- “งานภาพประกอบ จะยากหรือง่ายขึ้นอยู่กับการตีโจทย์งาน อ่านบทความนั้นเขาพูดเรื่องอะไร เราหยิบมาตีความ บัวไม่ใช่สายสัญลักษณ์หรือตีความอะไรขนาดนั้น บัวรู้สึกอะไรกับงานนี้บ้าง บัวก็จะเล่าออกมา คนอื่นเขาอ่านงานแล้วอาจจะเล่าแบบอื่นก็ได้ บัวไม่รู้ว่ามันถูกหรือผิด แต่เราก็ทำงานแบบนี้มาเรื่อยๆ”
- คุยกับบัว-วรรณประภา ตุงคะสมิต ศิลปินที่ทำงานตัดกระดาษ หรือ Papercutting Art ทำอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี เจ้าของเพจ COLLAGECANTO ที่เธอเอาไว้ใช้รวบรวมผลงานในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา
โดยทั่วไป หน้าที่ของกระดาษคือสิ่งรองรับข้อความหรือรูปภาพ ดูเป็นของพื้นๆ ที่เป็นเพียงฉากหลังให้สิ่งอื่นปรากฏ แต่งานที่คุณบัว วรรณประภา ตุงคะสมิต ศิลปินที่ทำงานตัดกระดาษ หรือ Papercutting Art ทำอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี ทำให้เรามองกระดาษด้วยการรับรู้ถึงความเป็นไปได้ของชิ้นงานและความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างออกไป
ในประเทศไทย คุณบัว ถือว่าเป็นศิลปินที่ทำงานตัดกระดาษ หรือ Papercutting Art อย่างต่อเนื่องคนหนึ่ง โดยมีเพจ COLLAGECANTO ที่เธอเอาไว้ใช้รวบรวมผลงานในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา
ก่อนที่จะไปดูว่าอะไรพาเธอมาพบตัวตนผ่านงานตัดกระดาษที่มีเอกลักษณ์เช่นนี้ ขอย้อนกลับไปทำความรู้จักกับเด็กหญิงบัวกันก่อน เพราะการตั้งต้นจากตรงนั้นน่าจะทำให้เราได้รู้จักกับเธอและผลงานของเธอมากขึ้น
EXPLORE THROUGH ARTS & CRAFT
เธอเล่าว่า ตัวเองชอบวาดรูปและรักอิสระตั้งแต่เด็ก ขอให้ได้คิดและทำตามที่ตนเองสนใจจริงๆ เมื่อถามถึงการทำงานด้วยมือหรืองานคราฟท์ คุณบัวอธิบายว่า พี่สาวเป็นคนแรกที่ทำให้เธอเข้าสู่โลกของการลงมือทำงานแบบนี้
“บัวเป็นลูกคนกลาง พี่สาวกับบัวอายุห่างกัน 6 ปี ขณะที่พี่โตเป็นสาวแล้วเรายังเป็นเด็กวิ่งไปวิ่งมาอยู่เลย น้องสาวอายุห่างกับบัว 3 ปี แต่ก่อนบัวก็เล่นกับน้องเป็นตุ๊กตาเลย เล่นขายของกัน ไปปั่นจักรยานอะไรแบบนี้
“พี่สาวบัวเขาเป็นสายคราฟท์แบบถักโครเชท์ เราก็เห็นเขาต้องถักอันนั้นอันนี้ไปส่งครู พี่เคยถักโครเชท์เป็นถุงใส่เหรียญห้อยคอ ทำโบติดผมให้บัวด้วย ทุกวันนี้พี่ก็ยังชอบถักอยู่ เรารู้สึกว่าพี่เป็นผู้นำเทรนด์การทำงานคราฟท์ในสายตาเราเองนะ
