- แพทย์แคนาดาสามารถออก ‘ใบสั่งยาให้ไปชมพิพิธภัณฑ์’ แก่ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะซึมเศร้า โรคเบาหวาน โรคเรื้อรังต่างๆ
- ประเด็นสำคัญอยู่ที่ cortisol และ serotonin เป็นฮอร์โมนความสุขจะหลั่งเมื่อออกกำลังกาย และเมื่อเดินชมพิพิธภัณฑ์
- ศิลปะคือเครื่องมือที่จะส่งต่อ ‘การรักษา’ ได้ดีเทียบเท่ากับเครื่องมือแพทย์ทางรังสีวิทยาหรือมีดผ่าตัด
“เสียงหัวเราะอาจเป็นยาที่ดีที่สุด”
นอกจากเสียงหัวเราะจะช่วยเยียวยาร่างกายและจิตใจแล้ว ‘วัฒนธรรม’ ก็เป็นยามหัศจรรย์อีกตำรับสำหรับสุขภาพ
นั่นคือจุดเริ่มต้นความคิดและการผลักดันโครงการ ‘ใบสั่งยา-ให้ไปชมพิพิธพัณฑ์’ แก่ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะซึมเศร้า โรคเบาหวาน โรคเรื้อรังต่างๆ ในเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา
“วัฒนธรรมจะเป็นกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพในศตวรรษที่ 21” นาตาลี บอนดิล (Nathalie Bondil) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งมอนทรีออลให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือพิมพ์ Montreal Gazette หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่เก่าแก่ที่สุดของแคนาดา
Art Hive สถาบันนวัตกรรมที่มุ่งเน้นด้านศิลปะและความงาม และเป็นสตูดิโอของชุมชนที่ดูแลโดยนักบำบัดด้านศิลปะ ซึ่งผู้เข้าชมสามารถสร้างงานศิลปะเป็นของตัวเอง มีการจัดโปรแกรมเพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้าชมมีความสุขผ่านงานศิลปะ รองรับด้วยงานวิจัยจากทีมแพทย์เกี่ยวกับประโยชน์ด้านสุขภาพของการเข้าชมพิพิธภัณฑ์
ปัจจุบันสถาบันนี้ได้ร่วมมือกับ ‘Médecins Francophones du Canada’ สมาคมการแพทย์ฝรั่งเศสในแคนาดา อนุญาตให้แพทย์ที่เป็นสมาชิกสามารถจ่ายยาชมพิพิธภัณฑ์แก่ผู้ป่วยได้
เฮเลน บอยเยอร์ (Hélène Boyer) รองประธานของสมาคมการแพทย์กล่าวว่า
“มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นที่พิสูจน์ว่าการบำบัดด้วยศิลปะเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพร่างกาย โดยจะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมน cortisol และ serotonin ที่มีผลต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งฮอร์โมนทั้งสองตัวจะหลั่งออกมาเมื่อเราเข้าชมที่พิพิธภัณฑ์”
แพทย์ตั้งข้อสังเกตว่าศิลปะมีผลในเชิงบวกต่อผู้คนไม่ต่างจากการออกกำลังกาย ทศวรรษที่ 80 เป็นต้นมาแพทย์ได้รับมอบหมายให้สั่งผู้ป่วยของตนออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้ผู้ป่วยหลั่งฮอร์โมนทั้งสอง ในทิศทางเดียวกัน บอยเยอร์ เชื่อว่าการเข้าชมพิพิธภัณฑ์สามารถรักษาอาการของผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย และยังเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงในการออกกำลังกายหรือผู้สูงอายุ
บอยเยอร์ยังชี้ให้เห็นว่าศิลปะสามารถช่วยผู้ป่วยที่ประสบปัญหาทั้งทางร่างกายและจิตใจ
“ผู้คนมักคิดว่าการชมพิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งดีต่อสุขภาพจิต และเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าหรือมีอาการทางจิตเท่านั้น ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่จริง” บอยเยอร์กล่าว
ศิลปะมากกว่ายา ทั้งรักษาและป้องกัน
พิพิธภัณฑ์จะอนุญาตให้แพทย์จ่ายยารับชมพิพิธภัณฑ์ ‘ฟรี’ แก่ผู้ป่วยและผู้ดูแล 50 ครั้งต่อปี และในใบสั่งยาแต่ละชนิดอนุญาตให้ผู้ใหญ่เข้าไปชมได้ถึง 2 คน และเด็กอายุไม่เกิน 17 ปีอีก 2 คน
ซึ่งการรักษาแบบนี้ไม่เพียงได้รักษาเพียงแค่ผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังเป็นการดูแลเชิงป้องกันแก่ผู้ที่ต้องดูแลหรืออยู่กับผู้ป่วยอีกด้วย
ในสหรัฐอเมริกา The National Endowment for the Arts หรือ องค์การกองทุนเพื่อศิลปะแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระของรัฐบาลกลาง ทำงานร่วมกับแพทย์ในการบำบัดผู้ป่วยด้วยวัฒนธรรม มากว่า 10 ปีแล้ว
หลายๆ โรงพยาบาลตระหนักถึงประโยชน์และประสิทธิภาพของใบสั่งยาชนิดนี้ดี ในปี 2012 บทความในนิวยอร์คไทมส์ ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูจิตรกรรมฝาผนังของโรงพยาบาล Harlem ในนิวยอร์ค เผยคำอธิบายของ ชัค ซิโคนอลฟี (Chuck Siconolfi) สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเพื่อดูแลสุขภาพ ไว้ตอนหนึ่งว่า
“ศิลปะคือเครื่องมือที่จะส่งต่อ ‘การรักษา’ ได้ดีเทียบเท่ากับเครื่องมือแพทย์ทางรังสีวิทยาหรือมีดผ่าตัดเลยทีเดียว”