- พรหมโรจน์ วิมลกุล หนุ่มนักออกแบบผลิตภัณฑ์ ผู้ก่อตั้ง PoonSook.Craft คือผู้เปลี่ยน ‘ขยะ’ ที่ถูกมองว่าไร้ค่าและเป็นปัญหาระดับโลก ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของท้องถิ่น
- ความมุ่งหวังของเขาไม่ใช่แค่เพียงสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน แต่ยังสร้างการมีส่วนร่วมและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะ เพื่อลดปริมาณขยะที่ต้นทาง
- อุปสรรคสำคัญของการแก้ปัญหาขยะคือ จิตสำนึก ภารกิจต่อไปของ PoonSook.Craft จึงเป็นการออกแบบศูนย์เรียนรู้เพื่อสร้างความตระหนักรู้ร่วมกันถึงความสำคัญของการจัดการขยะ
มีคำกล่าวว่า “สิ่งที่ไร้ค่าในสายตาเรา อาจเป็นโอกาสและทรัพย์สินที่มีค่าในมือของคนที่มองเห็นศักยภาพ”
เช่นเดียวกับ ‘ขยะ’ ที่นอกจากจะดูไร้ค่าในสายตาคนทั่วไปแล้ว มันยังสร้างปัญหาต่อธรรมชาติและการจัดการต่างๆ มากมาย
แต่สำหรับ พรหมโรจน์ วิมลกุล เขามองเห็นมูลค่าของขยะผ่านสายตาของนักออกแบบผลิตภัณฑ์ และเห็นคุณค่าของมันในฐานะ ‘โจทย์การเรียนรู้’ ที่จะเปลี่ยนมุมมองและพฤติกรรมของผู้คนเกี่ยวกับการจัดการขยะไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
ย้อนหลังกลับไปในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด 19 พรหมโรจน์ที่เวลานั้นทำงานอยู่ในต่างประเทศได้ตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตในบ้านเกิดที่จังหวัดภูเก็ต และพบปัญหาใหญ่ที่หลายคนมองข้าม นั่นคือ ‘ปัญหาขยะ’ เขาจึงเริ่มต้นธุรกิจรีไซเคิลที่นำขยะพลาสติกมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จนกลายเป็นที่มาของวิสาหกิจเพื่อสังคม PoonSook.Craft
“ตอนนั้นตัดสินใจลาออกจากงานช่วงโควิดเพื่อกลับมาอยู่เมืองไทย คือปกติภูเก็ตจะมีขยะเยอะอยู่แล้ว แต่พอมีโควิด ขยะก็เยอะขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะว่าภูเก็ตเป็นจังหวัดแรกที่ล็อกดาวน์ ทำให้ธุรกิจต่างๆ ถูกชัตดาวน์ เอาแค่ออกนอกบ้านก็ไปได้ไกลสุดแค่ปากซอย เราเลยพยายามหาอะไรทำ เริ่มจากลองหาเศษนั่นเศษนี่ในห้องมาเย็บผ้าเย็บกระเป๋าต่างๆ แต่สุดท้ายก็เจ๊ง
ระหว่างนั้น ททท. ก็มาจัดงานชวนคนไปเก็บขยะ ซึ่งเป็นโครงการของจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่แล้ว เราก็ไปช่วยเก็บขยะ แต่เก็บยังไงก็เก็บไม่หมด เลยไปคุยกับททท. ขอให้เขาช่วยแยกขยะพลาสติกมาด้วยได้ไหม จะลองเอามาทำอะไรดู เพราะจากการเก็บขยะ 2 วัน ได้ขยะเยอะมาก อย่างขวดน้ำได้ประมาณ 3,000- 4,000 กว่าขวด ก็เกิดไอเดียลองเอาฝาขวดพลาสติกมาละลายในเตาปิ้งแล้วก็อัดเป็นแผ่น Surf Skate (เซิร์ฟสเกต) ที่ตอนนั้นกำลังเป็นกระแส พอทำเสร็จก็เอามาประกอบ ปรากฏว่าเล่นได้จริง เลยเอามาเล่นหน้าบ้านแล้วโพสต์ลงในโซเชียล วันรุ่งขึ้นอยู่ดีๆ มันก็กลายเป็นไวรัลทำให้คนรู้จัก”
