ภาพ: เดชา เข็มทอง
The Potential แอบลงไปเดินเที่ยวงาน Pattani Decoded งาน Design Week อย่างเป็นทางการครั้งแรกของเมืองปัตตานีงานที่ตั้งใจออกแบบพื้นที่ให้คนออกมาใช้ชีวิตและแชร์เวลาร่วมกัน ผ่านงานศิลปะ เวิร์กช็อป งานแสดงดนตรี ที่ตั้งวางตลอดหลัก 3 เส้นของเมืองปัตตานี – อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤาดี – ย่านเศรษฐกิจทั้งเก่าและใหม่ของเมืองแม้เรามีโอกาสไปจุ่มแช่และพูดคุยกับทีมงานและสตาฟแค่วันเดียว แต่ไฮไลต์เด็ดอย่าง ‘เดิน ล่อง ส่อง ย่าน’ ชมเมืองและสถาปัตยกรรม ซึ่งตลอดการเดินเท้าในแนวถนน 3 เส้น มีสตาฟและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คอยให้ความรู้อยู่ตลอดทาง มันไม่ใช่แค่การเดินชมย่านแล้วได้ความรู้แค่ในเชิงสถาปัตยกรรม แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่แฝงฝังในกำแพงแต่ละแผง บ้านแต่ละหลัง ตามตรอกซอกท่าเรือ ร้านอาหารที่เปิดขาย และในเสื้อผ้าที่ผู้คนสวมใส่ สำคัญที่สุด มันเป็นประวัติศาสตร์ที่มาจาก ‘เรื่องเล่าของผู้คน’ ย้อนกลับไปช่วงที่รัชกาลที่ 6 เสด็จประพาสต้นมาเมืองตานี และสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นขึ้นมาประจำการในเมือง เราเลยเก็บความรู้ที่หยิบจำมาจากเรื่องเล่าบนถนนสามเส้น บอกเล่าจากความทรงจำต่อไปยังผู้อ่านทั่วทุกภาค ไม่ใช่แค่ชวนไปเดินย่านที่ปัตตานี แต่อยากให้ภาพ ‘การใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์’ เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ในประเทศไทย เพราะมันสนุกและชวนคุยต่อได้หลายเรื่องมากๆ !
1
บ้านเหลือง (Yellow House)
บ้านเก่าทรงชิโนยูโรเปียน บริเวณสามแยกถนนมายอ บ้านเก่าของคุณแม่ คุณอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภาปัตตานีและเจ้าของโรงแรมชื่อดังในจังหวัด คาดว่าตัวตึกได้รับอิทธิพลจากสิงคโปร์ในช่วงรัชกาลที่ 6 สังเกตจากส่วนโค้งครึ่งวงกลมแบบอาร์คและบริเวณช่องทางเดินด้านหน้า ภายในนิยมแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือส่วนหน้าสำหรับค้าขาย และส่วนที่พักอาศัยด้านหลัง ปัจจุบันกำลังซ่อมแซมพื้นที่ใหม่เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาลัยเขตปัตตานีในวันงานบ้านเหลืองถูกจัดเป็นนิทรรศการ Pattani Ingredients ศิลปะปาตานี: ความแตกต่างและความหลากหลายของส่วนผสม โดยทีม Patani Artspace เล่าความเป็นมาของศิลปะร่วมสมัยในปาตานีผ่านงานศิลปะที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 2545-2562 และใช้คำว่า ‘Ingredients’ ในแง่ความหลากหลายของศิลปะและศิลปินที่ล้วนถูกปรุงแต่งขึ้นเพื่อสร้างผลงาน
2
ครูมะ
อรรถพร อารีหทัยรัตน์ ในฐานะผู้ที่เกิดและเติบโตบนถนนเส้นนี้ ในฐานะลูกชายของคุณพ่อที่ทันครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ที่เมืองปัตตานี ไกด์กิตติมศักดิ์คอยเล่าเรื่องราวของตึกเก่าแต่ละตึกราวกับเวลาเมื่อ 50 – 100 ปีก่อนกลับมาอยู่ตรงหน้าอีกครั้ง
3
ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว บนถนนอาเนาะรู ถนนเศรษฐกิจเส้นแรกๆ ของเมืองปัตตานี ความศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองปัตตานีมาแต่โบราณ ตั้งอยู่ในตัวเมืองปัตตานี เป็นที่ประดิษฐานองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ศูนย์รวมจิตใจและความศรัทธาของชาวไทยเชื้อสายจีนในปัตตานี ติดกับศาลเจ้าแม่เป็นย่านเมืองเก่าปัตตานี งดงามด้วยอาคารบ้านเรือนเก่าแก่หลายแบบหลากสไตล์
4
บ้านกงสี
ใกล้กันกับศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว คือบ้านกงสี บ้านเดิมของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง (ปุ่ย แซ่ตัน) ต้นตระกูลคณานุรักษ์ ซึ่งบุตรชายของเขา คือ จูล่าย แซ่ตัน ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้เป็นหลวงจีนคณานุรักษ์ (หัวหน้าจีนเมืองตานี) และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยุ่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานบรรดาศักดิ์ตั้งเป็น พระจีนคณานุรักษ์ กรมการพิเศษเมืองปัตตานี
5
บ้านเลขที่ 1
บ้านเลขที่ 1 บนหัวมุมถนนอาเนาะรู ต้นซอยก่อนเข้าศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นบ้านทรงสไตล์ชิโนโปรตุกีสหลังใหญ่ สต๊าฟทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่านี่คือบ้านที่เป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมเก่าแก่แสนสวยประจำย่าน แอบมองลอดเข้าไปในกรงเหล็ก ข้างในได้รับการบูรณะให้คงไว้ซึ่งบ้านจีนแบบเดิมและราวกับยังมีคนใช้งานบ้านหลังนี้อยู่ สวยดังคำว่าจริงๆ
ไม่มีข้อมูลว่าเป็นบ้านของใครและเรื่องราวเป็นมาอย่างไร แต่กรงรั้วสวยมากๆ ชั้นสองของบ้าน เหนือประตูตรงกลางมีป้ายภาษาจีนซึ่งแน่นอนว่า… ผู้เขียนอ่านไม่ออก
6
ท่าตานีเบย์ ประตูสีฟ้า ทางเข้าท่าเรือเล็กๆ ริมแม่น้ำปัตตานี
ตรอกเล็กๆ ที่มีประตูสีฟ้า และแบซี (อาซีซี ยีเจะแว) เจ้าของร้าน In_t_af café & gallery กำลังติดภาพถ่ายเตรียมงานนิทรรศการเรียกว่า ‘ตาบีเบย์’ ตรอกท่าเรือเล็กๆ ของแม่น้ำปัตตานี แม่น้ำซึ่งเป็นประตูสำคัญนำพาความเจริญจากโลกภายนอก อารยธรรมชาวบริติช ปากีสถาน ชาวจีน กระทั่งทหารญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 กลิ่นสี เครื่องจักร กลิ่นท่าเรือ คละเคล้าไปกับเรื่องเล่าในอดีต ยิ่งทำให้ตื่นเต้น หากอีกไม่กี่ชั่วโมงพื้นที่ตรงนี้จะกลายเป็นนิทรรศการภาพถ่าย ‘กลับ-บ้าน’ โดย อำพรรณี สะเตาะ ภาพถ่ายชีวิตของชาวปัตตานีในปัจจุบัน
7
ตลาด ‘ดีโคตร’ ที่กำลัง setting
หากเข้าไปดูที่เพจ Pattani Decoded จะเห็นภาพบรรยากาศตลาดคึกคัก ผู้คนแต่งตัวเต็มยศเข้ามาใช้เวลาร่วมกันในพื้นที่ พร้อมป้ายไฟนีออนสีชมพูฟอนต์สุดสวยเขียนว่า ‘ดีโคตร’ แต่ตอนที่เราไป ทีมงานกำลังเซ็ตติ้งพื้นที่โล่งตรงข้ามบ้านที่เคยถูกไฟไหม้จนตึกหายไปทั้งหลัง มันเป็นเพียงพื้นที่รกร้างราวตึก 2 คูหาเท่านั้น ไม่น่าเชื่ออีกเช่นกันว่าภายในไม่กี่ชั่วโมง พื้นที่ตรงนี้จะเต็มไปด้วยความสนุก ครึกครื้น และสร้างสรรค์
8
ในบ้าน Melayu Living
