- คุยกับ เอ๋ – ศิริพร ฉายเพ็ชร นักเคลื่อนไหวทางสังคมที่วันนี้ต่อยอดโปรเจ็กต์ร่วมกับคนรุ่นใหม่ ทำ SYSI สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม
- ตั้งแต่เรื่องชีวิต การเดินทางขับเคลื่อนประเด็นสังคม และการออกแบบกระบวนการผลักงานคนรุ่นใหม่ ก่อนจะแตกหน่อต่อยอดมาเป็น SYSI ในวันนี้
- ผู้อยู่เบื้องหลังการเดินทางของไผ่ ดาวดิน และอีกหลายคนรุ่นใหม่ที่ทำงานขับเคลื่อนสังคม ที่เอาเข้าจริงแล้ว งาน NGO ก็เป็นอีกหนึ่งนิยามของคำว่า ‘นวัตกรรม’
ประการแรก – สารภาพตามตรงว่าตอนแรกที่เห็นโครงการ SYSI (Society of Young Social Innovators) พร้อมคำอธิบายในเว็บไซต์และทุกช่องทางสื่อสารของทีมงานว่าคือ เครือข่ายนวัตกรรมสังคม เราเข้าใจเพียงว่าโครงการนี้ต้องทำหน้าที่คล้ายกับ ‘โค้ช’ ของทีมนวัตกรรมที่อยากทำธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) อย่างที่พบเห็นทั่วไปในปัจจุบันแน่ๆ หากพอค่อยค้นข้อมูลก็พบว่า ‘เธอ’ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งที่จะมาพูดคุยให้ข้อมูลกับเราเป็นใคร ก็ยิ่งรู้สึกว่า…คำว่า ‘นวัตกรรมทางสังคม’ อาจให้นิยามที่ลึกกว่าที่เราคาดคิด
เริ่มตั้งแต่ ‘เธอ’ ชักชวนเราให้เข้าสังเกตการณ์เวิร์กชอป ‘ระดับใกล้โปร Turn-Pro’ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ครั้งนั้น กลุ่มที่ผ่านเข้ามารุ่น Turn-Pro เข้ามาด้วยประเด็นหลากหลาย ตั้งแต่ครูที่ตั้งใจใช้กระบวนละครมาสอนวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารจริง, กลุ่มแม่บ้านที่นำทีมโดยคนหลากหลายทางเพศ, กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำข้อมูลที่ทำกินทั้งประเทศให้ค้นและใช้ได้จริง, กลุ่มแพทย์ที่ต้องการทำแอปพลิเคชันช่วยตรวจเช็คสุขภาพก่อนเข้ารับการตรวจจริงที่โรงพยาบาล, กลุ่มที่ต้องการสร้างความเข้าใจเรื่องแฟชั่นยั่งยืน และอื่นๆ ที่ให้เห็นเฉดความสนใจประเด็นทางสังคมของคนรุ่นใหม่ว่ามีหลากหลายประเด็นและเต็มไปด้วยไฟฝัน
ความน่าสนใจอยู่ที่ระหว่างเวิร์กชอป (ซึ่งแม้เราไปแค่วันเดียว) ยังได้เห็นบรรยากาศการพูดคุยถกเถียงที่ทั้งเข้มข้นในการแลกเปลี่ยนความคิดอันเนื่องจากการเห็นประเด็นรอบด้านไม่เท่ากัน (แน่นอนสิเนอะ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้อง ‘แลก’ ข้อมูล) การตั้งคำถามของกระบวนกรที่ไม่กะเกณฑ์ว่าผู้ฟังต้องเชื่อตามนั้นแต่สุดท้ายแล้วต่างฝ่ายต่างได้ข้อมูลใหม่ๆ กลับไปถกเถียงกับตัวเองต่อ หรือกระทั่งเวิร์กชอปการทำงานภายในกับตัวเองเพื่อถามเช็คจุดประสงค์ความต้องการลึกๆ ของเราจริงๆ – นี่เป็นแค่ช่วงถกเถียงเพื่อให้เข้าใจประเด็นที่แต่ละทีมอยากทำ ยังไม่เข้าขั้นไปสู่การสร้างนวัตกรรมและเครือข่ายเลย
ทั้งหมดนี้ทำให้เราตั้งคำถามว่า เอาเข้าจริงแล้ว SYSI ทำอะไรบ้าง และการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจประเด็นทางสังคมรอบด้านเพื่อไปสร้างนวัตกรรมของตัวเองต่อ ต้องทำอะไรบ้าง? …นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียแล้ว
ประการต่อมา – เราตั้งต้นด้วยคีย์เวิร์ด ‘นวัตกรรมทางสังคม’ แต่ข้อมูลที่ได้รับมาพร้อมกันคือ ‘เธอ’ คนนี้ คือผู้อยู่เบื้องหลังการเดินทางของ* จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน, พร้อมๆ กับคนทำงานสังคมอีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเอิร์ท – ภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย ผู้ร่วมก่อตั้ง a-chieve ชูใจ จากชูใจคอฟฟี่ และคนอื่นๆ ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม – ที่เราไม่เข้าใจคือ คนรุ่นใหม่ที่ทำงานขับเคลื่อนสังคมเหล่านี้ เชื่อมกับคำว่า ‘นวัตกรรมทางสังคม’ อย่างไร และ เธอเข้าไปจัดกระบวนการเรียนรู้ให้คนกลุ่มนี้อย่างไร
‘เธอ’ ที่ว่าคือ เอ๋ – ศิริพร ฉายเพ็ชร นักเคลื่อนไหวประเด็นสังคม และผู้ทำงานด้านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนทุกเพศ วัย อาชีพ (โดยเฉพาะชาวบ้าน) และทุกฝักฝ่ายการเมือง มาตลอดชีวิตการทำงานกว่า 20 ปี และเป็นตัวแทนทีม SYSI พูดคุย
ก่อนอื่น ศิริพรเล่าก่อนเธอไม่ได้เป็นตัวตั้งตัวตีของ SYSI ทั้งหมด คนทำงานจริงคือคนรุ่นใหม่ที่เคยอยู่ในโครงการการทำงานพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ ภายใต้โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (ก่อตั้งปี 2555) ทั้ง 3 รุ่น ซึ่งวันนี้พวกเขาแยกย้ายกันไปเติบโตในสายงานตัวเองแต่กลับรวมตัวกันก่อตั้ง SYSI ในนาม 4 องค์กร คือ เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม, ธุรกิจเพื่อสังคมอาชีพ (a-chieve), บริษัท Influencer จำกัด และกลุ่ม Dot to Dot – หรือจะเรียกว่า SYSI คือการต่อยอด การกลับ (บ้าน) มารวมตัวกันผลักงานนวัตกรรมทางสังคมคนรุ่นใหม่ ก็ได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะว่ากันเรื่องการทำงานของ SYSI จำเป็นที่ต้องเล่าถึงที่มาที่ไป ชีวิต ความเชื่อ ประสบการณ์ ทั้งชีวิตของเธอและวิธีทำงานของ ‘โค้ช’ อย่างศิริพรเสียก่อน จึงจะเข้าใจว่า ทำไม SYSI ถึงเชื่อเรื่องการทำงานกับคนรุ่นใหม่ในประเด็นทางสังคม และทำด้วยวิธีเช่นนี้
ที่มาของวิชา ‘การออกแบบการเรียนรู้ทางสังคม’ ของเอ๋ ศิริพร
จุดเริ่มต้นการทำงาน ทำไมถึงสนใจประเด็นสังคม