เมื่อพลาสติกที่เอามาทำเซิร์ฟสเกตทำให้คนเริ่มสนใจและรู้จัก PoonSook.Craft พรหมโรจน์ก็ลองนำไมโครพลาสติกที่เก็บจากชายทะเลมาทำเครื่องประดับจิวเวลรี่โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายคือนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ครั้งนี้กลับเงียบสนิทจนธุรกิจเกือบจะไปไม่รอด
“พอไม่ประสบความสำเร็จ ก็พยายามคิดว่าขยะพลาสติกมันน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ เราน่าจะหาอะไรที่ขายง่ายทำตลาดง่าย เลยลองทำพวงกุญแจแบบกดมือขายโดยเล่าปัญหาขยะผ่านการออกแบบเป็นสัตว์ทะเลต่างๆ ที่ใกล้สูญพันธุ์ ปรากฏว่ารอบนี้รอด ไม่นาน SCG (เอสซีจี) ก็มาขอสัมภาษณ์และออเดอร์สินค้าเราประมาณ 100 ชิ้น จากนั้นคนก็เริ่มเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็พัฒนาเครื่องมือต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลองใช้ความรู้ที่มีทำเครื่องจักรออกมาจนมันเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ทำให้เห็นว่าจริงๆ ขยะมันก็ไม่ขยะนะ ถ้ามันอยู่ถูกที่มันก็เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าอย่างหนึ่ง”
เปลี่ยนขยะเป็นสินค้า ชวนชุมชนเห็นคุณค่าที่ถูกทิ้ง
แน่นอนว่าขยะพลาสติกจากชายทะเลคงไม่เพียงพอสำหรับการทำธุรกิจ พรหมโรจน์จึงเดินทางไปยังชุมชนต่างๆ เพื่อพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกันในฐานะวิสาหกิจเพื่อสังคม
“เราก็ไปคุยกับชาวบ้านว่าเขาอยากทำอะไร พอจะทำอะไรได้บ้าง แต่การพูดคุยกับชาวบ้านเป็นอะไรที่ยากมาก เพราะเขามีอีโก้ มีมายด์เซ็ตของตัวเอง ทำให้ต้องใช้เวลาเป็นปี ก็เริ่มจากการไปถามซาเล้งว่าทำไมเขาไม่รับขยะบางอย่าง จนรู้ว่าเวลาเก็บขยะ ซาเล้งจะเก็บตามตลาดโลก คือถ้าคนรับซื้อ-ตลาดขายขยะบอกอยากได้ขวด ซาเล้งก็จะเก็บแต่ขวดไม่เอาฝา อย่างที่ตลาดรับซื้อพลาสติกสีดำกิโลกรัมละ 50 สตางค์ ขวดกิโลละ 7 บาท ที่ราคาต่ำเพราะโรงงานใหญ่เขาไม่รับซื้อ เราก็เลยรับซื้อสิ่งที่ซาเล้งไม่เอา และมาดูว่าจะทำอะไรกับมันได้บ้าง
เราก็ลองทำของที่ระลึกแบบไม่แพงมาก วางขาย 75 บาทซึ่งถูกกว่าในห้าง ปรากฏว่ามีคนสนใจเยอะ เลยไปคุยกับชาวบ้านเพื่อให้เขาเห็นว่าขยะมันมีราคา เราก็เทียบให้ดูว่าตอนนี้มูลค่าขยะกิโลนึงเกือบพันบาทแล้วนะ ชาวบ้านก็เริ่มเปิดใจและมีรายได้จากการช่วยเราเก็บขยะ พอมีรายได้เขาก็เห็นคุณค่า พอเห็นคุณค่าเราก็คุยกับชาวบ้านรู้เรื่อง เราก็พยายามพูดคุยกับองค์กรที่สนับสนุนสินค้าของเราว่าสิ่งที่เราหวังมากที่สุดคือชุมชนจะต้องมีรายได้ต่อเนื่อง เพราะว่าเราจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมสมบูรณ์แบบ 100% คือเงินปันผลกำไรที่เราได้เราก็คืนให้ชาวบ้านทั้งหมด”
แต่กว่าจะชวนชาวบ้านมาทำงานร่วมกันและผลักดัน Poonsook.Craft ให้กลายเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมได้นั้น การให้ความรู้ชุมชนเรื่องการจัดการขยะถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน ทั้งยังเพิ่มมูลค่าและคุณค่าของขยะด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจของคนในท้องถิ่น
“สิ่งที่ชุมชนต้องการหลักๆ จะมีอยู่สองเรื่อง หนึ่งคือพวกเขาต้องการรายได้ สองคือเขาต้องการความปลอดภัย ทั้งเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยที่ยั่งยืน เพราะถ้าสัตว์ทะเลตาย เขาก็จะขาดรายได้และไม่รอด
ในการจัดการ เราให้องค์ความรู้ทั้งหมดกับเขา แยกไปเลยว่าขยะมีกี่ประเภท มีอะไรบ้าง เพื่อแยกขยะแต่ละชนิดออกมา บอกเขาว่าอันนี้เป็นขวดที่ขายได้ โดยเฉพาะการขายขวดแบบแยกฝามันจะได้อีกราคานึง ซึ่งบางทีซาเล้งเขาไม่บอกแต่ไปจัดการเพื่อรายได้ของเขาเอง เราเลยต้องทำตรงนี้เพื่อเอาส่วนต่างกลับคืนมาให้ชุมชน ชาวบ้านก็จะเห็นสิทธิและทวงสิทธิของเขากลับคืนมาบ้าง จากนั้นก็ลองเอาขยะไปขายถึงต้นทางเพื่อดูว่าจริงๆ เขารับซื้อกันยังไง เราก็ถามเขาถึงประเภทขยะที่รับและไม่รับซื้อ กลไกตลาดโลกตอนนี้เป็นยังไง เพราะพลาสติกบางชนิดอาจมีราคาสูงแต่ทำไมบางทีถึงไม่มีคนรับซื้อ
ในส่วนของซาเล้ง เราไม่ได้จะตัดเขาออกจะวงจร เราบอกชุมชนว่าอันไหนขายให้ซาเล้งได้ให้ขายซาเล้งไปก่อน เพราะซาเล้งเป็นหนึ่งในวงจรการขับเคลื่อน เราต้องรักษาวงจรเพื่อไม่ให้เกิดผลเสีย ซาเล้งต้องอยู่ ชาวบ้านต้องอยู่ แต่ชาวบ้านจะรู้แล้วว่าขยะแต่ละชนิดมีมูลค่าเท่าไหร่ หรือถ้าขยะชนิดไหนที่ซาเล้งไม่รับซื้อ เราก็เก็บข้อมูลแล้วมาดูว่าจะจัดการมันยังไง โดยวัสดุหลักๆ ที่เรานำมาใช้คือ ฝาขวดน้ำ ถาดอาหารไมโครเวฟ และตะกร้าขนมจีน ฯลฯ”
เปลี่ยนตะกร้าขนมจีนเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เปลี่ยนความเคยชินเป็นการเรียนรู้
พรหมโจน์ เล่าต่อว่าเนื่องจากภูเก็ตเป็นจังหวัดที่โดดเด่นในเรื่องเมนูขนมจีน ทำให้มีขยะที่เป็นตะกร้าขนมจีนเยอะมาก แถมราคาตกกิโลกรัมละ 3 บาทเท่านั้น เขาจึงนำโจทย์ดังกล่าวมาทบทวน และตกผลึกได้ว่าจะออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีเรื่องเล่าในแบบของตัวเอง
“มีหลายคนบอกว่าทำไมไม่ลองทำที่เปิดขวด ก็เลยเขียนเรื่องออกมาเป็นสตอรี่ว่าคนภูเก็ตกินขนมจีนกัน 24 ชั่วโมง และตะกร้าขนมจีนมันเป็นอย่างนี้นะ จากนั้นก็นำตะกร้าเหล่านั้นมาหลอมเพื่อรีไซเคิลทำเป็นที่เปิดขวด แล้วบังเอิญที่สื่อต่างๆ มาเห็นและช่วยแชร์ต่อทำให้ที่เปิดขวดของเราเป็นที่รู้จัก ซึ่งทางททท.ก็เข้ามาชวนเราไปพูดตามเวทีต่างๆ ของต่างประเทศ เพื่อแสดงให้เขารู้ว่าประเทศไทยเองก็แคร์เรื่องนี้”
เมื่อมอบองค์ความรู้ให้กับชุมชนต่างๆ แล้ว พรหมโรจน์ยังตั้งใจส่งต่อองค์ความรู้เรื่องการจัดการขยะไปยังโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่สนใจ เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องการจัดการขยะร่วมกัน
