- “เราอยากทำให้เป็นห้องเรียนที่อึกทึก อยากให้เด็กพูดว่า หนูตอบๆ! ผมตอบๆ! เราจะตั้งธีมสอนแต่ละสัปดาห์ เป็นหน่วยการเรียนรู้ ดูจากเด็กสนใจเรื่องอะไร ตัวเราอยากสอนอะไร หาจุดที่เราอยากสอนและเด็กอยากเรียนสมมติสัปดาห์นี้เป็นธีมเรื่องไฟไหม้ เราก็คิดคีย์เวิร์ดที่อยากให้เด็กรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น รู้สาเหตุที่ทำเกิดไฟไหม้ สัญญาณการเกิดไฟไหม้ วิธีดับไฟ อุปกรณ์ที่ใช้ดับ ขั้นตอนอพยพ ทำเป็น Mind Map ออกแบบว่าแต่ละวันจะทำกิจกรรมอะไรบ้าง”
- นอกจากเรื่องที่อยากสอน ครูนกยูงมีลิสต์เรื่องที่ไม่อยากสอนเด็กด้วย เช่น ไม่สอนว่าสีฟ้าของเด็กผู้ชาย สีชมพูของเด็กผู้หญิง ใครชอบสีไหนหยิบเลย รวมถึงไม่สอนว่าโลกนี้มีคนแค่สองเพศ ผู้ชายต้องเป็นแบบนี้ ผู้หญิงแบบนี้ จะนิยามว่าตัวเองเป็นอะไรก็ได้ แต่ขอให้รักตัวเองในทุกเวอร์ชันที่เป็น
- ถอดสูตรวิธีสร้างห้องเรียนอนุบาลฉบับครูนกยูง ทำให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ความหลากหลายคือความปกติ เด็กผู้ชายจะชอบสีชมพูหรือเล่นตุ๊กตาเป็นเรื่องธรรมดา เด็กๆ ยกมือแย่งกันตอบหรือติการสอนของครูได้
เสื้อสีครีมปักลายตัวการ์ตูนสิงโต สวมผ้าคาดผมแบบถักไหมพรม พร้อมกับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ แผ่รังสีความสดใสที่เรายังสัมผัสได้ แม้จะเป็นการสนทนาผ่านวิดีโอคอลของเรากับ ปานตา ปัสสา หรือ ครูนกยูง
ห้องเรียนอนุบาลประจำโรงเรียนบ้านดอนทับช้าง จังหวัดอุบลราชธานี คือ พื้นที่การทำงานของครูนกยูง โดยมีสมาชิกตัวน้อยประจำห้อง 7 คน ใช่…คุณอ่านไม่ผิดหรอก จำนวนนักเรียนชั้นอนุบาลของโรงเรียนมีทั้งหมด 7 คน รวมเข้ากับจำนวนนักเรียนชั้นอื่นๆ ประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ทำให้ที่นี่มีนักเรียนทั้งหมด 52 คน (เราแอบถามสาเหตุที่มีนักเรียนน้อย ครูนกยูงอธิบายว่าเพราะโรงเรียนตั้งอยู่ใกล้ๆ กับโรงเรียนประจำอำเภอ ผู้ปกครองนิยมส่งลูกไปเรียนที่นั้นแทน)
ความน่าสนใจในห้องเรียนครูนกยูงอีกหนึ่งอย่าง คือ นักเรียนในห้องเป็นนักเรียนอนุบาลศึกษาปีที่ 2 และ 3 ทำให้เด็กๆ ต้องใช้เวลาอยู่ในห้องเรียนเดิม 2 ปี ถึงจะเปลี่ยนห้องขึ้นไปเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
ห้องเรียนครูนกยูงนอกจากสร้างกระบวนการเรียนให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะด้านต่างๆ รวมถึงความสนุกที่จะทำให้เด็กที่ต้องใช้เวลาอยู่ในห้องนี้ 2 ปีไม่เบื่อไปซะก่อน
บทสนทนาต่อไปนี้ คือ การถอดสูตรวิธีสร้างห้องเรียนอนุบาลฉบับครูนกยูง ทำให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ความหลากหลายคือความปกติ เด็กผู้ชายจะชอบสีชมพูหรือเล่นตุ๊กตาเป็นเรื่องธรรมดา เด็กๆ ยกมือแย่งกันตอบหรือติการสอนของครูได้
สเตตัส ‘ครูนกยูง’ ได้มาอย่างไร?