เอาจริงๆ เลยคือพี่เป็นคนไม่ชอบเรียนหนังสือ เป็นเด็กหลังห้อง ทะเลาะกับอาจารย์ตลอด เเต่พี่เป็นคนเรียนเร็ว เรียนป.1 ตั้งเเต่ 6 ขวบ แล้วก็เรียนพิมพ์ดีดตั้งเเต่เล็กเพราะข้างบ้านเปิดสอนพิมพ์ดีด ไม่มีอะไรทำอะ ก็ไปเรียนพิมพ์ดีดสนุกๆ พอเรียนจบช่วงม.3 พี่ก็ไม่ได้อยากเรียนม.4 ต่อ มันไม่มีอะไรน่าสนใจ พูดก็พูด…ครูก็ไม่ได้เรื่องไง เเม่ก็เลยตามให้พี่ไปเรียนที่ดุสิตพาณิชยการ (วิทยาลัยอาชีวศึกษาดุสิตพณิชยการ) เลือกเรียนสาขาการตลาด จบแล้วก็มาเข้าราชมงคลโคราช คล้ายๆ ปวส. ตอนนั้น (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (ศูนย์กลางนครราชสีมา) แล้วเราก็เริ่มทำกิจกรรมตั้งเเต่ตอนนั้น จากโคราชก็มาเรียนต่อจนจบ ป.ตรี ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เรียกว่าชีวิตไม่มีอะไรน่าสนใจ รู้เเต่ชอบอ่านหนังสือ ชอบเดินทาง ชอบผจญภัย เเล้วก็ไม่ชอบความไม่เป็นธรรม เส้นทางการทำกิจกรรมช่วงเรียน 4 ปี จึงเป็นสิ่งที่ทุ่มเทที่สุด
‘ความไม่เป็นธรรม’ ในสายตาของเด็กสาวคนนั้น มันเป็นยังไงคะ
เวลาพ่อพี่กินเหล้าบ้างครั้งและใช้ความรุนเเรงก็โดนกันทุกคนทั้งแม่และลูก หนักเบาแล้วแต่เหตุการณ์พี่โดนน้อยหน่อยเพราะเป็นลูกคนเล็ก พี่ชายก็มีเพื่อนเยอะมีแก๊งค์มีความเป็นนักเลงคุมถิ่น อย่างเวลามีเพื่อนผู้ชายมาเเกล้งเราบ่อยๆ พูดแล้วไม่หยุดเราก็ไปบอกพี่มาเคลียร์ (หัวเราะ) คนแถวบ้านก็กลัวพ่อ ส่วนในโรงเรียนคนก็เกรงพี่ ก็มีครูที่ชอบใช้อารมณ์ทั้งด่าและตี มีครั้งหนึ่งเราเจอครูด่านักเรียนทั้งห้องว่าโง่ ตอนนั้นนะ…จำได้เลยว่าเป็นครูวิชาภาษาอังกฤษตอนม.2 เขาให้นักเรียนทุกคนลุกขึ้นยืนเเล้วก็ด่าๆ ด่าไม่พอหยิกพุงด้วย พอมาถึงพี่ พี่บอกเขาเลยว่า ถ้าหยิกพี่ตบนะ จากนั้นเราไม่ยอมเรียนวิชาภาษาอังกฤษ และถูกเรียกเข้าห้องปกครองเลย (หัวเราะ)
เเม่พี่ก็เป็นเเม่ค้าในโรงเรียน พอถูกเรียกผู้ปกครองแม่ก็บอกครูว่า ‘นี่ก็ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว ให้ครูจัดการเลย ยกให้’ แต่ครูประจำชั้นพี่น่ารัก เขาก็บอกว่าเดี๋ยวเขาจะดูเเลพี่เอง เขาบอกพี่มีทางเลือก 2 ทางคือ ถ้าไม่ไปเรียนก็ไปห้องสมุดและก็อยู่ห้องพักครู แล้วห้องพักครูก็มีพิมพ์ดีดและอุปกรณ์ธุรการ มีกิจกรรมที่ครูทำ พอได้ช่วยงานครูหลายอย่างก็เลยได้เรียนรู้อยู่กับครูในห้องนั้น จากนั้นพี่ก็เลยมีทักษะใช้เครื่องคิดเลข พิมพ์ดีด หัดใช้คอมพิวเตอร์ ในห้องเรียนนี้
แปลว่าความรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมครั้งเเรกๆ ในชีวิตมาจากความสัมพันธ์ของครูกับนักเรียน เเล้วก็เรื่องที่บ้าน เรื่องครอบครัว ที่ทำให้เราไม่ชอบการได้รับการปฏิบัติแบบนี้ แล้วก็ไปเรียนหนังสือ
อาจจะเป็นเพราะเราชอบอ่านหนังสือและโตมากับพี่ชายที่สนิทกันมาก ชอบเล่นกีตาร์ ร้องเพลงต่างประเทศ อ่านหนังสือบันเทิงคดี แล้วเวลาอยู่กับเด็กผู้ชายเนอะ มันจะมีเรื่องชกต่อยของเด็กๆ ซึ่งพี่ไม่โอเคกับการใช้ความรุนเเรงในแง่ ‘ใช้แรง’ แต่พี่อาจจะใช้เป็นคำพูดมากกว่า พี่เป็นคนพูดตรง ชอบอิสระ พอพื้นฐานเป็นคนแบบนี้ไปเจอกับมอส. (มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) ครั้งแรกตอนเรียนมหา’ลัย ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงหลังรัฐประหารปี 35 อีก เลยทำให้ยิ่งสนใจทำงานทางสังคม
แล้วไปเจอกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ได้ยังไง
เจอเพราะการทำกิจกรรม รุ่นพี่ที่ชมรมคนหนึ่ง (ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและส่งแวดล้อม) แกเป็นอาสาสมัครของ มอส. รุ่น 16 ที่ทำงานกับมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย อยู่ที่วังน้ำเขียว อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ตอนนั้นมันมีเหตุการณ์ช้างป่าตกลงไปในน้ำตกเหวนรก เราก็เข้าไปเรียนรู้และทำกิจกรรมกับที่นั้นเรื่องานอนุรักษ์ฯ ตอนนั้นมีพี่อ้วน (นิคม พุทธา) และพี่โชค (โชคดี ปรโลกานนท์) เป็นหัวหน้าและคนทำงานในพื้นที่ศูนย์คลองทราย ซึ่งทำงานกับชาวบ้านรอบเขาใหญ่ที่นั้น ป่าชุมชนแห่งแรกของประเทศไทยก็อยู่ที่นั้น ชื่อ ‘ป่าชุมชนบ้านท่าวังไทร’ ที่นี่มีกิจกรรมเยอะ ทางชมรมฯ ก็ปักหมุดเป็นพื้นที่ที่ลงมาเรียนรู้ต่อเนื่อง ช่วงพี่บริหารชมรมฯ ก็เลยมากันทุกอาทิตย์ ทำให้ได้คุยกันกับพี่ๆ เพื่อนๆ ถึงสถานการณ์ทางสังคมหลายอย่าง ทั้งเรื่องการเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม ก็เลยสนใจจัดวงคุยกลุ่มศึกษา รุ่นพี่ก็เลยเชื่อมให้รู้จักกับพี่ๆ มอส. ที่ทำงานในภาคอีสาน แล้วก็เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาสาสมัคร ที่ลงพื้นที่มาติดตาม มาจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ อะไรที่สนใจ เสนอไปพี่ๆ ก็ช่วยสนับสนุน ทั้งงบค่าอาหาร ชวนวิทยากรมาช่วยเติมข้อมูล สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยน และพาลงไปเรียนรู้ในพื้นที่ต่างๆ
ช่วงพี่เรียนคือปี 2536 เป็นช่วงหลังเหตุการณ์ใหญ่ๆ เช่น การรัฐประหารของคณะ รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ปี 2534 การล้อมปราบประชาชนเดือนพฤษภาคม ปี 2535 และการชุมนุมปิดถนนมิตรภาพที่สระบุรีของกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลทหาร รสช. ถ้าจำไม่ผิด ชื่อโครงการจัดสรรที่ดินทำกินเพื่อเกษตรกรผู้ยากไร้ เรียกสั้นๆ ว่า คจก. ซึ่งเนื้อในแล้วไม่ต่างจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ของ คสช. เลย แต่ตอนนั้นเลวร้ายกว่า อุกอาจมากกว่า เพราะการสื่อสารไม่เหมือนตอนนี้ เรากับเพื่อนๆ ก็สนใจ และขยายความสนใจออกไปจากสถาบันการศึกษาและจังหวัดของตัวเอง ก็มีชวนกันมาวิเคราะห์ จัดสัมนา ตั้งคำถาม ลงพื้นที่ไปเรียนรู้ จัดค่าย ลงไปช่วยงาน ไปเชื่อมไปร่วมขบวนการกับกลุ่มต่างๆ ซึ่งตัวเชื่อมสำคัญครั้งนั้นก็คือพี่ที่ทำงาน มอส. และอาสาสมัคร มอส. ในช่วงนั้นรุ่นต่างๆ ที่ทำงานกระจายไปประเทศ ปิดเทอมก็เลาะไปทั่วไม่ได้กลับบ้านกันเลย
เด็กคนหนึ่งที่เพิ่งจากบ้านเกิดมาเรียนต่างจังหวัดในวัย 17 ปี เมื่อเจอกับสถานการณ์นั้น การเรียนรู้ประเด็นสังคมจากหน้างานจริงแบบนั้น มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เรารู้สึกยังไง
‘เหมือนฝัน’ พี่เกิดและโตที่ทุ่งรังสิต ซึ่งสมัยนั้นก็ว่าชีวิตเราลุยมากแล้ว ได้ขี่จักรยานเลาะไปตามที่ต่างๆ แล้วเป็นเด็กที่ชอบอ่านวรรณกรรมเยาวชนโดยเฉพาะเรื่องผจญภัยมาเเต่เด็ก ทีนี้พอไปอยู่เขาใหญ่ มันเลยเหมือนฝันมากเพราะ relate กับสิ่งที่เคยอ่านจากในหนังสือ จากสิ่งที่เราชอบ เเล้วทั้งหมดนั้นมันทำให้เราเห็นความไม่เป็นธรรม ได้พบกับข้อเท็จจริงที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เช่น ไปชมรมเเรกๆ เราก็เข้าไปเจอไปคุยกับเจ้าหน้าที่อุทยานแล้วได้ข้อมูลมาชุดหนึ่ง แต่พอมาทำงานกับ NGO เราก็จะมองเห็นปัญหาในอีกฟาก ได้เห็นการกล่าวหาว่าชาวบ้านทำลายธรรมชาติ ซึ่งมันไม่ถูกเสียทีเดียว เลยรู้สึกตื่นเต้นที่ได้รู้ความจริงที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
แล้วตอนนั้นเรามีความคิดว่าชาวบ้านเป็นคนทำลายไหม
ไม่ ไม่เคยคิดอะไรเเบบนี้ เเต่หน่วยงานบอกเราเเบบนี้มาเสมอ เช่น สมัยก่อนเจ้าหน้าที่อุทยาน…จริงๆ เขาน่ารักนะ เเต่ในมายเซ็ตของเขาจะบอกว่าชาวบ้านคือคนตัดไม้ทำลายป่า แต่ถ้าไปดูข้อมูลอีกด้านจะพบว่าป่าหมดเพราะสัมปทาน แปลว่าคนตัดไม้ทำลายป่าไม่ใช่ชาวบ้านเเต่เป็นเพราะนโยบาย เป็นเรื่องของรัฐกับทุนร่วมมือกันเเล้วชาวบ้านเข้าไปเป็นเเรงงาน สุดท้ายชาวบ้านคือเหยื่อหรือผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนผิด ส่วนคนอื่นไม่ผิดอะไรเลยในกระบวนการนี้ หรืออย่างความขัดเเย้งเรื่องช้างตกเหว มันก็มีข้อเท็จจริงจากนโยบายตัดถนนที่ทำให้ช้างเดินตกเหว อันนี้ชัดว่ามันไม่ได้เป็นปัญหาจากชาวบ้านเรื่องการสร้างถนน เเต่เป็นนโยบายของเจ้าหน้าที่รัฐ มันเป็นการ ‘รู้ความจริงที่มันจริง’ ทำให้เราได้ทำงานทางความคิดและจิตสำนึก
ถ้าให้ถอดบทเรียนว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้เด็กอายุ 17 18 คนหนึ่ง ได้เจอกับโลกและข้อเท็จจริงหลายๆ ชุด เกิดการปะทะทางความคิดบางอย่าง แล้วมีไฟฝันอยากทำงานทางสังคมแบบนี้ วัยรุ่นคนหนึ่งจะต้องมีเส้นทางชีวิตยังไงบ้าง
การเป็นคนที่ชอบตั้งคำถาม แล้วคำถามนี้มันเชื่อมกับหนังสือที่เราอ่าน เช่น ตลิ่งสูงซุงหนัก หรือ ลูกอีสาน เลยทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นกับข้อเท็จจริงใหม่ๆ ที่เราไปพบ อีกอย่างที่รู้สึกว่าสำคัญคือ ‘การหาราก’ การไปเจอข้อเท็จจริงที่ทำให้เรารู้สึก relate หรือเชื่อมโยงตัวเองกับอะไรบางอย่าง รู้สึกไปกับมัน มีจิตวิญญาณบางอย่างที่เชื่อมโยงกับมัน ตื่นเต้นเเล้วอยากรู้ไปกับมัน มีเเค่นี้เอง
อีกอย่างคือ อาจเพราะเพื่อนพี่ก็เป็นเเบบเดียวกัน ตอนเข้าป่าไปเรียนก็เข้าไปด้วยกัน เข้าทุกอาทิตย์เลยนะไม่ได้ทำเล่นนะ (น้ำเสียงจริงจัง) คือสนใจเรื่องอะไรต้องจริงจัง แล้วเวลาคุยกับคนอื่นต้องไม่มีอคติ เช่น เวลาเจ้าหน้าที่รัฐแลกเปลี่ยนความคิดอย่างที่เล่าไป พี่ก็อยากรู้ว่าทำไมเขาถึงคิดอย่างงั้น แต่ไม่ได้ตัดสินว่าใครดีใครเลว เป็นแค่ความอยากรู้ อีกอย่างคือ เวลาทำงานแบบนี้มันจะไม่รู้ทันทีแต่ต้องปะติดปะต่อข้อมูลเหมือนต่อจิ๊กซอว์ ไม่รู้อะไรก็ค่อยๆ ถามรุ่นพี่บ้าง อ่านหนังสือบ้าง แล้วก็ทำแบบนี้ต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน
มันเป็นพลังแห่งวัยเยาว์ด้วยเนอะ
พลังเยอะ และก็เป็นจุดที่ทำให้ได้ออกแบบค่ายเด็กด้วย ตอนนั้นทำไม่เป็นหรอกแต่พี่เขาโยนงานมาให้ บอกแค่ว่าอยากทำไหม ถ้าอยากทำก็ทำ ให้ออกแบบค่ายเด็ก 3 วันในหมู่บ้าน สำหรับให้เด็กและชาวบ้านมาร่วมงาน สำหรับพี่มันท้าทายมากนะ มันคือโอกาส ไม่มีผิดหรือถูก เพราะพี่ๆ ซัพพอร์ตเราตลอด เเล้วมันก็โต
จากตรงนั้นเราได้ทำหมดเลย ฉายหนัง หาเงินเข้าคณะ ขอเงินจากทุกพรรคการเมือง จากทุกห้างในโคราช ทำงานเก็บข้อมูล ทำงานศึกษา เป็นนักข่าว ถ่ายรูป ไปม็อบชาวบ้าน ใครให้ทำอะไรเราทำหมด เรียกว่างานตรงนี้ได้พัฒนาทักษะชีวิตเราทั้งหมดเลยจริงๆ เรากระตือรือร้นอยากจะเรียนรู้ รู้สึกว่ามันมีประโยชน์และไม่ได้คิดถึงเรื่องอาชีพเลย
จากหลายๆ งานที่ทำ พอจะบอกได้มั้ยว่าทำงานอะไรเป็นหลัก
ค่ายเด็ก ออกแบบการเรียนรู้ให้เด็ก ส่วนประเด็นจะหลากหลายแต่เกาะเรื่องความเหลื่อมล้ำและทรัพยากรเป็นหลักเพราะเราโตมากับงานสิ่งเเวดล้อม การเเย่งชิงทรัพยากร ความเหลื่อมล้ำ การไร้ที่ดินทำกิน ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกัน
เอาความรู้จากภาคส่วนต่างๆ มายำรวมกันเเล้วออกเเบบกระบวนการในการทำงานยังไง
ก็ต้องมีเป้าที่ชัดก่อนว่างานนี้จะเอาอะไร อย่างเช่นจะทำเรื่องค่าย พี่ว่าการไม่ยัดเยียดคือสำคัญ เช่น การยัดเยียดข้อมูลให้เชื่อ คือสิ่งที่เราจะไม่ทำในงาน ไม่ยัดเยียดความรู้ ความคิด เเละความเข้าใจ แต่ต้องให้ข้อเท็จจริงไปวิเคราะห์ เราเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูล
วิธีคิดแบบนี้ ได้มาตั้งเเต่ตอนนั้นเลยใช่ไหมคะ
ใช่ เราเชื่อว่าเด็กคิดได้ เราแค่ทำข้อมูลและสร้างความสมดุลบางอย่าง เช่น พาเด็กๆ ไปค่ายสิ่งเเวดล้อม คนที่มาก็ต้องมาหมดทุกฝ่าย มีเจ้าหน้าที่ที่รักป่าจริงๆ เพื่อมาคุยเรื่องป่าไม้ มีพ่อเเม่ของเขามาจริงๆ มาคุยว่าเขามองสถานการณ์นั้นๆ อย่างไร มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วเราเปิดพื้นที่หรือทำกระบวนการให้เกิดการแลกเปลี่ยนชุดข้อมูลความรู้กัน
