- บทความภาคต่อจากโรงเรียนธรรมชาติ คราวนี้ถึงที ‘วิชาลูกทะเล’ พาเด็กไปใช้ชีวิต มากิน มานอน บนเนินทราย อยู่หนึ่งสัปดาห์เต็มๆ
- ‘ลูกทะเล’ เป็นหนึ่งในวิชา ‘เป็น-อยู่-คือ’ ที่จะฝึกให้เด็กๆ ได้ทดลองใช้ศักยภาพของตัวเองในการหากิน โดยเอาพื้นที่จริงมาให้เด็กๆ ได้ใช้เป็นห้องเรียน
- ทำให้เด็กๆ ได้รู้จักทะเลในอีกมิติ เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญไม่น้อยกว่า ‘นาข้าว’ เราคงไม่ต้องบอกเด็กๆ กลุ่มนี้ว่า “อย่าทิ้งขยะลงทะเล” อีกแล้ว
ผมพาเด็กๆ กว่ายี่สิบคนมายืนอยู่บนสันทรายชายหาด มองเห็นเรือประมงลำเล็กวิ่งลิ่วมุ่งหน้าเข้ามาหาพวกเราที่ยืนเรียงรายกัน เพียงไม่กี่นาทีเรือลำนั้นก็มาเกยหาดทราย ชายร่างคล้ำกระโดดแผล็วลงมาจากเรือ ขณะที่ผมกับเด็กๆ กรูลงไปล้อมลำเรือนั้นไว้ กลางลำเรือมีเข่งใหญ่ที่เต็มไปด้วยปูม้าขนาดตัวเกินฝ่ามือ
“เอ้า… เด็กๆ สวัสดีครูบังนีก่อน” ผมบอกเด็กๆ ให้สวัสดีชายเจ้าของเรือที่เรากำลังห้อมล้อมอยู่
นี่คือ ‘บังนี’ หนึ่งในบรรดา ‘ครู’ ที่จะสอนเด็กเมืองให้รู้จักแก่นแท้ของทะเล ต้อนรับพวกเราพร้อมปูเข่งใหญ่
สีหน้าท่าทางของเด็กในเมืองยามนี้ต่างตื่นเต้นราวกับเห็นของเล่นใหม่ “มันตายหรือยัง” “จับยังไง” “ปลาหมึกมีชีวิตไหม” “ผมเอาไปปล่อยได้ไหม” “มันว่ายน้ำยังไง” หลากหลายคำถามพรูพรั่ง จนทั้งครูบังนีและผมตอบแทบไม่ทัน ก่อนที่ผมจะไล่ต้อนเด็กๆ ออกเพื่อให้ครูบังนีได้จัดการกับเรือ และปูเข่งใหญ่
ฉากแรกของ วิชา ‘ลูกทะเล’ ช่างน่าตื่นตาตื่นใจเสียจริงๆ ผมเองก็ตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้พาเด็กๆ มาฝึกเป็นลูกทะเล สีหน้าแววตาของเด็กๆ แต่ละคนประทับอยู่ในความทรงจำของผมทุกครั้งที่ได้มายืนอยู่หน้าหาดสวนกงแห่งนี้
นี่เป็นเพียงวันแรก อีกเจ็ดวันที่เหลือจะมีเรื่อง สนุก สุข หรือ ทุกข์ แค่ไหน รอลุ้นกันครับ
เพราะเด็กๆ รู้ว่าข้าวมาจากนา แต่อาจไม่รู้ว่าปูปลามาจากไหน
ปลายเดือนเมษายน เนินทรายใหญ่ใต้ร่มเงาของสนทะเลที่เคยเป็นที่วิ่งเล่นของเด็กๆ ผิวคล้ำเข้ม เป็นที่ที่ผู้ใหญ่ขับรถเครื่อง ขับรถปิคอัพมาปูเสื่อนั่งกินอาหารที่หอบหิ้วมาจากบ้าน ตอนนี้กลายเป็นลานกางเต็นท์หลากสี เด็กวัย 6-10 ขวบมากกว่ายี่สิบคนกำลังวิ่งเล่นกันไปทั่วเนินทราย ผู้ใหญ่ต่างถิ่นหลายคนกำลังจัดเตรียมที่หลับที่นอนภายในเต็นท์
เป็นภาพที่แตกต่างไปจากความคุ้นชินเดิมๆ ของผู้คนในละแวกนี้ แต่ไม่ใช่เรื่องแปลกใจแต่อย่างใด เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จะมีกองพลย่อมๆ ของเด็กเมืองเหล่านี้ ทั้งหมู่บ้านต่างรู้กันดีว่านี่คือ เด็กๆ ลูกศิษย์ของผมที่พากันมาอยู่ มากิน มานอน บนเนินทรายเหล่านี้ เพื่อมาฝึกเป็น ‘ลูกทะเล’ ตลอดหนึ่งสัปดาห์เต็ม
เนินทรายที่ทอดยาวขนานไปกับถนนลาดยางของหมู่บ้านสวนกง อำเภอนาทับ จังหวัดสงขลา เชื่อมต่อกับผืนทะเลกว้าง ที่ว่ากันว่าเป็นแหล่งอาหารทะเลชั้นดี ทรัพยากรสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ แค่ทะเลหน้าหาดก็สามารถหากินได้ง่ายๆ
“ทำไมต้องเป็นที่นี่ กระบี่ ภูเก็ต หรือที่อื่นๆ ก็ทะเลสวยนะ” ผู้ปกครองบางท่านอยากทราบ
“ทะเลแต่ละที่อาจจะไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่ แต่ที่ผมเลือกที่นี่เพราะมี ‘ครู’ อยู่ครับ ที่อื่นๆ ผมไม่แน่ใจว่าชาวบ้าน ชาวประมงพื้นบ้านเขาจะอยากสอนพวกเราไหมครับ”
“ก่อนหน้านี้มีชาวบ้านบางคนประสานผ่านเพื่อนให้ผมมาดูสถานที่ว่าสามารถใช้พื้นที่เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติได้ไหม ผมมาดู ก็พบว่าที่นี่ไม่ได้มีแค่ชายหาดกับทะเล ยังมีเนินทรายเก่าแก่ บนเนินทรายมีป่าที่มีพืชที่น่าสนใจหลายชนิด เช่น พวกหม้อข้าวหม้อแกงลิง ไลเคน เฟิร์น ผมก็เลยเสนอว่าเราลองพาเด็กๆ มาเรียนรู้เรื่องนิเวศชายหาดกัน ผมกลับมาใหม่พร้อมเด็กๆ อีกสิบกว่าคน และชวนเด็กๆ ที่อยู่ในภาคใต้อีกจำนวนหนึ่งมาร่วมขบวนในการทำความรู้จักกับพื้นที่และนิเวศของทะเล ชายหาด และป่าสันทราย นั่นเป็นจุดเริ่มต้น ระหว่างเรียนพอมีเวลาว่างก็ทำความรู้จักกับชาวบ้านไปด้วย คุยไปคุยมา ผมสะดุดกับคำว่า ดุหลำ หรือการฟังเสียงปลาของบังนี ผมซักไซ้จนได้ความ บังนียังใช้วิธีนี้ในการหาปลาอยู่ ไม่ใช่ศาสตร์โบราณที่ตกยุคไปพร้อมๆ กับการมาของเครื่องโซนาร์ ผมมองเห็นภาพที่สอดคล้องกับวิถีการเรียนการสอนของ BNS ที่ผมเน้นเรื่องการใช้ทักษะในเรื่องเซนส์ของเด็กๆ โดยเฉพาะการฟัง กลับกรุงเทพฯ มาคราวนั้น ผมวางแผนเรื่องเรียนของเด็กๆ ใหม่ และนั่นคือการเกิดขึ้นของวิชาลูกทะเลครับ”
‘ลูกทะเล’ เป็นหนึ่งในวิชา ‘เป็น-อยู่-คือ’ ที่จะฝึกให้เด็กๆ ได้ทดลองใช้ศักยภาพของตัวเองในการ ‘หากิน’ โดยเอาสถานการณ์จริง พื้นที่จริงมาให้เด็กๆ ได้ใช้เป็นห้องเรียน โดยใช้เวลา 6-7 วัน ในการฝึกฝนเรียนรู้
