- “ทำไมทุกคนยอยศพระรามแต่ไม่สนใจว่านางสีดาคิดอย่างไร หรือพูดอย่างไร”
- เป็นที่มาของงานวิจัย ‘สีดา ศรีราม’ ที่รื้อสร้างและตั้งคำถามใหม่ของ ศ.พรรัตน์ ดำรุง ก่อนจะได้คำตอบว่าเพราะอะไร แล้วทำไมสังคมไทยจึงยังมีนางสีดาอยู่เต็มไปหมด
- เป็นคำถามสำคัญของผู้ที่ครูละครต่างเรียกว่าครู ครูที่เชื่อในการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ และศิลปะต้องเคลื่อนด้วยการ ‘ตีเพื่อก่อ’
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
ในความรับรู้ของคนทั่วไป คำว่า act แปลว่าแสดง
แต่ act ของ ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง หรือ แปลว่า do หรือ ลงมือทำ
ในแวดวงศิลปะการแสดงชื่อของ ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง หรือ ‘ครูอุ๋ย’ ไม่ต้องแนะนำให้มากความ แต่สำหรับคนนอกวงการ เราจำเป็นต้องแนะนำว่าครูอุ๋ยเป็นใคร ที่สำคัญกว่านั้น ครูอุ๋ย มีความน่าสนใจอย่างไรและทำไมเราจึงอยากแนะนำให้รู้จัก
มีอย่างน้อยก็ 3 บทบาทด้วยกัน ที่รวมอยู่ในตัวสุภาพสตรีวัย 64 ท่านนี้ คือ 1.ครู 2.ผู้รื้อสร้างและตีความรามเกียรติ์ใหม่ และ 3.นักเต้น K-POP
ครูของครูละคร
ในเว็บไซต์ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่ทำงานสุดท้ายก่อนเกษียณเมื่อ 4 ปีที่แล้ว (แต่คณะอนุมัติให้จ้างต่อ) แนะนำไว้ว่า ในฐานะอาจารย์ภาควิชาศิลปการละครตั้งแต่ปี 2525 ครูอุ๋ยคือผู้บุกเบิก ‘วิจัยการแสดง’ ที่เน้น ‘ลงมือปฏิบัติ’
นั่งไทม์แมชชีนกลับไปสมัยเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ รั้วจามจุรี ความตั้งใจเดิมทีเมื่อเอนทรานซ์เข้าไปคือ ครูสอนภาษาอังกฤษ แต่พอได้มาเรียนการละครกับ ‘ครูแอ๋ว’ รศ.อรชุมา ยุทธวงศ์ ธงของครูอุ๋ยก็เปลี่ยนไปตั้งแต่ตอนนั้น
“พอมาเรียนกับครูแอ๋ว ซึ่งพูดเรื่อง creativity ได้ทำละคร ได้แปลบทละครที่เดิมเป็นคอนเซ็ปท์ ให้เป็นวิธีการแสดงและเป็นเรื่องสื่อสาร คุยกับชาวบ้านรู้เรื่อง ได้ทำละครเด็ก ได้ออกไปเล่นกับชุมชน ยิ่งใกล้ชิดกับความเป็นครูมาก”
พอเรียนจบปริญญาตรี ครูอุ๋ยก็ไปเรียนต่อด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นสเตท (Northwestern State University) สหรัฐอเมริกาทันที และกลับมาเป็นอาจารย์น้องใหม่ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