“เราเข้าไปอบรมชุมชนเกือบทุกที่ แต่ในส่วนการทำงานร่วมกันจะมีหลักๆ ประมาณ 4 ชุมชน ซึ่งสลับหมุนเวียนกันมาเรื่อยๆ และต้องไม่เลียนแบบกัน บางที่ถนัดงานถักร้อย บางที่ถนัดคัดแยกขยะ หรือบางชุมชนจะทำเฉพาะเวลาที่ไม่ออกไปจับปลา
ส่วนโรงเรียนหลายแห่งก็แวะมาคุยว่าถ้าอยากเป็นโรงเรียนสีเขียวหรือโรงเรียนปลอดขยะต้องทำยังไง แต่การจะให้ความรู้ เราต้องไปดูก่อนว่ามีถังขยะไว้คัดแยกไหม พฤติกรรมของนักเรียนเป็นยังไง ผู้อำนวยการมีอำนาจสั่งการหรือขับเคลื่อนทุกอย่างมากน้อยแค่ไหน เพราะบางโรงเรียนผู้อำนวยการก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรนอกจากนโยบายที่ข้างบนสั่งมาเท่านั้น
ในการให้ความรู้กับโรงเรียนมันค่อนข้างแตกต่างกับชุมชน เราต้องปรับหมดเลยและเลือกสิ่งที่เหมาะสมให้เข้ากับแต่ละโรงเรียน ซึ่งหลักๆ จะเซ็ตหลักสูตรออกมาเป็น 6 หลักสูตร ประถมต้น ประถมปลาย มัธยมต้น มัธยมปลาย ปริญญาตรี ปริญญาโท แต่ลึกลงไป เราก็ต้องแบ่งออกเป็นเด็กไทย เด็กต่างชาติ โรงเรียนไทย โรงเรียนอินเตอร์ เพราะว่าพื้นฐานความรู้ของแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเราต้องเข้าไปสำรวจและถามอาจารย์ก่อนว่าเด็กๆ มีความรู้แค่ไหน”
สำหรับหัวข้อการเรียนรู้หลักๆ ที่เขาวางไว้เป็นเสาเข็มให้กับเด็กๆ คือเรื่อง Reduce Reuse และ Recycle แต่ทั้งนี้ถ้าถามว่าทุกคนควรจะเริ่มต้นอย่างไรก่อน คำตอบคือการลดการใช้ที่เกินจำเป็น
“Reduce คืออะไร คือการลดการใช้ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะว่าถ้าเราไม่ลดการใช้สิ่งที่ไม่จำเป็น มันก็จะกำจัดไม่หมดอยู่แบบนี้ ฉะนั้นการลดต้องมาอันดับ 1 หลอดดูด…ถ้าไม่จำเป็นก็ปฏิเสธได้เลย ถุงพลาสติก…ถ้าไม่จำเป็นก็ลดไปนะ เพราะอย่าลืมว่าพวกของเล็กๆ เนี่ยแหละที่ก่อปัญหาเยอะ
แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราก็จะมาพูดเรื่อง Reuse อะไรนำมาใช้ซ้ำได้ก็ใช้ซ้ำให้เยอะที่สุด ส่วน Recycle เป็นกระบวนการสุดท้ายที่เราจะพูดถึง เพราะมันเป็นสิ่งท้ายสุด
ต่อให้ที่นี่รีไซเคิลได้วันละ 100 ตัน แต่ขยะมันมาวันละ 1,400 ตัน เราก็ไม่มีทางรีไซเคิลมันได้หมด ฉะนั้นเราพยายามสอนเด็กให้ลดขยะ 3 ชิ้นต่อวัน ซึ่งหากลดได้จริงๆ ปีนึงน้องก็จะลดขยะไปได้ 5 แสนชิ้น เด็กก็ตกใจว่าทำไมมันเยอะจัง เราก็แจกแจงให้เขาดู เขาก็จะเข้าใจ
เท่าที่เจอเด็กในโรงเรียนต่างๆ เราค่อนข้างประหลาดใจว่าเด็กประถมเขาเข้าใจดีมากและรักโลกสุดๆ เลย กลับกันเด็กมหาวิทยาลัยดูจะไม่ใส่ใจ ทำให้จากที่เราคิดว่าเด็กมหาวิทยาลัยมันควรจะโตจนมีจิตสำนึกจนใส่ใจ กลายเป็นว่าเด็กประถมนี่แหละใส่ใจ ซึ่งจากประสบการณ์ที่เติบโตในออสเตรเลีย เราพบว่าเขาจะปลูกฝังให้ทุกคนใส่ใจโลกมาตั้งแต่เด็ก พอโตมาเขาก็จะมีจิตสำนึกที่ดี ไม่นับรวมตัวกฎหมายที่เข้ามาควบคุมและเข้มงวดทำให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ทีนี้เราเลยเข้าใจว่าเด็กมหาวิทยาลัยหลายคนคงไม่มีใครสอนเขาตอนประถม เพราะฉะนั้นหน้าที่เราคือสอนเด็กประถมให้ดีที่สุด พยายามให้เขาทำจนกลายเป็นนิสัยติดตัว เพื่อโตขึ้นเขาจะมีจิตสาธารณะโดยไม่ต้องสอนอีกต่อไป”
