- เลิกเรียนแล้วได้วิ่งเล่นอยู่กลางทุ่งนา ร้องเพลง เล่นดนตรีท่ามกลางธรรมชาติ ช่างเป็นภาพที่เป็นไปได้ยาก แต่โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง ทำให้มันเป็นจริงได้
- สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเด็กก็คือ ‘จินตนาการ’ เพราะจินตนาการจะพาชีวิตไปเจอความงาม และจะเป็นตัวบ่งบอกถึงความแตกต่างของคน หรือที่เรียกว่า อัตลักษณ์ของคน
- การเล่นนอกห้องเรียน นอกจากสร้างพัฒนาการให้เด็กได้แล้ว ยังเปลี่ยนบุคลิกภาพและนิสัยของเด็กให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นได้อีกด้วย
ภาพ: โกวิท โพธิสาร
โอ่..โอ้…โอ…โอ่
แสงแห่งยามเช้าส่องกระทบตัว หมู่หมอกสลัวทอดยาวขาวพราวตา
วิหกเจ้าผกผินบินล้อลอยลมบน เหมือนดั่งชีวิตคนออกทำมาหากิน
ป่าดงพงไพรกว้างใหญ่เหลือคณา ฉันเดินออกค้นหาเส้นเสียงแห่งเสรี
อย่ามัวรีรอคอยฟ้าคอยฝนดลเกิดมาเป็นคนอย่าจนจิตใจ
ไปเถิดเราไปเรียนรู้โลกกว้างใหญ่ผ่านเป็นบทเพลงกู่ร้องกล่อมไพร
โอ่…โอ้…โอ…โอ่…
เสียงร้องเพลงกล่อมไพรของ ‘เก่ง’ นริศรา ตระกูลศรี เด็กสาวชั้น ม.6 เคล้าด้วยพิณเสียงใสๆ ของ ‘ท็อป’ ธนโชติ เฉลิมศิลป์ หนุ่มน้อยชั้น ป.4 ดังทั่วทุ่งนาเขียวขจี ที่โอบล้อมด้วยภูเขาจำนวนเกินนิ้วนับ
กว่า 3 นาทีของเสียงเพลง ทั้งคู่ไม่มีท่าทีเขินอาย ขณะเดียวกันก็ไม่ได้อวดโอ้ว่าตัวเองเก่ง แววตาของเก่งและท็อปฟ้องว่า พวกเขาตั้งใจร้องให้ผู้มาเยือน ‘โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง’ ฟังจริงๆ
ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกับคนแต่งเพลง คือ คีตา วาริน ซึ่งเป็นคนตำบลถาวร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยกำเนิด และเป็น ‘ครูลี่’ ของเด็กๆ
“เมื่อก่อนผมเป็นนักดนตรี เดินสายไปทั่วประเทศ จากบ้านไปเกือบยี่สิบปี แล้ววันหนึ่งเรากลับมาเพื่อดูแลพ่อแม่ ท่านก็อายุเยอะแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือวิถีของผู้คนเปลี่ยนไป เด็กๆ อยู่แต่กับหน้าจอโทรศัพท์ ผู้คนขาดการแบ่งปัน มันไม่เหมือนเมื่อก่อน เราไปเก็บเห็ดบนภูเขา กลับมาเราก็เอามาขายให้กัน ซึ่งเมื่อก่อนมันไม่ใช่ เมื่อก่อนเป็นการให้
สิ่งที่ผมสะเทือนใจกับหมู่บ้านของผมคือ พ่อแม่ลูกไม่ได้อยู่ด้วยกัน คนหนุ่มสาวทิ้งบ้าน เดินทางไปกรุงเทพฯ ไปเมืองท่าอุตสาหกรรม ทิ้งลูกหลานไว้กับปู่กับย่า ให้เขาเผชิญชีวิตตามลำพัง เงินคือเป้าหมายอย่างเดียว ตอนนี้พ่อแม่กำพร้าลูก ไม่ใช่ลูกกำพร้าพ่อแม่ ไร่นาก็ไม่มีใครทำ ลูกก็ไม่มีใครสอน แล้วสิ่งที่เขาหามา ผมว่ายังไงก็ไม่คุ้มค่า
จึงมาเปิดโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง เพราะต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ การเปลี่ยนแปลงของสังคม อีกสาเหตุหนึ่งคือเราทำแล้วเรามีความสุข เมื่อไหร่ที่เราได้มองแววตาที่มีความสุขของเด็ก นั่นคือเงินเดือน ค่าจ้างผม มันอิ่ม มันละมุน มันบอกไม่ถูกแต่มันรู้สึกได้”
ใบสมัครสีเขียวๆ
ทุกๆ วันเมื่อท็อปและเก่งเลิกเรียน แม่จะรับมารับที่โรงเรียน กลับบ้านอาบน้ำกินข้าว จากนั้นแม่จะมาส่งที่โรงเรียนของครูลี่ มีเพื่อนๆ แบบนี้อีกสิบกว่าคน
เมื่อมาถึงโรงเรียน สิ่งที่ท็อปและเก่งทำเป็นอันดับแรกคือ เดินตรงมาที่ ‘ใบสมัคร’ ของตัวเอง
ใบสมัครที่ว่านี้ หน้าตาสีเขียวๆ ต้องการความดูแลใส่ใจทุกวัน
“ใบสมัครคือแปลงผัก หลังจากเลิกเรียนก็จะมาดูแลใบสมัครของตัวเอง มารดน้ำผัก มาพรวนดิน” เก่งอธิบายไปยิ้มไป
ต้นคิดใบสมัครกินได้คือ ครูลี่
“เด็กหนึ่งคนจะมีแปลงผักหนึ่งแปลง ก่อนเข้ามาเรียน หรือแปลงเดียวสองคนก็ได้ ผมใช้แผ่นดินเป็นกระดาษ ใช้จอบเป็นปากกาในการวาดใบสมัคร แล้วเขาจะวาดชีวิตเขาในแปลงผัก ผักหนึ่งแปลงมันจะบ่งบอกตัวตนของเด็กๆ เลย ว่าเขาเป็นคนอย่างไร
เช่นคนที่ไม่เอาใจใส่แปลงผักตัวเอง นั่นคือเขาไม่เอาใจใส่ชีวิตของเขา ความรับผิดชอบน้อย ถ้าจะรวบไปถึงดนตรี ถ้าเขาดูแลแปลงผักไม่ได้ เขาก็จะเล่นตรีไม่ได้เหมือนกัน เช่น ไวโอลิน ไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีที่ไม่มีบันไดเสียง คุณต้องใช้ความแม่นยำมากในการที่จะพานิ้วไปให้ได้ตรงโน้ต ต้องใช้ความเพียร ใช้การสังเกต ใช้ความรับผิดชอบ”
หลังจากดูแลใบสมัครเสร็จ ทุกคนก็เริ่มฝึกซ้อมดนตรีตามความถนัดของตัวเอง เช่น เก่ง ก่อนจะมาร้องเพลง เธอเคยเล่นทั้ง อูคูเลเล่ โปงลาง ไวโอลิน ล่าสุดมีโปรเจ็คท์จะเล่นพิณ งานนี้เก่งวางแผนฝากเนื้อฝากตัวเป็นศิษย์ของรุ่นน้องวัย 9 ขวบอย่างท็อป
“สอนพิณให้เก่งน่าจะยากนะครับ” ครูท็อป-ยังไม่ทันจะสอนก็แซวศิษย์พี่ซะแล้ว
ส่วนท็อป พิณคือวิชาแรกหลังดูแลใบสมัครจนผ่าน แถมพูดดังๆ ด้วยว่า “เล่นพิณไม่ยากครับ”