“จำได้ กลับมาใหม่ๆ ที่จุฬาฯ พาอาจารย์ใหม่ไปอบรมที่ต่างจังหวัด นั่งรถบัสไป เพื่อนๆ อาจารย์คนอื่นบ่นเหนื่อยร้อนกันทั้งคัน พอไปถึงที่ เห็นแม่น้ำ สวยเชียว ดิฉันวิ่งลงไปแช่น้ำคนเดียวเลยค่ะ ทุกคนยืนอยู่ข้างบน คงคิดว่าอีนี้บ้าหรือเปล่าวะ (หัวเราะ) เราก็อ้าว ไหนบอกร้อนกันไง ทำไมไม่ลง ให้ฉันลงไปแช่อยู่คนเดียว เปียกคนเดียว สบายใจ”
ครูอุ๋ยวัย 24 เริ่มต้นที่คณะด้วยการสอนวิชาใหม่ ‘การละครในการศึกษา’ และเป็นผู้ริเริ่มโครงการ ‘อักษรละครเร่’ พาเด็กๆ ในคณะเดินทางไปทำโปรเจคท์ละครเร่ชนบททุกปี
โจทย์สำคัญของครูอุ๋ยคือ หาวิธีคุยกับชาวบ้านให้รู้เรื่อง โดยเริ่มปรับตั้งแต่ตัวเด็กๆ ก่อน
“เด็กครูคุณหนูเยอะมาก พาขึ้นรถไฟ พอถึงสถานีปลายทาง เด็กถาม ครูคะไม่มีคนช่วยขนของเหรอ เราก็ตอบว่าหนูมีกันตั้ง 15 คน ขนเองเลย เด็กต้องทำเองทุกอย่าง ซักผ้า ทำกับข้าว ดูแลเด็กๆ ในหมู่บ้าน และต้องสื่อสาร” ทั้งหมดนี้ครูอุ๋ยบอกว่าเป็นการฝึกให้เป็นมนุษย์ที่มีปฏิสัมพันธ์ผ่านกิจกรรม ฝึกฝนด้วยการลงมือทำ ได้ทั้งเป็นผู้นำ ผู้ตาม แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำงานร่วมกับผู้อื่น”
แล้วพอไปถึงหน้างาน (หมู่บ้าน) กับบทละครที่เตรียมไว้ โดยสอดแทรกความรู้เรื่องขนมหวานทำให้ฟันผุเข้าไป แต่พอเจอเด็กจริงๆ กลับพบว่าเด็กๆ ฟันดี แข็งแรงกันหมด ไม่กินขนมเพราะหมู่บ้านไม่มีขาย
“มันก็ต้องกลับมานั่งคิดว่าเราเองที่ผิดแปลกหรือเปล่า โจทย์ต่อๆ มาจึงเป็นการปรับบทให้คุยกันรู้เรื่องกับชาวบ้าน ผสมเรื่องไทยๆ นิทานพื้นบ้านเข้าไปกับเรื่องฝรั่ง”
ธงของครูอุ๋ยคือ เข้าไปในใจของคนดู เช่น ถ้าไปแสดงละครในภาคอีสาน ก็ควรเลือก ‘ผงชูรส’ ที่ไม่ซ้ำกับภาคอื่น
ผงชูรสที่ชื่อว่าความแห้งแล้ง เล่าเรื่องคนธรรมดาสู้กับผู้มีอำนาจเพื่อแย่งน้ำ ผ่านเรื่องของพญาคันคากและพญาแถน
เท่านั้นยังไม่พอ ครูอุ๋ยยังชวนนักศึกษาท้องถิ่นมาเป็นนักดนตรีพื้นบ้านของคณะละคร สิ่งที่เกิดขึ้นคือการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เรียนรู้ความต่าง รับความเหมือน เพื่ออยู่ร่วมกัน โดยมีดนตรีเป็นตัวเชื่อมสำคัญ-สำคัญยิ่งกว่าภาษา
สุดท้าย รางวัลของละครเรื่องนี้คือรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของคนดู กับความสุขของคนทำงาน
ทั้งหมดนี้ เพราะครูอุ๋ยเชื่อว่าการเรียนรู้เกิดจากการลงมือทำ และเป็นการลงมือทำโดยร่างกาย
