- สำหรับ ครูป้อม-ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลป์ กทม. ‘ศิลปะ’ ไม่ควรถูกแยกตามสายหรือจัดหมวด เพราะศิลปะเชื่อมโยงกับทุกเรื่องของชีวิต
- วิชาเสพงานศิลป์ จึงสำคัญมากต่อความคิดเชิงสร้างสรรค์และเชิงวิพากษ์ของเด็กๆ เพราะมันมีพลังส่งเสริมให้เขาใช้ชีวิตสนุกสนานและรู้จักพลิกแพลงองค์ความรู้ต่างๆ
- ที่งานศิลปะดูไม่แมสและยากที่จะเข้าถึง เพราะระบบการศึกษาให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์มากกว่า
- แต่ในฐานะ ผอ.หอศิลป์ ครูป้อมบอกว่า การทำให้ศิลปะแมสคือหน้าที่ เพราะนี่คือภาษีประชาชน
ถ้าเราลองจินตนาการตัวเองนั่งอยู่ในคาบศิลปะของโรงเรียน เราอาจจะมีภาพมือจับพู่กันหรือดินสอวาดรูป หรือถ้าอยู่ในคาบนาฏศิลป์ ใครที่รำไทยได้ถูกต้องตามแบบแผน อ่อนช้อยสวยงามตามตำราก็มีแนวโน้มว่าจะได้คะแนนที่ดีไป คาบภาษาไทยก็แน่นอนว่าภาพแรกไม่ใช่การไปเดินดูการศึกษาตัวอักษรโบราณในพิพิธภัณฑ์
กลับกันถ้าเราเรียนวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ก็มักเต็มไปด้วยสูตรและการพิสูจน์เหตุผล ทุกวิชาดูแยกขาดจากกัน น่าแปลกที่เราแทบจะนึกภาพไม่ค่อยชัดเลยว่าเราสามารถเรียนวิทยาศาสตร์โดยใช้ศิลปะเข้ามาช่วยได้อย่างไรบ้าง
วิชาสังคม + อาร์ต = ความสนุก
หรือเรียนศิลปะ = เรียนรู้อิสระทางความคิด x แรงบันดาลใจ = ?
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปวิตร มหาสารินันทน์ หรืออาจารย์ป้อม ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) อดีตอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของวิชาปริทัศน์ศิลปการละครยกตัวอย่างคำตอบนั้นด้วยนิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์ ‘สานพฤกษพรรณผ่านงานพฤกษศิลป์’ ที่จัดโดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งใช้ศิลปะเข้ามาศึกษารายละเอียดของพันธุ์ไม้หายาก และเริ่มไล่เรียงความสำคัญของการ ‘เสพศิลป์ไปวันๆ’ ว่ามันช่วยสร้างตัวตนและความสนุกสนานให้เด็กและทุกคนได้
Art Appreciation หรือศิลปวิจักษ์ สำคัญมากต่อความคิดเชิงสร้างสรรค์และเชิงวิพากษ์ของเด็กๆ เพราะมันมีพลังส่งเสริมให้เขามีชีวิตที่สนุกสนานและรู้จักพลิกแพลงองค์ความรู้ต่างๆ ในชีวิต
และที่สำคัญ ต้องเริ่มตั้งแต่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานเลยด้วย
เพราะโลกของเด็กทุกคนกว้างกว่าก้อนดินน้ำมัน เขาอาจจะอยากวาดฝันที่ไม่ได้อยู่บนกระดานก็ได้
วิชาการเสพศิลป์ไปวันๆ สำคัญตั้งแต่ที่โรงเรียน
อยากให้อาจารย์นิยามคำว่า Art Appreciation
ถ้าอธิบายเป็นศัพท์บัญญัติเลยเขาจะใช้คำว่าศิลปวิจักษ์ ซึ่งก็ยังเป็นคำที่คนทั่วไปไม่เข้าใจ แต่มันก็คือการทำความเข้าใจศิลปะไม่ว่าจะแขนงไหนก็ตาม บางทีคนใช้คำว่า art แล้วอาจจะนึกถึงทัศนศิลป์ (visual arts) อย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วมันคลุมไปหมดเหมือนกับวิชาวิทยาศาสตร์ แต่ด้วยความที่ระบบการศึกษาของเราสอนวิชาด้านวิทยาศาสตร์มากกว่าศิลปะ เพราะฉะนั้นคนก็จะเข้าใจวิทยาศาสตร์มากกว่า