“ส่วนตัวเอง ตอนประถมเริ่มชัดละ เราชอบวาดรูปเล่น มีกระดาษให้วาดรูป ชอบวิชาที่ได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ไม่ค่อยชอบวิชาที่เป็นวิชาการ ส่วนวิชาพวกเย็บปักถักร้อยในโรงเรียนก็ไม่ได้ชอบนะเพราะคิดว่าทำไมต้องเย็บแบบนี้ ทำไมมันไม่สนุกเลย ชอบทำอะไรที่มีอิสระมากกว่า
“เราจะชอบเอาภาพประกอบสวยๆ จากแมกกาซีนของแม่ ต้องขออนุญาตเขาก่อนนะไม่งั้นโดนดุแย่ สะสมไว้แล้วเอามาเย็บเป็นปก ส่วนไส้ในเอากระดาษจากสมุดที่ยังเหลือมารวมกัน พอเย็บเสร็จแล้วก็เอาไปใช้ตอนเรียนพิเศษช่วงซัมเมอร์ อีกอย่างที่ชอบทำเองคือเย็บชุดตุ๊กตาเอง เอาผ้าสองชิ้นมาเนาติดกันเป็นชุดกระสอบ ก็ไม่ได้สวยอะไรแต่เรารู้สึกว่า ตุ๊กตามีชุดที่เราทำเองแล้ว”
พอโตขึ้นเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น คุณบัวเล่าว่าก็ห่างจากการทำงานคราฟท์ หันไปฟังเพลงตามยุคสมัย พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ เรื่องเพลงกัน แต่ยังชอบวาดรูปอยู่ เพื่อนๆ ร่วมชั้นจะมีภาพจำว่าเพื่อนคนนี้เป็นคนชอบวาดรูป
แม้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น ความสุขของเธอจะอยู่กับการทำงานศิลปะที่ให้อิสระทางการแสดงออกและความคิด แต่น่าแปลกที่ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เธอกลับไม่ได้รู้สึกชัดเจนมากว่าต้องเลือกเรียนคณะวิชาทางศิลปะ
“พอย้อนกลับไปนึกดูก็ เอ๊ะ…อะไรของเรานะ เหมือนกันค่ะ ในขณะที่เพื่อนมีแนวทางชัดเจน คนที่ชอบดนตรีก็มุ่งไปทางนั้นเลย ตอนมัธยม ตัวเราเองก็ชอบวาดรูป เขียนการ์ตูน เป็นช่วงที่แอนิเมชันยุค 90 รุ่งเรือง มีเซเลอร์มูนงี้ บัวมีรุ่นพี่คนหนึ่งเป็นเด็กสายวิทย์ เขียนโดจินเป็นเล่มๆ พี่วาดรูปเก่งและชอบฟังเพลงญี่ปุ่นแนว J-Rock เปิดโลกเรามาก แต่พี่ก็ไม่ได้อยากไปเป็นนักวาดการ์ตูน สุดท้ายก็ไปเรียนพยาบาล วาดรูปก็สวยเรียนก็เก่ง
“ตอน ม.ปลาย บัวเรียนศิลป์ภาษา มีความคิดอยากเรียนมหา’ลัยศิลปากรนะ แต่เหมือนเรารู้ตัวช้ากว่าจะไปติวความถนัดเฉพาะทางก็คงไม่ทัน เลยเลือกเรียนอะไรกลางๆ อย่างสายภาษา สายมนุษยศาสตร์ สื่อสารมวลชน สอบติดที่คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรฯ เอกสื่อสารมวลชน ได้เรียนได้ลองทุกอย่าง
BE A COLLAGE ILLUSTRATOR
“ตอนเรียนมหาวิทยาลัย บัวชอบสายทำหนังสือ ขณะที่สมัยก่อนคนอื่นเขาจะฮิตเรียนสายโฆษณาหรือทำโปรดักชัน แต่เราคิดว่าเราไม่ได้คล่องตัวขนาดนั้น มันก็กลับมาที่ตอนเด็กๆ เราชอบอ่านหนังสือ ชอบเปิดดูแมกกาซีน เลยเลือกเรียนวิชาที่เราชอบมากที่สุด ช่วงปี 3 จะชัดเจนและไปเลือกฝึกงานตามที่เราสนใจ บัวเลือกไปฝึกงานที่แมกกาซีนออกแบบตกแต่งบ้าน
“ช่วงรอยต่อก่อนจะเรียนจบก็ได้ไปฝึกงานที่ a day Magazine ได้ทำงานเต็มที่จริงจัง ทำให้เราได้วิชาเยอะและค้นพบว่า นี่คือสิ่งที่เราชอบ ได้เขียนบทความและบทสัมภาษณ์ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เราเห็นอะไรกว้างขึ้น เรียนจบก็ได้ทำงานที่นี่ต่อ แต่เป็นอีกกองหนึ่ง จากที่นี่ก็ได้ไปทำงานที่ฝ่ายสื่อสารองค์กรให้มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ได้ทำงานเขียนและได้อยู่ในบรรยากาศมหาวิทยาลัย ทำอยู่ปีครึ่งด้วยความเป็น out source เขาก็เปลี่ยนผู้รับงานไปเรื่อยๆ แล้วบัวก็ได้ไปทำฟรีแมกกาซีนที่วางไว้ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเป็นผู้ช่วยน้องๆ แต่ละมหาวิทยาลัยทำเนื้อหาและต้องทำอีเวนท์กับแต่ละมหาวิทยาลัยไปด้วย ต่อมา ได้ทำแมกกาซีนเล่มหนึ่งเป็นงานประจำเล่มสุดท้าย ได้ทำงานเต็มที่ เขียนกันอยู่สองคน บัวเขียนสิบคอลัมน์ โอ้โห…สนุกมาก เราขอมีคอลัมน์หนึ่งชื่อ SIY ย่อมาจาก Saw It Yourself ชวนเพื่อนในกองไปซื้อผ้า สนุกดีค่ะ
“ส่วนความชอบวาดรูปของเราก็เป็นงานอดิเรก เรียนมหาวิทยาลัยอยู่บัวก็ยังวาดรูปอยู่นะ ทุกอย่างที่ผ่านมามันค่อยๆ สะสมเข้ามาในตัว เพื่อนตอนประถมมาเจอบัวตอนนี้ทุกคนก็บอกว่า บัวเหมือนเดิม เหมือนโดนสต๊าฟเอาไว้ ทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นนิสัยหรือความชอบความสนใจ…แทบจะเปลี่ยนแปลงน้อยมาก
“เรื่องการทำงานคราฟท์ ก็ทำสะสมมาตลอดรวมเอาไว้ใน blog ชื่อ COLLAGECANTO ตั้งแต่ช่วงที่ทำงาน out source ให้กองสื่อสารฯ ในมหาวิทยาลัย เราอยากทำงานศิลปะ ไม่อยากทำ blog ที่เขียนยาวๆ เลยเขียนเป็นแคนโตซึ่งเป็นบทกวีสั้นๆ ซึ่งเริ่มรู้จากการอ่าน a Day”
จุดเริ่มต้นที่ได้ทำภาพประกอบก็มาจากการ blog เปลี่ยนจากงานอดิเรกเป็นงานกึ่งๆ ประจำและกลายเป็นการเดินทางสู่การทำงานศิลปะที่ชอบอย่างเต็มที่ ซึ่งเธออธิบายว่า ได้นำความสนุกตอนเด็กๆ กลับมาใช้ในการทำงานภาพประกอบ เด็กหญิงที่เคยชอบอะไรแล้วทำเลยได้กลับมาลงมือสร้างสรรค์งานผ่านตัวตนของเธอในวัยทำงาน เปิดโอกาสให้ได้ทดลองทำงานในรูปแบบที่สนใจ ไม่ต้องมีกรอบหรือข้อจำกัดใดๆ
ข้อดีของการทำงานศิลปะแบบคุณบัว คือ เธอไม่ได้ผ่านการเรียนศิลปะตามแบบแผนมาก่อน จึงมีวิธีการทำงานจากการทดลองลงมือทำด้วยตัวเองจนมีทักษะสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ
“ใน blog บัวทำงานคอลลาจ ถ่ายรูปเสร็จก็เขียนแคนโต 3 บรรทัดจบ โพสต์ขึ้น blog เหมือนจุดเริ่มต้นการทำงานภาพประกอบด้วย รู้สึกสนุกมาก ทำเกือบทุกวัน พอย้อนกลับไปดูงานปีแรกทำเกือบ 60-70 ชิ้นได้ อาจเป็นเพราะงานที่ทำก็ไม่หนักมากทำให้เรามีเวลาพอที่จะมาทำงานอดิเรกที่ชอบได้ รู้สึก work-life balance ดี
“มีรุ่นพี่ที่ a Day เห็นเราทำ blog ก็เลยชวนมาทำงานภาพประกอบลงในคอลัมน์ Talking Head และคอลัมน์ ไม่เชื่อต้องลบหลู่ ที่คุณแทนไท ประเสริฐกุล เขียน เป็นงานที่สีสันเยอะมาก เป็นงานดูแตกต่างจากงานตอนนี้มากๆ ช่วงที่ทำก็รู้สึกสนุกเลยจัดเต็ม ใส่ทุกอย่างที่อยากใส่เข้าไป
“งานภาพประกอบ จะยากหรือง่ายขึ้นอยู่กับการตีโจทย์งาน อ่านบทความนั้นเขาพูดเรื่องอะไร เราหยิบมาตีความ บัวไม่ใช่สายสัญลักษณ์หรือตีความอะไรขนาดนั้น บัวรู้สึกอะไรกับงานนี้บ้าง บัวก็จะเล่าออกมา คนอื่นเขาอ่านงานแล้วอาจจะเล่าแบบอื่นก็ได้ บัวไม่รู้ว่ามันถูกหรือผิด แต่เราก็ทำงานแบบนี้มาเรื่อยๆ”
A JOURNEY IN A TINY WORLD
พอได้ดูงานของคุณบัวในปัจจุบัน หลายคนจะรู้สึกว่างานตัดกระดาษช่างเป็นการทำงานที่ละเอียดและคงต้องใช้เวลานาน เธอจึงเล่าถึงที่มาของการทำงานตัดกระดาษว่า
“ของที่เราชอบ ตั้งแต่เด็กๆ เราก็ชอบเล่นของเล็กๆ ไม่ชอบอะไรใหญ่ๆ ชอบเล่นลูกแก้ว เล่นตุ๊กตา การทำงานตัดกระดาษก็มาแนวเดียวกัน เห็นแล้วชอบงานที่มีรายละเอียด มีเลเยอร์ และเล่าเรื่องอะไรบางอย่าง ปีที่เริ่มทำงานแบบนี้ คือ ปี 2010 ก่อนหน้านั้น ทำภาพประกอบให้ a Day ปี 2008-2009 ตอนที่เริ่มทำ blog ตั้งแต่ปี 2007 ระหว่างนั้นบัวก็ทำงานกองบรรณาธิการและขอทำคอลัมน์งานคราฟท์
“เพื่อนๆ ที่เห็นงานเรา เขาจะให้เราไปทำงานภาพประกอบให้ ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นไป งานบัวจะดูเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการชวนๆ กันจากเพื่อนและคนรู้จักที่อยู่รอบตัวเพราะเขาเห็นเราทำงานแนวนี้ต่อเนื่อง ถ้ามีโอกาสและรู้สึกว่าเราทำได้ บัวก็จะทำ”
“บัวรู้สึกว่าตัวเองโชคดี ที่บ้านตามใจเราเลยใช้แต้มบุญได้อย่างสุรุ่ยสุร่าย ตอนนี้เลยทำงานสุดมาก บัวเชื่อว่าทุกงานไม่มีงานไหนสบายและเราจะต้องทำต่อไป ฮึบต่อไป อยากจริงจังในงานที่ทำให้มากกว่านี้
“ตอนนี้ กล้าพูดตรงๆ ว่าอยากกลับไปเป็นพนักงานออฟฟิศ ทำเหมือนคนปกติทำ แม่เคยพูดว่า ถ้าเธอทำอันนั้นแล้วเธอจะได้ทำอันนี้รึเปล่าล่ะ ถ้าแม่พูดแบบนี้บัวก็ต้องลุยต่อ มาวันนี้ถอยหลังไม่ได้แล้ว นี่เป็นงานที่เราชอบ เราตัดสินใจมาแล้ว ดังนั้น งานนี้ คือ 70%-80% ของชีวิตเรา เราก็ต้องรับผิดชอบให้เต็มที่ เป็นการรับผิดชอบชีวิตตัวเอง เหมือนเราเป็นลูกของตัวเราเอง พยายามจะทำให้ดีค่ะ”
กลับมาที่งานล่าสุดของคุณบัวที่ทำออกมาช่วงนี้ ช่างคล้ายกับการสำรวจสิ่งรอบตัวด้วยกล้องจุลทรรศน์ นั่นเป็นเพราะความชอบของเล็กๆ ที่เธอมีชัดเจนตั้งแต่เด็กๆ เลยรึเปล่า คุณบัวอธิบายว่า
“บัวมีวัฏจักรชีวิตแบบ จะมีช่วงที่นึกอยากทำงานแบบนี้ก็จะทำๆ แป๊บนึงแล้วก็จะเลิก พักไว้ก่อนดองเอาไว้ หลังจากนั้นผ่านไปสักระยะหนึ่ง เราถึงจะเอางานที่เราอยากทำต่อหยิบกลับมาทำอีกครั้ง ช่วงนี้เป็นช่วงที่หยิบงาน Microscope มาจากความชอบของตัวเองที่ชอบดูภาพถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์ ดูแล้วก็คิดว่าถ้าเราเอามาตัดงานก็คงสวยดี เพราะว่าบัวชอบรูปร่างฟรีฟอร์มประกอบกับตัวเองชอบของเล็กๆ อยู่แล้ว จากนั้นถึงจะหยิบไปเล่าในแง่ไหนได้บ้าง
“ชุดแรกชื่อ My Micro Journey ทำเป็นสมุดบันทึกภาพที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นที่เมืองคิวชู บัวไปก็ snap ภาพเก็บไว้ด้วยโทรศัพท์ จากนั้นก็เลือกมาแล้วก็คิดว่า ถ้าภาพพวกนี้เป็นรูปถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์ภาพมันจะออกมาเป็นยังไง ก็เลยทำเป็นซีรีส์ ประมาณ 10 กว่ารูป ทาง a Day ก็เลยชวนมาทำโปรเจคที่ใช้สมุดบันทึกของ Moleskine ให้สมุดมาคนละเล่มแล้วเราจะทำอะไรก็ได้
“บัวเลือกทำเรื่องการท่องเที่ยวเชิงกล้องจุลทรรศน์ เราชอบเก็บกระดาษ เก็บตั๋ว เราก็เอามาตัด ไม่มีคำพูดหรือข้อเขียน ในงานจะมีแค่รูปที่ตัดแล้วก็คำบรรยายชื่อสถานที่และเราใช้กระดาษอะไรมาตัด จบแค่นั้น เป็นเล่มที่ชอบมากๆ บัวคิดว่า ถ้าเราไปเที่ยวที่ไหนก็จะเลือกวิธีบันทึกความทรงจำเก็บไว้แบบนี้ล่ะ
“เมื่อเดือนตุลาปีที่แล้ว มีโอกาสได้ไปโอซาก้า คราวนี้ก็ทำแบบเดิมแต่ทำใหญ่ขึ้นเป็นรูปใส่กรอบเลยมี 8 รูป ไม่ได้ทำลงสมุด เลือกทำรูปอาหารที่เราชอบกินแล้วคิดว่าถ้าเรามองอาหารผ่านกล้องจุลทรรศน์มันจะออกมาหน้าตาเป็นแบบไหน วางเล่มที่เราไปเที่ยวคิวชูไว้ด้วย เพื่อให้มันเป็นซีรีส์ไปด้วยกัน อยากทำงานที่มีไอเดียเป็นกลุ่มเป็นก้อน
“หลังจากกลับมาจากโอซาก้าก็ได้ไปทำงานในโปรเจค Artist Resident ที่โรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพ เป็นงานลูกไม้ขนาดใหญ่เป็นผ้าคลุมเตียงได้เลยซึ่งเหมาะกับสถานที่ แตกต่างจากงานที่บัวทำเป็น series ในปีนี้ เน้นชิ้นเล็กๆ
“ตอนทำโปรเจคนี้แฮปปี้มาก เราตื่นเช้าทุกวันเพื่อที่จะได้กินข้าวเช้า เราไม่ได้เป็นคนลึกซึ้งอะไร บางอย่างดูไม่ได้สลักสำคัญ เราแค่อยากจะเก็บช่วงเวลานั้นที่เราชอบเอาไว้เฉยๆ บัวชอบอาหารและรู้สึกว่าความเป็นอาหารเข้าถึงงานเลยเก็บความประทับใจจากอาหารที่พบในโรงแรมเอามาทำงานที่ในช่วงล่าสุด ถ้าเรามองอาหารพวกนั้นใต้กล้องจุลทรรศน์แล้วจะออกมาเป็นแบบนี้ ชอบให้คนดูมาเดา อันนี้รูปอะไรแล้วก็ไม่ค่อยมีคนเดาถูกเลย เวลาเอามาโพสต์เพื่อนๆ ก็จะมาแล้วนี่ๆ ต้องเป็นอันนี้ๆ บัวก็บอก…ไม่ใช่ ก็รู้สึกสนุกดีค่ะ”
SELF REFLECTION
เมื่อการทำงานผสานกับชีวิตได้ ถึงจุดหนึ่งเราจะรับรู้ได้เอง คุณบัว เล่าถึงความรู้สึกตอนนั้นว่า
“งานตัดกระดาษ บัวรู้สึกว่าใครๆ ก็ทำได้นะ แต่ว่าการสร้างภาพจำหรือเอกลักษณ์ที่เป็นธรรมชาติของเรามันยากนะ ตอนแรกพอบอกว่าบัวทำงานตัดกระดาษ คนก็จะถามว่าทำงาน pop-up ได้ไหม บัวก็บอก อุ๊ย…ทำไม่ได้ๆ แล้วก็จะอธิบายว่าคนละเทคนิคกัน
“บัวมักจะทำงานจากตัวเองเป็นหลัก ย้อนไปดูเรื่อยๆ นี่ก็ตัวบัวตอนนั้น เอากลับมาคิดงานต่อ บางคนเวลาคิดงานอาจจะมีแนวทางว่าต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ไปเลย ตัวบัวเองเวลากลับไปดูงานเราจะพบว่า นี่งานตอนนั้นก็ดีนี่น่าเอามาทำต่อดีกว่า เวลาคุยกับเพื่อน เราจะพบว่าเราไม่มีประสบการณ์แบบนี้ ไม่มีความรู้ตรงนี้ เราไม่ได้ลึกซึ้ง บางคนมีข้อมูลอ้างอิงได้เลย ถ้าอยู่ในวงสนทนาบัวจะแบบ เอ่อ…ขอไปเข้าห้องน้ำก่อนนะ เวลาฟังเพื่อนๆ คุยกันเราก็จะค่อยกลับบ้านไป google ต่อว่า อ้อ…อันนี้คืออะไร
“เวลาได้ทำงานกับเพื่อนที่เป็นคนลึกซึ้ง มีข้อมูล อย่างทำงานภาพประกอบ เพื่อนบัวทำการบ้านหาข้อมูลให้บรรณาธิการเยอะมาก เราเห็นเพื่อนทำงานเต็มที่ขนาดนี้ก็รู้สึกว่าถูกต้องแล้ว มาแนวข้อมูลแบ่งงานกันทำได้ชัดเจน ส่วนเราก็ต้องมาทำอีกแนวหนึ่ง การทำงานกับเพื่อนที่ลึกซึ้งทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง
“บัวรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนธรรมดาๆ รู้สึกแบบนี้ก็ทำงานออกมา พอไปลองทำแบบนั้นแล้วบัวว่ามันไม่ใช่ เรายอมรับตัวเองได้มากขึ้น แต่ก่อนอาจจะรู้สึกว่า เราต้องขยันมากกว่านี้มากขึ้นอีกรึเปล่า แต่พอยอมรับได้กับตัวเองก็สบายใจขึ้น ถึงจุดหนึ่งเราจะรู้ว่าเราทำอะไรไม่ได้ทั้งหมดหรอก เราพยายามก่อนแล้วนะถึงจะรู้ได้แบบนี้ เพิ่งจะมารู้สึกช่วงปีสองปีนี้เองนะคะ ไม่ได้รู้เร็วค่ะของแบบนี้คงต้องใช้เวลาพอสมควร ไม่รู้ต้องมีอายุเท่าไหร่กว่าจะรู้นะคะ 200 ปีเลยไหม
“เราเห็นเพื่อนๆ มีจุดแข็งแบบนี้ๆ เราก็พยายามมั่งแต่มันจะเครียดค่ะ ทำงานไม่ค่อยมีความสุข แต่พอได้พูดกับเพื่อนหรือเขียนระบายออกมาก็อ้อ…แค่นี้เอง เราก็บอกว่าเราทำไม่เป็น หรือเราชอบแบบนี้ แค่นี้ก็จบ รู้สึกสบายขึ้น ไม่ใช่ว่าเราเลือกงานหรืออะไร แค่เราถนัดแบบนี้มากกว่า ถ้ามันไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
“ตั้งแต่ตอนทำงาน out source ให้กองสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัย มีพี่คนหนึ่งบอกบัวว่า อย่าไปยึดติดอะไร แม้แต่ของที่เราบอกว่าชอบมาก วันหนึ่งเราอาจจะไม่ชอบก็ได้ ทำให้บัวกลับมาคิดว่า อย่างงานตัดกระดาษที่บัวทำตอนนี้มันต้องใช้ร่างกาย เราต้องทำทุกอย่างด้วยมือ ถ้าเกิดไม่สบายแล้วทำแบบเดิมไม่ได้ มันแปลว่าเราต้องหยุดทำไปเลยรึเปล่า แล้วมันจะยังไงต่อ เลยทำให้คิดว่า ถ้าเราไม่ต้องยึดติดว่า เราต้องทำงานแบบนี้ไปตลอด ตัวเราเองก็จะรู้สึกสบายใจและเปิดใจรับสิ่งอื่นๆ ได้ด้วย
“ที่บัวบอกว่า อยากลองไปทำงานออฟฟิศก็ไม่ได้เล่นมุกนะ แต่มันหมายถึงว่าเราเปิดใจให้กับการทำงานแบบอื่นๆ ไม่มีงานไหนที่ดีหรือไม่ดี บัวแค่รู้ว่า ตอนนี้บัวทำงานนี้ได้ เราก็ทำแล้วมุมหนึ่งมันก็ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน มันสร้างประโยชน์ได้ ทำให้เรามีอาชีพ มีความภาคภูมิใจในตัวเอง
“ที่บ้านจะบอกว่าบัวเป็นคนเอ็กซ์ตรีม เวลาทำอะไรก็จะทำสุดมากซึ่งมันก็จริง ถ้าเราอยากทำก็จะทำๆ ทีนี้ถ้ามันมากเกินไปก็จะไม่สบาย ที่บ้านก็จะเป็นห่วงว่าทำไม่ไม่พักเลย แต่ในขณะเดียวกันเราก็รู้นะ แต่มันก็สนุกดี ทำต่อๆๆๆ และบางทีก็ต้องเร่งตามเดดไลน์ ถ้าใช้ร่างกายเยอะมันก็ปวด
“ช่วงนี้ บัวทำงานที่ต้องใช้การตัดน้อยลงนะ เราทำงานชิ้นเล็กๆ คนอื่นอาจจะไม่รู้สึกเท่าไหร่ ตอนนี้บัวทำงานเล็กลง เลือกใช้วัสดุตัดง่ายขึ้น เปลี่ยนมาลองเล่าเรื่องแบบนี้ดูไหม มีหลายวิธีที่ทำให้ตัวเองทำงานได้สบายมากขึ้น กลับมาที่งานคอลลาจอีกครั้ง ส่วนเรื่องสุขภาพ บัวก็หันมาออกกำลังกาย เรื่องนอนก็ไม่นอนดึกมากเหมือนเมื่อก่อน
“ถึงตอนนี้ บัวว่าเราประนีประนอมกับตัวเองมากขึ้นนะ”
กว่าแต่ละคนจะรู้ว่า ตรงกลางระหว่างความสุขและความมุ่งมั่น ความเต็มที่ในงานกับการผ่อนคลาย หรือกระทั่งความคิดเล็กๆ ความชอบ แบบแผน หรือ พฤติกรรมที่เราทำไปตามธรรมชาติคืออะไรก็จำเป็นต้องอาศัยเวลาและการกลับไปทบทวนตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อถึงจุดที่ทุกๆ มองเห็นความธรรมดาของตัวเองและกฎธรรมชาติก็จะมีความสุขในการใช้ชีวิตทุกๆ วันได้ไม่ต่างกัน ไม่ว่าวันนี้หรือวันพรุ่งนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม