- ครูปุ้ย วรีย์ สืบสมุท หนึ่งในครูจากโครงการก่อการครู รุ่น 1 ครูปุ้ยคือครูแนะแนวที่ไม่เคยปล่อยให้ว่างเพราะใช้บอร์ดเกมเป็นเครื่องมือเรียนรู้
- เป้าหมายของการเรียนรู้ผ่านบอร์ดเกม ไม่ใช่แค่ความสนุก เพราะกว่าจะได้บอร์ดเกมสักชิ้น นักเรียนต้องแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ช่วยกันคิด ค้นคว้าข้อมูล ผ่านการถกเถียง ใช้ความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ ใช้ทักษะหลายอย่างรวมกัน เพื่อช่วยกันตกตะกอนว่าสุดท้ายแล้วกลุ่มจะทำบอร์ดเกมออกมาแบบไหน
- การเป็นครูในยุคนี้ นอกจากเป็นผู้ให้ความรู้ ครูจะต้องเป็นผู้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็กด้วย” ครูปุ้ยไม่ใช่แค่กล่าวไว้แต่ลงมือทำทุกๆ วัน
ภาพ: หนังสือครูปล่อยแสง
หากย้อนไปค้นลิ้นชักแห่งความสงสัยในวัยเด็ก น่าจะมีไม่น้อยที่สงสัยว่า “ทำไมครูแนะแนว…ดูว่างจัง”
ไม่ต่างจาก ครูปุ้ย วรีย์ สืบสมุท ที่เคยพยักหน้าเห็นด้วยกับประโยคนี้ เเต่พอได้เข้ามาทำงานเป็นครูจริงๆ กลับทำให้ ‘ครูปุ้ย’ ครูแนะแนวจากอ่างทองคนนี้ อยากกลับไปถอนคำพูด ถอนความคิดในวัยเด็กของตัวเองทิ้งไปไกลๆ
ครูปุ้ย คือ ครูแนะแนวโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม โรงเรียนขนาดใหญ่ในจังหวัดอ่างทอง บรรจุนักเรียนหลายพันคน ตั้งแต่ชั้น ม.1-ม.6 แต่กลับมีครูแนะแนวเพียง 2 คน หนึ่งในนั้นคือครูปุ้ย ที่รับผิดชอบสอนเด็กๆ ชั้นมัธยมต้น
นอกจากภารกิจหลักอย่างสอนหนังสือแล้ว สารพัดหน้าที่ที่ครูคนหนึ่งต้องรับผิดชอบยังมีอีกร้อยแปด ครูปุ้ยต้องทำทั้งงานสวัสดิการ งานพัสดุ จัดการเอกสารทุนจากมหาวิทยาลัย ทุน กยศ. ให้คำปรึกษาเด็ก จัดสอบ รวมถึงงานธุรการต่างๆ
แต่สารพันงานหยุมหยิมเหล่านี้ ไม่สามารถขังครูปุ้ยให้อยู่แต่ในกรอบได้
บอร์ดเกม คือ เครื่องมือเรียนรู้
การเดินทางนอกกรอบครั้งสำคัญของครูปุ้ย คือ การเข้ามาร่วมอบรมในโครงการ ‘ก่อการครู’ เมื่อปีที่แล้ว
เหตุผลในการก้าวเข้ามาร่วมในโครงการก่อการครูของครูปุ้ย อาจจะแตกต่างจากเพื่อนครูคนอื่น เพราะครูจำนวนไม่น้อยต่างเข้ามาเพราะอึดอัดกับปัญหาระบบการศึกษา อยากหาทางออกเพื่อนำกลับไปแก้ไข และอีกมากเข้ามาเพื่อเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่หาไม่ได้ในโรงเรียน
ครูปุ้ยจัดอยู่กลุ่มหลัง เพราะไม่ได้มาพร้อมกับปัญหาหรือภาระครูที่เกินแบก แต่มาพร้อมกับดักชิ้นใหญ่ที่เข้ามาขวางจนคลำหาทางออกไม่ได้ นั่นคือเสียงในหัวที่เริ่มตั้งคำถามดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า
“สิ่งที่เราสอน เด็กได้ประโยชน์จริงๆ ไหม และการที่เราให้เด็กไปแบบนี้ เด็กได้เอาไปใช้จริงๆ หรือเปล่า”
ครูปุ้ยจึงอยากฉุดตัวเองออกจากหลุมพรางให้ได้เร็วที่สุด พร้อมๆ กับการกลับมาสำรวจตัวเอง ตั้งคำถามกับตัวเองว่าอยากเปลี่ยนอะไรบ้างข้างใน
‘มิตรภาพ ความรู้ เครื่องมือการสอน’ คือของขวัญ 3 ชิ้น ที่ครูปุ้ยได้รับกลับไป จากการตัดสินใจเข้าโครงการ
และโครงการนี้ ครูปุ้ยได้ทำความรู้จักกับบอร์ดเกมเป็นครั้งแรกจาก ‘ห้องเรียนออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้’
นอกจากความสนุก ความเพลิดเพลินที่เกิดขึ้นแล้ว ครูปุ้ยเล็งเห็นประโยชน์หลายอย่างจากบอร์ดเกม ประกอบกับภารกิจที่ถือว่าเป็นหัวใจหลักของการสอนวิชาแนะแนว คือ การทำให้เด็กลงมือสำรวจตัวเองให้เป็น เพื่อให้เขาได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ครูปุ้ยจึงเลือกเอาบอร์ดเกมเข้ามาปรับใช้
เกมค้นหาตัวตน หนึ่งในตัวอย่างบอร์ดเกมที่ครูปุ้ยเห็นจากโครงการ ทำให้ตกหลุมรักเครื่องมือเรียนรู้ชิ้นนี้และเชื่อว่าตัวเองจะตัดสินใจไม่ผิด
วิธีแสนง่าย เพียงแค่การ์ดเป็นตัวดำเนินเกม เปิดภาพของอาชีพต่างๆ จากนั้นให้อาศัยการอธิบายลักษณะของอาชีพนั้นๆ สุดท้ายแล้วเกมนี้จะพาให้เด็กไปรู้จักอาชีพอื่นๆ จากเดิมที่เขาเคยเห็น ที่สำคัญได้สำรวจตัวเองว่าเหมาะกับงานนั้นหรือไม่ ผ่านคำอธิบายลักษณะงาน
“ไอเดียการนำเอาบอร์ดเกมมาช่วยสื่อสารและอุดช่องโหว่ เริ่มเกิดขึ้นตอนนั้น เราคิดว่าเกมมันไปตรงกับวิชาที่เราสอนเลย” ครูปุ้ยจึงไม่ลังเลที่จะหยิบฉวยเครื่องมือนี้มาเปลี่ยนห้องเรียน
เมื่อไอเดียเกิดขึ้น ขั้นต่อไปคือลงมือ ครุปุ้ยผสมผสานเกมลงในการสอนหนังสือ และพบว่าบอร์ดเกมช่วยคลี่คลายปัญหาหลายๆ อย่างได้ เกมค้นหาตัวตน ช่วยทำให้เด็กๆ ได้ความรู้ ความเข้าใจ ผ่านการเล่น ส่งผลให้เด็กจดจำข้อมูล โดยไม่ต้องเปิดหนังสือสอน ได้รู้จักอาชีพและได้รู้จักตัวเองมากขึ้นผ่านการ์ดไม่กี่ใบ
หากย้อนไปถึงช่วงแรกที่ครูปุ้ยนำบอร์ดเกมเข้ามาใช้ในห้องเรียน ครูปุ้ยไม่ได้สอนก่อนว่าจะต้องทำอะไรก่อน เป็นลำดับขั้น 1-2-3-4
แต่ครูปุ้ยเปิดพื้นที่ให้เด็กลงมือทดลองทำบอร์ดเกมด้วยตัวเองเลยทันที ผลปรากฏว่าเด็กๆ เกือบทุกคนรู้จักบอร์ดเกมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเกมการ์ด เกมเศรษฐี เกม Werewolf ทำให้พวกเขาตื่นเต้น สนใจ และอยากลงมือทำบอร์ดเกมของตัวเอง
“ไม่ว่ากระบวนการเรียนรู้แบบไหนก็ตาม ถ้าเอาแต่บอก โดยที่ไม่ให้เด็กลงมือ เขาไม่มีทางเรียนรู้ได้แน่นอน นี่คือโจทย์ตั้งต้นทำให้เราใช้บอร์ดเกมสอนเขา”
บอร์ดเกม ล้วงใจเด็ก
ในคาบแนะแนว ครูปุ้ยเริ่มต้นให้เด็กๆ ออกแบบเกม โดยเอาปัญหาสังคมมาเป็นตัวตั้งต้น ตัวอย่าง ‘เกมเพศเศรษฐี’ ที่เด็กกลุ่มหนึ่งคิดขึ้นมา โดยมีวิธีเล่นเหมือนเกมเศรษฐีทั่วไป ผู้เล่นต้องเดินตามจำนวนที่ทอยลูกเต๋าได้ เมื่อไปตกที่ช่องไหนก็ต้องตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องเพศให้ถูกต้อง
ดูเหมือนง่าย…แต่ครูปุ้ยชวนคิดต่อว่า กว่าที่เด็กๆ จะได้คำถามแต่ละข้อ พวกเขาต้องช่วยกันคิด ค้นคว้า เพื่อนำข้อมูลไปสร้างเกม โดยแต่ละขั้นตอนต้องผ่านการถกเถียง ใช้ความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ ขนทุกทักษะเท่าที่มีมาใช้อย่างคุ้มค่า เพื่อช่วยกันตกตะกอนว่าสุดท้ายแล้วกลุ่มจะออกมาในรูปแบบไหน
นี่ต่างหากที่เป็นเป้าหมายสำคัญ
“บอร์ดเกมทำให้เราเห็นหลายๆ อย่าง ในตัวเด็ก เขาอยากทำเรื่องเพศก็ให้ทำ อยากทำเรื่องอาหารก็ให้ทำ เราไม่บังคับ ให้ทำบนพื้นฐานของการอยากรู้ก็พอ ซึ่งเกมทำให้รู้ว่าเด็ก ม.1 เขาสนใจปัญหาเรื่องเพศอยู่นะ แล้วทำไมเขาคิดแบบนั้นได้ เราจะสอนเขาอย่างไรต่อไป ซึ่งถ้าไม่เล่นผ่านเกม ครูก็ไม่มีทางรู้เลย”
นอกจากความสนุก ยังได้ฝึกใช้ทักษะ แน่นอนเด็กๆ ต่างภูมิใจ เพราะพวกเขารู้สึกเป็นเจ้าของผลงาน
ย้อนกลับไปวันแรกที่โยนโจทย์ให้ เด็กๆ หลายกลุ่มเกาหัว เพราะไม่รู้จะออกแบบบอร์ดเกมเกี่ยวกับปัญหาสังคมอย่างไร รู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว ยาก ทำไม่ได้ แต่ครูปุ้ยเมื่อเปิดพื้นที่อิสระ ให้เด็กๆ ได้รวมกลุ่มกันหลายๆ คน จึงทำให้ความเป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้
พลังของการสอนแบบไม่สอน
การสอนแบบไม่สอน สำหรับครูปุ้ยมองได้สองมุม การทำบอร์ดเกมทำให้ตัวครูได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก บางครั้งครูรู้เลยว่า ‘เราไม่ได้รู้มากไปกว่าเด็กนักเรียนเลย’ บางเรื่องเราอาจไม่เชี่ยวชาญเท่าพวกเขาด้วยซ้ำ บางความรู้ เด็กสมัยนี้เขาสามารถหาข้อมูลได้ดีกว่าครูด้วยซ้ำ
“การเป็นครูในยุคนี้ นอกจากเป็นผู้ให้ความรู้ ครูจะต้องเป็นผู้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็กด้วย ครูต้องเป็นโค้ชตบความรู้ที่เด็กๆ มีอยู่ในตัวเขาให้เข้ารูปเข้ารอยมากขึ้นเท่านั้นเอง” ครูปุ้ยบอก
อย่างที่บอกว่าครูสอนนักเรียนในชั้น ม.1 และ ม.3 ดังนั้นวิธีที่จะทำให้วัยรุ่นรู้สึกชอบและสนุกไปกับบทเรียน คือการโยนความท้าทายเข้าไปในวง เขาจะรู้สึกอยากเอาชนะ อยากทำให้ได้
“นี่เป็นสิ่งที่เด็กชอบ แต่ไม่ใช่เราจะทำอย่างนี้ได้ตลอด ก็ต้องมีพาร์ทของการทบทวนตัวเองควบคู่กันไป”
อย่าแค่ ‘สอนๆ ไปเหอะ’ แต่จงสนุกกับมัน
จริงๆ แล้ว การนำบอร์ดเกมมาประยุกต์ในการสอน ไม่ใช่ความตั้งใจแรก ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาแนะแนวเลย ในหนึ่งเทอมครูปุ้ยจะตั้งและเปลี่ยนโจทย์ของตัวเองไปเรื่อยๆ ส่งผลให้รูปแบบกิจกรรมการสอนไม่ได้ตายตัว
“สมมุติครูไปเจออะไรมา แล้วคิดว่าวิธีนี้เหมาะสมและนำไปใช้เป็นเครื่องมือการสอนได้ ครูก็จะนำไปใช้ในห้องเรียน” ทำให้ที่ผ่านมามีกิจกรรมการสอนหลายอย่างเกิดขึ้นในวิชาแนะแนวของครูปุ้ย
ยกตัวอย่าง ‘หัวข้อการทบทวนตัวเอง’ ในเทอมที่ผ่านมา ครูปุ้ยบอกว่า ตัวเองได้ออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น ได้มีโอกาสเห็นกิจกรรมหลายกิจกรรมผ่านเพื่อนครูด้วยกัน ครูก็นำมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียนของตัวเอง
“เคยไปเจอกับกลุ่มครู Achieve School ได้บทเรียนเรื่องตุ๊กตาขนมปัง ที่มีเป้าหมายให้เด็กได้ทบทวนตัวเอง ครูก็นำมาปรับใช้ ทำให้เด็กรู้จักตัวเอง เช่นเดียวกับบอร์ดเกม ครูว่ามันตอบโจทย์เรื่องความคิดสร้างสรรค์และฝึกการค้นคว้าข้อมูลของเด็กได้ ซึ่งในปีต่อๆ ไป ถ้าครูไปเจอเครื่องมือใหม่ๆ วิธีการสอนในห้องมันก็จะเปลี่ยนตาม”
ทั้งหมดทั้งมวล สามารถสรุปได้ไหมว่า คุณครูทุกคนควรจะต้องแอคทีฟ และไม่จมอยู่กับตำราเดิมๆ ?
สำหรับครูปุ้ย คงไม่กล้ายืนยันว่าประโยคนี้ถูกต้องทั้งหมด เพราะคิดว่าครูหลายคนต่างก็ขวนขวายที่จะหาความรู้ใหม่ๆ และหวังดีกับเด็กอยู่เสมอ แต่อาจจะติดกรอบอะไรบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถยืดหยุ่นได้เท่าที่ควร
ถ้าถามในมุมครูแนะแนว “การสอนแบบเดิมๆ ในคาบกิจกรรม มันไม่สนุกหรอก ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีสอน คนที่จะเบื่ออาจจะไม่ใช่เด็ก แต่คือครูเองนั่นแหละ”
“เราไม่อยากรู้สึกว่า ต้องสอนๆ ไปเหอะ หรือแค่สอนไปให้จบๆ เพราะมันจะทำให้ครูไม่สนุกไปกับเด็ก”
เมื่อปรับความคิดได้ ครูปุ้ยจึงพร้อมจะเรียนรู้และออกไปเจออะไรใหม่ๆ เพื่อนำสิ่งนั้นมาทดลองปรับใช้และเรียนรู้ไปกับนักเรียน เพราะนี่คือสิ่งที่จะทำให้ ‘ครูมีความสุขในการสอน’
กรอบคะแนนคือกับดัก
แน่นอนว่าถ้าเบื้องบนมีคำสั่งหรือต้องการเห็นภาพโรงเรียนต้องเป็นแบบไหน ความกดดันต่อครูและเด็กก็จะเป็นแบบนั้น
และเป็นเรื่องยากที่ครูหรือเด็กจะหลีกเลี่ยงไม่ทำตาม แต่ครูปุ้ยอยากให้ปรับมุมมอง มองว่าโจทย์ที่ควรนึกถึงไม่ใช่การต่อต้าน แต่ “เราจะทำอย่างไรให้สามารถทำในสิ่งที่เบื้องบนต้องการ ไปพร้อมๆ กับความต้องการข้างในของนักเรียนและครูได้”
ครูปุ้ยยอมรับว่าตัวเองโชคดีในระดับหนึ่ง ที่วิชาแนะแนว ยังพอมีพื้นที่ยืดหยุ่นให้ได้ออกแบบกิจกรรมการสอน แต่ครูจะหยุดไม่ได้ เพราะถ้าทุกอย่างหยุด ครูหยุด ทุกอย่างที่ทำมามันไม่ได้สนุกอีกแล้ว
แม้ว่าวิชาแนะแนวจะไม่ได้มีข้อสอบวัดผลคะแนนเหมือนกับวิชาอื่นๆ แต่เป้าหมายหลักที่ต้องทำให้ได้ในแต่ละเทอม คือการพาเด็กออกมาสำรวจตัวเอง โฟกัสกับตัวเอง ทบทวนและวางแผนเพื่อตัวเอง เพราะปัญหาที่เด็กไทยประสบอยู่ทุกวันนี้ คือการไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้ว่าชอบอะไร
“วิชาครูไม่มีคะแนน จะทำ/ไม่ทำ จะเรียน/ไม่เรียน ก็เรื่องของเธอ ชีวิตของพวกเธอ ครูต้องการแค่ให้เธอวิเคราะห์ตัวเอง เพื่อการเรียนต่อของเธอ ถ้าไม่ทำ ก็ไม่มีใครช่วยได้” ครูปุ้ยบอกประโยคนี้กับเด็กอยู่เสมอ
เด็กนักเรียนมักตั้งคำถามกับครูว่า ‘ครูคะ หนูเรียนต่ออะไรดี’ คำตอบเดียวที่ครูปุ้ยให้ได้คือ ‘ไม่รู้’
ฉะนั้นสิ่งเดียวที่ครูแนะแนวอย่างครูปุ้ยทำได้ คือการทำให้นักเรียนตอบคำถามนั้นให้ได้ด้วยตัวเอง
ตำราไม่เคยสอน การแพ้-ชนะ
ถ้าถามว่านอกจากบอร์ดเกม ครูปุ้ยเคยใช้เครื่องมือใดในการสอนนักเรียน ครูเล่าให้ฟังว่าเคยใช้ ‘เกมการ์ดโค้ชชิ่ง’ โดยวิธีการเล่นคือ ครูจะเปิดการ์ดทีละใบ แม้การ์ดใบนั้นจะเป็นรูปเดียวกัน แต่สิ่งที่เด็กแต่ละคนสะท้อนมุมมองกลับมา ย่อมต่างกัน ครูจึงมีหน้าที่ดึงความคิดข้างในของเด็กๆ ออกมาให้ได้ ทำให้เขาพูด ดุนหลังให้แสดงความคิดเห็น
ประโยชน์อีกอย่างของเกมนี้ จะช่วยทำให้เด็กๆ ได้รู้จักความคิดลึกๆ ของตัวเอง ที่ถึงแม้เขาจะโตเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว แต่บางครั้งอาจจะไม่เคยได้คุยกับตัวเองเลย ครูจึงพาเด็กๆ ไปสำรวจความคิดชุดนั้น ให้เขาฝึกโค้ชความรู้สึกของตัวเอง ครูมีหน้าที่เพียงโยนคำถาม เพื่อสุดท้ายแล้วเขาจะได้ตอบคำถามในใจตัวเองได้
บอร์ดเกมก็เช่นกัน ประโยชน์ของมันมีมากมาย เด็กได้ละวางโทรศัพท์มือถือ แล้วพาตัวเองกลับมาอยู่ในวงสนทนา ได้ค้นคว้าความรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นทักษะสำคัญอย่างมากในยุคนี้
สุดท้ายแล้วการเล่นเกม ย่อมมาพร้อมกับความท้าทาย…
“เด็กๆ วัยนี้เขาจะรู้สึกตื่นเต้น เพราะได้ขยับตัว และจะยิ่งสนุกยิ่งขึ้นเมื่อสิ่งที่เขากำลังทำอยู่สร้างความท้าทาย เกมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ย่อมมีผู้แพ้-ผู้ชนะ เด็กๆ ทุกคนจะได้เรียนรู้ความผิดหวังและความดีใจไปพร้อมๆ กัน จากการเล่นบอร์ดเกม…
นี่คือสิ่งที่ตำราก็สอนเขาไม่ได้” ครูปุ้ยย้ำ