“ที่เห็นผมย่ำเท้าตลอดในคลิป ไม่ได้ตื่นเต้นครับ เท้ามันไปเอง (ยิ้ม) แต่เราต้องมีจังหวะในใจ เข้ามาแรกๆ ผมเล่นพิณไม่เป็นเลย ก็ได้ฝึกจังหวะ เขย่าน้ำเต้า เดินจากโน่นไปนี่บ้าง แล้วก็ย่ำเท้า ซ้ายขวาซ้ายไปเรื่อยๆ แล้วจังหวะมันก็ได้ ค่อยๆ ฝึกไปทีละขั้น”
โรงเรียนที่อยากไปทุกวัน
เสาร์อาทิตย์ ถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งสวรรค์ของเด็กๆ โรงเรียนเล็กฯ เลยก็ว่าได้ เด็กทุกคนจะมานอนและใช้ชีวิตที่โรงเรียนตั้งแต่คืนวันศุกร์ถึงค่ำของวันอาทิตย์ กิจกรรมที่เด็กๆ จะได้ทำคือ เดินป่า ปั่นจักรยาน เก็บเห็ด เล่นน้ำ เป็นต้น แต่ละกิจกรรม เด็กจะได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน แสดงความคิดเห็น และที่สำคัญคือการใช้จินตนาการ
“ดนตรีคือความละมุนภายใน ดนตรีสำหรับผม ผมจะไม่ให้เด็กท่องจำ ผมจะล้อมวงเด็ก แล้วให้ทุกคนออกความคิดเห็นว่า ตรงนี้จะทำอะไร ท่อนนี้ควรจะร้องยังไง เราอยากให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น แต่เราก็จะคุมหางเสืออยู่ หรืออย่างทำบ้านดิน บ้านดินเปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการออกแบบบ้าน ไม่มีกฎเกณฑ์กับเด็ก อย่างแปลงผัก เด็กคนหนึ่งปลูกผัก แปลงแค่นิดเดียวแต่ปลูกห้าอย่าง ผมก็จะบอกว่า เอาเลย ทำเลยลูก แต่เราดูอยู่ห่างๆ
“การที่จะให้เด็กเก่ง หนึ่ง ต้องปล่อยให้เขาเผชิญ ต้องกล้าให้เขาได้ไปเผชิญและใช้จินตนาการ แต่ทุกวันนี้เด็กๆ ไม่ได้เผชิญ เด็กๆ มีแต่ท่องจำเพื่อเอาไปสอบ หวังผลแต่กับคะแนนเสียมากกว่า” ครูลี่กล่าว
เก่งชอบเล่นน้ำมากที่สุด ส่วนท็อปก็ชอบเล่นน้ำเหมือนกัน เพิ่มเติมคือเดินป่า ท็อปเล่าด้วยใบหน้าเขินอายว่า
“ที่ทุกคนเห็นในคลิปเล่นดนตรีของพวกเรา เห็นว่าพวกเรายิ้มแย้ม ที่จริงแล้วมันจะมีข้อตกลงครับ ถ้าเราเล่นแบบยิ้มแย้มแจ่มใส เทคเดียวผ่าน ครูจะพาไปเล่นน้ำ แต่ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่พวกเราสามารถเล่นได้เทคเดียวผ่าน เวลาเล่นน้ำของพวกเราเลยลดน้อยลง”
เมื่อวันอาทิตย์สิ้นสุดลง วันจันทร์ก็เวียนกลับมาอีกครั้ง ทุกเช้าที่ต้องตื่นไปโรงเรียนช่างเป็นช่วงเวลาที่แสนลำบาก ยากมากกว่าจะลากตัวเองออกมาจากเตียงได้
“ความรู้สึกตอนไปโรงเรียน กับไปโรงเรียนเล็กฯ ต่างกันมากเลยค่ะ ตื่นเช้าไปโรงเรียนรู้สึกว่าใจไม่ค่อยอยากไป เหนื่อย แต่ว่าหลังจากเลิกเรียนแล้ว เราตื่นเต้นที่จะมาโรงเรียนเล็ก เวลาเรียนเราก็นั่งรอว่า เอ…เมื่อไหร่จะเลิกเรียนสักที จะได้มาที่นี่ จะได้มาเจอเพื่อนๆ มาดูแลใบสมัครของตนเอง แล้วอีกอย่างวิวที่นี่ก็สวยดี ได้เจอทุ่งนา ได้อยู่กับธรรมชาติ รู้สึกว่ามันโล่ง ไม่แออัด อยู่แล้วรู้สึกสบายใจ”
มือพิณของเราก็สารภาพเสียงอ่อยๆ ว่า ตอนเช้าก็ไม่อยากไปโรงเรียนเหมือนกัน
“เพราะว่ามันไม่มีอะไรสนุกเลย อยู่แต่ในห้อง แต่ถ้ามาที่โรงเรียนเล็กฯ ผมได้เปิดประสบการณ์ใหม่ เรียนไม่ซ้ำกันเลย” ท็อปพูดเสียงเบาๆ
จินตนาการ สร้าง ความเป็นคน
โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้างมีกิจกรรมเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็น เล่นดนตรี ปลูกผัก แสดงละคร ทั้งหมดนี้เป็นวิชาสร้างจินตนาการสำหรับครูลี่
“ทุกวันนี้เด็กโดนทำร้ายจากการขาดจินตนาการ เด็กตั้งแต่แรกเกิด จนถึง สิบสองปี เป็นช่วงที่เขากำลังสร้างจินตนาการให้กับตัวเอง สองปีถึงยี่สิบปี เป็นวัยที่อยากเรียนรู้ อยากรู้อยากเห็น และวัยยี่สิบปีเป็นต้นไปเป็นวัยที่เขาต้องเผชิญโลก”
ครูลี่บอกว่า จินตนาการเป็นเรื่องสำคัญมาก จินตนาการจะพาชีวิตไปเจอความงาม จินตนาการบ่งบอกถึงความแตกต่างของคน บ่งบอกถึงความงามของแต่ละคน แต่ทุกวันนี้เด็กถูกปลูกฝังให้ทำอะไรเหมือนๆ กัน อย่างการอ่านหนังสือเพื่อไปสอบ
“ทุกวันนี้เด็กสามขวบเข้าโรงเรียนแล้ว ผมไม่เรียกโรงเรียนนะ ผมเรียกว่าคอก แล้วเลี้ยงเหมือนไก่พันธุ์ ทุกคนให้อาหาร ถึงเวลาตอนเช้าแปดโมง เคารพธงชาติ เที่ยง ตีระฆัง ไล่ออกจากจากคอก บ่ายเข้าคอก เย็นตีระฆัง วนแบบนี้ห้าวัน ขาขาดการวิ่งเล่นในโลกกว้างๆ ทุ่งกว้างๆ”
ครูลี่ย้ำว่าคนเป็นสัตว์ที่ต้องอยู่กับธรรมชาติ แต่วิถีปัจจุบันกำลังทำให้คนเหินห่างจากธรรมชาติ และความห่างเหินจากธรรมชาติจะทำให้คนแปลกแยกจากธรรมชาติ
“แปลกแยกหมายถึง อยู่กับธรรมชาติ แต่ใจไม่อยู่กับธรรมชาติ ใจมันไปอยู่ที่อื่น ใจมันไปอยู่ที่เงิน อยู่กับการเป็นหนี้ หรือเป็นทุกข์กับครอบครัว แล้วเด็กที่ขาดจินตนาการ พอเขาโตขึ้น ชีวิตของพวกเขาจะหาความงามไม่ได้ เพราะถ้าขาดจินตนาการแล้ว ชีวิตจะกลายเป็น copy ชีวิต ทุกวันนี้การ copy ชีวิตเป็นเรื่องธรรมดาของเด็ก แต่ผมมองว่าเป็นภัย เพราะเราจะไม่มีวิถีชีวิตที่หลากหลาย ถ้าความหลากหลายของชีวิตน้อยลง เราจะหาความงามไม่เจอ”
Before & After ของเก่งและท็อป
2 ปีแล้วที่เก่งและท็อปเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนเล็กฯ ทั้งคู่บอกว่า before และ after ต่างกันลิบลับ
เก่งยกมือตอบก่อนเลยว่า รู้สึกตัวเองเปลี่ยนไปมาก จากเด็กชอบเล่นโทรศัพท์ ชีวิตติดทีวี มาวันนี้มีความรับผิดชอบเข้ามาแย่งเวลาไปหมด
“นอกจากใบสมัคร (แปลงผัก) แล้วก็ยังต้องซ้อมดนตรี ตรงต่อเวลาในการซ้อม ฝึกวินัยด้วย พอเรามาเรียนที่นี่ การบ้านก็จะเยอะ เราต้องแบ่งเวลา นี่ก็เป็นการฝึกการแบ่งเวลา ฝึกความอดทนด้วย”
แสบที่สุดต้องยกให้ ท็อป หนุ่มน้อยโดนฝึกหนักกว่าเพื่อนๆ พี่ๆ คนอื่น โทษฐานที่เป็นหลานแท้ๆ ของครูลี่
“เจ้าท็อป สายพิณ คนนี้แสบ คนนี้คือหลานแท้ๆ เป็นคนแรกที่มาเรียนกับผม 4-5 ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมอยู่เชียงใหม่ วางแผนจะกลับบ้าน ระหว่างนั้นไปกลับเชียงใหม่-บุรีรัมย์บ่อยมาก ก็จะเจอเจ้าท็อป หยอกบ้าง เล่นบ้าง ตอนเช้าผมก็พาไปวิ่ง ว่ายน้ำ แต่พอผ่านไปแค่ปีเดียว ผมกลับมา แววตาของเขาเปลี่ยนไปหมดเลย เหม่อลอย แล้วค่อนข้างก้าวร้าว แล้วก็เป็นเด็กที่เรียกร้อง เพราะเขาก้มหน้าอยู่แต่กับจอโทรศัพท์ทั้งวัน นั่นแสดงว่าโทรศัพท์กำลังสอนเขาให้เขาเป็นคนแบบนั้น เขาเรียกร้องจากพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน เราก็เลยคิดว่าเราจะทำยังไงดี พอเขามาอยู่กับเรา เราเริ่มเล่นกับเขา พอเราเล่นบ่อยๆ เขาก็เริ่มห่างจากโทรศัพท์ ผมก็เลยมาสรุปได้ว่า
การแก้ไขปัญหาคือการเปลี่ยนกิจกรรม แค่เปลี่ยนกิจกรรม ให้เขาปลูกผักบ้าง เล่นละครบ้าง ว่ายน้ำบ้าง ปั่นจักรยาน ผมทำหลากหลายมาก แล้วเราก็มาตกผลึกว่า เราทำวิธีนี้เด็กเปลี่ยนนะ แม้ว่ายังคงเล่นมือถืออยู่ แต่เล่นเป็นเวลา ก็ถือว่าดีขึ้นเยอะแล้ว”
พฤติกรรมเปลี่ยน แล้วนิสัยล่ะ?
“คิดว่าดีขึ้นค่ะ (ยิ้ม) แต่ก่อน จะเป็นคนร้อนแรงมาก อย่างเวลาอยู่ครอบครัว ยายจะชอบบ่น แล้วเราไม่ชอบ จะมีอารมณ์แล้วก็โต้ไปด้วยคำพูดที่ไม่เหมาะไม่ควร พอเรามาอยู่ที่นี่ครูลี่ก็สอนเรื่องการจัดการกับภายใน จัดการกับอารมณ์ พอเรารู้ตรงนี้ เราก็เอาไปปรับใช้กับยาย กับครอบครัวดู
พอเราเข้าใจเรื่องภายในแล้ว พอยายบ่น เราก็เข้าใจว่าที่ยายบ่นก็เพราะว่าหวังดี เลยไม่ตอบโต้ไป เพราะว่าเบื้องหลังคำด่า คำว่าของยาย เพราะแกเป็นห่วง เพราะแกรักเรา เราต้องขอบคุณแกมากกว่าที่เตือนเรา” after ของเก่ง
อดีตนักก้มหน้าอย่างท็อปก็บอกว่า “ผมว่าผมนิสัยดีขึ้นครับ”
“ตอนแรกอยู่บ้านชอบเล่นเกม เล่นไม่เป็นเวลา พอแม่กับพ่อเตือน เราก็ด่าในใจ แล้วก็เดินหนี”
ด่าว่าอะไร?
“แหม เล่นแค่นิดหน่อยไม่ได้ (ยิ้มเขิน) พอมาอยู่โรงเรียน ครูลี่สอน สมมุติถูกครอบครัวด่า เราก็ต้องมารู้สึกตัว กลับมาอยู่กับตัวเอง ไม่ด่ากลับ แต่เปลี่ยนมามองว่าที่เขาด่า เพราะเขาหวังดีกับเราจริงๆ”
วิชา Reset แก่นของชีวิต
“ความรู้ที่เราเรียนจากที่นี่ มันได้ทั้งวิชาชีพและวิชาชีวิต วิชาชีพคือวิชาที่สามารถเลี้ยงชีพเราได้ เป็นอาชีพของเรานั่นเอง ส่วนวิชาชีวิตเป็นเรื่องการจัดการภายในของเรา อันนี้โรงเรียนในระบบไม่มีสอนค่ะ แต่โรงเรียนครูลี่มีสอน”
สำหรับเก่ง สิ่งที่นำไปใช้ได้แน่นอนคือ เรื่องการจัดการกับภายใน
“เราเรียกวิชานี้ว่า reset คือการกลับมารู้สึกกับตัว ออกจากความคิดแล้วมาอยู่กับความรู้สึกตัว เราจะไม่ฟุ้งซ่าน พอเราออกจากโรงเรียนเล็กไปแล้ว เราต้องออกไปทำงาน หรือออกไปเรียนต่างจังหวัด ต้องเจอสังคมอื่นๆ ต้องเจอปัญหา เราก็เอาวิชา reset ไปใช้”
ครูลี่ อธิบายให้กระจ่างว่า วิชา reset ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากครูบาอาจารย์อีกที คือการฆ่าเชื้อร้ายในกระแสใจ
“สมมุติว่าร่างกายกินอาหารแล้ว ร่างกายเป็นพิษ แล้วร่างกายไม่สบาย เราต้องขับถ่ายออกมา เช่นกัน ถ้าอาหารใจติดเชื้อ ถ้ามันติดเชื้อในกระแสใจ มันจะขับถ่ายยังไงอันนี้คือสาเหตุ เรารู้อาหารกายก่อน คือข้าว คือน้ำ อาหารใจคือ อารมณ์
อารมณ์มีสองแบบ คือ ชอบกับชัง เราจะอยู่อย่างไรกับสิ่งที่ชอบ แล้วเราจะอยู่อย่างไรกับสิ่งที่ไม่ชอบ
“มันคือการตัดวงจรความคิด ตาดู หูฟัง จมูกดมกลิ่น ลิ้นรับรส กายสัมผัส พวกนี้เป็นประตูทำให้เกิดอารมณ์ ใจเป็นประธาน แล้วตัดสินสองอย่างคือ ชอบกับไม่ชอบ แล้วถ้าไม่ชอบเมื่อไหร่ ทำยังไง อันนี้คือประเด็น
มันคือการกลับมารู้สึกตัว ถ้าเราเจอสิ่งที่เราไม่ชอบ เช่น สอบเอ็นทรานซ์ไม่ติด กระโดดตึกตาย ทำไมแค่เรื่องสอบไม่ติด ถึงต้องโดดตึกตาย เพราะว่าเขาออกจากความคิดนั้นไม่ได้ เราต้องตัดวงจร มันคือต้องกลับมารู้สึกตัว นี่คือการลดน้ำหนักของเรื่องราวให้มันเบาลง เป็นการเยียวยาใจตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือต้องให้เขารู้สึกถึงสิ่งที่เขาทั้งชอบและไม่ชอบ แล้วก็จัดการกับมัน”
ท้้งหมดนี้คือวิชาชีวิตที่ครูลี่อธิบาย ซึ่งหาไม่ได้จากห้องเรียนสี่เหลี่ยมและกระดานดำ แต่ต้องวิ่งออกไปในทุ่งกว้างๆ เท่านั้นถึงจะเจอ