- “เหมือนมีใครราดกาวสีดำสนิทบนฟ้า จากนั้นก็สาดกากเพชรลงไปโครมใหญ่ เป็นภาพที่ไม่ได้อัศจรรย์จนต้องหยุดหายใจ แต่ปลุกให้ตื่นโดยอัตโนมัติแล้วเดินออกไปมองให้เต็มตาขึ้นกว่าเดิม”
- กิจกรรม Parkใจ #6 อาบป่า @เขาใหญ่ ตลอดระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ใน นิตยสารสารคดีจัดร่วมกับธนาคารจิตอาสา ผู้เข้าร่วมจะได้โอกาสเข้าป่าไปดูนก ดูชะนี ลองงีบแบบเงียบๆ ใต้ต้นไทร ดูดาวนิดหน่อย ลองหยิบใบไม้มาวิเคราะห์พอสนุกสนานให้เข้าใจได้ว่าจริงๆ แล้วเรากับธรรมชาติเชื่อมโยงกันได้อย่างไร ทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์และจิตวิญญาณ
- “เวลาที่นั่งอยู่นิ่งๆ ในบ้านที่กรุงเทพฯ บางครั้งเราจะรู้สึกไปเองว่ากำลังทำสิ่งที่ไม่มีสาระประโยชน์ แต่เมื่อเปลี่ยนมานั่งนิ่งๆ ต่อหน้าหมอก เหมือนอยากสารภาพกับมันในใจว่าอยากทำแค่นี้ อยากนั่งนิ่งๆ และเป็นตัวเองในบรรยากาศที่เย็นกำลังพอดี รู้สึกปลอดภัย ลืมตาขึ้นมาก็ไม่มีอะไรมาตัดสินว่าชีวิตควรจะทำอะไรต่อ”
“ได้ยินไหม”
เราชะงักฝีเท้า หูรับรู้แต่ความว่างเปล่าขณะกำลังเดินเงียบๆ อยู่ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติซายาโกะที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่พร้อมกับช่างภาพสารคดีสายธรรมชาติ เขาบอกว่า เมื่อครู่มีนกเงือกตัวใหญ่บินผ่านไป เสียงดังมากเหมือนเฮลิคอปเตอร์บินเหนือศีรษะ เราเองก็ได้แต่ทำหน้าเหวอเพราะไม่ได้ยินและไม่เห็นอะไรทั้งนั้นแม้ว่าจะปิดปากกริบ และป่าก็กระซิบเบาๆ เพียงเล็กน้อยในย่ามบ่ายของฤดูร้อน
เขาก็ได้แต่ยิ้มน้อยๆ เป็นเชิงปลอบว่าเดี๋ยวก็คงจะได้เห็นอีกเพราะช่วงนี้นกเงือกรวมตัวกันบ่อยเพื่อผสมพันธุ์ มือใหม่มองดีๆ ไปนานๆ เดี๋ยวก็เห็นเอง นั่นคือคำปลอบใจธรรมดาตามประสาคนชอบดูนกที่มักจะจำสายพันธุ์ใน Bird Guide หนาปึ้กได้หมดทั้งเล่ม
ตลอดระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ในกิจกรรม Parkใจ #6 อาบป่า @ เขาใหญ่ ซึ่งนิตยสารสารคดีจัดร่วมกับธนาคารจิตอาสา ผู้เข้าร่วมจะได้โอกาสเข้าป่าไปดูนก ดูชะนี ลองงีบแบบเงียบๆ ใต้ต้นไทร ดูดาวนิดหน่อย ลองหยิบใบไม้มาวิเคราะห์พอสนุกสนานให้เข้าใจได้ว่าจริงๆ แล้วเรากับธรรมชาติเชื่อมโยงกันได้อย่างไร ทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์และจิตวิญญาณ
ต้นเฟิร์นสีน้ำตาลไหม้ที่ดูเหมือนตายไปแล้วตายจริงหรือเปล่า นกหลับอย่างไร พูพอนคืออะไร ต้นไทรที่ใหญ่โตกว่าพระพุทธรูปวัดดังเติบโตมาจากแมลงตัวจิ๋วได้จริงหรือ
ต้นไม้เยอะ อากาศก็เปลี่ยนเยอะ สำหรับคนที่ชอบเข้าป่าเป็นทุนเดิม การเดินทางสั้นๆ นี้ก็เหมือนการได้กลับบ้าน ไม่ romanticise ธรรมชาติจนเกินไป ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้รู้สึกว้าวแปลกใหม่กับจักรวาลของระบบนิเวศน์ แต่ไม่ว่าจะคุ้นเคยกับป่าหรือไม่ การเข้าไปในอาณาจักรที่แตกต่างต้องใช้ประสาทสัมผัสลึกกว่าปกติถ้าอยากจะเข้าใจมันให้ซึ้งขึ้น
มองก็ต้องมองให้ดี ฟังก็ควรฟังให้ชัด จังหวะเดินก็จะเปลี่ยนไปเอง
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เหมือนเป็นปอดอีกแห่งที่สำคัญของไทย เป็นดินแดนของการผลิตออกซิเจน ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ พยุงภูมิอากาศและความหลากหลายของสายพันธุ์สัตว์ป่าเอาไว้ที่นี่
วิทยากรหลักๆ 2 คนคือ พี่ดำ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี และ ว่าน จิตรทิวัส พรประเสริฐ ช่างภาพสารคดีธรรมชาติ ค่อยๆ เล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้ตามประสาคนสนใจในธรรมชาติเข้มข้นตามรายทาง และพวกเขาก็ดูเป็นคนสบายๆ คล้ายกับว่ามาพักผ่อนเหมือนกับเรานั่นแหละ
“ที่นี่เป็นบ้านของเขา พวกเราก็เหมือนเป็นแขกนะครับ”
เขาบอกไว้ตั้งแต่วันแรกที่เดินทางมาถึงเขาใหญ่