จุดเปลี่ยนปัญหาขยะ เริ่มต้นที่ ‘จิตสำนึก’
หลังจากที่ทำงานกับชุมชนและนักเรียน ภาครัฐและภาคเอกชนมาเป็นเวลานาน เขาพบคำจำกัดความสั้นๆ ของอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เป้าหมายของเขายากจะไปถึงฝั่งฝัน ซึ่งคำๆ นั้นคือคำว่า ‘จิตสำนึก’
“เราสรุปได้ 1 คำตามนี้ ‘จิตสำนึก’ ถ้าคนเรามีจิตสำนึกมันไปต่อได้แหละ แต่ทีนี้มันไม่ใช่สิ่งที่มีกันทุกคน แล้วคำว่าจิตสำนึกบางคนมีนะ รู้และเข้าใจ แต่ด้วยสภาวะทางสังคม สภาวะทางเศรษฐกิจมันบีบเข้ามาทำให้เขาต้องทำในสิ่งตรงข้าม เช่น นโยบายภาครัฐออกมาว่าตลาดต้องปลอดโฟมนะ แต่แม่ค้าก็ยังใช้โฟม ซึ่งแม่ค้าบอกว่ารู้ว่าโฟมไม่ดีมันอันตราย แต่มันทำให้ต้นทุนเขาถูกลง ภาครัฐจึงต้องเข้ามาสนับสนุนเขาตรงนี้ด้วย”
ขณะที่เป้าหมายสูงสุดในการทำธุรกิจรีไซเคิลคือการทำให้บ้านเกิดของเขาสะอาดเทียบเท่ากับเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างสิงคโปร์
“เรื่องนี้เป็นไปได้แต่ไม่ใช่เร็วๆ นี้ ถ้าลองดูจะเห็นว่าในเมื่อขนาดของภูเก็ตใกล้เคียงกับสิงคโปร์ แต่ทำไมภูเก็ตเป็นอย่างสิงคโปร์ไม่ได้ ดังนั้นผมจึงหวังให้ภูเก็ตเป็นเมืองที่สะอาด คลีน เคลียร์ ซึ่งนอกจากสิ่งที่ทำอยู่ เรามีแผนจะทำศูนย์การเรียนรู้ และเราหวังว่าภาครัฐจะเข้ามาขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วยกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์และเข้มแข็ง เพราะกลายเป็นว่าที่นี่ถูกขับเคลื่อนด้วยเอกชน
สำหรับแผนที่วางไว้ในอนาคตคือการสร้างศูนย์การเรียนรู้จะมุ่งเน้นเรื่องการคัดแยกพลาสติก เพื่อให้เด็กๆ เข้ามาเรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วเวลาคุณกลับบ้านไป คุณสามารถคัดแยกขยะได้นะ
เพราะทุกวันนี้ถึงจะมีถังแยกขยะ แต่เรากลับพบข้าวเหนียวหมูปิ้งในถังรีไซเคิลอะไรแบบนี้ แต่ถ้าเขามีความรู้แล้ว เขาก็จะแยกขยะได้มากขึ้น ทิ้งขยะอย่างถูกประเภทกว่าเดิม จากนั้นก็ค่อยป้อนข้อมูลว่าพอแยกขยะแล้วขยะไปไหนต่อ สร้างคุณค่าต่อไปยัง
นอกจากนี้ ก็อยากจัดนิทรรศการที่ศูนย์การเรียนรู้ให้เด็กได้เห็นภาพว่าขยะมันเป็นเรื่องใกล้ตัวยังไง เขาจะได้จำและนำไปใช้ หรือไปบอกต่อกับครอบครัวของเขา มากกว่าการสื่อสารที่สื่อมักจะพูดในเชิงความรุนแรงว่า ถ้าทิ้งขยะไม่เป็นที่ ขยะจะล้นเป็นกอง สัตว์น้ำสูญพันธุ์เป็นอันตรายนะ ทุกคนก็จะแบบตกใจ น่าสงสารจังเลยนะ แต่คำถามคือแล้วยังไงต่อ…
ดังนั้นศูนย์การเรียนรู้ที่เราคิดจะไม่ใช่สไตล์นั้น เพราะเราจะสอนว่าพลาสติกคืออะไร ถูกสร้างมาเพราะอะไร ทำไมคนถึงพัฒนาพลาสติกเป็นพันชนิด และพลาสติกมันสร้างปัญหาจริงหรือเปล่า หรือแท้จริงแล้วสิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ คือคนนี่แหละ ก็จะแลกเปลี่ยนกันว่าเราจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ยังไง”