- จากสอนหลายๆ วิชา ลดเหลือวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย อังกฤษ ไปเน้นกระบวนการสอนที่ให้นักเรียนเป็นคนหาความรู้เองผ่าน PBL (Problem – based Learning การเรียนรู้จากโจทย์ปัญหา) และเพิ่มกิจกรรมจิตศึกษาและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้านอื่นๆ ที่สำคัญคือทั้งโรงเรียนยกเลิกการวัดผลแบบสอบด้วย!
- ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนครั้งนี้ทำให้อัตราจำนวนนักเรียนออกกลางคันลดลงเหลือประมาณ 6% จากเดิม 20% ความสัมพันธ์ของครูและนักเรียนดีขึ้น พวกเขาอยากมาโรงเรียน เพราะอยากเรียนและก็กล้าแสดงออก
- การเรียนที่ตะเคียนราม 1 เทอมจะแบ่งเป็น 4 ควอเตอร์ แต่ละควอเตอร์ครูจะตั้งโจทย์ว่าเด็กอยากเรียนเรื่องอะไร นำมาบูรณาการเข้ากับวิชาเรียน หน่วยการเรียนครั้งนี้ในหัวข้อ ‘ข้าว’ และออกมาเป็นกิจกรรม ‘มาสเตอร์เชฟ’ ที่ให้เด็กๆ ออกแบบเมนูที่มีข้าวเป็นวัตถุดิบหลัก
เป็นที่รู้กันว่าหลังเคารพธงชาติจบ ถือเป็นสัญญาณเริ่มชั่วโมงเรียน เด็กเกือบทุกคนในโรงเรียนก็จะสิงสถิตอยู่ในห้องเรียน แต่ไม่ใช่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ในวันนี้ ที่พวกเขาออกจากห้องเรียนมารวมตัวใต้อาคารโล่งเพื่อทำกิจกรรมสุดพิเศษ ‘มาสเตอร์เชฟ’
“เตือนแล้วนะ!”
“ตอนนี้ใกล้หมดเวลาแล้ว คุณต้องเริ่มจัดจานได้แล้ว”
สารพัดประโยคเด็ดที่ต่อให้คุณไม่เคยดูรายการมาสเตอร์เชฟ (MasterChef รายการแข่งทำอาหารที่มีต้นกำเนิดจากประเทศอังกฤษ ก่อนจะจำหน่ายลิขสิทธิ์ไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย) ก็ต้องเคยผ่านหูผ่านตามาบ้าง ซึ่งแน่นอนว่ากระแสนิยมรายการทำให้มีคนจับไปทำคอนเทนต์ต่างๆ เช่น ทำคลิปล้อเลียน รวมถึงครูปู – ศุภากร อ่อนลา แห่งโรงเรียนบ้านตะเคียนราม ก็จับเอารายการนี้มาประยุกต์เข้ากับวิชาเรียน PBL (Problem – based Learning) ของชั้นเรียนเธอ
เด็กป.3 กับการทำอาหาร ดูเป็นการจับคู่ที่ค่อนข้างสร้างความแปลกใจให้กับเรา แน่นอนว่าเด็กๆ ควรได้ทำกิจกรรมที่ส่งเสริมการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมัดเล็ก แต่การเห็นเด็กตัวเล็กๆ จับมีดหั่นของ หรือก่อไฟตั้งเตา ก็สร้างความกังวลให้เรานิดหนึ่ง
“เด็กๆ ที่นี่ทำอาหารเก่ง เขาทำตั้งแต่อนุบาลแล้ว ครั้งที่แล้วก็ทำยำ ทำน้ำพริกกะปิ รสชาติอร่อยด้วยนะ” เสียงยืนยันจากครูปูที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้เราอีกเปราะ บวกกับภาพเด็กๆ ตรงหน้าที่ดูเชี่ยวชาญราวกับว่านี้เป็นกิจวัตรประจำวันที่พวกเขาทำอยู่แล้ว
บางคนก็จับมีดหั่นวัตถุดิบ บางคนก็ยืนล้อมกระทะตั้งหน้าตั้งตาผัดบางอย่าง บางคนก็เข้าขั้นแอดวานซ์ คือ ก่อเตาไฟสำหรับตั้งเผาอาหาร หรือบางคนขอละจากครัวไปวิ่งเล่นกับเพื่อนแทน แต่ไม่ว่าพวกเขาจะทำกิจกรรมอะไร สิ่งที่เราเห็น คือ รอยยิ้มของเด็กๆ ที่มีความสุขกับงานตรงหน้า
