Skip to content
การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Education trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skills
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้
Unique Teacher
21 February 2018

ไม้เรียวในมือครูพันธุ์ใหม่ ที่ใช้ฟาดจิตใจตัวเอง

เรื่องและภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • โลกจริง การเป็นครูมีความสิ้นหวังซ่อนอยู่ไม่น้อย แต่ตราบใดที่ยังมีนักเรียนนั่งอยู่ในห้อง วงคุยครั้งนี้พอจะตอบได้ว่า ครูสอนไปเพื่ออะไร คิดอย่างไรจึงมาสอนหนังสือ
  • วงคุยครูรุ่นใหม่ไฟแรงเฟร่อ เท้าความประวัติศาสตร์การกำเนิดอาชีพครู กระทั่งการเป็นครูรุ่นใหม่ที่จะใช้อำนาจคุมห้องเรียน หรือจะยึดหลักว่า ‘เด็กก็เป็นครู ครูก็เป็นเด็ก’
  • นิยามครูรุ่นใหม่คืออะไร, หลักสูตรครูทันสถานการณ์โลกหรือไม่, Active Learning ดีจริงหรือ และ การศึกษาปราศจากการเมืองแน่หรือ เหล่านี้คือสิ่งที่ครูพันธุ์ใหม่ล้อมวงคุยกันอย่างดุเดือด

ไม่ว่าจะต้องการหรือไม่ เราต่างเคยเป็นนักเรียนมาก่อน เป็นมาก่อนที่จะตั้งคำถามด้วยซ้ำว่า “ทำไมถึงต้องเรียนหนังสือ” หรือ “เรียนไปเพื่ออะไร” รู้ตัวอีกทีก็นั่งจับดินสอปากกา ข้างหน้าคือกระดานดำ นอกจากเพื่อนร่วมห้องหลายสิบชีวิต มนุษย์หนึ่งคนหลักๆ ที่คอยกำกับการสอนเรื่องราวทางวิชาการที่ดีไซน์มาแล้วว่า ‘นักเรียน’ สมควรต้องรู้

เราเรียกพวกเขาและเธอว่า ‘คุณครู’

กลุ่มพลเรียน กลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อถกเถียงและตั้งคำถามในประเด็นการศึกษาและสังคมจัดเสวนาหัวข้อ ครูรุ่นใหม่ไฟแรงเฟร่อ: ความท้าทายของครูรุ่นใหม่ในระบบการศึกษาแบบเดิม ขึ้นเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ณ ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ โดยเชิญผู้ร่วมเสวนาที่เป็นคุณครู 3 คนที่ทำงานในสังคมครูที่แตกต่างกันไป คือ ครูคิน-ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูสังคมศึกษาจากโรงเรียนกําเนิดวิทย์, ครูมะนาว-ศุภวัจน์ พรมตัน ครูภาษาไทย โรงเรียนนครวิทยาคม เจ้าของเพจอะไรอะไรก็ครู และครูนิว-พีระศิน ไชยศร โรงเรียนกวดวิชาภัทรพล กรุงเทพมหานคร และสมาชิกกลุ่มพลเรียน มาร่วมถกเถียง, สุมไฟ และแลกเปลี่ยนความท้าทายของไม้เรียวที่ครูต้องใช้ฟาดจิตใจตัวเอง

น้ำเสียงของครูๆ ท่านก็เรียบๆ แต่คอนเทนต์และความในใจก็ร้อนดังไฟเย่อสมกับชื่อหัวข้อเสวนา ‘ไฟแรงเฟร่อ’ จริงๆ

ก็ใช่ ในโลกแห่งความเป็นจริง การเป็นครูมีความสิ้นหวังซ่อนอยู่ไม่น้อย แต่ตราบใดที่ยังมีนักเรียนนั่งอยู่ในห้อง การเสวนานี้ก็ตอบคำถามได้ส่วนหนึ่งว่า

ครูสอนไปเพื่ออะไร หรือ คิดอย่างไรถึงได้มาสอนหนังสือ

จากซ้ายสุด พิธีกร, ครูนิว พีระศิลป์, ครูมะนาว ศุภวัจน์ และครูคิน ภาคิน

นิยามของครูรุ่นใหม่

ย้อนกลับไปที่สมัยสังคมไทยเริ่มเห็นความสำคัญของระบบการศึกษา หา “ครู” มาเป็นผู้รู้เฉพาะทางเพื่อสอนคนในสังคมให้มีความรู้ความสามารถในด้านนั้นๆ ให้ดีขึ้น ครูคินเลคเชอร์ย้อนกลับไปในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นถึงรัชกาลที่ 5 ว่าครูมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร

“มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงปฏิรูปการปกครอง ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการกระจายตัวของการศึกษาและการผลิตครูในยุคปัจจุบัน คือชนชั้นนำเริ่มเห็นว่าหากคนแต่ละคนไม่ได้รับการศึกษาอย่างที่ควรจะได้จะทำให้เกิดปัญหา เพราะฉะนั้นจึงมีการผลักดันให้เกิดการศึกษา การก่อตัวของโรงเรียน เพียงแต่ช่วงแรกมักจะเป็นการศึกษาที่เน้นไปตามพื้นเพของแต่ละคน เช่น ถ้าเป็นสามัญชนก็ควรเรียนเรื่องเกษตรกรรม หัตถกรรม ชนชั้นปกครองจะเรียนอย่างอื่น เช่น วิชาคณิตฯ วิทย์

“สิ่งที่น่าสนใจคือสักประมาณ พ.ศ. 2420-2440 เป็นช่วงเวลาที่ชนชั้นนำของสยามเริ่มรู้แล้วว่าองค์ความรู้ที่มีอยู่ในสังคมเดิมไม่พอสำหรับการสร้างระบบราชการที่ดี ที่น่าสนใจคือการนำความรู้เกี่ยวกับการแบ่งช่วงวัยของมนุษย์ใหม่มาใช้ เขาพบว่าปัญหาอย่างหนึ่งที่สังคมไทยยังเป็นแบบนี้อยู่เพราะว่าการศึกษาให้กับแต่ละคนไม่ถูก ครูถึงต้องรู้ว่าเด็กถึงแม้จะหน้าตาเหมือนๆ กัน หากแต่ละคนมีข้างในไม่เหมือนกัน

“นี่เป็นจุดเริ่มต้นแรกๆ ที่ทำให้เกิดครูที่เราเห็นในเซนส์ปัจจุบัน รัฐเริ่มต้องการใครบางคนที่ให้การศึกษากับประชากร มีความสามารถพิเศษสามารถมองเห็นข้างในจิตใจของเด็กได้ ฉะนั้นพอสัก พ.ศ. 2460-2470 จึงเริ่มมีหนังสือเขียนว่าทำอย่างไรจึงจะเข้าใจบุตรของท่าน

“ครูกลายเป็นคนกลุ่มใหม่ที่รู้ว่าเด็กเป็นคนอย่างไรมากกว่าตัวพ่อแม่เอง เด็กไม่ได้เป็นแค่แรงงานในครอบครัวเท่านั้น แต่เด็กเริ่มถูกดึงเข้าสู่สถาบันการศึกษาเพราะรัฐเริ่มเห็นว่ามันสามารถนำไปสู่ผลประโยชน์ระยะยาวได้ จึงมีเทรนด์การต่อสู้ระหว่างผู้ปกครองที่ไม่ค่อยอยากได้เด็กเรียนเพราะไม่แน่ใจว่าเรียนไปทำไม กับครูที่อยากทำให้เด็กไปเรียนหนังสือเพราะรู้ว่าถ้าปล่อยให้เด็กไปอยู่ในมือผู้ปกครองเฉยๆ เด็กจะไม่มีทางพัฒนาแน่

“การต่อสู้นี้ก็ดำเนินต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

เรารู้สึกว่าเด็กหลายคนไม่ตั้งใจเรียน บางทีเหตุผลมันอาจจะคล้ายกับเมื่อหลายร้อยปีที่แล้วคือ เขาไม่เห็นว่าการศึกษามันให้ประโยชน์อะไรกับเขา

จบคลาสประวัติศาสตร์การกำเนิดอาชีพครูของอดีตนักวิจัยภาคินไว้เพียงเท่านี้ก่อน ตัดภาพมาในยุคปัจจุบัน เมื่อถามถึงคำนิยามของครูรุ่นใหม่ เรามักจะนึกถึงบัณฑิตจบใหม่เอี่ยมอ่อง เพิ่งเข้าบรรจุและเข้าระบบโรงเรียน แววตามั่นคงพร้อมเปลี่ยนแปลงปฏิรูป แต่ครูมะนาว ศุภวัจน์ ที่เรียนจบครูมาโดยตรงเองก็ให้ข้อสังเกตว่า ครูต้องอัพเดทตัวเองตลอดเวลาให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด ครูต้องไม่ตกรุ่น จึงไม่มีคำว่าเก่าหรือใหม่ในความหมายของการเป็นครู