“คนเราเกิดมาต้องเรียนรู้ด้วยร่างกายก่อนแล้วจึงรู้ด้วยสมอง เหมือนคำฝรั่งว่า เราคิดเราถึงมีตัวตน แตกต่างมากๆ จากความคิดก่อนศตวรรษที่ 20 ที่เน้นความรู้ฝั่งวิทยาศาสตร์ เน้นให้คิดๆๆ คนไหนคิดไม่เป็น ก็จะไม่ได้เป็น white collar ส่วนพวกที่เป็นสายช่าง ช่างวาด แกะสลัก โบกปูน ช่างซ่อม เขานับว่าโง่หมด เพราะเป็นชนชั้นกรรมาชน”
สิ่งที่เกิดขึ้นจากแนวความคิดเก่าคือ การไม่รู้ว่าร่างกายสำคัญ จนหลังศตวรรษที่ 20 ความคิดของการให้ความสำคัญกับมนุษย์ก็เริ่มเข้ามา จึงมีความพยายามเชื่อมต่อร่างกายกับกิจกรรมต่างๆ เช่น การเต้น การรำ งานคราฟต์ งานช่าง โดยเฉพาะงานท้องถิ่นทำมือต่างๆ
“เราลงมือทำ เราปฏิบัติ เราถึงมีมันสมอง” ครูอุ๋ยเชื่อเช่นนี้มาตลอด
ใครที่มาเป็นลูกศิษย์ครูอุ๋ยจึงต้องฝึกฝนโดยใช้ตัวเข้าแลก
“เรียนการละคร ยูจะต้องออกไปชนบท มันเป็นการฝึกฝนจากที่อธิบายไม่ได้ การเป็น director ฝึกฝนจากการเขียนไม่ได้ ยูต้องเป็น director เอง ถ้ายูอยากเชิดหุ่น ยูต้องมีหุ่นและยูก็ลองขยับไม้เอง ยูไม่สามารถมองเห็น คิด แล้วทำได้…ไม่ได้ การเชิดหุ่นได้ดี มันอยู่ที่ความชำนาญ และการเรียนการละคร ดีไซน์ วาดรูป ทุกอย่าง ใจ มือ สมอง ต้องไปด้วยกัน เราต้องสามารถตัดสินได้ด้วยภูมิรู้ และภูมิรู้ต้องเกิดจากการปฏิบัติ”
ดังนั้นการเป็น actor ของครูอุ๋ย จึงต้องเป็น doer ไม่ได้แปลว่าเล่นหรือแสดง แต่ act แปลว่า do – ลงมือทำ ปฏิบัติ
ยิ่งทำละครเร่ ละครชุมชนที่ต้องลงไปคลุกคลีกับท้องถิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทำให้ครูอุ๋ยได้ลงลึกศึกษาศิลปวัฒนธรรมไทย ภายใต้หลักการที่ว่า “ศิลปะต้องเคลื่อน”
“เราได้ใช้ creativity เล่าเรื่องพื้นบ้านอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ เราถือว่าเป็นงานทดลอง ครูถือว่าเป็นการตีวัฒนธรรม โดยตีจากรอบนอก สำหรับครูที่รู้ ‘ทางไทย’ น้อยมาก การตีเป็นวิธีหนึ่งในการศึกษา”
ครูอุ๋ย อดีตเด็กสาวที่ไปเดินขบวนเมื่อคราว 14 ตุลาคม 2516 เปรียบเทียบวิธี ‘ตีเพื่อก่อ’ กับคนต่างรุ่นที่จำเป็นต้องคิดต่างและย้อนแย้งกัน
“สำหรับเด็กที่ครูสอน เด็กต้องย้อนแย้งครู ถ้าเด็กของครูในวันนี้ไม่ชอบอนาคตใหม่ ครูเสียใจนะ คนเราต้อง anti โลก ฮอร์โมนยูพุ่งขนาดนั้น ยูต้อง against อะไรบางอย่าง ซึ่งครูไม่ได้ชอบพรรคนี้นะ แต่ครูผ่านการเดินขบวนและวิ่งหนีมา สุดท้ายครูไม่ได้เข้าป่า กลับมารับราชการ ยังอยู่ในระบบ ประนีประนอม ต่อรองกับสังคมในแบบของครูได้”