สิ่งที่เราพอจะพาเขาไปเชื่อมกับสิ่งเหล่านี้ได้ คือ เด็กๆ อยู่ที่บ้านเขาอยู่เเล้ว เราก็ทำให้เขารู้สึกรักในสิ่งที่เขาอยู่ ให้เขารู้ว่าเเม่เเละคนในครอบครัวเขากำลังสู้อยู่กับเรื่องอะไร ให้เขารู้ว่าเขาจะเป็นใครในอนาคต แล้วการเป็นใครในอนาคตเขาต้องเชื่อมโยงกับอะไรบ้าง ซึ่งไอ้คำตอบว่า ‘เราอยากเป็นใคร’ มันไม่ใช่คำตอบของพี่ เเค่ออกเเบบว่าอะไรคือปัจจัยที่จะทำให้เขาเป็นตัวของตัวเองได้ เขาภูมิใจกับสิ่งที่เขาเป็นได้ Identity เขาคืออะไร ตัวตนเขาเป็นยังไง ซึ่งไม่ว่าจะยังไง เราจะเคารพ นี่คือสิ่งที่เราพยายามทำ
จากนักออกแบบการเรียนรู้ประเด็นทางสังคม สู่โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม แล้วจึงต่อยอดเป็น SYSI
จุดเริ่มต้นของ SYSI คืออะไร
มันเป็นการต่อยอดการทำงานพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ภายใต้โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม โดย มอส. ซึ่งต้องขอเล่าย้อนก่อนว่า โครงการนั้นมันเกิดขึ้นช่วงสถานการณ์การเมืองเลวร้ายช่วงปี 2553 เล่าย้อนไปอีกนิดว่า สมัยก่อนมอส. จะเป็นตัวเชื่อมคนรุ่นเก่า – รุ่นใหม่ เชื่อมเครือข่ายต่างๆ แต่หลังการเกิดรัฐประหารปี 2549 รอยร้าวที่เกิดขึ้นส่งผลต่อกระบวนการของ มอส. และ NGO ช่วงนั้นก็แทบไม่เป็นกระบวนเดียวกันอีก แบ่งฝักฝ่ายชัดเจนมาก และหากปี 2549 ว่าแตกแยกแล้ว ปี 2553 เรียกว่าแตกหักและไม่สามารถเชื่อมกันได้ใหม่
ซึ่งตอนนั้นปี 2549 พี่ก็เฟดออกจากงานไปเรียนที่ออสเตรเลีย กลับมาอีกทีก็หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ผอ.มอส. ขณะนั้นก็อยากให้กลับมาช่วยฟื้นฟูงานอาสาสมัครเพื่อสังคม แต่พอเกิดโครงการที่ว่านี้ งบประมาณได้มาแล้วแต่ยังขาดทีม เขาก็ให้มาช่วยก่อน พอทำมาได้จะครบสามปี ก็มีรัฐประหาร (ปี 2557) หลังจากนั้นก็งานยุ่งเลยนอกจากงานหลักที่ทำก็เคลื่อนไหวด้วย ทั้งจัดเวทีแลกเปลี่ยนกันภายในเครือข่าย มอส. และเพื่อน ร่วมกับ อ.จอน และน้องๆ ใน ilaw ไปจนถึงจัดการเรียนรู้ทั้งในและต่างประเทศให้กับคนรุ่นใหม่ เชื่อมกลุ่ม / เครือข่ายต่างๆ เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน แล้วก็ทำยาวมาถึง 8 ปี ครบ 3 รุ่น
โครงการนี้ เริ่มมาจากพี่ๆ หลายคนพัฒนาความคิดกันขึ้นมาภายใต้สถานการณ์การเมืองสีเสื้อที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะป้ามล ทิชา ณ นคร ป้าเป็น ผอ.บ้านกาญจนาภิเษกฯ และเป็นบอร์ด สสส. (สมัยนั้น) มีคนเสนอให้ป้าทำโครงการนี้ แต่ป้าคิดว่ามี มอส. ที่มีประสบการณ์อยู่แล้วจึงเสนอให้ มอส. เป็นผู้ปฏิบัติงาน โดยมีภาคีเครือข่ายหลายองค์กรเข้ามาหนุนช่วยด้วยอย่างต่อเนื่อง
ความแตกแยกขัดแย้งภายในขบวนช่วงนั้นมันเยอะมาก การสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ที่แตกต่างหลากหลายจากต่างพื้นที่ ต่างองค์กร ต่างประเด็น ต่างศาสนา ต่างประสบการณ์ ต่างชาติพันธุ์ ต่างความคิด ความเชื่อ ฯลฯ ได้มาพบเจอและเรียนรู้ระหว่างเป็นระยะเวลา 2 ปี แบบที่ มอส. ทำเท่าที่รู้แทบไม่มี ตอนนั้นมันก็มีคนรุ่นใหม่ที่เขาตั้งกลุ่มองค์กรเองที่เขารู้สึกว่าต้องออกมาขับเคลื่อนสังคมเยอะนะ โดยที่ไม่ได้มีการจัดตั้งแบบเก่า มันมาจากความรู้สึกต่อความไม่เป็นธรรมและอยากเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไข การเปิดตัวโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมในครั้งนั้น ก็เลยมีคนสนใจสมัครมามาก มีแต่ตัวจี๊ดๆ ทั้งนั้น โครงการก็ก่อตั้งขึ้นมา
บทบาทที่ทำก็ตั้งแต่ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เชื่อมเครือข่าย เพราะเครือข่ายมันใหญ่เนอะ ประคบประหงมคนหนุ่มสาวนี้ให้เขาผ่านช่วงเวลาการทดสอบไปให้ได้ ออกแบบกระบวนการให้เขาได้เติบโต เรื่องอะไรก็ได้นะ แต่ให้คุณได้เห็น ได้แชร์ ได้รับผิดชอบสิ่งที่คุณทำ เห็นภาพย่อยแล้วกระเถิบไปภาพใหญ่ เห็นสังคมทั้งสังคมด้วยกระบวนการของเพื่อนในรุ่น เพื่อนที่เป็นเครือข่ายเดียวกัน
วิธีทำงานในโครงการนี้คือ เริ่มจากการพัฒนาตัวเอง ไปพัฒนากลุ่ม สร้างเครือข่ายสังคม แล้วค่อยไปสู่การทำนวัตกรรม แต่ของ SYSI จะเริ่มจากนวัตกรรมเลย เอาสิ่งที่อยากทำเป็นตัวตั้ง เราพัฒนามาจากตรงนั้น แล้วเชื่อมเครือข่ายสังคม พัฒนาบุคคล-ทีม วิธีการมันส่วนกัน ซึ่งเดี๋ยวว่ากันต่อไป
คนที่เข้ามาอยู่ในโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม นั้นเป็นใครบ้าง และกระบวนการยาวนานแค่ไหน
ส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรม สมัครมาทั่วประเทศนะ อายุ 20 – 30 ปี กระบวนการยาว 2 ปี รับรุ่นละ 35 – 40 คน ก็มีหลากหลายมาก เป็นนักศึกษา นักกิจกรรม ที่เคลื่อนไหวประเด็นสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม สันติภาพ การศึกษา สุขภาพ เกษตร เอดส์ – เพศ gender เป็นคนทำงานธุรกิจเพื่อสังคม เป็นเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ แกนนำเยาวชนในชุมชน เป็นนักพัฒนารุ่นใหม่ อย่างเช่น ไผ่ ดาวดิน (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) ซึ่งตอนนั้นก็ยังเด็กเลยน่าจะปี 1 หรือปี 2 นักกิจกรรมที่เป็นนักศึกษาหลายๆ ที่ สภาเด็กและเยาวชน โอ๊ย…หลากหลายมาก รวมถึงกลุ่มแก็งค์ที่ออกมาจากป.ป.ส. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) ที่เอาหัวหน้าแก็งค์มาพัฒนาความคิดไม่ให้ไปย้อนรอยทำแบบเดิม คิดดูว่ารุ่นแรกที่เข้ามาแล้วเป็นยังไงกันบ้าง จริงๆ ประสบการณ์ทำงานกับความหลากหลายขนาดนี้ของทีมงานแถบจะเป็นศูนย์เลยนะ
แล้วเขาก็ยอมเข้าด้วยเหรอคะ
เขาไม่รู้ไง ทุกวันนี้เวลาคุยเรื่องเก่าๆ ก็ยังขำกันเลย ‘ก็พี่เขาบอกให้มาก็มา’ คือพวกนั้นสมัครใจแบบแกมบังคับให้มา พอมาถึงแต่ละคนก็เป็นตัวของตัวเองมาก ทรงผมโมฮอก หล่อมากเลย เฟี้ยว ใส่แว่นตาดำ โอ๊ย…บางคนยังเล่นยาอยู่เลย (หัวเราะ)
คือโครงการมันถูกโปรโมทว่าเป็นโครงการที่สร้างนักเปลี่ยนแปลงสังคมท่ามกลางความขัดแย้ง พวกเจ๋งๆ อยากเข้ามา อยากมาเจอคนอื่น คิดว่าตัวเองเจ๋งแล้วอยากจะมาเปลี่ยนแปลงคนอื่นไง แล้วบางคนก็มางงๆ ใสๆ อย่างเอิร์ธ (ภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย) นายกสมาคมรุ่นที่ 1 ตอนนั้นเพิ่งก่อตั้งบริษัท a-chieve ได้ 2 ปี ก็มาใสๆ น่ารักๆ ทำงานเยาวชน
แตกต่างกันมาก ดังนั้นหลักสูตรที่คิดๆ ไว้ เป็น ideal มันจะเป็นจริงได้ยังไง? แค่ module แรก เรียนรู้จักตัวเองและเพื่อนผ่านกระบวนการละคร ทำโดยทีมมะขามป้อม มีพี่ก๋วย (พฤหัส พหลกุลบุตร) เป็นหลัก และก็มีกระบวนการอื่นๆ จากหลากหลายวิทยากร ทุกวันก็มีแต่เรื่องให้ต้องแก้ไข บางคนก็บอกไม่ขอเข้าร่วมโครงการนี้แล้ว บางก็ว่ากระบวนการอ่อนไป บ้างก็บอกว่าเข้มไป บางก็มีความเห็นมีการตัดสินตัวบุคคลว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ module นั้นต้องอยู่ด้วยกัน 7 วัน ตีกัน (ทางความคิด) ทุกคืน ทีมงานซึ่งเป็นพี่ๆ ที่อายุมากกว่าก็ไม่ไหว พี่ก็ต้อง stand by แลกเปลี่ยนกับน้องๆ ทุกคืน คือพี่ทุกคนตายหมดเหลือแต่พี่ยังต้องตื่นอยู่คนเดียว (หัวเราะ)
ก่อนเริ่มกระบวนการนี่พี่ก็คิดเยอะตอนอ่าน proposal เห็นว่า Ideal มันใหญ่แล้วก็ยากไง เห็นแนวคิด เห็นเป้าหมายปลายทางที่จะต้องไปให้ถึงแล้วไม่แน่ใจว่าประสบการณ์จะพอไหม แล้วพี่ก็ไม่ได้ทำงานอบรมมานานพอสมควร ก็เลยหาทางไปอบรมเคาะสนิมและหาเครื่องมือใหม่ๆ เสริมความมั่นใจให้ตัวเอง ก็พอดีมีพี่ส่งข่าวบอกว่าจะมีอบรมที่เชียงใหม่ ขององค์กร Training For Change (TFC) จากอเมริกามาเมืองไทยเลยสมัครไป อบรมเสร็จเขาก็ถามว่าสนใจไปเข้าอบรมในคอร์สใหญ่ 21 วัน ชื่อ Super-T ของ TFC ไหม เราสนใจก็เลยได้ทุกไปอบรมต่อที่อเมริกา ได้เพื่อน activists มาเยอะเลย พอกลับมาทำงานก็ทำให้มีเครื่องไม้เครื่องมือเยอะขึ้น มั่นใจขึ้น ส่วนตัวนิสัยเป็นคนเปิด ฟัง คุย แลกเปลี่ยนได้ ชอบคนดื้อด้วย เลยคุยกับน้องได้หลากหลาย และพอกระบวนการมันลงล็อก ทำงานกันไปครบปีแล้วคนรุ่นแรกยังอยู่ต่อ ช่วยงานกันต่อเนื่อง อาจเพราะด้วยมี commitment กันอยู่ 2 ปี 6 module ด้วย ไม่มาไม่ได้นะ แต่งานมันได้เชื่อมโยงถึงกัน
พอจะเล่าได้คร่าวๆ ไหมว่า ทำยังไงให้คนที่มีความคิดหลากหลายอยู่ด้วยกันโดยไม่ตีกัน
โอ้โห้…ก็ให้ตีเลย และพี่เป็นคนดื้ออยู่แล้วเลยไม่กลัวความดื้อพวกนี้ ซึ่งมันไม่ได้มีอะไรมาก พี่แค่ถามว่าเขาคิดอะไร คิดยังไง แล้วไล่ถามทุกวง ด้วยความที่พวกหัวโจกทุกกลุ่มมันจะสร้างแก็งค์ มันอยากเปลี่ยนแปลงความคิดคนอื่น ดังนั้นมันต้องอดทนกว่าคนอื่นอยู่พอสมควร แปลว่าพวกนี้พื้นฐานเป็นคนท้าทาย เราโยนอะไรไปก็กินหมด แล้วพี่เป็นคนชอบเเหย่ รู้ว่าอาการเเบบนี้น่าจะทำอะไรได้บ้าง แล้วก็ท้าทายเขา แล้วคนกลุ่มนี้เป็นพวกไม่ยอมถอย
เช่น จุดที่คุกรุ่นมากๆ เราก็ถามว่าโครงการนี้ต้องการการมีส่วนร่วม แล้วจะมีส่วนร่วมได้ยังไงในเมื่อขณะนี้ยังคุยกันด้วยเหตุผลไม่ได้ ถ้าเเค่นี้ยังคุยกับคนที่อยู่ข้างๆ ไม่ได้ เเล้วจะไปเปลี่ยนเเปลงสังคมได้ยังไง
เขาก็คิดหนัก แล้วก็โยนโจทย์ต่อให้เข้ากลุ่มเพื่อไปทำเรื่องการฟังกันต่อ
เคล็ดลับคืออะไร
ฝึกฟัง พื้นฐานคือฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน ไม่ตีความ ฝึกเรื่องนี้ให้เป็นพื้นฐาน ทำให้พวกเขาต้องฟังกันจริงๆ ไม่ตัดสินว่าคุณพูดสิ่งนั้นด้วยความคิดอะไร ไม่ตีความด้วยว่าคุณพูดสิ่งนี้เพื่ออะไร แต่ฟังกันจริงๆ ก่อน
ถ้าปลายทางมันคือการทำนวัตกรรมทางสังคม เคล็ดลับที่เล่ามาอย่าง การฟังและไม่ตัดสิน มันนำพาไปสู่นวัตกรรมได้ยังไง
พี่ว่าการทำงานกับคนรุ่นใหม่ให้เริ่มจากตัวเองก่อน ยังไม่ต้องลงมือทำ (initiate) เพราะ initiate เเรกคือประเด็นว่า เราจะอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ได้ยังไง คุณจะเคารพความเเตกต่างหลากหลายจริงๆ ได้ยังไง เวลาพูดว่าคุณเคารพความเป็นมนุษย์ มันอาจยังไม่ได้เป็นจริงไง สิ่งที่เราทำในโครงการคนรุ่นใหม่คือการทำพื้นฐานเรื่องนี้เลย ทำเเล้วก็เชื่อในตัวเอง ไม่ใช่คำพูด แต่เชื่อด้วยตัวเองว่าเราแตกต่างเเต่เราอยู่ด้วยกันได้
การที่คุณ…คนรุ่นใหม่ จะเห็นว่าก่อนหน้านี้โลกเกิดมาได้ยังไง คุณต้อง relate กับมัน คนรุ่นใหม่ คุณน่ะ…อ่านตัวเองยังไง แล้วถ้าคุณกำลังคิดต่อว่าโลกหวังจะพึ่งคุณ คุณก็ต้องคิดว่าอยากทำอะไร จะออกเเบบอะไร ออกแบบเเบบไหน
หมายถึงว่า การปูพื้นฐานด้วยเรื่องนี้ (ฟัง ตั้งคำถาม) มันคือการทำงานกับความคิดตัวเอง ตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ ต้องมี awareness ในตัวเราอยู่เสมอว่าประเด็นสังคมที่พูดมา พูดเพราะอะไร คำพูดนั้นทำงานกับตัวเองยังไง
จากโครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง ดำเนินมาสู่ SYSI ได้ยังไง
ด้วยความที่โครงการคนรุ่นใหม่คือการพัฒนาตัวเขาก่อนแล้วให้คนที่เข้าร่วมโครงการไปพัฒนากลุ่มของเขาต่อ ไปสร้างงานของเขาเพื่อตอบหรือเเก้ปัญหาสังคม แต่การเเก้ปัญหาสังคมควรเข้าใจภาพรวม และทำงานร่วมมือเป็นเครือข่ายได้ แล้วเมื่อไหร่ที่งานมันได้ข้ามสาย (cross) ไปสู่เครือข่าย มันจึงจะมีพลังเปลี่ยนแปลง หน้าที่ของเราตลอดมา (โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยน และ SYSI) เลยเป็นการเชื่อมสิ่งนี้
พูดง่ายๆ คือ มันเป็นพื้นที่ให้คนมาเจอกัน เอาคนมาพัฒนากันและกัน เอาประสบการณ์ที่ได้ไปทำต่อ แล้วค่อยมาต่อเติมเรื่องกระบวนการทางสังคม พาคนไปเรียนรู้จากคนชายขอบคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่สังคมเข้าถึงยาก พาไปเรียนรู้สิ่งที่คุณอาจไม่สามารถไปได้ด้วยตัวคุณเองเเต่คุณอยากเรียนรู้ ไม่สนใจเเค่เรื่องเรา อย่างเช่น โครงการที่พี่พาไป ไปเรียนรู้กับเพื่อนพนักงานบริการที่พัฒน์พงศ์ พาไปเจอคนทำงานเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ไปค้างคืนและทำกิจกรรมกับคนไร้บ้าน ที่ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์วัดหนู ลงไปเรียนรู้กับแรงงานข้ามชาติ กับองค์กร LPN หรือผู้ลี้ภัย เป็นต้น เราพาไปเจอกับเจ้าของประเด็นเจอกับคนที่เขาทำงานนี้โดยตรง จากนั้นมันจะเห็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องความไม่เป็นธรรมเอง
มันก็ต่อยอดกันมาเรื่อยๆ จากคนรุ่น 1 ทำงานกับคนรุ่น 2 รุ่น 2 ทำงานกับรุ่น 3 ต่อ ทุกรุ่นจะเป็นพื้นที่ในการพัฒนาตนเองของพวกเขา พัฒนาทีม พร้อมๆ ไปกับการทำนวัตกรรมของตัวเองด้วย การเกิดของ SYSI จริงๆ ก็เป็นการคุยกันอย่างต่อเนื่อง มีการสรุปและถอดบทเรียนการทำงานร่วมกันตลอด ก็เห็นศักยภาพ ก็เพราะเห็นอยู่เเล้วว่าน้องๆ จากโครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมเขาพร้อมที่จะต่อยอดงานต่อ เพราะเขาทำงานกันมาต่อเนื่องอยู่แล้ว คนกำลังเติบโต เเล้วพี่ก็เเก่ไปแล้วด้วย (หัวเราะ) SYSI อยากจะเป็นสิ่งเล็กๆ ที่ทำให้เครือข่ายเติบโต SYSI ไม่ได้สร้างเพื่อให้ตัวเองเติบโต เเต่องค์กรของตัวเองจะทำให้คนอื่นได้เติบโต เเละคนทำงานก็จะเติบโตไปพร้อมกัน
มีใครอยู่ใน SYSI บ้างคะ
มีคนรุ่นใหม่อยู่ใน SYSI เยอะ เป็นศูนย์กลางคนรุ่นใหม่ โดยคนรุ่น 1 – 3 เขาเสนอตัวเข้ามาเอง แต่เฉพาะทีมงานของ SYSI ที่รับงบสสส.และทำเฉพาะตัวนวัตกรรมจะมี 13 คน โดยมาจาก 4 องค์กร คือ เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม, ธุรกิจเพื่อสังคมอาชีฟ (a-chieve), บริษัท Influencer จำกัด และกลุ่ม Dot to Dot แต่ก็มีคนทำงานอื่นๆ ทั้งที่มีตำแหน่งและสร้างตำเเหน่งตัวเองขึ้นมา (หัวเราะ)
SYSI คือการทำงานภาคต่อของโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ดูเหนียวแน่นมากเลยนะคะ การทำงานหลายๆ รุ่นที่ยังติดต่อกันและยังอยากทำงานพัฒนาคนรุ่นใหม่ในประเด็นสังคมต่อๆ มา
ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้เครือข่ายแบบนี้อยู่ได้ เราคิดว่ามันเป็นการทำงานเรื่องการติดตามระดับบุคคล หมายถึงว่า เราทำงานเรื่องการเเลกเปลี่ยนความคิด ลงไปตาม ลงไปเชื่อม เช่น ช่วงเเรกๆ คนในรุ่นอาจมีอคติกับพวกดาวดิน กับกลุ่มสภาเด็กฯ เราก็จัดให้พวกเขาได้ไปเจอกัน จัดโครงการในภาค พาไปเรียนรู้ข้ามภาค เรียนรู้เชื่อมกันระหว่างองค์กร ให้ไปเห็นและรู้จักงานและความคิดกันจริงๆ คือ ให้ไปเห็นความเป็นมนุษย์ที่คนอื่นอาจไม่ได้เห็นอย่างที่เราเห็น ให้เห็นว่าเขาคิดอะไรอยู่ เขาทำอะไรอยู่ ทำเพราะอะไร เขาเจออะไรอยู่ แต่แค่ให้โจทย์นะ ไม่ต้องคิดเอาเอง ไม่ต้องไปตัดสิน แล้วลงไปดู
กระบวนการที่ SYSI ตั้งใจจะพาคนเข้าเวิร์กชอปไปเจอ วางไว้อย่างไรบ้าง
ต้องบอกว่ากับ SYSI พี่ถอยออกมาเยอะนะ งานออกแบบหลักๆ จะเป็นน้องในทีม การทำงานกับทีมตอนนี้ (ทั้งการทำงานกับทีม และวิทยากรในการเวิร์กชอป) คือพี่ถูกจ่ายงานมาให้นะ ต้องถอย ไม่งั้นจะกลายเป็นว่าเราไปครอบงำ เค้าผ่านกระบวนการมาเยอะแล้ว เจออะไรมาเยอะแล้ว โตแล้ว ทำเองได้แล้ว แล้วน้องก็รุ่นเล็กด้วย และที่ต้องถอยก็เพราะมันเป็นงานของเขา ต้องให้เค้าไปออกแบบเอง ได้พยายามทำด้วยตัวเอง พัฒนางานร่วมกับทีม
แต่ละรุ่นได้ถูกออกแบบโครงสร้างการเรียนรู้ไว้คร่าวๆ แล้ว ส่วนรายละเอียดก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบกระบวนการในแต่ละครั้ง แบ่งเป็น module ไว้ เช่น พวกเขาจะได้เจอกันสองสามครั้ง โดยจะเน้นพัฒนานวัตกรรมของแต่ละทีม พัฒนาให้เห็นหัวใจสำคัญก่อน ต่อมาคือการพาไปเรียนรู้และรู้จักกับเครือข่าย จากนั้นก็จะเป็นเรื่องของกลุ่มแล้วว่าจะสร้างหรือทำงานสังคมร่วมกันอย่างไร กระบวนการนี้มันจะสวนทางกับงานเดิม (โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่) อย่างที่เล่าไปนิดๆ ว่าครั้งนั้นเราเอาตัวเค้าหรือระดับบุคคลมาเจอกัน สร้างเครือข่าย แล้วค่อยไปสู่นวัตกรรม แต่ของ SYSI จะตั้งต้นที่นวัตกรรมก่อน สร้างทีม จากนั้นคือเครือข่ายแล้วขับเคลื่อนประเด็นสังคม
การพัฒนาโครงการของ SYSI จะแบ่งการพัฒนาทีมเป็น 3 ระดับ คือ ระดับเริ่มต้น (Rookie), ระดับกลาง (Semi Pro) และ ระดับใกล้โปร (Turn Pro) แต่ในทุกระดับ SYSI จะสนับสนุนแต่ละทีม 4 ส่วนหลักคือ Funding: การให้เงินทุนทำโครงการถึงการก่อตั้งองค์กร Training: พัฒนาความรู้และทักษะจำเป็นต่อการพัฒนาตัวเองและพัฒนาทีม Monitoring: การติดตามลงพื้นที่เพื่อให้คำปรึกษาแต่ละโครงการ เพื่อติดตามการเติบโตของทีมและดูผลกระทบของโครงการ และ Network: สร้างเครือข่ายโดยการพาไปเชื่อมกับคนทำงานทางสังคมในประเด็นใกล้เคียงและอาจข้ามสาย ทั้ง 3 รุ่นที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการพัฒนาทั้งมิติของโครงการที่จะทำให้โครงการแก้ปัญหาสังคมได้จริง มิติตัวบุคคลที่ทำให้เข้าใจตัวเอง ผู้อื่น และสังคม รวมถึงมิติการทำงานเป็นทีมที่เป็นทักษะสำคัญยิ่ง เส้นทางการเรียนรู้ของ SYSI จะเริ่มจาก ‘ปฐมนิเทศ’ ปูพื้นฐานการเข้าใจความแตกต่างหลากหลายในสังคมและพัฒนาโครงการ มี ‘fieldtrip’ ให้ผู้เข้าร่วมได้พัฒนาความเข้าใจคนชายขอบในสังคมผ่านการสัมผัสจริง มี ‘workshop’ ติดอาวุธทักษะและความรู้ รุ่น Turn Pro จะมี ‘Job Shadow’ เพิ่มเข้ามาที่ SYSI สนับสนุนให้แต่ละทีมออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ของทีมตัวเอง ว่าอยากเดินทางไปเรียนรู้กับองค์กรใดประเด็นใด และปิดท้ายด้วย ‘ถอดบทเรียน’ ที่จะพาทุกคนทบทวนประสบการณ์การทำโครงการที่ผ่านมาเพื่อก้าวต่อไปอย่างมั่นคง ส่วนเนื้อหาที่จะเรียนรู้ในโครงการจะมีทั้งเนื้อหาที่เรียนรู้ร่วมกัน และเนื้อหาที่แต่ละทีมจะเลือกเรียนตามความสนใจ เนื้อหาเรียนรู้ร่วมกัน เช่น การรู้จักความเป็นผู้นำในแบบของตนเอง, การเรียนรู้การอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลาย, การทบทวนทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง, การพัฒนาโมเดลธุรกิจ, สร้างวิธีการวัดผลโครงการ, ทบทวนการเติบโตหลังจบโครงการ เป็นต้น ส่วนเนื้อหาที่เลือกเรียนตามความสนใจ เช่น วิธีจัดการความขัดแย้ง สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย, การสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนและสะท้อนคิด, นโยบายสำหรับนวัตกรทางสังคม, วิธีทำงานแบบอะไจล์, การสื่อสารสาธารณะ เป็นต้น ดูรายละเอียดเพิ่มเติม: https://sysi.or.th |
ในเวิร์กช็อป เราจะเห็นการออกแบบกระบวนการให้แต่ละทีมได้เจอกับคนทำงานจริง หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น
ใช่ พวกนั้นเป็นคนออกแบบหมดเลยและพี่เป็นแค่หนึ่งในแขกรับเชิญที่เค้าเชิญไป
ตอนที่เข้าสังเกตการณ์เวิร์กชอป เราพบว่าสิ่งที่ยากคือการทำให้ทีมซึ่งตั้งใจแก้ปัญหาสังคม ได้เห็นปัญหานั้นๆ อย่างรอบด้านมากพอที่จะไม่ทำนวัตกรรมมาแล้วกลายเป็นกดทับปัญหา หรือลดทอนปัญหา ซึ่งในระหว่างเวิร์กชอป เราเห็นการปะทะกันทางความคิดระหว่างคนในทีม ระหว่างทีม และจากผู้เชี่ยวชาญที่มาให้คำแนะนำด้วย
ตอนที่เราสัมภาษณ์ เห็นใบสมัคร เราก็พอรู้ว่าทัศนคติเค้าเป็นยังไงพอสมควรนะ จากจุดนั้นเราเลยเลือกเมนเทอร์หลายๆ คนที่เราเชื่อว่าเขาจะมาช่วยโค้ชได้** แค่นี้เลย ตั้งหลักที่เมนเทอร์ที่เชิญมาจะมาช่วยเขาให้เขามีมุมมองที่กว้างขึ้น หรือเอาประสบการณ์ของเมนเทอร์มาช่วยขยายความคิดเค้า แล้วเป้าเขาจะชัดขึ้น
งานแบบนี้ต้องสะสมเครือข่ายเนอะ
แน่นอนสิคะ ดิฉันเล่าไปแล้วว่าทำงานมากี่ปี (หัวเราะ)
เวลาเจอคนที่ตั้งใจทำงานประเด็นสังคม แต่อาจมองปัญหาเดียวกันไม่เหมือนกับเรา เชื่อไม่เหมือนกัน แล้วทำให้เกิดการปะทะทางความคิด เราทำยังไง
ฟัง ไม่ตัดสิน ถ้าตัดสินเราจะทำงานด้านการเปลี่ยนความคิดคนไม่ได้ แล้วเขาจะงงว่าทำไมเขากลายเป็นคนผิดวะ บางทีมันมีที่มาที่ไปนะที่ทำให้เราคิดต่างกัน ก็แค่ถามกันอะ เหมือนเราฟังเพื่อนแล้วไม่เข้าใจว่าทำไมเขาคิดแบบนี้ อยากรู้อะ ตั้งต้นแบบนี้มันก็อยากฟังเขามากกว่านะ ถามไปสิ ‘ทำไมคิดแบบนั้นวะ แล้วเอ็งรู้มั้ยมันมีคนคิดแบบนี้ด้วย’ พี่ก็คุยแค่นี้ แล้วถ้าเขาอยากคุยต่อเราก็คุย แต่ถ้าเขาไม่อยากรู้พี่ก็จบ โอเค เข้าใจ
การหล่อหลอมแบบมอส. หรือ SYSI มันเชื่อเรื่อง ‘คนเป็นคน’ ว่าคนจะไม่เปลี่ยนเพราะถูกยัดว่าอะไรผิดอะไรถูก ไม่เชื่อเรื่องดีงามร้อยเปอร์เซ็นต์ การทำงานตลอดมามันเลยเป็นลักษณะของการเข้าๆ ออกๆ อยู่ตลอดเวลา เป็นพื้นทีเสรีภาพ เป็นพื้นที่เปิดอยู่เสมอขึ้นอยู่กับเขา
แม้ว่าเราจะบอกว่ามันไม่มีผิดถูก แต่จริงๆ มันก็มีกรอบการเดินทางบางอย่างอยู่ มีธงบางอย่างที่เราอยากให้เขาไปถึง จริงๆ มันก็การผิดหรือถูกอยู่ดีไหม
ผิดหรือถูก แปลว่ามีคนสถาปนาว่าอันนี้คือผิดหรือถูกไง แต่เค้าจะรู้เองว่าที่ทำอยู่มันมาผิดทางรึเปล่า เข้าใจมั้ย? มันไม่ใช่แบบ…ผิดหรือถูกอะ มันจะเป็นแค่ ‘เฮ้ย ที่เราทำกันอยู่ มันผิดทางรึเปล่าวะ’ เราจะให้เครื่องมือพวกนี้ตรวจสอบและตั้งคำถามกับตัวเองมากกว่าว่าที่ทำอยู่ผิดทางรึเปล่า ถ้ามาถูกทางสัญญาณมันไปทางไหน ผิดทาง สัญญาณจะไปทางไหน แล้วเอ็งก็ลองใคร่ครวญวิเคราะห์มันดูใหม่ว่าตรงนี้มันเกิดอะไรขึ้น แกะมันออกมาให้ได้แล้วเราจะได้หาทางอื่นต่อ
การถากถางทางใหม่ แปลว่าทางนั้นมันยังไม่ถูกมองเห็นนะ จะมองเห็นก็ต่อเมื่อประสบการณ์มันเกิด แล้วจะให้ประสบการณ์เกิดมันก็ต้องถางทางต่อไป (หัวเราะ) คนที่ทำนวัตกรรม ทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน จึงเป็นผู้บุกเบิกไง การบุกเบิกทางใหม่เป็นเรื่องยาก มันท้าทายเรา แล้วมันจะสนุกถ้าเราทำสิ่งที่เรียกว่า ทำไปถอดไป แล้วเรามีเพื่อนร่วมทาง
เวลาเราเน้นว่ามันคือนวัตกรรม เรารู้ว่ามันไม่ง่ายไง มันล้มเหลวง่ายกว่าสำเร็จถูกมั้ย? การที่เขาได้ทำแล้วมีเพื่อน ทำแล้วสนุก ได้พัฒนาตัวเอง ได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาแล้วได้แตะกับความสำเร็จจริงๆ แบบนี้จะยืนระยะได้ยาวขึ้น
ชอบที่บอกว่า การทำนวัตกรรมคือการ ‘ทำๆ ถอดๆ’
มันต้องมีช่วงเวลาการถอดอยู่ตลอดเวลา ทำแล้วต้องมาทวน ไม่มีทางที่จะทำๆ มุดๆ ไปแล้วไม่ทวน ซึ่งตรงนี้แหละ เราต้องมีมันก็ต้องมีพื้นที่ได้ให้เค้าได้ถอด ต้องสร้างพื้นที่ให้เค้าได้มาพูด ไหนเอากลับมาดูซิ กลับมาพรีเซนต์ใหม่ซิ ได้กลับมาเล่า มาพราวด์ มาปรับทุกข์ มาร้องไห้ได้ ได้มาใช้พลังงานร่วมกัน
ถ้า SYSI จะเป็นพื้นที่อะไรสักอย่าง ก็คงเป็นพื้นที่ให้คนหนุ่มสาวได้มีความมั่นใจที่จะรับผิดชอบสังคมนี้ด้วยตัวเองแบบจริงๆ เราอยากทำให้ความต้องการเขามันทะลุไปเลยว่าเราหวังกับตัวเองได้ อยากเห็นมันเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองได้ และเรานี่แหละเป็นพลัง
เรียกว่าในกระบวนการ ฝึกฝนความเป็นมนุษย์หนักมากเหมือนกัน
นี่ก็เป็นคำถามที่เราถามกันในวงหนักเหมือนกัน เราเปลี่ยนแปลงความคิดกันตอนไหน อะไรที่ทำให้เราเป็นเราวันนี้ อะไรคือจุดเปลี่ยน (turning point) ของเรา อะไรที่มันสำคัญสำหรับเราในชีวิต เอาจริงๆ นะ นี่เป็นบทสนทนาปกติของคนรุ่นใหม่เลย
จากที่ออกแบบค่ายมา มองเห็นการเปลี่ยนแปลงยังไงของคนรุ่นใหม่ หรือคนแต่ละรุ่นบ้าง
ถ้าสมัยก่อนน้องจะเชื่อพี่ เชื่อประสบการณ์ เชื่อข้อมูล แต่ปัจจุบันมัน…ไม่ใช่ว่าเขาไม่เชื่อนะ แต่เขามีความรู้ของตัวเอง แต่ก่อนถ้าเอาพี่มาพูดเชิงแลคเชอร์ น้องตั้งใจฟังหมดเพราะมันไม่มีโอกาสฟังประสบการณ์อะไรแบบนี้ แบบ…การลงพื้นที่ การไปพบชาวบ้าน ความสัมพันธ์ที่มันลิงก์ต่อกัน มันไม่ได้เกิดง่ายๆ อาจเพราะด้วยความที่แต่ก่อนข้อมูลข่าวสารไม่ได้ถูกแชร์กันอย่างง่ายแบบนี้ด้วยมั้ง มีความ top down อยู่นิดๆ
แต่ปัจจุบันไม่ เถียงด้วย มั่นใจ มั่นใจว่าเราก็รู้บางส่วน คุณก็รู้บางส่วน แล้วโครงการคนรุ่นใหม่นี่เชิญวิทยากรยากมากนะ น้องมันปฏิเสธ ถ้าพี่จะมาแลคเชอร์นี่ไม่เอานะ วอล์กเอาท์ก็มี โอ๊ย…อย่าให้เล่าเยอะ (หัวเราะ) แต่สนุก ชอบความดื้อของคนรุ่นใหม่
ในฐานะคนออกแบบกระบวนการ การสร้าง social innovator ในยุคนี้มีปัจจัยอะไรที่ที่ต้องคำนึงมั้ย
เรื่องที่เราจะ ‘ไม่ทำ’ นี่แหละ ซึ่งมันก็ชัดเนอะ คือการระวังคำพูดของตัวเอง ว่าคำพูดที่ออกไปของเรานี้พูดเพื่อเราหรือเพื่อเขา พูดเพื่อเราให้ได้โชว์ภูมิหรือเพื่อให้เขาได้เรียนรู้ มันต้องเท่าทันตัวเอง
และการ ‘ไม่ทำ’ อีกอย่างคือ การไม่ยัดเยียดข้อมูล และ การฟังโดยไม่ตัดสินและตีความ แค่นี้แหละ พื้นฐานสำคัญในการการออกแบบกระบวนการ คือถ้าเราเชื่อในประชาธิปไตยนะ การออกแบบกระบวนการมันก็ต้องไปในทางนั้น การไม่ตัดสินและตีความ การทำพื้นที่ที่เค้าได้รับความเคารพ ซึ่งมันสำคัญมาก เวลาทำตรงนี้ ทำแล้วเค้าไปใช้กับชีวิตได้ ใช้กับทุกคน
เอาเข้าจริงแล้ว บทบาทของ SYSI คล้ายทำงานเป็นผู้สนับสนุน (supporter)
พูดแบบนั้นก็ได้แต่คิดว่าไม่พอ เพราะการทำนวัตกรรมมันไม่ง่าย คนชอบพูดว่าคนรุ่นใหม่มีพลัง ทำอะไรก็ได้ แต่เรารู้ว่ามันไม่ค่อยมีคนรับผิดชอบเวลาที่เค้าล้มเหลว ไม่ค่อยมีคนไปกอบกู้เขา เราต้องรู้ว่ามันไม่ง่ายเพราะเราผ่านประสบการณ์เหล่านี้ด้วยตัวเอง เราต่างเคยเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไปแกะจนเจอว่ามันต้องมีเพื่อน พี่ น้อง ที่ต้องประคับประคองกันในบางสภาวะ สร้างพื้นที่ให้เค้าตั้งหลักได้ เป็นแค่ supporter ไม่พอ แต่ต้องเป็นคนที่เชื่อมั่นว่าถ้าจะปลูกต้นไม้ ต้องทำให้ดินพร้อมปลูกต้นไม้ที่ต่างกันให้ได้ ให้รู้ว่าที่นี่มันพร้อมที่ต้นไม้จะโตได้ด้วย ก็เหมือนการออกแบบให้พื้นที่เหล่านี้มันเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่การซัพพอร์ตอย่างต่างคนต่างมา แต่เรารู้สึกว่าเราแค่อยากสร้างพื้นที่ที่ให้ทุกเมล็ดพันธุ์เติบโตและโตแบบเป็นตัวของตัวเองด้วย โตบนความหลากหลาย ให้เป็นเหมือนป่าธรรมชาติ
มันอุดมคติ
ก็อุดมคติแต่มันต้องใช้จินตนาการ เพราะเป็นเรื่องที่เราสร้างใหม่ และต้องเชื่อด้วยนะ ต้องเห็นด้วยนะว่ามันเป็นอยู่จริง
ท้ายๆ แล้วค่ะ นิยามคำว่านวัตกรรม ว่าอะไร
นวัตกรรมทางสังคมที่พยายามจะออกแบบ สำหรับพี่ มันไม่ใช่แค่ความคิดนะ แต่คือการทำความคิดให้เป็นนวัตกรรมที่สร้างการเปลี่ยนแปลง อะไรก็ได้แต่นวัตกรรมนั้นต้องช่วยยกระดับสังคมขึ้นมา ไม่ใช่ไปขั้วตรงข้าม เช่น ถ้าเราอยากเห็นสังคมประชาธิปไตย เราก็ต้องทำให้เท่ากัน ลดความเหลื่อมล้ำ ในมิติต่างๆ คิดว่านี่เป็นรูปธรรมที่อยากเห็น แบบไหนก็ได้ ถ้าคุณคิดว่าอยากเห็นสังคมดี ต้องตีโจทย์นี้ออกมา แล้วออกมาเป็นการกระทำ
ถ้าได้ยินคำว่า generation of innovator คิดถึงอะไร
SYSI นะ (หัวเราะ) คิดถึงน้องที่ทำๆ เขาถกเถียงแลกเปลี่ยนกันเยอะนะ สิ่งที่เขาทำอยู่ก็เป็นนวัตกรรมที่กำลังทดลองทำสิ่งนี้ ซึ่งก็เป็นสิ่งใหม่ใช่มั้ย ยังอยู่ในบริบทถกเถียงแลกเปลี่ยนและทำไปด้วย หาแนวทางใหม่ๆ ด้วย และยังมีคนที่ทำนวัตกรรมมาเชื่อม มารับงบประมาณไปทำ มันก็ shape ความคิดไปด้วย ซึ่งมันเป็นความน่าสนใจนะถ้า SYSI สามารถเปลี่ยนไอเดียของผู้คนไปสู่นวัตกรรมที่มีรูปธรรมชัดขึ้น คิดว่ามันคงตอบโจทย์และเป็นนวัตกรรมที่เป็นองค์กรของคนรุ่นใหม่ สร้างโดยคนรุ่นใหม่ บริหารโดยคนรุ่นใหม่ ที่จะไปตอบโจทย์ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้เติบโต เกื้อหนุนให้เค้าพัฒนาความคิดและเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยกัน แล้วเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่มีพลัง
*ไผ่ ดาวดิน นักเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยรุ่นใหม่ที่ตั้งใจสื่อสารด้วยสันติวิธี, a-chieve ธุรกิจเพื่อสังคมให้นักเรียนมัธยมทั่วประเทศเลือกเส้นทางการเรียนและอาชีพที่ตนเองรักได้อย่างมั่นใจและตรงกับความชอบ ความถนัดและคุณค่าในชีวิตของตนเอง และ ชูใจคอฟฟี่ กาแฟอินทรีย์ที่ตั้งใจอยากพูดถึงคนทำ ทำผลิต ในฐานะแหล่งอาหารชุมชน **นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (AIDS Access) และตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ รวีวรรณ ศรีทอง ผู้ประสานงานผักประสานใจ โดยใช้หลัก Community Supported Agriculture (CSA) |