แต่ผมมองว่าชีวิตคนเราต้องเข้าใจทั้งสองอย่างถึงแม้ว่าจะเรียนหรือไม่เรียนก็ตาม ในประเทศกำลังพัฒนาเรากำลังขาดตรงนี้ไปเพราะว่าวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่จับต้องได้มากกว่า
เราให้ความสำคัญกับเด็กที่คิดเลขเป็น คิดเลขเร็ว ถ้าเป็นศิลปะคนมักจะนึกไปถึงว่าจะต้องปั้นอะไร วาดรูป หรือเล่นละคร แต่จริงๆ แล้วการเข้าใจศิลปะกับการสร้างสรรค์งานศิลปะเป็นคนละเรื่องกัน
คนที่ทำงานศิลปะได้กับคนที่เข้าใจงานศิลปะสามารถที่จะเชื่อมโยงได้กับชีวิตประจำวันมันไม่เหมือนกัน
ระบบการศึกษามีผลกระทบที่ทำให้เด็กไม่เข้าใจการเสพศิลปะอย่างแท้จริงมากแค่ไหน เด็กจำเป็นต้องรู้ไหมว่ามีสิ่งที่เรียกว่า Art Appreciation อยู่
แค่ตอนเช้าๆ เราตื่นขึ้นมาแล้วตัดสินใจว่าจะใส่ชุดอะไรไปทำงาน หรือมีอะไรต้องทำ เรารู้ว่าเราชอบสีนี้แต่เราจะแต่งตัวยังไงในพื้นที่ที่อุณหภูมิแบบนี้มันก็มีศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว นี่คือศิลปะร่วมกับวิทยาศาสตร์ เพียงแต่เราไม่ได้คิดถึงมันเท่านั้นเอง
ในระบบการศึกษา ผมว่าเรื่อง Art Appreciation ควรจะถูกบรรจุอยู่ในเนื้อหาของวิชาศิลปะทุกแขนง ตอนนี้เราจะสอนให้เด็กวาดรูปและมีมาตรฐานให้ว่านี่คือสวย นี่คือดีงาม หรือว่าเราสอนนาฏศิลป์ไทย เราจะบอกเด็กว่าต้องยกแขนสูงเท่านี้ งอมือขนาดนี้ อันนั้นคือการฝึกทักษะของการสร้างสรรค์ศิลปะ แต่บางทีการที่เราเน้นการฝึกทักษะด้านนี้มากไปทำให้เราไม่มีโอกาสสอนให้เด็กถอยห่างออกมาแล้วมองว่านี่คือความงาม ความดี หรือในขณะที่เราสอนวาดรูปในโรงเรียน ผมว่าน้อยโรงเรียนมากที่จะพาเด็กไปดูงานตามพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์เพื่อให้เขาเห็นว่านอกจากสิ่งที่ครูบอกว่านี่คือการวาดภาพที่สวยแล้วมันยังมีการวาดภาพในรูปแบบอื่นๆ อีก และนี่คือความงามเช่นกัน
การศึกษาในปัจจุบันสามารถสร้างตัวเลือกให้เด็กได้มากขึ้นไหมถ้าใส่องค์ความรู้ด้าน Art Appreciation เข้าไป
การเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์ต่างๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมากครับ ในขณะที่โลกปัจจุบันเป็น convergence (การหลอมรวมของสื่อดิจิทัล) แต่ว่าระบบการศึกษาปัจจุบันในประเทศไทยคือจบ ม.3 มาก็ต้องแยกสายวิทย์ สายศิลป์ แล้ว แต่เดิมในมหาวิทยาลัยเขายังให้เข้าไปก่อนแล้วเลือกเองตอนจบปี 1 หรือปี 2 แนวโน้มใหม่คือให้เลือกตั้งแต่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยด้วยซ้ำซึ่งมันยากมากนะครับ แล้วส่วนใหญ่ก็จะไม่อนุญาตให้ย้ายเอกในคณะ
ไม่ใช่เด็กอายุ 18 ทุกคนที่จะรู้ว่าชีวิตนี้จะทำอะไรที่เฉพาะเจาะจงขนาดนั้นได้?