และหนึ่งในวิธีต่อรองอย่างประนีประนอมของครูอุ๋ยคือรื้อแล้วเสนอความคิดใหม่ต่อมหากาพย์ ‘รามเกียรติ์’ ผ่านงานวิจัยชิ้นสำคัญ ‘สีดา ศรีราม’
สีดา ศรีราม: อยากรู้ว่านางสีดาคิดอย่างไร
“ทำไมเราต้องรู้เรื่องรามเกียรติ์ด้วย” คำถามนี้ติดอยู่ในใจของครูอุ๋ยเรื่อยมา
แตกแยกย่อยออกมาเป็นคำถามลูกต่างๆ เช่น มหากาพย์เรื่องนี้สำคัญต่อชีวิต ต่อชาติอย่างไร เพราะอะไร โขนจึงเป็นการแสดงต่อหน้าพระที่นั่ง มันเกี่ยวเนื่องกับอำนาจของชนชั้นผู้ปกครองอย่างไร
แล้วทำไมกรุงเทพฯ จึงมีถนนชื่อพระรามต่างๆ
“ไม่มีใครหรืองานวิจัยชิ้นไหนตอบปัญหาเราได้ เราเลยต้องหาคำตอบเอง”
ครูอุ๋ยศึกษาทั้งจากโขนกลางแปลงและอ่านรามเกียรติ์ที่ไปปรากฏในวรรณกรรมประเทศต่างๆ
แต่พออ่านไปอ่านมาแล้วรู้สึกว่าทำไมไม่มีใครรู้เลยว่านางสีดาคิดอย่างไร หรือทำอะไรบ้าง และครูอุ๋ยเองอยากรู้
“เฮ้ย มันไม่แฟร์ นางสีดาทำอะไรบ้าง ทำไปทำมา ไม่มีใครรู้เลย ฉันอยากรู้จังว่านางสีดาคิดอย่างไร อยากรู้ว่าถ้าสีดาคิดแบบนี้ สีดาจะพูดว่าอะไร แค่นั้นจริงๆ”
งานวิจัยชิ้นนี้ของครู ตัวหลักจึงเปลี่ยนมาเป็นนางสีดา ชนวนของสงครามที่กลับเงียบที่สุด และเป็นเช่นนี้เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นรามเกียรติ์ของไทย/รามายณะของอินเดีย หรือชื่ออื่นๆ ที่เรียกต่างกันตามแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ครูศึกษารวม 15 ประเทศ
“เรื่องเล่าของนางเหมือนเดิมคือ เป็นต่อนๆ และทุกคนจะไม่สบายใจอยู่เรื่องเดียวคือ สุดท้ายแล้วนางสีดาเสียความบริสุทธิ์ให้ทศกัณฐ์หรือเปล่า ซึ่งความเป็นจริงผู้หญิงที่ถูกลักพาตัวไปอาจโดนข่มขืนก็ได้ และอาจเกิดได้หลายๆ เรื่อง แต่เรื่องนี้กลับถูกป้องกันเกียรติยศเอาไว้ เหมือนเป็นคำถามที่ตอนจบก็ยังตอบไม่ได้ ไม่กล้าตอบ”
หลังจากลงลึกไปเรื่อยๆ ครูอุ๋ยค้นพบว่า หลังจากรบชนะและพานางสีดากลับมาได้แล้ว พระรามกลัวว่าลูกในท้องจะออกมาเป็นยักษ์ เพราะหลังคืน (กลับ) เมือง จู่ๆ นางสีดาก็ท้อง
“ดีเอ็นเอก็ตรวจไม่ได้ ออกมาเป็นยักษ์คือจบนะ พระรามเองก็ไม่ได้รักนางสีดา แต่นางสีดาเป็นเหมือนศักดิ์ศรีที่ต้องเอาคืน”