ก่อนจะเข้าชั้นเรียนของครูปู เราขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโรงเรียนบ้านตะเคียนราม โรงเรียนตั้งอยู่ใน จังหวัดศรีสะเกษ เป็นหนึ่งในโรงเรียนนำร่องในโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กระบวนการสอนที่ใช้ในโรงเรียนจะเป็น PBL (Problem – based Learning การเรียนรู้จากโจทย์ปัญหา) จิตศึกษา และมีกระบวนการพัฒนาครูด้วย PLC (Professional Learning Community)
จากปัญหาอัตรานักเรียนที่ลาออกกลางคัน (Drop out) สูง บวกกับความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนไม่ค่อยดี ทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียน อำนวย มีศรี กลับมาตั้งคำถามว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
ผอ.อำนวย เริ่มด้วยการเข้าโครงการต่างๆ ที่เขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดเป็นคนแนะนำ แต่ก็พบว่าไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่บ้านตะเคียนรามมีได้ สุดท้ายผอ.ตัดสินใจไปคุยกับ ครูใหญ่ – วิเชียร ไชยบัง แห่งโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ที่มีกระบวนการเรียนการสอนสะดุดตาผอ.อำนวย เขาตัดสินใจพาครูทั้งโรงเรียนรวมถึงชุมชนไปเรียนรู้ที่ลำปลายมาศ
ผลที่ได้คือเปลี่ยนการสอนโรงเรียนยกชุด จากสอนหลายๆ วิชา ลดเหลือวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย อังกฤษ ไปเน้นกระบวนการสอนที่ให้นักเรียนเป็นคนหาความรู้เองผ่าน PBL และเพิ่มกิจกรรมจิตศึกษาและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้านอื่นๆ ที่สำคัญคือทั้งโรงเรียนยกเลิกการวัดผลแบบสอบด้วย!
“เรารู้สึกว่ามันไม่มีประโยชน์ คือการสอบก็คงมีประโยชน์อยู่นะ แต่สิ่งนี้ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาที่เรามี คนที่สอบได้คะแนนดีๆ คือ พวกเด็กเรียนเก่ง ส่วนคนที่ไม่เก่งก็ไม่ได้เหมือนเดิม ตัวข้อสอบครูก็เอามาจากของเดิมๆ เงินที่ใช้ทำข้อสอบเทอมๆ หนึ่งหลายหมื่นอยู่นะ เรารู้สึกว่ามันเพิ่มภาระเฉยๆ ประโยชน์ที่ได้น้อย” ผอ.อำนวย กล่าวถึงที่เหตุผลประกอบการตัดสินใจ
“ยกเลิกการสอบในโรงเรียน เหลือแค่รอสอบของหน่วยงานภายนอกหรือการวัดผลระดับชาติ เช่น O-NET ที่เขาสร้างเครื่องมือให้เราแล้ว ไม่ต้องยุ่งยากทำเอง ในโรงเรียนเน้นวัดผลระหว่างเรียน ผ่านการประเมินชิ้นงานที่เขาทำ จะกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำว่าควอเตอร์ละกี่ชิ้น
“ทางโรงเรียนก็ไม่ซีเรียสกับคะแนนสอบเด็กนะ แต่พอเราเปลี่ยนวิธีเรียนวิธีสอน ปรากฏว่าอันดับคะแนนสอบเด็กดีขึ้น เพราะเราติดตั้งวิธีคิดให้เขา”
ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนครั้งนี้ทำให้อัตราจำนวนนักเรียนออกกลางคันลดลงเหลือประมาณ 6% จากเดิม 20% ความสัมพันธ์ของครูและนักเรียนดีขึ้น พวกเขาอยากมาโรงเรียน เพราะอยากเรียนและก็กล้าแสดงออก
นอกจากพัฒนานักเรียนแล้ว สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ การพัฒนาครู ที่บ้านตะเคียนรามจะมีวง PLC ให้ครูๆ ในโรงเรียนแลกเปลี่ยนให้ฟีดแบ็กการสอนแต่ละคน ให้คำแนะนำตารางสอน วิธีสอนตัวเอง และส่งคุณครูไปอบรมเพิ่มทักษะด้านต่างๆ ซึ่งผลงานด้านนี้ก็ขยายไปยังโรงเรียนอื่นๆ ที่ขอมาซิทอินศึกษาความรู้จากบ้านตะเคียนรามด้วย
กลับมาที่ห้องเรียนของครูปู กิจกรรมมาสเตอร์เชฟถึงเป็นกิจกรรมปิดควอเตอร์ (การเรียนที่ตะเคียนราม 1 เทอมจะแบ่งเป็น 4 ควอเตอร์ แต่ละควอเตอร์ครูจะตั้งโจทย์ว่าเด็กอยากเรียนเรื่องอะไร นำมาบูรณาการเข้ากับวิชาเรียน) หน่วยการเรียนครั้งนี้ในหัวข้อ ‘ข้าว’
“เรียนเยอะไปก็ไม่ได้ใช้ทุกอย่างหรอก อีกอย่างความรู้มันเปลี่ยนทุกวัน และหาได้ในอินเทอร์เน็ต ทำให้เราเน้นสอนแบบ active learning เพื่อให้เขามีสกิล มีทักษะศตวรรษที่ 21 คือ ทำงานเป็น สื่อสารกับคนอื่นได้ รู้จักแก้ไขปัญหา ที่สำคัญคือรู้ว่าตัวเองเรียนอะไร เรียนไปทำไม
“การคิดโจทย์เรียน เราจะตั้งหลักว่าต้นทุนท้องถิ่นมีอะไรบ้าง เลือกปัญหาที่เกิดใกล้ๆ ตัวเด็ก เช่น เรื่องขยะ วิธีเรียน PBL ก็เหมือนกับใช้หลักอริยสัจ 4 ปัญหาคืออะไร รู้ที่มาของปัญหา หาวิธีแก้ไข ซึ่งก็แก้ได้บ้างไม่ได้ ก็หาวิธีไปเรื่อยๆ จนกว่าจะแก้ได้ เป็นการเรียนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน PBL” ครูปูอธิบายให้ฟัง
โจทย์ ‘ข้าว’ เกิดจาก DOE (Desired Outcomes of Education ผลลัพธ์การเรียนรู้พึงประสงค์ของโรงเรียน) ของโรงเรียนบ้านตะเคียนราม คือ เกษตรกรรม ข้าวเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อ อาชีพของคนส่วนใหญ่ที่นี่ก็คือการทำนา ทำให้มีข้าวจำนวนมาก ครูปูเกิดไอเดียชวนเด็กๆ มาเรียนเรื่องข้าว และตั้งโจทย์ว่าข้าวนอกจากหุงกินตามปกติ มันสามารถแปรรูปทำอย่างอื่นได้ไหม
“โฮบบาย” ครูปูพูดชื่อหน่วยการเรียนรู้นี้ให้เราฟัง แน่นอนว่าเราไม่เข้าใจคำดังกล่าว ครูปูยิ้มและอธิบายว่า โฮบ-บาย เป็นภาษาเขมรแปลว่ากินข้าว คนที่นี่ส่วนใหญ่ใช้ภาษาเขมรในการสื่อสาร ครูปูเลยนำมาตั้งเป็นชื่อหน่วยการเรียนรู้
ก่อนจะมาถึงกิจกรรมมาสเตอร์เชฟ ครูปูพานักเรียนไปรู้จักก่อนว่า ก่อนเป็นเมล็ดข้าวที่เรากินทุกวันนี้มันมีที่มาอย่างไร ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้ครูปู เพราะเด็กในห้องเกือบทั้งหมดไม่เคยมีใครทำนา แม้พ่อแม่พวกเขาจะทำนาเป็นอาชีพ
“มีเด็กยกมืออยู่ 2 – 3 คน เราก็ อ้าว แล้วที่เหลือไม่เคยทำเหรอ (หัวเราะ) เป็นเรื่องมหัศจรรย์มากนะ กลายเป็นเราคิดผิดว่าเด็กๆ ทุกคนต้องเคยทำนาแน่เลย แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไป พ่อแม่ให้เด็กทำนาน้อยลง
“เราเลยพาเขาเดินไปทุ่งนาแถวโรงเรียน ถึงไม่ใช่หน้าข้าวแต่ก็ยังพอมีให้เห็น เด็กก็บอกอากาศร้อนมาก เราก็บอกเขาว่า เนี่ย พ่อแม่ก็ร้อนต้องทำนา พูดให้เด็กรู้คุณค่าของเมล็ดข้าว หลังจากนั้นไปเรียนเรื่องอื่นๆ เช่นโภชนาการ เลือกอาหารให้ครบ 5 หมู่ จนถึงการแปรรูปข้าว”
เมื่อรู้จักข้าวเสร็จก็มาถึงด่านสุดท้าย คือ เอาความรู้ที่มีไปใช้ยังไง ออกมาเป็นกิจกรรมมาสเตอร์เชฟที่ให้นักเรียนออกแบบเมนูที่มี ‘ข้าว’ เป็นวัตถุดิบหลัก หน้าที่คนให้โจทย์อย่างครูปูก็หมดลง คนที่ดำเนินการต่อคือนักเรียนในห้องที่จับกลุ่มวางแผนว่าจะทำเมนูอะไรบ้าง ใครจะเตรียมวัตถุดิบ-อุปกรณ์ วันจริงใครมีหน้าที่อะไร ซึ่งกิจกรรมนี้ถือเป็นกิจกรรมใหญ่ เพราะนักเรียนชั้นป.3 ทุกคนมาทำด้วยกัน ทำให้การแบ่งกลุ่มแบ่งเป็นห้องๆ แทน
เมนูวันนี้มีตั้งแต่อาหารเบสิกอย่างข้าวผัด ไปจนถึงการประยุกต์โดยเอาข้าวไปผัดและนำไปทอดกรอบ หรือแม้แต่เมนูที่ดูหลุดๆ ธีม อย่างส้มตำ (น่าจะเมนูที่มาจากความต้องการโดยส่วนตัวของเด็กๆ) แต่ละกลุ่มเมื่อทำอาหารเสร็จก็แบ่งหน้าที่ คนหนึ่งเก็บของ ที่เหลือจัดอาหารลงถาดรอเพื่อนมากิน หรือคนไหนรอเพื่อนไม่ไหวก็จัดการกินก่อน สีหน้าของเด็กๆ ไม่ต้องบอกว่าอาหารมื้อนี้อร่อยแค่ไหน (หรือต่อให้ไม่อร่อยแต่ถ้าเป็นฝีมือตัวเองก็กินจนหมด – ครูปูแอบกระซิบบอกเรา)
“การสอนแบบใหม่มันยากและก็เหนื่อย แต่สนุกทั้งครู – เด็ก สอนแบบเก่าสบายนะ ปรินท์ใบงานจากคอมพิวเตอร์ให้เด็กทำ ‘ทุกคนเปิดหน้า 20 อ่านพร้อมกัน’ เด็กได้แค่ passive แต่สอนแบบปัจจุบันเด็กต้องลงมือทำถึงจะได้ความรู้ บางอย่างทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็มี มานั่งสะท้อนคุยกันว่าสาเหตุที่งานชิ้นนี้ทำไม่สำเร็จเพราะอะไร เช่น เราเคยตั้งโจทย์ให้นักเรียนทำดอกไม้ไปไหว้พระ แต่ไม่สำเร็จ เพราะบางคนตัดก้านสั้นไปจับช่อไม่ได้ เป็นต้น การเรียนแบบนี้มีคุณค่าเพราะเขาลงมือทำด้วยตัวเอง”
ภาพนักเรียนบ้านตะเคียนรามที่เราสัมผัสได้ คือ พวกเขากล้าแสดงออกอย่างมาก บางคนลงมือทำอาหารอย่างคล่องแคล่ว ไม่กลัวว่าจะผิดหรือถูก ‘ทำไมเด็กทุกคนกล้าแสดงออกจัง’ เราโยนคำถามไปที่ครูปู เธอยิ้มตอบว่า “ก็นั่งคุยแบบนี้เลย empower เขาตลอด ‘หั่นผักเก่งจังเลย’ หรือบางทีเพื่อนด้วยกันตำหนิกันเอง เราก็จะบอกว่าไม่เป็นไร หั่นครั้งแรก ลองหั่นชิ้นใหม่แบบอื่นดู ไม่ใช่บอกว่า เออ…หั่นใหญ่จริงๆ เพราะมันเป็นการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์เขา เขาจะไม่มั่นใจในตัวเอง เราต้องพูดให้เขาอยากทำต่อ
“แค่คำพูดของครูหนึ่งคำอาจทำให้เด็กเป็นอัจริยะในเรื่องนั้นๆ เลยก็ได้นะ สำหรับเด็กโดยเฉพาะเด็กประถมต้น ครูเป็นเหมือนไอดอลของเขาเลยนะ ครูเป็นยังไงเด็กก็เป็นอย่างนั้น”
กิจกรรมมาสเตอร์เชฟจบลงที่เด็กๆ ช่วยกันเก็บกวาดอุปกรณ์ พร้อมเตรียมตัวไปเรียนคาบต่อไป ที่แน่ๆ พวกเขาคงจะขอข้ามชั่วโมงอาหารกลางวัน เพราะท้องที่ป่องเป็นสัญญาณโชว์ได้ดีว่าอาหารมื้อนี้เติมเต็มท้องพวกเขาจนอิ่มแปล้ รวมถึงเป็นอาหารสมองอีกด้วย