยง โรงเรียนวัดเทพกระษัตรี ที่นำกระบวนการเรียนรู้แบบ VASK-PBL ควบคู่กับการใช้ ‘Social Lab’ พานักเรียนออกไปเรียนรู้จากพื้นที่จริง
- Social Lab ในความหมายหนึ่งคือการเปิด ‘พื้นที่’ ให้ผู้คนสร้างการรับรู้และเรียนรู้ร่วมกัน เป็นเครื่องมือทางสังคมศาสตร์ที่ถูกนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสสำรวจ วิเคราะห์ และทำความเข้าใจกับชุมชนของตนเองอย่างลึกซึ้ง
“การจัดการเรียนรู้ไม่ได้มีแค่ในห้องเรียนเพียงเท่านั้น แต่ต้องเชื่อมโยงไปยังบริบทในชีวิตจริง และพื้นที่ชุมชนของนักเรียน”
นี่คือแนวคิดสำคัญที่ ครูภัทร – ภัทฑริก เอียดเกลี้ยง จากโรงเรียนวัดเทพกระษัตรี จังหวัดภูเก็ต ได้นำมาถ่ายทอดในการเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนการขับเคลื่อนโครงการ TSQM-A จังหวัดศรีสะเกษและภูเก็ต ซึ่งสะท้อนภาพของห้องเรียนที่กำลังเปลี่ยนไปพร้อมกับบริบทของสังคม
โรงเรียนวัดเทพกระษัตรี ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านดอน อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนเก่าแก่ที่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและประชากรอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงมีเด็กในพื้นที่ แต่ยังมีนักเรียนจำนวนมากที่ย้ายตามผู้ปกครองมาอยู่ใหม่ ทำให้บริบทของผู้เรียนมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งวิถีชีวิตและความเข้าใจต่อพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่
ครูภัทรมองเห็นว่าสถานการณ์นี้คือโจทย์สำคัญที่การจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนจะต้องปรับตัวให้เท่าทัน การเรียนรู้ไม่อาจจำกัดอยู่ในตำรา หรือภายในห้องเรียนสี่เหลี่ยม แต่ต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำความเข้าใจโลกจริงรอบตัว ซึ่งรวมถึงชุมชนที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในแต่ละวัน
แนวคิดนี้ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดภูเก็ตที่ต้องการปลุกภาพฝัน ‘เด็กต่งห่อ’ ให้กลับมาเป็นเป้าหมายร่วมของสังคมอีกครั้ง เพื่อให้เด็กที่เติบโตขึ้นมาเป็นคนดีรอบด้าน มีทักษะที่จำเป็นในโลกปัจจุบัน และยังสามารถรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมของภูเก็ตไว้ได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่
ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนวัดเทพกระษัตรีจึงยึดแนวทางดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาผู้เรียน และครูภัทรก็ได้นำกระบวนการเรียนรู้แบบ VASK-PBL ควบคู่กับการใช้เครื่องมือทางสังคมศาสตร์ ‘Social Lab’ หรือกระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคม มาปรับเปลี่ยนห้องเรียนภูมิศาสตร์ ให้กลายเป็น ‘ห้องเรียนฐานชุมชน’ ที่นักเรียนได้ออกไปเรียนรู้จากพื้นที่จริง เข้าใจตนเอง เข้าใจชุมชน และสามารถตั้งคำถาม คิด วิเคราะห์ และสร้างองค์ความรู้จากสิ่งรอบตัว
“ในการจัดการเรียนการสอน เราใช้คำถามที่กระตุ้นการคิดขั้นสูงให้นักเรียนได้ฝึกคิด ฝึกตั้งคำถาม และเมื่อเขาเริ่มคุ้นเคย เขาก็จะสามารถคิดคำถามของตัวเองขึ้นมาได้ รวมถึงเลือกเรื่องที่ตัวเองสนใจมาศึกษาต่อได้เองด้วย
เรามองว่าจุดนี้คือกระบวนการที่นักเรียนได้กลายเป็น ‘ผู้สร้างการเรียนรู้’ อย่างแท้จริง ส่วนครูก็มีหน้าที่คอยหนุนนำ สนับสนุน และเติมเต็มให้เขาไปได้ไกลที่สุด”

‘Social Lab’ ห้องเรียนฐานชุมชน เชื่อมโยงการเรียนรู้สู่ชีวิตจริง