ผมว่านักเรียนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนศิลปะหรือว่าเรียนน้อยจริงๆ ก็มีโอกาสที่จะเข้าใจ Art Appreciation ได้ ถ้าครูหรือระบบการศึกษาทำให้เขาเห็นว่าวิชาศิลปะเชื่อมโยงกับวิชาอื่นๆ เหมือนวิทยาศาสตร์ เหมือนที่เราเข้าใจว่าถ้านิ้วเราเปียก ไม่ควรเอานิ้วไปแหย่ปลั๊กไฟ
มันไปถึงขั้นนั้นได้เลยใช่ไหม
มันเชื่อมได้ถ้าเราคิดจะเชื่อม เพียงแต่ว่าเด็กๆ เขาก็เชื่อมเองไม่เป็นหรอกครับ ในต่างประเทศผมเห็นว่าครูที่พาเด็กไปพิพิธภัณฑ์หรือไปดูละครเวที ฟังดนตรี แรกๆ ครูสอนศิลปะจะพาเด็กไปดู แต่พอเข้าช่วงมัธยมต้น ครูวิชาอื่นจะพาไปแล้ว
ผมว่าหลายๆ คนก็ได้คุณพ่อคุณแม่พาไปดูหนังเรื่องแรก แต่ตอนหลังเราก็ไปกับเพื่อนหรือไปเองได้ ผมว่าต้องมีใครสักคนที่เป็นคนแนะนำ เช่น ถ้ามีโขนซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง วัฒนธรรม และวรรณคดีไทย ครูที่พานักเรียนไปดูโขนไม่จำเป็นจะต้องเป็นครูที่สอนนาฏศิลป์ไทยแต่เป็นครูสอนภาษาไทย หรือครูสอนสังคมก็ได้ กลับมาก็สามารถพาเด็กวิเคราะห์ได้ว่าทำไมพระเอกของเรื่องต้องชื่อราม หรือประวัติศาสตร์ต่างๆ
ทุกอย่างมันมีเหตุผลและความหมาย แม้แต่สิ่งที่เรามองว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมไทยก็มีความประเด็นและประโยชน์มากกว่าวัฒนธรรมที่เราต้องอนุรักษ์
ในเชิงศิลปะมันอาจจะสอนได้ยากกว่าหรือเปล่า เพราะถ้าเรามองวิชาวิทยาศาสตร์ มันมีเหตุมีผลที่พิสูจน์ได้แต่ศิลปะมันกว้างไปหมด
ถ้าครูหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยมองว่าศิลปะไม่ได้มีแต่เรื่องงานฝีมือหรือความสวยงาม แต่มีเนื้อหาในงานศิลปะที่สามารถสกัดออกมาแล้วทำให้นักเรียนเข้าใจได้ก็จะปรับใช้ในหลายวิชาได้มากขึ้นเยอะ
ผมเคยขึ้นไปที่ชั้น 8 ของ BACC ซึ่งมีงาน ‘ฉันคือเธอ’ ของคุณวสันต์ สิทธิเขตต์ จัดแสดงอยู่ แล้วเจออดีตนิสิตในที่ปรึกษาที่จุฬาลงกรณ์ฯ มาเรียนวิชาสนทนาภาษาฝรั่งเศสในงาน กรณีนี้คือครูฝรั่งเศสเขาก็ไม่ได้เป็นศิลปิน แต่เขาคงคิดว่านั่งอยู่ในห้องมันก็คงได้แค่ระดับหนึ่ง แต่ถ้าพามางานนิทรรศการศิลปะคงจะคุยได้หลายอย่างมาก
แล้วนิทรรศการของคุณวสันต์มีศัพท์อะไรใหม่ๆ หลายคำแน่เลยที่นักศึกษาคงจะไม่เคยทราบมาก่อน มีเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ซึ่งเวลาเรียนภาษาฝรั่งเศส เราไม่ได้เรียนแต่ภาษาแต่เรียนวัฒนธรรมฝรั่งเศสด้วย ฉะนั้นผมเชื่อว่าครูไม่ได้พามาเพื่อบอกว่าภาพนี้สวยหรือเขียนเมื่อไหร่ ผมว่าเขามองโจทย์ในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งการสอนแบบนี้เรามาเริ่มในมหาวิทยาลัยก็สายไปแล้ว
อาจารย์พอจะยกตัวอย่างงานที่ผสานการเรียนรู้เชิงศิลปะของศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกันได้ไหม
ตอนที่ผมอยู่จุฬาฯ มีละครเวทีที่มีคนเขียนบทของญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงมาก เป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยโอซาก้า รองอธิการบดีซึ่งเป็นอาจารย์ด้านปรัชญาชวนให้อาจารย์คนนี้ไปทำงานกับอาจารย์ที่เป็นคนประดิษฐ์หุ่นยนต์ เขาเลยทำละครที่หุ่นยนต์เล่นขึ้นมา พอมาแสดงที่เมืองไทยเด็กคณะวิศวฯ ก็ตื่นเต้นมากเพราะว่าอาจารย์ที่ประดิษฐ์หุ่นยนต์ดังระดับโลกเลย
งานแบบนี้ทำให้นิสิตคณะวิศวฯ มาดูละครเวที แล้วปรากฏว่าละครเรื่องนี้เป็นแนววรรณคดีจ๋ามาก ซึ่งเด็กวิศวฯ ไม่มีแนวโน้มจะสนใจเลย แต่เขาสนใจหุ่นยนต์ แล้วผมก็เห็นว่าหลังจากนั้นเขาก็มาดูละครเรื่องอื่นๆ อีกแม้ว่าจะไม่มีหุ่นยนต์ก็ตาม เพราะฉะนั้นผมมองว่าปัจจุบันจะมีงานแบบนี้เยอะมากขึ้นเรื่อยๆ เราควรจะทดลองว่าถ้าเราลองไปร่วมงานกับคนที่อยู่นอกสาขาจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งสุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือคนดู
คนที่ทำงานเกี่ยวกับระบบการศึกษาและศิลปะจะต้องทำงานร่วมกันให้มากขึ้นเพื่อที่จะสร้างกลุ่มคนดูของอนาคต ไม่ใช่ศิลปินนะครับแต่เป็นคนดูที่เห็นว่าศิลปะเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นๆ ได้
การที่เด็กๆ เรียนรู้ Art Appreciation มันสามารถสร้างคาแรคเตอร์ หรือทำให้เขาเกิดความคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) เพื่อเหลาตัวตนของเขาได้ไหม
ศิลปะร่วมสมัยเปิดโอกาสให้คนดูตีความได้เยอะมาก และมีความเชื่อมโยงกับสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและอีกหลายอย่าง ไม่ได้มาจากงานศิลปะแบบประเพณีที่มีกฎเกณฑ์ตายตัวที่เราจะต้องตามไปเสียทุกอย่างโดยที่ไม่สามารถตั้งคำถามอะไรได้เลย เพราะคนที่ตั้งกฎเขาตายไปแล้ว
ศิลปะร่วมสมัยไม่ได้เป็นแค่ art for art’s sake (ศิลปะเพื่อศิลปะ) อย่างเดียวแล้ว เพราะฉะนั้นการที่มันเปิดโอกาสให้คนตีความได้หลากหลายก็คือลักษณะอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย การที่เราเข้าใจว่าการสร้างงานชิ้นนี้ศิลปินต้องการอะไร อาจจะด้วยสิ่งที่เขาเขียนหรือสิ่งที่เราวิเคราะห์ตีความเอง แล้วเราก็คิดว่าเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เขาบรรลุจุดประสงค์ของเขาหรือเปล่าก็คือการคิดวิเคราะห์แล้วก็รวมไปถึงการวิจารณ์ด้วย
คนที่เป็นครูก็ต้องเปิดรับการตีความของนักเรียน เมื่อเขารู้สึกว่าความเห็นของเขาได้รับการยอมรับ เขาก็จะกล้าคิดและมีความคิดสร้างสรรค์ และมองเห็นว่าความคิดเห็นของคนเราก็แตกต่างกันได้ ไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกับครูเสมอไป
สอนให้เด็กคิดในสิ่งที่โลกไม่เคยมีมาก่อน
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยที่รับเด็กมาจากการศึกษาหลายรูปแบบ อาจารย์มีวิธีสอนนิสิตอย่างไร
ตอนที่ผมสอนวิชา Theater and Film Appreciation ซึ่งผมไม่ได้สอนนิสิตที่เรียนเมเจอร์ด้านละครหรือภาพยนตร์ แต่เขาจะเรียนพวกวิชาด้านวัฒนธรรมศึกษา (cultural studies) หรือภาษาต่างๆ นิสิตเลยจะได้เห็นว่าเวลาเขาเรียนภาษา เขาต้องเรียนวัฒนธรรมไปด้วย แล้วการดูภาพยนตร์ก็คือการศึกษาวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ผมสอนให้เด็กเห็นว่ามีภาพยนตร์อีกหลายประเภทที่เขายังไม่เคยได้ดูหรือคุ้นเคย และอยากให้คนรุ่นใหม่ใช้ประโยชน์จากตรงนี้เพราะเขาสามารถที่จะดูภาพยนตร์จากที่ไหนก็ได้แล้ว
เราทำให้เขาเห็นว่าศิลปะมันเชื่อมกับอย่างอื่นตลอดเวลา การที่คุณดูงานศิลปะมันไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องรักศิลปะเหมือนกับที่คุณบวกเลขได้ไม่ได้หมายความว่าคุณจะรักเลข แล้วการที่คุณรักศิลปะหรือดูภาพยนตร์เยอะๆ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องอยากเป็นคนทำภาพยนตร์
คุณอาจจะเป็นนักธุรกิจหรือพนักงานขายประกันที่รักและอยากดูภาพยนตร์เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ สร้างแรงบันดาลใจหรือหาบทเรียนอื่นๆ ของชีวิตที่คุณไม่ได้จากชีวิตประจำวันก็เป็นไปได้ ผมว่ามันเป็นการเปิดช่องทางให้เขามากกว่า
สิ่งที่พื้นฐานที่สุดเกี่ยวกับ Art Appreciation ที่อาจารย์ใช้สอนนิสิตคืออะไร
ในส่วนที่เป็นการวิจารณ์ละครเวที นิสิตส่วนใหญ่ที่เรียนกับผมในตอนนั้นไม่เคยดูละครเวที ทุกเทอมผมจะให้เขาไปดูละครเวทีซึ่งมีงบประมาณจากคณะมาช่วยเหลือทั้งที่ทางคณะฯ จัดเอง ไปร่วมกับองค์กรอื่นหรือมีละครเวทีจากต่างประเทศมาแสดง ซึ่งก็จะมีความแตกต่างหลากหลาย
หลังจากนั้นเราก็จะมาคุยกันในห้องแล้วผมจะให้เขาเขียนบทวิจารณ์มา ซึ่งผมจะให้กรอบที่ไม่ได้เป็นบทวิจารณ์วิชาการ แต่เราทำให้เขาเห็นว่าเวลาเราดูงานศิลปะ เราจะสามารถดูอะไรได้บ้าง ก่อนหน้านั้นเราจะเรียนว่าการแสดงที่ดีคืออะไร ฉากทำหน้าที่อะไร ดนตรีในละครทำหน้าที่อะไร แล้วเขาจะเอาความรู้พวกนี้มาประยุกต์กับการไปดูละครเวทีของเขา เราจะคุยกันว่ามันไม่ได้เป็นแค่ศิลปะการละครอย่างเดียว แต่มันจะเชื่อมโยงกับสหวิชาอื่นๆ บางทีนิสิตจะถามผมว่าเขียนเป็นกลอนได้ไหมเพราะเขาชอบเขียนกลอนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ตัวอย่างของนิสิตที่นำ Art Appreciation ไปใช้แล้วรู้สึกว้าว
เวลาผมสอนวิชาวรรณกรรมการละคร เนื่องจากว่าเป็นชั้นเรียนที่เล็ก มีคนเรียนไม่เกิน 10 คน ผมจะให้เขาทำโปรเจ็คต์มาส่ง สมมุติว่าเราเรียนเรื่อง Hamlet (บทละครของเช็คสเปียร์) ผมจะให้โจทย์ว่าทำอะไรก็ได้เกี่ยวกับเรื่อง Hamlet แต่ต้องแน่ใจว่าในโลกนี้ยังไม่มีใครเคยทำเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อน (หัวเราะ)
แล้วปรากฏว่าก็มีอะไรสนุกๆ เกิดขึ้น เช่น บางคนทำน้ำสมุนไพรที่ได้รับแรงบันดาลใจจากตัวละครใน Hamlet ซึ่งผมมั่นใจว่ายังไม่มีใครทำ หรือบางคนที่อยากเป็นแอร์โฮสเตสเขาก็ออกแบบสายการบินที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องนี้ ซึ่งไอเดียเหล่านี้เกิดจากอะไร อย่างแรกคุณก็ต้องเข้าใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ก่อน ไม่ใช่แค่ส่งความเข้าใจนั้นกลับมาที่อาจารย์แต่ต้องบวกกับสิ่งที่คุณรักในชีวิตประจำวันหรือสิ่งที่คุณอยากเป็นในอนาคตอันใกล้จนกลายเป็นงานชิ้นใหม่ออกมาด้วย
นิสิตเห็น passion ที่ชัดเจนของตัวเองจากการเรียนศิลปะได้มากแค่ไหน
ผมเคยยกตัวอย่างนิสิตคนนี้แล้วทุกคนก็เหวอไป คือเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วมีนิสิตเอกภาษาไทย โทละครมาเรียนวิชาวรรณกรรมการละคร เรื่อง Hamlet นี่แหละ เขาเป็นคนที่ชอบดูลิเกมาก ชอบขนาดที่ว่าเอาตัวเองไปฝึกกับคณะลิเกแล้วก็เขียนการ์ตูนวิธีการดูลิเกและพิมพ์ออกขายจริงจัง เขาก็เลยแปลงบทละครเวที Hamlet ที่มันสลับซับซ้อนเป็นปรัชญามากให้เป็นบทลิเก ผมว่าถ้าเราเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ เขาจะมีความสุขกับศิลปะแบบที่เขาอยากจะให้มันเป็น
ศิลปะต้องแมสไหม?
ปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งคือพื้นที่ศิลปะไม่มากพอ หรือมีมากพอแต่เข้าไม่ถึงหรือเปล่า
ในแง่ของศิลปินอาจจะมองว่าพื้นที่ทางศิลปะไม่มากพอเพราะยังมีศิลปินอีกหลายคนที่ยังไม่มีพื้นที่ในการแสดงงาน แต่อีกแง่หนึ่งคือหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทยก็มีคนเดินไม่เยอะ ไม่ได้แน่นเหมือนกับรถไฟฟ้าบ้านเรา ฉะนั้นเราก็ยังเถียงกันได้ว่ามีมากพอหรือเปล่า แต่ผมว่าสำคัญตรงที่ว่าความพอหรือไม่พอมันขึ้นอยู่กับว่างานที่มีอยู่ทำให้คนเข้าใจว่านี่ไม่ใช่การแสดงงานเพื่อจะบอกว่านี่คือศิลปะ แล้วทุกเมืองจะต้องมีพื้นที่แสดงศิลปะแล้วคนจะต้องมาดูงานศิลปะเท่านั้น
ในส่วนของคนที่ทำงานหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ เราได้ทำงานมากพอหรือยังที่จะทำให้ผู้ชมศิลปะซึ่งเป็นคนทั่วๆ ไปรู้สึกว่าเขาเข้าไปดูงานเหล่านี้ได้ด้วยเหตุผลและผลลัพธ์ต่างๆ กัน ผมว่าคนที่บริหารจัดการศิลปวัฒนธรรมมีหน้าที่จะต้องเชื่อมโยงระหว่างตัวศิลปินกับตัวผู้ชมงานซึ่งจะเป็นงานหลักของเรา
ถ้าเรายังเข้าใจว่ากลุ่มคนดูคือคนที่ชอบดูงานศิลปะไม่ใช่คนดูทั่วไป เราจะทำยังไงให้คนดูทั่วไปเป็นคนดูงานศิลปะให้ได้
ย้อนกลับไปที่เราคุยกันที่ตอนเด็กๆ เราไม่มีความคุ้นเคยกับเรื่องนี้ เราต้องแก้ตั้งแต่ตอนนั้น
ครูควรจะพาเด็กมาพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ แล้วไม่ใช่ว่ามาแล้วกลับโรงเรียนไปนั่งวาดรูปหรือปั้นดินน้ำมันกันเฉยๆ แต่ว่าไม่ได้เชื่อมโยงกับวิชาอื่นๆ ที่เด็กสนใจ ถ้าระบบการศึกษาไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนั้น เมื่อเด็กโตขึ้นมา เขาก็ไม่ได้เห็นว่ามันจะมีประโยชน์อะไรกับชีวิตเขา
ในหลายๆ ประเทศนะครับ คนที่ดูละครหรือดนตรีมันมากเท่ากับคนที่ดูภาพยนตร์ พ่อแม่พาเราไปดูสองสามครั้งเราก็ดูเป็นแล้ว ไม่จำเป็นที่เราจะต้องใช้เทคนิคหรือทฤษฎีอะไรในการดู แล้วคนส่วนใหญ่ที่ดูหนังก็ไม่ได้ทำหนังเป็น คนที่ชอบฟังดนตรีบางทีก็ไม่ได้เล่นดนตรีเป็น แต่พอมาเป็นงานทัศนศิลป์หรือละครเวที คนดูกลับน้อยไป อาจจะเป็นเพราะคนตรงกลางอย่างเราหรือเปล่าที่ไม่ได้ตีโจทย์ตรงนี้ให้คนเห็น
บางคนอาจจะมองว่าศิลปะเป็นเรื่องของชนชั้นกลางหรือยากต่อการเข้าถึง
เราก็ต้องตีโจทย์ตรงนี้ เช่น ผมพยายามคุยกับทีมงานว่าชื่อนิทรรศการต้องมีภาษาไทยนะไม่ว่าภาษาอังกฤษจะเก๋ขนาดไหนก็ตาม แต่ภาษาไทยบางคำก็ยากมากอีก เช่นตอนนั้นเคยมีนิทรรศการภาพถ่ายชั้น 7 ชื่อภาษาอังกฤษคือ Multiple Planes ภาษาไทยคือ ‘ระนาบมากกว่าหนึ่ง’ (หัวเราะ) ผมตายไปเลย คือมันดีนะครับ มันสวยงามมาก แต่ในบางมุมเราต้องสื่อให้คนทั่วไปเข้าใจด้วย
เราต้องคิดว่าเราต้องทำให้คนที่เขาจบการศึกษาภาคบังคับเข้าใจ เพราะเขาเป็นพลเมืองชาวไทยที่จ่ายภาษีโดยสมบูรณ์ เขาก็มีสิทธิที่จะดูงานและเข้าใจ และมีความคิดเห็นเกี่ยวกับงานเหล่านี้
แต่ถ้าคำอธิบายศิลปะมันยากมันก็จบตั้งแต่ด่านแรกแล้วเพราะบางคนอาจจะคิดว่าเขาไม่ได้เรียนมาทางนี้หรือเปล่า ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่
เท่าที่พูดคุยมาเราอาจจะต้องมองประโยชน์ของ Art Appreciation เป็นผลในระยะยาวหรือเปล่า
บางอย่างเราสามารถเห็นผลในระยะสั้นได้ เช่น ตอนที่เรามีนิทรรศการภาพถ่ายสิ่งแวดล้อม จะมีภาพถุงพลาสติกของคุณนัท สุมนเตมีย์ และมีปลาที่ว่ายอยู่ข้างใน ช่วงนั้นก็มีข่าวว่ามลภาวะเรื่องพลาสติกของประเทศเป็นอันดับที่ 5 ของโลก วันที่เราเปิดนิทรรศการนี้เราก็ทำนโยบายว่าร้านค้าจะไม่แจกถุงพลาสติกจนถึงตอนนี้ก็ไม่มีใครขอแล้ว นี่เห็นผลชัดเจนเลย แล้วเราก็เอาป้ายนี้ไปตั้งไว้ที่นิทรรศการด้วย แต่มันก็ไม่ใช่ทุกนิทรรศการที่ทำแบบนี้ได้
ผมว่ามันขึ้นอยู่กับตัวงานศิลปะและคนที่ตีโจทย์ของคนบริหารจัดการงานศิลปะด้วย เราไม่สามารถอัดฉีดเงินสักก้อนหนึ่งเพื่อจ้างโค้ช หรืออุปกรณ์ที่ดีเพื่อทีมฟุตบอลทีมนี้ มันคงไม่ใช่เหตุผลแบบนั้น มันเป็นผลระยะยาวของคนรุ่นหน้าด้วยซ้ำ
แต่ก็เป็นเรื่องที่อธิบายยากกับผู้บริหารของเมืองเพราะเขาอยู่ในยุคสมัยที่ไม่มีหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์เยอะแบบนี้ หรือไม่มีครูที่พามาเชื่อมโยงให้เขาเห็น อย่างดีก็ไปดูละครที่โรงละครแห่งชาติแล้วก็จบ หรือถ้ามีภาพยนตร์ที่รัฐบาลบอกให้ดู ครูก็พาไปดูแล้วก็จบ ที่เหลือก็เรียนวาดรูปสีน้ำ ดนตรีไทยไป นั่นคือศิลปะสำหรับคนรุ่นหนึ่ง ดังนั้นเขาจะไม่เข้าใจว่ามันเกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตเขา
ถ้าอย่างนั้นศิลปะต้องเข้าถึงง่ายไหม
ผมว่าศิลปินแต่ละคนก็มีกลุ่มเป้าหมายไม่หมือนกัน งานศิลปะแต่ละชิ้นศิลปินก็ตั้งใจให้แมสไม่เท่ากัน ด้วยความที่ว่าเราเน้นการนำเสนอศิลปะร่วมสมัย เพราะมันมีพื้นที่ศิลปินเหลือไว้ให้คนตีความ ผมจึงคิดว่าศิลปินทุกคนยอมรับความคิดเห็นแตกต่างของคนที่มาดูงาน
ศิลปะร่วมสมัยเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย เพราะเราสามารถใช้รูปแบบที่หลากหลายของมันเป็นสื่อที่ใช้รณรงค์ในหลายๆ ประเด็นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม หรือการเมืองเองก็ตาม อย่างที่ BACC คนอาจจะมองว่าที่ตรงนี้มี NGO เข้ามาเยอะแล้วเขาอาจะรู้สึกว่ามันจะไม่เรียบร้อยหรือเปล่า แต่ผมมองว่ามันคือพื้นที่ที่ให้คนแสดงออกทางความคิดในความเป็นประชาธิปไตย เช่น ศิลปินเล่นดนตรีประท้วงเรื่องเสือดำ บางคนก็มาฟังเพราะเพลงเพราะเฉยๆ เขาอาจจะไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้ก็ได้
ถ้าถามผมที่นั่งอยู่ตรงนี้ในสถานที่แห่งนี้ ทำงานด้วยเงินภาษีประชาชน ผมต้องทำให้ศิลปะแมส เพราะมันคือภาษีของเขาน่ะครับ ถ้าเขารู้สึกว่าศิลปะเป็นของชนชั้นกลางหรือคนที่มีการศึกษาดีๆ เท่านั้นก็เท่ากับว่าผมยังไม่ประสบความสำเร็จ
อาจารย์คิดว่าความสำคัญของการเสพศิลป์ยังไปไม่ถึงสถาบันการศึกษาหรือโรงเรียนเพราะอะไร
การเรียนการสอนในรูปแบบที่เป็นอยู่ ยังเน้นการฝึกทักษะในการผลิตศิลปะมากกว่าที่จะรวมศิลปะเข้ากับศาสตร์อื่นๆ
ผมมองว่ามันเป็นความผิดของผมเองด้วยเพราะผมเป็นคนที่อยู่ตรงกลางคอยจัดการศิลปวัฒนธรรม ผมน่าที่จะจัดแพ็คเกจตรงนี้แล้วยื่นเสนอให้โรงเรียน เช่นว่าตอนนี้เราอยู่ในยุคของ AEC แล้วถ้าคุณอยากจะให้เด็กๆ รู้เรื่องราวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านทางภาพถ่ายร่วมสมัย ลองมาดูนิทรรศการนี้
ผมเชื่อว่าเด็กๆ น่าจะสนุกเพราะจะมีบางรูปที่หาจากในหนังสือหรือเว็บไซต์ไม่ได้ เป็นบทเรียนของผมด้วยว่าเราจะรอให้ครูไทยทุกคนเป็นอย่างอาจารย์ฝรั่งเศสคนนั้นก็คงไม่ได้ เราต้องทำให้เขาเห็นว่าการมาหอศิลป์คือไม่ใช่แค่มาเพื่อเรียนศิลปะอย่างเดียว แต่เมื่อเขามาแล้วเขาก็ต้องเห็นว่าเขาทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง เขาพักผ่อนในนี้ได้ไหมหรือเชื่อมโยงสิ่งที่เขาเรียนกับศิลปะได้หรือเปล่า
ยกตัวอย่างง่ายๆ เลยคือถ้าเราจะออกข้อสอบว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนมีกี่ประเทศ มีคำตอบที่ถูกต้องแค่คำตอบเดียว แต่ถ้าถามว่าภาพถ่ายของศิลปินอาเซียนคนนี้สวยหรือไม่ คุณชอบหรือไม่เพราะอะไร คำตอบก็ต้องมีหลากหลาย ทำยังไงให้เด็กเข้าใจว่าไม่ต้องเรียนศิลปะก็เข้าใจศิลปะและใช้ศิลปะเติมเต็มชีวิตได้