- ศิลปินไม่ต้องทำเรื่องใหญ่โต รู้ลึก รู้ดีที่สุดคือเรื่องที่เกิดกับตัวเราเอง เท่านี้ก็สั่นสะเทือนโลกได้แล้ว
- ศิลปะอาจง่ายกว่าที่คิด เพียงเรื่องเล่าในชีวิตจริงหรือแม้แต่สิ่งของในบ้านก็สามารถนำมาเล่านิทานหรือสร้างงานละครได้ เมื่อมีการสร้างงานศิลปะอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ศิลปะก็จะงอกงามเติบโตในใจทุกคน
- งานศิลปะจำเป็นต้องลงมือทำ ไม่มีโอกาสก็สร้างโอกาสขึ้นมา เพื่อให้ศิลปินและผู้ชมได้ร่วมเติบโตไปพร้อมกัน
ภาพ: ศุภจิต สิงหพงษ์
ศิลปะเป็นเรื่องง่ายกว่าที่คิดและอยู่รอบตัวเรา เช่น สิ่งของในชีวิตประจำวันหรือเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงก็สามารถนำมาเล่านิทานหรือสร้างงานศิลปะได้ พ่อแม่สามารถนำไปเล่นกับลูกที่บ้านได้ นอกจากนี้ศิลปะที่สร้างจากเรื่องราวในชีวิตจริงก็สามารถเยียวยาผู้คนได้
ไฟบนเวทีสลัวราง เห็นภาพพลิ้วไหวของขนนกบางเบาที่ถูกนักเชิดหุ่นขยับเคลื่อนไหวราวกับปลาใต้ทะเลลึก จากนั้นเริ่มขยับลงจากเวทีมาสู่ที่นั่งและในอุ้งมือของผู้ชม และแล้วเวทีก็เปลี่ยนฉากไปเป็นเรื่องราวของท้องฟ้าและผืนน้ำที่รักกันแล้วความรักแตกสลาย ต่อเนื่องกับความสัมพันธ์ของสองพี่น้องที่อยู่กันคนละฝั่งฟ้าและท้องทะเล ต้องผจญกับฉลามร้ายและสัตว์ประหลาดใต้น้ำที่จะต้องฝ่าฟันไปด้วยกัน ผ่านการใช้ข้าวของในชีวิตประจำวันอย่างฟองน้ำขัดตัว มีดพลาสติก ถุงมือกันร้อน แปรงขนาดต่างๆ หรือไม้ขนไก่แสดงเป็นฉากและตัวละครใต้ทะเลให้ผู้ชมได้จินตนาการตามไปด้วย
เมื่อเปลี่ยนฉากอีกครั้ง จากเวทีละครหุ่นก็กลายเป็นเวทีแสดงละครใบ้อีกหลายชุดที่ใช้เทคนิคการแสดงมากมายประกอบกับการมีส่วนร่วมของผู้ชมเคล้าเสียงหัวเราะ สร้างหลากหลายอารมณ์ผสมผสาน ทั้งตลก สนุก เศร้า ซาบซึ้ง ตลอดระยะเวลาการแสดง 1 ชั่วโมงเต็ม
นี่คือการแสดงชื่อ ‘Puppetomime’ ที่เต็มไปด้วยศิลปะหลากหลาย ชื่อการแสดงมาจากการที่มีศิลปะละครหุ่นและละครใบ้มาแสดงเรียงร้อยต่อกันกลายเป็นคำว่า Puppet – to – mime โดยมีนักแสดง 3 คนที่ต่างความชำนาญ ต่างประสบการณ์ ต่างที่มามาร่วมทำงานร่วมกัน ประกอบด้วย ธา-ณัฐพล คุ้มเมธา หนึ่งในสมาชิกคณะละครใบ้ Babymime ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศไทย และอาชีพหลักตอนนี้เป็นคุณพ่อลูกสอง, แจ๋-สิริกาญจน์ บรรจงทัด นักละครหุ่นมากประสบการณ์กว่า 17 ปี ผู้ก่อตั้งกลุ่มละคร Puppet by JAE มีผลงานการแสดงละครหุ่นทั้งในและต่างประเทศ ล่าสุดเขาได้รับทุนจาก Asian Cultural Council (ACC) ไปเรียนการทำละครหุ่นที่อเมริกา และนำประสบการณ์จากการเรียนมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการแสดงชุดนี้ และ เอื้อง-อาริยา เทพรังสิมันต์กุล บัณฑิตคณะศิลปกรรมศาสตร์สาขาการละคอนจากรั้วเหลืองแดง ปัจจุบันเป็นนักแสดงอิสระและหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มละครเด็กชื่อ ‘Yellow Fox Theatre’
จุดเริ่มต้นของ Puppetomime มาจากละครที่ธาทำร่วมกับลูกชายเรื่อง ‘ความสัมพันธ์ในครอบครัว’ นำมาทดลองและปรับปรุงใหม่ประกอบกับละครหุ่นและชุดการแสดงย่อยๆ อีกหลายชุดของแจ๋และธา ซึ่งเมื่อทดลองซ้อมแล้วพบว่าคนไม่พอ จึงชวนเอื้องที่สนใจเรื่องละครเด็กมาร่วมทำงาน จากนั้นได้เปิดการแสดงครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเซีย ณ เมืองยอร์คจาร์กาตา และเมืองจาการ์ตา โดยบัตรขายหมดเกลี้ยงทั้ง 2 ที่ และคว้ารางวัลละครเด็กยอดเยี่ยมจากเทศกาลละครกรุงเทพในปี 2561 มาครอง
The Potential ชวนทั้งสามคนจับเข่าคุยเรื่องวิธีการสร้างงานศิลปะ และประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้จากการทำงานในครั้งนี้
เบื้องหลังการทำงานท่ามกลางความแตกต่าง
เมื่อศิลปินที่สร้างงานศิลปะต่างแขนง ต่างวัย ต่างที่มามาร่วมทำงานด้วยกัน เป็นเรื่องธรรมดาที่จะไม่เข้ากัน แต่เมื่อดูจากบนเวทีแล้ว การทำงานของ Puppetomime นั้นกลมเกลียวสอดประสานกันกลมกล่อม พวกเขาทำได้อย่างไร
แจ๋เล่าว่า ด้วยความที่ตัวเองเป็นนักละครหุ่น ธาเป็นนักละครใบ้ มีทักษะและวิธีการสร้างงานที่ต่างกัน ก็จะงงๆ กันนิดหน่อย “อย่าง Babymime เขามีไอเดีย แล้วทำอันนี้กัน แล้วใช้ร่างกาย เปลี่ยนปึ๊บๆ ทำได้เลย แต่อย่างละครหุ่นต้องวางแผนตั้งแต่แรก ต้องคิดไว้ก่อนภาพหนึ่งสองสามสี่ห้าจนจบ บางกลุ่มก็สตอรีบอร์ดชัดเจน ค่อยๆ สร้างของขึ้นมาจากตรงนั้น แล้วลองเล่นดู เป็นทักษะร่างกายกับทักษะสร้างของ ก็จะ เอ๊ะเธอจะเปลี่ยนอีกแล้วเหรอ (หัวเราะ)”
แต่ในความแตกต่างก็มีการส่งเสริมกัน เอื้องสะท้อนการทำงานและจุดเด่นของพี่ๆ ว่า
“พี่แจ๋ข้าวของเยอะ มีไอเดีย เป็นคนที่ทำหลายๆ อย่างดูยากซับซ้อนให้ง่ายขึ้น ส่วนพี่ธาจะเป็นเรื่องการเล่าเรื่อง มีมุมมอง personal ที่สร้างเป็นเรื่องน่าสนใจได้ พอมาอยู่ระหว่างสองคนนี้ก็รู้สึกน่าสนใจ ก็ครูพักลักจำวิธีการทำงานที่ต่างกัน มองเขาถกกันไปกันมา”
แจ๋และธาเพิ่มเติมว่า จุดเด่นเรื่องภาษาและการจัดไฟบนเวทีของเอื้องก็มีส่วนช่วยให้การแสดงที่อินโดนีเซียราบรื่นด้วยเช่นกัน เพราะสถานที่จัดแสดงเป็นสถานที่แสดงงานศิลปะที่มีไฟคนละชนิดกับไฟที่ใช้บนเวที
“ทักษะภาษาอังกฤษเอื้องดีมาก คอยช่วยเหลือที่ต่างประเทศ พาร์ทการประสานงานให้น้องเอื้องช่วย คุยกับสเตจ เทคนิค ส่วนหนึ่งเราก็จน (หัวเราะ)”
เรื่องเพศและวัยก็เป็นอีกความแตกต่างหนึ่งที่อาจจะต้องปรับตัวเข้าหากันพอสมควร แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นปัญหาสำหรับ Puppetomime อย่างธาที่เป็นชายเดี่ยวในละครครั้งนี้ก็สะท้อนว่า “ปกติทำงานกับผู้ชาย ง่ายๆ จะทำอะไรก็ทำ ทำงานกับเพื่อนนานๆ จนรู้กัน แต่กับผู้หญิงจะต้องละเอียดอ่อน ต้องมานั่งเรียนรู้ใหม่ น่าสนใจดี”
เอื้องที่เป็นน้องเล็กสุดของทีมก็สะท้อนว่า “การทำงานกับพี่แจ๋พี่ธา ด้วยวัยก็ห่างกันเยอะ แต่พี่เขาให้เกียรติในการออกความคิดเห็น ไม่มี seniority เข้ามา หนูเสนออะไรก็รับฟัง ไม่เห็นด้วยยังไงก็ถก รับฟัง ดีเบต ไม่ได้มองอายุหรือสถานะว่าสำคัญในการทำงาน”
แจ๋เสริม “ที่เป็นแบบนี้เพราะเราไม่อยากแก่ ไม่อยากตั้งกรอบว่าเราเป็นคนยังไง มีกรอบอะไรบางอย่าง ถ้าเขาอายุเยอะกว่าต้องแบบนั้นแบบนี้กับเรา”
“ผมเชื่อว่าเรากำลังสร้างสรรค์อะไรบางอย่าง ถ้าทำให้คนมีความสุข แต่บรรยากาศในการทำงานคุกรุ่น จะเอาพลังงานดีๆ ที่ไหนไปส่งให้คนดู” ธาตบท้าย
ศิลปะง่ายๆ จากสิ่งของและเรื่องราวรอบตัว
แจ๋เล่าวิธีคิดงานใน Puppetomime ให้ฟังว่า เริ่มต้นคือการไป ‘ช็อปปิ้ง’ ก่อน เพื่อนำสิ่งเหล่านั้นมาแสดงแบบ object theatre คือการนำสิ่งของมาสมมุติเป็นตัวละคร ฉาก และสถานการณ์ต่างๆ เพื่อเล่าเรื่อง
“ชวนกันไปดูว่าเรื่องแบบนี้จะใช้อะไรเล่าเรื่องบ้าง อะไรที่เป็นซีนทะเลท้องฟ้าเอาสิ่งของอะไรมาดูได้บ้าง ก็เป็นของในบ้าน ในชีวิตประจำวัน” วิธีนี้เป็นเป้าหมายของแจ๋เองที่อยากทำให้ละครดูเป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับพ่อแม่ที่ไม่ต้องใช้เทคนิคทางศิลปะมากมาย เพียงหยิบข้าวของมาเล่นสมมุติกับลูกก็สร้างความสนุกได้แล้ว
ธายืนยันอีกเสียงว่า “ส่วนตัวที่เป็นพ่อ วิธีนี้ creative มากเลยนะครับ การเอาของในบ้านมาเล่นกับลูก ผมว่าเราใช้เป็นทาง connect กับลูก โดยส่วนตัวชอบเอาของใช้ในบ้านมาเล่นกับลูกอยู่แล้ว”
“ที่ทำอยู่ทุกวันนี้เหมือนไม่สร้างกรอบให้ตัวเอง แล้วคำว่า contemporary สำคัญกับชีวิตคนสมัยนี้ ไม่อยากให้มีอะไรมากรอบ ทำอะไรก็ได้ สร้างสรรค์ขนบขึ้นมาเองก็ได้ อันนี้สำคัญ ถ้าไม่มีพื้นที่ให้ทดลองได้ เราก็จะตามในสิ่งที่กรอบไว้อยู่แล้ว กลายเป็นคนที่ไม่มีคำถาม ไม่กล้าลองอะไร คิดว่าทำไม่ได้หรอก ไม่ดีแบบนั้นแบบนี้ ก็เป็นเป้าหมายที่จะพยายามลองรูปแบบใหม่ๆ เอานู่นเอานี่มาผูกกัน” แจ๋บอก
นอกจากข้าวของในชีวิตประจำวันแล้ว การนำเรื่องราวจากชีวิตจริงมาเล่าเป็นงานศิลปะก็เป็นวิธีหนึ่งในการสร้างงานเช่นกัน ธาเล่าให้ฟังเรื่องที่มาของ ‘นิทานเส้นขอบฟ้า’ ละครย่อยเรื่องหลักในชุดการแสดงว่าเป็นเรื่องราวในครอบครัวของเขาเอง ในตอนที่ธาจำเป็นต้องแยกทางกับแม่ของลูกชายและจำเป็นต้องสื่อสารเรื่องความสัมพันธ์ของผู้ใหญ่ที่เด็กๆ อาจไม่เข้าใจ ซึ่งในช่วงแรกธาเลือกใช้นิทานเป็นเครื่องมือ
“นิทานคือสิ่งที่ดีที่สุดที่จะเล่าให้เขาฟัง เพราะเรากันส่วนที่เขายังไม่ถึงวัยควรรู้และเติมจินตนาการบางอย่างให้กับเขา เล่าความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น มันช่วยเชื่อมโยงผมกับลูก จนตอนนี้เขาโตแล้วก็เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น”
เมื่อทั้งสามคนได้มีโอกาสไปแสดงที่อินโดนีเซีย ได้เห็นการแสดงหลายชุดที่มีวัตถุดิบในการสร้างงานเป็นเรื่องจริงของศิลปินที่บางครั้งก็เป็นเรื่องที่เจ็บปวด แต่ก็สามารถเยียวยาหัวใจทั้งศิลปินและผู้ชมได้
“มีเรื่องคนเยอรมันที่ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงเฉียดตาย ก็สร้างงานที่เกี่ยวกับความตาย” แจ๋เริ่มเล่า
“เขาสูญเสียตาไปข้างหนึ่ง เลยเล่าเป็นเหมือนเซ็ตวงกลมที่จะสื่อถึงวงจรชีวิตด้วย เจอความตาย ผ่านเวลาชีวิตถูกคนรักทิ้ง เกิดแก่เจ็บตาย มีความสุข เผชิญหน้ากับพ่อตัวเอง คือการดีลกับปัญหาชีวิตตัวเอง ฟีดแบ็คคือทั้งคนดูและศิลปินนั้นเป็นการเยียวยาทางหนึ่ง ตราบใดที่ไม่ไปขยี้แผล การที่ศิลปินทำเรื่องนี้ก็ช่วยเยียวยา” เอื้องเสริม
“คิดว่าศิลปินที่เล่าเรื่องส่วนตัวได้คิดว่าเขาจัดการปัญหาได้ในระดับหนึ่งแล้ว นักร้องไม่สามารถร้องเพลงได้ในขณะที่อกหัก เหมือนการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ดูแล้วอยากให้กำลังใจเขา รู้สึกได้ถึงคำว่าเยียวยา สู้ เราเป็นกำลังใจให้นะ มันสวยงามมากเลยนะครับสิ่งนี้” ธาเติม
ธาเล่าย้อนไปถึงเมื่อครั้งลองแสดงละครจากนิทานที่เล่าให้ลูกฟังสู่สายตาผู้ชม แล้วได้รับคำวิจารณ์จากครูช่าง-ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง (ครูละครผู้ก่อตั้งคณะละครมรดกใหม่) ในประเด็นเดียวกันนี้ว่า
“ศิลปินไม่ต้องทำเรื่องใหญ่โต รู้ลึก รู้ดีที่สุดคือเรื่องที่เกิดกับตัวเราเอง เท่านี้ก็สั่นสะเทือนโลกได้แล้ว ผมจำคำของครูช่างมาจนตอนนี้เลย”
พื้นที่ศิลปะ: ไม่เริ่มสร้างก็ไม่เกิด
หลายคนอาจมองว่างานศิลปะเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยและสำคัญน้อยกว่าเรื่องปากท้อง คนที่ทำอาชีพด้านศิลปะก็มักถูกมองว่าเป็นศิลปินไส้แห้ง แล้วพื้นที่ในการแสดงงานศิลปะในประเทศไทยก็ยังมีน้อยอีก ในฐานะที่ทีม Puppetomime เป็นศิลปินมืออาชีพและเคยมีโอกาสไปเห็นพื้นที่ศิลปะในต่างประเทศ เลยอยากรู้ว่าที่ต่างประเทศเขาจัดการกับพื้นที่ศิลปะอย่างไร ศิลปินอยู่ได้ไหม ผู้ชมเป็นอย่างไรบ้าง
แจ๋บอกว่า หลายประเทศที่ไปมาก็มีภาครัฐสนับสนุนศิลปะ เช่น ที่ประเทศอินโดนีเซียทางรัฐบาลสนับสนุนทุนครึ่งหนึ่งในการจัดเทศกาลละครหุ่น หรือในสหรัฐที่มี Center for Puppetry Arts มีการอบรมทำละครหุ่นและพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มละครเอกชนในพื้นที่หลายกลุ่มที่ทำงานต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี และที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็นกลุ่มละครชาวบ้านที่ยังคงมีการซ้อมการแสดงและรอคอยโอกาสขึ้นแสดงเสมอ
“อย่างอินโดนีเซียมันจะมีเทศกาลห้าขุนเขา ที่แต่ละปีคนที่อยู่ตามหมู่บ้านกันดาร ชาวนาชาวไร่ มาทำเทศกาลเอาการแสดงมาร่วมกัน แล้วคนที่หาเช้ากินค่ำ ในแต่ละปีก็จะมารวมกัน เหมือนตอนเย็นๆ ทำงานเสร็จเหนื่อยมากมาซ้อมละครเพื่อประชันในเทศกาล คือมี appreciate ชื่นชมความงาม ทำงานเหนื่อยๆ ก็ปันเวลามาทำ”
แสดงว่าเรื่องปากท้องก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องศิลปะรึเปล่า?
“พี่ว่าเป็น mindset คนไทย หรือไม่ใช่แค่คนไทย แต่มันรู้สึกว่าปากท้องมาก่อน ประเทศบางประเทศลำบากกว่าเรา แต่ไม่คิดว่าศิลปะแยกจากชีวิต ยากจนแค่ไหนก็มีเวลาที่จะอิ่มเอมกับศิลปะได้”
ฟังแล้วก็ชวนให้คิดว่า หากจะเปลี่ยนมุมคิดเดิมๆ ของผู้คนที่มีต่อศิลปะก็ดูจะเป็นเรื่องยาก แต่แจ๋และธามองตรงกันว่า งานศิลปะนั้นจำเป็นต้องลงมือทำ ไม่มีโอกาสก็สร้างโอกาสขึ้นมา เพื่อให้ศิลปินและผู้ชมได้ร่วมเติบโตไปพร้อมกัน
แจ๋เล่าว่า “เพราะไปอเมริกามา บางที่ที่ไปก็ได้ไอเดียว่าถ้าไม่ทำตอนนี้ มันเหนื่อยมาก ยากมาก ถ้าเราไม่เริ่มต้นทำมันก็ไม่เกิด แต่ถ้าทำตอนนี้ก็ยังมีบางโรงละครหรือละครหุ่นบางกลุ่มที่บอกว่าเริ่มตอนนี้ ผลมาอีก 20 ปีข้างหน้า แต่เพราะเขาลงทุนกับ 20 ปีที่แล้วถึงมีผลออกมา แต่ตั้งต้นตอนแรกโคตรยากเลย ท้อใจ จะลงทุนไปทำไมวะ มีคุณค่าจริงเหรอวะ มันเห็นในระยะสั้นไม่ได้เลยอะ”
แจ๋ยกตัวอย่างเพิ่มจากเทศกาลละครหุ่นอินโดนีเซียที่ไปมา “จากปีแรกๆ ที่ไป คนทำหุ่นร่วมสมัยมีน้อยมาก ผ่านมาสามครั้งมีกลุ่มละครหุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้น 5-6 กลุ่ม เป็นการเติบโตที่ดี ผู้ชมเขาก็ถูกสร้างมาให้โตพร้อมๆ กับคนสร้างงาน ดังนั้นจะรู้สึกว่าแสดงอะไรไปคนดูจะทึ่งมาก อย่างเรื่อง Invisible Hand (ละครหุ่นในชุดการแสดง) เหมือนเชียร์มวยอะ ก็รู้สึกว่าละครของเราโอเคละ อย่างนิทานเส้นขอบฟ้าใครมีประสบการณ์ร่วมก็จะน้ำตาไหลไป”
การจัดเทศกาลละครกรุงเทพ ทุกปีของ ตั้ว-ประดิษฐ ประสาททอง ก็เช่นเดียวกัน พี่แจ๋บอกว่า “พอคนรู้สึกว่าศิลปะเป็นเรื่องห่างไกลตัว BTF ก็ช่วยดึงให้คนรู้สึกว่าศิลปะอยู่รอบตัวเรา เข้ามาสัมผัสกับศิลปะได้ส่วนหนึ่ง พอเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ สร้างแรงบันดาลใจ ก็อาจจะเป็นผู้สนับสนุนหรือผู้สร้างงานเอง”
ธาเสริมต่อ “อย่าง Babymime เล่นฟรีทุกปี พี่ตั้วให้เก็บเงินเพราะมีฐานคนดูเยอะขึ้น ก็เกรงใจ มีปีหนึ่งไม่มีเงินก็เก็บบัตร ตั้งแต่ปีนั้นมาก็เก็บบัตร เราเติบโต คนดูก็เติบโต”
“ผมเชื่อเรื่องหมู่บ้านที่ซ่อนอยู่ มีพ่อแม่ที่คิดแบบเดียวกับเราว่าศิลปะมันดี เพียงแต่อยู่หมู่บ้านที่ห่างไกลกัน ขอบคุณสื่อที่เชื่อมโยงให้หมู่บ้านมาเจอกัน ผมเชื่อว่าเราทำ เขาทำ ทุกคนทำ สักวันมันก็จะมาเจอกันครับ แล้วถ้าเราทำอย่างแข็งแรง เหมือนผมวิ่งมาราธอนหันไปไม่เจอใครมันก็จะเริ่มมีหยอมแหยม อีนี่ (ชี้ไปที่แจ๋) ก็วิ่งเว้ย ก็จะฮึดกัน เอ้ยเอาเว้ย มาสิๆ ฮึดกัน” ธาทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม
Puppetomime บอกให้เรารู้ว่าแท้จริงแล้วศิลปะอาจง่ายกว่าที่คิด เพียงเรื่องเล่าในชีวิตจริงหรือแม้แต่สิ่งของในบ้านก็สามารถนำมาเล่านิทานหรือสร้างงานละครได้ ศิลปะอาจไม่ใช่เรื่องซับซ้อนเกินกว่าจะเข้าใจ และไม่จำเป็นต้องมีเงินก่อนถึงจะนึกถึงเรื่องศิลปะ เมื่อมีการสร้างงานศิลปะอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ศิลปะก็จะงอกงามเติบโตในใจทุกคน