Social Lab ในความหมายหนึ่งคือการเปิด ‘พื้นที่’ ให้ผู้คนสร้างการรับรู้และเรียนรู้ร่วมกัน เป็นเครื่องมือทางสังคมศาสตร์ที่ถูกนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสสำรวจ วิเคราะห์ และทำความเข้าใจกับชุมชนของตนเองอย่างลึกซึ้ง
โดยกิจกรรม Social Lab ในห้องเรียนของครูภัทร จะดำเนินการผ่านเครื่องมือ เช่น แผนที่เดินดิน แผนที่ทรัพยากร แผนที่ก้างปลา เส้นทางเวลา แผนผังผู้รู้ ต้นไม้เจ้าปัญหา และวีไดอะแกรม ซึ่งทั้งหมดเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยง VASK-PBL ได้แก่
- ลงพื้นที่ศึกษาบริบทหรือปรากฏการณ์ที่อยู่รอบตัว
- จุดประกายความสนใจจากประสบการณ์จริง
- สืบค้นข้อมูล
- วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาความเชื่อมโยงและตั้งคำถามใหม่
- เลือกโจทย์ที่จะศึกษาอย่างลึกซึ้งในขั้นต่อไป
- แนวคิดและทักษะที่เกี่ยวข้อง
- การออกแบบและวางแผนการศึกษา
- ลงมือปฏิบัติ
- สะท้อนการเรียนรู้
- นำเสนอผล
ครูภัทรเล่าว่า ปัจจุบันได้จัดการเรียนการสอนดำเนินถึงขั้นตอนที่ 5 และอยู่ระหว่างการเตรียมต่อยอดไปสู่ขั้นตอนที่ 6–10 ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง แก้ปัญหา และสะท้อนผลการเรียนรู้ โดยคุณครูจะค่อยๆ ดำเนินกิจกรรมให้ครบทุกขั้นตอนในกระบวนการ VASK-PBL อย่างเป็นระบบต่อไป
สำหรับการเรียนการสอนจะบูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับบทเรียน เช่นให้เด็กๆ เปิดแผนที่ในแท็บเล็ต แล้วดูแผนที่ผ่าน Google Earth ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ทั้งเนื้อหาและทักษะการใช้เครื่องมือดิจิทัลควบคู่กันไป ที่สำคัญคือการได้ลงพื้นที่จริง เพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้เข้ากับชีวิตจริงของนักเรียนเอง

‘แหล่งน้ำธรรมชาติ’ บทเรียนที่นักเรียนออกแบบเอง
ในบทเรียนหนึ่งเรื่อง ‘แหล่งน้ำในธรรมชาติ’ ครูภัทรจะไม่แจ้งล่วงหน้าว่าวันนี้เรียนเรื่องอะไร แต่เริ่มต้นโดยการกระตุ้นความสนใจผ่านเครื่องมือที่นักเรียนคุ้นเคยอย่าง Google Earth เปิดแผนที่เสมือนจริงให้เด็กสำรวจพื้นที่ของตนเองผ่านภาพถ่ายดาวเทียม และตั้งคำถามด้วยตนเอง เช่น
“เราจะรู้ได้อย่างไรว่าชุมชนของเรามีแหล่งน้ำกี่แห่ง?”
“แหล่งน้ำแต่ละแห่งมีประเภทอย่างไร ใช้ประโยชน์ได้แบบไหน?”
คำถามเหล่านี้ไม่ได้ถูกป้อนจากครู แต่เกิดจากความสงสัยของนักเรียนเอง แล้วนักเรียนจึงร่วมกันวางแผนและเลือกใช้วิธีการนำเสนอผ่านการทำแผนที่ชุมชน ซึ่งคุณครูก็สนับสนุนแนวคิดนี้ โดยเพิ่มเงื่อนไขให้เป็นความท้าทาย เช่น นอกจากแสดงตำแหน่งแหล่งน้ำ นักเรียนแต่ละกลุ่มจะต้องระบุ ‘บ้านของสมาชิกในกลุ่ม’ ลงไปในแผนที่ด้วย เพื่อให้นักเรียนรู้สึกเกิดความเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลที่เรียนกับชีวิตจริง
รูปแบบการจัดการเรียนรู้ลักษณะนี้ ทำให้นักเรียนได้ฝึกคิดวิเคราะห์ วางแผน และสร้างองค์ความรู้จากสิ่งที่อยู่รอบตัวในชุมชนของตนเอง
โดยครูไม่เพียงให้นักเรียนเรียนรู้แค่หัวข้อหลักในแผนที่เท่านั้น แต่ยังสอดแทรกหัวข้ออื่นๆ ลงไปพร้อมกันด้วย
เมื่อนักเรียนจัดทำแผนที่เสร็จ จะเข้าสู่ขั้นการนำเสนอ โดยครูจะตั้งคำถามขยายความเพิ่มเติมเพื่อให้นักเรียนได้ขุดลึกลงไปในประเด็นที่กำลังศึกษา และชวนให้พวกเขาคิดต่อว่ามีอะไรในชุมชนที่นักเรียนอยากรู้เพิ่มเติมอีก จากนั้น นักเรียนจะเขียนความสนใจเหล่านั้นไว้ และกลายเป็นโจทย์ในคาบเรียนถัดไป