ตั้งแต่เด็กเราพยายามบอกทุกคนว่าจะไม่เป็นครูเด็ดขาด ไม่เอาๆ พยายามวิ่งหนี เพราะที่บ้านเป็นครูหมดเลย คุณตาคุณยายก็เป็นครู ปะป๊า-หม่าม้าก็เป็นครู คุณตาเป็นตำรวจตะเวนแถวชายแดนแต่ก็ได้เป็นผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของตชด.ด้วย หรือแม้แต่คุณน้าที่เป็นหมอ สุดท้ายก็มาเป็นอาจารย์หมอ รวมญาติทีหนึ่งเหมือนงานคืนสู่เหย้าโรงเรียนเลย
ทุกคนชอบพูดกับเราว่า ‘เดี๋ยวก็เป็นครูเหมือนพ่อแม่’ ตัวเราไม่ได้ไม่อยากเป็นครูนะ แต่ไม่ชอบให้ใครมายัดเยียด เลยปฏิเสธตลอด
ตอนแอดมิชชั่นตัดสินใจจะเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ที่ชอบ แต่พอมาสังเกตดีๆ ก็รู้สึกว่าเราไม่ได้ชอบมันพอที่จะดำดิ่งลงลึกเรื่องนั้นไปซะทีเดียว เลยลองลดอคติแล้วนั่งคิดกับตัวเองดีๆ ว่าอยากเรียนอะไร ไปอ่านเฟรนชิปเพื่อนส่วนใหญ่เขียนว่า ขอบคุณนะที่ช่วยสอนการบ้าน ขอบคุณนะที่อธิบายเรื่องนี้ให้เราเข้าใจ ขอบคุณนะๆๆ เออ..เราก็ชอบสอนคนอื่นนิ (หัวเราะ) อะ…เรียนครูก็ได้ว่ะ (คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา) กลืนน้ำลายตัวเอง
การเลือกเป็นครูปฐมวัย
ส่วนตัวเราไม่ได้มีวิชาไหนที่ชอบที่สุด หรืออยากสอนที่สุด เพราะเราชอบทุกวิชา วิชานี้ก็อยากสอน วิชานั้นก็อยากสอน บวกกับชอบเด็กเล็กๆ ด้วย ก็อะ…เรียนครูปฐมวัยละกันน่าจะสนุกดี
สมัยเรียนเราจะเป็นคนที่…ถ้าอาจารย์ถามคำถามเกี่ยวกับชีวิตในโรงเรียน เราจะตอบได้คนเดียว รู้ลึกรู้จริง เพราะอยู่กับครูมาทั้งชีวิต ตอนเด็กๆ ต้องไปช่วยแม่ทำงานที่โรงเรียนตลอด อาจารย์ส่วนใหญ่สอนระดับมหาวิทยาลัย ไม่เคยเป็นครูในโรงเรียน ก็จะไม่เข้าใจบริบทบางอย่าง เราก็จะพูดตลอดว่า “อาจารย์ แบบนี้เขาไม่ทำกันนะที่โรงเรียน” (หัวเราะ)
เช่น?
ตอนนั้นเรียนวิชาเกี่ยวกับการทำหลักสูตร อาจารย์ก็สอนว่าหลักสูตรต้องทำแบบนี้ๆ ตั้งปรัชญาโรงเรียนแบบนี้ เราเคยเห็นหม่าม้าทำ เขาจะมีต้นฉบับหนึ่งอัน ก็ก๊อบๆๆ ต่อกันมา (หัวเราะ) จะได้ทำง่าย คนตรวจไม่ต้องเหนื่อย เราก็บอกอาจารย์ไปว่า ที่โรงเรียนเวลาทำจริงๆ เขาไม่ได้คิดเยอะแบบนี้นะคะ (หัวเราะ) หรือเรื่องสิทธิของเด็กในห้องเรียน จะมีระเบียบว่าครูไม่ควรปล่อยเด็กในห้องไว้ตามลำพัง เราก็พูดว่า แต่ถ้าผู้อำนวยการฯ สั่งงานครู ครูก็ต้องรีบไปทำนะคะ (หัวเราะ)
จากสถานะนักศึกษา เลื่อนขั้นมาเป็นครูนกยูง วันแรกของการมาที่โรงเรียนนี้เป็นอย่างไร
วันแรกมีคุณครูพาเราไปดูห้องเรียน เขาเป็นครูที่สอนชั้นอนุบาลเป็นครูที่เกษียณแล้วแต่กลับมาสอนในโรงเรียนอีก เราก็มองๆ ในห้อง ประโยคแรกที่พูดคือทำไมมีแค่นี้ละ แล้วก็ชี้ว่าอันนี้ไม่ดี อันนี้ไม่ได้ ครูเขาก็คงรู้สึกว่า ยัยนี้เป็นใคร ทำไมขี้บ่นจัง (หัวเราะ)
มันเป็นห้องที่โล่งมากๆ เราชินกับห้องเรียนที่เต็มไปด้วยของ ตัวเราเป็นคนชอบไปโรงเรียนมาก (เน้นเสียง) ความทรงจำที่เรามีกับห้องเรียน คือ มีของเล่น มีสิ่งที่เราชอบ มีอะไรให้ทำเยอะแยะ
ลองถามครูว่า มีของเล่นไหม? เขาก็หยิบกล่องพลาสติกมา 1 กล่อง ขนาดเท่านี้ (ยกมือกางระหว่างหน้าอก) ความรู้สึกเราคือมีของเล่นแค่นี้เองเหรอ ของเล่นบ้านหนูยังเยอะกว่านี้อีก (หัวเราะ) เดินไปดูชั้นหนังสือ จะมีชั้นที่เป็นหนังสือนิทาน เปิดมาเล่มหนึ่งไม่มีไส้มีแต่ปก หรือเอาหนังสือเรียนมาวางแทน
เจอแบบนี้แล้วเราทำไงต่อ?
ก็วางแผนทำนู่นทำนี่ ช่วงฝึกสอนเราทำสื่อไว้ใช้เยอะก็เลยพอจะมีเหลือ แล้วเหลือเวลาประมาณ 2 อาทิตย์จะเปิดเทอม ตอนนั้นเราเข้ามาช่วงเปิดเทอม 2 เลยตัดสินใจไม่กลับบ้าน นั่งรีโนเวทห้องเรียนใหม่
ครูอนุบาลคนเก่าเขาเป็นครูที่เคยสอนเด็กประถม เกษียณแล้วเลยมาช่วยสอนเด็กอนุบาล เขาจะไม่ค่อยเข้าใจธรรมชาติของเด็กวัยนี้ว่าต้องเล่นนะ เลยสอนด้วยการทำใบงาน ให้คัดไทย เคยถามว่าที่โรงเรียนซื้อสื่ออะไรมาสอนเด็กบ้าง เขาบอก อ้อ ซื้อกระดาษมา 1 รีม เราก็คิดว่าซื้อมาทำไม (เสียงสูง) เอามาให้เด็กทำใบงาน (หัวเราะ) การสอนที่นี่เหมือน 20 ปีที่แล้ว เป็น passive learning สื่อสารทางเดียว ครูสั่งอย่างเดียว ส่วนเด็กไม่รู้รับไหม แต่ก็มีแอบ active เล็กๆ ให้เด็กทำกิจกรรมบ้าง
ความรู้สึกของนักเรียนที่เปิดเทอมสองมาห้องเรียนวันแรก เจอห้องเรียนเปลี่ยนไป รวมถึงครู
ว้าวมาก เขาชอบนะ ยิ่งเด็กรุ่นแรกจะรักษาของเล่นดีมาก เพราะเขาไม่เคยมี เวลาเราบอกให้เก็บของ เขาก็จะเก็บเรียบร้อยเลย พอเด็กรุ่นนี้ขึ้นป.1 กลับมาเห็นน้องเล่นแรงๆ ก็บอกว่า รู้ไหมกว่าจะได้ของเล่นมามันยากนะ หรือเราทำของเล่นเพิ่ม เขากลับมาเห็นก็ถามว่า ทำไมตอนเขาไม่มีบ้าง (หัวเราะ) ทำไมครูไม่มาให้เร็วกว่านี้เขาจะได้มีของเล่นเร็วๆ
โรงเรียนปล่อยให้เราออกแบบห้องเรียนได้ฟรี ไม่มีใครกล้ายุ่งกับเรา เพราะเราเป็นคนเปรี้ยวมาก (หัวเราะ) มีครั้งหนึ่งด้วยความหวังดีของครูที่โรงเรียน เขาปรินท์ใบงานแบบฝึกหัดมาให้เรา ด้วยความเป็นคนไม่ดี พอเขายื่นมาเรารับปุ๊บ ถังขยะอยู่ข้างๆ โยนลงเลย (หัวเราะ) ที่ทำแบบนี้เพราะเราเคยพูดดีๆ แล้วนะ แต่เขาไม่พยายามทำความเข้าใจเราเลย หรือเขาถามว่าทำไมไม่สอนเรื่องนี้ ทำไมไม่สอนเด็กท่อนกอไก่ เราก็บอกครูประถมสอนสิ เลยไม่มีใครกล้ายุ่ง เป็นที่น่าหมั่นไส้ของครูทุกคน (หัวเราะ)
ห้องเรียนครูนกยูงหน้าตาเป็นยังไง
เราอยากทำให้เป็นห้องเรียนที่อึกทึก อยากให้เด็กพูดว่า หนูตอบๆ! ผมตอบๆ! เราจะตั้งธีมสอนแต่ละสัปดาห์ เป็นหน่วยการเรียนรู้ ดูจากเด็กสนใจเรื่องอะไร ตัวเราอยากสอนอะไร หาจุดที่เราอยากสอนและเด็กอยากเรียนสมมติสัปดาห์นี้เป็นธีมเรื่องไฟไหม้ เราก็คิดคีย์เวิร์ดที่อยากให้เด็กรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น รู้สาเหตุที่ทำเกิดไฟไหม้ สัญญาณการเกิดไฟไหม้ วิธีดับไฟ อุปกรณ์ที่ใช้ดับ ขั้นตอนอพยพ ทำเป็น Mind Map ออกแบบว่าแต่ละวันจะทำกิจกรรมอะไรบ้าง
หรือเคยทำธีมอาชีพ ถามในห้องว่าอยากเป็นอะไร ได้คำตอบว่าอยากเป็นนักดับเพลิง เราก็ไปหามาว่าจะพาใครมาเล่าประสบการณ์ให้เด็กๆ ฟังได้บ้าง
คล้ายกับการทำ Problem based Learning หรือ Project Based Learning ไหม
แล้วแต่เรื่องที่สอน บางทีทำกิจกรรมไประหว่างทางเจอปัญหา ก็พักกิจกรรม ชวนเด็กมาคุยว่าเอาไงต่อ มีครั้งหนึ่งเราพาเด็กปลูกแตงโม แต่ปลูกแล้วมีแต่ใบขึ้น ไม่มีดอกหรือออกผล ก็ชวนเด็กหาสาเหตุว่าเพราะอะไร วิธีแก้ อันนี้ก็เป็น Problem based Learning ได้นะ มีเด็กแชร์ว่าต้องใส่ปุ๋ยเร่งดอก เดี๋ยวพรุ่งนี้เขาเอามาให้ พอใส่ปรากฎว่าดอกขึ้น หรือเจอปัญหาแมลงมากิน เด็กก็แชร์ว่า เห็นยายเอาเปลือกไข่มาใส่กันแมลง ก็ลองเอามาใส่ได้ผล บางครั้งความคิดดีๆ ก็มาจากเด็กได้เหมือนกัน
เห็นเฟซบุ๊กของครูนกยูงลงโพสต์การสอนบ่อยๆ โพสต์ล่าสุดจะเป็นการสอนเรื่องดับไฟ อยากรู้ว่าที่มามาจากอะไร
เราเห็นข่าวไฟไหม้โรงงาน และไปเห็นโพสต์ของเพจอินสคูล (InsKru) ชวนครูมาแชร์ว่า จากเหตุการณ์นี้ครูจะสอนอะไรเด็กได้บ้าง เลยนั่งวางแผนทำ Mind Map ใช้เวลา 1 คืน โล๊ะหน่วยปัจจุบันที่สอนทิ้งไป ตอนนั้นกำลังทำเรื่องข้าวเพราะช่วงนี้เป็นช่วงทำนา
วันแรกวางว่าจะสอนเด็กเรื่อง Sign สัญญาณของการเกิดไฟไหม้มีอะไรบ้าง เช่น กลิ่น ควัน แล้วจะหนียังไง ต้องไปประตูสีเขียวที่มีรูปคนวิ่ง ออกมาจากที่เกิดเหตุได้ต้องโทรแจ้งใคร ส่วนวันที่สองก็จำลองสถานการณ์จริง จุดไฟในกะละมังในห้องเรียน ให้เด็กได้ลองลงมือดับไฟ เราใช้น้ำมันจุดไฟต้องใช้ทรายดับ ใช้น้ำดับไม่ได้ แต่เสียดายว่าเกิดสถานการณ์โควิด-19 โรงเรียนต้องหยุดเรียน เลยพักกิจกรรมวันสุดท้ายไป
รีแอคชันของนักเรียนจากกิจกรรมนี้
ตอนที่ดับไฟได้มีเด็กพูดว่า ‘ดับไฟได้แล้ว ไม่ตายแล้ว’ (หัวเราะ) สถานการณ์ตอนนั้นน่ากลัวจริง ไฟไหม้สูง ควันเยอะ ยืนคุยกับเด็กหน้าห้องว่าจะเข้าไปดีไหม เด็กบอกว่าคงต้องเข้าแหละ ถ้าไม่เข้าไปไฟจะไหม้ลาม (หัวเราะ) แต่เด็กก็ชอบกันนะ เขาได้เรียนรู้จากของจริง ไฟจริง ทุกอย่างจริง เอาไปเล่าให้พ่อแม่ที่บ้านฟังได้
ในโพสต์ครูนกยูงบอกว่ากิจกรรมนี้เป็นการเรียนแบบ Phenomenon Based Learning (การเรียนโดยใช้ปรากฎการณ์เป็นฐาน) เป็นนวัตกรรมการเรียนที่มาใหม่ตอนนี้ อยากให้ครูนกยูงช่วยอธิบายได้ไหมว่ามันคืออะไร วิธีออกแบบการเรียนรู้
สำหรับเรา Phenomenon เป็นอะไรที่เกิดขึ้นฉับพลัน ทันด่วน เป็นการช่วงชิงช่วงเวลาที่เกิดปรากฎการณ์นั้น อาจจะเป็นปรากฎการณ์เล็กๆ ก็ได้ เช่นอันนี้ที่เราคิดว่าเป็น Phenomenon ตรงมีช่วงหนึ่งเด็กในห้องชอบไดโนเสาร์มาก ท่องชื่อไดโนเสาร์กันใหญ่ เราเลยหยิบเรื่องนี้เข้าไปในหน่วยการเรียนรู้ ทำให้เด็กอยากเรียน ไม่จำเป็นต้องเป็นปรากฎการณ์ใหญ่ๆ อย่างเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้วก็เป็น Phenomenon แบบหนึ่ง
แต่ข้อเสียของการเรียนแบบนี้ คือ บางปรากฎการร์มันเกิดช่วงสั้นมากๆ ครูต้องแอคทีฟมาก ค่อนข้างเหนื่อย เหมือนเป็นการเล่นกับกระแส อยู่ที่ว่าเราจะจับทันไหม หรือถ้ากระแสแรกเราจับมาสอนไม่ทัน สักพักเกิดกระแสที่สองเราดึงมาสอนและย้อนไปกระแสแรกก็ได้
ส่วนข้อดี คือ เด็กได้เชื่อมโยงกับสิ่งที่ในบางครั้งอาจจะดูไกลตัวเขา ถ้าเรายกเรื่องนี้มาเป็นธีมในการเรียน เขาก็จะรู้สึกว่ามันใกล้ตัวกว่าที่คิด เรียนรู้จากมันได้ หรือต่อให้เป็นเรื่องไกลตัวจริงๆ เป็นปรากฎการณ์ระดับโลก อย่างดาวหาง เราก็รู้สึกว่ามันเกี่ยวข้องกับเด็กไม่มากก็น้อย อยู่ที่การหยิบของครูว่าจะหยิบมุมไหนมาเล่น ถ้าเป็นในระดับเด็กโตเราว่า นี่ก็เป็นวิธีสตาร์ทบทสนทนาที่ดี เช่น หยิบกระแสแฮชแท็กในทวิตเตอร์มาคุยกับเด็ก เราว่าน่าสนุกนะ เด็กจะรู้สึกว่าครูกับเขาใกล้กัน (touching) ครูก็เล่นทวิตเตอร์หรือสนใจเรื่องเดียวกันกับเขา เกิดการคอนเนคบางอย่าง
การเลือกเรื่องมาสอนหรือคุยกับเด็กปฐมวัย ครูนกยูงมีวิธีเลือกอย่างไร
เราว่าเลือกได้ทุกเรื่อง อยู่ที่ว่าคนสอนจะหยิบแง่ไหนขึ้นมา อย่างเหตุการณ์ไฟไหม้ เราอยากชวนคุยเรื่องปัญหาผังเมือง แต่เผอิญเด็กเราเป็นเด็กเล็ก ยังไม่เข้าใจ (หัวเราะ) ในระดับความเข้าใจเขา คือ ถ้าบ้านเขาอยู่ใกล้โรงงานแบบนี้ต้องระวังตัว ซ้อมอพยพ รู้เบอร์ฉุกเฉิน คุยได้ในระดับหนึ่ง
ประเด็นการเมืองละ เราชวนเด็กคุยได้ไหม?
ได้นะ ในแง่เรื่องที่มีผลกระทบกับเขา เช่น พระราชบัญญัติการศึกษา เรื่องนี้คุยได้เลย เพราะมันเกี่ยวกับเขาเต็มๆ เรื่องทรงผม หรือคำขวัญวันเด็ก เคยชวนเด็กคุยเรื่องนี้ ปฏิกริยาเขาทำเราเซอร์ไพรส์อยู่นะ แต่อาจจะมาจากการตีความเราด้วยส่วนหนึ่ง คือ เด็กบอกว่าเขาได้ยินคำพวกนี้ (คำที่ใช้ในคำขวัญ) มาตั้งนานละ แต่ผู้ใหญ่บางคนยังทำไม่ได้เลย
เราเคยสอนเรื่องกฎจราจร นั่งมอเตอร์ไซค์ห้ามซ้อนสาม ตอนเย็นมีคุณยายมารับเด็กกับพี่ ถ้าเขาขึ้นมันจะกลายเป็นซ้อนสาม เขาก็ขัดแย้งกับตัวเองว่าควรขึ้นรถกับยายไหม หรือเดินกลับ เราก็ใช้คำพูดปลายเปิดให้เขาคิดเองว่า สิ่งที่ทำอยู่ผิดหรือไม่ แต่กฎหมายบอกแบบนี้ สุดท้ายเขาก็ต้องขึ้นนะ แต่เรารู้สึกว่าได้หย่อนเมล็ดพันธุ์บางอย่างไว้
ฝากบอกครูปฐมวัยคนอื่นๆ ว่าอย่าไปคาดหวังผลลัพธ์เด็กให้ปัจจุบันทันด่วน บางอย่างคือการรอ รอให้เด็กเข้าใจบางอย่าง สะสมประสบการณ์ชีวิต เป็นเชื้อเพลิงสนับสนุนเขา ไม่ต้องคาดหวังว่าเด็กต้องทำได้ ร้อยพ่อพันธุ์แม่ ประสบการณ์ที่เจอคนละแบบ
นอกจากเรื่องที่อยากสอน ครูนกยูงมีลิสต์ไหมว่าเรื่องไหนที่ไม่อยากสอนเด็ก
อันดับแรก เราจะไม่สอนทำแผนผังครอบครัวเลย ไม่ไปยัดค่านิยมครอบครัวที่ดีเป็นแบบไหน เพราะครอบครัวทุกคนเป็นครอบครัวที่ดีหมด จะเป็นแบบไหนก็แล้วแต่ การไปสอนค่านิยมครอบครัวที่ดีเป็นแบบนี้แค่แบบเดียว ทำให้เด็กที่ครอบครัวไม่ fit it กับค่านิยมนั้น อาจรู้สึกเป็นปมด้อยที่กดตัวเองไว้ เราเลยตั้งใจที่จะไม่ส่งต่อเรื่องพวกนี้
ไม่สอนว่าสีฟ้าของเด็กผู้ชาย สีชมพูของเด็กผู้หญิง ใครชอบสีไหนหยิบเลย เราเกลียดมากเวลาครูห้องอื่นทักเด็กเราว่า เป็นเด็กผู้ชายทำไมหยิบสีชมพู? ก็เพราะมันสวยไง หรือเราเคยไปอยู่เวรเป็นครูห้องสหกรณ์ มีเด็กผู้ชายมาซื้อตุ๊กตาบาร์บี้ มีครูไปทักเด็กว่าเบี่ยงเบนเหรอ เราก็แบบ…ซื้อตุ๊กตาบาร์บี้! (เสียงสูง) เบี่ยงเบนอะไร? ตุ๊กตาไม่ใช่ของจำกัดไว้สำหรับเด็กผู้หญิง อยากเล่นก็เล่นเลย บางทีเด็กผู้ชายเล่นตุ๊กตาก็เอามาเป็นสายลับ หรือซื้อตุ๊กตาบาร์บี้มาตัดผมสั้นเป็นสายลับทหาร หรือผู้ชายต้องผมสั้น ผู้หญิงต้องผมยาว จะทรงผมอะไรก็แล้วแต่เธอ รวมถึงไม่สอนว่าโลกนี้มีคนแค่สองเพศ ผู้ชายต้องเป็นแบบนี้ ผู้หญิงแบบนี้ จะนิยามว่าตัวเองเป็นอะไรก็เชิญเลยแล้วค่อยมาบอกเรา ไม่บอกก็ได้แต่ขอให้รักตัวเองในทุกเวอร์ชันที่เป็น
ไม่สอนว่าเป็นอะไรก็ได้ขอแค่เป็นคนดี เพราะทุกคนเป็นคนดีอยู่แล้ว ที่เหลือจะเป็นอะไรก็เป็นเลย หรือเวลาเด็กร้องไห้ เราจะไม่บอกว่า หยุด! อย่าร้อง ร้องได้เลย ออกไปร้องไห้ให้พอ พร้อมแล้วค่อยกลับเข้ามาเรียนกันต่อ เพราะเวลาคนอยากร้องไห้ใครจะไปห้ามได้ จริงไหม? ขนาดผู้ใหญ่เองยังห้ามไม่ได้เลย
ฟีดแบคของผู้ปกครองต่อห้องเรียนครูนกยูง
แปลก…ผู้ปกครองบางคนไม่ค่อยชอบเพราะว่าลูกอ่านหนังสือไม่ออก เขาชอบแบบอ่านหนังสือออก ให้มีการบ้านเยอะๆ แต่มีบางคนที่มาขอบคุณเราเพราะว่าลูกเขาไม่ร้องไห้เวลามาเรียน เขารู้สึกไม่ยากกับการขุดลูกไปเรียน ลูกช่วยเหลือตัวเองได้ มีผู้ปกครองไม่กี่คนหรอกที่คาดหวังให้ลูกอ่านหนังสือได้ เพราะพอเขาเห็นลูกทำอะไรได้บ้าง ก็โอเค ลดความคาดหวังลง บางคนก็พาลูกไปเสริมข้างนอกเอา หรือสอนเอง
ถามว่าเด็กวัยนี้รู้จักตัวอักษรไหม รู้นะ แต่คงไม่ใช่แบบนั่งสะกดกอ – อา – กา เขาจะรู้รูปนี้ คือ กอไก่ ถ้ามีสระอาอยู่ด้วยกันอ่านว่า กา แต่ยังไม่ถึงขั้นแจกคำได้ อ่านคำที่มีภาพกำกับได้ เวลามีเล่นเกมจับคู่คำเขาจะทำได้ เราจะอธิบายให้ผู้ปกครองฟังว่า มันยังไม่ถึงเวลา ถ้าเราไปบังคับเด็กกดดัน ครูก็กดดัน เขาก็ไม่อยากมาโรงเรียน แบบนั้นผู้ปกครองอยากได้ไหม เราทำให้ได้นะ ผู้ปกครองก็ไม่เอา เราก็สอนแต่สอนในแบบของเรา อาจไม่เหมือนที่ผู้ปกครองเจอ แต่ปลายทางเด็กรู้หนังสือเหมือนกัน
เคยเจอผู้ปกครองบอกลูกว่า อย่าไปฟังที่ครูสอนเยอะ เหมือนเขาจะขัดแย้งกับลูกเพราะเรื่องสวมหมวกกันน็อคที่เราสอน ผู้ปกครองอาจจะกลัวสูญเสียอำนาจปกครองมั้ง เลยตัดบทบอกว่าอย่าไปฟังที่โรงเรียนสอน เราก็บอกเด็กว่าเดี๋ยวโตขึ้นจะเข้าใจ เพราะถ้าเสี่ยงให้เด็กวัยนี้ไปถกเถียงกับพ่อแม่ ก็อาจเสี่ยงเจอความรุนแรง เราไม่อยากให้เดินไปถึงจุดนั้น ประนีประนอมไปก่อน กลัวพ่อตีลูก (หัวเราะ)
เท่าที่ฟังครูนกยูง รู้สึกว่าเป็นคนมั่นใจในตัวเอง กล้าที่จะพูด หรือทำสิ่งที่คิดว่าดี คาแรกเตอร์แบบนี้ได้มายังไง
เรามาจากครอบครัวที่ไม่เคยบังคับเรา ใช้เหตุผลคุยกันตลอด ตั้งแต่เด็กปะป๊าหม่าม้าไม่เคยใช้วิธีขู่เรา ‘อย่าดื้อนะ เดี๋ยวผีมาจับ’ ใช้เหตุผลคุยกันตลอด ไม่กดดันเราจนเกินไป ยอมรับเราในทุกๆ จุด ส่งเราไปเจอประสบการณ์ใหม่ๆ ไม่กักขังในกรอบเดิมๆ มันก็เลยหล่อหลอมเป็นตัวเรา อีกอย่าง คือ เพื่อน รุ่นพี่ อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยก็เปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นเราตลอด
เคยคุยกับครูคนหนึ่ง เขาพาลูกมาโรงเรียน พูดกับลูกว่าถ้าซื้อขนมอีกตำรวจจะจับ เราก็บอกว่าตำรวจไม่จับใครเพราะซื้อขนมหรอก อย่าไปหลอกลูกแบบนั้นเลย ก็มีครูอีกคนพูดขึ้นมาว่า พี่โตมากับคำขู่ของพ่อแม่แบบนี้ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย เราก็นั่งคิดว่า…ถ้าโตมาแล้วเป็นคนแบบเธอไม่เอาด้วยหรอก (หัวเราะ)
เรารู้สึกว่า การคุยกับเด็กมันสามารถใช้เหตุผลได้ เคยมีเด็กคนหนึ่งชอบแกล้งเพื่อน ความเป็นเด็กอะนะไม่มีเหตุผลในการแกล้ง อยากแกล้งเลยดึงผมเพื่อน เราก็ถามว่าถ้าเขาโดนแบบนี้บ้างละ ถ้าครูทำบ้างจะชอบไหม แล้วทำท่าจะดึงผมเขา เขาก็ตอบไม่ชอบ โอเค ไม่ทำละ เรารู้สึกว่าการคุยกับเด็กมันใช้เหตุผลได้ ไม่ใช่ไปขู่ๆ เพราะสุดท้ายเด็กก็รู้อยู่ดี
ครูเปรี้ยว มั่นใจในตัวเองขนาดนี้ เด็กๆ ได้รับการถ่ายทอดวิทยายุทธนี้ด้วยไหม
เด็กก็เป็นนะ แต่เสียใจว่าพอเขาเลื่อนชั้นไปเจอครูคนอื่น เหมือนเด็กเราไปฟีดแบคการสอนกับครูป.1 แล้วครูมาบอกว่าเด็กพูดกับเขาแย่มาก เด็กพูดว่า ‘ทำไมให้เขียนอีกแล้ว’ ‘ทำไมให้ทำแต่แบบนี้’ ครูพูดประมาณว่า เด็กทำไมกล้าเถียงเขา นี่ผู้เรียนกำลังฟีดแบคทำไมครูไม่ฟัง ถ้าสอนเด็กแล้วเขาไม่รู้เรื่องก็ควรปรับปรุงการสอนไหม?
ถ้าเด็กเดินมาบอกเราว่าไม่อยากทำ เราก็จะแบบ อะ..งั้นไปทำอย่างอื่นกัน เพราะเด็กไม่อยากทำ หรือไม่ก็มาคุยกันว่าทำไมไม่อยากทำ แล้วอยากทำอะไรแทน
ครูนกยูงโตมากับครูหลายแบบ ทั้งแบบครูรุ่นคุณตาคุณยาย ครูรุ่นพ่อแม่ แล้วก็ครูแบบครูนกยูง มันมีความขัดแย้งหรือความแตกต่างเกิดขึ้นไหม
แม่เราเป็นครูที่เขาเรียกว่าครูปกครอง ‘เอาเสื้อใส่ในกางเกง!’ ‘ผูกเชือกรองเท้า!’ ถ้าแม่มารับที่โรงเรียนห้ามเอาเสื้ออกนอกกระโปรงเลย ต้องติดกระดุมถึงคอกลัวโดนแม่ด่า (หัวเราะ) แต่ปัจจุบันเขาตามข่าวก็ปรับตัวได้ เราก็คิดว่าถ้าแม่เราปรับตัวได้ คนอื่นก็คงปรับได้ แต่ก็ยังไม่เห็นคนอื่นเขาปรับเลย (หัวเราะ)
เรามีความรู้สึกว่า พ่อแม่ก็อยากเป็นครูแบบเราแต่ทำไม่ได้ เขาให้เหตุผลว่าบริบทสังคม ณ เวลานั้นไม่เหมือนวันนี้ ตอนนี้เด็กลุกขึ้นมาไม่ยอมถูกกดขี่แล้ว แต่เด็กสมัยนั้นยังกลัวอยู่เลย ครูใหม่ๆ ก็กลัว แม่เรายิ่งโดนหนักเพราะบรรจุในโรงเรียนที่คุณยายเป็นครูอาวุโสอยู่ น้องชายคุณยายคือคุณตาก็เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ทำให้แม่เราที่เป็นครูบรรจุใหม่ยิ่งขยับตัวไม่ได้ เพราะทุกคนจับตามอง ส่วนคุณพ่อก็เป็นครูที่…ไปสร้างโลกของตัวเองในโรงช่าง ไม่ออกมาเจอใคร ทุกคนจะได้เจออีกทีตอนกลับบ้าน มีความสุขในนั้น
ครูรุ่นใหม่หลายคนที่มาพร้อมกับพลังอยากเปลี่ยนระบบ แต่สุดท้ายก็อาจถูกระบบกลืน เรากลัวตัวเองเจอแบบนั้นไหม?
กลัวตัวเองเบื่อจนไม่ทำอะไรเลย กลัวว่าวันหนึ่งเราจะเหนื่อยจนขี้เกียจพูดอะไรแล้ว ส่วนหนึ่งของคนที่โดนระบบกลืนเพราะเหนื่อยจะพูดแล้ว ก็พยายามอ่านเฟซบุ๊กของครูทิว (ว่าที่เรือตรีธนวรรธน์ สุวรรณปาล)ไม่ก็อ่านการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนเลว เพื่อนครูคนอื่นๆ จุดไฟไม่ให้ตัวเองเบื่อ (หัวเราะ)
ชีวิตครูนกยูงตอนนี้ถ้าเปรียบกับหนังสือคิดว่าอยู่บทไหน
เราสอนปีนี้เป็นปีที่ 3 คงเป็นหน้าหนึ่ง หรือสารบัญ อะ…บทนำก็ได้ละมั้ง! (หัวเราะ) เราคิดว่ายังต้องเจออะไรอีกเยอะ ดูจากพ่อแม่ตัวเองและถ้ายังไม่ชิงลาออกไปก่อนด้วยนะ
ตอนแรกเรามาเป็นครูด้วยอีโก้ที่เยอะมาก (เน้นเสียง) แต่เพิ่งมาตกตะกอนได้ว่าแบกไปก็หนัก อะ…วางก็ได้ว่ะ ตัวเราตกตะกอนอะไรได้ในแต่ละวัน แล้วที่สอนยังไม่ได้ดีมาก ยังต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ อยากเป็นหนังสือที่เริ่มอ่านใหม่ได้เรื่อยๆ แล้วได้มุมใหม่ๆ จากการอ่าน