รามายณะของอินเดีย สุดท้าย สีดาต้องลุยไฟ และสุดท้ายแล้ว นางเลือกที่จะอยู่กับพระแม่ธรณี ไม่ขอขึ้นสวรรค์กับพระราม
“ซึ่งครูเห็นด้วย นางสีดาเข้มแข็งมาก มีแต่เมืองไทยนี่แหละที่จบกันแบบแฮปปี้เอนดิ้ง”
นั่นเพราะครูอุ๋ยอ่านและศึกษารามเกียรติ์ด้วยวิธี รื้อสร้าง (Deconstruction and Revision) และค่อยๆ ค้นพบว่าสังคมยังมีนางสีดาอยู่เต็มไปหมด
“ในสื่อ ในชีวิตประจำวัน นางสีดายังมีชีวิตอยู่ ผู้หญิงยังถูกหลอกให้แต่งงาน ทำร้ายร่างกาย ฯลฯ เราต้องการเล่าเรื่องสีดาที่น้ำท่วมปาก เรายังอยู่ในสังคมรามเกียรติ์ เรามีเด็กที่อยู่ใต้สะพาน เรามีเด็กขอทาน เร่ร่อน เด็กถูกกระทำทารุณต่างๆ ไม่ต่างอะไรกับนางสีดาที่ถูกฝังดินในผอบ ก่อนที่พระชนกจะไปเจอ”
เรื่องของสีดาในรามเกียรติ์ ถูกเล่าผ่านสถานการณ์ การเป็นผู้ถูกกระทำเสมอๆ ทั้งการ (ถูก) เลือกคู่ ถูกเอาไปปล่อยป่า ลุยไฟ
“เอาการถูกกระทำเหล่านี้มาเปรียบเทียบว่าภายใน 1 ปี เรามีเรื่องราวแบบนี้ผ่านสื่อมากแค่ไหน” นี่คือการเล่าแบบรื้อสร้างของครูอุ๋ย
“ทั้งหมด ครูต้องการจะบอกว่าผู้หญิงเลือกได้ ไม่ได้โง่ และไม่ได้เป็นเหยื่ออย่างเดียว ที่สำคัญผู้หญิงจะถูกข่มขืนไม่ได้ แม้กระทั่งจากสามีตัวเอง”
ความเคารพซึ่งกันในฐานะมนุษย์ โดยเฉพาะระหว่างสามีภรรยา คือประเด็นที่ครูอุ๋ยต้องการสื่อสารผ่านงานวิจัยชิ้นนี้ เพราะวรรณกรรมรามเกียรติ์ เป็นเรื่องเล่าที่ใช้ในการควบคุม สร้างชาติ ชาติแบบชายเป็นผู้นำ
“เรียกว่า grand narrative เรื่องเล่าเพื่อดำรงความเป็นชาติ ทุกชาติมี มนุษย์เราจะมีชาติได้ จะต้องมีองค์ประกอบจนทำให้เกิดการปกครองได้ เช่น ต้องมีแบบแผน การเรียนรู้วรรณกรรม พิธีกรรม ความเป็นชาติถึงจะซับซ้อน แต่การที่เรามาเลือกตัวละครซึ่งไม่ได้มีความสำคัญเลย ทุกคนยอยศแต่พระราม แต่นางสีดาที่อยู่มาตลอด กลับเป็นนางที่แปะอยู่ตรงซี่โครง เป็นต้นเหตุของการทำสงครามใหญ่โต แต่ไม่มีใครพูดถึง ไม่มีใครรู้เลยว่าตลอดเวลา 14 ปีที่นางถูกลักพาไปอยู่กรุงลงกา เกิดอะไรขึ้นบ้าง”
ศิลปะรื้อสร้างได้
แต่ไม่ใช่ว่าวรรณกรรมทุกเรื่องต้องถูกรื้อสร้าง ถ้าเรื่องไหนสามารถผูกใจไว้ได้ด้วยความดั้งเดิม ก็ควรจะยึดให้เป็นไปตามนั้น และทุกๆ การตีความใหม่ของครู ครูจะต้องศึกษาจนแน่ใจแล้วว่า ‘คุณค่า’ ของเรื่องนั้นคืออะไร แล้วจึงค่อยเอาหัวใจตรงนี้มาแตกลูก ตีความ สร้างตัวละคร
ทำไมต้องตีความใหม่?
“เราทำงานกับเด็กสมัยนี้ เขามีความคิดของเขาเอง ตีความคนละแบบกับเรา ก่อนทำละครเราจะวางพล็อตด้วยกันเป็นฉันทามติ แล้วก็ทำงาน เพื่อเขาจะได้ฟังคนอื่น มองเห็น เจรจา ต่อรอง เลือก ขับเคลื่อนโปรเจ็คท์ สื่อสารความคิดบางอย่างให้เดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน สำหรับครู ‘ศิลปะ’ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ และเป็นการเรียนรู้ที่สนุก”
นักเต้น K-POP วัย 64
วันนี้ในวัย 64 ไม่ได้คิดว่าศิลปะจะต้องรับใช้สังคม และครูเองก็ไม่ได้รับใช้ใครแล้ว คิดแต่เพียงว่าจะทำอย่างไรให้ศิลปะอยู่ในชีวิตทุกๆ วัน
อาจเพราะครั้งหนึ่งตอนเป็นเด็ก ครูเคยคิดว่าศิลปะเป็นของสูงค่า…ไม่เก่งทำไม่ได้ ครูจึงเก็บๆๆ และกดเอาไว้
“ครูเป็นคนชอบร้องรำทำเพลงแต่ครูไม่เก่งเลย พอครูร้องเพลงหน้าชั้นตอนเด็กๆ แล้วเสียงครูไม่ดี เลยไม่ร้องเพลงเลย ที่จริงแล้ว มีหลายอย่างที่เราเก็บกดความเป็นชาติเรา เช่น การร้องเพลงแบบไทย ที่มีลูกเอื้อนๆ ยากๆ เราคิดว่าคนธรรมดาๆ ร้องไม่ได้หรอก แต่ถ้าเราไปหาชาวบ้าน เพลงพื้นบ้านมันมหัศจรรย์ ทุกคนในหมู่บ้านร้องได้หมด เต้นก็ได้ เราเองแหละที่ไปมัวมี standard”
เต้นรำก็เช่นกัน ครั้งหนึ่งครูอุ๋ยเองเคยใช้ standard เก็บและกดมันไว้ทั้งที่ชอบมาก เพิ่งจะรื้อฟื้น skill กลับมาก็ตอนเพื่อนป่วย
“เพื่อนคนหนึ่งในเกิร์ลแก๊งป่วย และเขาใช้เวลาในการกลับมาฟื้นฟูได้ ถามเขาว่าอยากทำอะไร เขาบอกอยากเต้นรำ เราก็พอมีความรู้ modern dance เลยคุยกันว่าเรามารวมกลุ่มเต้นรำกันไหม ไม่สนแล้วสิ่งกับที่สังคมบอกว่าไม่ควรทำ เพราะคิดว่าคนที่จะทำได้สวยคือเด็กๆ”
สำหรับครูอุ๋ย ในความแก่มีความงาม หน้าย่น ย้อย ห้อยต่างๆ มันแสดงถึงชีวิตที่ผ่านมา และการรับรู้โลก
การกลับมาเต้นจึงเริ่มต้นจากงานคืนสู่เหย้า จากนั้นครูอุ๋ยและเพื่อนๆ เกิร์ลแก๊งก็ได้ออกสเต็ปกันเรื่อยมา ขยับไปเป็นระบำหน้าท้อง และล่าสุดก็เคป๊อป เพลง Bang Bang Bang ของ Bigbang ครูอุ๋ยก็เต้นมาแล้ว
“ล่าสุดเพื่อนส่งมา แบล็คพิงค์ บอกว่าลิซ่าเลยเหรอแก แค่สะโพกก็ยกไม่ได้แล้ว (หัวเราะ) ยากอะ จังหวะยาก”