“สิ่งนี้ทำให้นักเรียนรู้สึกตื่นเต้นและรอคอย เพราะบางคนไม่ได้สนใจเฉพาะเรื่องแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นเพียงหัวข้อที่คุณครูใช้เพื่อจุดประกายเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นอื่นๆ ในชุมชนที่เขาสนใจอย่างแท้จริง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของโรงเรียน ซึ่งนักเรียนจำนวนมากมาจากครอบครัวที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ใหม่ นักเรียนบางคนจึงยังไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชุมชนของตนเองมีอะไรบ้าง หรือแม้แต่นักเรียนท้องถิ่นเองก็เพิ่งได้รู้ว่าแหล่งน้ำในชุมชนมีอยู่ตรงไหนบ้าง บางคนเพิ่งได้รู้เป็นครั้งแรกผ่านกิจกรรมในห้องเรียน การเรียนรู้ครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่ความรู้ในหนังสือ แต่เป็นการเชื่อมโยงกับชีวิตจริง”
เมื่อเข้าสู่ขั้นประเมิน นักเรียนจะได้สรุปสิ่งที่ค้นพบ เช่น แหล่งน้ำที่พบเป็นประเภทใด น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย หรือทะเล พร้อมอธิบายประโยชน์ของแหล่งน้ำแต่ละประเภท จากนั้น ครูจะเปิดโอกาสให้นักเรียนสะท้อนความรู้สึก เช่น อะไรคือสิ่งที่ได้เรียนรู้ สิ่งใดที่สนุกหรือชอบที่สุด และอยากให้การเรียนในลักษณะนี้ดำเนินต่อไปอย่างไร

ผลลัพธ์คือเด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ส่วนครูคือผู้หนุนนำ
กิจกรรมทั้งหมดนี้ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนอย่างชัดเจน เพราะเด็กๆ กะตือรือร้นที่จะเรียนรู้ กล้าคิด กล้าลองผิดถูก และเรียนรู้จากกันและกันมากขึ้น โดยครูภัทรเน้นว่า ครูไม่ได้เป็นผู้ให้คำตอบ แต่เป็นผู้เปิดพื้นที่ ให้นักเรียนได้สร้างคำตอบของตนเอง
“พอนักเรียนเขามีบทบาทมากขึ้น ครูก็เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น ได้ศึกษาเรื่องที่เขาสนใจเอง ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ จากเดิมที่ครูจะสอนอย่างเดียว ตอนนี้เราเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ฟัง เป็นคนหนุนนำ และแนะนำให้นักเรียนได้ค้นพบความรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงและผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดคือ นักเรียนมีความกระตือรือร้นมากขึ้น เวลาเราเข้าไปสอน เขาจะตื่นเต้น อยากรู้ว่าเราจะสอนอะไร เห็นได้จากแววตาและพฤติกรรมของเขา ว่าเขาอยากมีส่วนร่วม อยากแสดงความคิดเห็น และอยากเรียนรู้ร่วมกับเราจริงๆ ซึ่งมองว่านี่เป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะเมื่อครูกับนักเรียนมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันในห้องเรียน จะทำให้การเรียนรู้ดีขึ้นมากค่ะ”
แต่กว่าที่ห้องเรียนจะเปลี่ยนไปได้ถึงจุดนี้ ‘ครูต้องเปลี่ยนก่อน’ การขยับบทบาทจากผู้สอนมาเป็นผู้ฟังและหนุนนำ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะเทคนิคหรือเครื่องมือใหม่ๆ เท่านั้น แต่ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิดของครูเอง ครูภัทรเล่าว่า สิ่งที่ท้าทายที่สุดในการสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ คือ ‘การเปลี่ยนตัวเอง’ เพราะครูจะต้องเรียนรู้มาก เตรียมตัวมาก และเปิดใจพัฒนาตนเองก่อน จึงจะสามารถพัฒนานักเรียนให้เติบโตไปด้วยกันได้
“ก่อนที่เราจะก้าวไปสู่ห้องเรียน เราต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญคือเวลานักเรียนเขาอยากเรียนรู้อะไร อยากรู้เรื่องอะไร เราก็ควรเปิดโอกาสให้เขา ได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาสนใจค่ะ” ครูภัทร ทิ้งท้าย