ทำไมถึงเลือกทะเล เพราะว่าเด็กๆ จะคุ้นเคยกับอาหารที่เรากินกันทุกวัน ส่วนใหญ่จะมาจากทะเล ไม่ว่าจะเป็นปู ปลา กุ้ง หอย แมงกะพรุน รวมไปถึงเครื่องปรุง เช่น กะปิ น้ำปลา แต่เด็กเมืองน้อยคนมากที่จะรู้ว่าอาหารเหล่านี้มีที่มาอย่างไร เด็กยุคใหม่จำนวนมากคุ้นเคยการทำนาปลูกข้าว มีคอร์สสอน-เรียนเรื่องการดำนา เกี่ยวข้าว พร้อมลงมือปฏิบัติจริง แม้จะไม่ครบถ้วนทั้งขบวนการก็ตามที แต่เด็กๆ ก็พอได้เห็นเส้นทางเดินของ ‘ข้าว’ ก่อนจะมาถึงมื้ออาหาร หรือแม้แต่ พืช ผัก ผลไม้ ต่างๆ ก็มีแหล่งเรียนรู้มากมาย
แต่กับอาหารจากทะเล หากเด็กๆ ไม่ได้เป็นลูกหลานชาวประมง ก็จะเป็นเรื่องไกลตัวมาก แหล่งเรียนรู้ก็มีแต่ภาพกับวีดิทัศน์ การจะไปเรียนรู้จากของจริง และได้ลงมือปฏิบัติจริงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย จึงเป็นเรื่องที่ควรจะสร้างเนื้อหาการเรียนรู้ให้เด็กๆ ได้ทดลองสัมผัสจริง ลงมือปฏิบัติจริง เพื่อที่เมื่อใดที่เรากินอาหารทะเล เด็กๆ จะมองเห็นภาพที่มาของอาหารเหล่านี้ รวมทั้งมองเห็นคุณค่าของอาหารมากขึ้น
แหล่งอาหารทะเลไม่ได้มีเพียงในร้านซูเปอร์มาร์เก็ต หรือตลาดสดเท่านั้น และแหล่งอาหารจะอุดมสมบูรณ์ได้ ก็ต้องมาจากสภาพแวดล้อมที่ดี อาหารทะเลก็ต้องมาจากทะเลที่ดี ถึงเวลานั้นเราก็คงไม่ต้องพูดถึงหรือบอกเด็กๆ แล้วว่า ทำไมเราต้องรักษาทะเลไว้ ทำไมเราจึงต้องดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ผมเชื่อว่าเด็กๆ จะเข้าใจได้มากขึ้น
ผมกำหนดเวลาไว้ในเบื้องต้น 6-7 วัน ซึ่งเป็นปัญหากับผู้ปกครองอยู่พอสมควรที่ไม่สามารถลางานได้ตลอดทั้งสัปดาห์ เนื่องจากนักเรียนที่ผมรับมีอายุอยู่ในช่วง 8-10 ขวบ ซึ่งมีเด็กหลายคนที่ยังดูแลตัวเองได้ไม่ดีนัก หรือผู้ปกครองคิดว่าลูกของตัวเองยังเล็กเกินไป ต้องมีผู้ปกครองอยู่ด้วย มีนักเรียนบางส่วน ราว 6-7 คน ที่พ่อแม่ปล่อยให้มากับทีมครู พ่อแม่บางส่วนตั้งใจว่าจะให้ลูกได้ทดลองรับผิดชอบตัวเองดูบ้าง
นักเรียนลูกทะเลในรุ่นที่ผ่านมาเมื่อเดือนเมษา ปี 62 มีนักเรียน อายุ 7 ขวบ ที่พ่อแม่ปล่อยให้มากับครู อายุขนาดนี้จะว่าเล็กเกินไปไหมที่จะต้องดูแลตัวเองตลอด 8 วัน ที่อยู่กับครู พูดยากครับ ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความใจแข็งของพ่อแม่แต่ละบ้านมากกว่า บางวันอาจจะมีคิดถึงแม่บ้าง ก็ให้โทรคุยกันได้ในช่วงค่ำๆ ส่วนเรื่องการจัดการเรื่องเสื้อผ้า อาบน้ำ เข้านอน ผมกับทีมครูจะเข้าไปยุ่งให้น้อยที่สุด เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ทดลองจัดการชีวิตตัวเองไป ถ้ามีปัญหาค่อยมาคุยกัน ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร
เนื้อหาของ ‘ลูกทะเล’ เป็นการเรียนรู้รอบตัวของการทำประมงพื้นบ้านครับ ตั้งแต่การหากินบริเวณริมหาด เช่น การเก็บหอยเสียบ การวางอวนทับตลิ่ง หากินในทะเล เช่น การออกเรือไปวางอวน โดยใช้วิธีการดั้งเดิมของชาวบ้านในการหาฝูงปลา นั่นคือการฟังเสียงปลาใต้น้ำ การสาวอวนขึ้นจากน้ำ ทำความรู้จักกับเครื่องมือประเภทต่างๆ อวนปู อวนกุ้ง อวนหมึก อวนปลา อวนทับตลิ่ง เบ็ดราว ลอบปู การใช้เปลือกหอยจับปู การผูกอวน การแกะปูออกจากอวน การสร้างแหล่งอาศัยให้ปลาได้มีที่หลบภัย ได้มีที่วางไข่ขยายพันธุ์
การเรียนรู้เรื่อง ลม ในทิศทางต่างๆ ทั้ง 8 ทิศ ลมแบบไหนจะเหมาะกับการจับสัตว์น้ำแบบไหน ช่วงฤดูกาลหรือเดือนไหนจะเหมาะสำหรับการออกไปจับหมึก เดือนไหนจับกุ้ง
สุดท้ายเมื่อจับสัตว์น้ำมาได้ และกินไม่หมด ต้องมีการถนอมอาหาร เช่น การทำปลาเค็มฝังทราย
ทั้งหมดเป็นหลักสูตรเร่งรัดให้เด็กๆ ในเมืองได้มองเห็นทะเลในอีกมิติหนึ่งที่ไม่ได้มีไว้แค่เล่นน้ำ ก่อกองทราย ผมเชื่อว่าวิชา ‘ลูกทะเล’ จะเปลี่ยนมุมมองทะเลของเด็กๆ ไปบ้างไม่มากก็น้อย
น้ำทะเลสีครามเข้มช่างยั่วยวนใจให้วิ่งเข้าใส่เสียจริงๆ แต่กติกาคือ ห้ามลงน้ำหากครูเกรียงไม่อนุญาต นี่คือกติกาสำคัญ หากใครฝ่าฝืนมีโทษหนักคือ งดเล่นน้ำในวันต่อๆ ไป
บ่ายแก่ๆ ของวันแรก เราพาเด็กๆ ไปยังชายหาดเพื่อปฏิบัติการหาน้ำจืดเอาไว้ใช้ โดยเราจะขุดหลุมทรายให้ลึกลงไปราวๆ หนึ่งเมตร ที่ ‘ครูบังซบ’ บอกว่าเราจะได้น้ำจืดมาไว้ใช้ ช่างขัดแย้งกับความเป็นจริงที่ว่าชายทะเลจะต้องมีน้ำทะเลซึมผ่านเข้ามาอย่างแน่นอน แต่ทำไมน้ำที่ได้จึงไม่เค็ม กลายเป็นน้ำจืดได้อย่างไร
คนทะเลสมัยก่อนเวลาออกเรือไปหาปลา แวะนอนตามหาด ก็ใช้วิธีนี้เอาน้ำจืดมาใช้ จะได้ไม่ต้องขนน้ำจืดลงเรือไปให้หนักเรือ
วิชาดุหลำ – ฟังปลา
คืนแรกของการนอนเต็นท์บนเนินทรายหาดสวนกง อบอ้าวจนค่อนข้างร้อน ทั้งลมที่นิ่งในช่วงค่ำ ทั้งการกางเต็นท์ที่ชิดกันมากเกินไปจนขวางทางลมซึ่งกันและกัน ทำเอาเด็กๆ นอนหลับๆ ตื่นๆ กันไปตลอดคืน แต่ก็หมดสิทธิที่จะลุกขึ้นมานั่งเล่นนอกเต็นท์ เพราะไม่มีใครอยู่แล้ว ต่างคนต่างเข้านอน นี่คือบทเรียนแรกของการปรับตัว
ตีห้า เด็กๆ หลายคนตื่นได้ตามเวลานัดหมาย ผมแจ้งไว้ตั้งแต่ก่อนนอนว่าตีห้าครึ่งเราจะพร้อมเรียนบทเรียนแรกกัน พร้อมคือ ชุดพร้อมลงน้ำ และใส่ชูชีพเรียบร้อยแล้ว เราจะลงน้ำกันตอนฟ้าเริ่มสว่าง
ครูบังนียืนรออยู่บนหาดทรายริมน้ำ พร้อมอวนยาวกว่าสองร้อยเมตรกำลังคลี่ออก เมื่อเด็กมากันพร้อม ครูบังนีลากหัวอวนลงทะเลไป โดยมีเด็กๆ เกาะติดตามไปด้วย ชั่วเวลาไม่นานนัก หัวอวนก็ตีวงโค้งออกไปไกลในทะเล และวกเข้ามายังฝั่งอีกด้านหนึ่ง อวนแผ่ออกเป็นรูปครึ่งวงกลม ครูบังนีค่อยๆ สาวอวนเข้าฝั่ง หวังว่าจะล้อมปลาให้ติดตาข่ายอวนมาได้บ้าง เป็นการทำ ‘อวนทับตลิ่ง’ ของการหาปลาชายฝั่งแบบง่ายที่สุด แต่อาจจะไม่ได้ปลาถ้าไม่สามารถดูฝูงปลาหน้าหาดได้ นั่นคือลำดับต่อไปที่เราจะให้เด็กๆ ได้หัดสังเกตฝูงปลา แต่บทแรกเอาแค่วิธีทำอวนทับตลิ่งก่อน ซึ่งคราวนี้เราได้ปลาตัวจิ๋วๆ ไม่กี่ตัว บวกกับแมงกะพรุนอีกหลายตัว เราสรุปบทเรียนกันสั้นๆ ว่าทำไมจึงไม่ได้ปลา
“เช้านี้ครูยังไม่เห็นฝูงปลาเลย” ครูบังนีบอกเรา “แต่เราก็ลงอวนเพื่อให้ได้รู้จักวิธีทำกันก่อน เดี๋ยววันต่อๆ ไป เราจะทำใหม่”
ปลาที่ได้ ไม่ตายเปล่าครับ บางตัวที่ยังแข็งแรงดีเมื่อปลดจากอวนได้เราก็ปล่อยลงน้ำไป ตัวไหนทำท่าไม่รอดเราส่งไปห้องครัวเป็นอาหารสดๆ จากทะเลของเราเช้านี้ครับ
เราเริ่มฝึกดุหลำกันในตอนเช้าของวันต่อมา หลังจากเราเก็บอวนทับตลิ่งรอบสองเรียบร้อยแล้ว วันแรกขอแค่ให้เด็กๆ ได้เข้าใจเบื้องต้นว่าดุหลำคืออะไร และเราก็ฝึกการใช้หูในการฟังเสียงต่างๆ ใต้น้ำ โดยครูบังนีจะทดลองตบมือหรือกระทืบเท้าใต้น้ำ ครั้งแรกแทบจะไม่มีใครได้ยินเสียงอะไรเลย แต่พอฝึกไปหลายๆ รอบก็เริ่มได้ยินเสียง และเด็กๆ ก็ตอบได้ใกล้เคียง เราจะฝึกกันแบบนี้อีกหลายครั้ง ก่อนจะลงไปทดสอบฟังเสียงกันกลางทะเลอีกทีในวันที่เราต้องออกไปหาปลากับเรือประมง
เพื่อให้การฝึกใช้หูได้ประสิทธิภาพมากขึ้น เราจำเป็นจะต้องปิดตา แม้ว่าการหลับตาเมื่อดำน้ำจะทำอยู่โดยอัตโนมัติอยู่แล้วก็ยังไม่เพียงพอ นั่นทำให้ครูบังนีทดลองฝึกในความมืดของกลางคืนดูบ้าง ทุ่มเศษของวันต่อมา เด็กๆ 20 คนก็ใส่ชุดลงน้ำ พากันเดินลงทะเลไปอยู่ในวงล้อมของผู้ปกครองที่ลงไปจับมือยืนล้อมเป็นวงกลมรออยู่แล้ว
พรายน้ำสีเขียวจากแพลงก์ตอนสะท้อนแสงเลือนรางผุดพรายขึ้นระยิบระยับเมื่อเด็กๆ กวาดมือไปมาใต้น้ำ เป็นภาพมหัศจรรย์ตื่นตาตื่นใจทั้งเด็กๆ เองและผู้ปกครองด้วย
เด็กๆ ดำผุดขึ้นลง ขึ้นลง อยู่มากกว่าสิบครั้ง เพื่อให้หูได้ปรับตัวในการได้ยิน เราผ่านการฝึกในตอนกลางวันมาแล้ว วิธีการจึงไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงแต่ต้องพยายามฟังเสียงที่เกิดขึ้นใต้น้ำให้ได้ เด็กๆ เกือบทั้งหมดสามารถได้ยินเสียงที่ครูบังนีทำขึ้นใต้น้ำได้เป็นอย่างดี และสามารถบอกทิศทางที่มาของเสียงได้ใกล้เคียง หลายคนไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า หูของตัวเองจะได้ยินเสียงใต้น้ำได้
ได้เวลาคนเล็กออกจากฝั่ง
ผมพยายามวางตารางเรียนไว้แบบหลวมๆ แต่เอาเข้าจริงก็มีอะไรให้เด็กๆ ได้ทำทั้งเช้าและบ่ายไม่มีหยุดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการไปเรียนเรื่องการแกะปูออกจากอวนอีกหมู่บ้านหนึ่ง การไปดูการย่างปลาแบบง่ายๆ ที่ชาวบ้านทำขาย การผูกอวน ทำความรู้จักกับอวนที่ใช้ในการจับสัตว์น้ำที่แตกต่างกัน การทำปลาเค็มฝังทราย ไปตัดทางปาล์มเพื่อมาเตรียมทำ ‘อูหยำ’ (นำทางปาล์ม 4-5 ทาง มาผูกติดกัน แล้วผูกด้านหนึ่งด้วยถุงทรายเพื่อถ่วงให้จมลง ก่อนนำไปวางในทะเลเพื่อให้ปลาได้มีที่หลบภัย หรือวางไข่ คล้ายๆ แนวปะการัง)
และวันสำคัญที่เด็กๆ รอคอยก็คือการออกเรือไปหาปลากลางทะเล เป็นการออกไปจับปลาจริงๆ เราแบ่งเด็กลงเรือประมงชายฝั่งของชาวบ้านสามลำด้วยกัน แถมอีกลำหนึ่งเป็นของผู้ปกครองที่อยากจะเห็นวิธีการของจริงด้วยเช่นกัน โดยวันนี้ครูบังนีจะทำการจับปลาโดยการใช้วิธี ดุหลำ คือการฟังเสียงปลาใต้น้ำ ว่ามีปลาอยู่บริเวณไหนบ้าง เราจะไม่วางอวนแบบสุ่มสี่สุ่มห้า จะทำให้เราเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์
เรือประมงขนาดใหญ่มีเครื่องมือช่วยที่เรียกว่า ‘โซนาร์’ เป็นเรดาห์ที่ส่องทะลุไปใต้ผิวน้ำเพื่อตรวจหาฝูงปลาว่าอยู่แถวไหนบ้าง ก่อนจะลงอวน ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกันกับ ‘ดุหลำ’ เพียงแต่เครื่องมือที่ครูบังนีใช้เป็นอุปกรณ์ที่ติดตัวครูบังนีและพวกเราทุกคนมาตั้งแต่เกิด
แต่การฟังเสียงใต้น้ำก็ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ใครก็ได้ดำน้ำลงไปแล้วเราจะได้ยินและอ่านเสียงนั้นออก ต้องผ่านประสบการณ์ในการฝึกฝนมาพอสมควร เราได้ยินเสียงแน่ๆ แต่เราไม่รู้เลยว่าเสียงที่ได้ยินนั้นคือเสียงของอะไร สำหรับเด็กๆ เราต้องการเพียงให้ได้ยินเสียงใต้น้ำเท่านั้นก็พอ แต่ถ้าสามารถแยกเสียงหรือทิศทางที่มาของแต่ละเสียงได้ก็ยิ่งดี
เรือพาเราแล่นลิ่วออกไปสู่ความเวิ้งว้างของทะเล มองเห็นหาดสวนกงอยู่ไกลลิบ ครูบังนียืนเด่นอยู่บนหัวเรือ ราวสิบห้านาทีครูบังนีก็ส่งสัญญาณให้ครูบังซบที่เป็นคนขับเรือจอดลอยลำ ก่อนที่ตัวเองจะหย่อนตัวลงทะเลไปแบบเงียบๆ และดำหายไปพักใหญ่ ครูบังนีกลับขึ้นเรือ แล้วบอกทิศทางให้ครูบังซบขับเรือมุ่งหน้าไปอีกด้านหนึ่ง เขาไม่ได้ยินเสียงปลามากพอที่จะวางอวนได้ เลยขอย้ายไปดูบริเวณอื่นแทน
ครูบังนีลงน้ำไปอีกสองสามรอบ ก่อนจะส่งสัญญาณด้วยแกลลอนน้ำมันสีขาว (แกลลอนสีขาวจะช่วยให้คนบนเรือสังเกตเห็นได้ง่ายในระยะไกล) ให้ครูบังซบค่อยพาเรือเข้าไปใกล้ๆ จากนั้นอวนยาวกว่า 500 เมตรก็ค่อยปล่อยลงทะเล ตีวงกว้างก่อนแล้วจึงค่อยบีบให้แคบลงเรื่อยๆ ช่วงนี้เราให้เด็กๆ ที่อยู่เรือลำอื่นสลับกันข้ามมาบนเรือที่วางอวน เพื่อให้ทุกคนได้ฝึกการวางอวนลงทะเล น่าจะชั่วโมงเศษๆ เราจึงค่อยๆ สาวอวนกลับขึ้นเรือ ได้ปลาติดขึ้นมาบ้าง ทำเอาเด็กๆ ตื่นเต้นกันใหญ่ ที่ได้เห็นปลาเป็นๆ จากทะเลและส่วนหนึ่งมาจากฝีมือของพวกเขา แม้ปลาที่ได้จะไม่ได้มีขนาดใหญ่โตมากนัก แต่เพียงแค่นี้ก็จะประทับฝังลงไปในใจของพวกเขาตลอดกาล เป็นประสบการณ์อันมีค่าของเด็กเมืองหลายคนที่เคยรู้จักทะเลแค่ชายหาด
หลังจากสาวอวนขึ้นจนเรียบร้อย เราจะทดลองฝึก ‘ดุหลำ’ กันอีกครั้งเป็นการส่งท้าย แต่ครั้งนี้เป็นกลางทะเล ที่ขายืนไม่ถึง เด็กหลายคนยังว่ายน้ำไม่แข็งนัก และหวั่นๆ กับการออกไปลอยคอกลางน้ำ แต่สามสี่วันที่ผ่านมาเราได้กล่อมพวกเขามาระดับหนึ่งแล้ว วันนี้จึงไม่ใช่เรื่องยากที่ทุกคนจะกระโดดตูมลงไปลอยคออยู่กลางทะเลได้โดยไม่วิตกกังวลอะไร ก้าวข้ามความกลัวและเพิ่มความมั่นใจในตัวเองขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง
การทดสอบรอบนี้เด็กๆ ‘ได้ยิน’ และแยกเสียงที่เกิดขึ้นใต้น้ำได้มากขึ้น บอกทิศทางที่มาของเสียงได้แม่นยำขึ้น ทั้งหมดไม่ได้มีอะไรพิเศษ เพียงแค่การได้ฝึกแค่นั้นเอง จบภารกิจ เล่นน้ำตามสบาย ก่อนจะขึ้นเรือกลับเข้าฝั่ง
ร่ำลา ‘พ่อทะเล’
ปลาทูสดตัวเขื่องเกือบเต็มกะละมังใหญ่เมื่อหลายวันก่อนที่เด็กๆ ช่วยกันควักไส้ ใส่เกลือ แล้วห่อกระดาษ และนำไปรวมกันในกระสอบใบใหญ่อีกครั้ง ก่อนจะถูกฝังลงในหลุมทรายบนชายหาดในจุดที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึง เพียงห้าวัน ความเค็มยังไม่เข้าเนื้อดีนัก แต่ก็ได้เวลาที่พวกเราจะต้องลาหาดสวนกง จึงต้องขุดขึ้นมาก่อนกำหนดเพื่อเอาไปผึ่งแดดต่อที่บ้าน
เด็กๆ ร่ำลาครูที่เป็น ‘พ่อทะเล’ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นครูบังซบ ครูบังลี ครูบังเหด ครูบังหมาน ครูบังนี รวมทั้งครูก๊ะเลาะ ครูก๊ะตี ที่มาพาเด็กๆ หาหอยเสียบริมทะเลเมื่อวันวาน ขอบคุณทุกๆ คนในหมู่บ้านที่ให้ผมและเด็กๆ มารบกวน
วิชา ‘ลูกทะเล’ ได้ทำให้เด็กๆ รู้จักทะเลในอีกมิติหนึ่งที่เป็นทั้งที่เล่นสนุก เป็นทั้งแหล่งอาหารที่สำคัญไม่น้อยกว่า ‘นาข้าว’ เราคงไม่ต้องบอกเด็กๆ กลุ่มนี้ว่า “อย่าทิ้งขยะลงทะเล” อีกแล้ว