- จากภูมิปัญญาที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ สู่การเป็นสวนตาลลุงถนอม การเลี้ยงปากเลี้ยงท้องจึงค่อยๆ ปรับมาสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับตาลโตนด เพราะภูมิปัญญานี้เสี่ยงที่จะสูญหายถ้ายังไม่มีคนรุ่นใหม่มาสานต่อ จึงเริ่มเปิดให้คนภายนอกเข้ามาศึกษาเรียนรู้
- เปิดวิชานอกห้องเรียน ของ อำนาจ ภู่เงิน ผู้สืบทอดภูมิปัญญาตาลโตนด ให้ความรู้ตั้งแต่การเพาะขยายพันธุ์ การเก็บผลผลิต การแปรรูป รวมถึงการทดลองเก็บผลผลิต ทุกคนจะได้หัดบีบหัดนวดงวงตาล ส่วนการแปรรูปก็จะได้ช่วยกันเคี่ยวตาล และทำน้ำตาลสด
- “เด็กทุกคนชอบนะ กว่าจะมาเป็นน้ำตาลสักหยดหนึ่งมันยาก เขาเกิดความรู้สึกเห็นคุณค่าของอาชีพนี้ก็เยอะ ได้ผลตอบรับที่ดีพอสมควร”
ห้องเรียนแห่งนี้ไม่มีประตูหน้าต่าง มีแต่ต้นตาลสูงเสียดฟ้า และเจ้าของรายวิชาที่ชื่อ อำนาจ ภู่เงิน
ย้อนหลังไปเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว สวนตาลลุงถนอม จังหวัดเพชรบุรี เริ่มต้นด้วยความหวังที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากบนพื้นที่เพาะปลูกซึ่งทำให้ปลูกอะไรก็ตายหมด ลุงถนอม พ่อของ อำนาจ ภู่เงิน จึงทดลองปลูกต้นตาล 450 ต้น เพราะมองว่าเป็นไม้ทนทุกสภาวะและสารพัดประโยชน์ โดยมีหัวใจสำคัญคือการเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีมาเป็นวิถีธรรมชาติ และสานต่อภูมิปัญญาดั้งเดิม
ถึงวันนี้แม้ลุงถนอมจะเสียชีวิตแล้ว แต่ลูกชายยังคงสืบทอดภูมิปัญญาตาลโตนด ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกไปจนถึงแปรรูปเป็นน้ำตาลเมืองเพชร ความหวานอันทรงคุณค่าและเป็นเอกลัษณ์ทางภูมิศาสตร์ แต่ที่มากกว่านั้นคือการเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทำให้คนรุ่นลูกหลานสนุกกับวิชานอกห้องเรียน ทั้งประวัติศาสตร์ การเกษตร สังคม คหกรรม โดยมีผลพลอยได้คือความภาคภูมิใจในท้องถิ่น ในภูมิหลังและในตัวเอง
สำหรับโรงเรียนหรือครอบครัวที่อยากมาเรียนรู้ที่นี่ แนะนำให้ติดต่อนัดหมายและแจ้งวัตถุประสงค์มาก่อน เพื่อทางแหล่งเรียนรู้จะได้จัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยและความต้องการของผู้เข้าร่วม
โดยเมื่อมาถึงสวนตาลลุงถนอม วิชาแรกที่ทุกคนจะได้เรียนคือ ‘ประวัติศาสตร์ต้นตาล’ อำนาจเล่าว่า เดิมทีต้นตาลเป็นต้นไม้ที่ขึ้นตามหัวไร่ปลายนา ขึ้นบนที่ใครก็ถือกรรมสิทธิ์และใช้ประโยชน์จากตาลต้นนั้น บางคนประกอบอาชีพปีนตาล ขายตาล สืบทอดกันมาจากต้นสู่ต้น
“หากย้อนไปสมัยรัชกาลที่ 4 สมัยนั้นขึ้นตาลกันเยอะมาก มีการขอภาษีน้ำตาลเตาละเล็กเตาละน้อย รวมน้ำตาลแล้วไปขาย เงินที่สร้างพระนครคีรีก็คือภาษีน้ำตาล เงินก็ยังไม่หมดไปช่วยขุดคลองดำเนินสะดวกได้อีกส่วนหนึ่ง เราอาจจะอนุมานได้ว่าสมัยนั้นทำนา ทำน้ำตาล เป็นสินค้าหลักที่ส่งออกของเพชรบุรี
ถ้าจะย้อนไปว่าทำไมเพชรบุรีจึงมีต้นตาลเยอะ เมืองเพชรเป็นเมืองที่น้ำท่วมทุกปี พอลูกตาลสุกมันหล่นตามท้องไร่ท้องนา น้ำท่วมก็พาลูกตาลไปแห้งตรงไหนก็ไปขึ้นตรงนั้น ปีหน้าท่วมอีกก็ไปอีก ต้นตาลเมืองเพชรถึงเยอะ และมีการใช้ประโยชน์กันเยอะมาก เช่น เมื่อก่อนเอามาทำเป็นสมุนไพรรักษาโรค เป็นอาหาร เป็นสินค้าส่งออก เป็นเกือบทุกอย่างของคนเพชรบุรี
เอามาเป็นอาหารก็คือเอามาทำแกง เอามาเป็นยาก็คือพวกงวงตาล รากตาล เอามารักษาน้ำตาลในเลือดสูง เป็นสินค้าส่งออกก็คือผลิตภัณฑ์ที่เราส่งออกต่างจังหวัด เพราะอาหาร ขนม ทุกอย่าง น้ำตาลคือวัตถุดิบหลัก”
ถึงน้ำตาลจะทำจากวัตถุดิบอื่นๆ ได้ด้วย เช่น อ้อย และน้ำตาลจากต้นตาลของแหล่งอื่นๆ ทว่า ทายาทของลุงถนอมยืนยันว่าเอกลักษณ์ของน้ำตาลโตนดเมืองเพชรคือเรื่องรสชาติที่อร่อยกว่าที่อื่น เพราะแร่ธาตุในดินของเพชรบุรีอุดมสมบูรณ์มาก จึงมีผลต่อรสชาติของน้ำตาล ซึ่งแร่ธาตุเหล่านี้สะสมจากน้ำท่วมพัดพาเอาตะกอนดินจากป่ามาทับถม เป็นอย่างนี้มานานนับร้อยปี ผืนดินเมืองเพชรจึงอุดมสมบูรณ์กว่าที่อื่น ซึ่งจะเห็นได้จากพืชพรรณชนิดอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นมะม่วง, ชมพู่ หรืออื่นๆ
จากภูมิปัญญาที่เกิดจากธรรมชาติสร้างสรรค์ สู่การเป็นสวนตาลลุงถนอมที่นำต้นตาลมาปลูกบนพื้นที่เดียวกัน การเลี้ยงปากเลี้ยงท้องจึงค่อยๆ ปรับมาสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับตาลโตนด เพราะยิ่งทำ ลุงถนอมยิ่งเห็นว่าภูมิปัญญานี้เสี่ยงที่จะสูญหายถ้ายังไม่มีคนรุ่นใหม่มาสนใจสานต่อ ที่นี่จึงเริ่มเปิดให้คนภายนอกเข้ามาศึกษาเรียนรู้
ในช่วงที่ลุงถนอมยังมีชีวิต อำนาจก็ขึ้นตาลและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของที่นี่แล้วเช่นกัน ประจวบเหมาะกับเริ่มมีหลักสูตรที่ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น หลายโรงเรียนเริ่มพานักเรียนเข้ามาทัศนศึกษาที่สวนตาลลุงถนอม
“แรกๆ ก็แค่พูดคุย เด็กๆ เขาถามว่าน้ำตาลออกมาจากตรงไหน เขาก็เห็นแค่ต้นตาล เราก็เลยต้องเอาของจริงลงมาทั้งช่อ มาทำให้ดูข้างล่าง ทีนี้พอบ่อยเข้า หน่วยงานของจังหวัดก็บอกว่าคุณอำนาจควรทำเป็นแหล่งเรียนรู้ เอาที่สำคัญๆ ว่าเพาะขยายพันธุ์อย่างไร เก็บผลผลิตอย่างไร แปรรูปอย่างไร เขาจะได้เห็นวงจรของตาลที่มันชัดเจน”
สำหรับวิชาตาลโตนดที่อำนาจเตรียมไว้ต้อนรับทุกคนที่มาเรียนรู้ เขาจะให้ข้อมูลตั้งแต่พื้นฐานเกี่ยวกับตาล ไปจนถึงแสดงศาสตร์ชั้นสูงนั่นคือการปีนตาล
“ลอนตาลที่เรากินทุกวันนี้เป็นลอนอ่อนมันก็คือเมล็ดพันธุ์ พอเมล็ดพันธุ์เหล่านี้มันแก่ก็จะสุกร่วงลงมา ส่วนมากเขาเอาไปแช่น้ำก่อนเพื่อให้เนื้อเหลืองๆ พวกนี้จะหลุดออกหมด พอแช่น้ำได้ที่ประมาณเดือนหนึ่งเขาก็เอามาวางบนพื้นดินที่ชุ่มชื้น ประมาณ 7 วัน ก็จะเริ่มงอก งอกลงไปในดินประมาณ 40 เซนติเมตร เพื่อไปตั้งต้นที่ใต้ดิน จากนั้นประมาณเดือนที่ 6 ที่ 7 เขาจะมีใบโผล่พ้นดินขึ้นมา แล้วใช้เวลาเติบโตประมาณ 15-20 ปี ก็เริ่มออกช่อออกผล
พอเริ่มออกช่อออกผลก็ถึงการเก็บผลผลิต โดยเฉพาะน้ำตาล ช่อดอกเหล่านี้เขาจะต้องทำให้มันช้ำ โดยการเอาไม้ไปบีบนวดให้มันช้ำ พอมันช้ำได้ที่ เอามีดไปเชือดมันก็หยด พอเริ่มหยดเราก็ต้องเชือดทุกวัน เช้าเย็น เปิดแผลใหม่ แล้วก็รอเก็บ พอเย็นขึ้นไปเชือดก็เอากระบอกไปสวม พรุ่งนี้เช้าเก็บก็เชือดอีก เอาน้ำพวกนี้มาเคี่ยว
การเคี่ยวคือการแปรรูป ใช้ความร้อนต้มสกัดเอาน้ำออก ให้อยู่แต่ผลึกน้ำตาล พอเคี่ยวไปสัก 2 ชั่วโมง น้ำตาลจะเริ่มงวด ส่วนมากถ้าเป็นน้ำตาลข้น น้ำตาลปี๊บ ก็เคี่ยวจากน้ำตาลดิบ 6 ลิตร ให้เหลือ 1 ลิตร พอมันเหลือ 1 ลิตร ยกออกมาจากเตา ใช้ไม้กวนข้างนอกเตา การกวนคือการใช้ออกซิเจนเข้าไปเซ็ตเนื้อให้เขาแห้ง ถ้าเคี่ยวเสร็จแล้วไม่กวนซ้ำก็จะเหมือนน้ำผึ้งค้างปี
พอกวนไปประมาณ 10 กว่านาทีก็จะเริ่มแห้ง พอแห้งทั่วถึงกันทั้งหมดเราก็ตักไปใส่กระปุก ใส่พิมพ์ทำเป็นน้ำตาลปึกได้ พร้อมจำหน่ายได้เลย” อำนาจสรุปเนื้อหาอย่างย่อให้ฟัง
ด้วยความที่เป็นกระบวนการตั้งแต่เริ่มปลูก เก็บผลผลิต จนกระทั่งถึงการแปรรูป ต้องอาศัยทั้งความรู้และทักษะ ต้องมีทั้งแรงกาย แรงใจ และเวลา ปัจจุบันคนที่ยังทำน้ำตาลในลักษณะนี้จึงเหลือน้อยลงทุกที เพราะนอกจากจะใช้พลังงานเยอะยังมีความเสี่ยงเวลาขึ้นต้นตาล หลายคนจึงละทิ้งสวนตาลแล้วหันไปทำอาชีพอื่นที่ไม่ต้องเสี่ยง ไม่ต้องเหนื่อย ในขณะที่การทำน้ำตาลโตนดไม่มีทางลัดอื่นนอกจากใช้คนเพียงอย่างเดียว
“งานภาคพื้นดินไม่ใช่งานยาก แต่งานอยู่บนยอดในการบีบนวด การเอามีดไปเชือด คุณต้องมีปฏิภาณไหวพริบดีพอสมควร ทำไมบีบนวดเท่ากัน น้ำตาลที่ออกมาไม่เท่ากัน ฤดูนี้ทำไมน้ำตาลมันหยดเยอะ ฤดูนี้ทำไมมันหยดน้อย อาการต่างๆ ของงวงตาลที่เราบีบนวดไว้ มันจะเป็นตัวบ่งบอก สภาพอากาศจะเป็นตัวบ่งบอก ว่าที่มันน้อยเพราะอะไร ที่มันมากเพราะอะไร ที่มันไม่หยดเพราะอะไร เราคือคนวินิจฉัยมันทั้งหมด
นี่จึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ศาสตร์ก็คือการถ่ายทอดความรู้ในเชิงทฤษฎีว่านวดกี่วัน ทำอย่างไรบ้าง และศิลป์คือศิลปะ ทำไมที่เขาถ่ายทอดมากับที่เป็นจริงมันถึงต่างกัน เราต้องพินิจพิเคราะห์เป็น เราก็เหมือนคุณหมอ เห็นอาการแล้วจะวินิจฉัยอย่างไรให้ตรงกับโรค”
ถึงจะหาคนสานต่อได้ยากเต็มที แต่สำหรับอำนาจยังพอมีความหวังว่าภูมิปัญญาและวิชาตาลโตนดนี้จะไม่สูญหายไปแบบสูญพันธุ์ ทว่าจะเหลือคนทำน้อยไปเรื่อยๆ และพอถึงวันนั้นน้ำตาลโตนดจะกลายเป็นแรร์ไอเทม ที่ถึงจะมีเงินก็ซื้อไม่ได้ เพราะมีน้อยเหลือเกิน
เขายกตัวอย่างว่าปัจจุบันน้ำตาลโตนดแท้กลายเป็นของฝากที่มีมูลค่าทางใจมาก ยิ่งถ้าใครได้รู้ถึงเรื่องราวกว่าจะมาเป็นน้ำตาลเมืองเพชรยิ่งรู้สึกประทับใจ เพราะนี่คือน้ำตาลที่เกิดมาจากความอดทน ความตั้งใจ และกระบวนการที่ยากลำบาก
“ตอนนี้มีเด็กรุ่นใหม่มาสนใจอยู่บ้างแต่ก็น้อย อาชีพนี้คุณต้องใจรัก ถ้าใจคุณไม่มา อย่างอื่นจะล้มเหลวทั้งหมด แต่ถ้าใจมาส่วนมากคุณจะเลี้ยงตัวเองรอด
ภูมิปัญญาการทำน้ำตาลโตนดเป็นสิ่งที่ผมอยากให้ภาครัฐช่วยกระตุ้น ไม่ใช่กระตุ้นแค่เรื่องทฤษฎีว่าต้นตาลเป็นมาอย่างไร แต่ให้เด็กเขาฝึกบ้าง หัดให้เขาลำบากบ้าง ความลำบากนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้เขาดำรงชีวิตอยู่รอด วันหนึ่งถ้าเขาไม่ได้นั่งโต๊ะทำงานขึ้นมา มันจะมีอะไรรองรับชีวิตเขาในการเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอดในวันข้างหน้า แต่ก็ไม่ใช่ให้ทุกคนมาขึ้นตาล พยายามปลูกฝังให้เขาหันกลับมาดูสิ่งที่บรรพบุรุษทำไว้ให้ มันอาจจะเป็นอีกอย่างที่ช่วยเกื้อกูลเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ เพราะปัจจุบันนี้คนที่ทำอาชีพนี้เขาเลี้ยงตัวเองอยู่รอดโดยที่ไม่ต้องไปเปิดตลาดให้วุ่นวาย คุณแค่ผลิตอย่างเดียว ตลาดไปได้สวย”
นอกจากการสอนแบบเจอหน้าค่าตา อำนาจเปิดเผยถึงการเก็บรวบรวมองค์ความรู้วิชาตาลโตนดไว้ในรูปแบบอื่นๆ ด้วยว่ากำลังเรียบเรียง นึกอะไรออกที่จำเป็นก็จะจดไว้ แล้วเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมเขาจะรวบรวมเป็นหลักสูตรวิชาหนึ่งเพื่อให้ไม่มีวันหายไป เพราะลำพังจะเก็บวิชาไว้กับตัวคนก็มีโอกาสที่จะหายไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง
สำหรับคนที่สนใจ สถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานใดต้องการเข้ามาศึกษาเรียนรู้วิชาตาลโตนดจากคนทำตาลตัวจริง สวนตาลลุงถนอมพร้อมต้อนรับด้วยความรู้และประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากหน้าจอหรือตำราเรียน เพียงแต่ขอให้โทรมานัดหมายก่อน โดยทั่วไปจะให้ความรู้ตั้งแต่การเพาะขยายพันธุ์ การเก็บผลผลิต การแปรรูป รวมถึงการทดลองเก็บผลผลิต ทุกคนจะได้หัดบีบหัดนวดงวงตาล ส่วนการแปรรูปก็จะได้ช่วยกันเคี่ยวตาล และทำน้ำตาลสด
“ที่ผ่านมา เด็กทุกคนชอบนะ กว่าจะมาเป็นน้ำตาลสักหยดหนึ่งมันยาก เขาเกิดความรู้สึกเห็นคุณค่าของอาชีพนี้ก็เยอะ ได้ผลตอบรับที่ดีพอสมควร
มีหลายครั้งที่เด็กๆ กลับไปบ้านแล้วไปพาครอบครัวมา เขาจำได้หมด บรรยายได้ตั้งแต่เพาะขยายพันธุ์ เก็บผลผลิต แปรรูป บอกได้ทุกอย่าง อันนี้มันน่าชื่นใจนะว่าสิ่งที่เราถ่ายทอดไป มันเริ่มจะไม่สูญเปล่า
สำหรับผู้ใหญ่ ถ้าใครกำลังมองหาอาชีพ หรือวันหนึ่งคุณจะต้องเกษียณตัวเองจากการจากงาน ก็ลองดูสิ่งเหล่านี้ไว้บ้าง วางพื้นฐานไว้ก่อน วันหน้ามันจะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างการเกษียณจากงานและการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในวัยเกษียณ ก็จะช่วยทำให้เรามีชีวิตที่ดีพอสมควร ก็อยากฝากว่าลองหันกลับมาดูอาชีพนี้บ้าง”
(หมายเหตุ: ติดต่อสวนตาลลุงถนอม โทร 08 7800 7716)