- ชวนเด็กๆ เรียนรู้จากธรรมชาติใกล้ตัว ‘ศูนย์การเรียนรู้ ส.เสือวิทยา’ บูรณาการเนื้อหาด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง เชื่อมโยงการสร้างเสริมคุณสมบัติของเด็กในศตวรรษที่ 21 เข้าไว้ในกลุ่มสาระต่างๆ ตามหลักสูตรการเรียนรู้ระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษาของโรงเรียนอนุบาลคลองลาน จ.กำแพงเพชร พื้นที่รอยต่อระหว่างชุมชนกับอุทยานแห่งชาติคลองลาน
- เรียนรู้โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Based Learning) ที่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมศึกษา (Environmental Education) ที่นำไปสู่การมีส่วนร่วม และการลงมือปฏิบัติจริง รวมทั้งเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- “การที่เด็กๆ ตั้งคำถามกับการสร้างถนนผ่านพื้นที่ป่าหรือสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่า เพราะเกรงว่าอาจจะกระทบกับการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า แสดงว่าเขาสามารถวิเคราะห์และเชื่อมโยงโดยการประเมินคุณค่าของกิจกรรมและสิ่งแวดล้อมได้”
รู้ไหมว่าในป่ามีเสือ?
คำถามนี้ถ้าถามคนทั่วไปคงไม่มีความหมายเท่ากับไปถามคนที่ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับพื้นที่ป่า
“ผมอยู่ที่นี่มาสามสิบกว่าปี ไม่เคยรู้เลยว่าในป่ามีเสืออยู่ด้วย” เป็นคำตอบจาก ดร.อุทัย พินิจทะ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลคลองลาน
โรงเรียนอนุบาลคลองลานมีที่ตั้งในตำบลคลองน้ำไหล อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร อันเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างชุมชนกับอุทยานแห่งชาติคลองลาน ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 420 ตารางกิโลเมตร ใน 4 ตำบลของอำเภอคลองลาน รวมถึงตำบลคลองน้ำไหล
ไม่ใช่แค่ผู้อำนวยการโรงเรียนซึ่งเป็นคนต่างถิ่น แต่ย้ายมารับตำแหน่งและเปลี่ยนสถานะเป็นชาวคลองลานในภายหลัง แม้แต่คนที่มีถิ่นฐานบ้านเกิดในพื้นที่แถบนี้ ถ้าถามคำถามเดียวกันนี้เมื่อหลายปีก่อน นอกจากจะไม่รู้แล้วยังไม่มีใครยอมเชื่อว่าในป่าหลังบ้านของตนเองนั้นมี ‘เสือโคร่ง’ อาศัยอยู่จริง
ศูนย์ ‘ส.เสือวิทยา’ ชวนเด็กเรียนรู้จากธรรมชาติใกล้ตัว
“อยากให้เด็กๆ และคนในชุมชนรอบป่ามีโอกาสได้รู้จักและเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าที่มีอยู่ในป่าใกล้บ้าน โดยใช้เสือโคร่งเป็นพระเอกหลักในการสื่อสาร โดยหวังว่าเด็กรุ่นใหม่นี้จะเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์สัตว์ป่าของประเทศไทยต่อไป”
ดร.รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง WWF ประเทศไทย ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง พูดถึงที่มาของแนวคิดในการจัดตั้ง ‘ศูนย์การเรียนรู้ ส.เสือวิทยา’ โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนภายใต้คณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนอนุบาลคลองลาน, WWF ประเทศไทย, อุทยานแห่งชาติแม่วงก์, อุทยานแห่งชาติคลองลาน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท บี.กริมม์ เพื่อให้งานวิจัยไม่ต้อง “ขึ้นหิ้ง” แต่ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างแท้จริงในการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์สัตว์ป่า
โรงเรียนอนุบาลคลองลานเป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายที่มีส่วนร่วมในการทำงานของโครงการฯ กับภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่อย่างใกล้ชิดตลอดหลายปีที่ผ่านมา และยินดีมอบพื้นที่ของโรงเรียนในการจัดให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ทั้งสำหรับนักเรียนกว่า 500 คนของโรงเรียน คนในชุมชน รวมทั้งผู้ที่มาศึกษาดูงานและนักท่องเที่ยว โดยศูนย์การเรียนรู้ ส.เสือวิทยา มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อกลางเดือนตุลาคม ปี พ.ศ.2563
“ทุกคนถามว่านี่เป็นรูปเสือจากที่อื่นใช่ไหม ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นเสือในป่าคลองลาน” ดร.อุทัย พินิจทะ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลคลองลาน เล่ากลั้วหัวเราะเมื่อพูดถึงเสียงสะท้อนจากคนในชุมชนที่เข้ามาเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ ส.เสือวิทยา
ภาพเสือในศูนย์การเรียนรู้ ส.เสือวิทยา คือภาพที่ได้จากกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติซึ่งกระจายติดตั้งทั่วผืนป่า ทำให้เราสามารถนับจำนวนเสือโคร่งโดยแยกแยะจากลวดลาย ซึ่งคนทั่วไปอาจจะคิดว่าเสือโคร่งก็มีลายพาดกลอนเหมือนๆ กัน ที่จริงแล้วลายของเสือโคร่งคืออัตลักษณ์ เช่นเดียวกับหน้าตาของคนเรา
และโดยเหตุที่เสือโคร่งหากินได้ไกลและอาศัยครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ จึงอาจมีการเดินข้ามจากผืนป่าแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง หรือแม้แต่พรมแดนประเทศ ก็สามารถทำได้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าไม่มีพรมแดนสำหรับสัตว์ป่า การนับจำนวนเสือจึงต้องอาศัยข้อมูลที่เชื่อมโยงกันทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน และด้วยการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานทำให้ได้ข้อมูลล่าสุด ว่าประเทศไทยมีเสือโคร่งอยู่ราว 130-160 ตัว นับเป็นความหวังของงานอนุรักษ์เสือโคร่งในประเทศและในภูมิภาคเลยก็ว่าได้
ข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเสือโคร่งและสัตว์ป่าอื่นๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกจะถูกนำเสนอผ่านสื่อประเภทต่างๆ ที่ได้รับการติดตั้งและจัดวางภายในศูนย์การเรียนรู้ ส.เสือวิทยา และสามารถอัพเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีพื้นที่การทำกิจกรรม และรวบรวมผลงานที่เกี่ยวกับเสือโคร่งของนักเรียน อาทิ ภาพวาด บทความ บทกวี ฯลฯ
นอกจากนี้ WWF ประเทศไทย ร่วมกับโรงเรียนอนุบาลคลองลาน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 2 เตรียมที่จะบูรณาการเนื้อหาด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง รวมทั้งเชื่อมโยงการสร้างเสริมคุณสมบัติของเด็กในศตวรรษที่ 21 เข้าไว้ในกลุ่มสาระต่างๆ ตามหลักสูตรการเรียนรู้ของนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษาของทางโรงเรียนอีกด้วย
‘เรียนปนเล่น’ มากกว่าความรู้ คือสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม
สุรศักดิ์ ศรีรัตนาภรณ์ เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ชี้ว่า ศูนย์การเรียนรู้ ส.เสือวิทยา รวมทั้งการบูรณาการสาระการเรียนรู้ในหลักสูตร เป็นการเรียนรู้โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Based Learning) ที่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมศึกษา (Environmental Education) นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อมศึกษายังมีแนวคิดสำคัญ คือจะต้องเป็นการเรียนรู้ที่นำไปสู่การมีส่วนร่วม ซึ่งหมายถึงการลงมือปฏิบัติจริง รวมทั้งเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ดังนั้น สิ่งที่ ส.เสือวิทยาและหลักสูตรบูรณาการทำได้ ในมุมมองของเจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส คือการสร้างความตระหนักและให้ความรู้ โดยจะต้องมีกิจกรรมเสริมเพื่อให้นักเรียนและชุมชนได้เกิดทักษะ และมีส่วนร่วมในงานด้านการอนุรักษ์ เช่น การนำนักเรียนไปทำกิจกรรมเสริมวิตามินและแร่ธาตุโดยการทำโป่งเทียมไว้เป็นอาหารของสัตว์กีบนอกจากนี้ เด็กๆ ที่เริ่มมีทัศนคติและทักษะด้านการอนุรักษ์ ก็อาจคิดกิจกรรมเพื่อสื่อสารให้ผู้ปกครองและคนในชุมชนเห็นความสำคัญของการรักษาป่า และดูแลเสือโคร่งผ่านการงดล่าสัตว์ที่เป็นอาหารของเสือ
“การที่เด็กๆ ตั้งคำถามกับการสร้างถนนผ่านพื้นที่ป่าหรือสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่า เพราะเกรงว่าอาจจะกระทบกับการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า แสดงว่าเขาสามารถวิเคราะห์และเชื่อมโยงโดยการประเมินคุณค่าของกิจกรรมและสิ่งแวดล้อมได้”
“นี่เป็นอีกเป้าหมายที่สำคัญมากของสิ่งแวดล้อมศึกษาด้วยเช่นกัน” สุรศักดิ์ ศรีรัตนาภรณ์ เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส อธิบายถึงขั้นตอนการเรียนรู้ผ่านแนวทางของสิ่งแวดล้อมศึกษา
“เด็กๆ บอกว่าเข้ามาในห้อง ส.เสือ แล้วรู้สึกสบายดี เหมือนไปนั่งในร้านกาแฟที่มีบรรยากาศเป็นป่าๆ เป็นการเรียนปนเล่นที่เด็กๆ ได้เรียนรู้และซึมซับสาระความรู้โดยไม่รู้ตัว ทำให้เราเห็นว่าการเรียนรู้แบบนี้ส่งผลต่อเด็กได้มาก”
ดร.อุทัย พินิจทะ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลคลองลาน พูดถึงประสิทธิภาพของการจัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ภายในโครงการศูนย์การเรียนรู้ ส.เสือวิทยา
สำหรับ WWF ประเทศไทย การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ส.เสือวิทยา เพื่อส่งผ่านงานสิ่งแวดล้อมศึกษาถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการทำงานอนุรักษ์ และถือเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปขยายผลยังพื้นที่แห่งอื่นๆ เพื่อสร้างเยาวชนและชุมชนให้มีสำนึกและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในลำดับต่อไป
เพิ่มเสือโคร่ง เติมความสมบูรณ์ให้ผืนป่า การมีเสือโคร่งอยู่ในป่าสำคัญอย่างไร เพราะทุกวันนี้เราก็เห็นเสือโคร่งทั้งในสวนสัตว์ สวนเสือ หรือแม้แต่ในวัดบางแห่งก็เคยมีมาแล้ว “เสือโคร่งเป็นสัตว์ผู้ล่าที่กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร และใหญ่ต้องการพื้นที่อาศัยขนาดใหญ่ ตัวผู้ตัวหนึ่งใช้พื้นที่หากินประมาณ 200-300 ตารางกิโลเมตร การที่เสือโคร่งจะอยู่ได้ต้องมีอาหารที่เพียงพอและ มีความปลอดภัย ซึ่งอาหารของเสือโคร่งคือสัตว์กีบชนิดต่าง ๆ และสัตว์เหล่านี้จะดำรงชีวิตอยู่ได้ก็ขึ้นกับการมีน้ำมีป่าที่สมบูรณ์ ดังนั้น เสือโคร่งจึงมักใช้เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่บอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า การอนุรักษ์เสือโคร่งจึงเปรียบเสมือนการอนุรักษ์สัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ และระบบนิเวศทั้งหมด เพราะธรรมชาติล้วนพึ่งพาอาศัยกัน ดร.รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง WWF ประเทศไทย พูดถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ที่ซ่อนความหมายในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ดังนั้น การส่งเสริมให้ประชาชน รวมถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเสือโคร่งที่อาศัยในป่า และได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง เป็นหนึ่งในภารกิจของโครงการ ฯ ที่มีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมผืนป่า 4 แห่ง ทั้งนี้ ภารกิจดังกล่าว เชื่อมโยงกับงานของโครงการฯ ในด้านการศึกษาวิจัย และสนับสนุนการทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลพื้นที่อนุรักษ์ในประเทศไทย และรับผิดชอบแผนปฏิบัติการอนุรักษ์เสือโคร่งแห่งชาติ พ.ศ.2553-2565 ที่มีเป้าหมายในการเพิ่มประชากรเสือโคร่งร้อยละ 50 ตามที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ในการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยการอนุรักษ์เสือโคร่งที่ประเทศรัสเซียเมื่อปี พ.ศ.2553 |