- งานแถลงข่าวจัดงาน มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 18 ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อดีตผู้เข้าร่วมประกวด 3 ท่านขึ้นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ บอกเล่าที่มาที่ไปกว่าจะเป็นพวกเขาในวันนี้
- อัจฉริยะ ดาโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท AIYA บริษัท Start up ผู้บุกเบิกเทคโนโลยี AI, ดร.รณพีร์ ชัยเชาวรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ภูมินทร์ ประกอบแสง ครูประจำสาขาวิชาไฟฟ้า วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ คือวิทยากร 3 คนบนเวที
- ทั้งสามคนนี้ จะตอบคำถามที่ว่า ‘เวทีประกวดช่วยสร้างคนได้อย่างไร’ ได้ชัดเจน
เรื่อง: รัตนภรณ์ แผลงชีพ
ภาพ: NECTEC
โอกาสที่เด็กคนหนึ่งได้รับ อาจเป็นประตูเริ่มต้นของการเดินทาง ได้ค้นพบโลกใบใหม่ และหนึ่งในโอกาสของเด็กสายไอที คือเวทีแข่งขัน มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย (Thailand IT Contest Festival) ครั้งที่ 18 ประกอบด้วย การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC), การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC) และ การประกวดวงจรอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ (YECC)
สนามประลองวิชาเหล่านี้ เปิดโอกาสให้เยาวชนทั่วประเทศได้มาปล่อยแสง สร้างโอกาส และสร้างคนมาแล้วมากมาย
ยืนยันได้จาก อดีตผู้เข้าร่วมประกวด 3 คน คือ อัจฉริยะ ดาโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท AIYA บริษัท Start up ผู้บุกเบิกเทคโนโลยี AI, ดร.รณพีร์ ชัยเชาวรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ภูมินทร์ ประกอบแสง ครูประจำสาขาวิชาไฟฟ้า วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ
ทั้งสามมาแชร์เรื่องราวของตัวเองและตอบคำถามนี้เอาไว้ในงานแถลงข่าวจัดงานมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา
เมื่อฟังจบ อาจกลับไปตอบคำถามข้างต้น และอาจเป็นแรงบันดาลใจของใครหลายคน รวมทั้งอาจมีหน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง อยากสร้างพื้นที่ สร้างสนามประลองความรู้เพื่อสร้างคนคุณภาพให้กับประเทศ โดยเฉพาะโลกในยุค disruptive ต่อไป
อัจฉริยะ ดาโรจน์: สร้างตัวจากการแข่งขัน
“ผมชอบเขียนโปรแกรมมาก ชอบการแก้ปัญหา ถ้าโจทย์ไหนแก้ปัญหาด้วยสมองไม่ได้ ก็จะเขียนโปรแกรมขึ้นเพื่อแก้ปัญหามัน ถึงจุดหนึ่ง รู้สึกว่าผลงานเราก็น่าจะมีคนชอบ เลยเอาไปเอาประกวด
“ผมเคยเข้าประกวด NSC 2 ครั้ง ครั้งแรกตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 3 ผมร่วมกับเพื่อนๆ ทำโปรแกรมเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อเพื่อคนพิการ แต่ไปได้แค่เข้ารอบชิงชนะเลิศหัวข้อเครื่องมือทางการแพทย์ พอถึงปี 4 ผมไม่ยอมแพ้ลองดูใหม่ คราวนี้เป็นโปรเจ็คท์จบของผมเอง สาขาคนพิการอีกเหมือนเดิม ชื่อโปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์อ่านออกเสียงและส่งสัญญาณได้ด้วยเสียง เป็นผลงานที่ผมได้รับรางวัลรองชนะเลิศในโครงการ NSC ซึ่งผมภูมิใจมาก”
นี่คือจุดเริ่มต้นการสร้างตัวของอัจริยะเมื่อ 15 ปีที่แล้ว
หลังจากนั้น ประสบการณ์เคยทำโปรแกรมดิกชันนารีอ่านออกเสียงฯ ก็ถูกดึงมาใช้อย่างถูกที่และถูกเวลา
“หลังเรียนจบผมได้ทำงานกับบริษัทซับคอนแทรคของ Nokia ตำแหน่งโปรแกรมเมอร์สเปเชียลลิสต์ ได้ร่วมงานกับคนฟินแลนด์ทำซอฟแวร์ชื่อ อีซี่ไทย เพราะมือถือ Nokia ไม่มีภาษาไทย จึงต้องติดซอฟต์แวร์ตัวนี้ จึงเป็นการใช้ความรู้ครั้งที่ผมทำดิกชันนารีอ่านออกเสียงที่มีแต่ภาษาไทยล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นการสังเคราะห์เสียง การเปลี่ยนเสียงให้กลายเป็น Text”
ด้วยความฝันที่อยากจะมีบริษัทเป็นของตัวเองก่อนอายุ 25 อัจฉริยะออกมาเปิดบริษัทของตัวเองในปี 2550 บวกกับผลงานดิกชันนารีที่เคยประกวด NSC ถูกเชิญไปจัดแสดง หนึ่งคำถามจากผู้ชมครั้งนั้นถามเขาว่า
“คุณทำซอฟแวร์แปลดิกชันนารีโดยไม่ต้องพิมพ์ได้ไหม?”
นี่คือแรงบันดาลที่อยากจะต่อยอดงานชิ้นนั้นขึ้นไปอีก หลังจากนั้น 1 ปี บริษัทคลอดลูกคนแรกในชื่อ MegaDict ซอฟต์แวร์ Dictionary ที่ใช้ง่ายและอ่านออกเสียงได้ด้วย แถมยังได้รางวัลชนะเลิศ Thailand ICT Awards 2008 หมวด Education and Training
“ผมเอาผลงานที่เคยส่ง NSC แล้วมาต่อยอดขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นผลงาน MegaDict สมัยนั้นขายเป็นซีดีวางขายตามพันทิป หรือออกบูธตามงานหนังสือต่างๆ ยอดขายกว่า 50,000 ก็อบปี้ ปีนั้นผมตั้งตัวได้จากผลงานที่ผมต่อยอดมาเรื่อยๆ”
ต่อมาในปี 2556 อัจฉริยะสร้างซอฟต์แวร์ในชื่อ Keng Thai เป็น Mobile Software โปรแกรมเขียนตัวอักษรภาษาไทย ลากตัวอักษรแข่งกับเพื่อนแล้วแชร์ในเฟสบุ๊คได้ ปัจจุบันยังเปิดให้ดาวน์โหลดในแอปสโตร์ มียอดดาวน์โหลดกว่าล้านดาวน์โหลด
เมื่อ 2 ปีที่แล้วอัจฉริยะก่อตั้งอีกหนึ่งบริษัทสตาร์ทอัพขึ้นมา
“ผมทำซอฟต์แวร์ด้านการศึกษามาเป็นสิบปีก็รู้สึกเหนื่อย เลยทำธุรกิจเกี่ยวกับ Co-working Space ที่ขอนแก่นด้วย ทำไปทำมาก็เห็นว่าตัวเองก็บ่มเพาะสตาร์ทอัพอยู่ที่ต่างจังหวัด แต่ทำไมต่างจังหวัดไม่มีสตาร์ทอัพที่เจ๋งๆ สักที เราเองก็อยู่ในวงการธุรกิจเทคโนโลยีมา อยากจะทำเองแต่ก็รู้สึกเหนื่อย แต่ก็ต้องตัดใจแล้วลองมาทำอีกสักครั้งหนึ่ง ก็เลยเกิดสตาร์ทอัพชื่อว่า AIYA
“ผมเอาสิ่งที่ผมเคยทำมาไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมตัดคำ เน้นหนักเรื่องการทำ Machine Learning, NLP, AI ที่เขาบอกกันว่า AI มันจะมาเนี่ยทำยังไงให้เอา AI มาใช้ได้ เรารู้ว่าเทคโนโลยีมันดีแต่ในโลกความเป็นจริง เราจะเอามันมาใช้ยังไง”
ความสำเร็จที่ได้มาคงไม่ใช่เพียงแค่ความบังเอิญ หรือโอกาสที่ผู้ใหญ่เปิดพื้นที่เพียงอย่างเดียว
“จริงๆ การประกวดมันก็ไม่ได้ง่าย สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือเราจะต้องทุ่มเวลาในการพัฒนาผลงาน ความยากในการพัฒนาคือส่วนหนึ่ง แต่นอกจากนั้นคือความยากในการนำเสนอ คุณจะต้องนำเสนอให้ผลงานนั้นมีคุณค่า และตอบโจทย์”
“ทุกอย่างที่เกิดขั้น มันมาสั่งสมจากความพยายาม NSC เป็นเวทีเดียวที่ทำให้รู้ว่าจริงๆ ผมมีศักยภาพแค่ขนาดไหน รู้ว่าเราอยู่ระดับไหน” เด็กที่เข้ามาประกวดผ่านความพยายามและอดทนมาก กว่าจะแก้แต่ละตัว กว่าที่โปรแกรมจะออกมาได้ ไม่ใช่อยู่ๆ เขียนเสร็จมันก็ทำงานออกมาได้เลย มันต้องทดลอง ถ้าเขียนโปรแกรมผิดมันก็จะ error แล้วก็ต้องหาจุดที่ผิดว่ามัน error ตรงไหน บางทีแก้ตรงนี้แล้วก็ยังไป error ตรงอื่นอีก แก้ไปแก้มาแก้ไปแก้มาอยู่อย่างนี้เป็นพันๆ หมื่นๆ รอบ นี่คือคนที่ผ่านเวที NSC”
ดร.รณพีร์ ชัยเชาวรัตน์: ทำมาแล้วจะเอาไปช่วยใคร?
สำหรับ รณพีร์ เมื่อครั้งยังเป็นเด็กมัธยมปลายสายวิทย์-คณิต และสนใจงานวิชาการ เขามีโอกาสเห็นรุ่นพี่เข้าร่วมโครงการ YSC มาบ้าง จนกระทั่งอยู่ ม.6 ปีสุดท้ายจึงมีสิทธิ์เข้าแข่งขัน
“ตอนนั้นเราชอบวิชาฟิสิกส์และเรียนจนแตกฉาน แต่มาเข้าใจภายหลังว่าจริงๆ แล้วในประเทศไทย Pure Science เป็นสิ่งสำคัญ แต่เทคโนโลยีก็สำคัญเช่นเดียวกัน อธิบายก่อนว่า จุดอ่อนระบบการศึกษาบ้านเรา ถ้าเป็นสายสามัญก็จะเรียนแต่วิชาการ สายอาชีพก็จะศึกษาเฉพาะเทคโนโลยี แต่มันยังไม่มีเด็กที่เอาสองอย่างนี้มารวมกัน ตัวเราเองก็รู้ว่าขาดสกิลช่างและการสร้าง
“ตอนนั้นอยู่ ม.6 อยากชนะการประกวด เลยรู้สึกว่าต้องทำอะไรที่มันเป็น engineer สักหน่อย ถ้าเป็นงาน pure science หรือเอาแต่ทฤษฎีฟิสิกส์มาแข่งยังไงก็ไม่ชนะ เราเองอยากเข้าคณะวิศวกรรม แต่ไม่เคยเขียนโปรแกรมหรือมีพื้นฐานด้านวิศวกรรมอะไรเลย การสมัคร YSC ทำให้มีเวลาทำผลงานส่งภายใน 3-6 เดือน ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ได้ส่งผลงานด้วย แล้วได้เขียนโปรแกรมเป็นด้วย”
เริ่มต้นอย่างไร? – หลายคนอาจสังสัย
“หาโจทย์ง่ายๆ อย่างการดูรถเมล์วิ่งรอบอนุสาวรีย์ชัยฯ ความรู้เดิมของเราคือ เวลารถวิ่ง โค้งล้อซ้ายล้อขวาจะวิ่งเร็วไม่เท่ากัน ก็เลยหยิบปากกาขึ้นมาเขียนว่าเราจะทำอะไรได้จากความเร็วที่ต่างกัน ลองแก้สมการ คำนวณหารัศมีวงกลมได้จากระยะทางที่ล้อ 2 ข้างวิ่ง นี่เป็นพื้นฐานคณิตศาสตร์กับฟิสิกส์ แต่ยังไม่มีส่วนของ engineer ตอนนั้นเราเขียนโปรแกรมไม่เป็นเลย สมัยนั้นไมโครคอนโทรลเลอร์เป็นเรื่องที่ไกลตัวมากสำหรับเรา
“จากนั้นนั่งรถเมล์มาจากศาลายามาบ้านหม้อเพื่อมาถามว่าถ้าผมจะเริ่มเขียนโปรแกรมผมควรทำยังไงครับ? ซื้อของแบบนี้ต้องไปร้านไหน ไปถามร้านหนังสือว่าควรอ่านเล่มไหน เขาก็ใจดีแนะนำเรา เราก็เอาหนังสือไปลองอ่านลองเขียนโปรแกรม สุดท้ายเราก็ชอบ ได้ผลงานทั้งส่วนที่เป็นทฤษฎี ส่วนที่เขียนโปรแกรม ได้สกิลการต่อวงจรที่ต้องใช้รองรับ และได้สกิล engineer เป็นของแถม”
ผลงานที่ได้จากความรู้ด้านวิชาการ ผสมผสานกับการเขียนโปรแกรม ได้รับรางวัลชนะเลิศ YSC ปี 2008 เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขัน Intel ISEF ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา นับเป็นก้าวแรกที่ทำให้ ดร.รณพีร์ ได้เอาความสามารถของตัวเองมาสร้างคุณค่าให้กับคนอื่น
“ผมก็เหมือนเด็กทั่วไปที่อยากทำอะไรก็ทำ อยากเล่นของเล่นก็เล่น อยากเรียนรู้อะไรก็เรียน สิ่งที่เรามองข้ามไปคือประโยชน์ของงานที่เราจะทำ นี่คือสิ่งที่ YSC สอนเพื่อเตรียมงานไปแข่ง Intel ISEF
“งานที่ทำตอนนั้นก็เป็นเทคโนโลยีที่ไปต่อฟังก์ชันของรถยนต์ ช่วยในการสำรวจถนนของกรมทางหลวง ซึ่งเขาต้องวิ่งไปตามถนนเพื่อสำรวจเส้นทางว่าแต่ละช่วงมีทางโค้งมากน้อยแค่ไหน รถควรวิ่งเร็วเท่าไหร่เพื่อจะไม่หลุดโค้ง แล้วจึงทำป้ายเตือน สิ่งนี้มันติดตัวผมมาว่า
“ถ้าเราจะสร้างนวัตกรรมขึ้นมาจริงๆ ขั้นตอนแรกมันไม่ใช่แค่ความคิดว่าคุณอยากจะทำอะไร แต่จะสร้างสรรค์อะไรเพื่อไปช่วยใคร ตอบโจทย์ใคร”
จากรถเมล์วิ่งรอบอนุสาวรีย์ชัยฯ ต่อยอดไปสู่การเรียนต่อเรื่องรถยนต์ สู่ปริญญาตรี โท และเอกในเรื่องเดียวกัน รวมถึงศึกษาต่อสาขาหุ่นยนต์ที่ญี่ปุ่น จนนายรณพีร์มีตำแหน่ง ดร. นำหน้า
“เพราะทำงานเรื่องเดียวมาตลอด ต่อยอดขึ้นมาเรื่อยๆ จากรถที่วิ่งรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มันไปผูกกับโจทย์อีกเรื่องหนึ่ง คือ ผู้ขับรถทุกคนจะรู้จักเบรก ABS ป้องกันการไถลของล้อ แต่ผมมองว่า ผมก็เป็นเด็กแว้นคนหนึ่งที่ชอบรถตอนมันดริฟต์ แต่ผมเป็นเด็กแว้นที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ ผมมองว่าที่รถมันดริฟ เขาทำเอาสนุกหรือทำเพราะมันมีข้อดีในการดริฟต์ เราก็เอาความรู้ทางคณิตศาสตร์การเขียนโปรแกรมมาคำนวณหาอะไรบางอย่าง แล้วมันก็ตอบโจทย์ได้ว่า ถ้าเราควบคุมการไถลไปในโซนที่มันคุมยากหน่อย เราจะได้ benefit ของการเบรกหรือการเลี้ยวที่มากกว่านี้ ประยุกต์ได้กับ mobile platform หุ่นยนต์ที่เคลื่อนที่บนพื้น เป็นเทคโนโลยีที่นำมาประยุกต์ใช้กันได้”
งานของเราจะมีประโยชน์กับใคร? คือคำถามเมื่อครั้ง ดร.รณพีร์ ยังเข้าโครงการ YSC เข้ามาตอกย้ำและเป็นจุดเปลี่ยนความสนใจด้านเทคโนโลยี
“ในระยะเวลาสั้นๆ เทคโนโลยีที่เราสร้างมันถูกบรรจุอยู่ในรถยนต์ราคาแพง แต่รถยนต์ของไทยยังไม่มีเทคโนโลยีตัวนี้ คนที่จะได้กำไรจากเทคโนโลยีตัวนี้เป็นบริษัทรถยนต์จากต่างชาติ งานตรงนี้มันค่อนข้างเหนื่อย เราก็มามองว่าเราควรจะทุ่มความพยายามของเราไปเพื่อใคร? มันไปตอบโจทย์ให้กับเทคโนโลยีชั้นสูงสำหรับรถยนต์บางประเภท สำหรับคนที่มีเงินซื้อรถยนต์ราคาแพงเท่านั้นหรือเปล่า? หรือเราควรจะมาทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากเราจริงๆ
“ตอนไปเรียนที่ญี่ปุ่นก็เลยพยายามผันตัวเองจาก Mobile Robot หรือ Auto Mobile ที่เป็นรถยนต์หรือหุ่นยนต์เคลื่อนที่ มาเป็น Wearable Robot หรือหุ่นยนต์ที่สวมใส่บนร่างกาย เพราะมองว่าที่เมืองไทย Infrastructure ต้องพึ่งหน่วยงานรัฐบาล หรือต้องใช้เงินทุนจำนวนสูงมาสนับสนุนบางครั้ง มันก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น เราอยากเห็นคนแก่หรือคนพิการเดินขึ้นรถประจำทางง่ายๆ ถ้าเราจะเปลี่ยนรถประจำทางทุกคันให้มีบันไดเตี้ยๆ เพื่อให้คนแก่คนพิการขึ้นง่ายๆ มันทำได้ยาก คนไม่สามารถหิ้ววีลแชร์ขึ้นรถได้ ผมเลยมองว่า wearable Robot คือหุ่นยนต์ที่สวมใส่บนร่างกายอาจจะตอบโจทย์ตรงนี้ ก็เลยเปลี่ยนสายมาทางหุ่นยนต์ที่สวมใส่บนร่างกาย หวังว่าจะเอามาประยุกต์ใช้กับผู้สูงอายุ หรือคนพิการที่มีความลำบากในการเคลื่อนไหว เพราะว่าประเทศไทยก็ก้าวเข้าสู่ aging Society แล้ว”
ปรมินทร์ ประกอบแสง (ครูต่าย): โอกาสจากครูที่สร้างให้
ปรมินทร์ หรือ ครูต่าย บอกว่า ด้วยความที่ตัวเองเป็นเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง พ่อแม่เป็นเกษตรกร จึงเห็นว่าความรู้และโอกาสที่เขาจะได้รับนั้นไม่มากเท่ากับเด็กในเมือง กระทั่งเมื่อได้สมัครเป็นพี่ ค่ายโครงการค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ (eCamp) ความคิดก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป
“ตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปีที่ 2 ผมรู้จักค่ายอีแคมป์ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมรู้จัก YECC ผมสมัครเป็นพี่ค่ายสอนน้องๆ ชั้นประถมและมัธยมต่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากได้สอนน้องๆ ก็เริ่มรู้ตัวว่าชอบการสอน ชอบการเป็นครู พี่ๆ จากค่ายอีแคมป์เข้ามาบอกว่ายังมีเวทีอื่นอีกนะ เป็นเวทีการประกวดสำหรับรุ่นพี่ชื่อว่า YECC ที่จะได้เปิดโลกของตัวเอง”
ครูต่ายจึงชวนรุ่นพี่ที่เรียนอยู่คณะเดียวกันมาทำเครื่องควบคุมโรงเพาะเห็ดเพื่อเป็นชิ้นงานส่งแข่งขัน YECC ได้ไอเดียมาจากการเห็นคุณป้าท่านหนึ่งมีปัญหาเห็ดในโรงเพาะเกิดไม่พร้อมกัน
“ตอนนั้นก็ได้รู้จักการเขียนโปรแกรมบนไมโครคอนโทรลเลอร์เป็นครั้งแรก ได้ชิ้นงานส่งแข่งในเวทีของ YECC ตอนนั้นไม่ได้คาดหวังเลยว่าจะได้รางวัล แค่รู้สึกว่าเราเป็นเด็กบ้านนอกคนหนึ่งที่มาหาประสบการณ์ เวทีนั้นเป็นเวทีที่ใหญ่มากสำหรับเรา แต่พอประกาศรางวัลแล้วมีชื่อผม ผมกับพี่ที่ทำงานด้วยกันยังแอบคิดว่าเลยว่ามันจะเป็นไปได้เหรอ เรามาถึงจุดนี้แล้วเหรอ ก็เลยลองมาศึกษาทางนี้ดู แล้วก็ลองไปเวทีอื่นต่อไป”
ความตื่นเต้นกับรางวัลและความสำเร็จยังไม่ทันหาย ก็ดูเหมือนว่าอีกหนึ่งโอกาสจะวิ่งเข้ามาโดยที่ครูต่ายไม่ทันตั้งตัว แต่ครูต่ายก็พร้อมที่จะไปต่อกับโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ และโอกาสดีๆ ที่เข้ามาอีกหลายระลอก
“หลังจากได้เข้า โครงการต่อกล้าฯ คราวนี้ได้รู้จักอะไรขึ้นเยอะเลย มีโค้ชมาเทรนให้ ไม่ว่าจะเป็นตัวชิ้นงานทางด้านซอฟต์แวร์ หรือฮาร์ดแวร์ให้งานของเราขายได้ จากเดิมเครื่องเพาะเห็ดที่เป็นเครื่องใหญ่ จะยกไปไหนก็เทอะทะ หลังจบต่อกล้าฯ หนึ่งปีผ่านไปมันสามารถเป็นชิ้นงานที่ถอดประกอบชิ้นส่วนได้ง่ายได้ บ้านไหนอยากปลูกเห็ดแต่ไม่มีความรู้เรื่องเห็ดก็ปลูกได้
“หลังจากจบเวทีต่อกล้าฯ ในปีนั้น สวทช. ติดต่อมาว่า สนใจเข้าโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนของรัฐบาลญี่ปุ่น หรือ JENESYS 2015 ไหม ผมก็เข้าไปดูรายละเอียดแล้วก็ตกลงไป เป็นครั้งแรกที่ผมได้เดินทางไปต่างประเทศ ผมเป็นเด็กบ้านนอก ฝันอยากขึ้นเครื่องบิน บอกแม่ว่าผมอยากขึ้นเครื่องบิน หยอดกระปุกทุกวันเพื่อที่จะได้มีโอกาสขึ้นเครื่องบิน ผมได้ไปญี่ปุ่นครั้งแรกโดยไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายสักบาท มันเป็นภาพที่ประทับใจมากสำหรับผมที่จำมาจนถึงทุกวันนี้ เพื่อนที่ไปด้วยมาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มีผมคนเดียวที่มาจากมหาวิทยาลัยเล็กๆ
“ในชิ้นงานเดิมนี้ ผมก็ได้เอาเข้าไปร่วมในโครงการเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา ผมอยากลองเอาชิ้นงานที่ผมได้ต่อยอดในโครงการต่อกล้าฯ มันจะไปได้ไกลแค่ไหน หลังจากนั้นพอประกาศรางวัลออกมาผมได้รางวัลดีเด่นด้านช่วยเหลือสังคม เริ่มรู้สึกว่าตัวเราก็ไม่ธรรมดา ที่มาได้ไกลขนาดนี้”
เบื้องหลังความสำเร็จและโอกาสที่ได้รับ ครูที่ปรึกษาของเขาคือคนที่อยู่เบื้องหลัง ต่อมาบทบาทความเป็นครูได้ส่งต่อมายังครูต่ายเมื่อได้มีโอกาสมาทำงานเป็นครู
“พอผมได้มาเป็นครู ผมจึงรู้ว่าเหตุผลที่ครูที่ปรึกษาของผมพาผมมาถึงจุดนี้ ทำไมต้องเข้มงวดกับผม ตามผมมาทำงานกับชิ้นงานนี้ ผมไปนอนที่บ้านครู ชิ้นงานก็ทำที่บ้าครู มีอะไรขาดเหลืออะไรก็บอกครู เขาก็ช่วยหาเต็มที่ ขอแค่ให้เราได้มา จนปัจจุบันผมได้เป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ ผมอยากเป็นอาจารย์แบบอาจารย์ท่านนี้ เป็นอาจารย์ที่สร้างคน
“ผมมองแววตาของนักเรียนเวลาที่ผมสอน ผมจะสอนให้เด็กตื่นเต้น ให้เด็กรู้สึกว่ามันจะมีอะไรอีกต่อไป ในคาบนี้มันจะมีอะไรที่ตื่นเต้นอีก”
เทคนิคการสอนของครูต่ายคือการให้ลูกศิษย์ได้นำความรู้จากห้องเรียนมาทดลองสร้างผลงานจริงกับเรื่องใกล้ตัว บวกกับการสร้างบันดาลใจ และท้าทายความสามารถของเด็กๆ ซึ่งเด็กๆ ของครูต่ายได้พิสูจน์ฝีมือให้เห็นแล้ว
“ห้องน้ำแผนกไฟฟ้าเต็มไปด้วยระบบอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเป่ามือ ก็อกน้ำ โถปัสสาวะ ผมจะบอกนักเรียนให้ไปหาว่าเขาขายกันในราคาเท่าไหร่ นักเรียนกลับมาบอกว่า ‘อาจารย์ครับมันมีราคาหลายพันจนถึงหลักหมื่นเลยนะครับ’ แต่ผมชวนนักเรียนทำในราคาไม่ถึงพัน ในขณะที่ตอนนี้บึงกาฬเป็นจังหวัดใหม่ยังไม่มีสนามบิน ยังไม่มีห้างใหญ่ๆ แม้แต่โรงหนังก็ยังไม่มี ต่อไปเป้าหมายของผมจะเอาเด็กๆ อาชีวะกลุ่มนี้เข้ามาสู่เวทีนี้ให้ได้”
สามคนคุณภาพแบบนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีโอกาสให้เด็กได้ลองเรียนรู้ ฝึกฝน และทดลองลงมือทำ บวกกับมีพื้นที่ให้แสดงความสามารถ สั่งสมประสบการณ์ไปใช้ต่อยอดทำงานจริงในอนาคต
และคำถามที่ว่า “เวทีประกวดช่วยสร้างคนได้อย่างไร” สามคนนี้ตอบไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุดแล้ว