- การให้เด็กร่วมทำโปรเจ็คท์จะช่วยเติมเต็มทักษะที่ขาดหายไปได้ เพราะหนึ่งทีมต้องมีสมาชิกที่มีทักษะหลากหลาย ถึงจะก่อให้เกิดงานคุณภาพ บรรลุตามเป้าหมายได้ เด็กจะได้เรียนรู้ทักษะอื่นๆ ที่นอกเหนือจากความถนัดของตัวเอง
- สิ่งที่สำคัญอยู่ที่กระบวนการระหว่างทางมากกว่างานสำเร็จ เพราะระหว่างทางจะหล่อหลอมให้เขาเป็นคนวางแผน รับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่มีค่ามากกว่ารางวัล
- การที่ครูหรือครอบครัวเข้าใจเด็ก และทำให้เขามั่นใจว่าแม้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะถูกหรือผิด แต่ก็ยังมีคนที่พร้อมจะช่วยเหลือ การสร้างพื้นที่ซึ่งมั่นคง เหล่านี้ทำให้พวกเขากล้าที่จะลองผิดถูก และเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
เรื่อง: วรุตม์ นิมิตยนต์
“ไม่ใช่แค่นางสาวไทยเท่านั้นที่รักเด็ก แต่สำหรับคนเป็นครู ทุกคนจะต้องมีความรักเด็กเป็นพื้นฐาน เราเป็นครูก็อยากให้เด็กเติบโต อยากเห็นเด็กมีอนาคตที่ดี ไม่ใช่แค่เด็กในโครงการเท่านั้น เด็กคนไหนมีปัญหามาบอก เราเป็นครูก็ต้องช่วย” นี่คือคำตอบจากอาจารย์ ศรา หรูจิตตวิวัฒน์ หรือ คุณครูฝ้าย เมื่อถามว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเป็นครูคืออะไร
นอกจากเป็นอาจารย์สอนวิชาคอมพิวเตอร์ให้กับนักเรียนโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์แล้ว ครูฝ้ายยังทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้กับน้อง ภีร์ ไอซ์ และเพลง ผู้พัฒนาโปรแกรม ทอ-ไอ-ยอ-ไทย เพื่อเป็นสื่อการสอนวิชาภาษาไทยเรื่องการอ่านสะกดคำให้กับเด็กอนุบาล ถึงประถมศึกษาปีที่ 1 ภายใต้โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่
“โครงการทำให้เด็กๆ พัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อนำไปใช้งานได้จริง ตรงนี้เป็นจุดที่ตัดสินใจได้ง่ายว่าโครงการนั้นมีประโยชน์ สิ่งสำคัญคือมันไม่จบแค่ว่าได้รางวัล แต่งานที่ทำไปถึงมือผู้ใช้ มันเป็นคุณค่าที่เรามองเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก อยากบอกเด็กๆ ว่า หากเราทำอะไรสักอย่างควรที่จะพัฒนามันเพื่อคนอื่น”
ครูฝ้ายกล่าวถึงสาเหตุที่เลือกส่งเด็กเข้าร่วมโครงการต่างๆ หรืองานประกวด เธอรู้สึกว่าสิ่งนี้จะช่วยเติมเต็มทักษะที่ขาดหายไป และเป็นสิ่งที่เด็กไม่สามารถเรียนรู้ได้จากในห้องเรียน ดังนั้นการเลือกเด็กหรือคนที่จะเข้ามาร่วมทีมนั้นเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ และเติบโตไปได้มากยิ่งกว่าที่เป็นอยู่
“เราต้องดู skill ของน้องๆ ว่ามีความสามารถทางไหน เช่น ทำโครงงานก็ไม่เอาคนที่มี skill เดียวกันมาอยู่ด้วยกัน เพราะการทำงานเป็นทีมต้องใช้คนหลาย skill จะก่อให้เกิดงานที่มีคุณภาพ บรรลุตามเป้าหมายได้”
ครูฝ้ายเล่าต่อว่า ทีมที่เข้าร่วมโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ฯ ที่พัฒนาแอพพลิเคชั่น ก็จะเปิดโอกาสให้ทั้งคนที่สามารถเขียนโปรแกรมได้ เป็นคนขับเคลื่อนงานเป็นหลัก ในขณะเดียวกันก็ต้องเลือกคนที่มีทักษะด้านการออกแบบเพื่อให้งานมีความน่าสนใจ หรือมีคนที่ทำหน้าที่ประสานงานก็จะช่วยให้ทีมทำงานกันได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น ทีนี้พอเลือกคนที่จะทำงานได้แล้วอีกส่วนที่สำคัญคือขั้นตอนตั้งต้นในการทำงาน
“จะให้เด็กๆ เสนอกันว่าอยากทำโปรเจ็คท์เรื่องอะไร เราก็คอยชี้แนะ สิ่งสำคัญคือเวลาเด็กทำโปรเจ็คท์อะไร ถ้าทำเพราะเด็กอยากทำเพียงอย่างเดียว ก็จะจบแค่ที่ตัวเขาเอง ไม่รู้ว่าที่ทำไปมีประโยชน์ หรือใช้ได้จริงหรือเปล่า ก็จะพยายามชวนเด็กๆ ลงพื้นที่ไปคุยกับกลุ่มเป้าหมาย เพราะเด็กจะได้เห็นมุมมองที่กว้างขึ้นนอกเหนือจากมุมของตัวเองหรือเพื่อนรอบๆ ตัว จะทำให้โปรเจ็คท์ที่คิดขึ้นมามีประโยชน์ สามารถช่วยแก้ปัญหาได้จริง”
หลังจากนั้นครูฝ้ายก็จะชวนเด็กๆ มาลองแบ่งหน้าที่ และวางแผนการทำงานที่ชัดเจน เพราะทุกคนยังเป็นนักเรียน ซึ่งหมายความว่าจะต้องไม่ให้ผลการเรียนตก รวมถึงการที่มารวมทีมกันนั้น ต่างคนก็มาจากคนละห้อง คนละชั้นปี จึงจำเป็นต้องทำความรู้จักกันให้มากยิ่งขึ้นก่อนที่จะเริ่มงาน
เด็กพร้อมลุย พ่อแม่ต้องพร้อมเข้าใจ
ครูฝ้ายบอกว่า “ต้องคุยกับพ่อแม่อยู่แล้ว ตั้งแต่ต้นก่อนจะทำงานเลย ไม่งั้นเจอปัญหาระหว่างทางแล้วต้องทิ้งงานกลางทาง อันนี้จะแย่ยิ่งกว่า เด็กจะต้องขออนุญาตพ่อแม่ก่อน ทั้งเรื่องที่ต้องกลับบ้านเย็น หรือเสาร์อาทิตย์ต้องมาทำงาน จุดนี้พ่อแม่ยอมไหม รวมไปถึงการทำความเข้าใจกับทางโรงเรียน ครูประจำวิชาอื่นของเด็กๆ ที่ต้องขาดเรียน หรือการใช้ทรัพยากรของโรงเรียนมาสนับสนุน ซึ่งโรงเรียนเองก็ให้การสนับสนุนทุกคนอย่างเต็มที่”
แน่นอนว่าการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ก็ส่วนหนึ่ง แต่เรื่องของปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานนั้นครูฝ้ายให้ความเห็นว่า
“ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของเวลา เพราะเด็กๆ มีการบ้านที่ต้องจัดการเยอะ แต่เราก็จะบอกเสมอว่าเราเหนื่อยเป็นเพื่อน ถ้าไม่ไหวจริงๆ มีปัญหาก็มาคุยกัน เราพยายามทำให้เขาเห็นว่าถึงเขาจะแลกเวลาช่วงนี้กับการไม่ได้ไปห้าง ไปเที่ยว แต่มันจะเห็นผลตอนพวกเขาเรียนมหาวิทยาลัย ได้แต้มต่อจากกระบวนการทำงาน กระบวนการคิด”
“เราขอเขาอย่างเดียว ขอให้รับผิดชอบงานจนเสร็จ ถึงงานจะไม่ดีตามเป้าที่วางไว้ก็ไม่เป็นไร แต่ต้องรับผิดชอบให้จบ อย่าทิ้งกลางคัน มันไม่ใช่แค่การทิ้งงาน แต่มันคือการทิ้งเพื่อน เพราะเราให้ความสำคัญกับกระบวนการระหว่างทางในการสร้างงานมากกว่างานสำเร็จ เพราะสิ่งเหล่านี้จะหล่อหลอมให้เขาเป็นคนวางแผน รับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่มีค่ามากกว่ารางวัล”
หน้าที่ครู ไม่ใช่แค่สอน
ปกติแล้วครูก็มีภาระงานที่ต้องทั้งสอน ทั้งสอบ ทำเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย แล้วพอต้องมาทำหน้าที่เป็นโค้ช ให้คำปรึกษา ดูแลเด็กไม่ต่างอะไรจากลูกของตัวเอง ครูฝ้ายมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ภาระ เพราะปกติก็สอนในห้องอยู่แล้ว การมาทำโครงงานนี้เหมือนเป็นการต่อยอดจากการเรียนการสอนในห้อง
“เราถามเขาว่าอนาคตที่มองไว้อยากเป็นอะไร เราก็มาชวนกันเติมอนาคตให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าที่บอกว่าชอบ มาลองทำแล้วชอบจริงใช่ไหม ทำไปสัมผัสไป ไปเจอคนในวงการ เพื่อดูว่าเขาชอบจริงใช่ไหม ซึ่งเราก็จะได้สนับสนุนไปจนสุดทางของเรา”
“ถ้าถามว่า สอนเหนื่อยมั้ยก็เหนื่อย ยากมั้ยก็ยาก เพราะเจอเด็กหลากหลายประเภท แต่เรามีความสุข ที่อยู่ได้ตรงนี้เพราะเด็ก พอเจอเด็กเปลี่ยนไปในทางที่ดีเราก็รู้สึกดีแล้ว เหมือนพัฒนาเด็กให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีตามที่เราเห็นว่าดี เป็นความสุขของเรา สามารถทำให้เด็กคนหนึ่งจากที่ไม่เป็นอะไรเลย เป็นผู้นำหรือทำงานกับคนอื่นได้ และเป็นคนที่มีค่าต่อสังคม แบบนี้ก็หายเหนื่อย”
“เราไม่ต้องให้เด็กเข้าหา เราเข้าหาเด็กบ้างก็ได้ เราเองก็ต้องมีเรื่องที่เด็กคุยได้ทุกเรื่อง ไม่ใช่ครูที่เข้าใกล้ไม่ได้ เข้ามาคุยกันเลย เปิดใจสบายๆ ไม่ฟอร์มครูจ๋า ทำไงก็ได้ให้เด็กสบายใจที่จะเข้าหาเรา ถ้าไม่อย่างนั้นเวลาเกิดปัญหาเขาจะไม่กล้ามาปรึกษา งานจะไม่เกิด เด็กจะเกรงใจไม่อยากให้ครูเดือดร้อน” ครูฝ้ายกล่าวด้วยรอยยิ้ม
ตลอดช่วงเวลาที่ได้พูดคุยกับครูฝ้าย สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือการที่ครูฝ้ายมักจะเล่าถึงรายละเอียดเล็กน้อย ที่น่าสนใจของลูกศิษย์อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหตุการณ์น่ารักๆ อย่างการงอนกัน หรือการทะเลาะกัน มีปัญหา ร้องไห้ ฯลฯ เรื่องราวเหล่านี้เป็นจุดที่สะท้อนให้เห็นว่า นอกจากการทำหน้าที่เป็นครูที่ปรึกษาภายใต้โครงการแล้ว ครูฝ้าย ยังทำหน้าที่เป็นเหมือนเพื่อนร่วมคิด ร่วมพูดคุย ในการใช้ชีวิตของเด็กๆ มาโดยตลอด
สร้างประสบการณ์ เติมฝันให้เป็นจริง
สิ่งที่ครูฝ้ายทำนั้น สอดคล้องกับพัฒนาการสมองของวัยรุ่นได้อย่างลงตัว คือ การมองเห็นและหยิบเอาศักยภาพที่เป็นจุดเด่นของเด็กมาใช้เป็นจุดดึงให้เขามาทำงาน พร้อมกับเชื่อมโยงประเด็นทางสังคมเข้าไป คือการเชื่อมเรื่องใหม่เข้ากับความคุ้นเคยเดิมของพวกเขา
เปรียบเหมือนสมองที่มีเครือข่ายประสาทที่แข็งแรงในเรื่องหนึ่ง หากไปสร้างโครงข่ายใหม่โดยไม่สนใจเรื่องเดิมเลย เหมือนกับการเรียนการสอนที่แบ่งแต่ละวิชาออกจากกัน ย่อมยากกว่าการเชื่อมโยงสิ่งที่อยากให้พวกเขาสนใจ เข้ากับความสนใจเดิมของพวกเขา เครือข่ายประสาทในสมองก็ย่อมเติบโตและเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า
นอกจากนี้ การที่ให้แต่ละคนร่วมทีมกันโดยที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ก็ส่งผลสำคัญที่มากไปกว่าความสมบูรณ์ หรือความสำเร็จของงาน นั่นคือการที่พวกเขาจะได้เรียนรู้และทำความรู้จักกับผู้คนที่มีพื้นฐานแตกต่างไปจากตัวเอง มีความหลากหลาย ซึ่งไม่ต่างอะไรจากโลกของการใช้ชีวิตที่พวกเขาจะต้องได้เจอข้างหน้า การสร้างพื้นที่เหล่านี้ตั้งแต่วัยรุ่น ทำให้สมองของพวกเขาเกิดการเรียนรู้ทักษะด้านอารมณ์ (soft skill) และจัดวางมันไว้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในอนาคตของพวกเขา
ส่วนสุดท้าย ที่หลายคนมักมองข้ามไปเสมอ นั่นคือการที่ครูหรือครอบครัวนั้นอยู่กับพวกเขา และทำให้เด็กมั่นใจว่าแม้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะถูกหรือผิด แต่ก็ยังมีคนที่พร้อมจะช่วยเหลือ การสร้างพื้นที่ซึ่งมั่นคงเหล่านี้ จะทำให้พวกเขากล้าที่จะลองผิดถูก และเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
ในทางกลับกัน การไม่เปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ทดลอง หรือทอดทิ้งให้พวกเขาเผชิญกับปัญหาโดยไม่มีความมั่นใจ จะก่อให้เกิดความเครียดสะสม ที่จะไปขัดขวางกระบวนการพัฒนา Executive Function ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาสมองของพวกเขาในอนาคต
ดังนั้นแล้วสิ่งที่ครูฝ้ายทำ จึงเป็นมากกว่าแค่ผู้ที่มอบความรู้ให้กับลูกศิษย์ แต่ยังเป็นผู้ร่วมกันค้นหาตัวตนของพวกเขา ดึงเอาศักยภาพที่หลบซ่อนอยู่ออกมา และมอบความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับชีวิตในศตวรรษที่ 21 ต่อไปในอนาคตให้กับพวกเขา
นี่คือ “ครูเพื่อศิษย์” ที่แท้จริง