“ผมมองว่าครูรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็นครูหนุ่มสาวเสมอไป วิธีคิดและมุมมองต่างๆ ต่างหากที่ควรใหม่ เขาหรือเธออาจจะทำงานในโรงเรียนมายี่สิบสามสิบปีแล้วก็ได้ แต่ต้องปรับวิธีคิดมุมมองให้กับยุคสมัยปัจจุบัน ที่สำคัญคือต้องมองเด็กนักเรียนให้เท่ากับเรา ไม่มีอำนาจเหนือกว่า”

ครูนิว พีระศิน ผู้กำลังจะม้วนตัวเข้าไปในระบบการเป็นครูของรัฐกล่าว เขาเคยผ่านการสอนมาหลากหลายรูปแบบ ทั้งหลักสูตรการสอนเฉพาะบุคคล, โรงเรียนกวดวิชา หรือการเป็นครูในโรงเรียนวิถีพุทธแนวใหม่

“ผมไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้มาก่อนเลยครับ เพราะไม่รู้สึกว่าการเป็นครูจะมีเซนส์ของความเป็นรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ในความหมายไหน แต่ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเก่าหรือไม่ ครูต้องมีคาแรคเตอร์ที่เสริมให้เป็นครูที่ดีได้ ซึ่งน่าจะเป็นคนที่ต้องการแสวงหาความรู้ตลอดเวลา รักที่จะถ่ายทอดให้เด็กๆ มีความถูกได้ผิดได้ มีความเป็นมนุษย์ ไม่ได้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นหัวใจของการเป็นครู”

ครูคิน จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ เพิ่งเข้ามาสอนวิชาสังคมศึกษาเกือบจะครบ 1 ปี เขาไม่เคยมีประสบการณ์การเรียนครู หรือเป็นครูโรงเรียนมัธยมมาก่อน และเรียนจบปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์ แต่มีมุมของนักวิจัยมาให้ข้อสังเกต

นิยามของครูแต่ละคนฟังดูหล่อ มีความหรูดูดีและมีอนาคต แต่เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันของการเป็นคุณครู หรือกระบวนการการผลิตครูทั้งในอดีตและปัจจุบัน ตัวของครุูเองจะต้องเผชิญหน้ากับห้องเรียนขนาดใหญ่ที่เข้มงวด และกวดขันด้านการตั้งคำถามเสมือนว่ามีการสอบย่อยเก็บคะแนนทุกวันจากข้อสอบ unseen หากเพื่อนร่วมงานใช้วิธีการสอนที่ไม่ส่งเสริมให้เด็กตั้งคำถาม ครูจะเข้าไปแก้ไขปัญหานี้อย่างไร หรือหากนักเรียนส่งการบ้านแบบไม่ตั้งใจ ครูจะใช้ไม้เรียวหรือดุด่าเด็กเพื่อแก้ปัญหาหรือไม่ ที่สำคัญคือครูต้องตรวจเองเฉลยเองเอาตามสถานการณ์

  • ครูมะนาว ศุภวัจน์ และครูคิน ภาคิน
  • ขวา ครูนิว พีระศิลป์

Active Learning ถ้าคอนเทนต์ไม่แน่น สุดท้ายคือการเล่นจบที่สนุก

“จากประสบการณ์ที่เป็นครู 5  ปีรุ่นแรกจนถึงทุกวันนี้เรายังไม่มั่นใจเลยว่าการเพิ่มระยะเวลาการเรียนครูจาก 4 ปี เป็น 5 ปีมีอะไรแตกต่างไปจากเดิม แต่เห็นได้ชัดเลยว่ามีชั่วโมงที่ต้องไปฝึกประสบการณ์ในโรงเรียนเพิ่มขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว เรายังไม่พบวิธีการที่ดีที่สุดในการสอนนักเรียนเลย

“ในความเป็นจริง เราจะพบว่าแผนการสอนที่ในโรงเรียนฝึกสอนเป็นอีกวิธีซึ่งต่างกับที่เรียนมา พอจบออกมาเป็นครู ก็จะเจอบันไดห้าขั้น และหลักสูตรต่างๆ เราเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยพยายามอัพเดทหลักสูตรแล้ว แต่ข้างนอกอัพเดทบ่อยมาก การที่มหา’ลัย จะสร้างหลักสูตรผลิตครูขึ้นมาใช้สอนจึงไม่ทันกับที่ครูต้องใช้จริง เราเลยต้องเรียนรู้ใหม่หมด”

ครูมะนาวเสริมว่า ครูจบใหม่ต้องพยายามที่จะหาวิธีการสอนที่ลงตัวให้กับระบบวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมที่ครูอยู่ ถ้ารู้สึกเอเลี่ยนหน่อยก็อาจจะต้องขวนขวายหนักๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงโมเดลการสอนให้ใช้ได้และอยู่ได้ ก่อนที่ครูนิวจะปิดท้ายว่า

“คิดว่าปีที่ให้ฝึกสอน ควรจะต้องมีอาจารย์ประจำคณะเข้าไปติดตามดูว่าการสอนของเราเป็นยังไงบ้าง เพราะพอจบไปเป็นครูจริงๆ แล้ว โอกาสที่จะมีคนมานั่งดูเราสอนนั้นน้อยมาก กลายเป็นว่าครูมือใหม่ต้องแก้ปัญหาตามความรู้สึก หรือประสบการณ์ที่เราเคยเจอมาในอดีต ซึ่งบางทีมันคือการนำอำนาจมาใช้ ผมมองว่าบทบาทของมหาวิทยาลัยที่ผลิตครูควรดูตรงนี้มากขึ้น

“ยิ่งเป็นครูรุ่นใหม่ความท้าทายก็ยิ่งเยอะ สิ่งแรกคือความท้าทายต่อความผิดพลาด หลายคนยังมองว่าเมื่อเราไปสอน ครูต้องเป๊ะทุกอย่าง ผิดพลาดไม่ได้ นักศึกษาครูจะถูกปลูกฝังเลยว่า ‘ถึงคุณฝึกสอน แต่นักเรียนไม่ได้มาฝึกเรียนกับคุณ’ ผมรู้สึกจุกเหมือนกันว่าแล้วเราผิดอะไรได้บ้าง มันเลยกลายเป็นความกดดันและท้าทาย

“ตอนผมไปสอนปีแรกนี่ผิดพลาดมากมาย แต่เราต้องยอมรับตัวตนให้ได้ก่อน เช่น ยอมรับว่าครูฝึกสอนก็คือฝึกสอน เราผิดพลาดได้ นักเรียนรุ่นนี้อาจจะได้รับสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ว่าเรานำจุดตรงนี้มาปรับปรุงแก้ไขแล้วพัฒนานักเรียนรุ่นต่อไปให้กลายเป็นวิธีการสอนที่มีโมเดลที่ใช้กับเด็กๆ ได้ต่อไป เพราะเราเป็นแค่คนคนหนึ่ง ทุกคนเป็นครูกันคนละอย่าง เด็กก็เป็นครูเหมือนเรา เราก็เป็นครูเหมือนเด็ก”

นอกจากเรื่องปรับใช้การสอน สิ่งที่ถูกสอนมา และสิ่งที่ต้องสอนกับเด็ก ตัวอย่างโมเดลแห่งการคัดง้างระหว่างการสอนที่ครูชอบกับสิ่งที่ถูกบอกว่าควรสอน คือ Active Learning ที่หลายโรงเรียนกำลังเน้นให้เด็กเรียนสนุก ลุกนั่งสบาย ครูคินบอกว่านี่คือตัวอย่างของปัญหาการ ‘บอกให้สอน’ ที่ควรถูกตั้งคำถาม

“ขณะที่กระแสโลกพยายามบอกว่าเลคเชอร์ห่วย Active Learning ดีกว่า หลายครั้งครูเลยถูกบีบให้ทำมากที่สุดโดยที่ไม่มีคำถามหรือคำตอบในใจว่ามันทำไปเพื่อให้เด็กเห็นอะไร โอเคมันสนุก แต่ผมคิดว่าเราไม่ได้สนใจทุกอย่างที่สนุกบนโลกใบนี้

“Active Learning จะเวิร์คต่อเมื่อคุณมีโจทย์บางอย่างที่พร้อมจะบอก แต่ถ้าคอนเทนต์ไม่แน่น สุดท้ายคือการเล่นแล้วจบที่ความสนุก แล้วเด็กก็ไม่เก็ตว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ขณะเดียวกันเลคเชอร์ที่ดีก็เป็นไปได้ แทนที่คุณจะเล่า ก็ถามสิ เตรียมมาอย่างดีว่าจะสอนอะไร ผมได้ข้อสรุปมาจากรุ่นพี่คนหนึ่งว่าเลคเชอร์ที่ได้ผลคือ มีการถาม พอเด็กตอบเราถามกลับว่าแน่เหรอ จริงเหรอ เราเสนอคำตอบที่เด็กไม่เคยคิดให้ ทำเหมือนว่ามันถูก ถ้าทำอะไรให้เป็น dialectic (การถกเถียง โต้แย้ง) แต่…จริงเหรอ เด็กจะคิดตามเรื่อยๆ แต่ถ้าเรามีคำตอบตายตัว เด็กทุกคนจะฟังและจำ นั่นก็ถือว่าเป็นเลคเชอร์ที่ห่วย

“หลายครั้ง Active Learning ในตัวมันเองไม่ได้ดีเสมอไป แต่ในทางกลับกันคือ การที่เด็กฟังแล้วคิดตาม สนุกแล้วจด นี่คือโคตร active เลย”

ครูมะนาว ศุภวัจน์ และครูคิน ภาคิน

ครู vs นักเรียน: นี่คือการดีลกันระหว่างมนุษย์

ครูนิวบอกต่อว่า เป็นครูก็ถูกผีสิงได้ ผีตัวที่ว่ามีชื่อแบบเหมารวมว่า ‘อำนาจ’ จัดการได้ไว จริง ฉับพลัน เห็นผลชัดเจน เหมือนหลอกผีเด็กได้จริงว่าควรหรือไม่ควรทำสิ่งใดโดยใช้วิธีการบังคับให้ทำตาม

“ตอนเรียนครูมีความคิด ความฝัน วาดภาพไว้ว่าจะเป็นครูอย่างไร แต่เข้าไปสอนแรกๆ ปุ๊บมีผีอะไรสักอย่างสิงอยู่ในตัวเราโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย คิดว่าถ้าเราคุมห้องเรียนไม่ได้ เราจะทำยังไงดี วิธีการที่เร็วที่สุดก็คือการใช้อำนาจ ลงไม้ลงมือกับเด็กบ้าง ยึดของนู่นนี่เหมือนครูที่เราเคยเจอมาแล้วไม่ชอบเลย แต่เรากลับทำซะเอง สุดท้ายก็มานั่งคิดว่าเราเป็นอะไรไป เลยพยายามตั้งสติมากขึ้น ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงการสอนโดยที่เราไม่ต้องใช้ความรุนแรง ซึ่งพบว่ายากมาก ไม่เห็นผลชัดเจน และมีความคิดในใจเสมอว่าอยากกลับไปทำแบบเดิม แต่พอเราพยายามยับยั้งและลดพฤติกรรมลงมาเรื่อยๆ จนครบหนึ่งปี ก็รู้ว่ามันใช้ได้เหมือนกัน เราไม่เห็นจำเป็นต้องใช้ความรุนแรงหรืออำนาจเลย”

“เราไม่จำเป็นต้องคว้าไม้เรียวมาฟาดอย่างเดียวเพราะเราก็เป็นมนุษย์เหมือนเขา แน่นอนมันมีหลายจังหวะที่รู้สึกอยากซัดเหลือเกิน แต่ท้ายที่สุดถ้าเราตระหนักว่าตัวเองไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราจะสามารถสร้างโลกที่ดีกว่าเดิมได้ถ้าเราคิดว่านี่คือการดีลกันระหว่างมนุษย์”

ภาคินตั้งข้อสังเกตและเสริมว่า

“ผมว่าครูในปัจจุบันเผชิญกับโลกที่ต่างกับสมัยที่เราเป็นเด็ก เพราะการเข้าถึงเทคโนโลยีมันง่ายมาก ครูเจอความท้าทายว่าเราจะรับมือกับเด็กที่ไม่ใช่เด็กน้อย เขาไม่ได้มาตัวเปล่าพร้อมกระดาษปากกา และพร้อมจะฟังเราอีกต่อไป แต่เข้ามาพร้อมมือถือ คอมพิวเตอร์

“ถ้าเขาไม่ฟังเราหรือคุยกับเพื่อน เขาก็อยากเล่นเกมแล้ว ครูเผชิญกับโจทย์ที่ว่าตกลงเทคโนโลยีเป็นศัตรูของเราหรือไม่ เราต้องจัดการอย่างไร หรือถ้าเป็นครูรุ่นที่ไม่ได้โตมากับเทคโนโลยี หลายครั้งที่เราเห็นเด็กจับมือถือ เราจะคิดว่าเด็กเล่นเกม เมื่อเขาเปิดคอมฯ เขาต้องทำอะไรที่ไม่เกี่ยวกับเราแน่เลย

“ซึ่งผมคิดว่าเราไม่เอาตัวไปคลุกคลีกับโลกแบบที่เด็กอยู่ มือถือหรือคอมพิวเตอร์เปิดขึ้นมามันทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง คงมีเด็กที่เล่นเกมนั่นแหละ แต่หลายทีที่ผมเห็นคือเด็กจดเลคเชอร์โดยใช้ Google Doc ที่แชร์เอกสารกันได้ แต่ละคนเข้าอีเมล เปิดไฟล์ ช่วยกันพิมพ์แล้วแชร์ออนไลน์ เขาใช้เครื่องมือเหล่านี้ทำงาน ฉะนั้นถ้าเราไม่รู้จักโลกของคนที่เรากำลังดีลอยู่ เราก็จะดีลกับมันผิดวิธี”

นอกจากการสอนที่ต้องแก้ปัญหาหน้าฉากหลังฉากตลอดเวลา ครูมะนาวยังโยนประเด็นเรื่องการจัดการที่ทางของตัวครูในสังคมที่ครูอยู่ เป็นความท้าทายอีกหนึ่งด่านที่ซับซ้อน

“เวลาครูท่านอื่นๆ ไม่ได้สอนวิธีเดียวกับเรา เราจะเข้าไปเปลี่ยนตรงนี้ เพราะเชื่อมั่นในวิธีการของเรา หรือคิดว่าของครูท่านอื่นดีกว่า เราจะอยู่อย่างไรในระบบการศึกษาที่ไม่ได้แตกต่างกันแค่ผู้เรียน แต่ต่างกันที่ผู้สอนด้วย ทำยังไงให้เกิดการแลกเปลี่ยน ไม่ใช้อีโก้ในแนวทางของตัวเอง

“ในทางกลับกัน การรวมกลุ่มกันของครูก็ช่วยเยียวยาได้พอสมควร การมีเครือข่ายในสังคมออนไลน์ หรือการแลกเปลี่ยนกันระหว่างครูกันเองมันช่วยเยียวยาได้ ยังมีคนที่มีความเชื่อเหมือนเราว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงนักเรียนโดยไม่ใช้อำนาจได้ หรือเปลี่ยนแปลงวิธีสอนของเราได้ มาให้พลังและพบเจอกัน แล้วยังให้แนวทางด้วยถ้าเราเห็นว่าวิธีของเขามันเวิร์ค ไม่ต้องเล่นใหญ่ทุกคาบ

“ดังนั้นการจะอยู่ในโรงเรียนไม่ใช่การอยู่เป็น เพราะมันจะทำให้ไฟของเราลดลงไปเรื่อยๆ แต่นโยบายส่วนตัวในการเป็นครูของเราต้องไปให้ถึง หมั่นถามตัวเองตลอดเวลาว่าเรามาเป็นครูทำไม คำถามนี้มันจะช่วยดึงเรากลับมาอีกครั้งหนึ่ง”

การเมืองเรื่องการศึกษา จบลงที่ว่า “อะไรๆ ก็ครู”

คำถามง่ายๆ คือ การเป็นครูนี่การเมืองไหม

“ผมคิดว่าครูในปัจจุบันหลายๆ คนที่รู้จักคิดว่าสิ่งที่เขาสอนอยู่เป็นกลาง เป็นความรู้ที่ถูกต้องอยู่แล้ว ไม่มีการเมือง ไม่มีประวัติศาสตร์อยู่ในนั้น แต่ลืมไปว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือทางการเมืองชิ้นดีสำหรับการเปลี่ยนแปลงสังคม

“การศึกษาไม่เคยเป็นเรื่องที่เป็นกลาง เราไม่ได้เรียนทุกเรื่องในโลกนี้ถูกไหม ครูถูกบอกว่าควรหรือไม่ควรสอนอะไร ฉะนั้นผมว่าครูไม่เห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องการเมือง พอเราพูดถึงปุ๊บ

การเมืองจะถูกมองว่าเป็นเรื่องสกปรก ครูต้องผลิตคนให้เป็นคนดี โห การผลิตคนให้เป็นคนหรือพลเมืองดีนี่โคตรการเมืองเลยนะ

“เพราะคนดีมีนิยามบอกว่าต้องดีอย่างไรบ้างสิบอย่าง ผมจึงอยากจะเชียร์ให้คณะที่ผลิตครูโดยตรงเอาเรื่องแบบนี้เข้าไปสอนว่าสิ่งที่ครูทำอยู่มันคือเรื่องของการเมือง เราดีลกับชนชั้น อำนาจ อะไรคือความดีไม่ดี และการพัฒนาคนให้เป็นแบบใดแบบหนึ่ง” ครูคินเริ่มประเด็น

ครูนิวยังเสริมต่อว่าครูหลายคนไม่เคยมองเลยด้วยซ้ำว่าการสอนหรือการดำรงอาชีพครูนั้นมันเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร

“ผมเคยไปเวิร์คช็อปและพบว่าครูมองการศึกษาเป็นบวกหมดเลย เป็นการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ยกระดับคุณภาพชีวิต โดยที่แต่ละคนไม่เคยมองเลยว่าเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร ตัวครูเองมองว่าการมีอำนาจเท่ากับว่าสามารถจัดการกับนักเรียนที่อยู่ในระดับล่างกว่าเรายังไงก็ได้

“แต่ว่าเราไม่ได้มองว่าในตัวเราอยู่ในตำแหน่งไหน เรายังมีเพื่อนครูด้วยกัน กฎระเบียบ ผู้มีอำนาจ ผู้ปกครอง มันมีความสัมพันธ์กันหมดเลย และครูจะมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือได้รับความเชื่อถือสูงจากคนในสังคม เวลาพูดอะไรไปเด็กเชื่อ ครูไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นผู้ให้ ชุบชีวิตเด็ก แต่เราควรมองกลับไปว่าเบื้องหลังของเราอีกที เราเป็นตุ๊กตาตัวหนึ่งที่โครงสร้างข้างบนพยายามชักใยว่าเราจะต้องทำอย่างไรเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ที่คนด้านบนต้องการ”

การเป็นตัวของตัวเองในฐานะครูจึงอาจจะเริ่มจากการจัดตั้งไอเดียหรือกลุ่มง่ายๆ เหมือนกับครูมะนาวที่เปิดเพจ “อะไรๆ ก็ครู” มาเพื่อตอบสนองโจทย์ที่สังคมคาดหวังต่อครูสูงมาก

“สังคมภายในมองว่าครูต้องทำตามนโยบาย ปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายของรัฐ สังคมนักเรียนก็มองว่าครูต้องสอนสนุก เข้าใจ ซึ่งมีความคาดหวังที่หลากหลายมาก แล้วการเป็นครูรุ่นใหม่เหมือนเป็นตรงกลางระหว่างครูที่คิดว่าตัวเองยังมีอำนาจในชั้นเรียน และรุ่นใหม่ที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในการศึกษาไทย

“เราจึงเป็นทุกข์กับสิ่งที่โดนคาดหวังมาโดยที่ไม่รู้ตัว รวมถึงสิ่งที่ตัวครูเองคาดหวังว่าอยากให้กับเด็กด้วย เลยมีคนที่เข้ามาในเพจ หลั่งไหลมาถามผมเยอะแยะมากว่าถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ทำยังไงดี ผมเห็นครูที่มีความทุกข์กับการสอนเยอะมาก ผมมองว่าครูเหล่านี้คือครูที่มีอุดมการณ์ ตั้งใจที่จะเป็นครูที่ดี แต่ปรากฏว่ามีอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาสงสัยว่าใช่หรือเปล่าที่เขาสอนอยู่ตรงนี้

“ผมเลยคิดว่าเราต้องรู้ว่าครูจำเป็นต้องสอนอะไร เขาจบจากคลาสเราไปแล้วเขาจะนำความรู้ไปใช้ต่อได้ยังไงในโลกที่มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เขาควรจะมีทักษะอะไรบ้าง อย่างที่สองคือรู้ว่านโยบายพยายามบอกให้เราทำอะไร ลองมองให้ขาดว่าเขาต้องการอะไรหรือเกิดประโยชน์ต่อเด็กในแง่ไหนบ้าง”

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ผิดไม่ได้ แต่ครูผิดได้

ครูคินยังคงยืนยันว่าการเป็นครูที่ตามไม่ทันโลก คือครูที่ไม่เวิร์ค ครูที่มีสถานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็ไม่เวิร์คเช่นเดียวกัน

“ครูต้องไม่คิดไปก่อนว่าตัวเองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในชั้นเรียน เรามักจะเห็นภาพครูเป็นใครบางคนที่ต้องก้มหัวตอนเดินผ่านตลอด สอนดีไม่ดีไม่รู้ สวัสดีไว้ก่อน เอะอะก็กราบเท้า พอคุณเป็นครูปุ๊บ เอาแล้ว สถานะความศักดิ์สิทธิ์มา ชฎามาใส่หัว

“ผมคิดว่าปัญหาคือถ้าคุณคิดว่าคุณเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คำตอบทุกอย่างจะตายตัว เพราะทุกอย่างดีที่สุด เก่งที่สุด จึงไม่จำเป็นต้องแสวงหาความรู้ และพร้อมที่จะยินดีกับความเก่าของตัวเองเพราะคิดว่าเก่าน่าจะดี แต่ครูต้องอัพเดทตัวเอง แสวงหาความรู้แล้วรู้ว่าโลกมันกำลังจะเปลี่ยน

“ครูควรจะใหม่ที่สุดเท่าที่จะใหม่ได้ และทำได้ต่อเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นมนุษย์ธรรมดา ต่อให้ระบบสังคมหรือการศึกษาพยายามจะทำให้คุณเป็นยอดมนุษย์ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากแค่ไหน เราควรจะตระหนักว่าเราไม่ใช่

“เราพยายามทำให้มนุษย์ในชั้นเรียนทำสิ่งที่ดีขึ้นได้ในอนาคต ขณะเดียวกันมนุษย์ที่อยู่ตรงหน้าก็ไม่ใช่แก้วที่รอให้เราไปเติม เขาสามารถแลกเปลี่ยนหรือทำให้เราเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ผิดไม่ได้ มนุษย์เท่านั้นที่ผิดได้”

ย้ำหัวข้อเสวนากันอีกรอบ “ครูรุ่นใหม่ไฟแรงเฟร่อ: ความท้าทายของครูรุ่นใหม่ในระบบการศึกษาแบบเดิม” เราอาจจะเลยจุดในการนิยามความรุ่นใหม่รุ่นเก่ามาแล้ว แต่ครูนิวเสริมให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า “การเป็นครูรุ่นใหม่ที่แท้ทรู” คือสิ่งที่ครูนิวอยากฝาก เพราะเขาเองก็พยายามตระหนักว่าเราจะเป็นครูในแบบที่ตัวเองต้องการแม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อึมครึม ต้องหาพวกครูที่มีความเชื่อคล้ายกัน สร้างแรงบันดาลใจให้แก่กัน แม้แต่ครูรุ่นเก่าก็ยังหาพวกมาเป็นพวกเดียวกันได้

“ง่ายที่สุดคือใช้วิธีการที่รัฐทำกับพวกเรา คือมีชุดอุดมการณ์ด้านการศึกษาเพื่อกล่อมเกลาให้นักเรียนเป็นคนแบบที่เขาต้องการ เราก็เอาวิธีนี้มาใช้เลย แค่เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก เด็กใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนอย่างน้อยหลาย 10 ปี อยู่กับครูคนหนึ่งมากกว่าพ่อแม่ด้วยซ้ำ ดังนั้นโอกาสที่จะสร้างอะไรสักอย่างในตัวเด็ก ครูทำได้มากกว่า ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกที่จะทำตามสิ่งที่รัฐออกแบบมาให้เด็กคนหนึ่งเป็นแบบนี้ หรือเราเลือกที่จะออกแบบเองว่าเด็กกลุ่มนี้ เราต้องการให้เขาเป็นแบบไหน”

“ครูสอนไปเพื่ออะไร หรือ คิดยังไงถึงได้มาสอนหนังสือ”

จึงยังคงเป็นคำถามที่น่าตอบและน่าฟังอยู่ ว่าคนเป็นครูเขาต้องบู๊กันท่าไหนบ้าง

Tags:

ครูระบบการศึกษากลุ่มพลเรียนBook Re:publicภาคิน นิมมานนรวงศ์พีระศิน ไชยศรศุภวัจน์ พรมตัน

Author & Photographer:

illustrator

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

ศิลปศาสตร์บัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่ทำงานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

Related Posts

  • Social Issues
    “คุณมาโรงเรียนทำไม?” คำถามจากครูขอสอน คำตอบอันดับ 1 ไม่ใช่ความรู้และวุฒิการศึกษา

    เรื่องและภาพ ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Social Issues
    ครูในยุคเสรีนิยมใหม่: จะทำอย่างไรไม่ให้หมดสนุกกับการสอน

    เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา ภาพ บัว คำดี

  • Social Issues
    แฟนฟิค ทศกัณฑ์ โพลีแคท ธนาธร พ่อหล่อสอนลูก งานวิจัยของเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ได้สนใจแต่ตัวเอง

    เรื่อง

  • Voice of New Gen
    ครูสอนสังคมที่ให้สังคมสอนนักเรียน : ‘ครูพล’ อรรถพล ประภาสโนบล

    เรื่อง

  • Unique Teacher
    ‘ครูพล’ คุณครูสังคมศึกษาที่ไม่สอนตามตำราและเอาแต่ถามว่าทำไม

    เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel