- ครูทุกคนต่างก็มีเวทมนตร์ในตัวเอง เพียงแต่ไม่รู้ว่าตัวเองมีหรือลืมไปว่ามี แต่คอร์ส Magical Classroom จะดึงเอาพลังลึกลับเหล่านี้กลับคืนมา
- ไม่ต้องใช้ทั้งไม้คทาหรือคาถาใดๆ แค่มี สติ ความไว และหัวใจของการเป็นครู ก็พอแล้ว
- สุดท้าย สิ่งที่เวทมนตร์ของครูจะเสกขึ้นมาได้ คือ ความสุขของนักเรียนและไฟของครูที่กลับคืนมาอย่างร้อนแรง
ภาพ: Ramajitti documentary
(หมายเหตุ : ห้องเรียนเวทมนต์เป็นชื่อเฉพาะของหลักสูตรที่คิดขึ้นจึงใช้คำว่า ‘เวทมนต์’ แทน ‘เวทมนตร์’ ฉะนั้นในบทความนี้จะใช้คำว่า ‘เวทมนต์’ ทั้งหมด)
ไหนจะต้องแบกรับความคาดหวังจากสังคมรอบด้าน ทั้งยังต้องอยู่ร่วมกับระบบการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงไม่แปลกที่ครูดีมีอุดมการณ์จะค่อยๆ ถูกความเครียดจากปัญหาภายนอกกัดกินพลังชีวิต ความเป็นมนุษย์ถูกบั่นทอนจนอ่อนล้าเกินจะยึดมั่นในอุดมการณ์ของตนได้ต่อไป ส่งผลกระทบไปถึงห้องเรียนและกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนไปอย่างน่าเสียดาย
จึงเป็นที่มาของคอร์ส ห้องเรียนเวทมนต์ หรือ Magical Classroom: meaningful learning หรือ เวทมนต์คาถาในการสร้างการเรียนรู้ที่เปี่ยมความหมาย ภายใต้ ‘โครงการก่อการครู’ โดย ดร.ปวีณา แช่มช้อย คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการละครเพื่อการเรียนรู้และพิธีกรรมศึกษา และ กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร วิทยากรและกระบวนกรด้านการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการละคร เยาวชน และการเรียนรู้
ทั้งสองบอกกับเราว่า ปัญหาของครูข้างต้นนั้นต้องใช้เวทมนต์แก้!
และเป็นเวทมนต์ที่ครูไม่ต้องแสวงหาจากภายนอก เพียงแค่ย้อนกลับเข้าไปพิจารณาในตัวเองเท่านั้น…
Magical Classroom: ชวนครูเข้าห้องเรียนเวทมนต์
“เป้าหมายของเราคือ ทำให้ครูได้กลับไปทำให้ลูกศิษย์มีความสุข จากที่จะหมดไฟอยู่แล้ว ให้สามารถกลับไปสร้างห้องเรียนที่มีความสุขได้ โดยที่ครูมีหัวใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น เพื่อที่จะเข้าถึงหัวใจเด็ก และให้ครูมีกำลังใจที่จะเปลี่ยนห้องเรียนมากขึ้น” กิตติรัตน์ หรือ โจ้ เปิดบทสนทนาด้วยเป้าหมายของคอร์ส Magical Classroom: meaningful learning ที่เกิดจากความเชื่อที่ว่า การเรียนรู้จากครูผู้สอนผ่านตำรานั้นไม่ใช่กระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง
แต่กระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง ต้องเกิดจากการเรียนรู้ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ครูไม่เป็นเพียงผู้สอนเนื้อหาวิชา แต่คือผู้อำนวยการที่คอยส่งเสริม เยียวยา หรือกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ โดยใช้ความเป็นมนุษย์ในตัวครูนั้นสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้เรียน ผ่านกระบวนการสอนและการจัดการสิ่งแวดล้อมในห้องเรียน
“เวทมนต์เป็นประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในห้องเรียน และเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่แค่ครู 1 คนกับนักเรียน 1 ชั้น แต่เป็นครู 1 คนกับนักเรียน 1 คน 1 คน 1 คนไปเรื่อยๆ ทั้งชั้น ครูจะเชื่อมโยงกับนักเรียนแต่ละคนทั้งชั้นได้อย่างไร นอกจากนั้นยังมีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างครูกับพื้นที่ นักเรียนกับพื้นที่ในห้องเรียน ครูจะมองเห็นพลวัตที่เวียนอยู่ในห้องเรียนของตัวเองได้อย่างไร แล้วครูจะปรับเปลี่ยนกระบวนการ วิธีการสอน หรือวิธีการปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนอย่างไรให้ไปตามพลวัตที่เกิดขึ้น” ดร.ปวีณา อธิบาย
ซึ่งครูสามารถทำได้โดยใช้เวทมนตร์
“วิชาเวทมนต์ (Magic) วิชาญาณทัศนะ (Intuition) วิชาตั้งแกน (Grounding) เป็นวิชาที่มีอยู่เดิม สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในตัวครูอยู่แล้ว เราแค่กระตุ้นให้ครูมองเห็น เพื่อคืนเครื่องมือเหล่านี้ให้ครู เราจัดระบบความรู้นี้ให้ชัดเจนเป็นฮาวทู แล้วครูเอาไปใช้ได้จริงๆ เพื่อให้เกิดทางเลือกของกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่ใช่มีแค่ครูสอนผ่านตำรา” โจ้ อธิบาย
Lesson1: ค้นหา ‘เวทมนตร์’ ในตัวครู
ครูทุกคนล้วนมีเวทมนต์ของตัวเอง เพียงแต่ว่าบางคนก็ไม่รู้ว่านั่นคือเวทมนตร์ ขณะที่บางคนอาจหลงลืมเวทมนต์ของตัวเองไป
ดังนั้น ขั้นตอนแรกของคอร์ส Magical Classroom: meaningful learning จึงเป็น การให้ครูกลับเข้าไปเชื่อมโยงกับเวทมนตร์ที่ครูมีอยู่ในตัว ซึ่งเวทมนต์ในที่นี้ไม่ใช่เรื่องเทคนิคการสอน แต่คือคุณภาพหรือตัวตนที่ครูมีอยู่
“ครูแต่ละคนมีเวทมนต์ของตัวเองที่ไม่เหมือนกันนะคะ ครูคนหนึ่งอาจถนัดเรื่องหนึ่ง อีกคนถนัดอีกเรื่อง ความถนัดในที่นี้ไม่ใช่แค่ถนัดในสาขาวิชาที่ตัวเองสอนเท่านั้น แต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์กับผู้เรียน ครูแต่ละคนมีเวทมนต์ที่ใช้ในการจัดการความสัมพันธ์ในห้องเรียนต่างกัน บางคนขี้เล่น ยืดหยุ่น บางคนมีระเบียบวินัย บางคนมีความเมตตา หรือบางคนมีความมั่นคง ทีนี้จะทำอย่างไรให้ครูสามารถกลับมาดูคุณภาพของตัวเองได้ว่าตัวเองมีเวทมนตร์อะไร เพื่อที่ว่าเขาจะได้ต่อยอดเวทมนต์นั้นให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น รวมถึงดูว่าตัวเองยังขาดเวทมนต์อะไรอยู่ แล้วจะดึงเวทมนต์ที่พร่องให้ขึ้นมาอยู่ในระดับที่จะช่วยนักเรียนในห้องเรียนได้ไหม” ดร.ปวีณา กล่าว
โดยครูสามารถค้นหาเวทมนต์ของตัวเองได้ง่ายๆ ผ่านคำถาม 4 ข้อ คือ
1.เพราะอะไรจึงมาเป็นครู?
2.พันธสัญญาในการเป็นครูคืออะไร?
3.อะไรที่ทำให้ยังเป็นครูอยู่? อะไรคือไฟที่คอยหล่อเลี้ยง?
4.อะไรคือจุดเด่นที่มีอยู่ในตัวเมื่อทำแล้วสามารถเปลี่ยนเด็กได้จริง?
“จริงๆ แล้วการค้นพบเวทมนต์คือ การให้ครูกลับไปสำรวจตัวตนข้างในของตัวเองว่า ที่เขามีมันคืออะไร เช่น จริงใจจริงจัง โอบอุ้มดูแล เข้าใจความรู้สึก จุดประกายท้าทายความสามารถ สร้างความเชื่อมั่นให้กล้าหาญ เป็นต้น เมื่อครูตระหนักรู้และประจักษ์ชัดในเวทมนตร์ของตัวเอง จะทำให้ครูมีพลังในการส่งต่อเวทมนต์ที่ครูมีให้กับลูกศิษย์ได้ชัดเจนขึ้น จะเป็นพลังที่จุดประกายการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนได้” กิตติรัตน์ อธิบายไปยิ้มไป
Lesson 2.1: สร้างความมั่นคงและดึงสติให้อยู่ในห้องเรียน
แน่นอนว่าการต้องสอนและปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนหลายสิบชีวิต ไม่ใช่เรื่องง่าย ภาวะเหนื่อยล้าหรือเครียดขึ้งขณะสอน จึงเป็นสภาวะหนึ่งที่ครูต้องประสบบ่อยครั้ง
“โจทย์คือ เมื่อใดก็ตามที่ครูรู้สึกอ่อนไหวในห้องเรียน ครูจะจัดการตัวเองอย่างไรเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบไปสู่ผู้เรียน หรือจะจัดการกับผู้เรียนที่มีความอ่อนไหวในเชิงความเป็นมนุษย์อย่างไรโดยที่ทั้งครูและผู้เรียนไม่รู้สึกบาดเจ็บ เราจึงต้องมีการจัดการกับความมั่นคงภายในของครู เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพระหว่างครูกับนักเรียนขึ้น จากการที่ครูมีความมั่นคงเพียงพอ ครูอยู่กับนักเรียนจริงๆ ในห้องเรียน” ดร.ปวีณา บอกเล่าถึงโจทย์ปัญหา ที่นำมาสู่เรื่องการสร้างความมั่นคงภายในให้แก่ครูด้วยวิธีการตั้งแกน
“การตั้งแกนคือ การดึงสติให้ดำรงอยู่กับปัจจุบัน เพราะหลายครั้งที่ร่างกายครูอยู่ในห้องเรียน แต่ใจไปอยู่กับอดีตหรืออนาคต ไม่ได้อยู่กับผู้เรียนจริงๆ เราก็เลยชวนครูกลับเข้ามาสำรวจตัวตนของตัวเอง สำรวจวิธีการที่ทำให้ตัวเองเกิดความมั่นคงภายใน เพื่อที่เขาจะได้อยู่ในห้องเรียนจริงๆ ณ ที่นั่น ณ ขณะนั้นกับผู้เรียนของเขา เช่น การภาวนาสติรู้ตัวอยู่กับปัจจุบัน การรับพลังงานจากธรรมชาติ กอดต้นไม้” ดร.ปวีณา ขยายความ
Lesson 2.2: ฝึกทุกประสาทสัมผัสให้ ‘ไว’ ต่อเด็ก
เพราะในห้องเรียนนั้นมีพลวัตเกิดขึ้นตลอดเวลา การตั้งแกนเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอที่จะทำให้ครูเท่าทันถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และปรับเปลี่ยนกระบวนการเพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนได้
การทำให้ประสาทสัมผัสอยู่ในสภาวะเปิดรับต่อความเปลี่ยนแปลง จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ครูควรฝึกฝน เพื่อให้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนนั้นๆ ได้
“ญาณทัศนะเป็นเรื่องของความไวของครูเวลาอยู่ในห้องเรียน คือความช่างสังเกตของครูในการเห็นสิ่งที่ผิดปกติ หรือแม้กระทั่งเห็นสิ่งที่ปกติ หรือสิ่งที่ดีงามในตัวเด็ก หรือเห็นการร้องขอความช่วยเหลือที่มาจากนักเรียน เราช่วยครูขัดเกลาความสามารถในการจับพลังงานต่างๆ ในห้องเรียน ให้ครูสามารถอ่านพลวัตที่เกิดขึ้นในห้องเรียน อ่านพลังกลุ่ม สามารถอ่านผู้เรียนได้ว่า ณ ขณะนี้ครูควรจะปรับการเรียนการสอนของตัวเองอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับสภาวะของผู้เรียนในขณะนั้น”
แล้วญาณทัศนะที่แท้คืออะไร?
“แปลตามตัวคือ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่มาในระดับพลังงานครับ เป็นเหมือนปัญญาญาณหยั่งรู้ที่มีทั้งรูปรสกลิ่นเสียงความรู้สึกสัมผัสและภาพ เป็นการเชื่อมโยงกับปัญญาญาณระดับสูงเพื่อที่ครูจะใช้ในการมองเห็นเด็ก แล้วรู้ว่าจะช่วยเหลือการเรียนรู้ของเด็กคนนี้อย่างไร เพราะบางเรื่องนั้นต้องใช้การเข้าใจเด็กในระดับสูงมากว่า ตัวตนของเด็กเป็นอย่างไร อะไรคือความรู้สึก อะไรคือความต้องการของเขา การฝึกญาณทัศนะจะช่วยให้ครูสัมผัสได้ถึงตัวตนของเด็กในระดับสูงและลึก ว่าเด็กคนนี้ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร” โจ้อธิบาย ก่อนจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น
“ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่มาด้วยความกลัว ถ้าเราสัมผัสได้ว่าเด็กคนนี้เขารู้สึกกลัวมาก เขาก็จะแช่แข็งตัวเองอยู่กับความกลัว และปิดกั้นการเรียนรู้ของตัวเองไปเลย ไม่ว่าวิชาอะไรเข้ามาก็ไม่สามารถเรียนรู้ได้ แต่ถ้าครูอ่านพลังงานความกลัวของเด็กได้ แล้ววาระการเปลี่ยนของเขาคือการลุกขึ้นมาเป็นคนที่กล้าที่จะพูด ที่จะคิด ที่จะค้นคว้า ครูก็สามารถช่วยให้เขาปลดปล่อยศักยภาพความกล้าออกมา แล้วพลังของความกล้าก็จะนำพาเขาไปสู่การเรียนรู้ต่างๆ อีกมากมาย นั่นคือการทำงานในระดับของจิต ซึ่งมันมีพลังมากกว่าการให้วิชาความรู้เสียอีก เพราะเรากำลังให้เครื่องมือหรืออาวุธที่มีศักยภาพมาก นั่นคือ พลังการเรียนรู้ของเด็กเอง” โจ้ อธิบายต่อ
ญาณทัศนะจะช่วยให้ครู ‘ไว’ ต่อเด็ก แต่ก่อนที่ครูจะใช้ประโยชน์จากความไวของตัวเองได้นั้น ครูต้องเท่าทันความไวของตัวเองก่อน ญาณทัศนะจึงต้องมาคู่กับการตั้งแกน ถ้าครูสร้างความมั่นคงให้กับตัวเองได้ เท่าทันใจของตัวเอง ก็จะเท่าทันและเข้าใจโลกของเด็ก
อย่างไรก็ตาม ญาณทัศนะนั้นเป็นเรื่องของการรับรู้สภาวะโดยไม่ตัดสินและใช้ปัญญาในการใคร่ครวญด้วยเหตุและผล ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการฝึกฝน
“เพราะจริงๆ แล้วญาณทัศนะมีติดตัวมนุษย์ทุกคนมาตั้งแต่เกิด แต่ปัจจัยที่ตัดญาณทัศนะออกไปจากมนุษย์ก็คือการศึกษาที่มีสิ่งที่เรียกว่าถูก-ผิด มีสิ่งที่เรียกว่าชั่งตวงวัดสัมผัสได้ ถ้าไม่ใช่เรื่องนี้ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ การศึกษาบอกว่าคุณอย่าไปเชื่อเรื่องนั้น! เด็กมีเรื่องญาณทัศนะมาตั้งแต่เกิด แต่พอ 7 ขวบเข้าโรงเรียนก็ถูกตัดทันที” โจ้ กล่าวพลางหัวเราะ
ก่อนที่ ดร.ปวีณา จะเสริมว่า
“การศึกษามันแยกกายกับจิตออกจากกันค่ะ อะไรก็ตามที่เป็นเรื่องของความคิดหรือ subjective คือผิด ทุกอย่างควรจะ objective ทุกอย่างควรมีเหตุมีผลมีตรรกะ ส่วนเรื่องของความคิด ความเห็น หรือแม้กระทั่งความรู้สึก มันถูกตัดออก นี่เป็นมิติที่ขาดหายไป”
Lesson 3: สร้างพื้นที่การเรียนรู้ด้วยเวทมนตร์และศิลปะ
เพราะเรื่องของเวทมนต์คือการบริหารความสัมพันธ์ต่างๆ ภายในห้องเรียน เมื่อครูสามารถค้นพบเวทมนต์ของตัวเองและรู้จักที่จะใช้ ได้ฝึกความมั่นคงภายใน และญาณทัศนะแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การจัดกระบวนการหรือพื้นที่การเรียนรู้ ซึ่งเป็นเรื่องของพิธีกรรมทางการศึกษา
“พิธีกรรมในที่นี้คือ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียนให้นักเรียน ปกติครูคือเจ้าของพื้นที่ คือเจ้าของห้องเรียน แต่จะทำอย่างไรให้นักเรียนรู้สึกว่าตัวเองก็มีพลังที่จะเรียนรู้ ไม่ได้มีแค่ครูที่มีพลังอยู่คนเดียว”
ดร.ปวีณา ยิ้มก่อนกล่าวต่อไปว่า
“ประเด็นอยู่ที่ว่า ครูในฐานะเจ้าของพื้นที่จะจัดกระบวนการหรือจัดพื้นที่ในห้องเรียนอย่างไร ให้ผู้เรียนรู้สึกปลอดภัยและมีพลังที่จะเรียนรู้มากที่สุด พื้นที่ปลอดภัยคือพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ แต่ก็ต้องไม่ปลอดภัยมาก ต้องเป็นพื้นที่ที่อันตรายพอเหมาะ คืออยู่ตรงกลางระหว่างปลอดภัยกับอันตราย ปลอดภัยเพียงพอที่ผู้เรียนจะกล้าคิดกล้าลอง แต่ต้องไม่ปลอดภัยถึงขนาดไม่อยากเรียนรู้อะไรใหม่ พื้นที่การเรียนรู้ที่ดีควรจะท้าทายให้นักเรียนอยากลอง อยากเอาชนะ อยากแก้ปัญหา แต่ก็ไม่ได้ยากหรืออันตรายจนไม่อยากทำ ครูจะจัดสมดุลตรงนี้อย่างไรซึ่งพิธีกรรมช่วยได้ค่ะ”
การสร้างพิธีกรรมในห้องเรียนมีเป้าหมายอยู่ที่การช่วยให้ผู้เรียนเปลี่ยนผ่านจากไม่รู้ไปสู่รู้ได้อย่างราบรื่น โดยทำให้พื้นที่ในห้องเรียนเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ครูกับนักเรียนมีปฏิสัมพันธ์และเรียนรู้ไปด้วยกัน ซึ่งพิธีกรรมที่ครูจะสร้างขึ้นนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นพิธีกรรมทางศาสนา อาจเป็นเพียงพิธีกรรมเล็กๆ เช่น การไปยืนรอรับนักเรียนที่หน้าประตูห้องเรียน เพื่อเป็นการบอกว่า เมื่อนักเรียนก้าวเข้ามาแล้ว เขาจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรียนนี้ ขณะที่ตรงระเบียงคืออีกพื้นที่หนึ่ง
“ในคอร์สนี้เรากำลังจะจุดไฟแห่งการเรียนรู้ เราก็จัดโต๊ะแห่งความศักดิ์สิทธิ์ นำดอกไม้ ใบไม้ ก้อนหิน ขนนก สิ่งของจากธรรมชาติเข้ามาในห้อง มีจุดไฟ จุดเทียน ใช้แสง จัดบรรยากาศให้เหมาะกับการผ่อนคลายและเปิดใจเรียนรู้ของผู้เรียน เราอาจจะตั้งวงสนทนาเพื่อสะท้อนความรู้สึกยามเช้าก่อนที่จะเรียนรู้ร่วมกัน หรือมากไปกว่านั้นเป็นการสร้างพื้นที่การพูดคุยที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้ได้ทบทวนตัวเอง ได้ตั้งเป้าหมายชีวิต ตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองในแต่ละปีๆ ว่าอะไรที่ต้องการจะเลิก อะไรที่ตั้งใจจะทำ ซึ่งเป็นวาระของการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้เขาตระหนักรู้ในตัว สร้างตัวตนในตัวเองได้อย่างชัดเจนขึ้นผ่านพิธีกรรมง่ายๆ ที่ครูออกแบบขึ้น เพราะพิธีกรรมคือการให้ความหมายที่มันมีผลต่อจิตวิญญาณโดยตรง” โจ้ ยกตัวอย่างเสริม
ก่อนที่ ดร.ปวีณา จะทิ้งท้ายในประเด็นเรื่องพิธีกรรมว่า “มันเป็นเรื่องของการกระทำกับสัญลักษณ์ที่มีความหมาย ซึ่งครูจะใช้ศิลปะหรือเวทมนต์ของตัวเองอย่างไรเพื่อสร้างพิธีกรรมในห้องเรียน ก็แล้วแต่ครู เราเพียงช่วยให้ครูเข้าใจหลักการพื้นฐานของพิธีกรรม ว่ามันสามารถเสริมอำนาจให้ผู้เรียนได้ มันสามารถเชื่อมโยงทำให้การเรียนรู้เปี่ยมไปด้วยความหมายได้ และเราก็หวังว่า ครูจะออกแบบพิธีกรรมที่สร้างสรรค์และสนุกสนานให้กับผู้เรียนได้ ภายใต้โจทย์ที่ว่าความหมายของพิธีกรรมนั้นต้องเชื่อมโยงกับคนที่เข้าร่วมพิธีกรรม เพราะไม่อย่างนั้นพิธีกรรมก็กลายเป็นสิ่งไร้ความหมาย”
จุดไฟการเรียนรู้ เพื่อทุกคนเป็นสุข
เพราะครูทุกคนต่างมีเวทมนต์อยู่ในตัวเอง เมื่อครูมองเห็น ตระหนักรู้ และมีแนวทางในการนำเวทมนต์ของตนไปใช้พัฒนาห้องเรียนและผู้เรียนบนฐานของความเป็นมนุษย์ สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมไม่ใช่เพียงตัวครูเองที่ได้ไฟและความสุขในฐานะครูกลับคืนมา แต่ความสุขของครูย่อมส่งต่อไปถึงผู้เรียนที่เป็นอนาคตของชาติ ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นสุข และเกิดการพัฒนาตนเองต่อไปอย่างยั่งยืน
“เราดีใจที่ช่วยให้ครูมีความสุขมากขึ้น ได้คืนสัญชาตญาณและจิตวิญญาณความเป็นครู ค้นพบตัวตนที่แท้จริง ให้ครูเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง แล้วกลับไปเปลี่ยนห้องเรียน ไปจุดประกาย ส่งต่อกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นหัวใจความเป็นมนุษย์ให้เพื่อนครู นั่นคือระบบนิเวศที่เราคาดหวัง เราไม่ได้หวังที่จะให้ครูไปเปลี่ยนทั้งโรงเรียนนะ (ยิ้ม) อย่างน้อยครูไปเปลี่ยนห้องเรียนตัวเอง แล้วด้วยสายตาแบบใหม่ที่ครูมีต่อเด็ก เด็กจะเป็นฝ่ายเติมพลังให้ครู และครูจะมีไฟในห้องเรียนเอง” คุณกิตติรัตน์ เผย
“เราติดอาวุธให้ครู ช่วยให้ครูแข็งแรงขึ้น ครูไปเปลี่ยนห้องเรียน ถ้าห้องเรียนเปลี่ยนแล้ว ครูคนอื่นๆ ก็น่าจะแอบเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ และรู้สึกอยากจะเปลี่ยนด้วย แล้วก็ช่วยจุดไฟต่อกันไปเรื่อยๆ และมากกว่านั้นคือ ถ้าครูทุกคนสามารถขัดเกลาเวทมนตร์ตัวเองให้แข็งแรง แล้วสามารถส่งต่อให้เด็กได้ เด็กคนหนึ่งเจอครูหลายคน เขาก็รับเอาเวทมนต์นั้นอย่างละนิดอย่างละหน่อยเข้ามาอยู่ในตัว รับมาเป็นพลังงานที่สามารถนำไปสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมในอนาคตได้” ดร.ปวีณา ทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม