- สตีเฟน ดูนิเยร์ ชายวัย 50 ปี บอกอย่างตรงไปตรงว่าไม่ใช่คนเก่ง และเป็นคนสมาธิสั้น โฟกัสสิ่งใดได้ไม่เกิน 5-10 นาที ทำให้เกรดที่ได้คงเส้นคงวามาตลอดคือ C กับ C- เขาจึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับศักยภาพ (Potential) ของตัวเอง
- การย่อยงานชิ้นใหญ่ ออกมาเป็นงานชิ้นเล็กๆ เพื่อการจัดการบริหารที่ได้ง่ายขึ้น ตามด้วยการลงมือทำ แล้วลองปรับปรุง เปลี่ยนแปลงทีละนิด นี่คือวิธีที่ทำให้ดูนิเยร์หาเป้าหมายของตัวเองเจอ
- ชายสมาธิสั้น ผู้ไม่สามารถโฟกัสกับอะไรได้นานคนนี้ กลายมาเป็นคนสร้างสรรค์โปรเจคศิลปะ เจ้าของกินเนสส์เวิลด์เรกคอร์ดส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ศาสตราจารย์ นักวางแผนยุทธศาสตร์ โค้ช และอื่นๆ อีกมากมาย เพราะเขาลุกขึ้นมาแล้ววิ่งไปหาเป้าหมาย แทนที่จะใช้เวลานอนอยู่บนโซฟา ดูทีวี เลื่อนหน้าจอมือถือไปมา
โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว!
เราได้ยินคำกล่าวนี้บ่อยแค่ไหน?
“บ่อยมากกกกกกกกกกกกกกกก” เชื่อว่านี่เป็นคำตอบในใจหลายๆ คน
แม้จะหามาตรวัดความเร็วของการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ แต่ยุคสมัยทำให้มุมมองความคิดของผู้คนต่างออกไปจากเดิมอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะวิธีคิดเรื่อง ‘ความสำเร็จ’
ความสำเร็จไม่ได้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับตัวเลขในบัญชีเท่านั้น แต่รวยเร็ว ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ลาออกจากงานประจำแล้วจะรวย กลายเป็นเป้าหมาย (goal) ที่สร้างกระแสกดดันคนรุ่นใหม่ และคนยุคใหม่ ให้ไขว่คว้าและวิ่งเข้าหาความสำเร็จแบบดังกล่าว
เรามองผลสำเร็จที่ปลายทาง มากกว่าวิธีการไปถึงเป้าหมาย หรือกระบวนการให้ได้มาซึ่งความสำเร็จนั้น
นี่ยังไม่นับรวมความเครียดและความกังวล เมื่อค้นหาตัวเองไม่เจอ และไม่รู้ว่าความหลงใหล หรือ passion ของตัวเองคืออะไร ในขณะที่ใครๆ ก็บอกว่า ต้องรู้จักตัวเอง รู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร แล้วลงมือทำอย่างมี passion ถึงจะสำเร็จ ซึ่งก็จริง…แต่ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน?
วันนี้ The Potential มาชวนทุกคนลองคิด แล้วลงมือเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ทำในแต่ละวันทีละนิด เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงศักยภาพของตัวเอง เพราะเราเชื่อมั่นว่าคุณทำได้!
ผู้ชายคนหนึ่งชื่อ สตีเฟน ดูนิเย่ร์ (Stephen Duneier) ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไรนักที่จะนิยามชายวัย 50 ปีคนนี้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณรู้จักเขาตอนไหน แล้วตอนนั้นเขาสนใจทำอะไรอยู่
บางคนนิยามว่าเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ขณะที่หลายคนรู้จักเขาในบทบาทศิลปินจัดวาง (installation artist) ที่สร้างสรรค์ชิ้นงานขนาดใหญ่มานักต่อนัก หรือแม้แต่ผู้คลั่งไคล้กิจกรรมโลดโผนกลางแจ้ง เป็นศาสตรจารย์ นักวางแผนยุทธศาสตร์ โค้ช ผู้นำทางธุรกิจ นักเขียน นักพูด หรือ หนึ่งในบุคคลที่ได้รับการบันทึกจากกินเนสส์เวิลด์เรกคอร์ดส์ (Guinness World Records)
ถ้าถามดูนิเย่ร์ เขาจะบอกว่า “ไม่สำคัญว่าคนจะรู้จักเขาในฐานะไหน แต่วิธีการที่นำไปสู่การตัดสินใจทำอะไรสักอย่างหนึ่งของเขา (an approach to decision making) เปลี่ยนเขาจากคนที่เคยมีปัญหาติดขัด แม้กระทั่งกับการทำเรื่องธรรมดาๆ ในชีวิต มาเป็นผู้ชายที่ทำอะไรก็ได้ และประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่อง บางอย่างเป็นความฝันที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ก็ทำให้เป็นจริงได้”
เมื่อวิธีเดิมๆ ไม่เวิร์ค ต้องกล้าเปลี่ยน
บนเวที TEDxTucson เมื่อ 2 ปีก่อน ณ เมืองทูซอน ทางใต้ของรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ดูนิเย่ร์ ขึ้นพูดในหัวข้อ “How to Achieve Your Most Ambitious Goals” หรือ วิธีการไปให้ถึงเป้าหมายสูงสุดของตัวเอง
สิ่งที่ ดูนิเย่ร์ ทำและแนะนำให้ทุกคนลองทำ เป็นวิธีการที่ใครๆ ก็ทำได้ เขาบอกว่าเราทุกคนสามารถทำในสิ่งที่อยากทำ และคว้าเป้าหมายที่ฝันไว้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีพรสวรรค์ (talent) หรือมีความพิเศษ (magical skill) ใดๆ ติดตัว เขาย้ำ ถึงตัวเองอยู่หลายครั้งว่า เขาไม่ใช่คนเก่ง แถมยังเป็นคนสมาธิสั้น ที่ไม่สามารถโฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานเกิน 5-10 นาที และเป็นเด็กที่ทำคะแนนได้เกรด C กับ C- มาอย่างคงเส้นคงวา
แต่เมื่อโตขึ้น เขาตัดสินใจเปลี่ยน… “ถ้าอยากเปลี่ยนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราต้องเปลี่ยนวิธีการ (approach)”
เมื่อใช้วิธีการเรียนแบบเดิม แล้วทำได้แค่เกรด C กับ C- เขาต้องเปลี่ยนวิธีเรียน ดูนิเย่ร์ คิดกับตัวเอง
ดูนิเย่ร์ ยกตัวอย่างประสบการณ์ตรง เมื่อได้รับโจทย์ให้เตรียมอ่านบทความ 5 บทก่อนเข้าห้องเรียน
แทนที่คิดว่าต้องอ่าน 5 บท หรือ 1 บท เขาเริ่มต้นจากการประเมินศักยภาพของตัวเอง สำหรับคนที่โฟกัสได้แค่ 5-10 นาทีอย่างเขา 3-4 ย่อหน้าสำหรับการอ่านแต่ละครั้งคือคำตอบ เขายอมรับว่า หลังจากอ่านจบแต่ละครั้ง เขาก็หันไปสนใจทำอย่างอื่น เช่น เล่นเกม โยนห่วง หรือวาดรูป แล้วกลับมาอ่านใหม่
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับศักยภาพของตัวเอง แม้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ แต่ทำอย่างต่อเนื่อง ทำให้จากนั้นเป็นต้นมา เขากลายเป็นนักเรียนเกรด A และ A+ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในสาขาการเงินและเศรษฐกิจด้วยเกียรตินิยม
แต่นั่นไม่ใช่ผลลัพธ์ความสำเร็จเดียวในชีวิตของเขา จากการลงมือทำด้วยวิธีการดังกล่าว
ดูนิเย่ร์ ย้ำว่า เราต้องสร้างความเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวัน แล้วลงมือทำทีละเล็กทีละน้อยในทุกๆ วัน (The marginal adjustment/ improvement to your daily life)
ทำเรื่องใหญ่ให้กลายเป็นเรื่องเล็ก แล้วเรื่องเล็กจะกลายเป็นเรื่องใหญ่
จากการพิสูจน์ด้วยตัวเองมานักต่อนัก อย่างน้อยๆ ก็ร่วม 20 ปี ดูนิเย่ร์บอกว่า ไม่ว่าเป้าหมายจะใหญ่แค่ไหน การทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็กนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้แน่นอน ‘ย่อยงานชิ้นใหญ่ ออกมาเป็นงานชิ้นเล็กๆ ที่สามารถบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น ลงมือทำ แล้วลองปรับปรุง เปลี่ยนแปลงทีละนิด’
ตั้งแต่ราวปี 2001 เป็นต้นมา ดูนิเย่ร์ นำวิธีการนี้มาใช้อย่างต่อเนื่องในอาชีพของเขา ทั้งในบทบาทนักลงทุนที่ทำงานให้กับธนาคารแห่งอเมริกา หัวหน้าฝ่ายการตลาดเกิดใหม่ บริษัท เอไอจี ในระดับโกลบอล และงานด้านการลงทุนและการจัดการกลยุทธ์ในบริษัทชั้นนำระดับโลกอีกมากมาย
“ในเมื่อวิธีการนี้ใช้กับการเรียนของผมได้ ใช้กับการทำงานของผมได้ ก็ต้องใช้กับชีวิตส่วนตัวของผมได้เหมือนกัน” ดูนิเย่ร์ กล่าวถึงวิธีคิดของเขา
ดูนิเย่ร์ เล่าว่า ช่วงหนึ่งของการทำงานในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เขาใช้เวลาเดินจากบ้านไปทำงานประมาณ 45 นาที นั่นเท่ากับ
1 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน
7 ชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์
30 ชั่วโมงต่อเดือน
และ 360 ชั่วโมงใน 1 ปี
จากที่เคยใช้เวลาเหล่านั้น เดินฟังเพลงจาก iPod ไปเรื่อยๆ ทุกวันจนถึงที่ทำงาน วันหนึ่งดูนิเย่ร์ ตัดสินใจเดินเข้าร้านค้า ซื้อแผ่นซีดีสอนภาษาเยอรมัน 33 ชุด ดาวน์โหลดเก็บใส่ไว้ใน iPod
แต่เพราะรู้ว่าตัวเองเป็นคนสมาธิสั้น ไม่มีวินัยมากพอ ซึ่งอาจเหมือนคนอื่นทั่วๆ ไป ถึงจุดหนึ่งเขาอาจเปลี่ยนโหมดการฟังจากบทเรียนภาษากลับมาฟังเพลงได้อีก เพื่อไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เขาจึงลบเพลงทั้งหมดออกจากเครื่อง ความรู้จักตัวเองทำให้เขาตัดสินใจทำสิ่งที่ควรทำ
ภายใน 10 เดือน ดูนิเย่ร์ ฟังซีดีสอนภาษาไปทั้งหมด 3 รอบ แล้วเดินทางไปยังกรุงเบอร์ลิน เยอรมันนี เพื่อเข้าเรียนคอร์สภาษาเยอรมันเข้มข้น 16 วัน
“หลังจากจบคอร์ส ผมให้ลูกกับภรรยามาเจอผมที่เบอร์ลิน เพื่อที่เราจะได้เที่ยวต่อด้วยกัน ผมพูดภาษาเยอรมันกับคนท้องถิ่น นั่นทำให้ลูกผมประหลาดใจมาก…ผมไม่ได้ทำอะไรที่พิสดารเลย แต่สิ่งที่ผมทำคือ การเปลี่ยนและปรับปรุงสิ่งเล็กๆ ที่ทำในทุกๆ วัน”
ยังไม่พอ เขายังไม่หยุดแค่นี้ ดูนิเย่ร์ ทดลองทำสิ่งต่างๆ มากมาย เพื่อท้าทายศักยภาพของเขา ไม่ว่าจะเป็น
นักแข่งรถ ขับเฮลิคอปเตอร์ ปีนเขา เทรคกิ้ง กระโดดร่ม ปั่นจักรยานล้อเดียว เดินทรงตัวบนลวดเส้นเดียว ฯลฯ เขาบอกว่าชื่นชอบกีฬากลางแจ้ง และเพราะความตั้งใจลดน้ำหนัก เลยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวเอง
นอกจากนี้ผู้ชายสมาธิสั้นที่ยังคงไม่สามารถโฟกัสกับการทำอะไรได้นานคนนี้ ยังได้หันมาถักนิตติ้ง จนสร้างสรรค์โปรเจคศิลปะจัดวางขนาดใหญ่มากมาย และยังเป็นเจ้าของกินเนสส์เวิลด์เรกคอร์ดส์ แขนงใหม่ หลังจากถักโครเชสี่เหลี่ยมที่ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นมาได้ โดยใช้เวลา 2 ปี 2 เดือนกับอีก 17 วัน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นดูนิเย่ร์ ได้รับการปฏิเสธจากกินเนสส์ฯ อยู่หลายครั้ง เพราะไม่มีแขนงงานโครเชอยู่ในบันทึกมาก่อน แต่เขาก็ขออุทรณ์และทำได้สำเร็จ
“คุณจะนอนอยู่บนโซฟา ดูทีวี เลื่อนหน้าจอมือถือไปมา เล่นเฟซบุ๊คอยู่ในบ้าน หรือจะเลือกวางทุกอย่างลง แล้วเปิดประตูออกไป ก้าวที่หนึ่ง ก้าวที่สอง ก้าวที่สาม ไม่สำคัญว่าเป้าหมายคุณคือการทำอะไร แต่มันต้องเริ่มจากการลงมือทำทีละเล็กทีละน้อย คุณไม่มีทางขึ้นไปพิชิตยอดเขาได้ ถ้าคุณไม่เริ่มจากก้าวที่ลุกออกมาจากโซฟาตัวนั้นในบ้านของคุณ”
เรื่องราวของ ดูนิเย่ร์ ไม่ต่างจาก โนวัค ยอโควิช (Novak Djokovic) นักเทนนิสมือวางอันดับหนึ่งของโลกคนปัจจุบันชาวเซอร์เบีย กว่าจะขึ้นมาเป็นมือวางอันดับหนึ่งของโลก เขาเคยเผชิญช่วงเวลาที่หนักหนามากที่สุดเวลาหนึ่งในชีวิต สถิติตั้งแต่ปี 2011 ถึงปี 2016 ยอโควิช คือ นักกีฬาเทนนิสที่เอาชนะได้ยากมาก แต่ในช่วงปีก่อนหน้านั้น เขามีปัญหาเรื่องอาการหมดแรงระหว่างแข่งขัน ซึ่งนักโภชนาการส่วนตัว ดร.อิกอร์ เจโตเชวิก (Dr.Igor Cetojevic) บอกว่า เกิดขึ้นจากระบบการย่อยอาหารไม่สมดุล
ผลจากการตรวจเลือดพบว่าร่างกายของยอโควิชไม่ถูกกับกลูเตน (Gluten) ข้าวสาลี ผลิตภัณฑ์จำพวกนม (Dairy Products) รวมถึงมะเขือเทศ ด้วยเหตุนี้ ณ ช่วงเวลานั้น เพื่อให้กลับมาเป็น 1 ใน 5 มือวางลำดับต้นๆ ในวงการเทนนิสให้ได้อย่างมั่นคง ยอโควิชมีแรงกระตุ้นและแรงจูงใจแห่งความสำเร็จในการปรับพฤติกรรมการกินอาหาร เขาตัดอาหารจำพวกขนมปังและชีสออกจากเมนูการกิน แต่ผลลัพธ์ของความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายไม่ได้เกิดขึ้นอย่างถาวรในทันที แม้จะรู้สึกดีขึ้นหลังจากลงมือควบคุมอาหารในช่วงแรกก็ตาม
ยอโควิช ใช้เวลาฟื้นตัวอยู่ 12 เดือน ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเมนูอาหารจนเหมาะสมกับตัวเอง และฟิ้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายด้านอื่นๆ จนกลับมามีสุขภาพที่ดีขึ้น รู้สึกตื่นตัว และเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังทางกายและทางใจ แล้วเขายังคงทำอย่างนั้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นนักเทนนิสมือวางอันดับหนึ่งที่ยากจะต่อกรได้อย่างสง่างาม
นี่คือ ผลของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตทุกวันจนกลายเป็นความสำเร็จ ส่วนชื่อเสียงและเงินทองเป็นผลพวงที่ได้จากความอดทนและความพยายามอย่างต่อเนื่อง
แน่นอนว่าเงินเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยอำนวยความสะดวก สร้างความสบาย และตอบสนองความต้องการได้มากมาย แต่ความสำเร็จที่สร้างแรงพลังให้ชีวิต อาจไม่ใช่จำนวนตัวเลขในบัญชีเสมอไป แต่เป็นความสำเร็จจากการเอาชนะตัวเอง และสร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวเองได้ จากสิ่งที่ลงมือทำในทุกๆ วัน
ทั้งดูนิเย่ร์ และยอโควิช แสดงให้เห็นว่า การมี passion หรือความหลงใหล คือ การเดินหน้าลงมือทำสิ่งที่สนใจหรืออยากทำอย่างต่อเนื่อง แล้วเติม passion ใส่การลงมือทำนั้นทุกวันๆ หากอดทนได้มากพอ วันหนึ่งเค้าลางความสำเร็จย่อมแจ่มชัดขึ้น
ที่สำคัญความสนใจหรือความฝันที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องมีเพียงอย่างเดียว เหมือนอย่างที่ดูนิเย่ร์ท้าทายตัวเองด้วยความสนใจใหม่ๆ อยู่เสมอ แล้วไม่จำเป็นว่าต้องมีเงินเท่านั้นถึงจะทำได้ เพราะความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแห่งยุคสมัย ได้สร้างสรรค์พื้นที่และช่องทางให้เราเข้าไปศึกษาเรียนรู้ได้ โดยไม่กระทบเงินในกระเป๋า
“A journey of 1000 miles starts with just 1 step.”
การเดินทางนับพันไมล์ เริ่มต้นจากก้าวแรกที่ย่างเดิน