คำถามที่น่าสนใจกว่านั้นคือ คนเมืองอย่างเราๆ รู้สึก เข้าใจตัวเองและระบบสังคมที่ดำรงอยู่อย่างไรในเวลาที่พลังดิจิตอลเขย่าเราเข้าด้วยกันจนทุกอย่างเข้าถึงได้ง่าย ความหมายของการเข้าหาธรรมชาติหรือการเข้าป่าธรรมดาจะลึกซึ้งหรือผิวเผินแค่ไหน เป็นแค่ความสบายใจ การหลีกหนีวิถีเมือง หรือไปถึงการพยายามเข้าใจธรรมชาติบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน
เดินแบบสุนัขจิ้งจอก มองแบบนกฮูก ฟังแบบกวาง
วันแรกเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการนั่งล้อมวงคุยและถามที่มาที่ไปของสมาชิกแต่ละคนที่แคมป์ลำตะคอง ซึ่งมีทั้งพยาบาลด้านจิตเวช พนักงานออฟฟิศ กองบรรณาธิการสื่อ นักออกแบบ นักเขียนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่งชาวญี่ปุ่น จุดประสงค์ของหลายคนมาเพื่อพักผ่อนและทำความรู้จักกับการอาบป่า บางคนก็รู้สึกว่าป่าเป็นบ้านอยู่แล้ว อย่างโนบิ ชาวญี่ปุ่นคนเดียวในกรุ๊ปก็เผยสั้นๆ ว่า รู้สึกห่างหายจากธรรมชาติไปนาน และป่าก็ไม่ต่างอะไรจากบ้านของเขาเอง
ทีมงานเริ่มกิจกรรมต่อไปง่ายๆ คือให้แต่ละคนเลือกโปสการ์ดรูปที่ชอบหรือเชื่อมโยงกับตัวเองมากที่สุดจากกองใหญ่ มีทั้งรูปธรรมชาติ เสือ เห็ด ต้นไม้ ซึ่งบางคนเลือกรูปแมลงด้วยเหตุผลเพราะมันกำลังมีจำนวนลดน้อยลง เลือกต้นไม้ในหมอกเพราะแง่มุมทางสุนทรียศาสตร์ เต็มไปด้วยความคุลมเครือและเสน่ห์คล้ายกับชีวิต
ป้าป้อม ผู้อาวุโสลำดับต้นๆ ในกลุ่มยิ้มเบาบาง พูดด้วยโทนเสียงเนิบนาบเข้ากับลมอ่อน
“ตอนแรกมองแค่ใยแมงมุมตกกระทบกับแสงแล้วสวย แต่พอดูไปเรื่อยๆ ไม่ได้มองแค่ความกลมกลืนของเส้นใยกับองค์ประกอบอื่นแล้ว แต่กลับมองว่าแมงมุมมันเก่งมากที่สามารถสร้างใยจากน้ำลายที่เหนียวมากได้ บ้านเราเองก็มีใยแมงมุมซึ่งเราปัดประจำ แต่เขาก็กลับมาสร้างใหม่ทุกวัน ไม่ย่อท้อเลย เลยรู้สึกว่ารูปนี้ให้พลัง ชีวิตอาจจะเจออะไรที่ทำให้ย่อท้อทั้งๆ ที่รู้ว่าเดี๋ยวเราก็ตายแล้ว วันนี้ใยแมงมุมสอนให้เราคิดถึงธรรมชาติของชีวิตว่าเกิดมาแล้วก็ต้องดับไป”
ทุกคนเลยสามารถเรียนรู้คาแรคเตอร์ของเพื่อนได้จากการบอกเล่าผ่านรูปและมุมมองของตัวเองต่อธรรมชาติ ซึ่งก็น่าแปลกใจที่หลายคนดูอินกับบริบทใหม่ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เริ่มเดินป่า
โดยทั่วไปแล้ว การอาบป่าเป็นศาสตร์จากญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า ชินรินโยคุ (Shinrin Yoku) ประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยทศวรรษ 1980 ท่ามกลางความฟู่ฟ่าของเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดของนวัตกรรมและเทคโนโลยี รัฐบาลญี่ปุ่นเห็นช่องโหว่ของความรุ่งเรือง นั่นคือความซึมเศร้า ภาวะอ่อนไหวทางอารมณ์ และความซูบผอมของจิตใจมนุษย์จากพลวัตของสังคม จึงส่งเสริมเรื่องการอาบป่าให้ประชากรรับรู้มากขึ้นโดยการตั้งสมาคมป่าบำบัดขึ้นในปี 2545 ประชาสัมพันธ์ผ่านงานวิจัยและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าบรรยากาศในป่าสามารถช่วยบรรเทาความตึงเครียด ฝึกสมาธิ และทำให้นอนหลับดีขึ้น
และฮาวทูอาบป่าก็ไม่ได้เข้าถึงยากวุ่นวายอะไร เพียงแค่อยู่กับตัวเอง รู้ว่าตัวเองอยู่ในป่า เดินๆ นั่งๆ แล้วลองมอง สัมผัส สูดดม รับรส ปล่อยตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกที่เรากลายเป็นแขกแสนสงบเสงี่ยม เฝ้ามองต้นไม้ใช้ชีวิต ฟังเสียงหลายร้อยโน๊ตของนกและชะนี ถ้าโชคดีก็อาจจะได้สูดดมกลิ่นมูลเป็นก้อนๆ จากฝูงช้าง ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องเทร็กกิงมุทะลุไปเพื่อบรรลุอะไรทั้งนั้น
ดังนั้นเพื่อเตรียมการอาบป่าที่จะเกิดขึ้นในวันที่สอง พี่ต้น สุรศักดิ์ เทศขจร เมนเทอร์หลักอีกหนึ่งคนของกิจกรรมในตลอดสามวันสองคืน จึงเริ่มสอนการติดเครื่องมือการมองแบบนกฮูก ฟังแบบกวางป่า และเดินแบบสุนัขจิ้งจอก ทุกคนได้ลองถอดรองเท้า ใช้ปลายเท้าสัมผัสพื้นดิน ย่องช้าๆ ให้เหมือนสุนัขจิ้งจอก จากนั้นลองมองในรูปแบบใหม่ โฟกัสไปที่ภาพข้างๆ เพราะคลองสายตาเราสามารถจับความเป็นไปได้ถึง 180 องศา ใครจะเดินไปไหนก็ได้โดยอิสระ ลองหลับตา ตั้งสมาธิกับเสียงที่ได้ยิน พี่ต้นเรียกชื่อให้น่ารักว่านี่คือการลองทำแผนที่เสียง ในบริบทที่เปลี่ยนไป เราได้ยินอะไรจริงๆ บ้าง
แต่ละคนจับจองพื้นที่ของตัวเอง ไม่รู้ว่าคิดอะไรกันอยู่ในหัวบ้าง แต่บรรยากาศดูสงบ บางคนหลบมุม บางคนกางแขนรับพลังลม แดดหุบสลับแดดร่ม เสียงนกเงือกกับนกแก๊กร้องแซมๆ มาจากต้นไม้สักแห่งที่อยู่ไกลออกไป สักพักมีเสียงโพระดกกับกาเหว่าแว่วมาด้วยทำให้เราตื่นเต้นเหมือนกันว่าระยะเวลาสั้นๆ ที่เหลือ สายตาปุถุชนที่เจอแต่นกกระจอกในเมืองจะเจอนกแปลกๆ อะไรกับเขาบ้างไหม
ราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน กวีชาวอเมริกันเคยกล่าวไว้สั้นๆ ว่า “The earth laughs in flowers.” แปลง่ายๆ ตรงตัวว่า โลกเราหัวเราะออกมาเป็นดอกไม้ จะมีช่วงเวลาที่เราเข้าใจในเซนส์แบบนั้นได้ในความนิ่ง นิ่งมากพอที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลง ป่าเปลือยให้เห็นว่าแท้จริงแล้วความคลุมเครือก็คือความงดงามที่เราอยากยิ้มให้ แต่เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป
เราเดินทางไปถึงเส้นทางชมธรรมชาติที่จุดชมวิวเขาเขียว ผาเดียวดายในช่วงเย็น อากาศยังอบอ้าวอยู่บ้าง ตามรายทางพี่ดำและว่านบรรยายคุณลักษณะคร่าวๆ ของป่าดิบเขา ป่าไผ่และไม้ยืนต้นทั้งหลาย อธิบายการอยู่ร่วมกันของไลเคนโดยมีตัวช่วยเป็นแว่นขยาย รวมไปถึงต้นเฟิร์นที่กองเหงาๆ เหมือนตาย แต่จริงๆ แค่พักผ่อนรอเวลาตื่น ความแข็งแกร่งของมันคือต้องการน้ำแค่นิดเดียวเพื่อเลี้ยงรากให้อยู่ได้
ราว 5 โมงสิบห้า เราใช้ชีวิตอยู่บนผาสูงที่ข้างหน้ามีแต่ดงป่าสีเขียว สำรวจทิวทัศน์ฝั่งปราจีนบุรีที่เห็นได้ไม่บ่อยครั้ง เมฆลอยสลับแสงแดดที่เตรียมเก็บกระเป๋ากลับบ้าน สีส้มที่พาดเป็นเส้นบางๆ บนต้นไม้คือภาพแคบที่ผสมสีแล้วแปลกและสวย ภาพกว้างที่เป็นพุ่มแพนโทนสีเขียวหลายเฉดก็ใจดีกับดวงตาโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนอะไรกลับ
โจทย์ของเมนเทอร์พี่ต้น คือให้อยู่กับตัวเองไปเรื่อยๆ หาพื้นที่สบายๆ แล้วพักใจ ลองสังเกตนกบางจำพวกบินกลับรังในตอนเย็น อากาศเริ่มชื้นและครึ้มฝนหลังจากที่แดดเคยทอมาเป็นปื้น หลายคนนอนราบไปกับพื้นเพื่อเปลี่ยนวิสัยทัศน์ บางคนจดบันทึก อีกกลุ่มหนึ่งไปซุ่มดูเลียงผาที่โผล่มาให้เห็นโดยบังเอิญ
พี่ดำนั่งหลับตาอยู่บนโขดหิน ในมือยังมีกล้องส่องทางไกลที่เอาไว้ดูนกอยู่ในมือ
“จุดชมวิวที่ผาเดียวดายเป็นจุดที่ดีมากที่เราจะได้ขึ้นไปดู เราจะเห็นมวลชีวิตมากมายที่เต็มไปด้วยทิวทัศน์เขา ต้นไม้หนาแน่น เรารู้สึกถึงพลังของชีวิตที่อยู่ตรงนั้นเยอะแยะไปหมด แล้วมันก็ส่งมาถึงเราได้เลย เราแค่ดู แล้วก็รับความรู้สึกของมวลทั้งหมดที่อย่ตรงนั้นกลับเข้ามาในตัวเรา ฟังเสียงของแมลง เสียงลม ทุกอย่างเป็นชีวิตที่เกื้อหนุนกันหมดนะครับ แล้วเราก็ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพลังชีวิตตรงนั้นด้วย”
ทัพหมอกเคลื่อนผ่านไปเหมือนสีเขียวตรงหน้าเป็นอดีต 5 วินาทีต่อมาก็กลายเป็นปัจจุบันอีกครั้ง ความเร็วของกลุ่มหมอกเทียบเท่ากับตอนที่ไถหน้าจอเฟสบุ้ก ปุยสีขาวไหลผ่านตัวและหน้า สัมผัสแบบไม่รู้สึกว่ามีการแตะต้องแต่ไม่อยากให้หายไป อยากมองมันวืดผ่านเราและต้นไม้ไปเรื่อยๆ
เวลาที่นั่งอยู่นิ่งๆ ในบ้านที่กรุงเทพฯ บางครั้งเราจะรู้สึกไปเองว่ากำลังทำสิ่งที่ไม่มีสาระประโยชน์ แต่เมื่อเปลี่ยนมานั่งนิ่งๆ ต่อหน้าหมอก เหมือนอยากสารภาพกับมันในใจว่าอยากทำแค่นี้ อยากนั่งนิ่งๆ และเป็นตัวเองในบรรยากาศที่เย็นกำลังพอดี รู้สึกปลอดภัย ลืมตาขึ้นมาก็ไม่มีอะไรมาตัดสินว่าชีวิตควรจะทำอะไรต่อ
สำหรับคนที่มักจะนึกถึงป่าเขาอยู่เสมอๆ การอยู่แบบนี้ก็เหมือนได้กลับบ้านไปพักผ่อน ความทรงจำย้อนไปตอนอยู่บนยอดดอยต่างๆ เราอาบทั้งป่าทั้งหมอกได้โดยกลิ้งไปกลิ้งมาได้ทั้งวัน และก็อยากหัวเราะออกมาเป็นดอกไม้เป็นเพื่อนโลกเหมือนกันถ้าฝนไม่ไล่หลังมาเสียก่อน
แค่ยกนิ้วก้อยขึ้นมาก็ปิดดวงจันทร์ได้ทั้งดวงแล้ว
ตกกลางคืน บริเวณใกล้แคมป์ พี่ชล หนึ่งในผู้เข้าร่วมทริปครั้งนี้เป็นสาวกของท้องฟ้า เขาพกกล้องดูดาวหนักๆ มาด้วย ในโอกาสที่มาเยือนเมืองป่าที่ฟ้าน่าจะเปิดให้เห็นสิ่งจำเป็นบนท้องฟ้ามากกว่าแสงรบกวน
พี่ชลติดตั้งกล้องและเปิดเลคเชอร์ย่อมๆ เกี่ยวกับดาวต่างๆ บนท้องฟ้า โดยมีพี่ดำ geek ด้านดาราศาสตร์อีกหนึ่งคนเข้ามาร่วมช่วยอธิบายความสัมพันธ์ของจักรวาล ทวนความจำง่ายๆ สำหรับหลายคนที่ลืมไปแล้วว่าระบบสุริยะทำงานอย่างจริงจังอย่างไรบ้าง
อากาศตอนราวหนึ่งทุ่มเย็นนิดๆ ทุกคนผ่อนคลายจากกิจกรรมตอนเย็นและอิ่มท้องกันหมดแล้ว การได้ยืนแหงนหน้านานๆ และรู้ว่าตรงนั้นคือดาวอะไรเป็นสิ่งที่ชุบชูใจเหมือนได้กินของหวานตบท้าย หลายคนแวบไปดูกลุ่มดาวผ่านกล้องและตื่นเต้นกันใหญ่ เป็นการปิดฉากวันที่ได้ทั้งสุนทรีย์และสาระ เหมือนได้ย้อนกลับเปิดตำราอีกครั้ง ต่างกันตรงที่ว่าห้องเรียนใหญ่กว่ามากและคุณครูก็พร้อมสอนด้วยพลังที่มากกว่าผู้เรียนด้วยซ้ำ
อยากเห็นดาวลูกไก่ก็รู้วิธีดูตรงนั้นเลย บทสนทนาเต็มไปด้วยความสงสัยเรื่องกล้องดูดาว โอกาสในการเห็นดาวและเนบิวลาบนท้องฟ้า ดาวบริวาร ที่มาที่ไปของดาวจักรราศี ดาววัว ดาวแมงป่อง หรือเกร็ดเล็กน้อยของคนสมัยโบราณกับการดูดาวเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว
ผลัดกันเห่อกล้องดูดาวของพี่ชลและตื่นเต้นกันไม่นาน ก็ตื่นเต้นกันใหม่อีกรอบแบบไม่ทันตั้งตัว เพราะมีวัตถุพร้อมแสงตกวูบผ่านหน้าเราไปในความละเอียดที่ชัดเจนมาก ทุกคนเหวอ ชุดคำที่ใกล้เคียงกับภาพที่เห็นที่สุดคือฝนดาวตก แต่ก็ไม่แน่ใจอีกว่าใช่หรือไม่ จะบอกว่าเป็นเศษดาวเทียมก็ไม่น่าจะใหญ่ขนาดนั้น สุดท้ายเราไม่ได้คำตอบอะไรแต่ปฏิกริยาของทุกคนสื่อได้ว่ารู้สึกดีใจมากที่ได้เห็น
กลุ่มผู้ชุมนุมก็แยกย้ายเพื่อนัดราวตี 5 ของวันรุ่งขึ้น พี่ชลเปรยไว้ว่าอาจจะได้เห็นทางช้างเผือกถ้าฟ้าเปิด หลายคนดูพยักหน้าด้วยความตั้งอกตั้งใจ ส่วนเราพยักหน้าไปอย่างนั้นเพราะไม่ใช่มนุษย์เช้าอย่างจริงจังแม้ว่าปกติเข้าป่าแล้วจะขยันลุกขึ้นมาดูวิวดูเขาก็ตาม ในหัวกดฟอร์เวิร์ดข้ามไปตอนเดินเทรลที่เส้นทางซายาโกะในวันพรุ่งนี้แล้วเรียบร้อย
“จริงๆ ดวงจันทร์นี่ แค่ยกนิ้วก้อยขึ้นมาปิด เราก็มองไม่เห็นมันแล้วนะ”
เราเข้านอนไปด้วยคำพูดแรนดอมของพี่ชล ลองยกนิ้วขึ้นมาเล็งให้ตรงจุดก็พบว่ามองไม่เห็นดวงจันทร์จริงๆ
5:10 AM
เหมือนมีใครราดกาวสีดำสนิทบนฟ้า จากนั้นก็สาดกากเพชรลงไปโครมใหญ่ เป็นภาพที่ไม่ได้อัศจรรย์จนต้องหยุดหายใจ แต่ปลุกให้ตื่นโดยอัตโนมัติแล้วเดินออกไปมองให้เต็มตาขึ้นกว่าเดิม
“โห ถามจริง……”
เสียงในหัวพูดอย่างนั้นจริงๆ ในเวลาราวตี 5 สิบนาที ก้าวงัวเงียออกมาจากที่พักไม่ถึง 50 เมตร เหมือนมีใครมาคลิกเม้าส์ภาพพาโนรามาของท้องฟ้าให้เป็นภาพตามเว็บไซต์ NASA ที่บันทึกชีวิตของดวงดาวเอาไว้
ทางช้างเผือกสวยมาก อยู่ดีๆ ตีห้าก็สว่างระยิบระยับจนนับถือตัวเองที่ตื่นขึ้นมา
ธรรมชาติคงฉายหนังแบบนี้บ่อยแล้ว แต่ตาเปล่าของเราไม่มีโอกาสได้เห็นเพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยและฟ้าปิด ในเมือง(หรือแม้แต่บนดอย)เต็มไปด้วยมลพิษทางแสง กลางป่ากลางเขายังต้องอาศัยโชคที่จะได้เห็น วันนี้จึงนับว่าเราโชคดีที่ตัดสินใจตื่นมาทักทายบทกลอนบนท้องฟ้าทั้งๆ ที่ยังลืมตาไม่ค่อยจะขึ้นดี
ระยะทางจากตาเปล่าถึงดวงดาวบอกเราเอื่อยๆ ว่าความสวยงามนั้นทั้งเรียบง่ายและซับซ้อน ความสว่างจากทางช้างเผือกสะท้อนล้อกันกับสีเขียวที่ตกอยู่ในความมืดของต้นไม้ สร้างความหมายใหม่ให้กับสายตาที่มีต่อธรรมชาติ และมันเป็นแบบนี้ทุกครั้งที่พาตัวเองกลับเข้ามาในดินแดนของหลายชีวิตที่อยู่ได้เองอย่างแข็งแรง
“แค่เห็นต้นไม้ เห็นสิ่งมีชีวิตอื่นที่เขาอยู่ได้ด้วยตัวของเขาเองและเราได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเขา แม้ในระยะเวลาอันสั้นก็พอ แล้วเราก็อ่อนแอมากๆ เนอะ เราไม่สามารถมาอยู่ในนี้ได้ตลอดไปหรอก แล้วเราก็ไม่สามารถไปอยู่ทุกที่ในพื้นที่นี้เพราะเราฉีกตัวออกไปสร้างสังคมของเรา แล้วเราก็เครียดกับสังคมมนุษย์อยู่เสมอ แต่อย่างน้อยเราได้กลับมาเจอเขาบ้างในบางพื้นที่ บางเวลาที่มันเป็นไปได้สำหรับเรา”
พี่ดำเอ่ยเอาไว้
เป็นเวลาที่เข้าใจว่าเราทั้งอ่อนแอและอ่อนไหว เป็นเศษเล็กๆ อีกชิ้นหนึ่งของจักรวาลที่กะพริบสู้ดวงดาวขนาดเล็กที่สุดไม่ไหว ซ้ำยังจ้องจะทำลายตัวเองไปเรื่อยๆ โดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ
นิ้วก้อยเล็กเปราะของเรา จริงๆ แล้วมันปิดบังความแข็งแกร่งของดวงจันทร์ได้แค่ตาเปล่าเท่านั้นเอง
กิน งีบ เดิน เห็น
วันนี้อาจจะได้เห็นชะนีมงกุฎ และนกเงือก
ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีชะนีสองสายพันธุ์ที่โด่งดังคือชะนีมือขาวและชะนีมงกุฎ ซึ่งเราได้ยินเสียงแว่วหูอยู่ตลอดตั้งแต่วนเวียนอยู่ในแถบแคมป์ลำตะคอง
ชะนีกับผู้หญิงอาจจะคาบเกี่ยวกันตรงฟังก์ชันที่หลากหลายและซับซ้อน แค่กินผลไม้ทั้งเมล็ดและโหนกิ่งไม้ไปกิ่งต่อกิ่งก็โปรยเมล็ดพันธุ์ไปทั่วผืนป่าจากการขับถ่าย เป็นนักปลูกต้นไม้ตัวเก่งไม่แพ้นกเงือก แถมยังมีระบบสังคมที่น่าสนใจ มันหากินในพื้นที่เขตแดนของตัวเอง อยู่แบบผัวเดียวเมียเดียว และไม่สร้างรังแต่ย้ายต้นนอนไปเรื่อยๆ เป็น nomad ที่ปราดเปรื่องด้านการเปลี่ยนที่นอนอีกต่างหาก เพราะต้นที่ถูกเลือกจะต้องอยู่ห่างจากอาหารต้นสุดท้ายที่เพิ่งกินไปเพื่อหลีกเลี่ยงนักล่าที่แข็งแกร่งกว่ามาก่อกวนยามดวงอาทิตย์หลับ
แต่ชะนีบางตัวก็หัวถึงหมอนแถวปลายกิ่งเพราะเก๋าเกมมากพอที่จะควบคุมความปลอดภัยของตัวเอง มันมีระบบสังคมเหมือนกับที่มนุษย์มี และแตกต่างหลากหลายกันไปตามครัวเรือน
เส้นทางเดินเทรลที่จะเกิดขึ้นในช่วงสายของวันนี้ที่กม.33 เส้นทางหนองผักชี ดงติ้ว(เส้นทางซายาโกะ)คือช่วงเวลาที่น่าลุ้นว่าชะนีจะได้เห็นชะนีหรือเปล่า ถ้าโชคดีก็อาจจะได้เห็นนกเงือกด้วยเพราะนี่คือช่วงเวลาที่มันกำลังรวมตัวกันสังสรรค์จับคู่
ก่อนจะเดินเข้าไปสำรวจป่า พี่ดำ วิทยากรหลักที่นำชาวแก๊งชมทั้งผืนป่าและผืนดาวเมื่อคืนชวนให้เล่นกิจกรรมสั้นๆ ก่อนเข้า คือ ให้สำรวจยีนเด่นยีนด้อยของตัวเอง แค่กางนิ้ว ดูลายมือ สังเกตลักษณะของเพื่อน บางคนห่อลิ้นได้ กระดิกหูได้ แค่นี้ก็เห็นความหลากหลายของตัวเองที่เหมือนกับธรรมชาติ
เสียงชะนียังคงดังแทรกเสียงใบไม้ไหวมาเรื่อยๆ ทางเดินในเส้นนี้ค่อนข้างเรียบและชิลล์มากในระดับที่ใส่รองเท้าแตะมาเดินได้สบายๆ (แต่ไม่ใช่ในหน้าฝน) วิทยากรแนะนำลักษณะทางธรรมชาติที่เห็นตามรายทาง ให้ข้อมูลเรื่องชนิดของนกเงือกและลักษณะนิสัยของมันจนเราเดินมาถึงจุดส่องรัง
เงียบ…และว่างเปล่า
ทุกคนกดปุ่ม mute ให้ตัวเอง กระซิบกระซาบ ผลัดกันใช้กล้องส่องทางไกลส่องอากาศและต้นไม้ เป้าหมายที่มีรูอยู่ไม่ไกล แต่ก็ไม่มีวี่แววของตัวผู้ว่าจะบินมาเป็นไฮไลท์ มีแต่จงอยปากของตัวเมียที่ผลุบๆ โผล่ๆ อยู่ข้างในรัง คอยเขี่ยเศษอาหารรอสามี
งั้นก็คงต้องวัดดวงกันเอาตามท้องฟ้า ธรรมชาติมักจะมีนิสัยแบบนี้ คาดเดาไม่ค่อยได้ เวลารอคอยอยากจะเจออะไรจะไม่ค่อยได้เห็น
เรารอกันอยู่สักพักก็เดินไปต่อแถวดงยางเสียน ทีม park ใจคิดกิจกรรมน่ารักๆ ไว้คือให้แต่ละคนเดินไปตามหาใบไม้ที่ชอบมากันคนละ 5 ใบ แล้วมารวมกัน จัดวางเรียงสีและหาความแตกต่าง ตั้งคำถามว่ามันมีส่วนคล้ายกันไหม ก่อนที่เราจะได้ยินเสียงฮือฮาจากทางด้านข้างที่บอกว่าเห็นชะนีกำลังเคลื่อนไหว
ในต้นไม้สูงใหญ่ที่โซนถัดไปเป็นท้องฟ้า ชะนีก็ได้เห็นชะนีเสียทีหลังจากที่หลอนฟังเสียงมานานเป็นวัน มันโหนหิ้วตัวเองไปตามกิ่งไม้ด้วยความพลิ้วระดับสูง กิ่งไม้ขยับพองาม มองแล้วดูสงบ เป็นชีวิตที่ผ่อนคลาย เหมือนการเหวี่ยงตัวจากกิ่งสู่กิ่งสามารถทำได้ง่าย สายตาเราจับตามก้อนเล็กๆ ได้ไม่เท่าไหร่ มันก็เร้นหายไปในต้นไม้ใหญ่เพื่อใช้ชีวิตต่อ
แล้วเราก็ไม่เจอสัตว์อะไรอีกเลย มีแต่พันธุ์ไม้แปลกหน้าในป่าดิบเขา เสียงนกที่ตีกันในที่ห่างไกลออกไป จนมาถึงต้นไทรต้นใหญ่ที่ทุกคนได้ปีนขึ้นไปถ่ายรูปก่อนจะกินข้าวในห่อใบตองที่ได้รับแจก
“หาที่ทางของตัวเองแล้วก็นอนได้เลยนะครับ”
เสียงเมนเทอร์พี่ต้นตะโกนมาแค่นั้น พี่ชลปลีกวิเวกออกไปนั่งสมาธิ ป้าป้อมนั่งเงียบๆ หลับตาบนขอนไม้ หลายคนเอนกายนอนลงกับพื้นไม่ห่างไกลจากต้นไทรบิ๊กเบิ้ม
การอาบป่า 101 เริ่มเข้มข้นขึ้นในช่วงเวลานี้
เราเข้าป่าหลายครั้งแล้วทั้งในเวอร์ชันจริงจังและเที่ยวเล่น แต่ไม่เคยได้ลองนอนนิ่งๆ ตอนกลางวันแสกๆ การงีบสั้นๆ ในครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งการค้นพบที่ต้องทำซ้ำอีกแน่ในครั้งต่อไป เพราะความคิดได้โอกาสคัดกรองตัวเองในจังหวะที่คล้ายกันกับชาวนาที่กำลังฝัดข้าว รู้สึกใจเย็นลง ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากความรู้สึกสบายที่ได้พักผ่อนในอากาศที่ปลอดโล่ง ต้องยอมรับว่าการทำงานและความกังวลในชีวิตประจำวันดีดเราออกห่างจากสภาวะสงบแบบนี้มาช่วงหนึ่ง
เสียงชะนีเงียบไปแล้ว มันตื่นสายแถมตอนนี้ยังพิงต้นไม้นอนกลางวันสบายใจเฉิบอยู่ที่ไหนสักแห่ง เสียงนกก็แว่วกระทบใบไม้ที่เสียดกันจนคิดเสียว่าเป็น ASMR (autonomous sensory meridian response การตอบสนองต่อประสาทความรู้สึกโดยอัตโนมัติ โดยมากเป็นเสียงที่ฟังแล้วผ่อนคลาย)
“ใครที่ได้เห็นธรรมชาติก็มักจะสบายใจอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้จะเป็นครั้งสำคัญเพราะเราได้กลับเข้ามาอยู่ในสังคมของพืชพันธุ์และชีวิตอื่นๆ ในธรรมชาติ แม้จะในช่วงระยะเวลาอันสั้น แต่เราก็ได้กลับเข้ามาหาบางอย่างที่เราห่างหายไปนาน เราได้มีโอกาสเดินเข้ามาในป่าหรืออยู่ในพื้นที่ที่เป็นของเขาจริงๆ แล้วสิ่งนั้นก็ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตมันสมบูรณ์ขึ้น”
พี่ดำเคยกล่าวเอาไว้ และเราเห็นด้วยในประเด็นข้างท้ายที่ป่าช่วยเติมชีวิตและเยียวยาอาการหนึบใจ
“ต่อไปจะปล่อยให้ลองเดินคนเดียวในป่านะครับ”
มิชชันหลังตื่นก็คือการเดินทิ้งช่วงกันไปจนถึงปลายทางเพื่ออยู่กับตัวเอง เพราะบางคนเพิ่งเคยเดินป่าเป็นครั้งแรก แต่ละคนจึงมีประสบการณ์และความรู้สึกต่อช่วงนี้แตกต่างกัน
พี่ดำออกตัวเป็นคนแรก ตามด้วยเราที่คอยเฝ้าดูอยู่ห่างๆ ภาพที่เห็นคือบก.รุ่นใหญ่เริ่มกอดต้นไม้เมื่อออกตัวเดินไปราว 100 เมตรแรก เทียบขนาดกันแล้วมนุษย์กับต้นไม้ก็เหมือนเป็นเด็กจิ๋วที่กำลังกอดยักษ์
ธรรมชาติมีพลังเร้นลับที่คอยเปลี่ยนให้เรากลายเป็นเด็กในบางมุมเสมอ แววตาที่ใช้มองต้นไม้ กลุ่มหมอก หรือทางช้างเผือกตลอด 1 วันกว่าของพี่ดำก็มีประกายสดใสเหมือนเด็กดีใจที่ได้ดูการ์ตูนหลังจากที่เรียนหนังสือคร่ำเคร่งมานานตลอดวัน
เขายังกอดต้นไม้ต้นที่พอจะกอดได้ไปตลอดทางเงียบๆ เราปล่อยพี่ดำให้หลุดสายตาออกไปจนไม่เห็นมีใครเลยลองคุยกับต้นไม้บ้างประปราย การคุยกับต้นไม้ในบ้านและในป่าต่างกันมากแต่สบายใจเหมือนกัน สัมผัสเปลือกของบางต้นก็ค้นพบว่าเย็นจนอยากเอาหน้าไปแนบ แอบมองไปด้านหลังก็เห็นสมาชิกในกลุ่มเดินตามๆ กันมา บางคนหยุดลูบเปลือกไม้เหมือนกันในขณะที่บางคนเดินเฉยๆ
เราเก็บภาพรอให้หลายคนเดินผ่านไปจนกระทั่งเจอว่าน วิทยากรวัยรุ่นผู้ท่องจำนกได้ทั้งหมดใน Bird guide เดินเข้ามาพอดี เลยตัดสินใจเดินไปด้วยกัน บทสนทนาส่วนใหญ่คือการถามไถ่พันธุ์ไม้ วิธีการนอนของนก ถึงได้รู้ว่ามันมีเอ็นที่ขาไว้ล็อกตอนหลับจะได้ไม่ตกกิ่งไม้ ไปเรื่อยถึงเรื่องอุปนิสัยของชะนี แต่พอคุยไปได้สักพักว่านกลับหยุดเดินเอาดื้อๆ
“โอะ นกเงือก”
เขามองขึ้นไปบนฟ้า ชี้ไปในทิศทางที่นกน่าจะบินผ่านไปแล้ว
“ไม่ได้ยินเหรอ เสียงปีกมันดังเหมือนเฮลิคอปเตอร์เลยนะครับ”
เราตอบด้วยสีหน้างงงวยทันทีว่าไม่ได้ยิน ตั้งแต่มาที่นี่เรายังไม่เห็นนกเงือกสักตัว
ในป่ามีนิทานมากมายในความเรียบง่าย และบางครั้งมันตลกที่เซนส์ของเราจับจุดได้ต่างกันมาก การเดินป่าแม้จะในทางราบก็ใช้สติและสายตาที่ละเอียด ยิ่งละเอียดมากเท่าไหร่ ก็มองเห็นมากขึ้น ได้ยินมากขึ้นเท่านั้น
จอดใจ
“ในมุมของคนที่ไม่เคยเดินป่า ตอนแรกคาดหวังว่าจะได้ความรู้เหมือนเวลาอ่านนิตยสารสารคดี สิ่งที่ชอบคือความรู้ที่ได้เป็นความเพลิดเพลิน ไม่หนักไม่เบามากจนเกินไป ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่เชื่อมมนุษย์กับธรรมชาติเข้าด้วยกัน เช่น ช่วงที่ปล่อยให้เดินป่าคนเดียว”
“ตอนที่ได้เห็นชะนีจริงๆ แล้วเหมือนจะร้องไห้ ตอนกอดต้นไม้ก็ได้รับพลัง”
“เหมือนได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง พอเข้าป่าแล้วรู้สึกว่าเราตัวเล็กมากๆ”
“ป่าที่เคยไปแต่ละครั้งไม่เหมือนกันเลย บางที่ร้อน บางที่เย็น บางที่มีเสียงแมลง หรือบางที่เงียบ แต่ไม่ใช่ความเงียบสนิท เป็นความเงียบที่เรารู้ว่าป่าไม่ได้อยู่เฉยๆ”
“รู้สึกดีใจที่เราใจง่ายกับการมาเข้าป่า เพราะก่อนหน้านี้งานเยอะมาก ชีวิตวุ่นวาย แต่รู้สึกชอบตัวเองที่สามารถลืมตำแหน่ง ลืมเกียรติยศได้จริงๆ เมื่ออยู่ที่นี่ มันทำให้เรารู้ว่าเราไม่ได้หายไปจากธรรมชาติจริงๆ แต่เราแค่ไม่ได้นึกถึงมัน”
เรานั่งล้อมวงกันในพื้นที่เดียวกันกับตอนดูดาว ฟ้ามืดไปมากแล้ว แต่ละคนออกความเห็นของตัวเองในการมา Park ใจครั้งนี้จนครบ ไม่คาดคิดเหมือนกันว่าจะมีผู้เข้าร่วมบางคนที่อินกับนกเงือกมากๆ ทั้งๆ ที่ไม่เคยสนใจมาก่อน หรือแม้กระทั่งบางคนก็ถึงกับร้องไห้ออกมา เพราะรู้สึกดีกับกิจกรรม และทีมงานที่ดูแลผู้เข้าร่วมอย่างละเอียดจนทำให้มองเห็นพฤติกรรมและทบทวนตัวเอง
ระยะเวลาสั้นๆ เพียง 3 วัน 2 คืน กับการเดินเทรลที่ไม่ดุเดือด กิจกรรมบางกิจกรรมก็ย้อนวัยไปมาก แต่สุดท้ายแล้วมันก็ทำงานกับแต่ละคนในมิติที่แตกต่างกัน เห็นได้ชัดว่าหลายคนคงแบกอะไรมาจากเมืองไว้เยอะพอตัว การเข้าป่าง่ายๆ จึงเป็นการหลบหนีออกมาหาสมดุลในตัวเองเพียงชั่วครั้งชั่วคราว
ในกิจกรรมสุดท้ายที่ให้ทุกคนเดินออกไปเลือกชิ้นส่วนในธรรมชาติมาสร้างสรรค์เป็นศิลปะ ภาพของทุกคนมีประเด็นที่ต่างกัน ล้วงลึกถึง pain point บางคนร้องไห้ออกมาอีกครั้งเพราะเพิ่งเข้าใจว่าตัวเองคล้ายไม้ที่ผุพังที่ลอกมากับมือ บางคนเลือกหยิบดินขึ้นมาทั้งๆ ที่คนอื่นเลือกกิ่งไม้ใบไม้ ส่วนงานของพี่ชลก็กลายเป็นเหมือนกลุ่มดาวที่ตัวเองชื่นชอบทั้งๆ ที่องค์ประกอบคือดินและน้ำ
“เราพยายามใช้ธรรมชาติเยียวยาตัวเองในเมืองแล้วแต่ก็ไม่เคยหาย เพิ่งมารู้ตอนนี้เองว่าเราขาดมันมาตลอด เราทำงานกับคนที่ต้องพบเจอกับความอยุติธรรมในสังคม อยู่มากมันจึงทำให้เรารู้สึกเครียดและหดหู่ การมาครั้งนี้เลยเหมือนมาเยียวยาที่แท้จริง” หนึ่งในผู้เข้าร่วมร้องไห้ในยามสาย ก่อนที่จะระบายออกมา
“ต้องบอกว่าทุกคนเป็นหนูทดลองของกิจกรรมนี้นะครับ นี่คือการอาบป่าที่เราอยากให้คนเข้ามาสัมผัส อยากให้เขารู้สึกว่าทุกชีวิตที่อยู่ในป่า ต้นไม้แต่ละต้น สัตว์แต่ละตัวเป็นชีวิตๆ หนึ่ง จะเรียกว่าหนึ่งตัวก็ได้เหมือนเราที่เป็นมนุษย์หนึ่งคน มนุษย์แต่ละคนก็มีคาแรคเตอร์ มีบุคลิก ความรู้สึก มีชีวิตของเขา ต้นไม้ก็เหมือนกัน แม้ว่าจะเป็นชนิดเดียวกันแต่เขาก็มีคาแรคเตอร์ของเขา ฉะนั้นพอเกิดความรู้สึกนี้ เราก็จะเกิดความรู้สึกเคารพในธรรมชาติ เหมือนกับว่าเข้ามาในป่าแล้วเราจะรู้สึกว่าเขากำลังยืนมองเราอยู่
“วันหนึ่งที่เราเดินเข้าไปแล้วเรารู้สึกว่าที่นี่เป็นมิตรกับเราก็เท่ากับว่าเราอาบป่าได้สำเร็จแล้ว ยิ่งเดินเราก็ยิ่งรู้สึกว่าเขาต้อนรับเรามากขึ้นเรื่อยๆ สัตว์หลายตัวคุยกับเราได้ ก็หมายความว่าป่าไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมสำหรับเราอีกต่อไป เหมือนกลับมา reconnect เจอกับเพื่อนที่อยู่ในป่าอีกครั้งหนึ่งด้วยความรู้สึกว่าเขาเป็นชีวิตแต่ละชีวิต แล้วเราก็เป็นอีกชีวิตหนึ่งที่สามารถอยู่ร่วมกันได้”
สำหรับเรา เราเห็นป่ากับสัตว์เป็นเพื่อนมานาน เข้าอาณาเขตต้นไม้รกๆ กับดินที่ยุบได้ตอนเหยียบก็จะรู้สึกว่าเหมือนได้กลับบ้านอยู่เสมอๆ สูดอากาศเขียวสลับกับมองภูเขายิ่งนานยิ่งยิ้มออก ชอบต้นไม้ที่หายใจเสียงดังรดเราเพราะเหมือนได้อยู่ในเวลาที่เดินอีกแบบ ปวดใจจากเรื่องอะไรมา เรื่องราวเหล่านั้นก็มักจะได้รับการทะนุถนอมชั่วคราว เป็นมนตร์ของการหยุดความเจ็บปวดไว้แต่ก็เข้าใจว่ามันจะไม่หายไปไหน
เรา สัตว์ ป่า ต่างกลิ้งเข้าหากันในโหลที่เรียกว่าโลก กลิ้งกระทบกันทีไรความเสียหายก็เกิดขึ้นในระดับร้ายแรง ณ มุมใดมุมหนึ่งของโลกเสมอ
ป่าทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะทั้งโดนบุกรุกโดยมนุษย์และปัจจัยอื่นๆ ที่มนุษย์จัดการนอกป่า แต่กระทบระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติในระดับหายนะ ถ้าเข้าไปท่องเว็บไซต์ของ NASA ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจะเห็นข้อมูลเชิงสถิติและวิทยาศาสตร์หลายรูปแบบที่บอกว่าโลกกำลังแย่ ตัวเลขของอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ธารน้ำแข็งที่ลดลง ปริมาณก๊าสคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี
ตั้งแต่ราวกลางศตวรรษที่ 20 มีสถิติที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างชัดเจนว่าเกิดขึ้นเพราะการกระทำจากมนุษย์ราวร้อยละ 90 ตั้งแต่ปี 2536-2559 ธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์ลดลงราว 286 พันล้านตันต่อปี และ 127 พันล้านตันต่อปีในแอนตาร์กติกา ไม่รวมภัยธรรมชาติครั้งใหญ่และปัจจัยอื่นๆ ที่เห็นกันบ่อยๆ
จริงๆ คำว่าโลกร้อน และ จงรักษาสิ่งแวดล้อม ดูจะเป็นคำที่คุ้นหูเกินไปจนเราฟังแล้วก็ได้แต่พยักหน้า แต่ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาที่ตรงไหนก่อนเพราะมันเหมือนจะใหญ่เกินตัวไป urban development ต้อนเราให้รู้สึกว่าการใช้ชีวิตไปพร้อมๆ กับรักษ์โลกมันลำบากพอตัวอยู่เหมือนกัน
ถ้านายทุนใหญ่ยังไม่หยุดผลิตและมีสำนึกทางสิ่งแวดล้อมมากพอ ถ้าทุนนิยมยังเป็นตัวละครหลักของแก่นโลก เราใช้ถุงผ้าหรืองดรับพลาสติกกี่หมื่นครั้งจะเป็นผลที่ทำให้น้ำแข็งอีกซีกโลกละลายน้อยลงหรือเปล่า
พรมแดนของความรู้ที่หายไปทำให้เราเข้าใจความสำคัญของธรรมชาติ เราเข้าถึงหมีขั้วโลกได้จากสารคดี เห็นวอลรัสกลิ้งตกมาตายอย่างอนาถใจเพราะไม่มีที่อยู่ เราอยากที่จะรักมันให้มากๆ แต่ก็ไม่สามารถหยุดใช้ทรัพยากรเพื่อการดำรงชีวิตได้ เราจึงเป็นมนุษย์ที่ทำสงครามอยู่ฝ่ายเดียวและใช้ชีวิตอยู่ในปลายทางของการทำลาย ในขณะที่ธรรมชาติไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรด้วยแต่ก็ต้องรักษาตัวเองไปก่อน
แต่ถ้าป่าและภูเขาที่ยืนนิ่งไม่พูดไม่จาอยู่ยังไม่ยอมแพ้เพราะธรรมชาติสู้คนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การดิ้นรนเพื่อปกป้องพื้นที่ปลอดภัยต่อสัตว์และตัวเราเอง ก็คงเป็นภารกิจที่ท้าทายและน่าสู้ไปด้วยกัน
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาโครงสร้างแน่นอนอยู่แล้ว บางครั้งการลงมือแก้ก็ต้องอาศัยทั้งข้อมูลจากโลกจริงและความโรแมนติกเพื่อพยุงไม่ให้จิตใจย่อท้อจนเกินไป
ถ้าเรารู้สึกว่ามันสำคัญมากพอ เราก็เชื่อว่าการเคลื่อนไหวในเชิงปัจเจกก็สามารถเติบโตได้ เริ่มตั้งแต่เคารพกันและกันในฐานะชีวิต ตั้งใจรักษาใบไม้หนึ่งใบ แล้วมันอาจจะสะเทือนไปถึงดวงดาวได้สักวัน