- “เอหิปัสสิโก” (Come and See) ภาพยนตร์สารคดีเล่าเรื่องวัดพระธรรมกายในช่วงที่เจ้าอาวาสวัดมีส่วนในคดีฟอกเงิน โดยหนังวางตัวเป็นกลางสะท้อนความสัมพันธ์ของ ศรัทธา ความเชื่อ และอำนาจรัฐ
- “เอหิปัสสิโก” เป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของ ไก่ ณฐพล บุญประกอบ ด้าน Social Documentary Film จาก School of Visual Arts เมืองนิวยอร์ก ที่เขาใช้ความผิดหวังจากการสอนของโรงเรียน ผลักตัวเองออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียนและนอกบ่อน้ำที่คุ้นเคย
- เขาหอบความคิดและมุมมองใหม่จากอีกซีกโลก กลับบ้านมาสร้างการเรียนรู้ผ่านเครื่องมือสื่อสารที่ชื่อว่า “หนังสารคดี” และใช้กระบวนการของการทำหนังสารคดีมาสร้างทักษะให้น้องๆ นักทำหนังรุ่นใหม่ และสร้างความเป็นไปได้ใหม่ของวงการสารคดีไทย ทั้งในบทบาทผู้กำกับและอาจารย์วิชา Documentary Production
หลายคนอาจคุ้นชื่อ ไก่ ณฐพล บุญประกอบ จากผลงานกำกับภาพยนตร์สารคดี 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว ที่เล่าถึงโครงการก้าวคนละก้าวของตูน บอดี้แสลม โครงการวิ่งจากอำเภอเบตง จังหวัดยะลา สู่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อระดุมทุนให้โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ หลังจบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไก่โลดแล่นอยู่ในวงการภาพยนตร์และโฆษณา ทั้งเขียนบท กำกับ และปรากฏตัวบนจอบ้าง ถ้าคุณรู้สึกคุณหน้าก็อาจจะใช่เขา .. เอ๊ะ หรือไม่ใช่ คุณต้อง Come and See เอง
และ ใช่ เรากำลังจะตัดเข้าผลงานชิ้นต่อไปของเขาที่กำลังทำให้วงการภาพยนตร์สารคดีไทยคึกคักอยู่ในขณะนี้ ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Come and See หรือชื่อไทยว่า เอหิปัสสิโก เล่าเรื่องวัดพระธรรมกายและเหตุการณ์ในช่วงที่วัดโดนคดี หนังวางตัวเป็นสื่อกลางสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อ กฎหมาย อำนาจรัฐ และสิ่งที่คุณต้อง Come and See ด้วยตัวเอง ตามชื่อหนัง
งานชิ้นนี้เป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ที่เขาหอบความตั้งใจข้ามฟ้าข้ามทะเลไปเรียนปริญญาโทด้าน Social Documentary Film ไกลถึงนิวยอร์ก
“วันรับปริญญาหนังสือที่อ่านในฮอลล์รับปริญญาคือชื่อ Introduction to Documentary แล้วเป็นหนังสือเล่มนี้ที่เปิดโลกสารคดีในวันรับปริญญา”
เจ้าตัวต่อท้ายประโยคว่าพูดแบบนี้อาจจะดูไม่แฟร์กับโรงเรียน แต่เราว่านี่เป็นความตรงไปตรงมากับสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ การไปเรียนปริญญาโทอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการเรียนรู้ให้ลึกขึ้นสำหรับทุกคน และการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในห้องเรียน แต่การพาตัวเองไปเจอดินแดนใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ ก็ไม่เคยทำให้ใครขาดทุน
เช่นเดียวกันกับเขา ที่สุดท้ายแล้วความผิดหวังจากการสอนของโรงเรียน ทำให้เขาพยายามทำงานหนักขึ้น ออกไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียน เรียนรู้จากประสบการณ์จริง และหอบเอามุมมองใหม่ๆ จากอีกฟากโลกกลับบ้าน
เราชวนเขามาคุยถึงสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการเรียนและทำหนังสารคดี และการใช้หนังสารคดีเป็นเครื่องมือชวนคนอื่นเรียนรู้ และชวนคนดูตั้งคำถามกับความจริง
บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ก็ผ่านการตัดต่อ เราสัมภาษณ์มาจริง แต่มันจะจริงแค่ไหน ขอให้คนอ่านได้พิสูจน์เอง … Come and Read
ทำไมถึงเลือกมาทำสายหนังสารคดี
เราเรียนภาพยนตร์ จบมาก็ทำงานวงการบันเทิง ทำหนัง เขียนบท กำกับ ตัดต่อ วิดิโอ MV โฆษณา เป็นงานที่โฟกัสความบันเทิงเป็นหลัก แต่เราเป็นคนอินกับงานสายสังคม ตอนเรียนมหาลัยเราไปออกค่ายอาสา ได้เห็นว่าเราอยู่ตรงไหนของสังคม ไปเจอที่ที่เราไม่เคยเจอ ไปนอนบ้านชาวบ้าน ไปเจอสภาพแวดล้อมที่ต่างจากบ้านเรามาก แล้วก็ชอบ พอได้ทำงานบันเทิงขาหนึ่งเราก็ทำงานกับพี่ที่ทำ NGO เราก็ใช้สกิลการทำวิดิโอไปสื่อสารเรื่องพวกนี้คู่กันมาตลอด จนกระทั่งช่วงน้ำท่วมปี 54 พี่ๆ ที่นิเทศจุฬาฯ รวมตัวกันทำอนิเมชั่นปลาวาฬ รู้ สู้! Flood เพื่อลดการฝังข้อมูลและให้คนเข้าใจสถานการณ์ ตอนแรกคิดว่าจะทำงานให้คนที่บ้านดูก็พอ ปรากฏว่าฟีดแบก (feedback) ดีมาก มากจนเราเห็นพลังของงานที่เราทำได้ เห็นเวทีของการทำหนังที่สื่อสารข้อมูลที่ผ่านการเรียบเรียงมาแล้ว เพราะสิ่งที่เราทำมันไม่ใช่การ generate (สร้าง) ข้อมูลอะไรใหม่เลย มันเป็นแค่การเรียบเรียงและเล่าออกมา พอเราเห็นสิ่งนี้ในงานที่เราทำที่ไม่ใช่แค่เพื่อความบันเทิงอย่างเดียว ก็ทดไว้ในใจมาตลอด จนกระทั่งหลังๆ เริ่มดูสารคดีมากขึ้น เริ่มรู้สึกอยากเข้าใจมัน อย่าง Fiction เราพอรู้ว่าโครงสร้างมันเป็นยังไง วางแผนยังไง แต่สารคดีนี่ไม่รู้เลย มันแปลกมากมันซับซ้อน มันงง เรารู้สึกว่าอยากทะลุขีดตัวเองไปในทางใดทางหนึ่ง เลยตัดสินใจไปเรียนต่อ แต่ก็ เอ๊ะ.. เรียนกำกับหนังมันจะได้หรอ ไม่ได้ชอบขนาดนั้น เรียนถ่ายหนังก็ไม่ได้ชอบขนาดนั้น จนมาคิดกับตัวเองว่าทำไมไม่เรียนดอค (documentary) ก็เลยไปเรียน
เราอยากจัดการเรียบเรียงข้อมูลที่มันมีอยู่แล้วในสังคม เราไม่ได้ต้องการจะสร้างสิ่งใหม่หรือสร้างโลกในจินตนาการของเราขึ้นมาอีกโลกหนึ่งเพื่อสะท้อนอะไร พูดแบบนี้เดี๋ยวจะดูเหมือนเป็นการลดค่าหนังแบบอื่นๆ แต่จริงๆ เราคิดว่ามันเป็นเพราะเราไม่ถนัดเท่านั้นเอง เราถนัดงานมีโจทย์ ถนัดงาน mv มีเพลง มีโจทย์ให้ตีความ มีเนื้อหาให้เรามาเรียบเรียง ก็ค่อยๆ เรียนรู้หลังจากทำงานมาเรื่อยๆ ว่าเราถนัดอะไรไม่ถนัดอะไร ชอบอะไรไม่ชอบอะไร นี่ก็เป็น documentary ประมาณนั้น
พอไปเรียนแล้วได้รู้จักสารคดีเพิ่มขึ้นยังไงบ้าง
วิชาที่ชอบที่สุดคือ Process and Style คือเอาคนทำสารคดีมาฉายหนังแล้วก็มาคุยถามตอบ เพราะว่าการเรียน 2 ปีที่นั่นมันเป็น Project-based มันคือการแลกเปลี่ยนงานที่ทำกับเพื่อนแล้วอาจารย์คอมเมนท์ เพราะสารคดีมันไม่มีฟอร์แมทตายตัวที่จะสามารถ 1 2 3 4 ได้ มันเรียนจากประสบการณ์ จากข้อผิดพลาด จากข้อจำกัด จากคนอื่น เรียนว่าคนนู้นแก้ปัญหายังไง ประสบการณ์ของคนอื่นเป็นยังไง เราควรจะป้องกันยังไง เราควรจะหาทางหนีทีไล่ยังไง การเปลี่ยนแปลงหน้างานหรือโจทย์ที่เราได้รับยังไง คือการได้เห็นเลยว่าคนทำหนังเขาทำแบบนี้ได้ เราเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในขณะที่บางวิชาอย่าง Directing มันคือดูงานเพื่อน ดูงานตัวเองแก้ยังไง อาจารย์ก็มาสอนๆ ชี้ๆ วนๆ ซึ่งเรามองว่ามันไม่ได้อะไรเท่าไหร่ มันก็ได้ตามความพยายามของแต่ละคน
พูดได้ไหมว่า ส่วนที่ทำให้หนังสารคดีแตกต่างจากหนังประเภทอื่น คือความเป็นเรื่องจริง
เราจะชอบอธิบายว่า พอเราเขียนมาเป็นสมการ “สารคดี = เรื่องจริง” เครื่องหมายเท่ากับ (=) มันลดทอนความซับซ้อนในความสัมพันธ์ระหว่างสองคำนี้ไปเยอะมาก เพราะจริงๆ แล้วกว่าจะเป็นเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่ถูกนำเสนอให้เราดู ผู้กำกับต้องเลือกซับเจกต์ (Subject) เลือกวันฉาย เลือกมุมกล้อง เลือกเลนส์ที่ใช้ เลือกมุมที่ถ่าย เลือกฟุตเทจ (footage) ที่ตัดต่อ เลือกคำสัมภาษณ์ เลือกเพลง เลือกสถานที่ฉาย เลือกชื่อหนัง เลือกคาแรกเตอร์ การเลือกสี่ล้านห้าแสนครั้ง เรายอมรับมันได้ไหมที่จะเรียกว่า จริง ความจริงมัน elusive มันลื่นไหล มันเปลี่ยนแปลง สุดท้ายคนดูต้องยอมรับความเสี่ยงในสิ่งที่ตัวเองกำลังจะเชื่อ ซึ่งสารคดีเป็นแค่เลเวล (level) หนึ่งในการแปะป้ายว่าสิ่งนี้คือสารคดี ซึ่งมันจะจริงหรือไม่จริงก็แล้วแต่ว่าคนดูจะเปิดใจรับมันหรือเลือกเชื่อมันมากน้อยแค่ไหน
ความจริงในสารคดี (หรือในสื่อ) คืออะไร
มันเป็นความเสี่ยง ดูข่าวแล้วเราเชื่อ มันก็เป็นความเสี่ยง เพราะถ้าข่าวมี Agenda ของตัวเอง มีการเลือกบางอย่างเขาก็มีการไม่เลือกบางอย่าง ความเสี่ยงนั้นตกอยู่ที่คนดู เพราะว่าคนดูจะไม่รับรู้เรื่องที่มันเกิดขึ้นจริงๆ หลังกล้องหรือเรื่องที่อยู่เบื้องหลังต่างๆ สุดท้ายคำว่าความจริงกับสารคดีมันเป็นแค่การแปะป้ายเพื่อ หนึ่ง คือสื่อสารว่าเรากำลังดูอะไรอยู่ เรากำลังทำอะไร พูดถึงอะไรอยู่ เหมือนเราไปร้านขายดีวีดี แล้วไปถามว่าชั้น Documentary อยู่ไหน เราจะได้เดินไปหยิบหนังที่เราจะดูถูกยี่ห้อ มันเป็นแค่คำ นี่คือฟังก์ชั่นนึง สอง มันเป็นการเคลมอำนาจที่มีต่อคนดู พอพูดว่านี่คือสารคดี คนจะเชื่อไปแล้วครึ่งหนึ่ง ทั้งที่จริงๆ แล้วเราเลือกช้อยส์ไปสี่ล้านห้าแสนครั้งตอนทำ กว่าที่เรื่องๆ หนึ่งจะออกมาเป็น format ที่เรียกว่าสารคดีมันถูก shape ไปแบบไหนบ้าง สิ่งที่ให้มองคือย้อนมาที่สมการแรกว่า สารคดี = เรื่องจริง คำว่าเรื่องจริงมันมีอำนาจมาก เพราะว่าเรื่องจริงเราต้องเชื่อสิห้ามตั้งคำถาม แต่แท้จริงแล้วสองคำนี้มันมี layer เยอะมาก แต่ก็ไม่ได้บอกว่าไม่จริงนะ มันไม่มีคำตอบ
สารคดีเป็นเรื่องจริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่ว่าไม่ใช่เรื่องแต่ง
ก็ได้ ถ้าเราบอกว่ามันไม่เป็นอะไรบ้าง มันอาจทำให้เห็นเค้าโครง แต่เราก็ pin down มันไม่ได้อยู่ดี มันไม่ได้เป็นเรื่องจินตนาการจะบอกแค่นี้ก็ได้ สุดท้ายแล้วปัญหามันอยู่ที่คำ มันอยู่ที่ภาษา ซึ่งมันเป็นเครื่องมือที่เราใช้สื่อสารกันนี่แหละที่เราไปยึดติดกับมันไง
ถ้าเราไม่มีคำนิยามว่าสิ่งๆ นี้คืออะไร แล้วจะทำให้คนเข้าใจสิ่งนี้เหมือนกันได้ยังไง
เราไม่ได้บอกว่าภาษาต้องเอาออกไป หรือมันเป็นตัวปัญหา มันมีประโยชน์มหาศาลอยู่แล้วแหละ มีการคิดนู้นนี้นั้น การสื่อสารทำให้สังคมเกิดขึ้น บลาๆ แต่ขณะเดียวกันต้องมองให้ออกด้วยว่ากับดักของมันคืออะไร ข้อจำกัดของมันคืออะไร เครื่องมือทุกอย่างมีข้อจำกัด ภาษาเป็นเครื่องมือก็ย่อมมีข้อจำกัด
แล้วข้อจำกัดของสารคดีคืออะไร
คนไม่ค่อยดู เพราะว่ามีภาพจำ ตัวฟอร์แมตเองมันไม่ได้มีปัญหาและไม่ได้มีข้อจำกัด แต่ว่าข้อจำกัดเกิดจากบริบทที่ medium นั้นไปอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เราคิดว่าสารคดีมีภาพในหัว เป็นลุงมานั่งเครียดๆ ให้ความรู้ ก็ไม่ผิดแต่มันจะจำกัดไปหรือเปล่าถ้าเรามีภาพๆ เดียวในหัว ทั้งที่จริงแล้วมันมีความเป็นไปได้อื่นๆ เยอะมาก อันนี้เป็นข้อจำกัดที่เราเจอ
ในทางตรงกันข้าม จุดแข็งของเครื่องมือนี้คืออะไร
ยี่ห้อที่คนเชื่อไปแล้วครึ่งหนึ่ง
เราต้องแยกข้อดีของสารคดีอย่างที่บอก คือคนเชื่อไปแล้วครึ่งหนึ่งสุดท้ายมันจะวกไปที่ media literacy
คุณไม่ได้ใช้สารคดีแค่สื่อสารความจริง แต่ใช้มันกระตุ้นคนดูให้ตั้งคำถามถึงความจริง?
อยู่ที่วิธีเล่าด้วย ต้องพูดเป็นเคสไป มันมีสองเลเยอร์ เลเยอร์แรกมันทำให้คนดูเกิดการตั้งคำถามต่อซับเจกต์ที่เราจะเล่า เช่น คลองแสนแสบน้ำเน่าจัง คนดูจบ เออน้ำมันเน่าจริง สองเกิดการตั้งคำถามต่อตัวสื่อเองว่าสารคดีนี้มันน่าเชื่อถือใช่ไหม ซึ่งมันต่างกันจนนักวิชาการแทบจะแยกสองสิ่งนี้เป็นสองหมวดไปเลย มีสารคดีหมวดหนึ่งที่ตั้งคำถามของสารคดีเอง โชว์โครงสร้างให้เห็นว่ากว่าจะเป็นหนังที่คนดูมันมีไวยากรณ์ยังไง มันเกิดอุปสรรคการสร้างยังไง เหมือนภาพเบื้องหลังอะ
หนังสารคดีเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างการเรียนรู้ ไวยากรณ์ของเครื่องมือนี้คืออะไร
มันก็มีคนนิยามว่าสารคดีคืออะไร มันคือการเล่าเหตุการณ์ณ์ที่เกิดขึ้นในโลกเดียวกันกับเรา แน่นอนคือเราได้เรียนรู้เรื่องของคนอื่นๆ เรื่องคนใกล้ตัว คนที่อยู่ในโลกของเราที่เป็นอะไรก็ตามในสิ่งที่เขาเป็น เป็นหน้าต่างไปสู่โลกใบใหม่ที่กว้างกว่าโลกที่เป็นอยู่ ส่วนจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ มันก็แล้วแต่เรื่อง
สุดท้ายมันคือเราผลิตความเห็นอกเห็นใจ ทำให้ได้เห็นชีวิตคนอื่น เห็นปัญหา รับรู้ชีวิตที่ต่างจากเรา นั้นคือหน้าที่ที่ดีที่สุดของภาพยนต์ไม่ว่ามันจะพูดเรื่องอะไรก็ตาม
ในฐานะคนทำก็เช่นกัน การที่เราต้องมีภารกิจในการออกไปทำหนังเรื่องหนึ่ง มันต้องใช้พลังงานและเวลา มันเป็นความเข้มข้นไปปะทะกับชีวิตอื่น สิ่งแวดล้อมอื่น ผลออกมาไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม สุดท้ายมันก็กลับมาที่เรื่อง empathy อยู่ดี มันคือการหาเรื่องออกไปเจออย่างอื่นนอกจากความเข้าใจที่เราคุ้นเคย ไม่จำเป็นต้องไปแอฟฟริกา อาจจะเป็นบ้านข้างๆ ก็ได้ ห้องเรียนข้างๆ มันมองได้หลายมิติ
การเป็นคนทำหนังสารคดี เราชอบเรียกว่าบัตรเสือก เหมือนมาสัมภาษณ์ก็ถือบัตรเสือกมาถามเรา มันคือผมเป็นคนทำสารคดี แล้วสิ่งนี้เองที่ทำให้เราได้อภิสิทธิ์ไปทำความเข้าใจชีวิตคนอื่น เราได้ไปอยู่ในที่ชีวิตปกติน่าจะไม่ได้ทำ ไม่ได้เข้าใจในสิ่งนี้ ซึ่งการจะบอกว่าการสัมภาษณ์นี่ก็เหมือนกัน ท้ายที่สุด output ที่ออกมา จะเป็นหนัง จะสั้นจะยาว จะฉายในโรงไหน มันก็ทำหน้าทึ่เช่นเดียวกับบทความหรือสื่ออื่นๆ
แล้วหนังสารคดีต่างจากบทสัมภาษณ์ หรือสื่ออื่นๆ ไหม
เราว่ามันเหมือนกัน หนัง1วิกับบทความ มันแล้วแต่ว่าเราจะเรียกมันว่าอะไร สุดท้ายต้องยอมรับว่าเรามองว่างาน visual and sound สุดท้ายแล้วมันวัดไม่ได้ ถ้าจะหาวิธีเปรียบความต่าง เราว่ามันคือกาลเทศะ สารคดีมันมีกาลเทศะหมดแหละ ฟิคชั่นก็มีกาลเทศะของมัน บทความก็มีอีกแบบหนึ่ง พอสแคสต์ก็มีอีกแบบหนึ่ง เราไม่ได้มองว่าสารคดีมีพลังที่เหนือกว่า มันเป็นแค่ความถนัดที่เราทำได้ แค่นั้นเอง สุดท้ายเราไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นคนทำสารคดี มันเรียกเพราะว่ามันอาจง่าย แต่มันก็เป็นแค่เครื่องมือหนึ่งเท่านั้นเอง
แล้วนิยามตัวเองว่าอะไร
เป็นคนทำหนัง
สารคดีจะช่วยเคลื่อนความคิดคนได้ยังไง
มันก็เหมือนเราดูหนังฟิคชั่น รับสื่อ ทุกอย่างมันทำได้ ถ้ามันมีจังหวะและเวลาที่ถูกต้อง อุณหภูมิที่ถูกต้องกับเมล็ดพันธ์ที่ถูกต้องอยู่ร่วมกันต้นไม้ก็จะเติบโตได้ หนังมันจะมูฟ (move) คนได้ มันก็เกิดจาก กาลเทศะในการดู วัยวุฒิของคนดู จังหวะเวลาอารมณ์ message ที่หนังพูด จังหวะของการเรียบเรียง ความพร้อมของสถานที่ จะบอกว่าหนังหนึ่งเรื่องมันมูฟคนได้ไหม มันก็ได้และไม่ได้ มันเกี่ยวกับอุณหภูมิถูกต้องหรือเปล่า ไปดูหนังแล้วโรงหนังแอร์เสียคนไม่มูฟหรอก คนมูฟออกจากโรงแทน (ฮา)
เคลื่อนได้ยังไง ถ้าจะให้ตอบก็ตอบได้นะ แต่มันจะจำกัด เช่น สารคดีบางทีมันเดินเรื่องด้วยข้อมูล ก็มูฟด้วยข้อมูล หรือหนังบางเรื่องเป็นสัมภาษณ์ๆ บางเรื่องติดตามชีวิตคนนี้แล้วเราเห็นการขึ้นการลง เห็นชีวิตของคนนี้แล้วมันไปมูฟอะไรบางอย่างในตัวคนดู ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องของข้อมูลแต่มันเป็นเรื่องของชีวิต มูฟด้วยการเห็นชีวิตของคนอื่น แต่จริงๆ เราไม่อยากอธิบายไปแบบนั้น เพราะมันจะจำกัด
สิ่งเหล่านี้เราออกแบบไว้ก่อนไหมว่าจะมูฟอะไร แล้วเราจะเล่าเรื่องนี้ด้วยวิธีการไหน
ดีไชน์สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยน ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนเพราะว่าหนังในหัวเราตอนเรานั่งทำก่อนจะออกไปเจอเป็นอีกแบบ เราไปเจอของจริงเราก็จะรู้มากกว่าที่เรารู้ ตื่นขึ้นมาอีกวันหนึ่งเราก็จะรู้มากขึ้นไปอีก แล้วหนังมันก็จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ยึดติดกับของเดิมที่เราทำที่เราคิดมา ซึ่งแน่นอนเรารู้มากขึ้น หนังมันก็จริงขึ้น มันก็มีคลี่คลายมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปตามข้อมูลที่เพิ่มขึ้นในหัวเรา มีทั้งความเป็นไปได้ใหม่และข้อจำกัดที่เราต้องเจอมากขึ้น มีโจทย์ใหม่ให้แก้ตลอดเวลา อย่างถ่ายไปแล้วเขาไม่ให้เราถ่ายต่อเราจะเปลี่ยนยังไงได้บ้าง สุดท้ายคนนี้ตายหนังเปลี่ยนละ มันเปลี่ยนไปได้หมดเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ แต่ว่าพูดแบบนั้นมันก็จะไหลออกทะเลไป จริงๆ คนทำมันควรจะมีเฟรมในหัวตัวเองแหละว่าสิ่งที่ตัวเองสนใจในต่อซับเจกต์นี้คืออะไร
สิ่งที่ทำให้สารคดีน่าสนใจสำหรับเราคือมันควบคุมไม่ได้ มันมีข้อเท็จจริงเยอะจนควบคุมมันไม่ได้ทั้งหมด เราควบคุมกล้องเราได้ แต่เราควบคุมซับเจกต์ไม่ได้ว่าจะตัดสินใจยังไง เราควบคุมการตัดต่อได้ แต่เราไม่สามมารถควบคุมคนอื่นๆ ได้ สุดท้ายมันคือเราควบคุมพื้นที่ที่เราควบคุมได้แค่บางส่วน
นอกจากทำหนังแล้ว คุณเป็นอาจารย์สอนวิชา Documentary Production ด้วย ช่วยเล่าถึงห้องเรียนของคุณให้ฟังหน่อย
การสอนวิชานี้เขาเปิดกว้างมากเลย สอนสารคดี สอนทำสารคดี เราอยากเป็นครู แล้วยิ่งเป็นเรื่อง Documentary เรายิ่งสนใจเพราะว่า perception (การรับรู้) ที่คนไทยมีต่อ Documentary มันหนาทึบมาก มันมีภาพจำบางอย่างทั้งๆ ที่โลกสารคดีที่เรารู้จักมันแตกต่าง มันสนุกนู้นนี้นั้นมากๆ คนอื่นมีภาพจำต่อสารคดีที่แตกต่างจากที่เรารู้ เราเลยอยากจะแบ่งปันสิ่งทึ่เรารู้ด้วยวิธีการต่างๆ อย่างการจะนิยามว่าอะไรคือสารคดีมันยังนิยามไม่ได้ สไลด์แรกที่เราเปิดคือ What the f** is Documentary เพราะเราก็ไม่รู้ มันมีความเป็นไปได้หลายแบบมาก มันมีวิธีการในการแก้ปัญหาสิ่งที่จะเล่าได้เยอะมาก แล้วก็อยากให้เรียนรู้ Journey การทำหนังว่าจุดเริ่มต้นกับจุดปลายทางของหนังมันไม่ได้จะเป็นอย่างที่คิดไว้ตั้งแต่แรก นั่นคือเป้าหมายที่อยากจะเน้น
สุดท้ายอีกอย่างที่อยากจะเน้นคือมันไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่ใหญ่โตหรือเป็นเรื่องไกลตัว ทำเรื่องการทำความเข้าใจคนอื่น การทำความเข้าใจตนเองก็ได้ เราชอบคำหนึ่งของ Ramell Ross คนทำสารคดี “เมื่อคุณเข้าไปสัมผัสอะไรบางอย่างด้วยจิตใจทึ่เปิดกว้าง สิ่งที่จะได้เรียนรู้คือตัวเอง” เรารู้สึกว่าคำนี้ดี แล้วก็อีกอย่างที่อยากจะเน้นคือคนดูเป็นเจ้าของผลงาน คนทำเป็นเจ้าของ process (กระบวนการทำ) คนดู judge (ตัดสิน) หนังแบบไหนก็ได้เพราะว่าหนังเป็นของเขา หนังคือความทรงจำของเขาที่เขาได้ดู แต่คนทำเป็นเจ้าของกระบวนการทำงานทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นฟอร์แมตไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นบทความนี้ หรือหนัง หรืออาหาร อาหารเป็นของคนกิน ขั้นตอนการทำประสบการณ์ฝีมือต่างๆ เป็นของคนทำที่ได้เรียนรู้ เราอยากทำให้เด็กๆ ที่เรียนด้วยกันเข้าใจสิ่งนี้ตลอดการทำหนังออกมาสักเรื่อง มันก็เลยเป็นคลาสที่แบบว่าค่อนข้าง flexible มากพอสมควร
วิธีการที่เราใช้ เช่น งานไฟนอล เราให้คนในห้องสัมภาษณ์ใครก็ได้มาหนึ่งคนแล้วเขียนว่าอยากทำ Documentary อะไรจากคนนี้ คนที่ไม่รู้จัก ก้าวออกจากโลกตัวเอง สัมภาษณ์จากโลกที่เราไม่รู้จัก พอได้สิ่งที่เขาเขียนมา ก็ให้จับฉลาก ให้ทำเรื่องของคนอื่น แต่การทำเรื่องคนอื่นในที่นี้ก็คือไม่ต้องเอาทรีทเมนต์ที่เขาเขียนย่อๆ มาทำ คือให้ไปฟังสัมภาษณ์ที่เพื่อนสัมภาษณ์มาแล้วจับคีย์เวิร์ดอะไรก็ได้เอามาต่อเป็นหนังของตัวเอง เช่น คนหนึ่งสัมภาษณ์เรื่องเชฟทำพิซซ่า เพราะอยากทำเรื่องเชฟทำพิซซ่ามากเขียนทรีทเมนต์มา อีกคนจับฉลากได้เรื่องของคนนี้ แต่พอเขาไปฟังสัมภาษณ์ของเพื่อนแล้วไม่อินเรื่องพิซซ่าเลย แต่ดันชอบเรื่องที่เชฟมีลูกชายแฝดสาม แล้วเกิดอยากทำเรื่องเปรียบเทียบการเติบโตของเด็กแฝดสามในประเทศไทย คือสุดท้ายถ้าไม่อยากทำเรื่องที่เพื่อนเขียนมาเลยก็ได้ พ้อยท์คือเราอยากให้มีตุ๊กตาแรก การที่จะออกไปทำอะไรสักอย่างแล้วเราไม่safe ไม่รู้ สุดท้ายถ้าต้องผลิตงานออกมาจริงๆ จะต้องเป็นเรื่องที่เขาอิน ก็วกกลับมาที่เรื่องอะไรก็ได้ที่เขาอิน แต่ว่าอย่างน้อยต้องออกไปก่อน ไม่ใช่แค่เริ่มโจทย์จงทำหนังที่อินออกมา ทุกคนก็จะแบบทำอะไรดีวะ เด็กบางคนต้องการอะไรให้ยึดเกาะ เด็กบางคนไม่ต้องการ เด็กบางคนคิดได้เลยว่าอยากจะทำอะไร เด็กบางคนต้องมีโจทย์เราเลยให้โจทย์เด็กก่อน สุดท้าย output ออกมาก็เป็นหนังที่เท่ากันหมดก็คือดูร่วมกัน ก็ประสบผลสำเร็จ เด็กก็สนุก เราก็สนุก
ปฏิกิริยาของเด็กที่เจอการสอนแบบนี้เป็นยังไงบ้าง
เด็กชอบ มันสนุก และเดาไม่ได้ เราก็เดาไม่ได้ว่าจะสอนอะไร ความยูนีคที่เราคิดว่าคลาสนี้มันยูนีคเพราะว่าเราพยายามไม่ยึดติด ไม่ตายตัวว่าต้องเป็นอะไรหรือไม่เป็นอะไร มันเป็นได้หมดเลย เราจะทำเรื่องนี้ แต่ทำวิธีอื่นก็ได้ อย่างมีโจทย์หนึ่ง ตอนนั้นเราอัดเสียงไว้แล้วเลือกไดอาล็อกมา 3 ประโยคยาวๆ แล้วให้เสียงนี้กับเด็กทุกคนเลย ให้เด็กไปทำภาพมา ภาพอะไรก็ได้ มันก็จะเห็นว่าเลเยอร์ความสัมพันธ์ระหว่างภาพและเสียง บางคนถ่ายไฟมา สมมติในเสียงพูดเรื่องจะตายเพราะเป็นโรคไต บางทีก็วูบจะตายแต่ก็ไม่ตายก็ฟื้นขึ้นมาใหม่ ภาพของบางคนก็ตีความดำน้ำแล้วก็โผล่ขึ้นมา บางอันก็เป็นไม้ขีดไฟที่แบบมีพลัง มันเลยเป็นเหมือนโจทย์ให้เด็กเรียนรู้ไวยากรณ์การทำงาน แล้วก็สามารถเปรียบเทียบได้ว่าข้อมูลเดียวกันแต่สามารถตีความไปได้หลายแบบ มันเห็นความเป็นไปได้ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียว มันไม่จำเป็นต้องเป็นคนนี้พูด ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาล อันนี้คืองานก่อนไฟนอล
เห็นการเรียนรู้อะไรในตัวเด็ก
เราเห็นพื้นฐานการคิด บางคนก็ติดกรอบ บางคนพยายามไม่ยึดติดกับสิ่งที่คิดมาแต่บางคนก็ยังจะยึดอยู่เพราะรู้สึกว่ามันไม่ปลอดภัย บางคนก็ทำอย่างอื่นเลย
ฟังดูเหมือนมันต้องมีความยืดหยุ่น (Resilience) และทักษะในการปรับตัว (Adaptability) ซึ่งกำลังเป็นทักษะสำคัญในศตวรรษนี้ กระบวนการทำหนังสารคดีช่วยสร้างสกิลเล่านี้ให้เด็กๆ ได้อย่างไร
เรารู้สึกว่าการทำ Documentary มันเหมือนการทรงตัวอยู่บนลูกบอลหนึ่งลูก อย่าไปคิดว่ามันจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่จริงๆ มันอาจไม่ได้เป็นแบบนั้นแบบนี้ มันต้องพร้อม adapt ตลอดเวลา แล้วเราก็สนุกด้วยซ้ำการได้ adapt ไม่งั้นทุกอย่างต้องเป็นไปอย่างที่เขียนมา แต่ต้องเขียนก่อนนะ ที่สำคัญคือต้องวางแผนก่อนให้เต็มที่ แต่สุดท้ายพอเจอของจริงคุณต้องยอมเปลี่ยน เราว่านี่คือสิ่งสำคัญในการทำหนัง ไม่ใช่แบบไม่คิดอะไรเลย ถ่ายๆ แล้วก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แบบนั้นมันก็จะไม่โฟกัส อีกอย่างเวลาทำหนังการเรียนรู้จะครบ cycle ได้จริงๆ คือการได้ดูในโรง หรือการได้ดูหนังที่ไหนก็ได้ อันนี้ก็เหมือนกันตอนที่มันทำไม่รู้หรอกว่าต้องวางแผนอะไรไปก่อน จนกระทั่งได้ดูหนังแล้วเพื่อนฟีดแบค ถ้าทำหนังแล้วไม่ได้ดูหนังมันไม่ครบเลยนะ ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เหนื่อยสิ่งที่ทำไปเนี่ยผลลัพธ์มันคุ้มไหม เวิร์กไหม เราจะพยายามให้เด็กคอมเมนต์งานกันเองก่อนที่เราจะคอมเมนต์ มันก็จะเกิดปฏิกิริยาขึ้นมาโดยที่เราได้กำหนดขึ้นมา เคยคิดว่าจะฉายออกมาโดยไม่บอกว่างานใครเคยทำอยู่ครั้งสองครั้งก็ดี ก็พูดดี
คำถามสุดท้ายละ คิดว่ากระบวนการแบบสารคดีมันช่วยขยับวงการการศึกษาไทยได้ไหม ได้อย่างไรบ้าง
มันเอามาใช้ประโยชน์ได้อยู่แล้ว ได้ 2 มิติ มิติแรก คือในฐานะที่เอาชิ้นงานหรือตัวหนังเองมาเป็นตัวจุดประเด็นในการพูดคุย อย่างเช่นเมืองนอกมี POV for educator รายการ POV เป็นโปรแกรมสารคดีที่ดังมาก เขามีช่วง educator ซึ่งเอาหนังมาตัดแบ่งเป็นช่วง สมมติว่าวันนี้เราจะสอนเรื่องอาหาร ก็เปิดเป็นช่วงนี้ๆ มี outline ของหนังเรื่องนี้ที่จะมาใช้ร่วมกับแขกรับเชิญในการคุย ดูหนังเรื่องนี้ฉายช่วง abc 10 นาที 15 นาที มีลิสต์คำถามให้โต้ตอบกับเด็กระดับชั้นไหน ใช้อย่างไร มันทำมาเพื่อซัพพอร์ตคนสอนเลย หรือมีหนังหลายเรื่องมากมีให้โหลดพวกหนังสือทำมือไปใช้ในแต่ละคลาส ซึ่งเราเชื่อว่าไทยก็ทำได้ แต่ไทยต้องการกำลังในการทำเพราะว่าอุปสรรคของไทยอีกอย่างหนึ่งคือภาษา คือสารคดีแปลไทยมีน้อยมาก มี DocClub ที่ทำอยู่ แต่ว่าในโลกมีหนังดีดีที่ซับอังกฤษเยอะมาก ภาษาเป็นกำแพงที่ใหญ่มาก เรารู้สึกมากๆ ตอนไปเรียนต่อ ตอนเรียนที่นี่ไม่ค่อยรู้ พอไปละพบว่าทะเลมันกว้างใหญ่มาก เราอยู่ในบ่อมาตลอด
มิติที่สอง คือเอากระบวนการทำหนังมาช่วยในการทำความเข้าใจสิ่งใดๆ ก็ตาม สิ่งแวดล้อม ตัวเอง มันทำได้หมดเพราะว่าสารคดีคือบัตรเสือก สารคดีคือเราไปเสือกเรื่องอะไรก็ได้ เสือกเรื่องตัวเอง เสือกเรื่องคนอื่น สิ่งแวดล้อมการเมือง มันทำได้หมด filmmaking มันเลยเป็นกิจกรรมที่มีความเซ็กซี่ในตัวเอง เด็กๆ ก็สนใจอยากถ่ายให้มันสวย อยากตัดต่อ มีการจัดอีเวนท์ฉายหนัง คือโดยตัวกระบวนการของมันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมันสร้างพื้นที่ให้คนมาสนุกได้ตลอด ได้เรียนรู้ตั้งแต่ขั้นตอนการถ่ายทำจนถึงการจัดฉาย เด็กๆ จะเรียนรู้หลากหลายมิติ