อาคารพาณิชย์มรดกตกทอดของตระกูลวัฒนายากร (ตระกูลที่มีบทบาทในทางการเมืองและตุลาการของประเทศ) ซึ่งเท้าความได้ถึงขุนธำรงพันธุ์ภักดี (ตระกูลสำคัญที่มีบทบาทการพัฒนาเมืองปัตตานี) ภายหลังอาคารหลังนี้สืบทอดโดยบุตรชาย นายมงคล วัฒนายากร จนมาสู่ลูกหลาน พื้นที่นี้เคยถูกใช้เป็นสถานที่เก็บภาษีในฐานะตัวแทนจากรัฐบาล ส่วนกลางเปลี่ยนผ่านสู่ห้างค้าปลีก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกลุ่ม Melayu Living หนึ่งในแม่งานหลักงาน Pattani Decoded ความตั้งใจในการใช้พื้นที่อาคารหลังนี้ ทางกลุ่มอธิบายว่าไม่ต้องการต่อเติมหรือบูรณะ เพราะต้องการคงไว้ซึ่งร่องรอยประวัติศาสตร์และความพังทลาย ‘วาบิ ซาบิ’ ทางกลุ่มบอกว่าพวกเขาใช้คอนเซ็ปต์นี้ ภายในงาน อาคารหลังนี้ถูกจัดเป็นสถานที่เวิร์คช็อปผ้าพิมพ์ผ้าลายบาราโฮม ได้แรงบันดาลใจจากลายกระเบื้องโบราณในย่านชุมชนบาราโฮม และใช้เป็นสถานที่เปิด talk ในวันต่อๆ ไป
9
บ้านขุนพิทักษ์รายา
บ้านหัวมุมตึก 2 ชั้น บ้านเดิมของขุนพิทักษ์รายา (ตันบั่นซิ่ว) บุตรชายของพระจีนคณานุรักษ์ (เรื่องราวเชื่อมกับบ้านกงสี ใกล้ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) เดิมทีบ้านหลังนี้ทรุดโทรมมาก ภายในบ้านมีรูปเปรียบเทียบก่อนและหลังบูรณะ น่าสนใจคือเป็นการบูรณะที่คล้ายของเดิมมาก โดยเฉพาะกระเบื้องซีเมนต์ กระเบื้องดินเผามุงหลังคา ตอม่อแบบอิฐก่อ หน้าต่างยาวบานเปิดกระทุ้ง และการเว้นพื้นที่บ้านตรงกลางแบบเปิดโล่ง และมีบ่อน้ำที่ใช้จริงในบ้าน ปัจจุบันบ้านขุนพิทักษ์รายาไม่ได้เปิดให้เข้าชมทุกวัน แต่เปิดเฉพาะเมื่อเมืองมีกิจกรรมหรือไว้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
10
นิทรรศการงานออกแบบใน warehouse
นิทรรศการงานออกแบบใน warehouse บนถนนอาเนาะรู เยื้องกับศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว แสดงงานออกแบบโดยศิลปินในพื้นที่ จากดีไซเนอร์ในพื้นที่ที่ทำงานศิลปะกลิ่นอายมลายูผสานกับงานออกแบบร่วมสมัย คิวเรเตอร์หลักคือคุณเลิฟ-กริยา บิลยะลา อดีตนักจัดการความรู้ TCDC
11
Chef’s table รอวียะ หะยียามา
หนึ่งในกลุ่มอาคารแบบชิโนยูโรเปียนสร้างขึ้นภายใต้การขยายและเติบโตตามเส้นถนนด้วยรูปแบบการพาณิชย์หลากสาขา ปัจจุบันอาคารหลังนี้ได้ปรับเปลี่ยนการใช้งานเป็นคาเฟ่ ภายในงาน Pattani Decoded ใช้อาคารในพื้นที่จัด Chef’s table ผลงานของ รอวียะ หะยียามา
ร้านบ้านเดอ นารา เล่าเรื่องถิ่นมลายูผ่านอาหารชาววัง เช่น ‘อาแซคียา หรือ ลีมากระแลแต’ seasonal fruit cocktail หรือ ผลไม้ลอยแก้วแบบชาววัง มีเอกลักษณ์เฉพาะคือจะมีกลิ่นส้มซ่า กลมกล่อม ‘โรตีรอยัลยาลอ’ โรตีมลายู แหม้วน กินกับมัสมั่น หอมกลิ่นเครื่องเทศอินเดียและใบหมุย ‘Melayu Mixed Salad’ หรือ ลอเยาะ ใช้เส้นหมี่ เต้าหู้ ผักประจำถิ่น เสิร์ฟพร้อมกุ้งเป็นตัวและเนื้อปู กินกับน้ำสลัดสูตรข้นและสูตรใสน้ำตาลโตนด ‘บูโบลือเมาะ’ ปรุงจากข้าวต้มใส่กะทิ ใส่เม็ดฮาลาบอ มีกลิ่นกระเทียม หอมแดงและใบมะรุม ‘ข้าวผัดปลากุเลาเค็ม’ ราชาของปลาเค็ม กินกับราชินีคือ ข้าวบัสมาติ กุเลาปัตตานีเป็นปลากุเลา 2 น้ำเติบโตช่วงอ่าวปัตตานีจึงมีเนื้ออร่อยที่สุด ‘ลาแซ ซอเลาะ’ ซอเลาะคือปลาทู ลาแซเหมือนขนมจีน กินกับทอดมันจับไม้ ‘ตูปะซูตง’ ปลาหมึกยัดไส้มลายู ที่ให้รสหวานมันกะทิ โดดเด่นจนเป็นที่นิยมในทุกๆ เทศกาล